อภิชาติ วันอุบล : แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.ศรีสะเกษ

นายอภิชาติ วันอุบล แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.ศรีสะเกษ

­

วัยฟูมฟักดักแด้ไหมเริ่มแตกฝัน

เต๋ามีพื้นเพ ถิ่นเกิดและอาศัยในชุมชนบ้านแต้พัฒนา เป็นอีกหนึ่งชุมชนชาวกูยในจังหวัดศรีสะเกษที่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย หาเลี้ยงชีพ ทำเกษตรกรรมเป็นหลักหลัก เวลาว่างจากการทำไร่ทำนายังมีงานหัตถกรรมฝีมือเป็นหลัก อย่างงานจักสานและทอผ้าที่ทำให้คนในชุมชนได้ใช้เวลาว่างและสร้างรายได้ บรรยากาศกระบวนของการทอผ้าไหมจึงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในครอบครัวและทำให้ตั้งแต่ช่วงวัยเด็กของเต๋าค่อยๆ ซึมซับจากคุณยายที่ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าให้เต๋าได้เห็นทุกกระบวนการ เริ่มจากกิจกรรมเล็กๆน้อยๆ ที่คนในครอบครัวมีส่วนร่วมกันในการเก็บไข่สุกของแมลงผีเสื้อเพื่อนำไปใส่ในรังไหมต่อ ด้วยความอยากรู้อยากเห็น เต๋าจึงคอย “แอบทำ” จากการลักจำในทุกขั้นตอน และลองลงมือทำเมื่อเวลาที่ยายไม่อยู่ เช่น การสาวไหม[1] ที่มักจะถูกยายกล่าวว่าตักเตือนตลอดเพราะทำให้เส้นไหมผิดเพี้ยนจากการทดลองทำแต่เต๋าก็ยังอยากที่จะแอบทำตลอด ทั้งยังถูกแซวกึ่งปรามไม่ให้มีส่วนการกิจกรรมที่เกี่ยวกับงานทอผ้าเนื่องจากความเชื่อที่ว่างานทอผ้าเป็นงานของผู้หญิงเท่านั้น ด้วยความไฝ่รู้ ลองเล่นลองทำของเต๋ากลายเป็นทักษะการทอผ้าที่ติดตัวมาแบบไม่รู้ตัว “ช่วงเด็กๆ ก็เห็นยายปลุกหม่อน เลี้ยงไหม เราก็อยากทำด้วยก็เลยแอบทำ เวลายายไม่อยู่ ก็จะโดนด่าตลอด ดึงเล่นๆ ม้วนๆ เขาก็จะด่าเรา เราก็จะดื้อ ที่จะทำ บางทีเขามองว่าเป็นผู้ชายไม่ควรมาทำในสิ่งนี้ จะมีคนมาแซวว่าผู้ชายทำไม่ได้นะ มันเหมือน ไม่ใช่งานของผู้ชาย เดี๋ยวจะกลายเป็น

จนช่วงที่เต๋าอายุประมาณ 12-13 ปี ได้ทำกิจกรรมกับครูแอ้ด[2]ที่เป็นนักกิจกรรมคู่หูคู่เรียนรู้ในชุมชน ต่อมาได้เป็นโค้ชพี่เลี้ยงของโครงการ ได้การชักชวนกันไปช่วยงานที่ได้ฝึกฝีมือเกี่ยวกับงานที่เกี่ยวข้องกับหัตถกรรมทอผ้าตามงานวัด งานประเพณีในชุมชน เช่น งานจับจีบผ้าประดับตกแต่งสถานที่หรือขบวนรถแห่ในงานต่างๆ ทั้งยังทำกิจกรรมจนร่วมกันเสมอมาจนก่อตั้งคณะสืบสานภูมิปัญญาวัฒนธรรมท้องถิ่นชาวกูย ที่คอยคอยสร้างสรรค์เกี่ยวกับการจัดขบวนแห่ที่มีการตกแต่งขบวนและการแต่งกายด้วยผ้าไหม จุดเริ่มต้นมาจากการที่อยากจะสวมใส่เสื้อผ้า หรือถือตุง ธงตกในขบวนที่ทอจากผ้าไหมที่มีความสวยงามเป็นระเบียบเหมือนกันทั้งขบวน จึงเริ่มชวนกันทอผ้าไหมด้วยฝีมือตัวเองไว้สำหรับสวมใส่และตกแต่งในขบวนตามงานพิธีหรือวาระโอกาสที่มีในชุมชน “กลุ่มที่เราตั้งขึ้นมา เริ่มจากตอนมีงานในชุมชน เช่นบุญผ้าไหม ประเพณีสงกรานต์ งานบวช เราก็อยากแต่งกายเหมือนกัน อยากมีขบวนแห่ของตัวเอง มีตุงผ้าไหมที่อยากถือ และเราก็เริ่มมาทอกันเองกับพี่แอ๊ด นั่นคือเหตุผลแรกที่อยากทำเกี่ยวกับผ้าไหม” ตั้งแต่นั้นมาจึงถือเป็นการเริ่มต้นของกลุ่มอย่างจริงจังของพวกเขาในการทำงานเชิงอนุรักษ์หัตถกรรมทอผ้าไหมในชุมชน

เส้นทางสู่ Active Citizen

ช่วงปี พ.ศ. 2557 ขณะที่เต๋าเรียนอยู่ชั้น ม.3 ได้มีรุ่นพี่มาชักชวนให้เข้าร่วมทำกิจกรรมโครงการภายใต้ Active Citizen ดำเนินการโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล จึงได้ปรึกษากับทีมจึงร่วมกันตัดสินใจลองทำโครงการด้วยการวางแนวคิดในการทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าไหมคือ หลัก 3 ก (เก็บ แกะ เกิด) เริ่มจากการเก็บ รวบรวมข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับผ้าไหม เพื่อทำความเข้าใจ แกะ ถอดลาย วิธีการทำให้เกิดลายต่างๆ และลงมือทอ และต่อยอดสร้างสรรค์ให้เกิดลายหรือผลิตภัณฑ์ให้ร่วมสมัยเหมาะกับการใช้ในปัจจุบัน

เริ่มความท้ายทายด้วยโครงการแรกคือ โครงการเส้นสายลายไหมมัดหมี่มัดใจสานสายใยกอนกวยโซดละเว ที่เปรียบเหมือนเป็นเหมือนตัวดักแด้ที่กำลังจะแตกออก และกำลังจะเกิดผล ในช่วงปีแรกได้ตั้งเป้าหมายแบบเป็นรูปธรรมไว้ว่าจะกลุ่มทีมทำงานจะมีชุดแต่งกายด้วยผ้าไหมเหมือนกัน ด้วยการลงพื้นที่ “เก็บ” ข้อมูล เรื่องราวประวัติความเป็นมา ศึกษาอัตลักษณ์ จุดเด่น จุดด้อยที่มีในชุมชน และองค์ความรู้ องค์ประกอบ วิธีการทอผ้าไหม “โซดละเว” หรือ “ผ้าไหมลายหางกระรอก” จนเกิดความตระหนักถึงคุณค่าในชาติพันธุ์ของตนเอง และในปีนั้นพวกเขาก็ได้ภาคภูมิใจสวมใส่เครื่องแต่งกายผ้าไหมที่ถักทอด้วยมือของตัวเองในแบบที่เป็นชุดเดียวกัน ในปีแรกนี้ชุมชนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงจากที่ทีมทำงานและเยาวชนเริ่มออกไปลงพื้นที่พบและสื่อสารนำเสนอให้เห็นว่าโครงการมีความคิดอย่างไรและทำอะไรอยู่

ในปีต่อมาก็ได้ขยับไปศึกษาอีกระดับเพื่อให้การศึกษาองค์ประกอบในผืนผ้าผ้าไหมครบถ้วนมากยิ่งขึ้น เช่น ส่วนตีนซิ่น ตัวซิ่น และหัวซิ่น จึงเป็นโครงการที่ 2 คือ โครงการเส้นสายลายไหม มัดหมี่มัดใจ สานสายใยกอนกวยโซดละเว ซึ่งจะเน้นศึกษาเพื่อ “แกะ” และถอดลาย เส้นสายของ “บูลจ์บูลจ์ฉิปัด[3]” หรือผ้าไหมมัดหมี่ ลวดลายดั้งเดิมต่างๆ โดยแต่ละลายมาจากไหน มีจุดกำเนิดมาจากใคร ใครเป็นคนเอาเข้ามา มีความสำคัญกับชุมชนอย่างไร ลายผ้าเหล่านั้นมีขั้นตอนการทำอย่างไรเพื่อนำไปพัฒนาและต่อยอดกับผไหม “โซดละเว” และช่วงนั้นยังได้สนุกกับการศึกษา ทดลองเกี่ยวกับสีธรรมชาติที่นำมาย้อมผ้าไหมอีกด้วย

โค้งสุดท้ายของการทำงานโครงการในช่วงโครงการปีที่ 3 เป็นโครงการโปรดักซ์สร้างสรรค์ ทอรักร่วมกัน แปลรูปผลิตภัณฑ์ กอนกวยโซดละเว ที่เน้นการประยุกต์ ต่อยอดของเดิมในการออกแบบสร้างสรรค์ผ้าไหมให้ “เกิด” สิ่งใหม่ มีความทันสมัยขึ้น เช่น กระเป๋าดินสอ ที่ใส่แท็ปแลท เสื้อกระเหรี่ยง กระเป๋าใส่เงิน มีเสื้อผ้าที่ผ่าคอและของฝากของชำร่วยต่างๆ ที่น่าสนใจ และเหมาะต่อการใช้งาน

ความเปลี่ยนแปลงของตัวเองที่เห็นได้ชัดจากการผ่านการทำโครงการของเต๋าที่เห็นได้ชัดโดยเฉพาะความมั่นใจที่มีมากขึ้น สามารถนำเสนองาน ถ่ายทอดความคิดตัวเองและพูดออกมาในที่สาธารณะ และความเป็นผู้นำที่ได้รับเลือกเป็นประธานสภานักเรียน ประธานสภาเด็กและเยาวชน คณะทำงานเยาวชนระดับอำเภอ และประธานพลังเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ซึ่งทั้งหมดทั้งหมดล้วนได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ “เมื่อก่อนผมเป็นคนขี้อาย จะอยู่หลังคนอื่น หนุนคนอื่นได้ แต่เป็นผู้นำคนอื่นไม่ได้ ไม่สามารถแสดงออกได้ คิดถึตอนจับไมค์ แล้วยืนหัวเราะอย่างเดียว ไม่กล้าที่จะพูด แต่กล้าเขียนนะ แล้วก็นำเสนอสิ่งที่ตัวเองเขียนไม่ได้ มันรู้สึกอาย พอเข้าร่วมกระบวนการก็ทำให้ตัวเองเกิดการพัฒนา จากคนที่ไม่กล้า เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ประสบการณ์จากการทำโครงการยังสามารถนำไปอ้างอิงในการยืน Portfolio ถึงผลงานตอนสมัครเข้าเรียนช่วงมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย รวมกับทักษะที่ได้รับและพัฒนาคู่กับการทำงานก็ทำให้เต๋าสามารถนำเสนอและพูดได้เต็มปากว่าได้ทำงานและทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง จึงทำให้ได้เข้าเรียนด้วยระบบโควตาเรียนดี และยังสอบชิงทุนเรียนฟรี ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แต่ในความตั้งใจและฝันแรกเต๋าอยากเป็นครู แต่ด้วยอีกความถนัดและความสนใจในการประดิษฐ์คิดนวัตกรรมจึงสอบเข้าเรียนวิศวะได้เสียก่อน

ในช่วงของการทำงานโครงการถือเป็นช่วงที่ทำให้เต๋าได้ใช้พรสวรรค์ การเป็นนักประดิษฐ์สร้างสรรค์ ได้ฝึกฝนในการคิดและลองคิดค้นประดิษฐ์เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เมื่อเกิดปัญหาจากการทำโครงการในการทอผ้าจึงให้ความรู้ ประสบการณ์และการทดลองลงมือทำ ทำให้สามารถแก้ปัญหาเรื่องของการทอผ้าที่ช่วยทุ่นการต้นทุนใช้เวลาและแรงงานแต่ยังคงคุณค่าและอัตลักษณ์ของผ้าไหมได้ในที่สุด

“เราก็จะเจอปัญหาตลอด เช่น มันช้า มันเมื่อย มันเบื่อ และเราต้องการสิ่งที่มาอำนวยความสะดวกที่ทำให้ผ้าไหมของเรายังคงคุณค่าเดิมแต่ทำให้ได้รวดเร็วมากขึ้น และเป็นอัตลักษณ์และภูมิปัญญาเดิม แต่ทำให้เราได้ผ้าไหมที่รวดเร็ว และสะดวกสบายมากขึ้นจากเมื่อก่อนเราทำได้
2-3 หัวแต่พอเราได้เครื่องมือชิ้นนี้ขึ้นมา เราสามารถทำได้ 10-20 หัว มันก็จะเห็นความแตกต่าง เราสามารถย่นระยะเวลาได้”
เมื่อโครงการและงานประดิษฐ์ของเต๋าได้ถูกเผยแพร่ออกไป จึงมีคนนำไปใช้และทำตาม นอกจากความชาญฉลาดของเต๋าก็ยังมีความใจกว้าง ยินดีที่จะให้คนที่สนใจและเห็นความสำคัญของเครื่องไม้เครื่องมือไปใช้พัฒนาต่อยอดในการทอผ้าไหมเพื่อช่วยสนับสนุนในการสืบสานภูมิปัญญาเหล่านี้ “งานที่เราทำออกมา เราก็จะเห็นการก็อปปี้ คนเอาไปทำตาม เราก็ไม่ได้อะไร เพราะเห็นว่าคนเอาไปทำตาม เราก็รู้สึกดีใจนะ ที่เห็นคนอยากทำตามแต่ขาดเครื่องมือ เรารู้สึกดีใจนะที่เราเป็นคนหนึ่งที่ทำให้เขาอยากที่จะทำมัน เหมือนเราเป็นตัวขับเคลื่อน และเอานวัตกรรมเข้ามา เพื่อให้เขามีแรงบันดาลใจ และมีเครื่องมือที่พร้อมในการทำชิ้นงาน”

นวัตกรผู้ประกอบฝันและอนาคต

ปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ออกแบบและผลิตผ้าไหม แบรนด์ “Sodlaway Silk” ในขณะกำลังศึกษาอยู่เพียงชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่สร้างธุรกิจ Startup รับรองและสนับสนุนธุรกิจผ้าไหมให้แก่คนในชุมชน ด้วยการสร้าง Website ที่เป็นช่องทางในการซื้อขาย พัฒนาอุปกรณ์เทคโนโลยีที่จะช่วยในการทอผ้า พร้อมกับวางแผนและพยายามศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการออกแบบ และตลาดไปด้วย เพื่อนำมาใช้ในการทำธุรกิจที่อยากต่อยอดที่หลากหลายมากกว่านี้ “อยากเติมเรื่องการออกแบบที่เราอยากได้ เพื่อทำให้มันขยายไปกว้างขึ้น และการยกระดับรสนิยม และการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทำได้หลากหลายมากขึ้น ส่วนฐานลูกค้าที่อยู่ในชุมชนเราพวกคุณครูและหน่วยงานราชการจะต้องรักษาไว้ เพื่อเป็นลูกค้าในชุมชนและจังหวัด ในอนาคตอาจจะมีทีมดีไซด์เนอร์เพิ่มที่มาจากคนในชุมชน”

จากการเรียนการศึกษาเพิ่มด้วยตัวเองและประสบการการณ์ที่ได้ทำกิจกรรมภายใต้โครงการของ Active Citizen จึงอยากนำความรู้และประสบการณ์ไปใช้ในการสนับสนุนและผลักดันให้คนชุมชนหันมาทอผ้า ที่สามารถสร้างงานสร้างรายได้ควบคู่ไปกับงานอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าแบบอัตลักษณ์ของชาวกูย จังหวัดศรีสะเกษ ในชุมชนให้ได้ถึง 70% เพื่อเป็นแหล่งและฐานการผลิตและทอผ้าขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง หรือมีโรงงานเป็นของตัวเอง โดยตั้งกลุ่มเป้าหมายที่เป็นลูกค้าหลักไว้คือ กลุ่มข้าราชการที่ชื่นชอบการสวมใส่เสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้าท้องถิ่น ปัจจุบันได้ผลักดันจนมีครอบครัวที่ทอผ้าแล้วประมาณ 20 ครอบครัว ส่วนมากมากจากครอบครัวของเยาวชนที่เคยร่วมกิจกรรมโครงการแล้วนำไปสานต่อ ซึ่งนอกจากในชุมชนแล้วก็ยังมีการขยายไปยังชุมชนใกล้เคียง และหาช่องทางหรือแหล่งตลาดใหญ่ๆ เพื่อเป็นช่องทางในการส่งต่อและเหมือนเป็นโชว์รูมจัดแสดงผ้าไหมให้คนที่สนใจมาชมและเลือกซื้อ ซึ่งตอนนี้เป็นการขายที่เน้นในช่องทางเพจเฟสบุ๊คตามกลุ่มที่สนใจผ้าไหม นอกจากนี้ยังออกบูธงานทุกระดับ ตั้งแต่ระดับอำเภอไปจนถึงระดับประเทศ ทั้งหมดนี้เพื่อที่จะให้เข้าถึงกลุ่มคนให้มากที่สุด

ถึงแม้ฝันที่วาดไว้จะยังไม่เห็นผลชัดเจนในวันนี้แต่ที่ผ่านมาใช้ชีวิตช่วงวัยเรียนที่ทำกิจกรรมควบคู่ไปด้วยแบบที่เกียรตินิยมรออยู่แค่เอื้อมก็ถือว่าประสบความสำเร็จมากแล้ว เต๋าได้ฉายแสงความเป็นนวัตกรที่ได้คิดค้นและใช้เทคโนโลยีในการพัฒนางานและหล่อหลอมให้เต๋าได้เข้าสู่การเรียนวิชาวิศวกรรมเพื่อจะนำความรู้และทักษะที่ถนัดนำไปสู่ความเชี่ยวชาญเพื่อไปใช้ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมต่อไป เต๋าจึงอยาก “ขอบคุณโครงการที่ให้เราเปลี่ยนแปลงไปมากๆ ที่ทำให้เรากล้าเปลี่ยนแปลงตัวเอง ให้เราเป็นคนกล้าพูด กล้าทำ กล้าเป็นผู้นำ เวลามีกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยเราก็เป็นผู้นำเขาได้ กล้าที่จะแสดงออก”


[1] สาวไหม คือ การดึงเส้นใยออกออกจากรังไหมหลายๆ รังในขณะต้มในน้ำร้อนผ่านอุปกรณ์สาวไหม มารวมเป็นเส้นเดียว โดยเส้นใยจะพันกันเป็นเกลียวทำให้เกิดการยึดเกาะของเส้นใยไหมทำให้ได้เส้นใยที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นให้พอเหมาะสำหรับนำมาทอเป็นผืนได้

[2] ครูแอ้ด สิบเอกวินัย โพธิสาร นักกิจกรรมในชุมชน หัวหน้ากลุ่มกอนกวยโซดละเวและหนึ่งในโค้ช โครงการภายใต้ Active Citizen

[3] เส้นด้ายที่ใช้วิธีการผูกมัดจากนั้นนำไปย้อมเพื่อให้เกิดเป็นลายเพื่อนำไปเป็นไหมเส้นพุ่งที่ใส่กระสวยพุ่งทอกับไหมเส้นยืนที่ขึงไว้ให้เป็นลาย