วิกรม นันทวิโรจน์สิริ : แกนนำเยาวชน Active Citizen ภาคตะวันตก

นายวิกรม นันทวิโรจน์สิริ  แกนนำเยาวชน Active Citizen ภาคตะวันตก

­

“โครงการสอนให้เราไม่ควรมีแผนเดียวในการทำงาน เป็นประสบการณ์ที่ถูกหล่อหลอมออกมาจากโครงการ ทุกวันนี้ก็ใช้อยู่ เราจะไม่ได้มีแผนเดียวในการทำงานหรือไม่ได้มีแผนเดียวในการดำเนินชีวิต ทุกอย่างมันอาจจะมากกว่า 1 เราต้องคิดไว้ก่อน เพื่อเตรียมพร้อมต่อการแก้ปัญหา” เสียงสะท้อนจากอดีตแกนนำเยาวชนจากโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก เอิร์ธ นายวิกรม นันทวิโรจน์ศิริ ที่นำสิ่งที่ได้จากโครงการไปปรับใช้กับการทำงานและการดำเนินชีวิต

ปัจจุบันเอิร์ธทำงานอยู่ที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตำแหน่งเจ้าหน้าพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน เขาบอกว่างานที่เขาทำ ณ ตอนนี้ค่อนข้างใกล้เคียงกับกระบวนการที่เขาทำเมื่อครั้งเขาร่วมโครงการมาก “ วิธีการถอดองค์ความรู้ กระบวนการการทำงานของโครงการฯ กับงานที่ผมทำใกล้เคียงกันมาก เช่น กระบวนการมีส่วนร่วม ตัวโครงการฯ คือการสร้างการมีส่วนร่วมในการสร้างความตระหนักรู้ แต่สำหรับงานที่ผมทำคือใช้การมีส่วนร่วมในการพาชุมชนเข้ามามีหาทางออกร่วมกัน หรือการขับเคลื่อนร่วมกัน ซึ่งใช้เรื่องของกระบวนการ วิธีการใกล้เคียงกัน” เอิร์ธยกตัวอย่างรูปแบบการทำงานที่คล้ายคลึงกับตัวโครงการให้ฟัง

นอกจากนี้เอิร์ธยังมีอีกหนึ่งบทบาท คือการเป็นวิทยากรกระบวนการ และเป็นอาจารย์บรรยายพิเศษบางรายวิชาให้กับมหาวิทยาลัยหลาย ๆ ที่อีกด้วย เอิร์ธบอกถึงที่มาของการเข้าสู่เส้นทางของการเป็นวิทยากรกระบวนการให้ฟังว่า “ตอนแรกผมไปเป็นพี่เลี้ยงช่วยวิทยากรทำกระบวนการก่อน เราได้ทักษะตรงนั้นมา พอได้ทำงานจากที่คอยช่วยพี่ ๆ เขา พอทำงานจริงเราก็ไปเป็นวิทยากรกระบวนการเอง นำประสบการณ์จากตรงนั้นมาทำ ค่อย ๆ พัฒนาตัวเอง อาจารย์เห็นแววจึงชักชวนให้เราลองไปสอนรุ่นน้อง เรามองว่าเมื่อเรามาทำงานแบบนี้ ความรู้ที่เรามีมันมากกว่าในห้องเรียน ซึ่งสามารถถ่ายทอดให้น้องได้

เรื่องที่เข้าไปสอนส่วนใหญ่เป็นเรื่องการสร้างการมีส่วนร่วม เอิร์ธจะเข้าไปสอนที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้จะมีของมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่จะไปพูดเรื่องการท่องเที่ยว แต่การท่องเที่ยวของผมมันคือกระบวนการว่าทำอย่างไรให้คนมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ได้ เอิร์ธอัพเดทชีวิตปัจจุบันของเขาให้ฟัง

กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เอิร์ธเก็บเกี่ยวประสบการณ์และความรู้มาพอสมควร ส่วนหนึ่งอาจะเป็นเพราะเอิร์ธชอบเรียนรู้ และไม่ยอมปล่อยโอกาสให้หลุดมือไป อะไรที่เป็นความรู้เขายินดีที่จะไขว่คว้าอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกที่เอิร์ธตัดสินใจเข้าร่วมเมื่อครั้งที่เขาเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตเพชรบุรี ตอนนั้นเขาเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3โดยเอิร์ธบอกว่าที่ตัดสินใจเข้าร่วมในครั้งนั้นเพราะอยากลองทำกิจกรรมอื่นนอกรั้วมหาวิทยาลัยอยู่บ้าง เขายอมรับตัวเองเป็นเด็กกิจกรรมก็จริงแต่ส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมในมหาวิทยาลัย จึงตัดสินใจจึงตัดสินใจตอบรับเข้าร่วมโรงการ

เขาเลือกทำโครงการศึกษาระบบบริหารการจัดการน้ำทิ้งในมหาวิทยาลัยฯ ขึ้น โดยสังเกตจากปัญหารอบมหาวิทยาลัย พบว่าปัญหาน้ำเสียเป็นสิ่งที่เขาอยากจะหาคำตอบ สิ่งที่เขาคาดหวังคือการต้องการให้คนรับรู้ร่วมกันเรื่องของการประหยัดน้ำ การใช้น้ำในมหาวิทยาลัย เขาเล่าว่าสำหรับการทำโครงการสิ่งที่ยากสำหรับเขาคือเรื่องการรวมทีม และการสร้างการมีส่วนร่วมของคน แต่เมื่อทำโครงการจบผลที่ได้เกินคาดคือมีรุ่นน้องสานต่อโครงการ

ในปีที่สองเอิร์ธขยับบทบาทตัวเองจากเยาวชนในโครงการมาเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งเขาบอกว่า “การเป็นพี่เลี้ยงช่วยให้เราโตได้มากขึ้น กว่าที่เราจะลงไปทำแล้วในการต่อยอด ประกอบช่วงนั้นเราเรียนอยู่ปี 4 แล้วใกล้จบ แต่การเป็นพี่เลี้ยงของผม เวลาน้องไปเข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละครั้งผมจะไปกับน้องทุกครั้ง คอยให้คำปรึกษา และคำแนะนำกับเขาทุก ๆ เวที

เมื่อถามถึงความยากของการเป็นพี่เลี้ยงเอิร์ธบอกว่า “พอเรามาเป็นพี่เลี้ยงเราต้องเป็นนักถาม นักชวนคิด ชวนคุย และนักตาม ชวนคิด ชวนคุย กับน้องในทีมตลอด ในฐานะพี่เลี้ยงเราต้องพาเขาคิดออกจากกรอบเดิม ๆ ที่เขาเคยเรียนให้ได้ ต้องชวนเขาวางแผน หาแนวทางการแก้ไขเมื่อโครงการเจอปัญหาโดยอาศัยประสบการณ์จากตัวเราช่วยแนะนำเขาอีกที” เอิร์ธมองว่าโครงการนี้ทำให้เขาเปลี่ยนมุมมองความคิด และกระบวนการทำงาน หลายอย่างที่ได้จากโครงการทำให้เขาสามารถนำไปต่อยอดร่วมกับงานที่เขาทำได้อย่างลงตัว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลักษณะของงานที่คล้ายกับการโครงการ

ท้ายสุดเอิร์ธบอกว่าโครงการให้ความรู้ทุกคนเท่ากัน แต่ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะคว้าความรู้นั้นมาปรับใช้ได้มากน้อยแค่ไหน แต่สำหรับเขาเองเขามองว่ามันเป็นโอกาสที่ดีทำให้เขาไขว่คว้ามาอย่างเต็มที่ ซึ่งความรู้เหล่านั้นก็ยังคงสามารถเป็นเครื่องมือให้เขานำไปถ่ายทอดให้กับคนอื่นได้เรียนรู้เหมือนที่เขาได้เรียนรู้เมื่อครั้งที่เคยเป็นเยาวชนในโครงการ