อุบลวรรณ ศิลาชัย : กฎข้อที่ 1 ของการเป็นคนกล้า คือการเผชิญหน้ากับความกลัว

เรื่อง The Potential

  • อุมา-อุบลวรรณ ศิลาชัย สมาชิกโครงการพลังเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ เคยเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าออกความเห็น และคิดว่าตัวเอง ‘ดีไม่พอ’ อยู่เสมอ
  • การเข้ามาทำงานในโครงการฯ ทั้งฝึกฝนและท้าทายให้อุมาต้องเผชิญหน้ากับความกลัว เพื่อผลักดันโครงการที่เธอปลุกปั้นกับมือให้สำเร็จ
  • ความกลัวของอุมาเป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะวัยรุ่น แต่การสนับสนุนผ่านความเข้าใจและไม่ยอมให้เขาหลบเลี่ยงปัญหา คือหน้าที่ของคนพ่อแม่ หรือคนที่คอยประคองอยู่ข้างๆ

“กลัว ไม่กล้า ไม่อยาก ไม่เอา ทำไม่ได้หรอก” คือคำพูดที่พ่อแม่มักได้ยินบ่อยๆ จากปากลูก

โดยทั่วไปเมื่อเด็กต้องพบกับสิ่งกระตุ้นที่อาจจะทำให้เกิดความกังวลใจ เช่น เปิดเรียนใหม่ ใกล้สอบ หรือต้องนำเสนองานหน้าชั้นเรียน ก็มักจะมีอาการตื่นเต้น ใจสั่น เหงื่อออก รู้สึกกลัวหรือกังวล ซึ่งเป็นภาวะปกติที่พบได้ในคนทั่วไป และอาการวิตกกังวลเหล่านี้มักจะหายไปเมื่อเหตุการณ์นั้นลุล่วงไปแล้ว แต่หากความกลัวหรือความกังวลซ้ำๆ ไม่หายไป แถมยังมีมากมากกว่าปกติจนส่งผลกระทบต่อชีวิต เช่น ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่สามารถเรียนได้อย่างเคย สมาธิในการทำงานเสียไป ความสัมพันธ์กับเพื่อนแย่ลง อาจกลายเป็นความผิดปกติของกลุ่มโรควิตกกังวลในเด็กได้

วัยรุ่นเป็นวัยที่ระบบความคิดกำลังพัฒนา แต่ความรู้สึกวิตกกังวลอาจเข้ามาบดบังขีดความสามารถของวัยรุ่นและมีผลต่อการเรียนรู้ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะคลายความกังวลให้กับวัยรุ่นคือ พ่อแม่ ครู หรือผู้เกี่ยวข้อง ต้องเข้าใจความคิด ความต้องการ เปิดพื้นที่ เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้ลงมือทำสิ่งที่เป็นความต้องการของเขาเอง เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาความรู้สึกด้านลบ ซึ่งเป็นสาเหตุของความวิตกกังวลในวัยรุ่น ด้วยการให้เขากล้าเผชิญกับความท้าทายต่างๆ แทนที่จะหลบเลี่ยงหรือหลีกหนี

“ปกติเป็นคนมีโลกส่วนตัวสูงมาก ไม่อยากสุงสิงกับใคร ชอบอยู่คนเดียว เวลาพูดต่อหน้าคนเยอะๆ จะรู้สึกกลัวและอายมากๆ” คือคำบอกเล่าของ อุมา-อุบลวรรณ ศิลาชัย ที่อธิบายถึงนิสัยของตัวเองเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่วันนี้อุมากลายเป็นคนกล้าพูด กล้าคิด กล้านำเสนอ และมีระบบการคิดวิเคราะห์ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

หลายคนคงอยากรู้ว่า อะไรที่ทำให้อุมาเกิดการเปลี่ยนแปลงถึงขนาดนี้

ความเปลี่ยนแปลงของอุมา เริ่มขึ้นจากการได้เข้ามาทำงานในโครงการ ‘พลังเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ’ ตั้งแต่ปี 2558 ที่กระบวนการเรียนรู้จากโครงการได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเธอไปอย่างสิ้นเชิง

“ไม่ใช่เข้ามาแล้วจะเปลี่ยนเลยนะ พี่ๆ เขามีวิธีฝึกฝนเราทีละขั้น ปีแรกจำได้เลยว่า จับไมค์ทีไรสั่นทุกที พูดไม่ออก เรียบเรียงความคิดไม่ได้เลย กลัวพูดแล้วเพื่อนจะไม่เข้าใจ แต่พี่เลี้ยงเขาสร้างเงื่อนไขให้เรากล้าเผชิญความกลัวและความวิตกกังวล

“คือเริ่มจากให้จับกลุ่มคุยกัน 5 คน ใช้ปากกาแทนไมค์ พอเราเริ่มคุ้นชินกับการพูดแล้วก็ให้จับไมค์พูด นำเสนอความก้าวหน้าของโครงการในวงใหญ่ เมื่อเริ่มกล้าจับไมค์แล้ว สิ่งที่ยังกังวลอยู่คือ แล้วเราจะพูดอะไร พูดแล้วเพื่อนจะเข้าใจไหม พี่ๆ เขาก็แนะนำว่า ให้พูดจากสิ่งที่เราทำ พอเริ่มรู้เทคนิค ครั้งหน้าเวลามีการอบรมเราก็ต้องเตรียมข้อมูลและฝึกพูดก่อน เพื่อลดความวิตกกังวลและสร้างความมั่นใจให้ตนเอง”

กระบวนการฝึกฝนจากโครงการทำให้อุมากล้าเผชิญกับความกลัว นอกจากจะเปลี่ยนเธอให้เป็นคนใหม่ที่กล้าคิด กล้าพูด กล้านำเสนอแล้ว เธอยังรู้ว่า เวลาเกิดความกังวลหรือเครียดมากๆ จากเรื่องเรียนและการทำงานในโครงการ เธอและเพื่อนๆ จะช่วยกันหาทางออกและแก้ไขปัญหาจนได้ ทำให้เธอไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคปัญหาใดๆ

การวางตัวเป็นอีกคุณลักษณะหนึ่งที่เปลี่ยนไปของอุมา เพราะต้องทำงานกับคนหลายวัย ทั้งเพื่อนๆ พี่ ป้า น้า อา และคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน ทำให้เธอรู้จักวิธีเข้าหาคน ถ้าทำงานกับเพื่อนด้วยกันเอง ก็ใช้พูดคุยหยอกล้อกันแบบสนุกๆ หากเป็นเพื่อนต่างกลุ่มก็จะรู้จักถ่อมตัวและรับฟังความคิดเห็นเพื่อน ส่วนการทำงานกับพี่เลี้ยงหรือผู้ที่อาวุโสกว่า เธอจะยึดหลักมารยาทและให้ความเคารพนับถือ

อุมาบอกว่า การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เธอต้องขัดแย้งกับพ่อแม่อยู่บ่อยครั้ง แม้รู้ว่าพ่อแม่หวังดี อยากให้สนใจแต่เรื่องเรียน ไม่อยากให้มาทำโครงการ เพราะมีกิจกรรมบ่อย พ่อแม่จึงกังวลว่าเธอจะไม่มีเวลาพักผ่อนหรือการเรียนตกต่ำ

แต่ระยะหลังเมื่อพ่อแม่เห็นว่าเธอมีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ได้เป็นหัวหน้าโครงการ ได้นำเสนองานในชุมชนอยู่บ่อยครั้ง และเห็นว่าเธอทำได้จริง จนถึงวันนี้จึงไม่ห้าม แถมยังเห็นด้วยและเปิดโอกาสให้เธอเข้ามาทำงานโครงการเต็มที่

จะเห็นได้ว่าการก้าวข้ามความรู้สึกกังวลของวัยรุ่น พ่อแม่และคนรอบข้างมีส่วนสำคัญที่จะนำพาวัยรุ่นให้ก้าวผ่านความรู้สึกกังวลได้ โดยเริ่มจากการสร้างเงื่อนไขให้ลูกกล้าเผชิญกับความกลัว หากรู้ว่าลูกกลัวหรือกังวลเรื่องใด พ่อแม่ต้องฝึกให้ลูกเผชิญความกลัว ไม่ใช่หลบหลีก (Avoidance Therapy) ความกลัวหรือความกังวลเหล่านั้น ให้เขาเห็นว่าไม่ได้เกิดผลร้ายอย่างที่กลัว ที่สำคัญพ่อแม่และคนรอบข้างจะต้องเข้าใจวิธีสนับสนุนการเรียนรู้ ซึ่งหากทำได้ ในอนาคตไม่ว่าลูกจะเจออุปสรรคใหญ่โตเพียงใด เขาก็จะกล้าเผชิญปัญหานั้นด้วยใจที่มุ่งมั่น

อ่านบทความต้นฉบับที่นี่