ชนม์สวัสดิ์ ฉิมเชื้อ : แกนนำเยาวชน Active Citizen ภาคตะวันตก

ชนม์สวัสดิ์ ฉิมเชื้อ  แกนนำเยาวชน Active Citizen ภาคตะวันตก


ท่าค่าเรนเจอร์…คือชื่อทีมของเยาวชนจากจังหวัดสุมทรสงคราม ที่สนใจอยากทำโครงการเกี่ยวกับน้ำตาลมะพร้าวของดี ของดังของชุมชนบ้านท่าคา ที่นับวันใกล้จะจางหายไปจากชุมชน จนเกิดเป็นการรวมตัวกันขึ้นโดยใช้ชื่อกลุ่ม “ท่าคาเรนเจอร์”

นัด ชนม์สวัสดิ์ ฉิมเชื้อ คือหนึ่งในสมาชิกของทีมที่สนใจและลุกขึ้นมาทำโครงการเพื่อรักษา ต่อยอดให้น้ำตาลมะพร้าวยังคงคู่กับชุมชนท่าคา นัดพาย้อนเวลากลับไปเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว เพื่อให้เห็นจุดกำเนิดของขบวนการท่าคาเรนเจอร์ว่า “ผมทำโครงการในปีแรกเกี่ยวกับการสำรวจท่าคาตามหามะพร้าว เพราะตอนนั้นเรามีต้นทุนคือ เพื่อนที่เรารู้จักทำน้ำตาลมะพร้าว แต่เขาไม่ได้อยู่ทีมเดียวกับเราตอนนั้น อาศัยว่าสนิทกันเลยเลือกทำในพื้นที่ของเพื่อนครับ” นัดบอกว่าตอนนั้นเขาเข้ามาร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ในช่วงปีแรกเขาทำในนามของกลุ่มสภาเด็ก ก่อนจะค่อย ๆ ขยับขยาย และสุดท้ายก็เปลี่ยนจากกลุ่มสภาเด็กมาเป็นกลุ่มเพื่อนที่สนิทกันแทน

ในช่วงปีแรกนัดยอมรับว่าตัวเองคาดหวังกับภาพความสำเร็จของโครงการไว้มาก เขาเล่าว่า เราต้องหาวิธีการทำอย่างไร ให้น้ำตาลมะพร้าวมันยังอยู่ และทำให้น้ำตาลมะพร้าวเพิ่มมากขึ้นอะไรแบบนี้ ซึ่งก็คิดว่า จะทำหลายอย่างแต่ เอาจริง ๆ ก็แค่ลงพื้นที่ก็หมดเวลาแล้ว สุดท้ายแล้วสิ่งที่ได้จริง ๆ คือคนในทีมที่ เข้าใจการทำน้ำตาลมะพร้าวมากขึ้น เข้าใจระบบ เห็นความสำคัญของอาชีพนี้มากขึ้น

หลังทำโครงการทำให้ตัวนัดพบว่าคนที่ได้ประโยชน์จากโครงการจริง ๆ แล้วคือตัวเขาเองมากกว่า สิ่งแรกที่ได้แน่ ๆ คือทักษะในการเข้าหาชุมชน การลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูล การสอบถามผู้ใหญ่ ยิ่งลงพื้นที่ยิ่งทำให้เขาเห็นปัญหา เห็นความสำคัญของน้ำตาลมะพร้าวมากขึ้น ทำให้เกิดการต่อยอดต่อในโครงการปีที่สอง ปีนี้เป็นการรวมตัวของกลุ่มท่าคาเรนเจอร์ ที่ล้วนแต่เป็นเพื่อนสนิทกันทั้งทีม ทำให้การทำงานง่ายขึ้นจากปีแรกค่อนข้างมาก ปีนี้นัดบอกว่าเขาอยากให้คนอื่นเห็นความสำคัญ ตระหนักถึงปัญหาของสวนมะพร้าว เห็นความสำคัญของอาชีพทำน้ำตาลมะพร้าวที่กำลังจะหายไปจากพื้นที่เหมือนที่เขาและทีมงานเห็น นัดบอกว่าความยากของปีที่สองเป็นช่วงที่ทุกคนกำลังจะเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย ทำให้มีเวลาเจอกันค่อนข้างน้อย

หลังทำโครงการมาได้ 2 ปี นัดสะท้อนความเปลี่ยนของตัวเองก่อนและหลังให้ฟังว่า ตัวเองรู้สึกว่าสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปคือเรื่องของความดื้อ! “แต่ก่อนผมดื้อหัวชนฝา ปีแรกที่ทำโครงการไม่ฟังใครค่อนข้างดื้อและรั้นพอสมควร แต่พอเราเริ่มทำโครงการ ทำงานเป็นทีมทำให้เราเปิดใจรับฟังคนอื่นมากขึ้น ใจเย็นมากขึ้น ฟังคนอื่นมากขึ้นตรงนี้ได้จากกระบวนการในโครงการที่สอนให้เรารู้จักรับฟังคนอื่น มีวิธีคิดมุมมองที่เปลี่ยนไป เปิดโอกาสให้เพื่อนในทีมได้พูด ได้เสนอความคิด ปีแรกทีผมทำโครงการผมจะเป็นคนพูดเกือบทั้งหมด เวลาออกไปนำกิจกรรมจะเป็นผมที่ไปยืนพูดหน้าเวที แต่มาปีสองเราเริ่มให้เพื่อนได้ออกไปพูด ไปนำเสนอ ให้เพื่อนได้ลองจับไมค์พูดบ้าง” เพราะเห็นตัวเองนัดจึงเปิดโอกาสให้เพื่อน ๆ ได้ลองทำในแบบที่เขาทำบ้างซึ่งก็ได้ผล

ปัจจุบันนัดเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สาขาสังคมศึกษา หลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต 5 ปี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ อยู่ในช่วงลงพื้นที่ฝึกสอน นัดบอกว่า โครงการสอนให้ตนรู้จักการคิดเชิงระบบ การหาเหตุและผล เป็นสิ่งที่เขาสามารถนำมาใช้ในตอนเรียนมหาวิทยาลัย และพบว่าช่วยให้ตนเองใช้ชีวิตง่ายขึ้น นัดบอกว่าชีวิตมหาวิทยาลัยของเขา เขาได้รับบทบาทให้เป็นประธานรุ่นปี 60 และยังเป็นกรรมการฝ่ายกิจกรรมของสโมสรนักศึกษา นัดนำหลักการที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการไปปรับใช้ในบทบาทของการเป็นผู้นำ เปิดโอกาสให้ทีมงานได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ไม่ชี้นำ ให้ทุกคนทำงานอย่างเต็มที่และหลังจบกิจกรรมไม่ลืมพาถอดบทเรียนร่วมกัน

นัดบอกว่าความฝันของเขา ณ ตอนนี้คือการได้เรียนต่อในระดับปริญญาโทสักใบ ในคณะที่เขาชอบ ซึ่งตนก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อถึงตอนนั้นไฟ และ Passion ของตัวเองยังมีมากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งที่เขาเชื่อว่าจะยังไม่หมดไปคือหลักการคิดเชิงระบบที่ได้ติดตัวมาจากโครงการ ฯ