เบ็ญจมาภรณ์ แดนอินทร์ : เทคนิคการโคชเยาวชนทำโครงการเพื่อชุมชน PBL

เทคนิคการโคชเยาวชนทำโครงการเพื่อชุมชน PBL : 

1. การสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ ให้น้องรู้สึกผ่อนคลาย ไม่เกร็ง อยากพูด อยากคุย วางตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของน้อง พร้อมเรียนรู้กับสิ่งที่น้องทำ และชวนคุย ถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสิ่งที่ทำและสิ่งที่จะทำต่อ

2. การสร้างการมีส่วนร่วม การติดตามสนับสนุนการทำงานของกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ จะให้สมาชิกในกลุ่มได้มีส่วนร่วมในการทำ การคิด ร่วมกันโดยให้มีการพูดคุย เสนอ และแสดงความเห็นยอมรับ หรือจะปรับเปลี่ยนอย่างไร และลงมือทำร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกัน หากทีมไหน สมาชิกมาไม่ครบ จะย้ำให้เพื่อนๆ ที่มาบอกเล่าสิ่งที่ทำให้กับเพื่อนที่ไม่ได้เข้าร่วม และให้เกาะกลุ่มรวมกันเป็นทีมให้ครบ จับมือกัน เข้าใจซึ่งกันและกัน


ข้อค้นพบในการออกแบบนวัตกรรมการเรียนรู้ หรือวิธีการใหม่ๆ ในการสร้างสำนึกพลเมืองของเยาวชนในจังหวัด :

1. การให้คนในชุมชนในพื้นที่ เป็นทีมงาน มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมร่วมกับเยาวชนตั้งแต่ต้น จะทำให้เกิดความต่อเนื่องในการสร้างสำนึกพลเมืองของเยาวชน เกิดผล ต่อยอดได้ แม้ไม่มีการสนับสนุน หรือการถอนตัวของคนนอก/ผู้สนับสนุน แต่ในพื้นที่ยังมีแนวคิด มีพลัง มีจิตใจที่ต้องการทำงานสร้างพลเมืองเยาวชนด้วยตัวเองโดยใช้ประสบการณ์ การเรียนรู้จากการทำโครงการฯ ไปทดลอง ปรับใช้ในการทำงานร่วมกันในชุมชนของตัวเอง

2. การสร้างสำนึกพลเมือง เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการปรับจูนสร้างความเข้าใจร่วมกับกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความเข้าใจ เกิดทัศนคติที่ดี มีความศรัทธา และมีทิศทางการทำงานร่วมกัน

3. ต้องสร้างทีมงาน/เครือข่ายการทำงานเยาวชนที่มีชีวิตชีวา ตื่นรู้เท่าทันกับสถานการณ์ข้างนอก สถานการณ์พื้นที่ ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับการทำงานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของคนทำงานและกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง นอกจากการได้รับการสนับสนุนพัฒนาศักยภาพคนทำงานแล้ว ทีมงาน/เครือข่ายต้องใส่ใจการเรียนรู้ มีความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพด้วยตัวเองได้