ทำกิจกรรมนอกห้องเรียนเพิ่มประสบการณ์


จาก “นักเรียนชมรมจิตอาสา” ประจำโรงเรียนกัลยาณวัตร สู่ “นักศึกษาทำสื่อเพื่อสังคม” เป็นเครื่องบ่งชี้ดีเอ็นเอของกวินนาถ ศรีสำราญ (กีต้าร์) อายุ 20 ปี ขณะนี้เรียนอยู่ชั้นปี 2 มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขานิเทศศาสตร์ เอกโฆษณาเข้าร่วมโครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคมเพื่อประเทศไทยน่าอยู่ ปีที่ 5 เพราะอาจารย์กรชนก ชิดไชยสุวรรณ ได้บรรจุกระบวนการเรียนรู้ของโครงการ เข้าสู่การเรียนการสอนรายวิชาการผลิตสื่อและการสร้างสรรค์โฆษณา (มี 3 หน่วยกิต)แต่งทั้งนี้ไม่มีการบังคับสอบถามความสมัครใจของนักศึกษาก่อนว่าสนใจไหม ซึ่งทั้งห้องก็ยกมือเพราะเห็นตัวอย่างผลงานของรุ่นพี่ปีที่แล้วที่ออกมาดี “น่าจะทำให้เราเรียนรู้ได้มากขึ้น” กีต้าร์เล่าถึงที่มา

กระบวนการนำเข้าสู่ห้องเรียนในรายวิชา “กีต้าร์” เล่าว่าอาจารย์ออกแบบให้ห้องเรียนเป็นเสมือนบริษัทเอเจนซี่บริษัทหนึ่ง ซึ่งทุกคนในห้องจะต้องเลือกตำแหน่งงานที่ตนเองสนใจ โดย “กีต้าร์” เลือกที่จะทำงานด้าน AE ที่ทำหน้าที่ไปรับงานจากลูกค้า ไปรับบรีฟงานมาแล้วมาบอกความต้องการของลูกค้ากับเพี่อน และต้องคุมงานทั้งหมดให้เป็นไปตามบรีฟ ได้เริ่มงานกันมาแล้วกว่าเดือน “คิดว่า AE (ACCOUNT EXECUTIVE) คือมีความเป็นตัวเอง ก็อยากพิสูจน์ว่านี่ใช่สิ่งที่เราถนัดจริงๆ หรือไม่ ชอบจริงๆ หรือไม่ ก็เลยมาลองทำดู เพราะตอนนี้ยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรกันแน่”

“ได้เรียนรู้เรื่องความรับผิดชอบด้วย ซึ่งการอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียวไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง”

“กีต้าร์” เล่าว่าการทำโครงการฯ นี้ ที่ต้องทำงานร่วมกันกับเพื่อนๆ ทั้งห้อง และต้องมีการมานำเสนองานให้เพื่อนต่างมหาวิทยาลัยนั้น เป็นการเรียนรู้ที่มากกว่าการเรียนในห้องเรียน ทำให้ตนได้เรียนรู้มากมาย “สิ่งแรกคือการทำงานกับคน และสิ่งที่ยากสุดคือการทำงานกับคนอื่น เพราะต้องวางตัวอย่างดี และรับผิดชอบในงานของตัวเองด้วย คือได้เรียนรู้เรื่องความรับผิดชอบด้วย ซึ่งการอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียวไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง เช่น ความชอบคณิตศาสตร์ของตัวเอง แต่เพื่อนส่วนใหญ่ไม่ชอบ ซึ่งถ้าอ่านหนังสือ หรือ ทำโจทย์เลขก็เหมือนกับว่าไม่ได้นำมาใช้ในชีวิตจริง แต่ถ้ามองมุมกลับว่าเวลาเราซื้อของ เราก็ต้องใช้คณิตศาสตร์

คือทุกอย่างที่อยู่ในตำราต้องเกิดจากการที่เราหยิบส่วนที่ใช้จริงๆ ออกมาใช้ในชีวิต เพราะว่าวันหนึ่งเราต้องออกไปทำงานไปเป็นคนหนึ่งในสังคมก็ควรนำความรู้ที่เราได้ไปใช้ได้จริง เหมือนกับวิชานี้เราอาจจะเป็นคนที่สร้างสรรค์สื่อที่ไม่อยากให้คนในสังคมมีความรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้แล้วกับสังคมไทย ไม่อยากให้เขายอมแพ้ว่าทำไม่ได้หรอก อยากให้ลองทำดูมากกว่า มีตัวอย่างในหลายเหตุการณ์ของสังคมไทยที่คนคิดว่าทำไปก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้” นอกจากได้เรียนรู้แล้วเจ้าตัวยังมองว่าตนเองยังต้องพัฒนาไปอีก “สิ่งที่ต้องพัฒนาตัวเองคิดว่าเป็นเรื่องของการแบ่งงานเพื่อนให้ชัดเจน ยังรู้สึกว่าแบ่งงานยังไม่ค่อยเคลียร์ ก็อยากจะปรับตรงนี้”

จากเรื่องของตัวเองมาที่การทำผลงาน “กีต้าร์” เล่าถึงผลงานที่เอกโฆษณาสรุปเลือกทำสื่อในประเด็นการใช้สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ชื่อผลงานไฟเหลือง ที่ต้องการนำเสนอหัวข้อการขัดแย้งจากการยอมรับและการยึดติด เสนอแนวคิดให้เห็นว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดามีอยู่ทั่วไป ที่มีอยู่ในสังคมที่เปิดกว้างย่อมต้องมีความคิดที่หลากหลาย เพราะอายุ การศึกษา สังคม ประสบการณ์ ทำให้คนเรามีทัศนคติที่ต่างกัน และคนเราสามารถแตกต่างไดอย่างสร้างสรรค์ได้ เพราะธรรมชาติสร้างมนุษย์ให้มีความต่าง กลุ่มจึงต้องการผลิตสื่อเพื่อสร้างความเข้าใจและลดความแย้ง โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นที่เกาะติดกับโซเชียลตลอดเวลา “มุ่งเน้นให้วัยรุ่นเข้าใจเหตุผลของกันและกัน โดยการใช้สื่อเป็นตัวกลางที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกันให้มาหยุดฟังกันก่อน โดยสื่อจะทำหน้าที่นำเสนอความคิดของทั้งสองฝ่ายแบบเท่าๆ กัน มีความคาดหวังว่าเมื่อทำแล้วได้ผลจะสามารถทำให้วัยรุ่นสองกลุ่มลดการต่อว่ากันเองได้”

“กีต้าร์” เล่าต่อว่าสื่อที่เลือกใช้คือสื่อเฟสบุ้ค โปสเตอร์ และใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางสร้างกระแส และเครื่องมือ QR CODE เป็นช่องทางให้ผู้สนใจกลับมาที่เนื้อหาในเฟสบุ้ค ส่วนเนื้อหาเป็นเรื่องที่วัยรุ่นถกเถียงกัน เช่น ทัศนคติสำคัญกว่าฉลาด เป็นต้น ให้ทุกคนได้ใช้วิจารณญาณของแต่ละคนตัดสินหลังจากได้เห็นข้อมูลแล้ว ตอนนี้อยู่ในช่วงที่ครีเอทีฟเริ่มคิดงานว่าจะทำอย่างไรได้บ้างส่วนฝ่ายมีเดียจะดูว่าลงสื่อด้านไหนได้บ้าง “อย่างน้อยพวกเราก็ได้สร้างสื่ออีกรูปแบบหนึ่งที่ลดความขัดแย้งขึ้นมา เรียกว่าเป็นสื่อน้ำดีเข้าไปอยู่ในสื่อจำนวนมาก” กีต้าร์สรุปการทำงานเบื้องต้นของพวกเธอ

รอชมผลงานได้เร็วนี้ ทาง www.scbfoundation.com

………………………………………………………..

เวทีนำเสนอผลงานนักศึกษาครั้งที่ 1โครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคมเพื่อประเทศไทยน่าอยู่ ครั้งที่ 5จัดโดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (University Network For Change : UNC) เปิดเมื่อวันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561 ณ อาคารคุณหญิงพัฒนา (อาคาร 8) คณะศิลปะและการออกแบบ ม.รังสิต