ชิษณุวัฒน์ มณีศรีขำ : แนวคิดและกระบวนการพัฒนาเยาวชนผ่านการทำโครงการเพื่อชุมชน PBL
บทสัมภาษณ์ แนวคิดและกระบวนการพัฒนาเยาวชนทำโครงการเพื่อชุมชน จังหวัดสมุทรสงคราม
คุณชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ (ธเนศ) โคชพัฒนาเยาวชนจังหวัดสมุทรสงคราม
ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม


ผู้สัมภาษณ์

รบกวนแนะนำตัว และบทบาทการทำงานด้วยค่ะ

คุณชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ

ผมชื่อชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ เป็นผู้บริหารโครงการ active citizen ของสมุทรสงครามและราชบุรี แต่ว่าเป็นคนสมุทรสงครามโดยกำเนิด และกลับมาอยู่สมุทรสงครามด้วยเป้าหมายที่อยากจะกลับมาอยู่บ้าน และคิดว่าช่วงหนึ่งเราอาจจะทำประโยชน์ให้กับสังคมได้บ้างในบางเรื่องที่เราคิดว่าสิ่งที่เราไม่เคยรู้ เราก็ได้เรียนรู้จากการที่เรากลับมาอยู่บ้าน เรื่องทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เรื่องภูมิปัญญาของคนสมุทรสงคราม เป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าที่ผ่านมาเราเป็นคนสมุทรสงครามแต่เราไม่ค่อยรู้เรื่องนี้เท่าไหร่ แต่เราก็มีโอกาสได้เจอพี่ๆ ผู้ใหญ่ที่เป็นคนทำงานเกี่ยวกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และรักษาบ้านเมือง แล้วช่วงนั้นก็มีโอกาสได้รู้จักการทำงานกับภาคชุมชนที่เรารวมตัวกันที่แม่กลองว่าประชาคมคนรักแม่กลอง ซึ่งประชาคมคนรักแม่กลองก็รวมตัวกันเพราะรักบ้านรักเมือง คือเนื่องจากสมุทรสงครามเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ เป็นเมืองที่ทรัพยากรค่อนข้างหลากหลาย ผู้คนรักสงบ รักจะอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดี เพราะฉะนั้น ตอนช่วงที่เรากลับมาอยู่บ้านใน พ.ศ.2540 – 2541 เรายังรู้สึกว่ายังมีสิ่งที่ดีอีกเยอะแยะที่แม่กลอง แต่ขณะนั้น เราอายุยังไม่มาก เรากลับมา เรากลับไม่รู้จักบ้านเกิดเรา พอพี่ๆ เขาพาเราลงพื้นที่เรียนรู้ เรารู้สึกว่ามีอีกหลายเรื่องที่เรายังไม่รู้อีกเยอะมาก เพราะเราออกจากสมุทรสงครามไปอยู่กรุงเทพตั้งแต่ ม.3 พอไปอยู่กรุงเทพก็รู้สึกไม่อยากกลับมาอยู่แม่กลอง แต่พอกลับมาที่แม่กลอง เรากลับรู้สึกว่าเราทำไมละเลย มองข้ามสิ่งเหล่านี้ไปเยอะเลย เราก็กลับมาเรียนรู้แล้วก็ได้สัมผัสกับเรื่องราวที่แม่กลอง รู้สึกนึกย้อนไปตอนตัวเอง เราจบ ม.3 เราก็ถูกส่งไปอยู่กรุงเทพแล้ว ตอนไปอยู่กรุงเทพ มันมีอะไรที่ต้องทำเยอะแยะที่กรุงเทพ เราก็ไม่คิดจะกลับมาทำอะไรที่แม่กลองแล้ว แต่พอมีช่วงหนึ่งที่มีจุดหักเหของชีวิต ลาออกจากราชการแล้วกลับมาอยู่แม่กลอง ภายใต้สิ่งที่เราได้เรียนรู้ เราพบว่าเด็กรุ่นใหม่ก็คงเดินตามรอยเราตามที่เราถูกส่งไปอยู่กรุงเทพตอนจบ ม.3 เขาก็คงไม่ได้เรียนรู้เรื่องราวดีๆ ในสมุทรสงคราม ถึงแม้จะมีกิจกรรมที่พาเด็กเรียนรู้ แต่เราก็รู้สึกว่ามันคงเหมือนเรา คือ ไม่ได้รู้จริง ไม่รู้คุณค่าจริงๆ ก็เลยมีโอกาสเจอกับกลุ่มที่เขาทำงานเรื่องเยาวชนอาสาสมัครรักแม่กลอง ที่มีพี่เดช พุ่มคชา ซึ่งเป็นคนแม่กลอง เป็น NGO แกมารวมพลที่แม่กลองทำเรื่องเยาวชนอาสาสมัครรักแม่กลอง มีน้องๆ ที่ทำอยู่แล้ว เราก็มีโอกาสเข้าไปคุย ไปพบปะผู้ใหญ่ใจดีของแม่กลองที่เขาทำงานอยู่แล้ว เขาก็ชวนเราไปเข้าร่วมประชาคมคนรักแม่กลอง เนื่องจากเราก็เป็นคนที่เรียนมหาวิทยาลัยมา มีความนึกคิดและเข้าใจบางอย่างที่เราอยากทำอยู่แล้ว จึงได้รับมอบหมายให้เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรมเยาวชน รู้สึกว่าปัญหาเยาวชน ตอนเรารับราชการ เราก็เห็นอยู่แล้วว่า

เด็กและเยาวชนมีปัญหามากในสังคมอุตสาหกรรม พอเรากลับมาอยู่บ้าน เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราให้ความสำคัญ แล้วเราก็ลุกขึ้นมาทำงานเยาวชน ตั้งแต่ พ.ศ.2545 เป็นต้นมา เราเริ่มทำงานเรื่องเยาวชน และพัฒนากลุ่มเยาวชนรักแม่กลอง ทำเรื่องพาเด็กเรียนรู้แม่น้ำแม่กลอง ทำเรื่องการสร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชนในลุ่มน้ำแม่กลองมา รู้สึกว่าเรื่องงานเยาวชนเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเรามีบทเรียนจากตัวเองว่า เราเรียนมาเยอะแยะ จบมาก็ดี แต่เรื่องบ้านตัวเอง เราไม่รู้เลย ทั้งที่จริงๆ มีคุณค่ามาก เราจะทำอย่างไรให้เรื่องนี้เกิดขึ้น และทำให้เด็กได้เรียนรู้ เราจึงมาเริ่มทำงานเยาวชน

พอเราทำงานมาได้สักระยะหนึ่ง เราพบว่าเด็กและเยาวชนมาแล้วก็ไป เพราะเดี๋ยวพอโตขึ้น เขาก็ต้องเข้าเมือง เขาต้องไปกรุงเทพแบบที่เราเป็น มันจึงเป็นที่มาว่าต้องใช้กระบวนการวิจัย ตอนนั้นก็เริ่มมาทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น เราเริ่มชวนเด็กและเยาวชนมาหาเส้นทาง ทำไปสักระยะหนึ่ง กลุ่มเยาวชนรักแม่กลองก็ซบเซา เพราะมันต้องมีกิจกรรมต่อเนื่อง เพราะเด็กรุ่นหนึ่งเรียนจบไป เขาก็เข้าเมือง เข้ากรุงเทพไปเรียนต่อ เราก็ต้องสร้างเด็กรุ่นต่อไป แล้วเราจะทำอย่างไร เพราะเราก็ต้องหาเงินมาเพื่อทำกิจกรรมนี้ให้ต่อเนื่องให้ได้ กลุ่มเยาวชนจึงซบเซา จึงเป็นที่มาว่าพอมีงานวิจัยมา เราก็ทำงานวิจัย สกว. เพื่อดึงทุนมาทำวิจัยเรื่องการฟื้นฟูกลุ่มเยาวชนรักแม่กลอง และทำเรื่องภูมิปัญญางานวิจัยในสมุทรสงคราม เราก็เริ่มทำงานวิจัยท้องถิ่น เป็นที่มาของการลุกขึ้นมาของการทำเรื่องเยาวชน ไปทำอะไรก็แล้วแต่ ไปทำงานกับพื้นที่เรื่องใดๆ ก็ตาม จะพยายามโยงเรื่องเยาวชน เราพยายามให้เขาได้เรียนรู้ เพราะถ้าได้เรียนรู้ เขาจะรัก เขาก็เหมือนเรา เราเรียนรู้แล้วเรารัก เราหวงแหน เราไม่อยากไปไหน เราอยากรักษาสิ่งดีๆ ของแม่กลองเอาไว้

ทีนี้เรามานั่งคิดว่ารักษาแต่แม่กลองไม่ได้ ต้องรวมจังหวัดอื่นๆ รอบๆ แม่กลองมาด้วย ตอนหลังก็ได้รับโอกาสจากมูลนิธิสยามกัมมาจลทำเรื่อง active citizen เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เป็นที่มาของการมองเรื่องระบบนิเวศ ไม่ได้มองแค่สมุทรสงครามจังหวัดเดียว เอาตั้งแต่กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี มาทำด้วย กลายเป็น 4 จังหวัดที่เราจะทำเรื่องเยาวชน เพราะเราคิดว่าเด็กต้องมีเพื่อน ปัญหาเกิดที่แม่กลอง แต่ไม่ได้เกิดที่แม่กลองอย่างเดียว มันเกิดมาจากต้นน้ำ จากปัญหารอบข้างที่มากระทบ เราทำเฉพาะแม่กลองเข้มแข็งอย่างเดียวไม่พอ เราต้องให้เด็กในจังหวัดอื่นๆ เข้มแข็งด้วย จึงเป็นที่มาของการทำ 4 จังหวัด

พอมาโครงการ active citizen ที่ทำงานภายใต้การสนับสนุนของ สกว. และมูลนิธิสยามกัมมาจล เฟสนี้เรามีข้อจำกัดว่าเราอยากจะทำอะไรที่ลึกมากขึ้น อยากจับให้เห็นเรื่องคุณค่าที่ไม่ใช่แค่เด็ก ต้องมีผู้ใหญ่ มีระบบกลไกที่เข้ามาทำงานกับเด็กด้วย เพราะลำพังเด็กไม่พอ ต้องไปพัฒนาพี่เลี้ยง พัฒนากลไกที่จะเข้ามาอุ้มชูฟูมฟักเด็ก เมื่อเด็กเปลี่ยนกลุ่มแต่ยังมีผู้ใหญ่ที่เป็นกลไกที่เข้าใจ เขาก็จะทำต่อเนื่องกับเราได้ มันจะทำให้เกิดความต่อเนื่อง หรือพ่อแม่ผู้ปกครองที่เราชักชวนเขาเข้ามา แทนที่เราจะส่งเขาเข้าเมือง เข้ากรุงเทพ เขาจะเริ่มเห็นว่าที่ทำพัฒนาเด็ก อาชีพในชุมชนหรือสิ่งดีๆ ในชุมชนมันสามารถหยิบมาสร้างงานสร้างอาชีพในชุมชนได้ ก็เลยเป็นที่มาของการพัฒนาเป็นงานวิจัยเรื่องกลไกการปกป้องคุ้มครองเด็กในสมุทรสงครามและราชบุรี ราชบุรีเราอาจจะแตะๆ ทำไม่มากนัก เนื่องจากเราอยากทำให้เห็นว่าเรื่องนี้ต้องขยายผล ไม่ได้ทำสมุทรสงครามจังหวัดเดียว ต้องขยายผลไปจังหวัดอื่นๆ ด้วย

ผู้สัมภาษณ์

คุณเธนศ ขมวดให้เห็นภาพแล้วถึงแนวคิดของ Active citizen ในฝั่งแม่กลอง ไปจนถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่ออกแบบโครงการโดยใช้วิจัยเป็นหลัก อยากขอให้ชาวยขยายที่ละก้อน แต่อันแรกขอ make sure เรื่อง timeline คือ ตอนที่คุณเธนศกลับบ้านตอนปี พ.ศ.2540

คุณชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ

ใช่

ผู้สัมภาษณ์

แต่เริ่มทำงานกับเยาวชนปี พ.ศ.2545

คุณชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ

ประมาณ พ.ศ.2543 ที่เริ่มทำงานแบบจริงจังกับเด็กมากๆ เพราะช่วง พ.ศ. 2540 – 2541 เราก็มาเรียนรู้กับทำงานกับพวกพี่ๆ ตอนนั้นยังไม่ค่อยรู้จักแม่กลองเท่าไหร่ ยังเดินตามพี่ๆ ผู้ใหญ่ที่แม่กลองไปจัดเวทีในหมู่บ้าน ในตำบลต่างๆ เริ่มด้วยประเด็นปัญหาเรื่องน้ำ จริงๆ เรารู้สึกว่าในจังหวัดนี้ พ่อแม่พาเราไปก็ต้องนั่งเรือไป เพราะสมัยก่อนรถเข้าไม่ถึง เดินทางก็ไปทางเรือ พอไปเวทีกับพี่ๆ เรานึกออกหมดเลยว่าคลองนั้น คลองนี้ เส้นทางน้ำตรงนั้นตรงนี้มันเป็นอย่างไร แต่เราไม่เคยรู้เลยว่าระบบนิเวศเมืองนี้มีน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม เรารู้แต่ว่าตอนเช้าแม่ให้ไปชิมน้ำ น้ำจืด แม่ก็ให้ตักใส่โอ่ง พอบ่ายๆ หน่อย น้ำกร่อย น้ำเค็มแล้ว มันใช้ไม่ได้แล้ว เรารู้แบบไม่ลึกซึ้ง พอลงเวที มีพี่ๆ ที่ศึกษามาก่อนเรา เขาก็ถ่ายทอดความรู้ให้เรา เราจึงรู้สึกว่าทำไมเรื่องนี้ เราเรียนทางเกษตรมา น้ำเป็นปัจจัยสำคัญมา แต่ในมหาวิทยาลัยไม่เคยสอนเราเรื่องนี้เลย มีแต่สอนว่าเราจะเอาน้ำมาใช้อย่างไร แต่เราไม่เคยรู้เลยว่ามีน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม อะไรมันเป็นอย่างไร เรารู้สึกว่าความรู้ในห้องเรียนไม่ได้ทำให้เราเข้าใจบ้านเกิดหรือเข้าใจระบบนิเวศ ซึ่งจริงๆ มันคือช่องทางในการดำเนินชีวิต ช่องทางการทำมาหากินทั้งนั้น ตอนแรกๆ กลับมาอยู่บ้านก็เชื่อมั่นในความรู้ที่เรียนมา ที่บ้านทำสวนมะพร้าว แต่เรารู้สึกว่าสวนมะพร้าวเป็นสิ่งที่เราไม่อยากทำ เราไปเรียนมา เรารู้สึกสนใจมะม่วง อยากปลูกมะม่วง ใช้เวลารบเร้าพ่ออยู่ 2 ปี จนกระทั่งพ่อให้สวนขนัดหนึ่ง ล้มมะพร้าวหมดเลย แล้วก็ปลูกมะม่วงตามที่เราเรียนมาว่ามะม่วงได้ผลผลิตดี แต่ที่ผ่านมามะพร้าวคือสิ่งที่เราไม่อยากทำ เพราะเราเหนื่อยกับมัน เห็นแม่เรามานั่งต่อรองพ่อค้าซื้อมะพร้าว ซื้อน้ำตาล เรารู้สึกว่าเกษตรกรเป็นเบี้ยล่างเขามากเลย ในขณะที่คนทำสวนผลไม้ดูราคาดี คนแย่งกันซื้อ เราก็เลยขอเขาโค่นมะพร้าวทิ้งหมดเลย แล้วปลูกมะม่วง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือไม่ได้ผลผลิต เพราะว่ามะม่วงจะออกลูกต่อเมื่อมันผ่านแล้ง แต่บ้านเราเป็นร่องสวนที่เต็มไปด้วยน้ำ เพราะฉะนั้น มะม่วงจึงไม่ออกลูก ออกแต่ใบ เราปลูกมะม่วง 3 ปี ได้กระท่อนกระแท่นมาก แต่คนปลูกมะพร้าวกลับมีรายได้ มันสะท้อนเลยว่าความมั่นใจที่เราเรียนหนังสือมา ถ้าเราไม่รู้จักชุมชนบ้านเกิดเราอย่างแท้จริง ไม่มีทางไปรอดได้เลย เราอยากให้น้องๆ เยาวชนรุ่นใหม่ของแม่กลองเข้าใจและรู้จักระบบนิเวศมากขึ้นยิ่งขึ้น มันจะเชื่อมโยงไปถึงอาชีพ

ผู้สัมภาษณ์

จากสถานการณ์เรื่องของเด็กๆ เข้าไปกรุงเทพทุ่ณเธนศเห็น อยากให้ขยายภาพสถานการณ์อีกนิดว่าจากปัญหาที่เด็กรู้สึกไม่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตตัวเอง แล้วมีสถานการณ์เด็กอื่นๆ อีกไหมในชุมชน

ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ

แม่กลองในยุคนั้น ทุกคนมุ่งมั่น เนื่องจากว่าแม่กลองมีวิกฤติ ตอนเรากลับมามีวิกฤติเศรษฐกิจปี พ.ศ.2540 คนก็กลับมาทำมาหากิน แต่จริงๆ ก่อนหน้านั้น แม่กลองมีวิกฤติมาครั้งหนึ่งแล้ว ตั้งแต่ตอนที่พี่อยู่กรุงเทพ คือ ปี พ.ศ. 2525 น้ำเค็มรุกเข้ามาในพื้นที่ อาชีพทำสวนตาล สวนมะพร้าว ของแม่กลองก็ล่มสลาย พอล่มสลาย ทุกคนก็ออกไปทำงานโรงงาน ไปทำงานในเมือง ไปเปลี่ยนอาชีพ หลังจากเศรษฐกิจฟองสบู่แตกปี พ.ศ.2540 ระบบนิเวศน้ำมันก็กลับไปที่เดิม ถามว่าเราเข้าใจไหม จริงๆ เราไม่เข้าใจระบบนิเวศเลย ถามว่าน้ำเค็มเกิดจากอะไร น้ำเค็มเกิดจากการสร้างเขื่อนที่กาญจนบุรีแล้วเกิดภัยแล้ง น้ำที่มันเคยไหลในแม่น้ำแม่กลอง มันต้องไหลปล่อยมาเพื่อมาดันน้ำเค็มไม่ให้เกินที่อำเภออัมพวา ปี พ.ศ.2523, 2524, 2525 มันเกิดภัยแล้ว ประกอบกับเขาสร้างเขื่อนปิดน้ำ น้ำมันก็ไม่มาดันน้ำเค็ม น้ำเค็มก็ทะลักเข้าสวน อาชีพก็เลยล่มสลาย แต่มันเกิดขึ้นเฉพาะช่วงเวลา หลังจากที่เขื่อนเขาเก็บน้ำได้แล้วปล่อยน้ำมา มันก็กลับมาเหมือนเดิม แต่ถึงตอนนั้นคนย้ายออกไปหมดแล้ว คนไปทำอย่างอื่น เปลี่ยนวิธีคิดไปหมดแล้วว่าต้องส่งลูกเรียนสูงๆ เกษตรไปไม่รอด เลี้ยงตัวเองไม่ได้ บ้านพี่เรียกว่าคหบดีมีฐานะ แต่เราไม่ย้ายไปที่อื่น เรากลายเป็นคนที่มีหนี้สิน เป็นหนี้ ธกส. เอาที่ดินไปเข้าธนาคาร เราจะเสียที่ดินเพราะเราไม่เข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงพวกนี้ แล้วไม่มีใครมาบอกเรา สุดท้ายพอพี่กลับมา พี่เข้าใจเรื่องพวกนี้มาก พี่รู้สึกว่าเรื่องพวกนี้ทำอย่างไรให้คนในจังหวัดเราต้องลุกขึ้นมารับรู้เรื่องนี้ แล้วเราจะไม่ยอมให้เรื่องนี้มาทำร้ายคนในจังหวัดเรา

ปัญหาพวกนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกับผู้ใหญ่ พ่อแม่ไปทำงานกรุงเทพ ไปทำงานต่างจังหวัด เขาก็ทิ้งเด็กเอาไว้กับปู่ย่าตายาย ซึ่งเด็กก็ถูกส่งไปเรียนหนังสือ แต่สภาพเศรษฐกิจไม่ดี ทุกคนก็ไขว่คว้าอยากไปเรียนสูงๆ โดยที่ละทิ้งภูมิปัญญา เกษตร อาชีพในท้องถิ่น พี่ถูกสอนเลยว่าต้องเรียนสูงๆ เพื่อไม่ต้องกลับมาทำอาชีพแบบนี้ เด็กถูกปลูกฝังเรื่องนี้ตลอด เด็กแม่กลองถูกส่งเข้าเมือง เสาร์อาทิตย์รถตู้เต็มหมดเลย เด็กถูกส่งไปเรียนพิเศษ เพราะฉะนั้น เด็ก วัยรุ่น และคนกลางคนในแม่กลองจะหายไป เพราะว่าถูกย้ายตัวเองไปอยู่ที่อื่นหมดเลย จึงมีแต่คนแก่ ผู้สูงอายุเต็มไปหมดเลยในจังหวัด เราจึงมองว่าในอนาคต วัยรุ่น วัยเด็ก และวัยกลางคนจะเหลือน้อยในจังหวัด และเหลือน้อยแบบที่อาจจะคุณภาพน้อยด้วย เพราะคนเก่งๆ ดีๆ ถูกส่งไปอยู่ในเมืองหมดเลย เราจึงรู้สึกว่าเรื่องเด็กและเยาวชน เรื่องการดูแลฐานทรัพยากรเป็นเรื่องสำคัญมาก

ผู้สัมภาษณ์

วิธีคิดที่ว่าต้องเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก มีการเรียนรู้แบบหนึ่งโดยเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตในบ้านเกิดเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 ตั้งแต่ที่ทำงานมาเรื่อยๆ เลยใช่หรือไม่?

คุณชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ

ใช่ เริ่มตั้งแต่ยุคนั้นแล้ว ตอนนั้นมีโครงการชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ มีอาจารย์ขวัญสรวง อติโพธิ ที่จุฬาฯ ลงมาทำงานเรื่องท้องถิ่นแม่กลอง มีการทำวิดิทัศน์อันหนึ่งขึ้นมา มันสะท้อนชีวิตส่วนตัวเรามาก เขาพูดเรื่องมองแม่กลอง เขายกตัวอย่างเด็กพูดถึงอาชีพในแม่กลอง ซึ่งเป็นอาชีพที่เด็กไม่สนใจแล้ว เด็กสนใจอยากจะไปทำงานในโรงงาน มันจะออกนอกชุมชนตลอด เด็กมันพูด แต่เด็กมันไม่รู้ มันเหมือนเราตอนที่ถูกย้ายให้ออกไปเรียนที่กรุงเทพ เราก็ไม่รู้ว่าบ้านเรามีอะไรที่มีคุณค่ามาก แต่เราไม่รู้ เพราะไม่มีใครมาถ่ายทอดให้เรา จึงทำให้พี่รู้สึกว่าเรื่องอะไรไม่รู้ ฉันต้องทำเรื่องเยาวชนให้รู้เรื่องนี้ ทุกครั้งที่พี่ทำงานเรื่องเยาวชน พี่จะต้องบอกว่าต้องปลูกฝังให้เขารักบ้านเกิด ปลูกฝังให้เขาเข้าใจบ้านเกิดว่ามีอะไรดีๆ ซึ่งมีคุณค่ามาก มันจึงเป็นที่มาว่างานเยาวชนเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญ

ผู้สัมภาษณ์

ความต้องการให้เยาวชนมีวิธีคิดรักบ้านเกิด มีองค์ความรู้บางอย่าง มันนำมาซึ่งการออกแบบกระบวนการใน active อย่างไร?

คุณชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ

กระบวนการที่เราทำในโครงการ active นั้น จริงๆ เนื่องจากเรามากจากพื้นฐานงานวิจัยท้องถิ่น ตอนที่เราทำ active ปีแรกที่สยามกัมมาจลสนับสนุน จริงๆ เราทำภายใต้การให้เด็กเรียนรู้ท้องถิ่นตนเอง แต่เรียนรู้แนวที่เขาต้องลงไปสัมภาษณ์ ไปพูดคุย ไปทำกิจกรรมกับผู้ใหญ่ในชุมชน เขาไม่สามารถไปโดดๆ ได้ เขาต้องมีผู้ใหญ่ ต้องมีคนให้โอกาส เราจึงผลักดันให้เด็กลงไปเรียนรู้เรื่องราวในท้องถิ่น แต่เรื่องราวที่เขาจะไปเรียนรู้ต้องเป็นเรื่องราวที่เขาสนใจ เราจะไม่บังคับว่าเขาต้องทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ เปิดพื้นที่ให้เขาทำเรื่องที่เขาสนใจ เพราะเรานึกถึงว่าเราเองถ้าเรื่องที่ไม่สนใจ เราก็ไม่อยากทำ ไม่สนใจ แต่ถ้าเรื่องที่เราสนใจ เราจะมุ่งมั่น ใส่ใจ เหน็ดเหนื่อยเท่าไหร่เราก็อยากทำ ฉะนั้น การออกแบบ active ปีแรกจึงให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เรื่องราวในท้องถิ่น เรียนรู้ภูมิปัญญา แต่ในขณะเดียวกัน ตัวพี่เองจะเน้นเรื่องการเคารพผู้ใหญ่ การต้องเดินตามผู้ใหญ่ การให้ความสำคัญกับการเคารพนบนอบผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่สำคัญมาก ที่แม่กลอง เราจะเป็นคนรักสงบ รักจะอยู่กับสิ่งแวดล้อม เราไม่อยากจะอยู่กับอะไรที่มันวุ่นวาย ความเจริญมากๆ มันจะเห็นเลยว่าเด็กแม่กลองจะมีลักษณะพิเศษบางอย่าง เช่น มีคอนเสิร์ตมาแสดง ขอเสียงกรี๊ดหน่อย เด็กแม่กลองจะเงียบ ไม่ค่อยมีเสียงกรี๊ด แต่เขาก็นั่งดูแบบสงบ คอนเสิร์ตใหญ่ๆ มาเปิดที่แม่กลองจะไม่ค่อยได้ผล เมืองแม่กลอง 3 ทุ่มก็เงียบแล้ว นี่คือต้นทุนทางวัฒนธรรมทางสังคม มันเป็นต้นทุนที่แปลกที่สืบทอดมาได้จนถึงปัจจุบันซึ่งก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่

ผู้สัมภาษณ์

สิ่งที่จะปลูกฝังกับเด็กคือทำให้เด็กๆ เคารพนอบน๊อมผู้ใหญ่ ขอถามในฐานะคนอ่านว่าถ้าแบบนี้ เด็กใน active citizen จะไม่กล้าตั้งคำถาม ไม่กล้ายืนยันความคิดเห็นของตัวเองหรือเปล่า ถ้าหากสิ่งที่ผู้ใหญ่บอกมันไม่ตรงกับความคิดเห็นของเขา ทำให้สยบยอมหรือเปล่า?

คุณชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ

พี่ว่าต้องแยกกัน ระหว่างการเคารพผู้ใหญ่กับการตั้งคำถาม พี่ว่าปัจจุบันเราบอกว่าเด็กต้องกล้าคิดกล้าแสดงออก พี่ว่าการกล้าคิดกล้าแสดงออกก็ต้องอยู่ในขอบเขต ต้องมีเหตุมีผล ไม่ใช่ก้าวร้าว เราต้องเข้าใจว่าการกล้าคิดกล้าแสดงออกของเด็ก ไม่ใช่การก้าวร้าว เด็กต้องรู้จักว่าควรเข้าหาผู้ใหญ่ ควรตั้งคำถามอะไร เพราะเวลาเราฝึกเด็ก เราฝึกเด็กให้ตั้งคำถามต่อเรื่องที่มีเหตุผล ไม่ใช่เรื่องที่เอาแต่ใจหรือเอาแต่อารมณ์มาใส่ การตั้งคำถามอยู่บนเหตุผล คำถามของเราต้องมุ่งไปสู่การเรียนรู้ ไม่ใช่คำถามเพื่อเอาชนะคะคาน เป็นคำถามใช้เหตุผล เราฝึกเด็ก เด็กต้องมีความมั่นใจ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีความอ่อนโยน จะเข้าหาผู้ใหญ่ เขาต้องมีความอ่อนหวานอ่อนโยน แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ต้องใฝ่รู้ ซึ่งผ่านการตั้งคำถาม อยากรู้อยากเห็น เป็นเด็กที่สนใจใฝ่รู้ ช่างสังเกต ไม่ใช่ว่าเราฝึกเด็กให้กล้าแต่ไม่รู้อะไรถูกอะไรควร เราบอกว่าเด็กมีสิทธิ แต่เด็กก็ต้องรู้หน้าที่ตัวเองด้วยว่าหน้าที่เด็กแค่ไหน หน้าที่ผู้ใหญ่ควรจัดการเด็กอย่างไร หน้าที่เด็กต้องเคารพ หน้าที่เด็กต้องดูแลผู้ใหญ่อย่างไร นี่เป็นวัฒนธรรมที่เราต้องถ่ายทอด แต่ว่าถ้าเราคิดว่าเด็กต้องกล้า ต้องแสดงออก อันนี้ก็ถูก ไม่ได้บอกว่าผิด แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องกำกับเด็กด้วยคุณธรรมจริยธรรม ไม่ใช่รู้สิทธิแต่ไม่รู้หน้าที่ เพราะฉะนั้น active เราจะเน้นเรื่องความเข้าใจเรื่องหน้าที่พลเมือง คุณต้องรู้ว่าคุณเด็ก คุณต้องวางตัวอย่างไร แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องทำงานกับพี่เลี้ยง ที่เขาจะต้องให้โอกาสเด็ก ต้องรู้จักการทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ เด็กในปัจจุบันว่าเขาเป็นอย่างไร ต้องเข้าใจเขา เพราะฉะนั้น พี่มองว่าสิ่งที่เราสอนให้เด็กนบนอบอ่อนน้อมนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องฝึก ไม่ใช่ฝึกให้เด็กแข็งกระด้าง กล้าคิด กล้าแสดงออก แต่ไม่รู้ว่าอะไรควรไม่ควร

ผู้สัมภาษณ์

อันนี้เหมือนคาแรคเตอร์ที่เด็ก active ที่แม่กลองมี

คุณชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ

ใช่ อันนี้คือสิ่งที่เราปลูกฝัง ฉะนั้น เด็กจะมีสัมมาคารวะ แต่เขาก็กล้าถาม เราพบว่าเราฝึกเด็กให้กล้าคิดกล้าแสดงออก แต่เราลืมกำกับไปด้วยคุณธรรมจริยธรรม และลักษณะที่เด็กควรปฏิบัติต่อผู้ใหญ่ แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าเราจะทำอย่างไรให้ผู้ใหญ่เข้าใจว่าสิ่งที่เด็กถาม คือ เขาอยากรู้อยากเห็น ไม่ใช่ว่าเขาก้าวร้าว เพราะฉะนั้น เราต้องฝึกเขาว่าถามคำถามอย่างไรที่แสดงออกถึงการอยากรู้อยากเห็น ไม่ใช่ถามเพื่อเอาชนะ

ผู้สัมภาษณ์

นี่คือช่วงปีแรกเน้นให้เด็กเข้าไปศึกษาชุมชน นำมาซึ่งวิธีการอบรมหรือสอนต่างๆ เช่น มีการตั้งคำถาม แล้วพอมาปี 2 ปี 3 ที่พี่เล่าว่ามีการใช้งานวิจัยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อยากให้ขยายให้เห็นภาพเพิ่มเติม

คุณชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ

เนื่องจากว่า Active ในช่วง 3 ปีแรกที่เราทำ จริงๆ เราอยู่บนแกนการใช้กระบวนการเรียนรู้ ลงมือปฏิบัติ เรียนรู้ สรุปบทเรียน ถามว่าใช้กระบวนการวิจัยไหม จริงๆ ก็ใช้ แต่เด็กอาจจะไม่รู้ว่าตอนนี้เข้าสู่การเรียนรู้แบบกระบวนการวิจัย เด็กอาจจะไม่ได้พูดชัดว่ากำลังทำวิจัย เพราะว่าการทำงานวิจัยมันต้องตั้งโจทย์ปัญหา ต้องมีสมมติฐาน แต่ 3 ปีแรกที่ทำงานกับสยามกัมมาจล เราก็ใช้กระบวนการเรียนรู้ที่เด็กได้ลงมือปฏิบัติ เด็กได้สรุปบทเรียนเป็นระยะ ซึ่งจริงๆ มันก็เป็น Process หนึ่งในกระบวนการวิจัย แต่ในปีปัจจุบันที่เราทำภายใต้กระบวนการที่เอาเด็กมาทำวิจัย จริงๆ ก็คือเราต้องให้เด็กตั้งคำถาม หรือ มีเอ๊ะ มีข้อสงสัย มีสิ่งที่เขาอยากจะหาคำตอบ ฉะนั้น การวิจัยคือการอยากหาคำตอบโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์ ต้องใช้เหตุ ใช้ผล ใช้ข้อมูล ใช้กระบวนการวิเคราะห์ ใช้กระบวนการตัดสินใจที่เป็นเหตุเป็นผล ฉะนั้น สิ่งที่เราจะต้องทำคือเราต้องฝึกเด็กให้เขารู้จัดตั้งสมมติฐาน รู้จักตั้งโจทย์ปัญหา ฉะนั้น กระบวนการปีนี้จึงเน้นย้ำจุดเริ่มต้นของการพัฒนาโจทย์วิจัยก่อน แต่ที่ผ่านมา เด็กอยากทำเรื่องอะไรก็เปิดพื้นที่ เปิดโอกาสให้เขาได้ลงมือทำ ได้ลงไปค้นหา ไปสัมผัสความจริง ไปพูดคุยในพื้นที่ แต่ภายใต้กระบวนการวิจัย เด็กต้องตั้งโจทย์ปัญหาก่อน เด็กมีต่อมเอ๊ะโตขึ้น หลังจากนั้นเขาจะต้องค้นหาวิธีการเพื่อไปหาข้อมูล เขาต้องออกแบบกระบวนการวิจัย เขาต้องออกแบบวิธีการที่เขาจะไปเก็บข้อมูล ต้องออกแบบวิธีการที่เขาจะลงไปพูดคุย ไปเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ เอาข้อมูลไปตัดสินใจ แล้วเขาจึงจะบอกว่าเขาจะแก้ปัญหาหรือหาทางออกกับเรื่องนี้อย่างไร อันนี้คือ Process ที่เราคิด

ทำไมเราจึงเลือกกระบวนการวิจัย เพราะเราคิดว่ามันคือเครื่องมือการพัฒนาคนที่เห็นผลในปัจจุบัน ไม่เช่นนั้น คนจบปริญญาโท ปริญญาเอกได้ ต้องวิจัย เพราะฉะนั้น การวิจัยเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนฉลาด มี

ความเท่าทัน แต่เท่าทันแบบมีเหตุมีผล ไม่ใช่เท่าทันแบบเอาเปรียบคนอื่น หรือเท่าทันแบบเอาอารมณ์เข้าว่า คนทำวิจัยต้องมีเหตุมีผล ทีนี้ในสังคมยุคใหม่ คนในศตวรรษที่ 21 เราต้องการคนที่ต้องคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น คิดวิเคราะห์ได้ ต้องเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ต้องเป็นคนที่รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลก ต้องเป็นคนที่อยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงที่มีความซับซ้อนสูง ถ้าเขาไม่มีข้อมูลรอบด้าน ไม่มีวิธีคิด system thinking เขาจะอยู่ยาก เพราะเขาจะเห็นแค่ปรากฎการณ์โดยขาดเหตุผล อันนี้จึงทำให้เราเห็นว่าเครื่องมือการวิจัย ไม่ใช่แค่นักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอกที่จะได้ใช้ ตอนนี้เราใช้งานวิจัยในชาวบ้าน และพอเราใช้เครื่องมือตัวนี้ในเด็กและเยาวชน เครื่องมือตัวนี้มันพัฒนาเด็กให้เก่งขึ้น ตั้งแต่เด็กอนุบาล ประถม ใช้กระบวนการวิจัย มันก็ไต่สเต็ป เด็กประถมก็วิจัยแบบง่ายๆ แล้วไต่ชั้นขึ้นไปเรื่อยๆ ระดับความยากของการวิจัยก็สูงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เราพบว่าคนที่ผ่านกระบวนการวิจัยเป็นคนที่มีคุณภาพ มีเหตุมีผล คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น มีวิจารณญาณในการตัดสินใจทางเลือกทางออกในการใช้ชีวิตในสังคมที่มันซับซ้อนนี้ได้

ผู้สัมภาษณ์

พอเราพูดว่ามันคือโปรเจ็กต์ที่ทำงานชุมชน ทำงานกับชาวบ้าน พอฟังแล้วให้ภาพความล้าหลัง เด็กที่ไม่รู้เรื่องแน่เลยไปทำงานกับชุมชน แต่พอมาฟังว่ามีกระบวนการทำงานที่มีการวิจัย มีการเก็บข้อมูล ต้องตั้งคำถาม ต้องทำงานร่วมกันกับคนอื่นหลายๆ ที่ รู้สึกว่าวิธีการแบบนี้ไม่ได้ให้ภาพความล้าหลังหรือการทำงานชุมชนแบบนั้นเลย อยากให้พี่ช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่างานชุมชนที่เราทำไม่ได้เป็นแบบภาพจำแบบนั้น

คุณชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ

เราอาจจะเห็นว่าคนในชุมชนนี้เป็นคนที่ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่พัฒนา ทำอะไรก็เหมือนเดิม แต่เราลืมไปว่าจริงๆ แล้วเด็กรุ่นใหม่เขาเติบโตมาจากสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลง สังคมที่มีเทคโนโลยี สังคมที่เรียกว่าต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่ลืมไปว่าเรื่องที่อยู่หน้าบ้านทุกวัน เขากลับไม่ได้เรียนรู้ เขากลับไปเรียนรู้อะไรข้างนอกหมดเลยทุกวันนี้ แต่กลับละเลยสิ่งที่เดินผ่านไปผ่านมาทุกวัน ซึ่งมันเป็นเรื่องพื้นฐาน บทเรียนพี่คือทุกอย่างมันเป็นวิทยาศาสตร์ทั้งนั้นเลย น้ำขึ้น น้ำลง พระจันทร์ขึ้น พระอาทิตย์ตก ท้องฟ้า ฝนตก เรื่องพวกนี้อยู่ใกล้ตัวเรามาก แต่เรากลับไม่ได้เรียนรู้มันด้วยหลักวิทยาศาสตร์ ทั้งที่จริงๆ เรื่องภูมิปัญญาเป็นหลักวิทยาศาสตร์ทั้งนั้นเลย แต่เรากลับเชื่อว่าความรู้อยู่ในตำรา เราไม่เชื่อพ่อแม่ปู่ย่าตายายเราที่เขาไม่ได้เรียนสูงแต่เขาเลี้ยงให้เราโตมาได้ เลี้ยงจนส่งเราเรียนปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอกได้ แต่เรากลับเหยียบย่ำความรู้ที่ทำให้เราได้กินอยู่ทุกวัน พี่จึงสงสัยว่าความรู้ในห้องเรียนมันช่วยให้คุณมีชีวิตรอดจริงหรือ พี่เรียนปริญญาตรี พี่กลับมาอยู่บ้าน พี่ยังสู้ชาวบ้าน พ่อพี่ที่เขาไม่ได้เรียนหนังสือ แต่เขาเข้าใจหลักการทางวิทยาศาสตร์มากกว่าเรา เราเรียนมา แต่เราเรียนแบบท่องจำ แต่ปัจจุบันนี้ งานวิจัยมันทำให้คนเข้าไปหาความจริงที่อยู่ใกล้ตัวมากที่สุด แล้วสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเขามากที่สุดมันคือชีวิต อนาคต ของเขา ปัจจุบันนี้เราเชื่อว่าความรู้ที่อยู่ข้างนอกจะทำให้เรามีชีวิตรอด คุณน้ำท่วม ถ้าคุณไม่รู้เส้นทางหนีอยู่ทางไหน คุณจะใช้เทคโนโลยีได้ไหม ไฟดับ ดาวเทียมใช้ไม่ได้ คุณจะมีชีวิตรอดได้อย่างไรถ้าคุณไม่มีความรู้ภูมิปัญญาของปู่ย่าตายาย ทำไมคนสมัยก่อนออกทะเลไม่เห็นต้องมีเครื่องมืออะไรเขาก็ออกทะเลหาปลามาให้เรากิน เลี้ยงเรามาจนโตได้ แต่ปัจจุบัน เราลองไม่มี GPS ไม่มีเครื่องมือช่วย เราก็พึ่งตัวเองไม่ได้ พี่จึงมองว่าสังคมปัจจุบัน เป็นสังคมที่เราเชื่อคนนอกมากกว่าเชื่อความรู้ข้างใน

ผู้สัมภาษณ์

คุณเธนศอธิบายว่าโปรเจ็คต์แบบนี้ มันทำให้เด็กมีทักษะบางอย่างที่ตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21 ได้ด้วยซ้ำ ช่วยอธิบายอีกทีได้ไหมว่าโครงการที่ทำกับชาวบ้าน ทำกับชุมชน มันตอบโจทย์สิ่งที่คนทั่วโลกพูดกันได้อย่างไร?

คุณชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ

เวลาเราให้เด็กไปคุยกับชาวบ้าน ถ้าเด็กไม่มีทักษะการตั้งคำถาม เด็กไม่มีวิธีคิด เด็กคิดไม่เป็น เด็กฟังไปก็แค่รับรู้ แต่สิ่งที่เราต้องฝึกเขา คือต้องฝึกทักษะการตั้งคำถาม ทักษะเรื่องวิธีคิดให้กับเด็ก ไม่ใช่อยู่ดีๆ เราผลักเด็กให้ลงไปหาคนในหมู่บ้าน ภายใต้โครงการ Active citizen เราต้องฝึกเด็กตั้งโจทย์ เด็กต้องเอ๊ะ เด็กต้องตั้งคำถามต่อสิ่งที่เห็น แล้วหาคำตอบกับมัน แล้วก็ต้องลงไปหาคำตอบในพื้นที่ สิ่งที่ได้มากกว่านั้น เมื่อเด็กลงไปหาผู้ใหญ่ เด็กจะฝึกเรื่องอะไร เด็กจะฝึกเรื่องการตั้งคำถาม ฝึกเรื่องการหาความรู้ ฝึกเรื่องการอยู่กับผู้ใหญ่ ฝึกการอยู่กับคนที่แตกต่างหลากหลาย ฝึกเรื่องการปรับตัวที่จะอยู่กับสังคม ซึ่งปัจจุบันเด็กมักจะอยู่กับตัวเอง อยู่กับโทรศัพท์ อยู่กับเครื่องมือเทคโนโลยี เด็กจะไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เด็กจะอยู่แต่ในโลกส่วนตัว แต่ภายใต้โครงการ active citizen ที่เรากำลังทำ ภายใต้การวิจัย เราฝึกให้เด็กตั้งคำถามเป็น ฝึกให้เด็กค้นหาคำตอบ รู้จักให้เด็กบันทึกข้อมูลแล้วไปพูดคุยกับคน สิ่งที่ได้มากไปกว่าเรื่องข้อมูล คือ ได้ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ความสัมพันธ์ต่อธรรมชาติกับคน ความสัมพันธ์ต่อเทคโนโลยีที่เด็กจะเข้าไปใช้ในวันข้างหน้าที่เขาจะต้องเข้าไปเผชิญ เรากำลังพาเด็กไปเผชิญสิ่งที่เขาไม่เคยเจอ ในห้องเรียนอาจจะไม่มี แต่นี่คือทักษะชีวิต เด็กปัจจุบันไม่มีทักษะชีวิต เพราะมีคนวางให้เขาเดินหมดเลย เขาไม่เคยผ่านความท้าทาย ความยากลำบาก แต่โครงการ active citizen ที่ผ่านกระบวนการวิจัย พาให้เขาไปผ่านความท้าทาย ไปทำให้เขาอยากรู้อยากเห็น ไปทำให้เขาเปิดโลกกว้าง ไม่ได้อยู่ในตำราอย่างเดียว บางคนไม่เคยคิดเลยว่าที่บ้านเขามีแบบนี้ด้วยหรือ เอ๊ะแบบนี้ กับอ๋อที่เขาอ๋อด้วยตัวเอง มันสำคัญกว่าการที่เราสอนให้เขาท่องจำ แต่เด็กรุ่นใหม่เขาท่องจำไม่ได้แล้ว แต่เด็กรุ่นใหม่ท่องจำไม่ได้แล้ว เพราะถ้าเขาไปเจอซ้ำ มันไม่เหมือนเดิม เขาจะไม่มีทางที่จะหาทางออกกับมันได้ นี่คือสิ่งที่เราคิดว่ามันจะตอบโจทย์คนในศตวรรษที่ 21 คือต้องเป็นคนที่มีความคิดวิเคราะห์ ต้องเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ต้องเป็นคนที่รู้จักรับและปรับใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับชีวิตตัวเอง

ผู้สัมภาษณ์

อยากให้คุณเธนศช่วยขยายความของเด็กๆ ที่เข้ามาอยู่ในโครงการว่าเขามาจากบ้านลักษณะแบบไหน บริบทสังคมของเด็กๆ ที่เข้ามาในโครงการนี้เป็นแบบไหน ท้าทายไหม หรือมันยากง่ายอย่างไรที่จะพัฒนาเด็กกลุ่มนี้ให้ขึ้นมามีทักษะแบบที่คุณเธนศได้กล่าวไป

คุณชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ

ขอย้อนกลับไปที่ว่าปัจจุบันสังคมเป็นแบบนี้ พ่อแม่ก็ต้องออกไปทำมาหากิน พ่อแม่บางส่วนก็ทำสวน ในขณะเดียวกันก็ต้องออกไปทำงานข้างนอกด้วย เพราะค่าใช้จ่ายในชีวิตมันเยอะ ค่าครองชีพสูงขึ้น เขาก็ต้องปากกัดตีนถีบ ทำอาชีพเดียวอาจจะไม่พอ เขาก็ต้องทำสวนด้วย ออกไปทำงานข้างนอกด้วย ค้าขายด้วย ในขณะเดียวกัน ในชุมชนสังคมเองก็ต่างคนต่างอยู่ เด็กก็ไม่มีคนในชุมชนสังคมช่วยกันดูแล เพราะฉะนั้นก็เลี้ยงด้วยทีวี ด้วยคอมพิวเตอร์ เลี้ยงด้วยเงิน พอเขาอยู่ในชุมชน เด็กก็มีชีวิตแบบเช้าไปโรงเรียน เย็นกลับบ้าน ตอนเช้าบางทีก็ยังไม่ได้เจอพ่อแม่ พ่อแม่ออกไปก่อนแล้ว พอกลับมาเด็กก็หลับแล้ว มิติความสัมพันธ์พวกนี้ในสมุทรสงครามมีปัญหามาก แล้วก็ยังมีปัญหาครอบครัวแตกแยกอีก การหย่าร้าง เด็กบางคนมีปัญหาเรื่องพ่อแม่แยกทาง เราพบว่าที่สมุทรสงครามมีเปอร์เซ็นต์ที่พ่อแม่แยกทางกันเยอะ เด็กอยู่กับปู่ย่าตายาย มันก็มีเรื่อง generation gap เด็กกับผู้ใหญ่จะเรียนรู้กันคนละยุค มิติพวกนี้จึงมีปัญหา เพราะฉะนั้น พอเด็กไปโรงเรียน การเรียนรู้ในปัจจุบัน เด็กก็ไม่ได้ถูกถ่ายทอดให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 เพราะครูเองก็ติดเงื่อนไขที่จะต้องสอนให้ครบตามเวลา สอนตามหลักสูตร มันก็ไม่มีคนฝึกให้เด็ก เพราะฉะนั้น การที่เราทำกระบวนการ active citizen มันทำให้เด็กกลุ่มหนึ่งที่มา ประมาณ 50% ที่มีปัญหาครอบครัว ตอนแรกๆ ที่มาเขาก็สะท้อนเรื่องการไม่กล้าคิด ไม่กล้าแสดงออก อยู่ในภาวะกังวล กลัว สับสน หรือคนที่เป็นพี่เลี้ยงเองก็อาจจะไม่ได้ถูกฝึกให้เข้าใจเด็กในบริบทแบบใหม่ แรกๆ ที่เด็กมาก็ไม่อยากทำโครงการ เพราะภาระเรื่องเรียนเยอะ เด็กบางคนก็มีปัญหา เด็กโตบางคน วันเสาร์อาทิตย์เขาต้องไปทำงานหารายได้พิเศษ ถ้าเขามาเข้าร่วมทำโครงการกับเรา รายได้พิเศษที่ต้องหาก็จะหายไป คนดูแลโครงการต้องทำมากกว่าหาเด็ก ไม่ใช่ว่าเราเรียกเด็กเข้ามาง่ายๆ แต่เราต้องทำอย่างไร ดูแล แม้กระทั่งพ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องคอยทำความเข้าใจ ในขณะเดียวกัน คุณครูเองก็ไม่เชื่อวิธีคิดแบบที่เราทำ เพราะครูเชื่อว่าต้องอยู่ในห้องเรียน ในขณะเดียวกัน เราก็พบว่าเด็กเก่ง เด็กเรียนดี ไม่มีทางหลุดเข้ามาอยู่ในโครงการเราได้ง่ายๆ เพราะเด็กพวกนี้เสาร์อาทิตย์เรียนพิเศษ วันธรรมดาครูก็ติด พาไปแข่งขัน ต้องเรียนในห้องเรียน ขาดเรียนไม่ได้ แต่เด็กของเรา เราพบว่าการที่จะให้เด็กมีทักษะชีวิต เด็กต้องผ่านประสบการณ์นอกห้องเรียน เพราะฉะนั้น เวลาเราทำกิจกรรม เราต้องให้เด็กผ่านประสบการณ์ที่ต้องลงมือทำเอง ผ่านความท้าทาย ผ่านความยาก เพราะว่าเด็กจะผ่านการวิจัยไม่ใช่เรื่องง่าย เด็กต้องผ่านความท้าทาย เพราะฉะนั้น เด็กต้องฝึกอดทน ทนรอที่จะไม่ด่วนสรุปอะไรง่ายๆ เพราะฉะนั้น กระบวนการวิจัยเป็นกระบวนการที่ต้องหาเหตุหาผล หาข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล กระบวนการพวกนี้จะทำให้เด็กผ่านความท้าทายพวกนี้ พอผ่านความท้าทายพวกนี้ก็เกิดประสบการณ์ จาก 3 ปีที่ทำงานมา เราเห็นเลยว่าเด็กที่ผ่านประสบการณ์กระบวนการแบบนี้ที่เข้มข้นต่อเนื่องและมีผู้ใหญ่ที่เข้าใจ มีพี่เลี้ยงที่เข้าใจ มันจะทำให้เขาคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น เด็กที่จบจากโครงการเรา เราไม่ค่อยพบว่าเด็กจะอ่อนแอหรือสู้ชีวิตไม่ได้ เราพบว่าเด็กพวกนี้การเรียนก็ดีขึ้น พฤติกรรม การดูแลเอาใจใส่ครอบครัว การรับผิดชอบ ความมีวินัย พวกนี้มาหมดเลย ขณะเดียวกัน สิ่งพื้นฐานเหล่านี้ส่งผลต่อการเรียนของเขา เราพบว่าครูตกใจมากว่าเด็กคนนี้ ที่ผ่านมาไม่เคยสนใจ ไม่เคยใส่ใจการเรียน พอมาผ่านโครงการเรา กลับไป พบว่าเขาเรียนดีขึ้น เขามีวินัยมากขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น ครูเบาใจ นี่คือสิ่งที่เราค้นพบในโครงการ ฉะนั้น ปีนี้ที่เราทำงานโดยใช้กระบวนการวิจัยที่เข้มข้นกว่าเดิม เราจะได้เด็กที่มีคุณภาพมากขึ้น

ผู้สัมภาษณ์

พอเด็กที่อยู่ในโครงการกลุ่มหนึ่ง ที่พี่บอกว่า 50% เป็นกลุ่มที่มีปัญหาครอบครัว อาจจะมีความเสี่ยงในการทำพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ พอเข้าไปอยู่ในโครงการ เหมือนเขาได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ที่คุณเธนศใช้คำว่าเป็นโจทย์เรื่องการคุ้มครองทางสังคมด้วยหรือเปล่า อยากให้อธิบายตรงนี้

คุณชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ

เรื่องกลไกการปกป้องคุ้มครองเด็ก หลายครั้งเราไปมองปลายเหตุ เราไปมองที่เด็กเกิดเหตุแล้ว เช่น เด็กไม่มีพ่อแม่ผู้ปกครองดูแล เราก็ไปให้ทุน เด็กมีปัญหาเรื่องท้อง หรือเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมต่างๆ เราก็ไปแก้ปัญหาด้วยการเอาเขาไปเข้าค่าย ไปฝึกอบรม เอาทุนไปให้เขา แต่เราลืมไปว่ากลไกในการปกป้องคุ้มครองเด็ก มันต้องสร้างตั้งแต่เริ่มต้นที่เด็กเกิดมา มันต้องมีกระบวนการแบบนี้สั่งสมปลูกฝัง ปลูกฝังคือการปลูกฝังคนในสังคมชุมชน ปลูกฝังพ่อแม่ ปลูกฝังครอบครัว ปลูกฝังหน่วยงานให้เขาเข้าใจว่าวิธีการปกป้องคุ้มครองเด็กไม่ใช่ให้เกิดเหตุแล้วค่อยมาปกป้อง แต่มันต้องปกป้องตั้งแต่ต้นทาง เพราะฉะนั้น องคาพยพของสังคมทั้งหมดต้องเข้าใจว่ากระบวนการปกป้องคุ้มครองเด็กต้องทำอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่มาเริ่มทำตอนเด็กโตแล้ว แต่มันต้องร่วมกันทำ ร่วมสังเกต เริ่มดูพฤติกรรมเด็กตั้งแต่เด็กๆ ผมเห็นเลยว่าหลายครอบครัวดูแลเด็กด้วยการให้วัตถุ ให้เงิน แล้วก็ให้ความรู้ แต่เขาให้ความรู้โดยการส่งไปเรียน แต่เขาไม่เคยให้ความสัมพันธ์ ไม่เคยให้การเอาใจใส่ดูแล เขาไม่เคยรู้ว่าเด็กที่แท้นั้นต้องการอะไรกันแน่ จริงๆ วัตถุอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เด็กต้องการ แต่เด็กต้องการคนที่จะดูแลเอาใจใส่ ให้คำแนะนำ เป็นเพื่อนคู่คิดเขา คอยให้คำแนะนำเขา แต่กลไกแบบนี้มันอยู่ตรงไหน ถ้าครอบครัวทำไม่ได้พอ จะมีกลไกอื่นไหม เช่น คนในชุมชน หรือ อบต. หรือหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษาที่ต้องเข้าใจเรื่องนี้ และไม่ใช่ทำกันเป็นส่วนๆ แต่มันต้องทำแบบเข้าใจร่วมกัน เพราะฉะนั้น โครงการที่เราจะทำร่วมกันนี้ เรากำลังจะหากลไกปกป้องคุ้มครองทางสังคม ฉะนั้น ไม่ใช่บอกว่าอันนี้เป็นหน้าที่บ้านพักเด็ก อันนี้เป็นหน้าที่ อบต. ที่ต้องทำสภาเด็ก อันนี้ไม่ใช่หน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองหรือไม่ใช่หน้าที่ครู ซึ่งมันแยกส่วน แต่สิ่งที่เรากำลังทำ เราจะเห็นว่าพี่เลี้ยงที่เข้ามาในโครงการ active เรา มีตั้งแต่พ่อแม่ผู้ปกครอง แกนนำชุมชน เจ้าหน้าที่ อบต. ครู กระทั่งว่าในอนาคต เรามองว่าเราจะต้องเอาเรื่องนี้เข้าไปให้หน่วยงานในจังหวัดได้เห็นว่าถ้าจะแก้ปัญหา หรือ จัดการปัญหาเด็กและเยาวชน คุณคงไม่มองแค่เมื่อเด็กมีปัญหา

เรากำลังทดลองไปทำงานกับคุมประพฤติ เนื่องจากว่าเด็ก เมื่อเกิดปัญหาแล้ว เขาจะถูกคุมประพฤติ แต่กระบวนการที่คุมประพฤติอยากทำคือจะทำอย่างไรให้คนในสังคมยอมรับเด็กที่ก้าวพลาด แต่เราก็แยกว่าเด็กที่ถูกคุมประพฤติคุณต้องไปบำเพ็ญประโยชน์ ถ้าไม่ไปบำเพ็ญประโยชน์ คุณจะไม่ผ่านการคุมประพฤติ แต่เรากลับมองใหม่ว่าเด็กเข้ามาทำโครงการนี้ เด็กเข้ามาทำโครงการดีๆ ที่เขาตั้งใจเอง ไม่ได้บอกว่าพี่ใหญ่ต้องบังคับว่าต้องไปกวาดถนน ต้องไปโบกรถ ไม่อย่างนั้นจะไม่ผ่านการคุมประพฤติ แต่เราอยากเอาเด็กคุมประพฤติมานั่งคิดว่าเขาอยากทำอะไรดีๆ ให้กับคนในสังคม มากกว่าการที่เขาทำเพราะว่าเขาต้องทำ เพราะเขาถูกคุมประพฤติอยู่ เรากำลังจะมีหนึ่งโครงการในงานนี้ เพื่อทดสอบโมเดล เพื่อให้เห็นว่าเวลาเข้าไปเรื่องการปกป้องคุ้มครองเด็ก จริงๆ ถ้าเขาหลุดไปปลายทางแบบนั้นก็จะต้องมีกระบวนการ ซึ่งเราคิดว่าเราเคยไปดูที่สงขลาแล้วเราเห็นกระบวนการแบบนี้ ซึ่งเราคิดว่าเราจะมาออกแบบสำหรับสมุดสงครามเราให้เป็นอย่างไร

ผู้สัมภาษณ์

ทำไมงานพัฒนาเด็กจึงไม่พัฒนาเด็กอย่างเดียว แต่ต้องทำงานกับพี่เลี้ยงที่เป็นครู หรือคนในชุมชน หรือ อบต.ด้วย

คุณชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ

โครงการเรา มาแล้วก็ไป ไม่แน่นอน ประเด็นคือถ้าเราสามารถสร้างแกนนำชุมชน สามารถสร้างเจ้าหน้าที่ อบต. สามารถสร้างเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐที่เขาเข้าใจเรื่องแบบนี้ร่วมกัน แล้วทำอย่างไรให้เขาทำเรื่องนี้ต่อเนื่อง แล้วไม่จำเป็นต้องเป็นโครงการ แต่เขาต้องทำในชีวิตประจำวัน ต้องมีเวที ต้องมีการประชุม ต้องมีการมาพูดคุยกันถึงสถานการณ์แล้วออกแบบว่าเขาจะทำอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมา การประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กก็ประชุมกันโดยที่เพื่อที่จะใช้จ่ายเงินงบประมาณที่มีเพื่อจะช่วยเด็ก แต่ไม่ได้มาคิดร่วมกันว่าขณะนี้สถานการณ์เด็กเป็นอย่างไร แล้วเราจะช่วยเด็กอย่างไร สิ่งที่เราคิดคือเราจะสร้างคนเหล่านี้เพื่อให้เขาเป็นทีมในการที่จะทำเรื่องการปกป้องคุ้มครองเด็กจริงๆ ให้เขาเข้าใจ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้เป็นคณะกรรมการ แต่เขาก็ยังต้องลุกขึ้นมาทำในชุมชนของเขาว่าเขาจะต้องลุกขึ้นมาปกป้อง กระบวนการคือเราจะต้องเอาพี่เลี้ยงมาอยู่กับเด็ก มาเรียนรู้กับเด็ก พัฒนาเขาไปพร้อมกัน เราหวังว่าไม่ใช่เราที่จะต้องทำ เราทำคนเดียวไม่มีวันสำเร็จ เราต้องสร้างกลไกเหล่านี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะว่าจริงๆ พี่มีอีกโครงการหนึ่งที่สยามกัมมาจลให้ทำกับ สกว. ก็คือการสร้างกลไกการพัฒนาเด็กและเยาวชนในตำบล ซึ่งอันนี้เราพบว่ามันมีตั้งแต่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่บ้าน อบต. เขามาคุยร่วมกัน แล้วมีกิจกรรมทำต่อเนื่องในหมู่บ้าน เราทำต่อเนื่องปีสองปี พวกนี้ลุกขึ้นมา พอโครงการจบ พวกนี้เดินต่อ มันจะเกิดความยั่งยืน แต่โครงการเรามาปีสองปี หยุด แล้วก็มาต่ออีกปีสองปี ซึ่งมันไม่ต่อเนื่อง แต่ถ้าเราเซ็ตระบบนี้ได้ต่อเนื่อง มันจะกลไกนี้ต่อเนื่องทั้งในหมู่บ้าน ในตำบล ในจังหวัด ซึ่งในอนาคตพี่ว่ากลไกพวกนี้ต้องเกิดความต่อเนื่อง และเป็นตัวอย่างให้เขามาดูว่ากลไกการปกป้องคุ้มครองเด็กที่เป็นระบบต้องเป็นแบบนี้

ผู้สัมภาษณ์

คนทำงานเรื่องเด็กและเยาวชนต้องรู้อะไรบ้าง โดยเฉพาะเด็กในยุคสมัยนี้ด้วย

คุณชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ

พี่ว่าต้องเข้าใจว่าเด็กต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ชีวิตประจำวันของเขาเป็นอย่างไร ต้องเข้าใจว่าเด็กตอนนี้เขาต้องการอะไร แต่ละช่วงวัยมีพฤติกรรมแบบไหน มีวิธีการที่จะคุยกับเขา มีวิธีการที่ทั้งดุ ทั้งปลอบ ทั้งเอาใจ ต้องมีกลยุทธ์หลายอย่าง หลายคนบอกว่าทำงานกับเด็กต้องใจดี ต้องสนุกสนาน แต่ถ้ามาดูโครงการที่สมุทรสงคราม จะมีทุกอย่าง สนุกก็สนุก จริงจังก็จริงจัง และเวลาดุก็ดุ เวลาเคี่ยวก็เคี่ยวกันจริงๆ มันมีทุกอย่าง ไม่ใช่ทุกอย่างต้องสนุก กลัวเขาไม่มา กลัวเขาไม่สนุก กลัวว่าถ้าไปเข้มงวดกับเขามากๆ เดี๋ยวเด็กจะไม่มาทำ ซึ่งโครงการที่แม่กลองไม่ได้เดินด้วยแนวแบบนี้ เรามีทั้งบู๊ ทั้งบุ๋น มีทั้งสนุก มีทั้งยากลำบาก ทั้งท้าทาย เด็กต้องผ่านประสบการณ์เหล่านี้ทั้งหมด เพราะในชีวิตจริงไม่มีที่เขาจะเจอแต่ความสนุก แต่ว่าถ้ามีความทุกข์ เขาจะควบคุมไม่ให้ทุกข์จนเกินไปได้อย่างไร ถ้ามีความสุขแล้วจะไม่สุขจนเกินไปจนละเลยอะไรบางอย่าง เราจะหล่อเลี้ยงความสมดุลเหล่านี้ในการทำงานของเราตลอดเวลา เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำก็อาจจะเป็นตัวแบบอันหนึ่งที่ไม่ได้บอกว่าเราต้องเอาใจเด็ก กลัวเด็กไม่มาทำโครงการกับเรา แต่เราพบว่าเด็กที่มาทำโครงการกับเรา เขาพร้อมกลับมาช่วยเราตลอด อันนี้คือจิตอาสา จิตอาสา จิตสาธารณะ เราเรียกเด็กมาช่วยงานเราได้ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เรากดปุ่มเรียกได้ให้มาทำงานอะไรกับเรา มีปัญหาอะไรที่แม่กลอง เด็กพวกนี้พร้อมมาช่วยเราตลอด นี่คือสิ่งที่พี่คิดว่าถ้าพี่อายุมากกว่านี้ พี่ก็จะมีเด็กที่จะมารับผิดชอบอะไรบางอย่างต่อจากพี่ไป

ผู้สัมภาษณ์

คำถามสุดท้าย อยากชวนคุณเธนศมองกลับไป ถ้าบอกว่าเริ่มต้นทำงานเมื่อ พ.ศ.2540 แบบไม่เป็นทางการ ปี พ.ศ.2543 คือจุดสตาร์ทแล้ว มาจนถึงวันนี้ที่พี่บอกว่ามันคือการทำงานที่อยากจะให้เด็กๆ เข้าใจองค์ความรู้ที่อยู่ตรงหน้าในชุมชน แต่มาถึงวันนี้ไม่ใช่แค่นั้นแล้ว มีการพัฒนาทักษะ มีการเยียวยา การสร้างความสัมพันธ์ และอาจจะมีการส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่นไปแล้วด้วยซ้ำ มันเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ผลลัพธ์ที่เกิดในวันนี้มันมาไกลกว่าที่ตั้งไว้ตอนแรกแล้วด้วยซ้ำ มองกลับไปวันนี้ พี่มองในการพัฒนาตัวเองอย่างไร?

คุณชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ

ถามว่าเกินความคาดหมายเราไหม ก็ไม่เกิน เพราะเราทำอะไร เรามีความคาดหมายอยู่แล้ว เรามีเป้าหมายว่าวันหนึ่งจะต้องมีคนรุ่นใหม่ที่ถึงเขาจะไม่อยู่กับเรา ไม่ต้องมาทำงานกับเรา แต่เขาก็ถูกติดตั้งเรื่องนี้ไปในชีวิตเขา วันหนึ่งที่เขาจะต้องเผชิญอะไรบางอย่าง เขาก็จะต้องเผชิญมันได้อย่างมั่นใจ ในขณะเดียวกัน ถ้าบ้านเมืองนี้มีปัญหาอะไรก็แล้วแต่ คนเหล่านี้จะพร้อมมาช่วย มาดูแล เพราะฉะนั้น เราอาจจะดูว่าปีๆ หนึ่งเราพัฒนาเด็กประมาณ 100 คน แต่เราเชื่อว่าเขาจะไปสร้างคนอีกเป็นพันคน เพราะเขาหนึ่งคนสามารถจะไปขยายอะไรได้อีกเยอะ วันนี้เราอาจจะไม่เห็นเขาปรากฎกายตรงนั้นตรงนี้ แต่เราเชื่อว่าถ้าวันใดที่เขาใช้ชีวิตที่แม่กลองแล้วเขาเห็นปัญหา เขาจะลุกขึ้นมาเอง โดยที่เราไม่ต้องไปเรียกไปบอกเขาเลยว่าคุณต้องมาทำแบบนั้นแบบนี้ เพราะเราเป็นอย่างนั้น เราถูกทำมาแบบนี้เมื่อสิบปีที่แล้ว พี่ๆ ผู้ใหญ่ที่เขาเป็นผู้ใหญ่เหมือนเราวันนี้ เขาทำให้เรามาตอนยุคนั้น เราก็เป็นคนนั้นที่ถูกพัฒนา แล้วเราก็ต้องยืนแทนผู้ใหญ่รุ่นนั้นที่เขาอาจร่วงโรยไม่ได้อยู่แล้ว แต่เรายืนขึ้นมาสร้างคนรุ่นต่อๆ ไป อันนี้เป็นเรื่องที่พี่รู้สึกว่าภาคภูมิใจที่เด็กหลายๆ คนพร้อมจะกลับมา และเขาก็มีวิถีชีวิตแบบคนรุ่นใหม่ แต่เขาเข้าใจบางอย่างในอดีต และไม่ได้จมกับอดีต แต่เข้าใจที่จะอยู่ร่วมกับมัน และไม่เอาเปรียบมัน พี่ว่ามีเยอะ แต่มันยังไม่ถึงเวลาที่เราจะเรียกเขามาให้ทำอะไร