ธีรเมธ เสือภูมี : แกนนำเยาวชน Active Citizen ภาคตะวันตก

นายธีรเมธ เสือภูมี  แกนนำเยาวชน Active Citizen ภาคตะวันตก

จิมมี่ ธีรเมธ เสือภูมี คือทายาทนาเกลือที่เกือบจะถูกเรียนกว่าเป็นรุ่นสุดท้ายก็ว่าได้ จิมมี่ใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับนาเกลือ กลิ่นไอของความเป็นลูกหลานนาเกลือจึงเข้าไปอยู่ในสายเลือด และจิตใต้สำนึกของจิมมี่จนอยากที่แยกออกจากกัน

“ใคร ๆก็เรียกผมว่า “จิมมี่เจ้าพ่อนาเกลือ” ผมได้รับฉายานี้มาตลอด 5 ปีที่เรียน เพราะว่าเวลาอาจารย์สั่งทำรายงาน ผมจะทำเกี่ยวกับเรื่องนาเกลือตลอด ทั้งศาสนา ท้องถิ่น วิจัย ชุมชน ผมทำเรื่องนาเกลือหมดเลย เพราะผมคิดว่าเรามีข้อมูล เราเคยทำโครงการมาเพราะฉะนั้น 5 ปีที่เรียนในรั้วมหาวิทยาลัยผมไม่เคยเปลี่ยนหัวข้อเลย ไม่เคยคิดอยากจะไปทำอะไรอย่างอื่น เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวเราที่สุด แล้วเราถนัดที่สุด เลยเป็นที่มาของคำว่าจิมมี่นาเกลือที่เพื่อนมอบให้ครับ” จิมมี่บอกเล่าฉายาที่เพื่อนมอบให้เมื่อครั้งเรียนมหาวิทยาลัยให้ฟังด้วยความอารมณ์ดี

เมื่อถามต่อถึงจุดเริ่มต้นของเส้นทางของฉายา จิมมี่นาเกลือ ก็คงต้องพาย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่จิมมี่เรียนอยู่ที่โรงเรียนถาวรานุกูล จังหวัดสมุทรสงคราม จิมมี่จับพลัดจับผลูมาร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนสู่การเรียนรู้ภาคตะวันตกจากการอาจารย์ที่ปรึกษาเขียนชื่อของตนเข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิกของโครงการ แต่เพราะความบังเอิญนี่แหละ ที่ทำให้เขาได้เข้ามาสู่เส้นทางของนาเกลือจนไม่อาจจะถอนตัวได้อีกเลย

จิมมี่บอกว่าครั้งแรกที่เข้าร่วมกิจกรรมยอมรับว่า อึ้ง และ งง ไปพร้อมๆ กัน อึ้งเพราะพึ่งทราบว่าโครงการนี้ เป็นโครงการระยะยาวใช้เวลาในการทำกิจกรรมหนึ่งปีเต็ม และที่งงไปกว่านั้นคือตนเข้ามาช่วงเวทีที่ 2 ของการจัดกิจกรรม โจทย์ที่ถูกทิ้งไว้คือการกลับไปทำวิดีโอเพื่อนำมาเสนอให้เพื่อนๆ โครงการอื่นเห็นว่าเราทำเกี่ยวกับอะไร “ตอนนั้นผมไม่รู้อะไรเลย เราก็ทำ ๆ มา แต่พอถึงวันจริง เราเห็นเพื่อนๆ โครงการอื่นเขานำเสนอแล้วพอมาดูวิดีโอเรา ตอนนั้นไม่อยากเปิดให้ใครดูเลย วิดีโอก็กลับหัว ที่สำคัญโดนติงเรื่องการนำเสนอค่อนข้างหนักมาก” จิมมี่ยอมรับว่าตอนนั้นค่อนข้างกดดัน เพราะโดนคณะกรรมการให้ข้อเสนอแนะค่อนข้างหินและโหดพอสมควร

แม้จะเจอบททดสอบและแรงกดดันมากมาย แต่ก็ยังทำต่อ ส่วนหนึ่งจิมมี่มองว่าในเมื่อตัดสินใจเข้ามาทำโครงการแล้วถึงแม้จะเป็นการเข้ามาแบบงง ๆ ในตอนแรกก็จริง แต่ตนก็ยังยืนยันที่จะทำต่อไป โดยเลือกที่จะนำเอาคำตำหนิเหล้านั้นมาเป็นแรงผลักดัน ให้ต้องทำงานสู้ ให้เขาเห็นว่าเรามีดีในแบบของเรา “เราเชื่อมั่นว่าจริงๆ ฉันทำงานดี ฉันทำได้แต่ว่าเรายังไม่รู้ เราพึ่งเข้ามา เราก็เลยเปลี่ยน ต่อให้เป็นระยะยาวเราก็จะทำให้เขาเห็นว่าเราทำได้”จิมมี่บอกเล่าถึงความตั้งมั่นในการทำโครงการครั้งนั้นให้ฟัง

หลังโครงการในปีที่หนึ่งจบลง จิมมี่และทีมต่างแยกย้ายกันไปทำหน้าที่ของตัวเอง จิมมี่สอบเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ถึงจะไม่ได้ทำโครงการต่อในปีที่สอง แต่จิมมี่ยังคงนำเอาความรู้ที่ได้จากการทำโครงการมาใช้ในการทำกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยเสมอ ป้ายแกงการูขนาดใหญ่แสดงให้เห็นเส้นทางการทำนาเกลือของชาวสมุทรสงครามผลผลิตจากการจัดงานมหกรรมเด็กและเยาวชนภาคตะวันตก หนังสือถอดบทเรียนพลังพลเมืองเยาวชนภาคตะวันออก สมุดเล่มเล็กของโครงการ และสินค้าชุมชน ผลิตภัณฑ์โอท๊อปที่ผลิตจากดอกเกลือ เกลือสปา ถูกจิมมี่นำมาใช้ประโยชน์อยู่ประจำครั้งแล้ว ครั้งเล่า ไม่เพียงแค่อุปกรณ์สื่อที่จิมมี่นำมาใช้ถ่ายทอดให้กับประชาชน แต่ยังนำทักษะความรู้ที่ตนได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการฯ มาเผยแพร่ให้กับประชาชนทั่วไปอยู่ตลอด

ในขณะที่ตัวจิมมี่เองก็นำความรู้เรื่องนาเกลือไปประยุกต์ในรายวิชาเรียนของตัวเองควบคู่กันไปด้วย จิมมี่เล่าว่า “ผมมองว่านาเกลือเป็นความรู้ เป็นต้นทุนที่เรามีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องหาใหม่ เพราะฉะนั้นในการทำงานรายงานแต่ละรายวิชา ทั้งศาสนา วิชาท้องถิ่น วิชาวิจัย หรือชุมชน ผมเลือกทำเกี่ยวกับนาเกลือทั้งสิ้น เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวเรา แล้วเราก็ถนัดที่สุด แม้กระทั่งช่วงเทศกาลสำคัญๆ อย่างปีใหม่ หลายคนจะแซวผม เพราะผมจะแจกดอกเกลือ ทำแพ็คเกจดีๆ นำไปเป็นของขวัญให้กับคนที่รู้จัก จนกลายเป็นธรรมเนียมของผมไปเลย” เรียกได้ว่า เจอจิมมี่ที่ไหน เจอเกลือที่นั่นไปเลย

ปัจจุบันจิมมี่เรียนจบ และเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนวัดเกตการาม ถึงแม้บทบาทจะเปลี่ยนไป แต่จิมมี่ก็ยังไม่ลืมเอกลักษณ์ความเป็นตัวของตัวเองนั่นคือการประยุกต์ความรู้ของเรื่องนาเกลือ มาเป็นสื่อการสอนให้กับนักเรียน นำความรู้ที่ได้จากการลงชุมชน มาใช้ต่อยอดสอนนักเรียนให้รู้จักวิธีการเข้าชุมชน

“ภาระหน้าที่ครูเริ่มเยอะขึ้น เพราะว่าเราเริ่มได้เงินเดือนแล้วจะมาทุ่มเทให้กับตัวที่เราจะไปทำงานจิตอาสาเต็มร้อยไม่ได้ ก็ต้องทุ่มเทให้กับการสอนของเราแทน เราสอนหน้าที่พลเมืองเด็กไม่เคยลงพื้นที่เลย สอนเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่เคยเอาเด็กลงพื้นที่ เราเรียนตำราไม่เกิดประโยชน์ ผมให้เด็กทำเป็นมายแมพปิ้ง นำเสนอว่าเขามีกระบวนการอย่างไร ในการศึกษาโครงงาน ให้เด็กได้เห็นว่าการทำงานท้องถิ่นที่แท้จริงมันต้องเป็นแบบนี้ กลุ่มเยาวชนที่เขารวมตัวกันแล้วไปเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมชุมชนอย่างไร แก้ไขปัญหาชุมชนอย่างไร นี่คือวิชาหน้าที่พลเมือง วิชาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มันจะเกิดประโยชน์ที่เขาจะเรียนรู้กับเรา ถามว่าเขามีปัญหาไหม เขาเจอปัญหาอะไร นั่นแหละคือความรู้ที่เธอได้ ที่ในหนังสือให้เธอไม่ได้ ตำราเรียนให้เธอไม่ได้เหมือนครู”แม้บทบาทเปลี่ยนไปแต่จิตวิญญาณของความเป็นลูกนาเกลือที่อยู่ในจิมมี่ไม่เคยเปลี่ยนตาม จิมมี่ยังคงยึดมั่นที่จะนำความรู้ที่ได้จากนาเกลือและสิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการพลังเด็กฯ มาปรับใช้กับทุก ๆ บทบาทของตัวเองที่ได้รับผิดชอบ

จิมมี่พูดเสมอ ๆ ว่า โครงการนี้สอนให้เขารู้สึกว่า เขาต้องให้กับสังคมให้ได้มากที่สุด จิมมี่อธิบายต่อว่า เมื่อเรามีจิตอาสาแล้ว สิ่งต่อมาที่ต้องคิดคือ แล้วเราทำอะไรให้กับสังคมบ้าง เขายกตัวอย่างเรื่องของนาเกลือว่า นาเกลืออาจจะเป็นหัวข้อหลักสำหรับการทำจิตอาสา แต่ในทางปฏิบัติเราจะทำอะไรเกี่ยวกับนาเกลือนั่นแหละคือสิ่งที่เราต้องมาคิดต่อ เช่น การได้ออกไปช่วยชาวนาเกลือในการสนับสนุนสินค้าของเขา หรือการนำความรู้เรื่องนาเกลือไปถ่ายทอดความรู้ให้กับโรงเรียนอื่น การให้ความรู้เรื่องนาเกลือ คือการสอนให้เขาเรียนรู้การเข้าถึงชุมชน การมองเห็นทุนของบ้านเกิดตัวแรง และสุดท้ายคือเราหวังว่าสิ่งที่เราทำจะช่วยกระตุ้นให้เขาเกิดความรักและรู้สึกอยากอนุรักษ์ของที่มีอยู่ในชุมชนของเขาเหมือนที่เราเป็น

แม้จะได้ทำโครงการเพียงปีเดียว แต่การสานต่อสิ่งที่ได้จากโครงการของจิมมี่นั้น เปรียบเสมือนการต่อยอดโครงการที่ไม่มีวันจบ จิมมี่บอกภาพฝันของตัวเอง หากได้กลับไปสานต่อโครงการอีกครั้ง ตนอยากจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เรื่องนาเกลือที่อยู่ในจังหวัดสมุทรสงคราม เปลี่ยนนาเกลือเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกจุดของพื้นที่ ออกแบบฟอร์มให้คนได้เข้าศึกษา ทำ Timeline เป็นสถานที่ท่องเที่ยวปักหมุด เพื่อให้คนตัวเล็ก ตัวน้อยที่ยังทำนาเกลืออยู่ได้มีรายได้จากการขายสินค้าจากนาเกลือ

“ถ้าได้มีโอกาสทำโครงการต่อในปีที่สอง ก็อยากจะทำรีวิวร้านที่เขาทำนาเกลือ ผมคิดว่าคนเขาจะหันมามอง อยากไปเที่ยวนาเกลือ ทำบรรจุภัณฑ์ดี ๆ ที่เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า สร้างแรงจูงใจให้กับคนทำนาเกลือที่อยากทำสินค้าของตัวเองให้นาดึงดูด ผมยังคิดเลยว่าขี้แดดนาเกลือที่เขาไปโรยตามสวน ถ้าเราทำแพคเกจดีๆ สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้ด้วย ทำปุ๋ยขี้แดดนาเกลือ ไข่เค็มจากดินนาเกลือ ลองแปรรูปดี ๆ เป็นไข่เค็ม ทำแพ็คเกจแบบของไชยาก็ทำได้ ผลักดันตรงนี้เรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องของภูมิปัญญาควบคู่กันไป เราทำที่เราทำได้ เราไม่ใช่แบบบริหาร นักการเมืองระดับประเทศใหญ่ ๆ ที่จะจัดการเรื่องนี้ได้ แต่เราก็อย่างน้อย มีส่วนร่วมในการที่ว่าจะช่วยชาวบ้าน ตัวเล็กได้อย่างไรให้เขาตัดสินใจเลือกที่จะไม่ขาย ที่แล้วเขามีโอกาสในการทำผลิตภัณฑ์เกลือของเขาเองไปจำหน่ายให้ได้มากที่สุด”

จิมมี่เล่าภาพฝันของตัวเองที่มีต่อนาเกลือให้ฟังอย่างมุ่งมั่น เรียกได้ว่าทุกลมหายใจของจิมมี่ ทุกช่วงเวลาของจิมมี่คือ นาเกลือ สมกับฉายาที่ได้รับการขนานนามจากเพื่อนๆ และคนรอบตัวว่าจิมมี่เจ้าพ่อนาเกลือ