เราต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับชุมชน

วันนี้ทุกคนในชุมชนต้องมาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ไม่ใช่คิดว่าส่งเด็กไปโรงเรียนแล้ว โรงเรียนต้องรับผิดชอบ หากทุกคนคิดอย่างนี้ การพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็น “คนดี” คงไม่สามารถทำได้

ธนินธรพิมพขันธ์ “เอ็กซ์” หัวหน้าสำนักงานปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหนองขาม อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของแนวคิดในการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนในชุมชนหนองขาม

จากหนัก...กลายเป็นเบา


เพราะเป็นคนในพื้นที่ ทำให้เอ็กซ์รู้จักชุมชนและคนในพื้นที่เป็นอย่างดี ยิ่งเมื่อต้องเข้ามาทำงานในตำแหน่งนักพัฒนาชุมชน ยิ่งทำให้เขารู้จักชุมชนดียิ่งขึ้นและยิ่งเขาได้รับตำแหน่งหัวหน้าสำนักปลัดที่ต้องดูแลรับผิดชอบงานทั้งหมดของ สำนักปลัด อบต. จึงไม่แปลกที่เอ็กซ์จะได้รับมอบหมายจากนายกบุญยัง วังเปรม นายก อบต.หนองขาม ให้เข้ามาเรียนรู้หลักสูตรนักถักทอชุมชน



เอ็กซ์ เล่าว่า เขาเข้าสู่หลักสูตรนักถักทอชุมชนพร้อมกับเพื่อนๆ อีก 2 คนคือ ธวัชชัย พรมเปีย เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน และโยธการ วงษ์สุวรรณ ผู้ช่วยครูผู้ดูแลเด็ก เพื่อนำความรู้มาใช้พัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นโดยตอนแรกเอ็กซ์ไม่อยากเข้ามาร่วมหลักสูตรนี้เลย เพราะช่วงนั้นเพิ่งเปลี่ยนตำแหน่งใหม่ ภาระงานก็เพิ่มมากขึ้น ไหนจะดูแลลูกน้อง ไหนจะงานตัวเอง ไหนจะงานอื่นๆ อีก ทำให้ไม่มีเวลา แต่เมื่อเข้าอบรมได้ 2 ครั้งรู้เลยว่า “คิดไม่ผิด” ที่เชื่อท่านนายก เพราะทำให้เราได้กระบวนการทำงาน ได้เทคนิควิธีการพูดกับคนในชุมชน ได้เรียนรู้วิธีการกระจายงาน รวมไปถึงการสร้างเครือข่าย ทำให้ภาระหน้าที่ของตนลดน้อยลง จนมีเวลาไปคิดงานอื่นได้มากมาย

“ก่อนหน้าที่เข้าอบรม การทำงานโดยตำแหน่งแล้วเราจะรับผิดชอบและลงมือทำด้วยตัวเอง 80เปอร์เซ็นต์ ดึงภาคีเครือข่ายเข้ามาช่วย 20 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากเข้าอบรมหลักสูตรนักถักทอชุมชนแล้วเห็นว่าเครือข่ายเข้ามีส่วนร่วมกับงานพัฒนาเยาวชนมากขึ้น”

­


แก้ปัญหาจากจุดเล็กๆ

เอ็กซ์ เล่าต่อว่า ช่วงแรกๆ ที่เข้าอบรม อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) เน้นไปที่การพัฒนาเรื่อง “ใจ” ก่อน ตอนแรกก็ไม่คิดอะไรก็เข้ากระบวนการไปเรื่อยๆแต่พอมีเวลานั่งคิดก็คิดได้ว่า “เอ๊ะ...นี่มันเป็นเรื่องการพัฒนาตัวบุคคลนี่” ซึ่งอาจารย์ทรงพลชอบพูดกับพวกเราบ่อยๆ ว่า มองงานให้มองหมากทั้งกระดาน มองช้างต้องมองทั้งตัว นอกจากอาจารย์ยังนำแง่คิดเรื่อง “หลักทรงงาน” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาแนะนำเราด้วย เพื่อพัฒนาทักษะและวิธีการทำงานของนักถักทอชุมชนที่ไม่จำเป็นต้องลงมือทำเองทุกอย่าง แต่ให้ใช้วิธีสร้างภาคีเครือข่ายเข้ามาทำงานร่วมกัน ก็ทำให้งานเราเบาขึ้น แล้วเราก็จะมีเวลาคิดงานใหม่ๆ ขึ้นเรื่อยๆ คิดแล้วก็ถ่ายทอดให้เครือข่ายลงมือทำ

สำหรับหลักการทรงงานที่เรานำมาใช้ในการทำงานอยู่เสมอๆ คือ แก้ปัญหาจากจุดเล็กๆสำเร็จแล้วจึงค่อยขยายผลหากคิดทำงานใหญ่โดยไม่ได้ดูความพร้อมของตนเองและเพื่อนร่วมทีมหรือภาคีเครือข่าย ถือเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า และในที่สุดทุกคนก็จะหมดแรง เพราะมีแต่คนสั่งคนทำมีอยู่ไม่กี่คน เช่น กิจกรรมที่ทีมนักถักทอชุมชนจะจัดให้เด็กทำเราก็จะเริ่มจากเด็กๆ ไม่กี่คน ชักชวนให้เข้ามาร่วมทำกิจกรรมก่อน ไม่หวังปริมาณ แต่หวังคุณภาพ เมื่อได้ผลจึงจะขยายผลไปสู่ผู้ใหญ่ในชุมชนต่อไป



พัฒนา “ทักษะชีวิต” เด็กหนองขาม


เมื่อได้ทั้งความรู้และภาคีเครือข่ายเข้ามาร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาเด็กและเยาวชนแล้ว เอ็กซ์และเพื่อนๆได้ย้อนกลับมาดูข้อมูลสถานการณ์เด็กและเยาวชนของตำบลหนองขาม 11 หมู่บ้าน พบว่า ส่วนใหญ่เด็กๆ มีปัญหาติดเกมมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาจะเป็นเรื่องตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร และยาเสพติด เอ็กซ์และทีมทำงานจึงคิดทำ โครงการพัฒนาคุณภาพเด็กขึ้น โดยประสานขอความรู้เรื่องการทำกิจกรรมและของบประมาณ จากสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.) พร้อมทั้งประสานขอวิทยากรจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุพรรณบุรี

­


เอ็กซ์เล่าว่าการจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพเด็กได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก บ้าน วัด โรงเรียน ภาคีเครือข่ายในชุมชน โดยเฉพาะ ชลธิชา พุทธโกศา เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป และพนักงานขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองขาม มาร่วมกันจัดทำ “หลักสูตร” ในโครงการพัฒนาคุณภาพเด็ก เพื่อให้เด็กหนองขามมี “ทักษะชีวิต” เพิ่มขึ้น โดยดึงเด็กและเยาวชนอายุ 9 – 12 ปี จำนวน 120 คน เข้าร่วมกิจกรรม 6 สัปดาห์อาทิเช่น กิจกรรมเชิงวิชาการ พัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม กิจกรรมจิตอาสา เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม รู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเอง

“ผมมองว่าเด็กจะพัฒนาตนเองหรือมีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเด็กเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ต้องเห็นความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลบุตรหลานด้วย”




ภาพที่เห็นนี้ในวันนี้ เราอาจจะยังไม่ได้เห็นการพัฒนาของเด็กเด่นชัดมากนัก แต่ในชีวิตประจำวันของเขาขอเพียงแค่ให้พวกเขารู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ รู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเอง เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การเกิดจิตสำนึกความเป็นพลเมือง (Active Citizen) หากทำได้เชื่อว่าในอนาคตพวกเขาต้องเติบโตเป็นคนคุณภาพได้อย่างแน่นอน


1 ปีของการเข้ารับการอบรมหลักสูตรนักถักทอชุมชน เอ็กซ์บอกว่าเขาได้อะไรมากกว่าที่คิดไว้ทั้งความรู้ ทักษะในการทำงานร่วมกับชาวบ้านและหน่วยงานต่างๆแต่ที่ได้มากที่สุดคือ “ความสุข” จากการทำงานที่ไม่ต้องแบกภาระไว้คนเดียว มีภาคีเครือข่ายเข้าช่วยทำงานมากขึ้น และที่สำคัญคือ ทีมนักถักทอชุมชน เจ้าหน้าที่ อบต. พ่อแม่ ผู้ปกครอง ซึ่งทุกคนต่างร่วมแรง ร่วมใจกันขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนจนเกิดเป็น “ภาคีเครือข่าย” การพัฒนาเด็กและเยาวชนที่เข้มแข็งขึ้นในวันนี้

­



“ผมมองว่าหน้าที่หนึ่งของคนทำงานใน อบต.นอกจากจะทำงานตามหน้าที่แล้ว เราต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับคนในชุมชนด้วย ไม่เช่นนั้นก็เหมือนกับต่างคนต่างเดิน ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน”