การเรียนรู้ของเยาวชนโครงการสายล่อฟ้า Top Ten Life (กลุ่ม P.P. พิทักษ์โลก จ.ขอนแก่น)

การเรียนรู้ของแกนนำเยาวชน

นางสาวรัตนาภรณ์ ขวัญทอง (เต๋า) อายุ 16 ปี

กำลังศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ 4 (วิทย์-คณิต) โรงเรียนพลพัฒนาศึกษา

­

เต๋า เป็นนักกิจกรรมตัวเด่นของโรงเรียน เนื่องด้วยมีบุคลิกที่กล้าพูด กล้าแสดงออก จึงเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าคุณครูในโรงเรียน ได้เข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียน เช่น รณรงค์การลดใช้ขยะ รณรงค์งดเหล้า ร่วมกิจกรรมปลูกป่ารอบโรงเรียน ประกวดนวัตกรรมการทำขนมนางเล็กโดยใช้ต้นตดหมาแทนผงฟู

­

แรงบันดาลใจที่ทำให้เต๋ามาร่วมทำกิจกรรม คือ “เพราะเห็นป่าชุมชนที่อยู่ติดโรงเรียนมีสภาพแย่ลงทุกวัน เห็นรอยบากบนต้นไม้ที่คนลักลอบมาทำไว้เพื่อให้ต้นไม้ตายแล้วตัดไปเผาถ่าน เห็นขยะที่คนนำมาทิ้งและเผาขยะจนลุกลามเป็นไฟไหม้เกือบจะถึงโรงเรียน เห็นต้นไม้ที่ปลูกไว้ไม่มีใครสนใจและดูแล มีแต่คนที่เข้ามาหาเก็บเห็ดในป่าออกไปเยอะมาก เก็บสมุนไพรและของป่าออกไป บวกกับรู้สึกว่าตนเองและกลุ่มเพื่อน พี่ น้อง ในโรงเรียนพลพัฒนา เติบโตขึ้น เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีพลังและความคิดสร้างสรรค์ อยากจะชวนกันรวมกลุ่มลุกขึ้นมาดูแลรักษาป่า ปกป้องป่า และคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับป่าซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของบ้านเกิดตัวเอง

­

ผลที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ

-ช่วงที่พี่เลี้ยงลงไปเยี่ยมในพื้นที่ครั้งที่ 1 แล้วชวนกลุ่มแกนนำเด็กพูดคุยข้อมูลป่าชุมชน วางแผนการทำงาน ช่วยกันคิด วิเคราะห์ แลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆทำให้ตัวน้องเต๋ารู้ว่า การทำกิจกรรมหรือขับเคลื่อนงานนี้ ตัวพวกเขาเองต้องมีข้อมูล ต้องมีความรู้อะไรบ้าง อะไรที่ต้องเข้าไปเรียนรู้กับคนในชุมชน อะไรที่ต้องหาวิทยากรมาช่วยเติมความรู้ ก่อนที่จะลงมือพาเยาวชนและชาวบ้านในพื้นที่ทำกิจกรรมดูแลป่าชุมชน โดยเต๋าได้พูดสะท้อนออกมาในวันที่ 2 ที่พี่เลี้ยงลงไปเยี่ยมว่า “มีสิ่งที่เราไม่รู้อีกมากมายที่เราต้องเรียนรู้ หากเราไม่มีความรู้อย่าคิดดันทุรัง เพราะมีคนที่รู้อยู่สามารถเข้าไปเรียนรู้กับเขาได้ และได้รู้ความคิดกับเพื่อนๆนำมาบวกกัน แลกเปลี่ยนกันทำให้วางกิจกรรมและรูปแบบการดำเนินงานได้ดีขึ้น”

-สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนทำโครงการ คือ มีวิธีการเก็บข้อมูลที่ไม่ละเอียดมากนัก การสังเกตต้นไม้มักดูแต่ต้นไม้ใหญ่ๆ แต่เมื่อทำโครงการทำให้เต๋าได้รู้จักวิธีเก็บข้อมูลที่ถูกวิธีมากขึ้น รู้จักสังเกตสิ่งเล็กๆน้อยๆในป่า ได้รู้จักการเข้าหาชุมชน การเข้าไปขอข้อมูลกับคนในชุมชน รู้จักวิธีปลูกต้นไม้ที่ถูก

-ความรู้สึก/ความสุขที่ได้จากการทำโครงการ (พูดสะท้อนในเวทีถอดบทเรียน) เช่น “พอได้รู้จักสังเกตสิ่งเล็กๆน้อยๆท่ามกลางป่าว่ามีอะไร พอได้เริ่มมองแล้วรู้สึกว่าสิ่งเล็กๆที่ไม่เคยมองเห็นมาก่อนนั้นสวยงามมากขนาดไหน” และ “เมื่อได้เริ่มก้าวเดินเข้าไปสำรวจป่าชุมชนอย่างจริงจังและตั้งใจที่จะทำอย่างมีความสุข และรู้ว่าถึงจะตั้งใจทำอะไรสักอย่างแต่จะมีแค่ความตั้งใจอย่างเดียวไม่เป็นประโยชน์เท่าไหร่ เราต้องมีก้าวแรกเสมอ อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าตั้งใจอย่างแท้จริง”