อภิรัตน์ รัตนศิลา : ‘เสียงซอของคำไทด์’ พรแสวงที่ไม่หยุดแค่พรสวรรค์

  • เริ่มจากการร้องเพลง ช้าง ช้าง ช้าง จากเด็กร้องเพลงไม่เป็น กลายมาเป็นคนสืบสานการขับซอ มรดกสำคัญของจังหวัดน่าน
  • ความชอบ ความใช่ และตัวตน ไปจนถึงพรสวรรค์ คนอื่นอาจจะค้นพบก่อนตัวเอง แต่สิ่งสำคัญกว่าคือ เมื่อเจอแล้วจะรักษาและทำให้มันเติบโตต่ออย่างไร
  • คำไทด์คือตัวอย่าง ที่เริ่มต้นจากการเรียนไปงั้นๆ แต่หลังจากนั้นกลับเอาจริงและหมั่นฝึกฝน จนสำเร็จในที่สุด
เรื่อง : ไรญา ต่วนมิหน้า

การค้นหาตัวตนถึงความชอบและความใช่ บางครั้งไม่ได้มาจากตัวเองเสมอไป แต่กลับเป็นมุมมองของคนใกล้ชิดหรือใครก็ตามที่เห็นพรสวรรค์ จนพาเราไปสู่พรแสวง ที่ทำให้เราค้นพบถึงความใช่และความชอบของตัวเอง

Anders Ericsson เขียนไว้ในหนังสือ Peak ที่วิเคราะห์ถึงชีวิตของ โวล์ฟกัง โมสาร์ต นักประพันธ์ดนตรีคลาสสิคชาวออสเตรียว่า “สิ่งที่เรียกว่าพรสวรรค์ด้านดนตรีของโมสาร์ตนั้นไม่ได้มีมาแต่กำเนิดแล้วคงอยู่อย่างนั้น แต่พรสวรรค์ดังกล่าวสามารถพัฒนาให้มีศักยภาพยิ่งขึ้นได้อีก และขึ้นอยู่กับการฝึกฝนของคนๆ นั้นอย่างจริงจังด้วยเช่นกัน”

คำไทด์ อภิรัตน์ รัตนศิลา
คำไทด์ อภิรัตน์ รัตนศิลา

เช่นเดียวกับ คำไทด์-อภิรัตน์ รัตนศิลา เด็กหนุ่มที่ตามย่าไปดูการขับซอมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่ได้ชื่นชอบการขับซอ จนกระทั่งอายุ 11 ขวบ พ่อครูคำผาย นุปิง ศิลปินพื้นบ้านเจ้าของคณะวงคำผาย ชักชวนให้มาเรียนขับซอ โดยให้เหตุผลว่าคำไทด์ที่มีเส้นเสียงคล้ายตน

“ตอนนั้นพ่อคำผายให้ผมร้องเพลงให้ฟัง ผมก็เลยร้องช้าง ช้าง ช้าง ช้าง เพราะผมเป็นคนร้องเพลงไม่เป็น พอร้องเสร็จพ่อคำผายบอกว่าเราเป็นคนเสียงกว้าง อยากให้ลองมาเรียนขับซอดู เพราะพ่อผายเขาเด่นด้านการขับซอ เราก็คิดในใจว่าจะทำได้เหรอ ตอนนั้นที่ตัดสินใจเรียน ก็เรียนไปงั้นแหละ เพราะเราชอบดนตรี อยากเล่นสะล้อ ซอ ซึง มากกว่า”

ด้วยใจรักและอยากเล่นดนตรี คำไทด์จึงตัดสินใจเป็นลูกศิษย์พ่อครูคำผาย ด้วยหวังว่าจะขอเรียนขับซอไปสักระยะหนึ่ง แล้วค่อยหาโอกาสเรียนเครื่องดนตรีอื่นๆ

กระบวนการที่พ่อครูคำผายสอนคำไทด์ขับซอนั้นเป็นการสอนแบบมุขปาฐะ ซึ่งเป็นการร้องต่อกันโดยไม่มีตำราเป็นลายลักษณ์อักษร แต่อาศัยความจำล้วนๆ ไม่เหมือนการเรียนการสอนตามโรงเรียนสอนร้องเพลงทั่วไป ไม่มีโน๊ตเทียบโด เร มี แต่ใช้ความรู้สึกและความคุ้นเคยกับบทซอ ขณะเดียวกันเครื่องดนตรีที่เล่นไปกับการขับซอแต่ละชนิดมีโน้ตเสียงและความพริ้วไหวที่ต่างกัน จึงต้องอาศัยความจำและความเพียรในการฝึกฝน

คำไทด์ อภิรัตน์ รัตนศิลา

“ซอ” ในที่นี้ คือ บทร้องที่บอกเล่าเรื่องราวสถานการณ์ สังคม วัฒนธรรม โดยใช้ซอเป็นเครื่องดนตรีที่ให้ทำนอง การขับซอจะร้องด้วยถ้อยคำที่สัมผัสคล้องจองกันเป็นภาษาคำเมือง ตามท่วงทำนองของเพลงซอ การขับซอมี 2 แบบ คือซอแต่งกับซอสด ซอแต่งจะร้องไปตามความจำจากเนื้อหาที่ได้เรียนมา ส่วนซอสดเป็นการร้องสดแต่งเฉพาะหน้าตรงนั้น คนขับต้องมีปฏิภาณไหวพริบที่ดีเยี่ยม ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์และโอกาสที่ไปแสดง เช่น ถ้าไปแสดง ในงานบวชนาค ช่างซอก็จะร้องเพลงซอพรรณนาเกี่ยวกับ การตอบแทนพระคุณพ่อแม่ เรื่องราวของพระพุทธเจ้า เป็นต้น

ภาวะเครียดอ่อนๆ

วันแรกๆ ที่ฝึก คำไทด์ยอมรับว่า รู้สึกเครียดมาก แต่ไม่ท้อ กลับรู้สึกว่าต้องทำให้ได้ให้สมกับที่พ่อครูคำผายเลือกเป็นลูกศิษย์…

“ลักษณะการสอนของพ่อคำผายคือไม่มีหนังสือให้อ่าน เขาบอกว่าที่ผมจะเรียนมันอยู่ในสมอง เขาจะขับซอให้ฟังสดๆ โดยให้เราใช้ความจำเป็นหลักในการเรียน เราก็ร้องตามเสียงที่เขาสอน ระยะหลังพ่อคำผายเริ่มแก่เขาก็สอนไม่ไหวก็ให้เอาซีดีมาฟัง ผมจึงเรียนจากการฟังซีดี พอพ่อคำผายร้องไปวรรคหนึ่งเราก็จดวรรคนั้น เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ และนำบทที่จดไว้มาฝึกร้องทุกวัน จนกระทั่งพ่อคำผายพาไปขับซอจริงในงานต่างๆ ให้โอกาสฝึกไปเรื่อยๆ เราจึงได้ประสบการณ์จริงตรงนั้นมา”

การสอนของพ่อครูคำผาย คล้ายๆกับทฤษฎีการเพิ่มระดับความเครียด ที่ Clancy Blair ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาประยุกต์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวไว้ว่า ทฤษฎีการเพิ่มระดับความเครียดอ่อนๆ นั้น จะช่วยเพิ่มความท้าทาย ความคึกคักและสามารถช่วยให้การทำกิจกรรมที่ซับซ้อนได้ดีขึ้น เพราะฮอร์โมนของความเครียด นั่นคือ คอร์ดิซอลและนอร์อะดีนาลิน จะเข้าไปมีผลต่อสมองส่วนหน้าที่เรียกว่า Prefrontal Cortex ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมส่วนสำคัญ ก่อให้เกิด Executive Function หรือ EF ที่ส่งผลต่อการควบคุมความจำ ความคิดผ่านการใช้งาน รวมทั้งการควบคุมตนเองด้วย

ด้วยบทขับซอที่มีสำนวนภาษาอันไพเราะ สละสลวย และการฝึกฝนทุกวันโดยไม่ย่อท้อ ประกอบกับพรสวรรค์ของเส้นเสียงที่กว้าง ทำให้คำไทด์สามารถร้องเสียงต่ำสูงได้ดี ไม่ว่าจะร้องโน้ตระดับไหนก็ตาม เสียงของคำไทด์กลับทำให้โน๊ตนั้นมีน้ำหนักและมีพลังยิ่งขึ้น ทำให้คำไทด์เรียนรู้ได้เร็ว สามารถจำบทขับซอยาวๆได้แม่นทุกคำและชื่นชอบการขับซอในที่สุด

‘ขับซอ’ ให้ทันสมัย

วันนี้คำไทด์ยังคงฝึกฝนและศึกษาเทคนิคลูกเล่นการขับซอทุกวัน เพื่อพัฒนาทักษะ ลูกเล่นการขับซอ ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป


“แม้ว่าเราจะมีความรู้และประสบการณ์แล้ว เรายังคงต้องขวนขวายทักษะจากการเล่นในแต่ละเวทีที่มีไม่เหมือนกัน ตอนนี้สังคมเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าเล่นให้ผู้เฒ่าผู้แก่ฟังก็ยังคงทำนองเดิมเนื้อหาเดิม แต่ถ้ามีวัยรุ่นมาดูด้วยเราก็จะใช้คำที่เขาสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้ด้วย ผมมองว่าถ้าศิลปะขับซอหายไป แล้วเมืองน่านจะมีอะไรเป็นเอกลักษณ์เหมือนขาดองค์ประกอบ เสมือนวัดไม่มีตุ๊เจ้า มาเมืองน่านก็ต้องมาฟังขับซอล่องน่าน”

­

อ่านบทความต้นฉบับที่นี่