ชุมชนแห่งการเรียนรู้ อบต.พลับพลาไชย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

ชุมชนแห่งการเรียนรู้

อบต.พลับพลาไชย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

เป้าหมายในระยะยาวของพวกเรา คือ เด็กจะต้องไม่เป็นภาระของสังคม รู้ร้อนรู้หนาวที่จะแก้ปัญหาของชุมชน มีความเข้มแข็ง แข็งแรงที่จะช่วยเหลือผู้ที่ด้อยกว่า แล้วพร้อมที่จะถ่ายทอดคุณลักษณะเหล่านี้ และประสบการณ์ที่เรียนรู้มาตลอดชีวิตให้เด็กรุ่นต่อๆ ไป หากเราทำแบบนี้ได้ตำบลของเรา ประเทศของเราก็จะเต็มไปด้วยคนที่พัฒนาแล้ว เศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมก็จะดีขึ้นเป็นเงาตามตัว

เมื่อเอ่ยถึงนิยามของคำว่า “การพัฒนา” แต่ละคนอาจให้ความหมายคำนี้แตกต่างกัน หากแทนค่า “การพัฒนา” ว่าเป็น การทำให้ดีขึ้น ฟังดูเข้าใจง่าย แต่ความหมายกว้างมาก คำถามที่เกิดขึ้นตามมา คือ แล้วดีขึ้นด้านไหน ตอบสนองความต้องการของใครสำหรับการทำงานของผู้บริหารหรือผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โจทย์เรื่องการพัฒนาเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องตีให้แตก เพราะนั่นหมายถึงคุณภาพชีวิตของคนทุกเพศทุกวัยในชุมชน

เดินตาม เดินเคียงคู่ ให้คำปรึกษา

พีระศักดิ์ มาตรศรี นายกองค์การบริหาส่วนตำบลพลับพลาไชย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี บอกว่า เดิมทีแนวทางการพัฒนาของ อบต.พลับพลาไชย มุ่งเน้นไปที่การสร้างสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง หรือสิ่งก่อสร้างเพื่ออำนวยความสะดวกด้านอื่นๆ ให้ประชาชนในชุมชน แต่ผลลัพธ์ที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ ปัญหาสังคมที่ยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด หนี้สินครัวเรือน ฯลฯ เป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่า การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างมหาศาลในแต่ละปี ไม่สามารถพัฒนาคนได้

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อมีโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว เข้ามาส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ด้านการพัฒนาชุมชนให้กับ อบต. พีระศักดิ์ ในฐานะนายก อบต.จึงไม่ปฏิเสธโอกาสนี้ เนื่องจากเล็งเห็นว่า การอบรมจะช่วยพัฒนาวิธีคิดและวิธีทำงานของบุคลากรให้มีระบบและมีแบบแผนที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งยังสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาคนในชุมชนได้จริง

ทั้งนี้ ถึงแม้โครงการมีเป้าหมายไปที่การพัฒนาเด็กและเยาวชน แต่วิธีการขับเคลื่อนงานตามหลักสูตรนักถักทอชุมชน เจ้าหน้าที่ของ อบต.หรือนักถักทอชุมชน ต้องทำหน้าที่ประสานบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมที่จัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน ผู้สูงอายุ องค์กรท้องถิ่นทั้งภายในภายนอก เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคนอย่างยั่งยืนทั้งระบบได้ เนื่องจากการทำงานลักษณะดังกล่าว เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีบทบาทสนับสนุนกิจกรรมของเด็กและเยาวชนตามกำลังและศักยภาพของตัวเอง

ปัจจุบันแนวคิดเรื่องพัฒนาชุมชนของ อบต.พลับพลาไชย จะวางบทบาท อบต. ให้ หนึ่งเดินตาม สองเดินเคียงคู่ และสามให้คำปรึกษา โดยจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนตั้งแต่ระดับเด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ไปจนถึงเด็กโตทั้งในและนอกระบบ ผ่านกิจกรรมที่นักถักทอชุมชนลงไปหนุนเสริมในแต่ละพื้นที่ จากเดิมในปีที่ผ่านมาประสบปัญหาเรื่องงบประมาณอาหารกลางวันสำหรับเด็กและเยาวชนที่มาร่วมกิจกรรม แผนงบประมาณในปีถัดไปจึงได้เพิ่มเติมเพื่อรองรับตรงส่วนนี้ด้วย

“เราฟังคนในชุมชนมากขึ้นว่าเขาต้องการอะไร ไม่ใช่คิดให้เขาทำ เดินตามก็คือ การลงพื้นที่ไปทำความรู้จัก เพื่อเก็บข้อมูลและปัญหาที่แท้จริงในชุมชนมาวิเคราะห์ เดินเคียงคู่ คือ ดูความต้องการว่าชุมชนอยากได้อะไร แล้วเน้นสนับสนุนไปที่การให้ความรู้ ให้เขาทำได้เองและพึ่งพาตนเองได้ โดยในทุกๆ ขั้นตอนนักถักทอชุมชนและบุคลากรของ อบต. ต้องพร้อมเข้าไปให้ความช่วยเหลือชุมชนทุกเมื่อ” นายก อบต.พลับพลาไชย อธิบายแนวคิด

ชัยวัสส์ แย้มสุข ปลัด อบต.พลับพลาไชย บอกว่า การที่ อบต.ส่งบุคคลากรที่ทำงานต่างสาขากันถึง 5 คน เข้าร่วมหลักสูตรนักถักทอชุมชน ก็เพื่อให้พวกเขาเป็นตัวแทนคณะทำงานแต่ละฝ่าย และในระยะยาวเพื่อให้เป็นผู้เผยแพร่องค์ความรู้แก่บุคลากรคนอื่นๆ ในสายงานตัวเอง

ตำบลพลับพลาไชย ประกอบด้วยพื้นที่ 14 หมู่บ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำไร่อ้อย ไร่ข้าวโพดและมันสำปะหลัง ปลัด อบต. บอกว่า นอกจากเป้าหมายในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนที่เน้นการสร้างความรัก ความสามัคคี และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในหมู่เด็กแล้ว กิจกรรมของเด็กยังดึงความสนใจของผู้ปกครองและผู้ใหญ่ให้มาทำกิจกรรมร่วมกันได้อีกทางหนึ่ง จนพัฒนาเป็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและสนิทสนมกันมากขึ้น กลับกลายเป็นว่าโครงงานของเด็กช่วยสร้างอาชีพเสริมให้ผู้ใหญ่ และส่วนหนึ่งได้กลายเป็นค่าขนมเล็กๆ น้อยๆ ให้เด็กและเยาวชน

ปลัดชัยวัสส์ ฉายภาพรวมการทำงานของทีมว่า ในช่วงเริ่มต้นนักถักทอชุมชนทั้ง 5 คนกระจายตัวลงไปรับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ตามความถนัดและความสนใจของแต่ละคน โดยมอง “ต้นทุน” ที่มีอยู่ในแต่ละชุมชนเป็นสำคัญ

ดาว - ณัฐณิชชญา แก้วปาน รองปลัด อบต. ดูแลโครงงานเศรษฐกิจพอเพียง หมู่ 7

เอก - เอกวิทย์ ชาวสวน หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ ดูแลโครงงานการเล่นดนตรีพื้นบ้านและดนตรีสากล โรงเรียนพลับพลาไชย ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

ม้อย – ชรินรัตน์ มณีวงษ์ หัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป ดูแลโครงงานปั่นสร้างสุข หมู่ 6

แป้ง – อรุณรัตน์ ป้อมทอง เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผนดูแลโครงงานปลูกป่าจิตอาสา หมู่ 11

กบ – วิรัชดา ศรีคำแหง นักวิชาการ ดูแลโครงงานการแสดงวิถีชีวิต “ชาติพันธุ์ ลาวเวียง” โรงเรียนโพธิ์ทองเจริญ

ทั้งนี้ในแต่ละโครงงานจะมีบุคลากรคนอื่นๆ จาก อบต.เข้าไปเป็นหน่วยเสริม โดยเน้นให้เป็นคนในหมู่บ้าน แต่หากเจ้าหน้าที่ไม่ได้อยู่ในหมู่บ้านใดหมู่บ้านก็ให้จัดสรรตามความสนใจ

ก้าวแรกที่แตกต่าง...

“มันเป็นภาระ ผมทำงานด้านเด็กและเยาวชนมานานแล้ว มีประสบการณ์พอ ไม่เห็นประโยชน์ว่าจะเข้าอบรมทำไมอีก บอกตรงๆ เลยว่าที่ไป เพราะเป็นคำสั่งผู้บังคับบัญชา” เอกกล่าวถึงความรู้สึกแรกเมื่อต้องเข้าร่วมหลักสูตรนักถักทอชุมชน

ผิดกับดาว เป้าหมายแรกในการเข้าร่วมหลักสูตรของเธอคือ เพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพให้ตัวเอง ดาว เล่าว่า จากเดิมทำงานเป็นผู้อำนวยการกองคลัง ทำงานกับเอกสาร งานวิชาการ ระเบียบกฎเกณฑ์ ไม่จำเป็นต้องปฏิสัมพันธ์กับใคร แต่เมื่อรับตำแหน่งเป็นรองปลัด บทบาทหน้าที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง รองปลัดต้องทำงานกับคนและเข้าให้ถึงชุมชน ดังนั้นนอกจากชุมชนจะได้อะไรจากหลักสูตรแล้ว ตัวเธอเองก็ได้เปิดใจพร้อมรับอย่างเต็มที่

แม้จุดเริ่มต้นจะต่าง แต่บทสรุปที่ได้แทบจะไม่ต่างกันเลย นั่นคือ การเรียนรู้เมื่อได้ลงมือทำจริง แล้วเห็นผลลัพธ์ ซึ่งผลลัพธ์ที่ว่าไม่ใช่ความสำเร็จหรือการทำให้เสร็จ แต่เป็น “ความสุข” ที่พวกเขาเก็บสะสมมาได้เรื่อยๆ ระหว่างทาง

“งานเอกสารทำเสร็จก็คือเสร็จ แต่งานนักถักทอชุมชนถึงแม้จะทำไม่เสร็จ แต่ทุกๆ ครั้งที่เห็นเด็กมาร่วมกิจกรรม เห็นพัฒนาการของเขา เห็นความร่วมมือของผู้นำชุมชนและผู้ใหญ่ใจดีที่หยิบยื่นน้ำใจมาช่วยเหลือ ทั้งหมดที่ว่ามานี้คือความสุขที่ได้รับมาตลอดการทำงาน” ดาวสื่อสารถึงความรู้สึกของเธอ

ขณะที่เอกบอกว่า แท้ที่จริงแล้ว เราไม่ได้มาเรียน แต่เรามา “เรียนรู้” จากเพื่อนนักถักทอชุมชนอื่นๆ เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

“วิทยากร (ทรงพล เจตนาวณิชย์) บอกเสมอว่าถ้าคนสำราญงานจะสำเร็จ คำพูดนี้ทะลายกำแพงในใจแล้วเปลี่ยนแปลงผมจากข้างใน แน่นอนว่าผมมีความรู้อยู่แล้ว แต่มันอยู่กระจัดกระจายเต็มไปหมด เมื่อผ่านกระบวนการเรียนรู้ในหลักสูตร ความรู้เหล่านั้นถูกนำมาจัดวางใหม่ให้เป็นระเบียบ พร้อมที่จะหยิบออกมาใช้งานได้ทันที จากที่คิดว่าเป็นภาระกลับกลายเป็นว่าเราทำงานง่ายขึ้นและมีพลังในการทำงาน”

ทำงานบน “ฐานทุน” ที่มีอยู่ในชุมชน

สภาเด็กและเยาวชนตำบลพลับพลาไชย เป็นผลผลิตแรกของทีมนักถักทอชุมชน ด้วยต้องการหาแกนนำเด็กและเยาวชนจากแต่ละหมู่บ้าน จึงประสานความร่วมมือกับผู้นำชุมชนให้ส่งตัวแทนเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบมาเข้าร่วมโครงการ กระทั่งได้รับการจุดประกายความคิด เรื่องการกระจายตัวลงชุมชนทำงานเชิงรุกจากสุรศักดิ์ สิงห์หาร ปลัดเทศบาลตำบลเมืองแก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ที่มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเวทีนักถักทอชุมชน ทีมนักถักทอชุมชน อบต.พลับพลาไชย จึงหารือกันเพื่อจัดสรรพื้นที่รับผิดชอบของตัวเอง

“ช่วงสองเดือนแรกที่เข้าหลักสูตรเราได้แกนนำเด็กและเยาวชนในสภาเด็กฯ แล้วประมาณ 20 คน หลังจากนั้นเราก็มาผลักดันเรื่องโครงงานต่อ ให้เด็กคิดว่าเขาอยากทำอะไร ก่อนหน้าที่จะมาประชุมกับเด็ก พวกเราวางแผนกันคร่าวๆ ไว้แล้ว โดยพิจารณาจากต้นทุนที่มีในแต่ละชุมชน” เอกอธิบายภาพการทำงาน

ส่วนโครงการเศรษฐกิจพอเพียง หมู่ 7 กล่าวได้ว่ามีจุดเริ่มต้นจากฐานการเรียนรู้ที่มีอยู่แล้วในชุมชนอย่างแท้จริง ทั้งการเลี้ยงกบ เลี้ยงปลา เลี้ยงแพะ การปลูกผักปลอดสารพิษ และการทำแก๊สชีวภาพใช้ในครัวเรือนซึ่งเป็นที่รับรู้ของคนในชุมชน รวมทั้งเด็กและเยาวชน

“เด็กเสนออยากทำโครงการนี้เอง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลชุมชนที่เราสืบค้นมา เราเลยผลักดันเต็มที่ เพราะชุมชนนี้มีผู้ใหญ่ใจดีที่พร้อมจะเป็นวิทยากรให้อยู่แล้ว กิจกรรมที่สอนให้เด็กทำก็มีทั้งการเพาะถั่วงอก เพาะเห็ดและการทำไข่เค็ม เด็กๆ จะมาทำกิจกรรมร่วมกันที่ศาลาหมู่บ้านทุกวันอาทิตย์ แต่การเพาะเห็ดเราจะคัดเลือกเด็กโตให้เอาเชื้อเห็ดไปเพาะที่บ้าน เป็นการสนับสนุนให้เขาเรียนรู้และทำด้วยตัวเอง ให้ผู้ปกครองได้เห็นและเข้ามามีส่วนร่วมด้วย” ดาวอธิบายวิธีการทำงาน

แต่เนื่องจากเด็กต้องมาทำกิจกรรมทุกอาทิตย์ อาหารกลางวันจึงกลายเป็นปัญหาให้ทีมต้องหาทางแก้ไข โชคดีที่มีผู้ใหญ่ใจดีช่วยส่งเสริมการขายไข่เค็ม เพื่อหารายได้เข้ามาสมทบเป็นค่าอาหารกลางวันได้ส่วนหนึ่ง

ดาวบอกต่อว่า องค์ประกอบของกิจกรรมทั้งหมดเด็กๆ เปิดรับการเรียนรู้เพราะได้ลงมือทำ และทุกกิจกรรมล้วนช่วยพัฒนาเด็กให้มีลักษณะนิสัยที่ดี เห็นได้ชัดว่าเด็กขยันและมีความรับผิดชอบมากขึ้น ช่างสังเกต กล้าพูดกล้าแสดงออก บางคนเราเห็นภาวะความเป็นผู้นำอย่างชัดเจน มีผู้ปกครองบอกว่าปกติลูกเขาตื่นสาย กลายเป็นลูกตื่นเช้ามาดูแลเห็ด หรือช่วงหนึ่งที่เราคิดว่าจะจัดกิจกรรมอาทิตย์เว้นอาทิตย์ แต่เด็กๆ ไม่ยอมเพราะเขาอยากทำกิจกรรมทุกอาทิตย์ เราก็ต้องทำตามความต้องการของเขา เด็กๆ มีความกระตือรือร้นอย่างที่คาดไม่ถึง

ดนตรีสร้างคน เยาวชนสร้างชาติ

เอกสะท้อนว่า จากการพูดคุยกับภาคีที่เกี่ยวข้อง พบว่าที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น อบต. ครูภูมิปัญญา ผู้นำชุมชน หรือสถานศึกษาเองอยากมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะการสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนอยู่แล้ว แต่ไม่เคยมีพื้นที่หรือช่องทางให้เกิดการสื่อสารกันระหว่างชุมชนและ อบต. ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนพลับพลาไชยสนับสนุนโครงการดนตรีสร้างคนเยาวชนสร้างชาติอยู่ก่อน เมื่อเอกเข้าไปประสานงานจึงได้รับการตอบรับจากผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นอย่างดี

เช่นเดียวกับ การทำงานของกบที่เข้าไปสานต่อโครงการคนรุ่นใหม่หัวใจรักถิ่นกับโรงเรียนวัดโพธิ์ทองเจริญ เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนรู้จัก เรียนรู้ แล้วเกิดความรักความหวงแหนในประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เกี่ยวเนื่องกับชาติพันธุ์ของตน

“พื้นที่ที่โรงเรียนตั้งอยู่เป็นชุมชนของชาวลาวเวียงซึ่งเป็นชาติพันธุ์ที่อพยพมาตั้งรกรากที่นี่ การสอนให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องราวพวกนี้ ทำให้เขาได้กลับไปรู้จักรากเหง้าที่มาที่ไปของตนเอง” กบกล่าว

ปั่นเอาเรื่อง

“ชวนกันคิด ชวนกันทำ อยากทำอะไรให้บอก เพราะเราต้องการให้เขาสนุกกับกิจกรรมที่ทำ ถ้าเขาไม่สนุกกิจกรมจะไม่ไหลลื่น” ม้อยเล่าถึงวิธีการทำงานของเธอที่กลายมาเป็นโครงการปั่นสร้างสุข ที่เกิดขึ้นด้วยไอเดียที่แฝงความสนุกสนาน ชักจูงใจให้เด็กๆ ในชุมชนมาร่วมกิจกรรม

ม้อยบอกว่า หมู่ 6 ตำบลพลับพลาไชยมีผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่ใจดี และผู้ปกครองที่เข้มแข็งพร้อมจะสนับสนุนการทำกิจกรรมของเด็กๆ เธอมีข้อมูลในเรื่องนี้เนื่องจากเคยทำโครงการกับชุมชนนี้มาก่อน ดังนั้น เพื่อสร้างความต่อเนื่องเรื่องการพัฒนาคนในพื้นที่ เธอจึงตัดสินใจสานต่อโครงการปั่นสร้างสุขในพื้นที่หมู่ 6 ต่อไป

เด็กส่วนใหญ่ที่มาร่วมกิจกรรมปั่นสร้างสุขเป็นเด็กเล็ก ม้อยเล่าว่า ภาพที่ทำให้เธอประทับใจ คือ ภาพเด็กหมู่ 6 ที่ชวนเพื่อนๆ จากหมู่อื่นมาทำกิจกรรมร่วมกัน เมื่อเด็กมาเยอะขึ้นเรื่อยๆ กว่า 30 คน สิ่งที่ต้องจัดการต่อไป คือ เรื่องอาหารกลางวัน ทั้งๆ ที่ไม่มีงบประมาณเพียงพอสนับสนุน จนต้องเปลี่ยนแผนงานจากการจัดกิจกรรมทุกสัปดาห์ มาเป็นสัปดาห์เว้นสัปดาห์ แต่ผลตอบรับไม่เป็นไปตามคาด เพราะเมื่อว่างเว้นจากการทำกิจกรรมไปเพียงสัปดาห์เดียว จำนวนเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผู้ใหญ่ใจดีในชุมชนจึงตัดสินใจลงขันสนับสนุนงบประมาณอาหารกลางวันให้เด็ก ทำให้กิจกรรมดำเนินต่อมาได้

“การปั่นจักรยานของเรามีเป้าหมายเพื่อให้เด็กเรียนรู้ชุมชนจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ และได้สำรวจทรัพยากรธรรมชาติที่มีในชุมชน เช่น ประวัติชุมชน ประโยชน์ของพืชสมุนไพรและป่าไผ่ หมู่บ้านนี้มีบ้านที่ปลูกไผ่หวาน นอกจากได้เรียนรู้เรื่องไผ่จากเจ้าของแล้ว เด็กก็ได้เรียนรู้ประโยชน์ของป่าด้วย นอกจากนี้ก็มีพาเด็กไปเรียนรู้การทำขนมจีน แล้วก็ชวนเด็กมาทำกล้วยฉาบให้ผู้ปกครองนี่แหละเข้ามาสอน”

ปรีชา กุลวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 กล่าวว่า หมู่ 6 เป็นหมู่บ้านที่ใหญ่ที่สุดในตำบลพลับพลาไชยและมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด หลังจากนักถักทอชุมชนประสานงานเข้ามาจึงมีความตั้งใจร่วมกันว่า อยากให้พื้นที่หมู่ 6 เป็นหมู่บ้านนำร่องทำโครงการให้เด็กและเยาวชนได้รู้จักบ้านของตัวเองมากขึ้น และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ในชุมชน ด้วยการเชิญปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้ใหญ่ใจดีมาร่วมเป็นวิทยากร

ประสพโชค พุ่มมาลา นักเรียนชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 5 โรงเรียนพลับพลาไชย บอกว่า รู้สึกสนุกที่ได้มาทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ และผู้ใหญ่ในชุมชน อยู่บ้านปกติก็ไม่มีอะไรทำ ออกมาทำกิจกรรมแบบนี้สนุกกว่า แล้วก็ได้ความรู้ที่ผู้ใหญ่เล่าให้ฟัง ได้ฝึกทำอาหารทำขนมหลายอย่าง มาแล้วพี่ๆ ให้ทำกิจกรรมสันทนาการ มีเกมให้เล่น แต่ละอาทิตย์ก็มีกิจกรรมให้ทำไม่ซ้ำกัน นอกจากความสนุกแล้ว รู้สึกว่าตัวเองมีความอดทน มีความพยายามมากขึ้น ไม่ขี้เกียจ

ด้าน อุษา ทองบ้านโป้ง ผู้ปกครองเด็ก กล่าวว่า เธอเต็มใจมาร่วมกิจกรรมปั่นสร้างสุข เพราะอยากสนับสนุนให้เด็กใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ในฐานะผู้ปกครอง เธออยากเข้ามามีส่วนร่วม เพราะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับลูกของตัวเองอย่างชัดเจน จากเมื่อก่อนเขาจะต่อต้านและทำตรงข้ามกับสิ่งที่เธอพูด แต่ตอนนี้ลูกมีความรับผิดชอบมากขึ้น และเคารพกติกาที่ตกลงกัน ยิ่งพอได้มาคลุกคลีกับเด็ก ก็ได้เรียนรู้เรื่องการปรับตัวเข้าหาเด็กด้วย

“วันนี้มาสอนเด็กทำกล้วยฉาบ เราทำเป็นอยู่แล้วก็มาช่วยแนะนำ บ้างครั้งเขาดื้อ เราก็ต้องดุบ้าง แต่ก็เป็นลักษณะของการชี้ให้เห็นเขาเห็นว่าสิ่งที่เขาทำไม่ดีอย่างไร แล้วสร้างกติกาการอยู่ร่วมกัน เช่น ต้องจอดจักรยานให้เป็นระเบียบ ไม่ทิ้งขยะเกลื่อนกลาด ซึ่งเขาก็ให้ความร่วมมือดี ถ้าเราอยากเห็นลูกหลานของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มันก็คุ้มค่ากับการสละเวลามา”

ป่าสร้างคน...คนสร้างป่า

เพราะอยู่กับชุมชน และยังเป็นข้าราชการที่ต้องทำเพื่อประชาชน ที่ผ่านมาเราทำอะไรเพื่อชุมชนบ้าง... แป้ง คิดในใจดังๆ กับตัวเองตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อได้เข้าร่วมหลักสูตรนี้ “หลักสูตรนักถักทอชุมชนปลุกใจที่อยู่ลึกๆ ของเราขึ้นมาให้ตื่นตัวมากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้เราก็ทำไปเรื่อยๆ ทำให้ดีตามหน้าที่ไม่ได้คิดอะไรต่อ”

แป้งให้เหตุผลที่เลือกทำโครงการปลูกป่าในพื้นที่หมู่ 11 ว่าเพราะผู้ใหญ่ในชุมชนมีความพร้อม และรวมตัวกันมาก่อนแล้ว เพื่อเข้ามาจัดการดูแลป่า เมื่อเราดึงเด็กเข้ามาร่วมปลูกป่า เราสามารถเชื่อมโยงกับแนวคิดจิตอาสาได้ เพราะเด็กจะต้องสละเวลาว่างของตัวเอง ออกจากบ้านมาตากแดดตากฝน ไม่ใช่งานสบายเลย

สำหรับสภาพปัญหาป่าของชุมชน คมสัน พันธุ์เสือ เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่อาสาเข้ามาเป็นผู้ช่วยทีมทำโครงการปลูกป่า บอกว่า พื้นที่หมู่ 11 ตำบลพลับพลาไชยเป็นพื้นที่ป่า ช่วงหลังมีการเข้ามาบุกรุกทำลายป่าจนชาวบ้านตื่นตัว แล้วรวมกลุ่มกันขึ้นมาเพื่อจัดเวรเข้าไปดูแลและปลูกป่าเพิ่มเติม เมื่อนักถักทอชุมชนเข้ามาประสานความร่วมมือ เพื่อดึงเด็กและเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย จึงคิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะปลูกฝังให้เด็กรักและหวงแหนทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน

“ถ้าไม่มีนักถักทอชุมชนเข้ามาผู้ใหญ่ก็คงทำกันเอง เพราะเป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ แต่ทุกวันนี้มีเด็กเป็นตัวเชื่อมร้อย ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ และคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนที่เป็นปราชญ์ชาวบ้านก็ดีขึ้น เขาใกล้ชิดสนิทสนมกัน พอเด็กมาทำอย่างขันแข็งกลายเป็นว่าเด็กนี่แหละที่เป็นตัวอย่างทำให้ผู้ใหญ่ฉุกคิด จนผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่คนอื่นๆ ในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ส่วนตัวผมทุกวันนี้นอกจากหน้าที่แล้วเรามาด้วยใจด้วย อยากมาดูแลมาเป็นกำลังใจให้เด็กๆ...ผมว่าปัญหาเด็กในชุมชนส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาต้องการการยอมรับ การชวนให้เด็กมาทำกิจกรรมจิตอาสา ทำให้เขาภาคภูมิใจในตัวเอง เพราะสังคมยอมรับในสิ่งที่เขาทำ ผู้ใหญ่ก็ชื่นชม” คมสันสะท้อนภาพให้เห็นอย่างชัดเจน

โป๊ะ - ณัฐกานต์ ผิวดีอ่อน นักเรียนชั้น ม.3 และ เอส – สดายุ โรจน์บุญถึง นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนอู่ทองศึกษาลัย ตัวแทนเด็กและเยาวชนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า จากเดิมที่มาทำกิจกรรมเพราะความสนุก จนถึงตอนนี้นอกจากความสนุกแล้ว พวกเขายังอยากมาทำกิจกรรมเพราะอยากปลูกต้นไม้ให้ได้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้

“ก่อนมาก็รู้ว่าชุมชนเรามีป่า แต่ไม่รู้ว่ามีคนนอกชุมชนมาแอบตัดไม้ไปใช้ประโยชน์ด้วย พอรู้แบบนี้ก็ยิ่งอยากเข้ามาทำกิจกรรม เพราะอยากดูแลชุมชนของเราให้ดีขึ้น คนในชุมชนเดียวกันต้องมีความเสียสละและช่วยเหลือกัน” เอสกล่าว

ด้านโป๊ะ บอกว่า นอกจากใจที่อยากมาร่วมปลูกป่า เพราะอยากมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนของตัวเองแล้ว ยังมีเรื่องของความรับผิดชอบเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

“เราเป็นพี่ถ้าไม่มา แล้วน้องตัวเล็กๆ มา ก็ดูเหมือนเราไม่มีความรับผิดชอบ เพราะตั้งแต่ต้นพวกเราทำกิจกรรมด้วยกันมาตลอด ตัวเราเองก็มีความผูกพันกับน้องๆ ด้วย ทุกครั้งที่ทำงานเสร็จเราจะมานั่งสรุปบทเรียนกัน ซึ่งมีประโยชน์มาก เพราะเรารู้จุดดีจุดด้อยของตัวเอง แล้วก็ได้ความรู้จากการแลกเปลี่ยนกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง และผู้ใหญ่ในชุมชน”

ส่วนผู้ใหญ่ใจดีอย่าง มณฑล สาลี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11, พนม อ้อมทอง และจันทร์ดา มีมินทร์ ชาวบ้านในชุมชน และชลัม โรจน์บุญถึง สมาชิก อบต.พลับพลาไชย หมู่ 11 เล่าถึงเหตุผลที่เข้ามาสนับสนุนกิจกรรมของเด็กและเยาวชนว่า นอกจากเรื่องของการรักษาป่าชุมชนให้คงอยู่แล้ว ทั้ง 4 คนยังเห็นความสำคัญของการรวมเด็กและเยาวชนในชุมชนให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง จนเกิดการถ้อยทีถ้อยอาศัยกันในอนาคต

“เด็กในชุมชนเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยรู้จักกัน ต่างกันต่างอยู่ ถ้าเรารวมเด็ก ทำให้เขารู้จักกันได้ ต่อไปชุมชนเราก็จะมีความเข้มแข็งขึ้น” ชลัมกล่าว

สอดคล้องกับแป้ง ที่ย้ำถึงเป้าหมายของโครงงานปลูกป่าจิตอาสาว่า สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุด คือ ลักษณะนิสัยที่ดีที่จะติดตัวเด็กไปในอนาคต

“เราอยากเห็นน้องๆ มีความเสียสละ ความสามัคคี และมีน้ำใจ คุณธรรมเหล่านี้จะเป็นภูมิคุ้มกันให้เขาอยู่ในสังคมได้ แล้วทำให้เขาเป็นคนดีของสังคม ยิ่งถ้าเขารักท้องถิ่นของตัวเอง เขาก็จะกลับมาพัฒนาบ้านตัวเอง”

“พลิกวิธีคิด” สร้างการทำงานรูปแบบใหม่

“ถ้าเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำจะได้ผลลัพธ์ใหม่ๆ เข้ามา” เอกเอ่ยประโยคสำคัญที่พลิกมุมคิดของเขา พร้อมบอกว่าตำแหน่งเดิมนักพัฒนาชุมชนทำให้เขาต้องทำงานด้านเด็กและเยาวชนอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้มีเขาเพียงคนเดียวที่รับผิดชอบงานเด็กและเยาวชนใน 14 หมู่บ้านของตำบลพลับพลาไชย ถึงแม้จะไม่ใช่คนหวงงาน แต่ไม่ไว้ใจให้คนอื่นทำงาน ด้วยไม่เชื่อในศักยภาพของเพื่อนร่วมงาน แต่ปัจจุบันเมื่อเปิดใจยอมรับผู้อื่น จากหนึ่งกำลัง กลายเป็น 5 กำลัง แล้วขยายเพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว จากสมาชิกเจ้าหน้าที่ อบต. คนอื่นๆ ที่เสริมเข้าในแต่ละทีม

อย่างที่เอกบอก เมื่อวิธีการเปลี่ยนผลลัพธ์ก็เปลี่ยนดังว่า การกระจายกำลังทำงานในแต่ละพื้นที่ส่งผลให้นักถักทอชุมชนสามารถสร้างแกนนำเด็กและเยาวชนตามแต่ละหมู่บ้านได้อย่างเป็นรูปธรรม จนปัจจุบันเด็กและเยาวชนแกนนำมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า ส่วนในเชิงคุณภาพ จากเดิมที่ทำกิจกรรมวันเดียว ครั้งเดียวจบและไม่ได้ติดตามผล กลายเป็นทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง จนมีโอกาสได้คลุกคลีกับเด็กและเยาวชนมากขึ้น และเห็นจุดแข็งจุดด้อยของเด็กแต่ละคน

“พอเราเข้าใจเด็กแต่ละคนมากขึ้น เราจะรู้เลยว่าจะต้องพัฒนาเขาในส่วนไหนต่อไป ซึ่งเมื่อก่อนเราไม่ได้ใส่ใจตรงนี้เลย ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญมาก ตอนนี้ผมภูมิใจมากที่ผมกลายเป็นคนใหม่ เข้าใจตัวเองและคนอื่นมากขึ้นในทุกด้าน” เอกอธิบาย

ด้านกบและม้อยบอกว่า หลักสูตรนี้ช่วยให้พวกเธอทำงานได้อย่างเป็นลำดับขั้นตอนและง่าย เพราะมีแนวทางการทำงานเป็นขั้นตอนที่ชัดเจน ได้แก่ วางแผน ประสานงาน และถอดบทเรียน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ของการร่วมคิด รวมแบ่งปันประสบการณ์ด้วยการทำงานเป็นทีม จากเดิมที่ คิดเอง วางแผนเอง ลงมือทำเอง

“เมื่อก่อนเราปั้นตุ๊กตาขึ้นมาบอกคนอื่น อย่างเวลาจัดการแข่งขันกีฬา เราก็คิดมาแล้วว่าต้องมีแบบนี้ ทำตรงนั้นอย่านั้น ซึ่งก็ทำคล้ายๆ เดิมทุกปี เพราะกระบวนการทุกอย่างจบลงที่ความคิดของเรา คุยกันครั้งเดียวจบ แต่ตอนนี้ต้องคุยกันอย่างน้อย 3-4 ครั้ง เพื่อให้แต่ละคนได้มีเวลาไปทบทวนและทำข้อมูลของตัวเอง พอมีภาคีเครือข่ายเข้ามาเสริมอีก งานที่ออกมาก็มีลูกเล่นและมีความน่าสนใจมากขึ้น ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่มีคุณภาพกว่า 90 เปอร์เซ็นต์” กบกล่าว

ขณะที่ม้อยสะท้อนความรู้สึกของเธอว่า ตอนแรกไม่คิดเหมือนกันว่าทำไมต้องไป หน้าที่ก็ไม่ใช่ แต่พอได้ลงมือทำเราก็คิดอีกแบบ เพราะเมื่อได้มาทำงานกับเด็กจริงๆ เรารู้สึกเลยว่ามีความสุข แค่เด็กสวัสดีกล่าวคำทักทายเรา เราก็รู้สึกดีแล้ว เพราะเมื่อก่อนเด็กๆ ไม่เคยทำแบบนี้ สิ่งที่เราทำกับเด็ก เปลี่ยนแปลงเด็กได้จริงๆ เด็กจากที่ดื้อก็เชื่อฟังเรา สิ่งที่เราต้องคิดต่อคือทำอย่างไรให้กลุ่มที่เราสร้างมากับมือเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงที่สุด

ส่วนดาวบอกว่า การทำงานภายใต้หลักสูตรนักถักทอชุมชนทำให้เธอกลายเป็นคนใฝ่หาความรู้ และกล้าถ่ายทอดความรู้ ส่วนหนึ่งเพื่อพัฒนาตัวเอง และอีกส่วนหนึ่งเพื่อหาข้อมูลมาส่งเสริมพัฒนาเด็กในด้านอื่นๆ ต่อไป

“นอกจากกิจกรรมที่ทำอยู่แล้ว แกนนำรุ่นพี่สามารถสอนรุ่นน้องให้ทำได้อย่างคล่องแคล่ว ต่อไปน้องๆ อยากเรียนรู้เรื่องภูมิปัญญาอื่นๆ ในชุมชน เช่น เรื่องสมุนไพร การทำจักรสาน หรือการเลี้ยงเป็ดด้วย เราก็ต้องหาข้อมูลในส่วนนี้ ปรึกษากับผู้ใหญ่ใจดี แล้วลองมาวางแผนกับทีมงานต่อไป”

ความละเอียดเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการทำงานตามแนวทางหลักสูตรนักถักทอชุมชน แป้งบอกว่าก่อนทำงานทุกครั้งจะต้องคิดว่า งานที่จะทำ ทำเพื่อใคร แล้วใครจะได้ประโยชน์ วางแผนแรกและแผนสำรองเผื่อกรณีมีปัญหา ส่งผลให้การทำงานในหน้าที่นักวิเคราะห์นโยบายและแผนสามารถตอบโจทย์ปัญหาที่แท้จริงของชุมชนได้ เพราะมีจุดมุ่งหมายชัดเจน

“เดี๋ยวนี้เวลาลงพื้นที่ไปถามปัญหาชาวบ้าน เขาก็กล้าให้ข้อมูลจริงกับเรา เพราะเขาไม่คิดว่าเราเป็นคนแปลกหน้าอีกต่อไป” แป้งกล่าว

ถึงแม้ทั้ง 5 คนจะไม่ได้ประชุมด้วยกันบ่อยนัก แต่ก็นำเทคโนโลยีด้านการสื่อสารมาใช้ให้เกิดประโยชน์ พวกเขาใช้ไลน์เป็นสื่อกลางส่งต่อข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน ทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรายงานความคืบหน้าการทำงาน ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ทีมงานมีความตื่นตัวในการทำงานอยู่เสมอ

1 ปีของการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ปลัด อบต.พลับพลาไชย สรุปภาพการทำงานของตำบลภายใต้หลักสูตรนักถักทอชุมชนว่า “หัวใจ” ของการทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชน คือ การให้สมาชิกในแต่ละชุมชนหรือหมู่บ้านขับเคลื่อนกิจกรรมของตัวเองได้ โดยมีผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. คณะกรรมการแต่ละหมู่บ้าน และผู้ใหญ่ใจดี เป็นแกนหลักในการทำงาน ถึงแม้ในที่สุดเด็กจะสามารถทำกิจกรรมได้ด้วยตัวเอง แต่ผู้ใหญ่ยังต้องเป็นผู้สนับสนุนและส่งเสริมการทำกิจกรรมอยู่เบื้องหลัง ให้เด็กสบายใจและไว้วางใจ

ปัจจุบันทีมนักถักทอชุมชนพลับพลาไชยเข้าไปเคลื่อนไหวอยู่ใน 5 หมู่ จากทั้งหมด 14 หมู่บ้าน ทั้งนี้ เมื่อผู้นำและผู้ใหญ่ใน 5 หมู่บ้านต้นแบบมีความเข้าใจและมีความเข้มแข็งพอที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมด้วยศักยภาพของตนเอง ทีมก็จะกระจายตัวขยายขอบเขตการทำงานไปยังหมู่บ้านอื่นๆ ให้ครบ 14 หมู่บ้านตามเป้าหมายหลักในการพัฒนาคนในภาพรวมทั้งตำบล

“เป้าหมายในระยะยาวของพวกเรา คือ เด็กจะต้องไม่เป็นภาระของสังคม รู้ร้อนรู้หนาวที่จะแก้ปัญหาของชุมชน มีความเข้มแข็ง แข็งแรงที่จะช่วยเหลือผู้ที่ด้อยกว่า แล้วพร้อมที่จะถ่ายทอดคุณลักษณะเหล่านี้ และประสบการณ์ที่เรียนรู้มาตลอดชีวิตให้เด็กรุ่นต่อๆ ไป หากเราทำแบบนี้ได้ตำบลของเรา ประเทศของเราก็จะเต็มไปด้วยคนที่พัฒนาแล้ว เศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมก็จะดีขึ้นเป็นเงาตามตัว” เอกตัวแทนนักถักทอกล่าวทิ้งท้าย

การพัฒนาของ อบต.พลับพลาไชย ให้บทเรียนที่สำคัญเรื่องการพัฒนาคน เมื่อคนในชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น คนจะมีความรัก หวงแหน สนใจและใส่ใจบ้านของตัวเอง เมื่อนั้นคนในชุมชนนั้นเองที่จะออกมาช่วยกันลงแรงลงขัน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายนอกให้มั่นคงและยั่งยืนต่อไป โดยมี อบต.ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก สนับสนุนในส่วนที่ขาดหาย และเพิ่มเติมในส่วนที่จำเป็น

ชุมชนทุกชุมชนมีรากเหง้าและมีฐานกำลังของตัวเอง การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคนนั้นทำได้ไม่ยาก หากคนในชุมชนให้ความร่วมมือ

///////////////////////////////////