จิราภา เทพจันตา : แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.น่าน

นางสาวจิราภา เทพจันตา แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.น่าน


สวัสดีค่ะหนูชื่อนางสาวจิราภา เทพจันตา ชื่อเล่นปุ๊กกี้ สาวน้อยแห่งหมู่บ้านทุ่งสุ่น อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน กล่าวแนะนำตัวก่อนเริ่มบทสนทนา เธอคือหญิงสาวที่มีหัวใจมุ่งมั่นในการพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง ปุ๊กกี้นับเป็นเยาวชนรุ่นแรก ๆ ที่ได้เข้าร่วมโครงการ Active Citizen เยาวชนจังหวัดน่าน ในการพัฒนาชุมชนบ้านเกิดของตัวเอง

ปัจจุบันปุ๊กกี้เรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์สาขาการพัฒนาชุมชน ชั้นปีที่ 3 เมื่อถามถึงความฝันสูงสุดที่เธออยากเป็นในอนาคตคือ ปลัดอำเภอและผอ.ผช. (สำนักงานพัฒนาชุมชน) เธอบอกว่าเธอได้แรงบันดาลใจจากการเรียนรู้การทำงาน สั่งสมประสบการณ์ทำงานจากโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ที่ช่วยหล่อหลอมให้ปุ๊กกี้ค้นพบตัวเองว่าเธอเป็นคนที่ชอบทำงานเพื่อชุมชน ทุกครั้งที่ทำงานลงพื้นที่เธอบอกว่าเธอสัมผัสได้ว่ามีความสุขทุกครั้ง จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เธอตัดสินใจเข้าเรียนในสาขานี้

ปุ๊กกี้เข้าร่วมโครงการฯ จากการแนะนำของครูในโรงเรียนบ้านทุ่งช้าง ประกอบกับตนเป็นนางรำของโรงเรียน และมีความชอบเรื่องของวัฒนธรรมเป็นทุนเดิม เมื่อถามถึงการเขียนโครงการจึงตัดสินใจทำเรื่องโครงการสืบสานวัฒนธรรมการฟ้อนรำไทลื้อและดนตรีพื้นบ้าน โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการให้เยาวชนหันมาสนใจ และอนุรักษ์การรำไทลื้อ ที่ถ่ายทอดความเป็นวิถีชีวิตของคนไทลื้อ ผ่านเรื่องราววิถีชีวิตการทอผ้าตั้งแต่การปลูกฝ้ายจนถึงการทอผ้าเป็นผืนขึ้นมา วัฒนธรรมเก่าแก่ของชาวไทลื้อ “ตอนนั้นจะมีการจัดงานไทลื้อทุกปี แต่เด็กอายที่จะใส่ชุดไทลื้อ แต่งตัวเป็นเด็กในเมืองมาร่วมงาน มีแค่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่แต่งตัว เลยมีความคิดที่อยากจะปลูกฝังเยาวชนว่าการที่เป็นชาวไทลื้อควรภูมิใจ เพราะเรายังรู้รากเหง้าของตัวเองว่าเรามาจากไหน ถิ่นฐานดั้งเดิมของเรามาจากไหนเราควรภูมิใจตรงนี้เป็นที่มาที่อยากจะเผยแพร่วัฒนธรรมให้กับเยาวชน” เธอเล่าความเป็นตัวตนและที่มาของโครงการให้ฟัง โครงการถูกจัดเป็นชุมนุมในโรงเรียนมีน้อง ๆ นักเรียนเข้าร่วมชุมชนกว่า 60 คน ปุ๊กกี้และเพื่อนๆ ช่วยกันสอนน้อง ๆ รำท่ารำต่างๆ พร้อมบอกความหมาย ที่มาของแต่ละท่า ที่แฝงไปด้วยวัฒนธรรมที่มาของชาวไทลื้อ

ทุกอย่างเหมือนเป็นไปตามที่เธอวาดฝันไว้ แต่แล้วความคาดหวังที่ตั้งไว้ล้มไม่เป็นท่า เธอบอกกับตัวเองว่าจะไม่ทำโครงการอีกแล้ว ปุ๊กกี้ยอมรับว่าในวันคืนข้อมูลเธอมีภาพฝันในใจคือ การที่ชาวบ้านและเยาวชนให้ความสนใจมาเข้าร่วมรับฟังโครงการของเธอจำนวนมาก แต่พอถึงวันคืนข้อมูลสมาชิกที่ในกลุ่มเหลือเพียง 3 คน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากที่คาดหวังว่าจะเป็นเยาวชน กลายเป็นผู้สูงอายุเพียง 10 กว่าคน และพระในวัดที่มาร่วมนั่งฟัง

“เพราะความที่เราเป็นคนที่พูดตรง เพื่อนบางคนก็รับไม่ได้กับคำพูดของเราทำให้เพื่อนๆ จากที่จะมาช่วยเราทำกิจกรรมก็กลับบ้านกัน ตอนที่มีผู้เข้าร่วมเป็นผู้สูงอายุทั้งหมด ตอนนั้นยอมรับว่าท้อมาก แต่มีจุดที่ทำให้เราเปลี่ยนความคิด มีผู้สูงอายุท่านหนึ่งพูดกับพวกเราว่ามีเด็กมาทำอะไรแบบนี้ทั้ง ๆ ที่หายไปนานแล้ว คำนี้ทำให้เราทบทวนความคิดตัวเองว่าเราคาดหวังไปหรือเปล่าว่าจะให้เด็กมาสนใจ แต่ความเป็นจริงแล้วผู้สูงอายุเขาคาดหวังว่าจะมีคนมาสืบต่อให้ยังคงอยู่” แม้จะได้แรงผลักดันจากคุณยายในวันนั้น แต่ปุ๊กกี้ก็ยังยืนยันกับตัวเองว่า จะไม่ทำโครงการนี้อีกแล้ว

แต่เมื่อโครงการฯ ประกาศรับสมัครเยาวชนเข้าร่วมโครงการ เธอก็เลือกที่จะคงเดินหน้าเข้าร่วมโครงการต่อ เธอพูดติดตลกว่า “หนูก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมตอนนั้นถึงเลือกที่จะทำโครงการต่อ ทั้งๆ ที่บอกกับตัวเองแล้วว่าฉันจะไม่ทำโครงการนี้อีกแล้ว “

มาครั้งนี้ปุ๊กกี้ลองเปลี่ยนจากปัญหาในโรงเรียนมาเป็นปัญหาในชุมชนของตัวเองดูบ้าง “รอบนี้หนูทำโครงการหนึ่งเยาวชน หนึ่งตำบล หนึ่งต้นน้ำ เป็นโครงการเกี่ยวกับน้ำในชุมชนของตัวเองโดยตรงค่ะ” เพราะความที่สนิทกับแม่มาก ปุ๊กกี้มักจะตามติดแม่ไปด้วยทุกครั้งที่มีการประชุมประจำเดือนหมู่บ้าน เธอบอกว่าปัญหาส่วนใหญ่ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในการประชุมคือเรื่องน้ำ น้ำไม่พอใช้บ้าง ชาวบ้านที่ใช้น้ำบางคนไม่ค่อยเห็นความสำคัญของน้ำบ้าง เพราะเป็นน้ำประปาภูเขาเวลาซักชุดนักเรียนจะเป็นสีเหลือง ทำให้เธอและสมาชิกตัดสินใจเลือกทำโครงการนี้ขึ้นมา เพราะเป็นปัญหาที่ทุกคนในหมู่บ้านเจอเหมือนกัน

“ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ” วลีประจำตัวของเธอในช่วงทำโครงการปีที่สอง เพราะความมุ่งมั่นตั้งใจในการแก้ไขปัญหาเพื่อชุมชน ทำให้โครงการฯ ได้รับผลตอบรับดีเกินคาด ชาวบ้านลุกขึ้นมาจัดการปัญหา ช่วยกันสร้างข้อตกลงในชุมชน เรื่องการจัดการน้ำในชุมชน จนทำให้ปุ๊กกี้และทีมดีใจกับความสำเร็จที่พวกเธอช่วยกันทำ จากปีก่อนที่เคยท้อ หมดหวังและบอกกับตัวเองว่าจะไม่ขอทำโครงการนี้อีกต่อไป แต่มาปีนี้ในหัวของปุ๊กกี้มีแต่คำว่า “อยากทำต่อ อยากทำอีก จะขอทุนอีก เพราะไม่คาดคิดว่า พลังจากเด็กตัวเล็ก ๆ กลุ่มนี้จะสามารถทำให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาจัดการปัญหาร่วมกัน ทำให้หนูมีแรงอยากจะสานต่อ”

ถึงแม้โครงการจะได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี แต่ในทางตรงกันข้ามผลการเรียนของเธอกลับต้องสะดุด จนเกือบได้หยุดทำโครงการเพราะเกรดเฉลี่ยลดลง เธอยอมรับว่าเป็นเพราะตัวเองบริหารจัดการตัวเองไม่ดี “ตอนนั้นยอมรับว่าหนูเองมีงาน มีการบ้านแต่ไม่ยอมทำการบ้านให้เสร็จ สะสมไปเรื่อยๆ ประกอบตอนนั้นเป็นช่วงที่หนูย้ายโรงเรียนด้วย จากโรงเรียนเดิมได้เกรดเฉลี่ย 3.70 ลดเหลือ 3.33 แม่ไม่พอใจที่เกรดเฉลี่ยหนูลด เลยสั่งให้หยุดทำกิจกรรมไปเลย แม่บอกว่าไม่เห็นจะได้ประโยชน์อะไร เวลามีกิจกรรมในเมืองขอแม่ แม่ก็จะไม่ให้ไป” ปุ๊กกี้เล่าผลกระทบที่เกิดการบริหารจัดการตัวเองพลาดไป แต่เพราะมีพี่เลี้ยงที่คอยให้คำปรึกษาอยู่ตลอด เธอจึงนำปัญหามาขอคำแนะนำพี่เลี้ยง และพยายามพิสูจน์ให้แม่เห็นว่า สิ่งที่เธอทำอยู่ไม่ได้ไร้ประโยชน์แต่มันคือการสร้างประโยชน์ สร้างประสบการณ์ให้เธออย่างมาก

ปุ๊กกี้เล่าต่อว่าสิ่งที่ทำให้แม่ของเธอเปลี่ยนความคิดคือวันงานมหกรรมพลังเด็กและเยาวชน เวทีที่เปิดพื้นที่ให้เธอและเพื่อนๆ อีกหลายคนได้แสดงศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ ทางพี่เลี้ยงทำหนังสือเชิญผู้ปกครองมาเข้าร่วมงาน วินาทีที่แม่ของเธอเห็นบรรยากาศภายในงาน แม่ของเธอตื่นเต้นมาก ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเห็นลูกสาวขึ้นเวที ยิ่งทำให้แม่ของปุ๊กกี้รับรู้และเข้าใจในสิ่งที่ปุ๊กกี้ทำ เธอบอกติดตลกว่า “ตั้งแต่งานมหกรรมเป็นต้นมาแม่ก็ไม่เคยห้ามให้หนูไปไหนเลย แม่ตามไปกดไลค์เพจทุกเพจที่มีหนูอยู่หน้าเพจทุกเพจ หนูคิดว่าคงเป็นเพราะเขาเห็นว่าเราทำจริงแสดงศักยภาพให้เขาเห็นบนเวที “ ปุ๊กกี้เล่าด้วยความสุข

การเขียนโครงการเป็นความรู้ใหม่ที่ได้จากเข้าร่วมกิจกรรมนี้ อีกอย่างคือเรื่องของการปรับตัวในสังคมจากเดิมเคยเป็นเด็กติดบ้าน ไม่เคยออกไปไหน วิถีชีวิตที่ผ่านมาคือเช้าไปเรียนเย็นอยู่บ้านไม่เคยออกไปไหนเลย แต่พอได้ทำโครงการนี้ทำให้เห็นโลกที่กว้างขึ้น การได้ไปนอนห้องพัก โรงแรมถือเป็นการเปิดประสบการณ์ให้กับปุ๊กกี้จากเด็กที่ติดบ้าน ไม่ยอมออกไปไหนเมื่อมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมกับพี่ๆ บ่อย ค่อยๆ ทำให้ปุ๊กกี้ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนวิธีคิด มุมมองการใช้ชีวิตของเธอ

รอยต่อของชีวิตเริ่มขึ้นอีกครั้งสำหรับปุ๊กกี้ นั่นคือการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปางคือที่ที่เธอเลือกเรียน แม้จะยังแอบอีโก้สูงในช่วงแรก ๆ ที่เข้าไปเรียนแต่สุดท้ายปุ๊กกี้ก็นำเอาบทเรียนที่ได้จากการทำโครงการมาเป็นบทเรียน เธอพยายามปรับตัวเองจนสามารถเข้ากับเพื่อนได้ ด้านการเรียนเธอสามารถนำความรู้ที่ได้จากการทำโครงการไปต่อยอดในการเรียนของเธอได้ ปุ๊กกี้ยกตัวอย่างให้ฟังว่า “ตั้งแต่ก้าวเข้ามหาวิทยาลัยเข้ามาสิ่งแรกที่นำมาใช้คือการจับไมค์นำเสนอ สำหรับเพื่อนอาจเป็นเรื่องใหม่ของเขาแต่เราคือเราต้องเขียนกระดาษบรู๊ฟให้ตรง ติดกระดาษเป็น พอถึงเวลานำเสนอเราก็ไม่ได้กลัว เพราะว่าเราเคยทำมาก่อน ทักษะการเขียนโครงการเรานำทุนเดิมการเขียนโครงการในชุมชนมาเขียนเป็นโครงการเสนออาจารย์”

ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัยปุ๊กกี้ยังคงยกระดับตัวเองเสมอ เธอมีโอกาสช่วยงาน กสศ. เพราะสนิทกับทางโหนดของภาคเหนืออยู่แล้ว ปุ๊กกี้จึงได้เข้าไปเป็นลูกมือ ตั้งแต่การแจกกระดาษโน้ต ประจำจุดลงทะเบียนผู้เข้าร่วมกิจกรรม ค่อย ๆ ขยับมาเป็นคนคอยบันทึกข้อมูลการประชุม ร่วมถอดบทเรียนภายในเวที สรุปส่งให้กับทางหน่วยงาน ร่วมเรียนรู้การลงพื้นที่ติดตามโครงการ เทคนิคการเข้าหาชุมชน

จุดเริ่มต้นจากเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สู่การเป็นพี่เลี้ยงแถวสอง เก็บเกี่ยวทักษะจนนำมาสู่พี่เลี้ยงในระดับจังหวัด จนปัจจุบันได้มีโอกาสทำงานในระดับภาค ปุ๊กกี้บอกว่าสิ่งที่ตนเองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของเธอกระบวนการคิด จากเดิมที่เคยเป็นคนพูดไม่คิด แต่เพราะกระบวนการในโครงการค่อยๆ สอนให้เธอรู้ว่าบางครั้งการเงียบ เป็นผู้ฟังที่ดี ค่อยๆ คิดตามในสิ่งที่เขาพูด รู้จักวางเป้าหมาย การใช้คำพูดที่เหมาะสม

แม้โครงการจะสิ้นสุดลงแต่สิ่งที่ปุ๊กกี้ยังไม่ทิ้งความตั้งใจของตัวเอง นั่นคือการที่จะอยากรักษากลุ่มเยาวชนจังหวัดน่านให้คงอยู่ เธอมองว่าหากมีโอกาสอยากจะสานต่อกลุ่มตัวเยาวชนให้ยังคงอยู่ตลอดไป ไม่ใช่เพียงแค่หัวใจของปุ๊กกี้ที่ยกให้กับการพัฒนาชุมชน แต่เธอไม่ลืมที่จะพัฒนาตัวเองด้วยเช่นกัน จากเด็กสาวขี้อาย พูดน้อยในวันนั้น ประสบการณ์การทำงานที่เธอสั่งสม หลอมรวมกับหลักคิด วิธีคิดที่เธอค่อยๆ เรียนรู้จากการทำโครงการ จนกลายเป็นผลผลิตของโครงการที่เห็นการเติบโตอย่างสวยงาม

///////////////////////////////////////