เยาวชน “นักดื่ม” สู่ “นักทำ” “สุริยา ดวงศรี” ประธานสภาเด็ก “หนองอียอ”



เยาวชน “นักดื่ม” สู่ “นักทำ” “สุริยา ดวงศรี” ประธานสภาเด็ก “หนองอียอ”



“ผมก็ได้บทเรียนมากเลยนะจากการเลี้ยงไก่ เพราะต้องไปเรียนรู้จากที่ต่างๆ ทั้งยังต้องหาหนังสือมาอ่านว่าทำไมไก่ตาย จะเลี้ยงยังไง จะแก้ปัญหายังไง ก็ทำให้น้องๆ ในกลุ่มที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลให้อาหารไก่ ทำความสะอาดเล้า ก็ได้เรียนรู้ไปด้วยกัน”

หนึ่งในเยาวชนที่เป็นตัวอย่างที่ดี ที่มีผู้ใหญ่ใจดีอย่าง
“สมเกียรติ สาระ” หัวหน้าสำนักปลัด อบต. หนองอียอ อำเภอสนม จ.สุรินทร์ “ผู้ใหญ่” ที่เห็นคุณค่าและมอบโอกาสให้จนวันนี้ ทั้งตำบลหนองอียอ ต้องยอมรับในความสามารถของ “เขียว-สุริยา ดวงศรี” ปัจจุบัน ประธานสภาเด็กและเยาวชน ตำบลหนองอียอ “อดีตนักเลงหัวไม้” ที่ทุกคนเมินหน้าหนี วันนี้พามารู้จัก “เขียว” กัน




ชีวิตช่วงวัยรุ่นของ
“สุริยา ดวงศรี” หรือ “เขียว” ไม่ต่างจากเด็กวัยรุ่นจำนวนมากในหมู่บ้านชนบทไทยที่ใช้เวลาว่างไปกับทำตัวเป็น หัวโจก คือ ทุ่มให้แอลกอฮอล์และการทะเลาะวิวาทกับวัยรุ่นต่างหมู่บ้าน แม้หลายครั้ง จะไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มก่อน แต่หากมีใครเริ่ม เขาก็ยินดี รับ และ ลุย

ทว่า นั่นคือเรื่องราวที่เป็นเพียง อดีต เพราะ ปัจจุบัน “เขียว” กลายเป็นหนึ่งในเยาวชนรุ่นใหม่ที่ใช้เวลาไปกับการทำงานจิตอาสาเพื่อชุมชน และหาเลี้ยงชีพตนเองอย่างพอเพียงได้อย่างสมดุล


กับช่วงเวลาทีเกือบพลัดตกลงสู่ “หลุมดำ”



“เขียว” อายุ 27 ปีแล้วในวันนี้ ครอบครัวของเขาย้ายมาตั้งรกรากอยู่ที่ตำบลหนองอียอ อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่เขาอายุ 12 ปี เนื่องจากพ่อเสียชีวิตตั้งแต่ “เขียว” อายุได้ 4 เดือน แม่และพี่สาวจึงทำหน้าที่เลี้ยงดูเขา ด้วยการทำไร่ทำนา รวมทั้งไร่นาสวนผสม เมื่อย้ายมาอยู่ที่ตำบลนี้ เขาจึงมาเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกาปีที่ 1 โรงเรียนหนองอียอ



ในวันที่ยังสวมชุดนักเรียน เขาอยากรู้อยากลองไปทุกอย่างทั้งดนตรี กีฬา และแอลกอฮอล์ แต่โชคดีที่ “เขียว” ไม่ได้ก้าวพลาด สามารถประคับประคองชีวิตวัยเรียนจนจบการศึกษาได้ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ด้วยผลการเรียนที่แม้จะไม่ดีเด่น แต่ก็ไม่ได้น้อยหน้าใครนัก

เมื่อจบ ม.6 เขาสมัครสอบเอนทรานซ์ เพราะมีความฝันเช่นเดียวกับวัยรุ่นไทยจำนวนมากที่อยากเรียนต่อในมหาวิทยาลัยของรัฐ ทว่า ฝันครั้งนี้ไปไม่ถึงจุดหมาย “เขียว”สอบไม่ติด จึงผันหนทางชีวิตตนเองเข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อหางานทำไปพร้อมกับเรียนต่อ






“มีลูกพี่ลูกน้องเขามาเปิดกิจการรับซ่อมจักรอุตสาหกรรมในกรุงเทพฯ ผมก็เลยมาอยู่กับเขาเพื่อทำงาน และเรียนไปด้วย โดยผมลงเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะวิทยากร คอมพิวเตอร์ แต่เรียนได้แค่สองปี ผมก็ตัดสินใจหยุดเรียนเพื่อทำงานอย่างเดียว”



หางเสียงของ “เขียว” สั่นเครือเมื่อเล่าย้อนถึงอดีต ช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจว่า จะเรียนหนังสือหรือจะทำงาน เพราะใจจริงเขายังอยากเรียนต่อ แต่ด้วยฐานะยากจน ทำให้เขาต้องตัดสินใจเลือกงานมาก่อน เพื่อมีรายได้



หลังจากอยู่กรุงเทพฯ ได้สามปี “เขียว”ก็มีโอกาสกลับบ้านเพื่อมาพักผ่อน เติมพลังให้ชีวิต



“ช่วงที่กลับมาแรกๆ ผมว่าคนที่หมูบ้านคงรู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ เหมือนกัน ผมได้ยินเขาพูดกันว่า นั่น..ไอ้เสือกลับมาแล้ว”




คำที่ “ชาวบ้าน” ใช้เรียก “เขียว” สะท้อนถึงภาพพจน์ว่า “เขียว” เป็นนักเลงในสายตาของชาวบ้าน เพราะเมื่อเมาได้ที่แล้ว เขามักมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง บางครั้งถึงขั้นลงไม้ลงมือกับเด็กวัยุร่นในหมู่บ้านอื่นๆ เป็นประจำ เจียวเองก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมทุกครั้งที่มีงานในหมู่บ้าน เขามักจะถูกเด็กจากหมู่บ้านอื่นมาหาเรื่องเสมอและเขาก็ “จัดให้” ไปทุกครั้งเช่นกัน



“ผมใช้เวลาว่างกินเหล้าเมาหัวเราน้ำบ่อยๆ ยิ่งถ้าเป็นช่วงเทศกาลสำคัญๆ ผมเมาติดต่อกันห้าวันห้าคืนเลย ยอมรับว่าช่วงที่เป็นวัยรุ่นเรียนมัธยมปลาย ผมดื่มหนักจริงๆ”



ยังถือว่าเป็นโชคของเยาวชนคนนี้ที่แม้ขอบดื่มเหล้า แต่เขาไม่สูบบุหรี่ ไม่เสพยา และไม่เล่นการพนัน ดังนั้น ชีวิตของเขาจึงไม่ได้ย่างกรายจไปใกล้กับการก่ออาชญากรรมใดๆ



แต่ “เขียว” อยากเปลี่ยนแปลงชีวิต เมื่อกลับมาพักผ่อนที่บ้าน เขาคิดในใจอยู่เสมอว่าทำยอ่างไรจึงจะไปให้พ้นวงจรอุบาทว์ของการเมาแล้ววิวาท



ต้องนับเป็นโชคดีอีกครั้งที่มีเพื่อนในหมู่บ้านซึ่งเป็นเยาวชนอายุไล่เลี่ยกัน มาชักชวนเขาให้เข้าร่วมกับกิจกรรมที่ อบต. หนองอียอ จัดขึ้น เพราะนั่นคือ ประตูที่เปิดให้เขียวได้เห็นหนทางของการใช้ชีวิตแบบใหม่ ไม่ต้องพึ่งแอลกอฮอล์อีกต่อไป



“เพื่อนผมเขาเป็นแกนนำเยาวชน ทำงานร่วมกับอบต.ก็มาชวนผมให้ไปร่วมกิจกรรม เพราะเห็นว่าผมอยู่ว่างๆ พอได้ไปร่วมแล้ว ผมก็รู้สึกดี เพราะผมอยากทำอะไรให้กับบ้านเกิดอยู่แล้ว”



จากงานครั้งแรกที่เข้าร่วม คือ งานวันเด็ก ซึ่ง “เขียว”ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ประสานและดูแลกลุ่มเยาวชนที่มาจากหมู่บ้านต่างๆ ใจตำบลหนองอียอ ทำให้เขียวเห็นโอกาสที่จะตอบแทนแผ่นดินที่เขาอาศัยอยู่ ด้วยการทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชนอื่นๆ แม้ยังไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่ “เขียว” ก็เต็มใจพร้อมจะเรียนรู้ และมุ่งมั่นว่า จะสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นกับเยาวชนของตำบลหนองอียอ เพื่อไม่ให้รุ่นน้องต้องเข้าสู่ชีวิตวัยรุ่น เมาแล้ววิวาท เหมือนกับเขา



หลังจากได้แสดงความสามารถด้านประสานงาน และทำให้เยาวชนกลุ่มต่างๆ มารวมตัวเพื่อทำกิจกรรมด้วยกันได้ “เขียว” ก็ได้รับความไว้วางใจจากเยาวชนด้วยกันเอง ให้รับตำแหน่ง “ประธานสภาเด็กและเยาวชนตำบลหนองอียอ” และเริ่มทำหน้าที่เขาฝันไว้ คือ การทำงานอุทิศตนให้กับบ้านเกิดของเขา





ต้อง “เปลี่ยนตัวเอง” ให้ได้

เมื่อต้องการ “เปลี่ยนใจคนอื่น”




การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสภาเด็กและเยาวชนตำบลหนองอียอ ทำให้ “เขียว”บอกตัวเองว่า ต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี



หน้าที่หลักในการทำงานเป็นประธานสภา คือการเข้าถึงตัวเยาวชนทุกกลุ่ม ทุกหมู่บ้าน ดังนั้น ในเวลาว่าง “เขียว” จะตระเวณไปพูดคุยกับเรววชนแต่ละกลุ่มอย่างคุ้นเคย เพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหา อุปสรรคในการทำงานของแต่ละกลุ่มว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งสร้างความไว้วางใจให้เกิดในกลุ่ม นอกจากนั้น “เขียว” ยังทำหน้าที่ “แมวมอง” คอยหาเด็ก เยาวชนที่มีเวลาว่าและมีใจอยากทำกิจกรรม ให้เข้ามาร่วมเรียนรู้และเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอย่างสม่ำเสมอ



ดังนั้น ขั้นตอนแรกเพื่อสร้างให้เกิดการยอมรับทั้งจากตัวเยาวชนและจากผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน คือ เขาต้องลบภาพ นักดื่ม และ นักเลง ออกไปจากสายตาชาวบ้าน



“เขียว” ตัดสินใจ “หยุดดื่ม” ทันที และทำได้สำเร็จ โดยพิสูจน์ตนเองจากการอยู่ในกลุ่มคนที่ดื่มว่าเขาก็สามารถสังสรรค์กับกลุ่มได้โดยไม่ต้องยกแก้วสุรา




และเมื่อหยุดดื่มได้ ปัญหาเรื่องการทะเลาะวิวาทก็ไม่มี สิ่งที่ตามมาคือ ความมีสติ ใจเย็น ที่ก่อขึ้นอย่างช้าๆ จนกลายเป็นอุปนิสัยใหม่ของ “เขียว”



หลังจากนั้น แม้จะมีวัยุร่นบางคนเข้ามาขอ “ลองดี” แต่ “เขียว” ก็สามารถปล่อยวางอารมณ์ และไม่ถือสากับเรื่องเหล่านี้ได้สำเร็จและกลายเป็นสิ่งที่เขาภูมิใจยิ่งนัก เมื่อสามารถทำตามความตั้งใจของตนเองได้




สภาเด็กและเยาวชน

รูปแบบการทำงาน “มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม”




เมื่อมารวมกันเป็น สภาเด็กและเยาวชนตำบลหนองอียอแล้ว การทำงานก็เริ่มเป็นระบบ หลังจากประชุมหารือในคณะกรรมการแล้ว แกนนำแต่ละคนซึ่งเป็นตัวแทนของแต่ละหมู่บ้าน กลับไปถามความเห็นจากสมาชิกในหมู่บ้านของตนเองว่า แต่ละกลุ่มอยากจะทำโครงการอะไร เมื่อนำเสนอโครงการเข้ามาแล้ว คณะกรรมการสภาและเยาวชน ทำหน้าที่ร่วมกันพิจารณากลั่นกรองโครงการต่างๆ เพื่อนำเสนอแก่ อบต. และของบประมาณสนับสนุนการทำงาน



“เขียว” เพิ่มเติมถึงแนวทางของการพิจารณาโครงการว่าในปีแรก เน้นโครงการประเภทที่เด็กๆ จะได้มีรายได้เสริม จึงได้เลือกโครงการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นมาก่อน เพื่อให้เด็กๆ เกิดกำลังใจในการทำงาน คือ เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เพาะเห็ด และทำน้ำยาล้างจาน



โครงการเหล่านี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนเป็นทุนเบื้องต้นโครงการละห้าพันบาท ถือว่าได้ทุนตั้งต้นมาน้อยมาก สำหรับ “เขียว” และเยาวชน แต่ทุกคนในกลุ่มไม่ได้อยากเห็นกำไรจากการลงทุนในโครงการเลห่านี้ เท่ากับสิ่งเกิดขึ้นในกระบวนการทำงาน นั่นคือ ความรัก ความสามัคคี และความรู้จกรับผิดชอบของเด็กๆ แต่ละกลุ่ม



“เด็กๆ ในหมู่บ้านที่นำเสนอเรื่องเลี้ยงปลา พวกเขาก็จะจัดเวรยามในการดูแลให้อาหารปลา และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการเลี้ยง รวมทั้งพอเลี้ยงจนโตได้ที่แล้วก็จะพากันออกขายโดยตาระเวนไปตามหมู่บ้าน ถ้ายังขายไม่หมดพี่สมเกียรติ ก็จะพาตระเวณไปขายตามตำบลอี่นๆ ที่อยู่ใกล้ๆ”




ในกลุ่มของ “เขียว” ซึ่งทำโครงการเลี้ยงไก่ ถือว่าประสบความสำเร็จน้อยที่สุด เพราะที่เลี้ยงในตอนเริ่มแรก 150 ตัว ตอนนี้เหลือไม่ถึง 30 ตัวแล้ว เนื่องจากมีไก่ตายทุกวัน



“ผมก็ได้บทเรียนมากเลยนะจากการเลี้ยงไก่ เพราะต้องไปเรียนรู้จากที่ต่างๆ ทั้งยังต้องหาหนังสือมาอ่านว่าทำไมไก่ตาย จะเลี้ยงยังไง จะแก้ปัญหายังไง ก็ทำให้น้องๆ ในกลุ่มที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลให้อาหารไก่ ทำความสะอาดเล้า ก็ได้เรียนรู้ไปด้วยกัน”



“เขียว” เล่าถึงเรื่องราวของความสำเร็จและความบ้มเหลวด้วยน้ำเสียงที่มีความสุข ต่างจากตอนที่เล่าถึงอดีตของตนเองในวัยรุ่นที่ทำตัวเป็น “นักดื่ม” อย่างมาก



ทำงาน “จิตอาสา” และ “เลี้ยงชีพอย่างพอเพียง”

สมดุลของชีวิตวัยรุ่นคนหนึ่ง




การทำงานในฐานปรานสภาเด็กและเยาวชนตำบลหนองอียอไม่ได้สร้างรายได้ให้กับ “เขียว” เพราะ อบต. ให้งบประมาณในรูปแบบของโครงการ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของแต่ละกลุ่ม “เขียว” ต้องดิ้นรนหาทางเอาชีวิตรอดเนื่องจากทางบ้านมีฐานะยากจน บางครั้งจึงส่งผลต่อการทำงานให้กับชุมชนซึ่งเป็นการทำงานแบบ “จิตอาสา” เพราะทำให้ “เขียว” ต้องเลือกว่าจะใช้เวลากับงานด้านไหน เมื่องานสองด้านมาหาพร้อมกัน แต่เขามักเลือกงานจิตอาสาก่อน



“ที่บ้านอาจบ่นๆ บ้าง แต่ผมว่าพวกเขาเข้าใจผมดี เพราะครอบครัวของผมสอนเรื่องการเอื้อเฟื้อแบ่งปันว่าเป็นเรื่องสำคัญ เราเกิดมาในครอบครัวยากจนก็จริง แต่ทุกคนก็ช่วยเหลือกันทุกอย่าง งานที่ผมทำอยู่นี้ ถามว่าเหนื่อยไหม เหนื่อย แต่พี่ชายบอกว่า ถ้าทำแล้วมีความสุขก็ทำต่อไปเถอะ เมื่อเมื่อไหร่ทำแล้วรุสึกลำบากใจ ก็ไม่ต้องทำ”





การเปลี่ยนแปลงในตัว “เขียว” สะท้อนถึงโอกาสของเยาวชนในพื้นที่ชนบทอื่นๆ ว่าสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้หากเกิดกิจกรรมที่สร้างสรรค์โดยผู้ใหญ่ในชุมชนให้การสนับสนุน



เช่นเดียวกับที่ “เขียว” และเยาวชนในตำบลหนองอียอบางกลุ่มเคยใช้เวลาว่างไปกับสุราและการทะเลาะวิวาท เพราะในเวลานั้น ตำบลหนองอียอยังไม่เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเยาวชน เวลาว่างของเยาวชนจึงถูกใช้ไปโดยเปล่าประโยชน์



แต่เมื่อ อบต.หนองอียอ เข้ามาประสานให้มีการเกาะกลุ่มของเยาวชนด้วยกัน ในแต่ละหมู่บ้านและกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมที่มาจากความเห็นของเยาวชนเอง ก็ทำให้ภาพเยาวชนที่เคยยกพวกตีกันบ่อยครั้งหลังจากจัดงานแข่งกีฬาระหว่างหมู่บ้านและงานรื่นเริงสังสรรค์ตามประเพณีหมดไป กลายเป็นเพียงเรื่องเล่าในอดีต



พร้อมกับชีวิตของเยาวชนที่ชื่อ “เขียว-สุริยา ดวงศรี” คนนี้ ที่สามารถพลิกเปลี่ยนชะตาชีวิต และลบภาพ นักเลง ออกจากสายตาผู้ใหญ่ เปลี่ยนตนเองเป็น นักทำกิจกรรม ประจำตำบลหนองอียอได้ ก็ด้วยการได้รับ “โอกาส” และมี “พื้นที่” ให้ร่วมทำกิจกรรมในชุมชนของเขานั่นเอง