ศิริพร บุญมาก : ต้นทุนชีวิต อย่าคิดให้ติดลบ

เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • หลายคนเชื่อว่า ต้นทุนชีวิตแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่คำถามคือ… เราจะสร้างและเพิ่มพูนต้นทุนให้เพิ่มขึ้นได้ไหม?
  • เวทีผู้ใหญ่เล่าขาน เด็กสานสืบต่อ จึงจัดขึ้นเพื่อชวนฟังประสบการณ์ชีวิตและการเพิ่มต้นทุนตามข้อจำกัดของคนที่ต่างกัน
  • Active Citizen เชื่อว่าความเชื่อใจและเชื่อมั่น คือกุญแจสำคัญช่วยหนุนพลังให้เด็กเติบโตกับสิ่งที่ชอบได้อย่างมีภูมิคุ้มกัน

เคยได้ยินหลายคนเปรียบเปรยให้ฟังว่ามนุษย์แต่ละคนเกิดมาพร้อมต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นฐานะ สภาพครอบครัว สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย ส่งผลมาถึงการศึกษาและคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ

แต่ในเมื่อคนเราเลือกเกิดไม่ได้ คำถามที่ตามมา คือ เราจะสร้างต้นทุนชีวิตให้เพิ่มพูนขึ้นได้หรือไม่? ถ้าได้ จะต้องทำอย่างไร? แล้วอะไรบ้างที่จะหล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ?

คำตอบของคำถามที่ว่ามาทั้งหมด ถูกฉายให้เห็นอย่างน่าสนใจในงาน มหกรรมแห่งการเรียนรู้ ‘ผู้ใหญ่เล่าขาน เด็กสานสืบต่อ’ ที่จัดขึ้น ณ โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ อำเภออัมพวา และวัดกลางเหนือ อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีเครือข่ายโครงการ Active Citizen จังหวัดสมุทรสงครามเป็นแม่งาน เปิดบ้านให้มานั่งล้อมวงคุยกัน

โครงการ Active Citizen ภายใต้การสนับสนุนของ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นโครงการที่เชื่อมั่นในศักยภาพของเด็กและเยาวชน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นใคร มาจากไหน และมีต้นทุนชีวิตเท่าไรก็ไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญ

ตัวโครงการมีเป้าหมายพัฒนาเด็กและเยาวชนในแต่ละท้องถิ่น ตามแต่ละภูมิภาคให้เติบโตขึ้นเป็น ‘พลเมือง’ ที่สามารถ ‘รับมือ’ และ ‘ต่อกร’ กับการเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกอนาคตโดยไม่เสียหลักล้มลงกลางทางไปเสียก่อน เด็กและเยาวชนจึงมีโอกาสเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ชีวิต จากการลงมือทำโครงการที่เป็นการแก้ปัญหาหรือพัฒนาไอเดียต่อยอดเชื่อมโยงกับชุมชนท้องถิ่นตนเอง

พีช-ชาตรี ลักขณาสมบัติ หนึ่งในผลผลิตของโครงการ Active Citizen ที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ตอนนี้เขากำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา จากเด็กวัยรุ่นที่มีโลกส่วนตัวสูง ชอบใส่หูฟังฟังเพลงอยู่คนเดียวทั้งวัน แถมไม่กล้าแสดงออก โครงการเป็นจุดเปลี่ยนให้พีช มองเห็นข้อบกพร่องของตัวเอง แล้วเปิดใจยอมรับเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง

“พอมาทำโครงการผมเริ่มรู้สึกว่าเป็นตัวถ่วงและเป็นภาระให้กับเพื่อนในทีม เลยหันมามีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง กล้าเข้าหาผู้คน และกล้าพูดกล้าคุยกับผู้ใหญ่มากขึ้น มันทำให้ผมคิดได้ว่าเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ดังนั้นเราต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับคนอื่นให้ได้ การทำโครงการทำให้ได้คิดมากกว่าในห้องเรียน

เพราะเวลาเรียนเราถูกตีกรอบ แต่เวลาทำโครงการไม่มีสิ่งไหนผิดหรือถูก

“เป็นความคิดความสงสัยที่มาจากตัวเรา แต่จะมีพี่เลี้ยงคอยแนะนำชวนตั้งคำถามให้เราได้คิดต่อ โครงการของผมเป็นเรื่องน้ำตาลมะพร้าว ในตำบลท่าข้าม อำเภออัมพวา พวกเราไปสำรวจพบว่าการทำน้ำตาลมะพร้าวแบบดั้งเดิม โดยใช้เตาตาลกำลังหายไป เลยเกิดความสนใจอยากทำโครงการนี้ขึ้นมา” พีชกล่าว

ด้าน ป่าหวาย จะบุ้ง หนุ่มปกากะญอ อดีตเด็กแว้น ติดเหล้า โดดเรียน ขนาดถึงขั้นเรียนติดศูนย์จนต้องซ่อมแล้วซ่อมอีกกว่าจะเรียนจบ ถ่ายทอดประสบการณ์อย่างน่าสนใจว่า เขาตกล่องปล่องชิ้นเข้ามารับผิดชอบโครงการตั้งแต่ตอนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเกเรมาก แต่กระบวนการอบรมและการเรียนรู้ในโครงการเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาจากหน้ามือเป็นหลังมือ

“โครงการทำให้คิดเป็นระบบ ฝึกให้ทำตามกระบวนการ ทำให้เราอดทนต่อสังคมภายนอก หลังจากร่วมโครงการแล้ว ผมมีความตั้งใจกับชีวิตมากขึ้น พอจบชั้น ม.6 ก็ทำงานส่งตัวเองเรียน เป็นช่างยนต์ เป็นเด็กส่งของ ทำงานบริษัท ไปเรียนตัดผม ผมมองเห็นความหมายของอนาคต เพราะผมอยากประสบความสำเร็จในชีวิต อยากสร้างมูลนิธิเล็กๆ ให้เด็กยากไร้ที่บ้าน เพราะเคยได้รับเสื้อผ้า ได้รับขนมที่คนอื่นเอามามอบให้ ผมมองว่าเราไม่ต้องไปแข่งกับใคร เราแข่งกับตัวเองให้ได้ก็พอ” ป่าหวาย กล่าวอย่างมุ่งมั่น

ความเชื่อใจและเชื่อมั่นทำให้เด็กเติบโต

ผู้ใหญ่มักมองว่าเด็กและเยาวชนชอบแสดงออกและหมกมุ่นเฉพาะกับสิ่งที่ตัวเองสนใจ ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ที่สุดแล้ว ‘ความเชื่อใจ’ จากผู้ใหญ่ และ ‘ความเชื่อมั่น’ ในตัวเอง เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยหนุนพลังให้เด็กเติบโตกับสิ่งที่ชอบได้อย่างมีภูมิคุ้มกัน

“เด็กมีของดีในตัว ถ้าโชคดีได้บ่มเพาะมาตั้งแต่เด็กๆ ก็จะติดตัวมาถึงมหาวิทยาลัย หน้าที่ของครูคือให้โอกาสเด็กแสดงสิ่งที่เขาคิด แล้วค้นหาศักยภาพของเขาผ่านตัวโครงการที่เขาอยากทำ ฟังให้มากขึ้นพูดให้น้อยลง มองตัวเราให้เล็กกว่าเขา เอาธรรมชาติของตัวเขาและธรรมชาติในตัวเราจูนเข้าหากัน รู้จักให้และรับอย่างมีศิลปะในความเป็นครู” ดร.ฐิติมา เวชพงศ์ อาจารย์ภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงบทบาทของครู

เช่นเดียวกับ เรณุกา หนูวัฒนา ครูที่ปรึกษาของทีมเยาวชนในโครงการ สะท้อนว่า บทบาทที่สำคัญของครู คือ ‘ต้องอ่านนักเรียนให้ออก’ แล้วเสริมในจุดที่นักเรียนถนัดตามธรรมชาติของเขา ครูต้องช่วยกระตุ้นให้นักเรียนรู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร แล้วสนับสนุนให้เขาลงมือทำ ครูเรณุกา ย้ำว่า บทบาทหน้าที่นี้ไม่ได้เป็นของครูเท่านั้น แต่เป็นของทุกคน ทั้งผู้ปกครองและเครือข่ายในชุมชนสังคมที่เกี่ยวข้อง

“ถ้าผู้ใหญ่ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเด็ก ไม่ช่วยกระตุ้น ไม่ปลุกให้เขาลงมือทำ สุดท้ายเด็กจะไหลไปตามน้ำ แล้วชีวิตเขาจะเปลี่ยนไปเลย เพราะความเชื่อมั่นในตัวเองของเขาจะหายไปด้วย”

แป้ง-ศิริพร บุญมาก นักศึกษาชั้น ปวศ.2 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ราชบุรี อีกหนึ่งตัวแทนเยาวชนโครงการ Active Citizen ที่ทำโครงการทดลองใช้จุลินทรีย์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักศึกษาและโครงการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ยืนยันจากประสบการณ์ของตัวเองว่า ความเชื่อมั่นทั้งในตัวเอง และจากคนรอบข้างมีส่วนช่วยส่งเสริมศักยภาพของเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ แป้งบอกว่า แม้โครงการที่ทำจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น แต่กระบวนการระหว่างทางทำให้ได้เรียนรู้กับตัวเองด้วย แป้งกล่าวว่า

คนอื่นอาจมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของเรา แต่เราได้ฝึกตัวเอง มันอยู่ที่ความเชื่อด้วย เราเชื่อว่าสิ่งที่ทำสร้างความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง ได้พัฒนาตัวเอง เราได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราทำและได้เข้าใจคนอื่น

คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราสร้างต้นทุนชีวิตใหม่ให้งอกงามด้วยตัวเองได้ หากเทียบชีวิตกับการเติบโตของเมล็ดพันธุ์ แน่นอนว่าเมล็ดพันธุ์ที่ดีมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรง แต่หากเมล็ดพันธุ์นั้นไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม คงไม่สามารถออกใบผลิบาน ผ่านร้อนผ่านหนาวและผ่านสภาพอากาศที่แปรปรวนจนเติบโตขึ้นได้ ในทางกลับกันเมล็ดพันธุ์ทั่วไป หากได้รับการเอาใจใส่จนมีภูมิคุ้มกันที่ดี เมล็ดพันธุ์นั้นจะสามารถเติบโตเป็นต้นกล้า รอดตายกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาและยังคงความสวยงามได้เช่นกัน

สำหรับเด็กและเยาวชน การรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ก็ไม่ต่างจากการดูแลเอาใจใส่ทั้งจากคนในครอบครัว สถานศึกษาและสังคมรอบข้าง ส่วนฟ้าแดดลมฝนก็เปรียบได้กับประสบการณ์ชีวิตที่พวกเขาต้องประสบพบเจอด้วยตัวเอง

อะไรบ้างที่จะหล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

หากคำว่า ‘คุณภาพ’ หมายถึง การเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ “คิดเป็น มีคุณธรรม รู้จักผิดชอบชั่วดี มีความรักในตัวเองและผู้อื่น มีความสามารถจัดการตนเองได้และมีจิตสาธารณะ” ต้นทุนชีวิตแบบไหนก็คงไม่สำคัญเท่าการได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ ให้พวกเขาได้ลองทำในสิ่งที่ทำให้พวกเขารู้จักตนเองและสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่นไปพร้อมๆ กัน เพราะความผิดพลาด ความล้มเหลว หรือความสำเร็จจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ชีวิตนอกห้องเรียน เป็นบทเรียนในชีวิตจริงที่จะช่วยหล่อหลอมคนคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นอย่างเห็นคุณค่าในตัวเองและผู้อื่น รวมทั้งมีจิตสาธารณะที่จะทำเพื่อผู้อื่นต่อไป

ด้วยเหตุนี้ต้นทุนชีวิตของเราจึงไม่เคยติดลบ เพราะเราทุกคนเลือกและสร้างสรรค์ได้ว่าอยากให้ตัวเองมีอนาคตแบบไหน…

อ่านบทความต้นฉบับที่นี่