กนกวรรณ พันธมาศ : แนวคิดและกระบวนการพัฒนาเยาวชนผ่านการทำโครงการเพื่อชุมชน PBL

บทสัมภาษณ์ แนวคิดและกระบวนการพัฒนาเยาวชนทำโครงการเพื่อชุมชน จังหวัดศรีสะเกษ

คุณกนกวรรณ พันธมาศ โคชพัฒนาเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษ

ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ

­

ผู้สัมภาษณ์ :

ให้หมิวแนะนำตัว ชื่อ นามสกุล และแนะนำบทบาทในโครงการ

­

หมิว :

ชื่อหมิว กนกวรรณ พันธมาศ ชื่อเล่น หมิว บทบาทก็คือเป็นพี่เลี้ยงในทีมโหนดศรีษะเกษ


ผู้สัมภาษณ์ :

ก่อนที่หมิวจะมาเป็นพี่เลี้ยง หมิวเป็นเยาวชนมาก่อน ตอนที่เป็นเยาวชนเป็นอย่างไรบ้าง

­

หมิว :

ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนหนึ่งที่โชคดีที่ได้มาเรียนรู้กระบวนการแบบนี้ ซึ่งเพื่อนในวัยเดียวกันไม่มีโอกาสได้เข้ามา เหมือนเรามองว่าในชุมชนของเรา เราก็อยากมีส่วนในการพัฒนาอยู่แล้ว แต่แค่เราไม่มีพื้นที่ ไม่มีโอกาส ซึ่งวันหนึ่งเราได้ก้าวเข้ามา เรามีโอกาสแล้ว มันดีกับเรา ดีกับชุมชน ก็เลยกลายเป็นว่าเราชอบด้านนี้ไปเลย

­

ผู้สัมภาษณ์ :

ตอนเราเป็นเยาวชน พี่ๆ เขาก็ต้องโค้ชเรา ตอนนั้นเรามองว่าอย่างไรบ้างการที่เข้ากระบวนการแบบนี้

­

หมิว : 

หนูว่าดี เพราะว่ามันฝึกเราหลายด้านมาก ตั้งแต่การอยู่ร่วมกับคนอื่น คือ คนที่เข้าโครงการจะมีทั้งรุ่นน้อง เพื่อน รุ่นพี่ เราได้ฝึกตั้งแต่กระบวนการนี้เลย รวมถึงมีเครื่องมือที่เราไม่คิดว่าการไปเก็บข้อมูลแต่ละครั้งต้องมีเครื่องมือในการเก็บ แต่เราได้ตรงนี้ แล้วก็ได้ฝึกอีกอย่างหนึ่งที่ชอบมาก คือ ฝึกการเป็นผู้นำกระบวนการ ซึ่งตอนเป็นเยาวชนอาจจะไม่ได้เยอะ แต่ก็ได้มาบ้าง แต่ก็ค่อยๆ ฝึก พี่ๆ ก็ให้โอกาสในการฝึกเรื่อยมา

­

ผู้สัมภาษณ์ : 

หมิวเรียนพัฒนาชุมชนมา แล้วอะไรทำให้เราชอบทำงานพัฒนาชุมชน

­

หมิว : 

หมิวไม่ได้เรียนพัฒนาชุมชน แต่กระบวนการนี้ทำให้เรารู้ว่าเราชอบอะไร

­

ผู้สัมภาษณ์ :

หมิวจบอะไรมา

­

หมิว :

จบวิทยาการคอมพิวเตอร์

­

ผู้สัมภาษณ์ :

แต่ก่อนหน้านั้นมาทำงานชุมชน

­

หมิว : 

ใช่ หนูรู้จักกับพี่แร่ ธิดาวรรณ ศรียาภา พี่เขาให้โอกาสเราเข้าร่วมกระบวนการในการพัฒนาสังคมแบบนี้เรื่อยๆ ตั้งแต่ ม.ต้น พี่เขาก็แนะนำมาเรื่อยๆ จนมาแนะนำให้มาโครงการนี้ หมิวก็ทำมาเรื่อยๆ จนมารู้ตัวอีกทีว่าเราชอบด้านนี้ เราทำแล้วมีความสุข เหนื่อยจริง แต่เวลาทำแล้วมีความสุข


ผู้สัมภาษณ์ :

ตอนนี้เราเรียนจบแล้ว แล้วมีอะไรที่ผลักดันให้เรารู้สึกว่ามาเป็นโค้ชดีกว่า มาเป็นเจ้าหน้าที่โครงการดีกว่า

­

หมิว :

เราเห็นว่ามันเป็นโอกาสที่ดี เราเคยเข้ามาแล้ว เรารู้ว่ามันดีอย่างไร เราได้เข้ามาแล้ว เราก็อยากให้น้องรุ่นหลังได้เข้ามาพัฒนาตัวเองดูบ้าง ที่ชุมชนก็จะพัฒนาน้องแต่ละชุดเข้ามา ฝังชิปให้น้องเข้ามาเรียนรู้ อาจจะมากจะน้อยก็แล้วแต่ แต่ก็ให้น้องเข้ามา เราอยากจะให้น้องได้โอกาสตรงนี้ และอยากพัฒนาตัวเองด้วย

­

ผู้สัมภาษณ์ :

ทีนี้พอเข้ามาทำงานจริงๆ เมื่อก่อนเราเป็นเยาวชน ตอนนี้เราเป็นพี่ที่ต้องไปทำงานกับน้อง มันมีความยากความง่ายอย่างไร มีอะไรที่เราต้องเรียนรู้เพิ่มบ้าง

­

หมิว : 

พูดถึงยาก ยากเท่าตัวเลย เหมือนก้าวกระโดดจากเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรม เราก็ต้องผันตัวเองมาเป็นผู้จัดให้เขา มันจะยากมาทุกอย่าง มันเป็นการฝึกตัวเองด้วย เราต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น ต้อง active อยู่ตลอด มันเหมือนเราต้องพัฒนาตัวเอง ต้องยกระดับตัวเองขึ้นมา ก้าวข้ามความเป็นเยาวชนมาเป็นพี่เลี้ยงเยาวชน มันก็ยาก

­

ผู้สัมภาษณ์ :

สำหรับบทบาทหน้าที่ในโครงการที่ดูแลอยู่คืออะไร ทำงานในส่วนไหน

­

หมิว : 

หลักๆ เป็นการเงินการบัญชี

­

ผู้สัมภาษณ์ :

มาทำแล้วเป็นอย่างไรบ้าง

­

หมิว : 

แรกๆ ก็มีงง มีผิดบ้าง แต่ก็มีพี่ๆ ทางโหนดคอยสอน คอยแนะนำให้ว่าแบบนี้ควรเขียนแบบนี้ เราก็จำข้อผิดพลาดนั้นมาปรับปรุงแก้ไขให้ดี จะบอกกับตัวเองว่าทำอย่างไรก็ได้ให้ผิดพลาดน้อยที่สุด

­

ผู้สัมภาษณ์ :

ตอนที่เราเป็นเยาวชน เรามีความคาดหวังอย่างไรในผู้ใหญ่ที่จะมองเรา

­

หมิว :

อยากให้เขาให้ความสำคัญของเยาวชนในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน จริงๆ อยากให้เขารู้ด้วยซ้ำว่าเยาวชนในชุมชนมีศักยภาพมากพอที่จะพัฒนาชุมชน แค่เขาไม่มีเวที ไม่มีพื้นที่ที่จะให้เขาทำอะไรเพื่อชุมชนเท่านั้น อยากให้เขาให้ความสำคัญกับเสียงของเยาวชน

­

ผู้สัมภาษณ์ :

พอเรามาเป็นพี่ที่ต้องมาโค้ชน้อง เราคิดว่าหัวใจสำคัญในการทำงานกับเด็กและเยาวชนของหมิวคืออะไร

­

หมิว :

การรู้จักและเข้าใจเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าถ้าเรารู้จักน้อง เข้าใจน้อง ให้ความเป็นกันเองกับน้อง การทำงานจะง่ายขึ้น สามารถคุยกับน้องได้ทุกเรื่อง เมื่อน้องมีปัญหาก็จะกล้าปรึกษาเรา เอามุมที่เป็นเยาวชน ซึ่งเรามองว่ามันอบอุ่น เหมือนเรากล้าปรึกษาแม้เรื่องเล็กๆ แล้วเราก็ได้ข้อแนะนำมา เราก็เลยมองว่าถ้าเราเป็นพี่ เราจะเป็นพี่แบบนี้

­

ผู้สัมภาษณ์ :

หมิวมีภาพฝันว่าอยากเห็นน้องเยาวชนที่เราทำงานด้วยเป็นอย่างไร มีไหม

­

หมิว :

มี คอนเซ็ปต์ของจังหวัดศรีษะเกษคือรักบ้านเกิด คิดว่ารากเหง้าเป็นสิ่งที่อยากให้เขาให้ความสำคัญมัน เหมือนว่าทุกคนจะต้องรักและหวงแหนสิ่งที่เรามี เรามีมาตั้งแต่ต้น แล้วเราก็ช่วยกันรักษาและพัฒนาให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ