พัฒนาคน พัฒนางาน สร้างการมีส่วนร่วม...แนวคิดของประเสริฐ สุขจิต

ประเสริฐ สุขจิต

กว่า 20 ปีของการเป็นลูกจ้างเอกชน และตำแหน่งสุดท้ายที่ได้รับคือผู้จัดการโรงงานอุตสาหกรรม ดูเหมือนว่าชีวิตในเมืองใหญ่ของ “ประเสริฐ สุขจิต” กำลังไปได้สวย ทั้งผลงานและรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องมาถึง “จุดเปลี่ยน” สำคัญในชีวิตจากผู้จัดการโรงงงานมาเป็น “นายก อบต.เมืองลีง” ในวันนี้

จุดเปลี่ยนของชีวิต

ประเสริฐ เล่าว่า เพราะอยากกลับมาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวในผืนแผ่นดินเกิด ทำให้เขาต้องละทิ้งหน้าที่การงานและรายได้ที่มั่นคง กลับมาเริ่มต้นชีวิตการงานใหม่ด้วยใจรัก นั่นคือการเป็น “ครู” ให้ความรู้ที่ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ และเป็นวิทยากรพิเศษในวาระต่างๆ จนมีลูกศิษย์หลายรุ่น หลายวัย ให้ความเคารพนับถือ

หลังจากกลับมาทำงานที่บ้านเกิดได้ไม่กี่ปี สถานการณ์การเมืองในชุมชนเริ่มเกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น คนในชุมชนต่างมองหานักการเมือง “เลือดใหม่” เข้ามาช่วยดูแลท้องถิ่น ประเสริฐได้รับการเสนอชื่อให้ลงเลือกตั้งหลายครั้ง แต่เขาก็ปฏิเสธมาโดยตลอด

“ผมไม่เคยมีความคิดที่จะลงเล่นการเมือง เคยคิดว่าเราจะเป็นอะไรก็ได้ ทำอาชีพอะไรก็ได้ ที่ไม่เดือดร้อนคนอื่น เพราะยังมีคนอีกหลายคนที่ทำดีแบบไม่หวังผล”

แม้ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่เล่นการเมือง แต่ด้วยกระแสคนรอบข้างที่ยังคงสนับสนุนอยู่ทำให้เขาเริ่ม “ฉุกคิด” ว่าน่าจะถึงเวลาที่เขาจะต้องเข้ามารับใช้ชุมชนบ้านเกิดเสียที เพราะเราเองก็มีความฝันว่า “อยากให้ถิ่นเกิดมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น” คิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ตอบแทนชุมชน จึงติดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่ง นายก อบต.เมืองลีง

ความรู้สึกในขณะนี้คือ “กังวล” ว่าเราจะทำได้ไหม เพราะงานเดิมเราก็รักและอยากทำอยู่ แล้วยังต้องมา
เสี่ยงลงเลือกตั้งเป็น ‘นักการเมืองไส้แห้ง’ เงินทุนก็มีไม่มากพอที่จะไปสู้กับคู่แข่งทางการเมืองคนอื่น ถ้าจะให้เทียบคือคนอื่นมีทุนร้อยบาท แต่เรามีอยู่บาทเดียว มีเพียง “ความมั่นใจ” เท่านั้น เพราะที่ผ่านมาเวลาชุมชนมีเทศกาล งานบุญไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ เราเข้าร่วมตลอด ทำให้เราเป็นที่รู้จักของคนในชุมชน ทำให้คนในชุมชนคิดว่า “ผมน่าจะเป็นที่พึ่งที่ดีได้”


“พัฒนาคน” เพื่อ “พัฒนางาน”

เมื่อตั้งใจเดินหน้าทำงานรับใช้บ้านเกิด ช่วงเดือนตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา ประเสริฐก็ได้รับตำแหน่งนายก อบต.เมืองลีงแบบไม่คาดฝัน ด้วยนโยบาย “ร่วมคิด ร่วมทำ โปร่งใส ตรวจสอบได้” แต่เส้นทางการเมืองไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ อุดมการณ์และความสามารถที่มีทำให้นายก อบต.คนใหม่เรียนรู้ที่จะปรับตัว ไม่สร้างความรู้สึกย่อท้อให้กับตนเอง “พยายามพลิกวิกฤต ให้เป็นโอกาส” หาแนวทางแก้ปัญหาให้ชุมชน เพื่อพิสูจน์การทำงานของตน

ประเสริฐเล่าว่า ในภารกิจของการเป็นนายก ฝันแรกที่อยากให้เกิดขึ้นคือการ “ร่วมคิด ร่วมทำ” ของคนในชุมชนเหมือนครั้งอดีต ที่ได้เห็นผู้คนทำมาหากินตามวิถีชีวิตชนบท กินอยู่อย่างเรียบง่าย คนมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เข้าร่วมงานบุญวัฒนธรรมประเพณีไม่ได้ขาด แต่ปัจจุบันภาพเหล่านี้เริ่มจางหาย ไม่เว้นแม้แต่ภาพหน่วยงานราชการต่างๆ ที่คนในสังคมมักมองว่า เจ้าหน้าที่รัฐยังทำงานแยกส่วน ต่างคน ต่างทำ ทั้งๆ ที่ทำงานกินภาษีประชาชน แต่ไม่เคยทำงาน “เชื่อมร้อย” กับชุมชนเลย

“ผมมองว่าปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ของหน่วยงาน และเป็นจุดแรกที่จะต้องแก้ไข ผมอยากเห็นภาพบุคลากรทุ่มเททำงาน ใส่ใจให้บริการประชาชน สามารถตอบสนองประชาชนได้อย่างทันท่วงที ไม่ใช่คอยตั้งรับปัญหาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเข้าไปดูปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน และต้องทำงานเชื่อมร้อยกับชุมชนให้ได้”

ประเสริฐ เล่าต่อว่า การพัฒนาองค์กรเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของการพัฒนาไปสู่เป้าหมายใหญ่ เราต้องเริ่มทำจากจุดเล็กๆ ก่อน การที่องค์กรจะพัฒนาไปได้นั้น เราต้อง “พัฒนาคน” เพื่อไป “พัฒนางาน” ไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเหมือนที่ผ่านมา เพียงไม่ถึงปีที่เข้ามารับตำแหน่งเราส่งบุคลากรเข้ารับการอบรมเพิ่มทักษะหลายครั้ง

“ผมมองว่าไม่ว่าเราจะมีต้นทุนหรือโครงสร้างที่ดีขนาดไหน แต่ถ้าบุคลากรไม่มีคุณภาพ ขาดความรับผิดชอบ ขาดจิตอาสา การรักษาสิ่งที่ดีๆ ย่อมไม่สามารถทำได้อย่างแน่นอน”


หลักสูตรนักถักทอชุมชน “เติมเต็มแนวคิด” การทำงาน

ประเสริฐ เล่าต่อว่า นอกจากการพัฒนาคนแล้ว ยังมีนโยบายสำคัญที่เขาได้ประกาศไว้ชัดเจนต่อที่ประชุมสภา อบต.คือ “การพัฒนาศักยภาพของสภาเด็กและเยาวชน” เพราะตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมาเขาเห็นว่าเด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป วัยรุ่นในหมู่บ้านชอบยกพวกไปตีกับวัยรุ่นหมู่บ้านอื่น บางครั้งก็ตีกันเอง ผู้ใหญ่เองก็ไม่ได้สั่งสอนหรือลงโทษเด็กจริงจัง แต่ช่วง 10 ปีหลังภาพความรุนแรงในหมู่บ้านเริ่มน้อยลง เพราะกลุ่มหัวโจกรุ่นเก่าก็เริ่มมีอายุ มีครอบครัวไปหมด แต่เด็กรุ่นใหม่ก็ยังมีพฤติกรรมเลียนแบบที่น่าเป็นห่วงอยู่ เช่น ปัญหายาเสพติด ท้องก่อนวัยอันควร รวมถึงปัญหาเด็กว่างงาน เมื่อมีโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น ( 4 ภาค) หลักสูตรนักถักทอชุมชนเข้ามาจึงตัดสินใจเข้าร่วมทันที

“ผมไม่ลังเลใจที่จะส่งบุคลากรเข้ารับการอบรม เพราะถ้ามองในสายตาของคนที่ไม่เห็นประโยชน์ ก็อาจจะมองว่าต้องใช้เงินมาก แต่ถ้าเห็นคุณค่าก็จะได้แนวทางในการพัฒนาเด็ก พัฒนาชุมชน คุ้มค่ากับการลงทุนที่ต้องการเข้าไปพัฒนาคนและชุมชนให้ดีขึ้น”

ประเสริฐ เล่าว่า หลังดำรงตำแหน่งได้ 2 เดือนก็มีโครงการนี้เข้ามา คิดว่าหากส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปอบรมน่าจะได้ “เครื่องมือ” การทำงานใหม่มาใช้พัฒนาศักยภาพคนทำงานมากขึ้น จึงเข้ามาร่วมเรียนรู้หลักการทำจากโครงการฯ ไปพร้อมกับผลักดันทีมนักถักทอชุมชนอย่างเต็มกำลัง ด้วยเชื่อว่าโครงการนี้จะเข้ามาช่วย “เติมเต็มแนวคิด” การทำงานด้านเด็กและเยาวชนได้ และปรับโครงสร้างสภาเด็กและเยาวชนตำบลเมืองลีงให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

“ผมนึกถึงอดีตเมื่อ 30 ปีก่อน ตอนที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ประธานสภาเด็กและเยาวชน ผมฝันอยากให้เด็กมีโอกาสรวมกลุ่มทำกิจกรรมกันอย่างเข้มแข็ง แต่ตอนนี้ผมก็ยังมีความหวังว่ากลุ่มเด็กที่จะสร้างขึ้นใหม่จะมีความเข้มแข็งทั้งโครงสร้างและบุคคลคือ เด็กสามารถคิดวางแผนทำกิจกรรมได้ด้วยตนเอง และสามารถเขียนโครงการที่มาจากความต้องการของพวกเขาและมานำเสนอต่อ สภา อบต. เป็นภาพที่สภาเด็กและเยาวชนทำงานเคียงคู่ไปกับสภา อบต.ได้ ซึ่งผมก็พร้อมที่จะตั้งงบประมาณสนับสนุนให้เต็มที่ ผมเห็นเยาวชนในตำบลเมืองลีงมีศักยภาพพอสมควร แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการเปิดช่องหรือเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออก พอเห็นโครงการนักถักทอชุมชนก็เหมือนเห็น “ช่องทาง” ที่จะทำให้เด็กได้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างสมัครใจ”

หนุนเสริม-ช่วยเหลือ...นักถักทอชุมชน

ประเสริฐ เล่าต่อว่า เมื่อเห็นประโยชน์ของโครงการ การคัดเลือกเจ้าหน้าที่เข้าอบรมจึงต้องดูว่า “บทบาท” หน้าที่ใดใน อบต.ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนบ้าง เห็นว่ามี 3 กลุ่มคือ นักพัฒนาชุมชน นักวิชาการศึกษา และครูผู้ดูเด็ก (ศูนย์เด็กเล็ก) จึงดึงเข้ามาร่วมทีม “นักถักทอชุมชน”

แต่เพราะนักถักทอชุมชนทั้ง 3 คนล้วนเป็นนอกพื้นที่ และยังขาดทักษะการทำงานกับชุมชน ช่วงแรกของโครงการฯนายกประเสริฐจึงต้องเข้ามามีบทบาทสนับสนุนงบประมาณและกิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนแล้ว ในการทำหน้าที่ “คนในพื้นที่” ช่วยประสานความเข้าใจ แนะนำนักถักทอชุมชนให้กับคนในชุมชน อีกทั้งยังให้คำแนะนำการหาภาคีเครือข่ายทั้งภายในภายนอก รวมถึงทำแผนลงพื้นที่ให้นักถักทอชุมชนทั้ง 18 หมู่บ้านด้วย เพราะการเป็นนักถักทอชุมชนต้องรู้จักความหลากหลาย และจุดอ่อนจุดแข็งของชุมชน ต้องรู้ว่าเด็กในแต่ละชุมชนมีความต้องการอย่างไร ต้องใส่ใจคอยติดตามและประเมินผลการทำงานของนักถักทอเป็นระยะๆ อีกด้วย เรียกได้ว่า
“ทำงานเกินตำแหน่ง” นายก อบต.เลยทีเดียว

“ผมเห็นว่า บางครั้งน้องๆ ทีมนักถักทอชุมชนเขาก็รู้สึกท้อแท้บ้างเหมือนกัน ผมก็คอยให้กำลังใจว่างานที่ทำเป็นงานที่ได้บุญ ได้ช่วยให้คนหรือเด็กที่กำลังตกเหวให้ขึ้นมาจากจุดนั้นได้ถือเป็นสิ่งดี ผมบอกน้องๆ เสมอว่า ผมขอเป็นนักถักทอชุมชนด้วย หากมีอะไรติดขัดขอให้บอก ให้เข้ามาพูดคุยกัน ช่วยกันแก้ปัญหา แต่ช่วงหลังก็เห็นว่าน้องๆ ทำงานได้ดีขึ้น และมีกำลังใจทำงานมากขึ้น” นายกประเสริฐกล่าว

สร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นในชุมชน

ประเสริฐ เล่าต่อว่า นอกจากการสนับสนุนงบประมาณเรื่องการพัฒนาศักยภาพ “แกนนำเยาวชน” แล้ว เขายังมีแผนที่จะ “พัฒนาผู้ใหญ่” ให้เห็นประโยชน์ต่องานที่ทำด้วย

“ผมพยายามบอกนักถักทอชุมชนและเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ใน อบต.เสมอว่า ไม่อยากให้ทำงานตามคำสั่ง หรือนโยบายของนักการเมือง แต่อยากให้ทำด้วยใจอาสา เสียสละ ไม่ว่าผมจะได้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนี้อีกหรือไม่ก็ตาม แต่งานต้องเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะข้าราชการที่เป็นคนต่างพื้นที่ สุดท้ายก็ต้องโยกย้ายไปที่อื่น แต่ระหว่างที่ยังอยู่กับผม ผมคิดว่าจะทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่ได้ลงไปสร้างกระบวนการในชุมชน ให้ชุมชนเกิดความตระหนักว่า ปัญหาต่างๆ ในชุมชนเป็นเรื่องที่ทุกคนในชุมชนต้องเข้ามาช่วยกันแก้ไข ไม่ควรผลักภาระให้กับหน่วยงานใดๆ ไม่เช่นนั้นความยั่งยืนในชุมชนจะเกิดขึ้นไม่ได้”

คงไม่แปลกหากคนๆ หนึ่ง จะมีอุดมการณ์เป็นของตัวเอง แต่ถ้าพูดถึงอุดมการณ์เพื่อส่วนรวมแล้ว คงจะหาได้ไม่ง่ายนัก ซึ่งประเสริฐเป็นคนหนึ่งที่ยืนยันว่าเขาจะให้ความสำคัญกับกระบวนการ “การสร้างการมีส่วนร่วม” ให้เกิดขึ้นในชุมชนให้ได้ เพราะกระบวนการนี้ถือเป็น “หัวใจ” สำคัญของการพัฒนาประเทศชาติ ซึ่งหน้าที่ของท้องถิ่นคือการเข้าไปสร้างกิจกรรม สร้างกระบวนการดังกล่าวให้เกิดขึ้นผ่านบุคคลที่เรียกว่า “นักถักทอชุมชน”


“การพัฒนาชุมชนของไทยที่ล้มเหลวอยู่ทุกวันนี้ เพราะหน่วยงานรัฐเป็นผู้ไปจัด ไปสร้างให้ชุมชนทั้งสิ้น ปัญหาคือคนของรัฐซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่นอกชุมชน ไม่สามารถรู้ลึกปัญหาของชุมชนได้ดีเท่ากับคนในชุมชน ที่ผ่านมาพอหน่วยงานราชการลงไปส่งเสริมอาชีพ เราก็ให้อย่างเดียว แต่พอเราถอนตัวกลับอาชีพต่างๆ ก็หายตามไปด้วย รุ่นแล้ว รุ่นเล่า ปีแล้ว ปีเล่า งบประมาณที่เราทุ่มเทลงไปในชุมชนก็สูญเปล่า ทำไมเราไม่ไปสร้าง “กระบวนการ” ให้คนในชุมชนรู้รากเหง้าปัญหาของเขาเอง เขาจะได้รู้วิธีการแก้ปัญหาของเขาได้ดีกว่า เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาไม่มี “ตัวเชื่อม” ที่จะไปช่วย “ระดมความคิด” ของคนในชุมชนมาสร้างกิจกรรม สร้างกระบวนการเหมือนกับนักถักทอชุมชนเท่านั้น”

วันนี้แม้ว่าการอบรมหลักสูตรนักถักทอชุมชนจะจบลงแล้ว แต่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในชุมชนเมืองลีงหลายอย่าง...

ประเสริฐในฐานะนายก อบต.บอกว่า การทำงานกับนักถักทอชุมชนทำให้เขาเข้าใจธรรมชาติของเด็ก ของคนในชุมชนมากขึ้น ทำให้เขาสามารถขับเคลื่อนงานได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย ส่วนนักถักทอชุมชนนอกจากจะได้ “เครื่องมือ” ในการทำงานแล้วทุกคนยังพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขามี “ความสุข” ในการทำงานมากขึ้น สำหรับชุมชนก็เข้ามา “ร่วมคิด ร่วมทำ” จากเดิมพอพูดถึงปัญหาเด็กและเยาวชน ทุกคนจะไม่ค่อยสนใจ และมองว่าเด็กมีปัญหาก็ไม่อยากเข้าไปยุ่ง แต่ตอนนี้คนในชุมชนต่างมีเป้าหมายเรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชนร่วมกันมากขึ้น

เมื่อ “ไฟ” ของการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเมืองลีงถูกจุดขึ้น จึงเป็นโจทย์ท้าทายให้ นายก อบต. และทีมนักถักทอชุมชน “สานต่อ” เพื่อให้เกิดความ “ยั่งยืน” ขึ้นในชุมชนด้วยการเดินหน้าจัดทำ “โครงการครู ก.” คือการคัดเลือกแกนนำในแต่ละหมู่บ้าน 5 – 10 คน (ชุดแรก) เข้าอบรมการฝึกวิเคราะห์ชุมชน ทั้งนี้เพื่อให้สามารถวางแผนพัฒนาชุมชนร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น รวมถึงเป็นวิทยากรหลักคอยให้ความรู้กับคนในชุมชน และแกนนำชุมชนรุ่นต่อๆไป (ครู ข. และ ครู ค.) ให้มาเรียนรู้การทำแผนชุมชน ผ่านการวิเคราะห์ชุมชนของพวกเขาเอง ซึ่งข้อมูลที่ได้จะถูกนำมาใช้เป็น “ข้อมูลเชิงลึก” เพื่อใช้พัฒนาชุมชนต่อไป ส่งผลให้ตำบลเมืองเมืองลีงจะเป็นตำบลแรกและตำบลเดียวที่มี “แผนพัฒนาตำบล” เป็นของตัวเองในเร็วๆ นี้