บทเรียนความสำเร็จโครงการนักถักทอชุมชนฯ ปีที่1

บทเรียนความสำเร็จโครงการนักถักทอชุมชนฯ ปีที่1

นายสุรศักดิ์ สิงห์หาร (ปลัดเช่)

ปลัดเทศบาลตำบลเมืองแก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์


       จากเจ้าหน้าที่ที่ไม่เคยลงพื้นที่ทำงานกับชาวบ้านมาก่อน ผ่านระยะเวลา ๑ ปี ที่กับหลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ทำให้นักถักทอทั้ง 4 คน ประกอบด้วย

  • นายเผด็จ ยั่งยืน รองปลัด 2.นางเนตรทราย ถิ่นฐาน นักบริหารการศึกษา 3.นางชนัญญา ศรีแก้ว นักพัฒนาชุมชน และ 4.นายกิตติ ขุมทอง เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน

­

เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่ดีต่อการทำงานมากขึ้น ทำให้เกิดรูปแบบการทำงานใหม่ในเทศบาล ดังต่อไปนี้

1.กระบวนการทำงานร่วมกับชุมชน ต้องสามารถเข้าถึงแก่นของงานโดยไม่มีลักษณะการเป็นผู้สั่งการ เริ่มตั้งแต่การค้นหาปัญหา วิเคราะห์ข้อมูล และประเมินผลการทำงานร่วมกัน

2.การร่วมออกแบบกิจกรรมร่วมกับชุมชน

  • กิจกรรมต้องออกแบบให้ตรงกับปัญหาของชุมชนแต่ละท้องที่ เนื่องจากที่ผ่านมาการออกแบบ
  • กิจกรรมของพื้นที่หนึ่งอาจใช้อ้างอิงกรอบปัญหาของอีกพื้นที่หนึ่งไม่ได้ เพราะจะทำให้รูปแบบของกิจกรรมไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง จนทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน โดยผู้ดำเนินงาน (นักถักทอ) ต้องนำบทเรียนจากการทำงานมาปรับปรุงแก้ไข

3.ฝึกรอผลลัพธ์ในการทำงาน

เห็นถึงความลำบากระหว่างทางกว่าจะไปถึงผลลัพธ์ เช่น การประสานงานเชื่อมภาคีเครือข่าย เป็นต้น

“ในหน้างานที่ต้องการผลลัพธ์ ผลลัพธ์ไม่ได้มาแค่ในครั้งเดียว กว่าจะมาถึงผลลัพธ์ที่ต้องการ มีระยะทางที่ต้องเชื่อมภาคีเครือข่าย ต้องเข้าวิเคราะห์ร่วมกับชุมชน จะมองแค่ผลผลิตในการทำกิจกรรมแต่ละครั้งไม่ได้”

ความเปลี่ยนแปลงของนักถักทอทั้ง ๔ คน

      “คนที่เข้ามาเรียนอย่างต่อเนื่องแล้วนำกลับไปทำจริง ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ ความมั่นใจในตัวเองที่มีเพิ่มขึ้น มีภาวะความเป็นผู้นำ และสามารถเก็บประเด็นในเชิงลึกได้ จากเดิมที่ตั้งคำถามว่าทำไมต้องทำแบบนี้ กลายเป็นคิดต่อว่าน่าจะทำแบบนี้ แล้วจะต่อยอดอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเขายกระดับความคิดของเขาขึ้นมาและเขามีความมั่นใจมากขึ้น”

       “ตั้งคำถามกับสิ่งที่ปรากฏ เริ่มคิดวิธีแก้ปัญหาจากสิ่งที่เป็นปัญหาในการทำงาน เช่น กรณีที่คุณหมอเข้ามาทำกิจกรรมที่ศูนย์ฯ แล้วแยกเด็กสมองทึบกับเด็กฉลาดออกจากกัน ทำให้ผู้ปกครองไม่เข้าใจและรู้สึกไม่ดีกับกิจกรรมว่าทำไมต้องแบ่งแยกเด็กออกจากกัน ครั้งแรกนักถักทอไม่กล้าพูดไม่กล้าอธิบายต่อคุณหมอ รวมทั้งผู้ปกครอง ครั้งต่อๆ ไปเขามีความกล้ามากขึ้น กล้าบอกคุณหมอว่าถ้าทำแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อเขาอย่างไร แล้วก็มาปรับคำพูดให้ดูเบาลง การทำกิจกรรมก็ดำเนินต่อไปได้”

  • นางเนตรทราย ถิ่นฐาน (ตุ๋ย) นักวิชาการศึกษา สนใจปัญหาเด็กเล็ก ตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเมืองแก

    

       ตุ๋ย พัฒนาตัวเองจากเดิมที่ต้องรอฟังคำสั่งจากเจ้านาย ไม่กล้าคิดหรือลงมือทำงานด้วยความคิดของตัวเอง เพราะกลัวผิดพลาด ตอนนี้ตุ๋ย มีความมั่นใจ กล้าทำกล้านำเสนอ กล้าคิดโครงการใหม่ๆ เพื่อทำให้โครงการที่รับผิดชอบดำเนินงานต่อไปอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ตุ๋ย วางแผนส่งเด็กเล็กจากศูนย์ฯ ไปยังโรงเรียนอื่นๆ จึงประสานงานนำครูชำนาญการพิเศษที่จะรับช่วงต่อ มาสังเกตพฤติกรรมเด็กเล็กตั้งแต่ยังอยู่ในศูนย์ฯ

เป้าหมายของตุ๋ยในตอนนี้ คือ ทำอย่างไรให้ผู้ปกครองเข้ามาร่วมทำกิจกรรมกับศูนย์ฯ

ศูนย์เด็กเล็กส่งเสริมกิจกรรมการเล่านิทาน โดยให้ครูหรือปราชญ์ชาวบ้านเข้ามาสอนเทคนิคในการเล่า แล้วดึงภาคีเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงพยายามสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองระหว่างการทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในประเด็นที่ละเอียดอ่อน สร้างความสัมพันธ์ในกลุ่มผู้ปกครองนักเรียนด้วยกลไกการจัดตั้งคณะกรรมการศูนย์ฯ โดยมีครัวเรือนแกนนำเป็นผู้เข้าไปพูดคุยสื่อสารถึงข้อมูลระหว่างผู้ปกครองด้วยกัน

“กรอบงานเรื่องโรงอาหารและการทำอาหารตุ๋ยก็เป็นคนคิด ตอนนี้เขากล้าบริหารเงินก้อนใหญ่ๆ เขาคิดทำเรื่องโภชนาการเด็ก เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญ การดำเนินงานเริ่มตั้งแต่ควบคุมการซื้อวัตถุดิบของแม่ครัว ซื้ออย่างไรจะได้โภชนาการ ทำอย่างไรไม่ให้แม่ครัวโกหก หาคนอย่างไร พัฒนาแม่ครัวอย่างไร เป็นต้น”

ฐานกิน(หนุนเสริมกิจกรรมโรงอาหาร)

จากเดิมที่ผู้ปกครองไม่ให้ลูกหลานเข้าไปยุ่งเวลาทำอาหาร เพราะกลัวเสียของ กลัวข้าวของเสียหาย ปัจจุบันกลับเห็นภาพการทำอาหารร่วมกันในครอบครัว พร้อมทั้งเสริมแนวคิดที่ชี้ให้เห็นคุณประโยชน์ทางโภชนาการของอาหาร

  • นายเผด็จ ยั่งยืน (เผด็จ) รองปลัดเทศบาลตำบลเมืองแก

          ปลัดสุรศักดิ์ หรือ ป.เช่ บอกว่า บุคลิกของรองเผด็จแต่เดิมเหมือนเป็นน้ำเต็มแก้ว เป็นเด็กฉลาดและมั่นใจในตัวเองสูง เข้ากับชาวบ้านไม่ได้ แต่เมื่อได้มาเข้าหลักสูตรจึงได้เรียนรู้ว่าการลงมือทำไม่ใช้การสั่งการหรือการควบคุมคนอย่างที่ผ่านมา แต่ต้องลงมือทำด้วยตัวเองเช่นเดียวกัน

          ตอนนี้เข้ากับชาวบ้านได้ กลายเป็นเรื่องของการปรับทุกข์ ผูกมิตร ใกล้ชิด รับใช้ สร้างภูมิสังคมให้กับตัวเอง “คิดถึงชุมชนเยอะขึ้น จากเดิมที่คิดถึงตัวเองมากกว่า”

         “การปรับเปลี่ยนเกิดจากแรงกระตุ้นจากปัจจัยภายนอก เมื่อคนในชุมชนก้าวไปข้างหน้ามากกว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ การรวมกลุ่มของชาวบ้านในทต.เมืองแกมี ๑๐ กลุ่ม แต่ละกลุ่มขับเคลื่อนงานไปได้ด้วยตัวเอง เมื่อเห็นแบบนั้นทำให้เจ้าหน้าที่อยู่เฉยๆ ไม่ได้ ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ทำงานแค่ฝ่ายธุรการ จนชาวบ้านมองว่าทำไมไม่มาขับเคลื่อนงานกับชาวบ้าน ในที่สุดสถานการณ์ก็บังคับให้เขาต้องออกมา ด้วยบทบาทหน้าที่ที่อำนวยอยู่แล้ว เขาจึงสามารถเป็นแกนนำชาวบ้านขับเคลื่อนงานต่อไปได้ เช่น โครงการตลาดสีเขียว หมู่บ้านสิ่งแวดล้อม และการทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้แทนปุ๋ยเคมีที่ราคาสูงขึ้น เป็นต้น

  • นายกิตติ ขุมทอง (โต) เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน

“น้องเล็กที่สุดในกลุ่ม แต่เก็บรายละเอียดได้ดีที่สุดในกลุ่ม

       โต เป็นคนเก็บรายละเอียดเพื่อนำเสนอผลงานใน power point ก่อนหน้านี้โตเองก็เป็นคนที่ทำงานต้องรอคำสั่งไม่กล้าขัดนาย เพราะกลัวทำงานเกินหน้าเกินตาเจ้านาย จึงไม่คิดอะไรใหม่ ไม่อยากให้มีกิจกรรม เพราะถ้าคิดขึ้นมาแล้วต้องทำ ทำแล้วก็ทำไม่เป็น เพราะรู้ไม่ลึก รู้ไม่พอ ไม่มีทักษะ เพราะไม่ถูกฝึก นอกจากนี้ยังเป็นเพราะความคุ้นเคยกับการทำงานในระบบท้องถิ่นแบบเดิมๆ”

“โตเป็นคนเก็บรายละเอียดได้ดีที่สุด บางทีเป็นคนให้ข้อคิดกับพี่ๆ ด้วยซ้ำ เช่น ประเด็นนี้ตกหล่นไปนะ ประเด็นนี้น่าจะหยิบมานำเสนอนะ ประเด็นที่นำเสนอใน power point ทั้งหมดเก็บรายละเอียดและวางหมากโดยโต”

  • นางชนัญญา ศรีแก้ว (นิ่ม) นักพัฒนาชุมชน ทต.เมืองแก

      “นิ่มมีความกล้า และคิดเชิงประเด็นเก่งขึ้น รู้ว่าอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยง รู้ว่าตรงไหนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมความสำเร็จ เพราะนิ่มลงมือทำงานคลุกคลีกับชาวบ้านทั้ง ๑๐ กลุ่มด้วยตัวเอง จึงสามารถออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมได้ มีความละเอียดในการประเมินกิจกรรม หากการทำงานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นิ่มสามารถชี้แจงได้ว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร ผิดพลาดตรงไหน”

สรุปภาพรวมของนักถักทอฯ ทั้ง ๔ คน


­

     “เมื่อทั้ง ๔ คนได้เข้ามาทำโครงการจริงๆ ได้เป็นผู้นำกระบวนการประชาคม การทำงานทำให้พวกเขารู้ว่าปัญหาชาวบ้านมีเยอะ ต้องฟังให้หมดและฟังให้จบ ปัญหาที่ชาวบ้านเคยเขียนมาในกระดาษกับสิ่งที่เขาบ่นออกมาทางไมโครโฟนต่างกันเยอะ พอชาวบ้านบ่นเยอะ แล้วเขาได้ฟังเยอะขึ้นก็ตกผลึก”

    “ผมไปทำเวทีแกนนำเยาวชน เยาวชนยังไม่กลับแต่ลูกจ้างกลับก่อน แบบนี้เราก็ต้องไปเตือนคนของเรา เยาวชนยังอยากเล่าเรื่องราวของเขาอยู่ เราจะกลับก่อนได้อย่างไร ผมก็บอกว่านี่บ้านคุณนะ ถ้าคุณช้าหรือคุณไม่เดิน คุณไม่ได้อยู่กับที่นะ แต่คุณกำลังถอยหลัง ถ้าคุณช้าคุณเป็นอุปสรรคนะ คุณไม่ใช่โอกาส”

    “พวกเขาเกิดทักษะการเข้าชุมชน การหาข้อมูล และทักษะการฟังก็เกิดขึ้น ตอนนี้พวกเขาอดทนฟังปัญหาของชาวบ้านได้นานขึ้นฟังได้จนจบ เมื่อฟังจบก็ทำให้ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาว่าปัญหามันขนาดนี้เลยหรือ แล้วจะปล่อยให้เป็นไปแบบนี้ต่อไปหรือ”

“ทักษะเป็นเรื่องต้องฝึกฝน เป็นเรื่องทำซ้ำ เด็กกลุ่มนี้เริ่มต้นมาได้ช้า เพราะไม่กล้าข้ามหน้าผู้บังคับบัญชาและกลัวเสียฟอร์ม กลัวทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จจริงๆ แล้วทำไม่สำเร็จไม่เป็นไร ขาดทุนนิดหน่อยไม่เป็นไร ขอให้ลงมือทำ”


การปรับตัวของผู้บริหาร

     การทำงานเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างผู้บริหารเก่าที่หมดวาระ แล้วมาทำงานกับผู้บริหารหน้าใหม่จนผู้บริหารหน้าเก่าเข้ามารับตำแหน่งอีกรอบ “กลุ่มผู้บริหารเห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นของเด็กกลุ่มนี้ ท่านจึงเห็นดีกับกิจกรรมที่เจ้าหน้าที่เข้ามามีส่วนร่วมกับท้องถิ่นด้วยการเข้ามาทำงานด้วยตัวเองจริงๆ”

    “ปัจจุบันผู้บริหารให้โอกาสเจ้าหน้าที่เข้ามาทำงาน แล้วก็อำนวยความสะดวกทั้งเรื่องพัสดุหรืออื่นๆ ตามระเบียบของกฎหมาย แต่ผู้บริหารอาจลงรายละเอียดเพิ่มขึ้นว่ากิจกรรมที่ส่งคนเข้ามาทำ ตอบวัตถุประสงค์หรือเปล่า เดิมผู้บริหารอาจจะถามแค่ว่า คนมากี่คนและเขาว่าอย่างไรบ้าง แต่ตอนนี้ผู้บริหารถามละเอียดขึ้นว่า เขามากี่คน ส่งต่อวัตถุประสงค์อะไร แล้วจะดำเนินการต่ออย่างไร”

     ด้าน ป.เช่ เอง คิดว่าตัวเองต้องพัฒนาทักษะเรื่องการติดตามผลงานของเจ้าหน้าที่และการให้กำลังใจ รวมทั้งหาความรู้และแตกประเด็นที่หลากหลายเพื่อเข้าไปเติมเต็มโครงการของน้องๆ

“ตัวเองต้องเปิดรับการเรียนรู้อยู่เสมอ พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมใหม่ๆ ทุกทางที่สามารถเข้ามาเติมมุมมองของตัวเองได้ ให้ครอบคลุมให้ชัดเจนที่สุด”

     “ตอนนี้ทำอยู่ประมาณ ๔ ประเด็น ประเด็นแรกเรื่องนักถักทอทำร่วมกับอาจารย์ทรงพล เคลื่อนลงไปที่โรงเรียนและเด็กนอกระบบ มีศูนย์วิจัยความปลอดภัยทางถนน ทำจุดเสี่ยงถนนหลักๆ แล้วก็งานโรงอาหารที่เป็นต้นแบบ”


กรณีความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับคนในชุมชน

  • คุณตานิคม ยายอด หมู่ ๕

คุณตาเมาเวลามาส่งและรับหลานที่โรงเรียนทุกวัน ช่วงแรกเจ้าหน้าที่ทำได้เพียงแค่กล่าวตักเตือน กรณีของคุณตานิคมเป็นจุดเริ่มต้นให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานตั้งคำถามกับหลักสูตร

“หลักสูตรของอาจารย์เข้าไม่ถึงหรือเปล่า จึงปรึกษากับครูศูนย์เด็กเล็ก คือครูวิ แล้วเข้าไปเยี่ยมคุณตาที่บ้าน ปรากฏว่าอยู่ที่บ้านแกก็เมา แล้วที่บ้านก็อยู่กันแค่ ๓ คน คือ ตา ยายและหลาน”

ช่วงหลัง เมื่อคุณตามีโอกาสมาเข้าฐาน โดยในกระบวนการมีฐานแกนนำอยู่ประมาณ ๓-๔ ฐาน คุณตามีบทบาทเป็นลูกหมู่ในแต่ละฐาน ระหว่างทำกระบวนการคุณตาก็โดนผู้ร่วมทีมตำหนิ

“เมาแบบนี้มาส่งลูกส่งหลานได้อย่างไร เมาแบบนี้ไม่อายคนอื่นหรือ”

เมื่อเห็นดังนั้น ครูวิจึงวางกุศโลบายให้คนที่มารับมาส่งลูกหลานว่า ต้องกอดลูกหลาน เพื่อให้ความอบอุ่นทั้งก่อนไปเรียนหรือตอนมารับกลับบ้าน แล้วไปเยี่ยมคุณตาที่บ้านบ่อยขึ้น เมื่อถึงประมาณครั้งที่ ๓ คุณตาก็เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

“วันนี้ผู้ปกครองคนอื่นทำได้ ทำไมแกจะทำไม่ได้ แกเคยพูดว่าสำหรับแกคงยากหน่อยเพราะแกเป็นผู้ชาย แต่เวลามาส่งหลาน แกรู้สึกอายเพื่อน อายครูในศูนย์ฯ เลยยอมเปลี่ยนพฤติกรรม สิ่งที่สังเกตได้อีกอย่าง เวลามาร่วมกิจกรรมเมื่อก่อนแกจะนั่งหลังห้อง ตอนนี้แกก็เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น”

  • คุณแม่เทียน สายเทพ

อายุ ๔๐ กว่า แต่บุคลิกท่าทางเหมือนผู้สูงอายุ จากเดิมที่ปล่อยลูกหลานให้อยู่กับทีวี ปัจจุบันแม่เทียนให้เวลากับลูกหลานมากขึ้น ทำของเล่นให้เล่น เล่านิทานให้ฟัง คุณแม่เทียนมีทักษะการเล่าเรื่องดีมาก ใช้ได้หลายภาษารวมทั้งภาษาเขมร สามารถร้อยเรื่องและเล่าเรื่องได้ดี ไม่ว่าจะเป็นนิทานปรัมปราหรือการจินตนาการเรื่องราวจากสิ่งที่เห็นรอบตัว

“ก่อนนอนหลานบอกว่ายายมาเล่านิทานให้ฟังหน่อย เล่านิทานจนหลานหลับคาอก”


  • หนุนเสริมสุดท้าย การทำกรอบประเมิน

ป. เช่ กล่าวว่า อยากให้มีการทำกรอบประเมินทุกเรื่อง โดยวางแผนใช้งบประมาณกองทุนหลักประกัน ศูนย์ละ ๑๕,๐๐๐ บาท โดยอาจเริ่มต้นจากการคุยกับคุณหมอเรื่องการวัด IQ และ EQ ซึ่งคุณหมอได้เข้ามาตรวจและมีฐานข้อมูลไว้อยู่แล้ว โดยเจ้าหน้าที่อาจลองประเมิน IQ และ EQ ด้วยตัวเองอีกครั้ง นอกจากนี้จะต้องหาข้อตกลงรวมกันว่าจะทำการประเมินทั้งหมดกี่เรื่อง

“พวกเราได้พูดคุยกับ ๔ ศูนย์ฯ ที่จะดำเนินการต่อ เพื่อทำความเข้าใจกับเขาก่อนที่เราจะส่งเด็กไปเข้าโรงเรียนอนุบาลกับทั้ง ๔ ศูนย์ฯ อธิบายว่าเขาต้องเจอกับหลักสูตร แล้วต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองตั้งแต่ต้นปีการศึกษา ตั้งแต่ผู้ปกครองมาชำระค่าเทอมว่าลูกหลานจะได้เรียนหลักสูตรเหล่านี้ ผู้ปกครองจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมทำแบบนั้นแบบนี้”

“อธิบายให้ผู้ปกครองเข้าใจว่าหลักสูตรจะส่งผลต่อลูกหลานของเขาอย่างไร เชิญผู้ปกครอง เช่น แม่เทียน หรือครอบครัวที่ทำกับข้าวร่วมกับลูกหลาน มาขึ้นเวทีเล่าประสบการณ์ให้ผู้ปกครองในศูนย์ฯ คนอื่นๆ ฟัง สะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมที่ทำกับลูกหลานก่อให้เกิดความผูกพันอย่างไร ส่งผลดีต่อลูกหลานอย่างไร ผู้ปกครองมักจะสงสัยว่าจะทำได้หรือ เราต้องทำให้ผู้ปกครองเข้าใจว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมต่อเนื่อง เป็นทักษะที่ต้องได้รับการฝึกฝน ดังนั้น ผู้ปกครองต้องให้เวลากับลูกหลานให้มากขึ้น”

สิ่งที่ทำให้ชาวบ้านมาร่วมด้วย

“การสะท้อนข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ ต้องทำอย่างใจเย็น อย่างที่ครูวิสะท้อนพฤติกรรมของลูกหลานที่อยู่ในโรงเรียนให้ผู้ปกครอง แล้วให้แบบฝึกหัดผู้ปกครองไปทำการบ้านมาด้วย เพื่อให้ข้อมูลสองทางมาเจอกัน ผู้ปกครองจะได้เห็นถึงผลกระทบหากลูกหลานไม่ได้รับการดูแลจึงร่วมมือด้วย เพราะตระหนักถึงผลกระทบที่ลูกหลานจะได้รับในอนาคต”

“การประเมินของนักถักทอร่วมกับครูในศูนย์ฯ อาจไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอ จึงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ เช่น คุณหมอด้านจิตวิทยามาให้ข้อมูลด้วย โดยให้คุณหมอช่วยนำเสนอข้อมูลยืนยันว่าหากเราแก้ปัญหาแบบนี้แล้วจะเกิดผลดีอย่างไร ส่วนนักถักทอจะเข้าไปกระตุ้นแกนนำผู้ปกครองมากกว่า ปีนี้เสริมกิจกรรมด้วยการใช้ครูชำนาญการพิเศษที่เชี่ยวชาญแต่ละเรื่องในระดับประถมมากระตุ้นต่อ เห็นได้ชัดว่าเด็กที่ผ่านกระบวนการจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านเมืองแกสามารถต่อกับคุณครูที่อื่นได้เลยโดยไม่ได้ติดขัดอะไร”

การทำงานในขั้นตอนต่อไป

“ภายในสองเดือนนี้ คงต้องถอดบทเรียนผู้ปกครองจากอีก ๔ ศูนย์ฯ เพื่อวางแผนทำความเข้าใจกับผู้ปกครองว่าจะสานต่อให้ต่อเนื่องไปได้อย่างไร ปัจจุบันมีคณะกรรมชุดหนึ่งเริ่มทำงานกับโรงเรียนประถม ๖ โรงเรียน จัดหลักสูตรของจริงจากชุมชน มีครูภูมิปัญญา มีการฐานเรียนรู้ ๔ ฐาน มีกิจกรรมพึงประสงค์ของเด็กและให้การบ้านผู้ปกครองไปช่วยคิด การทำงานกับกลุ่มโรงเรียนประถมเราไม่หว่านทั้งหมด เราจะเจาะเข้าไปทาบทามครัวเรือนที่สมัครใจ”

“ตามหลักสูตรของอาจารย์ทรงพล ครูภูมิปัญญาต้องเป็นครูในท้องถิ่นและรู้เรื่องนั้นจริงๆ ไม่ใช่ครูในโรงเรียนป้อนอะไรให้เด็กก็ได้ กว่าจะเข้าไปคุยให้ครูในโรงเรียนประถมเข้าใจต้องใช้เวลาพอสมควร ช่วงที่ผ่านมาก็ได้คนในชุมชนช่วยสอนทำกระยาสารทเตรียมไว้สำหรับวันเข้าพรรษา แล้วก็ได้เรื่องการทำปุ๋ยอินทรีย์”

ป. เช่ บอกว่า ปัจจุบันการเคลื่อนกิจกรรมของเมืองแกเคลื่อนผ่านกลุ่มเด็กโต เช่น ช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมาเริ่มลองให้เด็กทำกิจกรรมด้วยตัวเอง ทั้งขบวนทำแห่ ทำต้นเงินต้นทองและการประสานกิจกรรม เด็กบางคนมาช่วยกันเตรียมของไม่ได้หลับไม่ได้นอน ไม่ได้ไปเรียน กลุ่มที่ไปเรียนก็กลับมาสลับกับกลุ่มที่ทำงานอยู่ ส่วนกลุ่มนอกระบบก็ไปขอความร่วมมือในด้านอื่นๆ

“ต่อจากนี้แกนนำเยาวชน ๗๒ คน จาก ๑๖ โซน จะต้องมาคิดโครงงานร่วมกัน และแบ่งกันทำงานตามความถนัด”

ปฏิทินชุมชน

วางแผนงานในกรอบหนึ่งปีร่วมกับ อบต. โดยให้เยาวชนทำกิจกรรมเชื่อมโยงกับแผนงานประจำปีของชุมชนแผนงานรวมยังมุ่งขยับเด็ก ๒ กลุ่ม ทั้งเด็กเล็กในศูนย์ฯ และเยาวชน โดยจะสนับสนุนตามศักยภาพที่เยาวชนสามารถทำได้

“ฝึกทักษะฝึกใจให้เยาวชนอยากมาร่วมก่อน แล้วเคลื่อนกิจกรรมผ่านปฏิทินของชุมชน โดยให้เด็กเป็นผู้ทำกิจกรรม ดูว่าแต่ละโซนทำอะไร แล้วแต่ละโซนมีกิจกรรมท้องถิ่นอะไรในแต่ละเดือน ให้เยาวชนรวมกลุ่มกันคิดเองโดยมีผู้ใหญ่ใจดีประจำโซนคอยชี้แนะ โดยจะเริ่มวางแผนตั้งแต่ตุลาคมปีนี้ไปจนถึงกันยายนปีหน้า”

“จากเดิมที่แต่ละโซนจัดกิจกรรมรวมกัน อาจจัดให้โซนหนึ่งแบ่งย่อยเป็นสองกิจกรรม เมื่อก่อนผู้ใหญ่ เจ้าหน้าที่เทศบาลทำกันเอง ตอนนี้เราก็แบ่งให้เยาวชนทำเท่าที่ทำได้ ซึ่งก็ต้องมาดูว่าเขาจะทำอะไรได้บ้าง ถ้าทำแบบนี้ได้คิดว่าจะมีคนมาร่วมกิจกรรมเยอะขึ้น เด็กๆ สามารถช่วยดึงผู้ปกครองที่ไม่เคยมาร่วมให้มาร่วมได้ จากเดิมที่ผู้ใหญ่สั่งให้เด็กทำ แต่ตอนนี้เด็กคิดเองทำเองแล้วบอกให้ผู้ใหญ่ทำบ้าง”

KPI ของ อบต.เมืองแก เน้นทั้งปริมาณและคุณภาพ

ปกติแต่ละปีจะมีการตรวจมาตรฐานของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่แล้ว ทั้งด้านการบริหารจัดการ ด้านการเงินการคลังและด้านการบริการสาธารณะ กิจกรรมของนักถักทอจะสอดคล้องกับการบริการสาธารณะเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่นด้านเด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ เป็นต้น

“ใน KPI มีเพียงคำถามว่า เทศบาลได้ทำกิจกรรมเหล่านี้หรือไม่ เราแค่ตอบว่ามีหรือไม่มี เช่น ถ้าเราบอกว่ามีการทำกิจกรรมเยาวชน ๕ กิจกรรม เราก็แค่เอารูปมาเรียงเพื่อนำเสนอ นั่นคือ KPI วัดแค่ผลผลิต ไม่ได้วัดคุณภาพ แต่ไม่ตอบโจทย์ว่ากิจกรรมที่ทำส่งผลอะไรต่อไป”

“เมื่อการทำงานมีกระบวนการมีส่วนร่วมก็จะเอื้อต่อการทำงานในส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น งานกองการช่าง ปัจจุบันเวลาทำอะไรจะฟังความคิดเห็นชาวบ้านมากขึ้น คิดละเอียดมากขึ้น และมีชาวบ้านมาร่วมตรวจสอบ”

“ปีนี้ทางกรมฯ คิดเกณฑ์ออกมาใหม่ให้หน่วยงานท้องถิ่นสมัครเข้าร่วมโครงการ จะสมัครหรือไม่ก็ได้ แต่ท้องถิ่นนั้นๆ ต้องทำกิจกรรมในเชิงลึก ๕ กิจกรรม โดยหยิบมาแค่ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง เช่น หยิบเรื่องเยาวชน แล้วแตกออกเป็นประเด็นย่อยๆ ขึ้นมาอีก ๕ เรื่องที่เกี่ยวกับเยาวชน ทางกรมฯ กำหนดเกณฑ์ที่มีตัวชี้วัดและมีกรอบการทำงานมากขึ้น ปัญหาจึงอยู่ตรงที่แต่ละพื้นที่จะหยิบกฎเกณฑ์ตรงนี้มาดู หรือนำมาใช้มากแค่ไหน เพราะคุ้นเคยอยู่กับการประเมินแบบเดิมๆ มาเป็น ๑๐ ปี”

“เราประกวดเพื่อพัฒนา เพราะเราพัฒนากันมาแล้ว ยังไงลองประกวดสักหน่อย เพื่อเป็นกำลังใจให้คนทำงาน จะได้มุ่งมั่นพัฒนาต่อไป”

ป.เช่ บอกว่า ในส่วน อบต.ท้องถิ่นของเขา เจ้าหน้าที่จะนำเกณฑ์ล่าสุดของกรมฯ มาเทียบกับเกณฑ์สถาบันพระปกเกล้า เกณฑ์เทศบาลน่าอยู่ และเกณฑ์อื่นๆ เพื่อวัดความก้าวหน้าของกฎเกณฑ์ที่จะช่วยกำหนดกรอบการทำงานให้ดีขึ้น

แผนพัฒนาระยะยาว

“แผนพัฒนาระยะยาวคงต้องมาคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้ทีมเจ้าหน้าที่ที่ทำงานกับเยาวชน และชาวบ้าน รวมทั้งกรรมการในตำบล คิดและมีพิมพ์เขียวร่วมกันได้ทั้งหมด ทำอย่างไรให้เยาวชนทั้งหมดเข้าร่วมกิจกรรม ทีมผู้ใหญ่จะได้ถอยไปเป็นทีมให้กำลังใจและคอยหนุนแทน”

“อยู่ที่การวางเป้าหมายของผู้บริหาร ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เป้าหมายไปถึงคนที่ได้รับประโยชน์ให้เยอะที่สุดและเร็วที่สุด ต้องมองเป้าหมายที่จะทำร่วมกันและชี้ให้เห็นประโยชน์ในจุดสุดท้าย ผมเอากระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล การมองปัญหาและการออกแบบเข้าไปเทรนเจ้าหน้าที่ด้วยตัวเอง ใช้เวลาทุกเช้าวันจันทร์ตอน ๙ โมง ประชุมกับเจ้าหน้าที่ในองค์กรซึ่งทำมา ๒-๓ ปีแล้ว เห็นตัวอย่างจากบริษัทเอกชนที่ต้องบรีฟงานกันก่อน เพื่อกำหนดเป้าหมายในการทำงาน บางครั้งอาจจะเรียกประชุมเฉพาะหัวหน้ากอง เพื่อให้เขาลงไปลุยกันต่อในฝ่ายของตัวเอง”

“คิดว่าเราคิดดีมาตั้งแต่เขียนโครงการ พอระหว่างทางเจออะไรที่คาดว่าไม่ประสบความสำเร็จต้องรีบแชร์ แลกเปลี่ยนกัน ดังนั้นความคิดที่ไม่ให้ด้วยระหว่างทีมงานแทบจะไม่มี เพราะได้คิดได้ทำงานร่วมกันมา การประชุมแต่ละครั้งทุกคนต้องทำการบ้านของตัวเองมา เพื่อมานำเสนอ”