ชัยวัฒน์ ธรรมชัย : แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.น่าน

นายชัยวัฒน์ ธรรมชัย  แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.น่าน


จุดเริ่มแห่งการบ่มเพาะฝัน สู่เส้นทาง Active Citizen

ดรีม ชัยวัฒน์ ธรรมไชย เด็กหนุ่มชาวจังหวัดน่านผู้มีบุคลิกสดใสและเปี่ยมด้วยพลังของพลเมืองที่มีความฝันชัดเจนสมกับชื่อของเขา ผู้มุ่งมั่นไม่ลดละย่อท้อต่ออุปสรรค์ในเส้นทางฝันที่ยากจะเป็นครูที่ร่วมสร้างความรู้ หวังจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับห้องเรียนโดยใช้เครื่องมือไปใช้ในการออกแบบการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ทั้งอยากเห็นอนาคตระบบการศึกษาที่ดีขึ้นผ่านภาพใหญ่ของนโยบายการศึกษา พ่วงทักษะนักสร้างสรรค์และนักสื่อสารสาระ และข่าวในท้องถิ่นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ

วัยเด็กของดรีมได้ถูกบ่มเพาะ ปลูกฝังการมีจิตสาธารณะและการช่วยเหลือผู้อื่นจากกิจกรรมยามว่างที่ได้ติดตามคุณน้าไปที่ทำงานอยู่ใน รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นสถานพยาบาลประจำตำบล) ใกล้บ้าน โดยคอยเป็นผู้ช่วยในการซักประวัติคนไข้ วัดความดัน และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นจุดเริ่มต้นแรกที่เกี่ยวกับงานอาสาสมัครเพื่อสังคมในเชิงสุขภาพ จากนั้นช่วงที่เรียนชั้น ป.6 ได้เข้าร่วมกลุ่มกิจกรรมเด็กและเยาวชนในชุมชน ดรีมได้รับบทบาทในการนำกระบวนการทำกิจกรรมบ้าง จนถึงช่วง ม.3 ก็ได้เข้าสู่การทำกิจกรรมร่วมกับมูลนิธิพะเยายิ่งทำให้เข้มข้นในการทำกิจกรรมไปอีกขั้น

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ดรีมได้เดินสายทำกิจกรรมตามพื้นที่ต่างๆ ได้ร่วมทำงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากนักกิจกรรมมากขึ้น เริ่มสนใจงานชุมชนของตนมากขึ้นจากการที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการที่ได้รับการประเมินชุมชนปลอดภัยระดับสากล ที่ได้รับการรับรองจาก ISCC หรือ International Sustainability and Carbon Certification คือ การรับรองคาร์บอนและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นต่อมาของการสนใจงานประเด็นงานเชิงสิ่งแวดล้อม และช่วงประมาณปี
พ.ศ. 2558 ตอนที่เรียนชั้น ม.6 ได้เข้าร่วมกิจกรรมภายใต้โครงการ Active Citizen ดำเนินการโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล เริ่มจากการเป็นแกนนำทำโครงการขยะทองคำ ที่สร้างจิตสำนึกของคนในชุมชน ให้เกิดการทิ้งขยะให้ถูกที่ เพื่อเป็นการลดขยะในชุมชน ในระหว่างนั้นได้พบประเด็นความสำคัญกับคนในชุมชนเรื่องมลพิษทางอากาศที่เกิดผลกระทบต่อร่างกายและโรคทางพันธุกรรม เลยเห็นประโยชน์สมุนไพรในชุมชนที่จะมารักษาหรือบรรเทาอาการของโรคในชุมชน ได้อาศัยทุนเดิมที่พี่เลี้ยงโครงการเป็นปราชญ์ชาวบ้านและทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรอยู่แล้ว เลยได้พัฒนามาเป็นโครงการหมอน้อยสมุนไพรในช่วงปี พ.ศ. 2560

ช่วงของการเริ่มต้นทำโครงการได้ฝึกใช้เครื่องไม้เครื่องมือในการทำงานและการเรียนรู้จากการทำโครงการผ่านโค้ชที่คอยเป็นพี่เลี้ยงในการทำงาน เช่น การใช้เกมที่ช่วยสะท้อนการทำงาน จำลองจากเกมเพื่อใช้มอง วิเคราะห์และแก้ปัญหาชุมชน และอีกเครื่องมือที่สำคัญที่ได้นำมาใช้คือ การถ่ายทอดความคิดออกมาเป็น Mind Mapping ที่ช่วยมองปัญหา คิดวิเคราะห์ อธิบายและสรุปยอดความคิดความเข้าใจในการทำงาน ดรีมเลยอยากนำความรู้และเครื่องมือเหล่านี้ไปใช้ในการสอนนักเรียน ใช้กับความรู้ ความเข้าใจสังคมที่ได้รับจากการทำงานกับชุมชน ปัจจัยเหล่านี้จึงส่งเสริมให้เขาอยากที่จะนำไปต่อยอดเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เบนเข็มจากความฝันเดิมที่อยากเป็นครูสอนคอมพิวเตอร์มาสอบเข้าเรียนต่อในสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เพื่อที่จะได้ออกแบบการเรียนการสอนไม่ให้นักเรียนติดอยู่กับกรอบ ความเบื่อหน่ายจำเจ และท่องจำเพื่อเอาไปทำข้อสอบอย่างเดียว แต่เป็นการเรียนการสอนที่ดรีมฝันถึง คือ การที่นักเรียนมีส่วนร่วมและเปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถแสดงความคิดเห็นของตัวเองได้อย่างอิสระ ในการฝึกสอนก่อนจบ ดรีมเลือกที่จะกลับบ้านไปที่เป็นโรงเรียนบ้านเกิดและเคยเรียนใน อ.เวียงสา เหตุผลเพราะอยากทำงานใกล้บ้าน สะดวกเรื่องการเดินทาง ประหยัดค่าใช้จ่าย และอยู่ในพื้นที่ชุมชนของตัวเองที่พอจะเอื้อให้ทำประโยชน์ให้กับชุมชนได้มากกว่าการไปฝึกสอนต่างพื้นที่

เส้นทางการเป็นนักเรียนนักศึกษาควบคู่ไปกับนักกิจกรรมของเขาที่เริ่มทำกิจกรรมจากเริ่มต้นในชุมชนของตัวเองจึงคลุกคลีและผู้พันธ์กับชุมชนมากกว่าการทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย สำหรับดรีมการทำกิจกรรมในโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือแหล่งทุนบางแห่งที่ได้กำหนดทิศทางและกรอบไว้แล้ว บางครั้งทำให้ยากในการคิดสร้างสรรค์ประเด็นที่เขาสนใจและกำลังพัฒนาอยู่ ต่างจากรูปแบบของ Active Citizen ในโครงการขยะทองคำ โครงการหมอน้อยสมุนไพร และโครงการเกี่ยวกับยาเสพติดที่นำประเด็นปัญหา ความสนใจและทักษะของดรีมไปเข้ากับแหล่งทุนที่สนับสนุนให้เกิดการสร้างพื้นที่แก่เด็กและเยาวชนในชุมชนที่อาศัยอยู่ ที่สำคัญเป็นโครงการที่ได้คิดเอง ทำเองและยังมีการให้คำแนะนำจากพี่เลี้ยงด้วย “โครงการอื่นๆ จะเป็นโครงการที่มีคนคอยสั่งให้เราทำว่าโครงการนี้ควรเป็นแบบนี้ และคุณมีหน้าที่ไปดำเนินโครงการอย่างเดียว มีงบประมาณให้ คุณไปดำเนินโครงการ และสรุปผล
แบบทำให้จบๆ ไป ไม่มีกระบวนการที่ให้เราเรียนรู้ ได้บทเรียนให้ถึงเป้าหมาย เขาไม่ได้มาดูแล แต่ให้เราเป็นคนทำอย่างเดียว”

.

ปัญหา ความท้าทายและการแก้ปัญหา

ความท้าทายของการทำงานกับชุมชนในฐานะที่เขาเป็นแกนนำเยาวชน ในสายตาผู้ใหญ่ที่เป็นผู้นำชุมชนก็ยังเกิดความสงสัย ยังมองไม่เห็นศักยภาพและผลงานที่ชัดเจนในช่วงเริ่มต้น เช่น ในการทำงานโครงการขยะทองคำเมื่อต้องลงไปในชุมชนเพื่อสำรวจข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดการขยะของครัวเรือนในชุมชน ได้เกิดคำถามว่าเราจะนำข้อมูลไปทำอะไร และเกิดผลอย่างไร

ความมุมานะ ไม่ลดละต่ออุปสรรค์ของดรีม ทำให้เขาต้องพยายาม ตั้งใจและพิสูจน์จากการลงมือทำงาน ซึ่งในกระบวนการทำงานนั้นก็เป็นตัวช่วยในการคลี่คลายคำถามที่เกิดจากผู้ใหญ่ ในการทำงานได้เปิดพื้นที่และโอกาสให้เได้เรียนรู้ ฝึกฝนทักษะที่ใช้ในการทำงานกับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการประสานความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งคนทีมงานด้วยกัน ผู้นำชุมชน และคนในชุมชนด้วยการสื่อสาร พูดคุย อธิบายถึงเป้าหมายของโครงการและสิ่งที่ทำกำลังทำอยู่ ในตอนนั้นดรีมต้องสื่อสาร ประกาศเพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมของโครงการผ่านหอกระจายข่าวของชุมชน แรกๆ ก็จะประหม่านิดหน่อย ซึ่งต้องมีการวางแผนในการพูดเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจและมีความน่าเชื่อถือ จนผู้ใหญ่บ้านเห็นศักยภาพและเกิดความไว้วางใจ ต่อมาได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่บ้านให้เป็นผู้ประกาศ กระจายข่าวสารต่างๆ ในชุมชนแทนท่านในช่วงที่ท่านไม่สบาย จึงถือว่าเราได้พิสูจน์และผู้ใหญ่ก็ยอมรับและให้พื้นที่เราในการทำงานและได้ใช้ศักยภาพในการทำงานร่วมกับชุมชนที่เราอาศัยอยู่

พื้นที่นี้ทำให้ดรีมได้โชว์ฝีมือการทำงานสื่อสารจากการเป็นผู้ประกาศข่าวสารตามหอกระจายเสียงที่ใช้ทักษะการการพูด สื่อสารงานโครงการต่อสาธารณะและชุมชน พร้อมกันก็ได้มีโอกาสอบรม เรียนรู้การใช้เครื่องมือผลิตสื่อ และความอยากจะบอกกล่าวเล่าเรื่องราวของชุมชนให้คนอื่นรับรู้จึงได้พัฒนากลายเป็น นักข่าวพลเมืองร่วมกับช่อง Thai PBS ด้วยอัดคลิปรายงานข่าวที่เกิดขึ้นในจังหวัดน่านและส่งไปเพื่อออกอากาศอย่างสม่ำเสมอจนถึงตอนนี้ เลยเป็นอีกหนึ่งในเหตุผลของดรีมที่อยากฝึกสอนที่ชุมชนบ้านเกิดเพื่อที่จะได้ผลิตสื่อและทำข่าวในพื้นที่ให้ได้กระจายต่อ อีกบทบาทหนึ่งที่โดดเด่นของดรีมที่ได้รับการชื่นชมจนเกิดความสงสัยจากคนในสำนักข่าวว่าไปเรียนเครื่องมือและทักษะเหล่านี้มาจากไหน ด้วยจิตสำนึกความเป็นพลเมืองตระหนักรู้และมีความเชื่อที่ว่า “เราก็เป็นสื่อสาธารณะได้ และอยากจะสื่อสารและสะท้อนปัญหาที่เกิดในชุมชนเพื่อสังคมรับรู้และเกิดแนวทางการแก้ปัญหา”

อีกหนึ่งความยากและเป็นอุปสรรค์ที่พบในการทำงานที่ทำให้ดรีมถึงกับเสียน้ำตาในการทำงานคือ การนัดหมายเด็กเยาวชนเพื่อให้เข้ามาร่วมโครงการที่จะมีกิจกรรมถอดบทเรียน แต่น้องเยาวชนไม่มากันจึงทำให้การทำกิจกรรมเกิดความลำบาก ตอนนั้นพี่ที่เป็นโค้ชที่คอยแนะนำ ให้คำปรึกษาและคอยให้กำลังใจ ทำให้การทำงานครั้งต่อไปเราสามารถที่จะหาแนวทางแก้ปัญหาด้วยวิธีต่างๆ เพื่อชักชวนให้น้องเยาวชนเข้ามาร่วมกิจกรรมโครงการเรา เช่น การแบ่งหน้าที่ให้น้องแกนนำในทีมไปพูดคุยและชักชวนเพื่อนหรือคนรู้จักให้ได้ตามจำนวนที่กำหนด การเข้าไปพูดคุยผ่านพ่อแม่เยาวชน การประสานผ่านอาสาสมัครในชุมชน รวมทั้งขอร่วมมือระหว่างผู้ใหญ่ในการชักชวน ทั้งหมดนี้ต้องใช้การสื่อสาร ประสาน สร้างการรับรู้และความเข้าใจ เพื่อที่จะโน้มน้าวให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการให้ได้

เมื่อชวนคนเข้ามาร่วมทำงานในโครงการได้สำเร็จแล้ว แต่ปัญหาต่อมาคือ การจัดการเวลาการนัดหมายในการประชุมและทำงานที่ไม่ลงตัวของคนในทีม จึงทำให้การดำเนินโครงการค่อนข้างลำบากในประชุมและดำเนินกิจกรรม เขาจึงค่อยๆ ทำใจและยอมรับกับผลที่เกิดขึ้น ด้วยการดำเนินงานต่อจากจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมเท่าที่มีเพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ และค่อยๆ ปรับรูปแบบและออกแบบกิจกรรมที่ลดการพบปะและพูดคุย แต่เน้นการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติ ต่อเนื่องมาจนเป็นแนวทางของงานชิ้นต่อมาในโครงการหมอน้อยสมุนไพร ที่ปรับการทำงานแบบประชุม สื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์บ้าง มีการนัดพบปะ พูดคุยและลงพื้นที่ชุมชนเป็นครั้งคราวด้วยการพาน้องๆ ไปเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องสมุนไพรในชุมชนร่วมกับกลุ่มอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีความเข้าในในเรื่องนี้โดยตรง ดำเนินมาจนถึงช่วงท้ายของโครงการจนสามารถถอดบทเรียนออกมาได้

ตลอดการทำโครงการที่ผ่านมาในช่วงที่พบปัญหาก็จะมีโค้ชที่คอยเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาและแนะนำ ต่างๆ ในการทำงานโค้ชจะไม่เข้ามายุ่งเลย จะคอยให้แนะนำว่าควรแก้ปัญหาอย่างไร และจะนำไปปรึกษาทีมทำงานต่อและร่วมตัดสินใจกันต่อไป “ในช่วงเริ่มต้นโครงการในปีแรก โค้ชจะนำเครื่องมือต่างๆ มาช่วยลักษณะพาทำ พาลงมือ เช่น การใช้ Mind Mapping กระบวนการเรียนรู้จากเกม และระหว่างการทำงานโค้ชจะคอยทำหน้าที่กระตุ้นให้ทีมงานเกิดพลังและสร้างแรงผลักดันหนุนเสริมในการทำงานให้แก่ทีมเสมอ

บทเรียนของความคาดหวังและการรับมือ

ตอนแรกดรีมยอมรับว่ามีความคาดหวังสูงมากกับโครงการที่วางเป้าหมายจะมีการจัดตั้งธนาคารขยะ และการแลกเปลี่ยนสร้างมูลค่าให้กับขยะ แต่เมื่อได้ทำทำโครงการเสร็จกลับได้เรียนรู้ว่า เราไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จ แต่รู้ว่า เราได้เรียนรู้อะไรจากการดำเนินโครงการมากกว่า พอได้ประเมินหาความเป็นไปได้ที่จะตั้งธนาคารขยะ ระหว่างนั้นจึงมีการปรับแผนการทำงานให้สอดคล้องกับความเป็นไปได้ จึงพยายามทำกิจกรรมที่สร้างมูลค่าขยะ โดยการพาน้องๆ ไปเรียนรู้การแยกขยะที่บ้านตามบ้านคนในชุมชนแล้วนำมาขาย โดยกระบวนการกิจกรรมนี้ถือได้ว่าได้สร้างคุณค่าและมูลค่าจากขยะให้แก่ชุมชน
ดรีมจึงได้เรียนรู้ว่า “ตัวชี้วัดของโครงการก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้างที่มีค่าจากการทำงานและจำนำไปใช้ต่อได้อย่างไร” สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ได้เรียนรู้คือ “การทำงานโครงการที่ต้องฝึกและใช้ทักษะในการประสานงาน พูดคุย วางแผนและทำให้แผนเหล่านั้นออกมาเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น” เช่น การส่งเสริมความรู้และความเข้าใจเรื่องขยะ จะต้องออกแบบกิจกรรมอย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ออกมา โดยที่ไม่ใช่การนั่งอบรมฟังข้อมูลแต่เป็นการพยายามพาน้องลงมือทำเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันด้วยการลงไปเก็บขยะในชุมชน ในขณะที่เก็บขยะไปน้องจะบ่นว่าทำไมต้องทิ้งขยะกัน ในระหว่างนั้นน้องก็จะได้เรียนรู้ว่าเราควรจะทิ้งขยะหรือไม่ในขณะที่ต้องมาเก็บขยะทุกวันอย่างนี้โดยที่เราไม่ต้องบอก ส่วนหนึ่งจากการลงมือทำคนในชุมชนก็เห็นใจและตระหนักที่จะไม่ทิ้งขยะสร้างปัญหาให้แก่คนเก็บขยะ พร้อมกันนั้นก็ทำป้ายไวนิลประกาศห้ามทิ้งขยะ ผลลัพธ์ที่เกิดเห็นได้ชัดว่ามีการลดการทิ้งขยะในชุมชนมากขึ้น

ประสบการณ์ที่ได้รับทั้งจากความคาดหวังและความยากของพื้นที่งานนอกห้องเรียนแห่งนี้ทำให้
ดรีมต้องเสียน้ำตาไปต่อหลายครั้ง แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้นั้นมีค่าและมีผลต่อชีวิตทั้งเรื่องการเรียน และการฝึกงานอย่างมาก “เครื่องมือโค้ช คือสิ่งที่ดรีมได้เป็นเหมือนเครื่องมือและความรู้ติดตัว ทั้งการกล้าคิดวิเคราะห์ กล้าพูด กล้านำเสนอในที่สาธารณะ” จนทำให้ช่วงเวลานั้นดรีมได้รับรางวัลเยาวชนนักพัฒนาในปี พ.ศ. 2559 และได้รับเข็มพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ถือเป็นความภาคภูมิใจและเปรียบเหมือนรางวัลสำหรับความทุ่มเทและตั้งใจมาโดยตลอด“ยากครับ เสียน้ำตาไปเยอะกับโครงการนี้ มีความ Active มากๆ เลย ได้เรียนรู้จริงๆ ครับและมันมีผลต่อชีวิต ต่อการเรียน การฝึกงานก็มีผลเหมือนกัน ทำให้เรากล้าคิด กล้าพูด กล้าทำจากสิ่งที่เราคิด”

ในบางครั้งดรีมรู้สึกผิดหวังจากการคาดหวังในการทำงานบ้าง และความกดดันตัวเองของนักกิจกรรมที่ทำงานและเรียนไปด้วย ส่งผลต่อการแบ่งเวลาในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ในช่วงสุดท้ายของการอ่านหนังสือสอบดรีมจึงหยิบเอาไม้เด็ดอาวุธสำคัญที่ดรีมได้ฝึกและใช้บ่อยๆ ตอนทำโครงการ อย่าง Mind Mapping มาใช้ ที่นำมาช่วยสรุปความเข้าใจเนื้อหาที่เชื่อมโยงเป็นภาพเพื่อช่วยจำและเข้าใจง่ายช่วยในการสอบเข้าเรียนต่อเนื่องจนถึงการเรียนในมหาวิทยาลัยและใช่ชีวิตการทำงานที่กำลังฝึกสอน

แรงฝันจากปัจจุบันถึงอนาคต

“ประสบการณ์การทำงานภายใต้โครงการ Active Citizen นำไปสู่การเรียนต่อจนจบออกมาเป็นครูสอนวิชาสังคมศึกษา ตั้งแต่เริ่มต้นทำกิจกรรมก็ค่อยๆ ทำให้เขาสามารถวิเคราะห์ มองเห็นภาพกว้างของสังคมโดยเชื่อมโยงจากงานที่ทำ ทำให้เขามีมุมมองต่อเรื่องการศึกษาในปัจจุบันและวิพากษ์ตั้งคำถามต่อประเด็นแผนพัฒนาระยะยาวที่กระทบต่อส่วนการศึกษา”อย่างแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ดรีมมีความเห็นว่าควรมีการทบทวนแบบระยะสั้นเสมอและควรการปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงและสามารถปรับให้เข้ากับสถานการณ์ของโลกในปัจจุบัน เขายกตัวอย่างที่ค่อนข้างเข้าใจง่ายและอธิบายสภาพสังคมในปัจจุบันถึงการเรียนวิชาพระพุทธศาสนาที่นักเรียนยังถูกบังให้เรียนเพียงวิชาเดียว ซึ่งในความจริงแล้วในโลกมีศาสนาที่หลากหลายให้เราได้รู้จัก เด็กควรมีอิสระในการเลือกเรียนเพื่อทำความเข้าใจถึงหลักแก่นแกนและการปฏิบัติของแต่ละศาสนาเพื่อที่เขาจะสามารถเลือกและนำไปปรับใช้กับชีวิตของพวกเขาได้อย่างเหมาะสม

จากการตระหนักถึงประเด็นปัญหาของช่องว่างทางการศึกษาดังกล่าว ในฐานะคนรุ่นใหม่ “ดรีมมีความฝันที่เขาอยากจะมีส่วนร่วมที่จะรับผิดชอบ เติมเต็มด้วยความสามารถ ความรู้ของเขาให้แก่งานด้านส่งเสริมการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบที่จะนำประสบการณ์จากการทำกิจกรรมและความรู้เรียนมาไปออกแบบการเรียนการสอนในห้องเรียน พร้อมกันกับการศึกษาทางเลือกด้วยการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ในการบ่มเพาะและแผ่ขยายต้นกล้าทางความคิดเพื่อให้เด็กและเยาวชนในชุมชนได้ทำกิจกรรมที่ส่งเสริมให้พวกเขาสามารถคิดวิเคราะห์เป็น กล้าที่จะคิด กล้าแสดงความคิดเห็น มีความคิดสร้างสรรค์และลงมือปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคม” โดยการนำกระบวนการจากการทำโครงการมาใช้ เช่น กิจกรรมเกม กิจกรรมสันทนาการที่กระตุ้น สร้างบรรยากาศและพื้นที่การเรียนรู้ให้พวกเขาได้แสดงออกทางความคิด

จากพลังนักกิจกรรมภายใต้โครงการ Active Citizen ตอนนี้ดรีมเป็นครูสอนวิชาสังคม ในชั้น ม. 2 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.เวียงสา จ.น่าน ยังคงใช้เครื่องมือการเรียนรู้ที่ได้จากการทำโครงการ ผสมผสานกับการค้นหาเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ๆ และลดการใช้หนังสือ แต่ชวนเรียนรู้ผ่านเกม แอพพลิเคชั่น และเว็บไซต์ต่างๆ ที่น่าสนใจมาเป็นสื่อและตัวช่วยในการเรียนรู้ และชวนตั้งคำถามต่อประเด็นเหตุการณ์ ปัจจุบันและใกล้ตัวกับเด็กนักเรียน เพื่อปรับบรรยากาศการเรียนการสอนให้สนุก ไม่น่าเบื่อ และสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านห้องเรียนตามฝันที่ดรีมหวังไว้

ถึงแม้ตอนนี้จะยังไม่มีเด็กเยาวชนในชุมชนที่จะมารับช่วงและสานต่อก็ตาม หวังที่จะทำให้พื้นที่แห่งนี้ได้ช่วยให้พวกเขาพัฒนาจากผู้ตามเป็นผู้นำ อย่างที่ดรีมได้รับโอกาสจากการร่วมทำโครงการ Active Citizen ที่บ่มเพาะให้ดรีม หนุ่มช่างฝันคนนี้อยากที่จะสานและส่งต่อพลังความฝันให้กับเด็กและเยาวชนในชุมชน ยังคงต่อยอดความสามารถไปทำโครงการประเด็นเกี่ยวกับการระรานทางไซเบอร์ (Cyberbullying) ในสังคมออนไลน์ และประเด็นเกี่ยวกับยาเสพติดที่ได้รับจากแหล่งทุนต่างๆ โดยร่วมมือกับงานกับหลายฝ่ายในชุมชนเพื่อที่จะร่วมสร้างการรับรู้ ตระหนักและเตรียมรับมือกับปัญหาที่เกิดในชุมที่อาศัยอยู่ได้อย่างไร