พาเรียนรู้ทักษะในศตวรรษที่ 21 จำลองบริษัทโฆษณามาไว้ในห้องเรียน

จำลองบริษัทโฆษณามาไว้ในห้องเรียน


  • ·รู้สึกอึดอัดใจ รับเด็กมาทำงานแล้วไม่ได้ดั่งใจผันตัวเองมาเป็นอาจารย์เสียเลย
  • ·เป็นอาจารย์ยากกว่าคือการสร้างคน ไม่ใช่สร้างชิ้นงาน
  • ·เปลี่ยนรูปแบบการสอนตามสถานการณ์จริงของโลก ตามการทำงานจริงของนักศึกษา
  • ·ให้นักศึกษาได้เรียนทั้งวิชาชีพและเรียนรู้ชีวิต

จากเจ้าของอาชีพตัวจริงในวงการโฆษณาสู่วงการศึกษา เกิดแรงบันดาลใจที่ต้องการสร้างเด็กรุ่นใหม่ป้อนบริษัทโฆษณา จึงผันตัวเองมาเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่เอกโฆษณา คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร วันนี้เรามานั่งพูดคุยกับกับ อาจารย์กรชนก ชิดชัยสุวรรณ หรือลูกศิษย์เรียกว่าอาจารย์บิ๊ก มาฟังแนวคิดในการสอนแนวใหม่ เพื่อปั้นลูกศิษย์ให้ทำงานเป็น โดยยกบริษัทโฆษณามาไว้ในห้องเรียน

แรงบันดาลใจ “สร้างคน”

มาดูตัวตนของอาจารย์บิ๊ก ก่อนผันตัวมาทำอาชีพอาจารย์นั้น ทำอะไรอยู่? อาจารย์บิ๊กเล่าว่าตนเองทำงานในวงการโฆษณามาเกือบ 20 ปี ในบทบาทครีเอทีฟ ตำแหน่งสุดท้ายCreative Director For Special Projects ที่เอเจนซี่โฆษณาชื่อมันเดย์(MONDAY) เป็นตำแหน่งที่ตนเองใฝ่ฝันไว้สูงสุดในสายอาชีพและได้รับรางวัลการันตีจากต่างประเทศมาแล้ว แต่ด้วยจุดสูงสุดที่ได้รับในสายอาชีพ ทำให้เจ้าตัวเริ่มมองเห็นสังคมรอบข้าง มองว่าอีกอาชีพหนึ่งที่สร้างคุณประโยชน์ให้สังคมและมีความท้าทายให้กับชีวิตตนเองได้ก็คืออาชีพครูนั่นเอง

เมื่อถึงจุดหนึ่ง แล้วเราโตจนเรารู้สึกว่าเราน่าจะทำอะไรให้สังคมได้บ้าง เริ่มจากตัวเองเป็นคนโชคดีได้ทำงานที่ได้เห็นสังคมกว้างขึ้น เช่น ได้ทำสารคดีโครงการหลวง ได้เดินทางไปเหนือ ไปใต้ เยอะมาก ได้เห็นคนที่เขาทำงานปิดทองหลังพระ คนที่เขาทำงานจริงๆ สร้างเด็กขึ้นมาเพื่อให้เด็กไปสอนต่อ ก็เลยรู้สึกว่าเป็นอะไรที่ดี และคิดว่าคนเราทุกคนเกิดมาน่าจะได้ทำอะไรแบบนี้ เราไม่ได้เก่ง หรือครอบครัวเราไม่ได้ปล่อยไปอยู่ชนบท เรามีพื้นที่ตรงนี้ เราก็สร้างตรงนี้ได้ ก็น่าจะได้นะ ลองดู จึงเป็นที่มาของแรงบันดาลใจในการสร้างคน”

“เผอิญว่าตอนที่เรียนปริญญาโทเลือกสอนพิเศษก่อนจบ ที่คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร และสอนพิเศษต่อเนื่องนานถึง 5 ปี ก็เลยมีการพูดคุยกัน ชักชวนให้มาเป็นอาจารย์ประจำที่คณะเทคโนฯ ทำมาได้สองปีแล้ว ตอนที่ตกลงคิดว่าน่าลองทำดู และคิดว่างานที่ทำอยู่เดิมเรารู้จนหมดแล้ว เพราะงั้นถ้าเรามาทำตรงนี้ก็เป็นบทบาทใหม่แล้วก็ท้าทายตัวเองเหมือนกัน แต่ยากกว่าคือการสร้างคน ไม่ใช่สร้างชิ้นงาน


“ยากกว่าคือการสร้างคน ไม่ใช่สร้างชิ้นงาน”

“คนสอนก็ต้องปรับเพื่อให้ทันให้การเปลี่ยนแปลง เพราะว่าจริงๆ เราสอนวิชาชีพ

วิชาชีพที่เราสอนต้องสอดรับกับสิ่งที่นักศึกษาเขาจะไปทำงานจริงๆ”


ตอนที่มาเป็นอาจารย์พิเศษ เรารู้ว่าบริษัทโฆษณาต้องการอะไร ก็รู้สึกว่าเราน่าจะมาสร้างเด็กเองไหม สร้างในสิ่งที่วงการโฆษณาอยากได้ เป็นความคิดตอนที่ผันตัวเองมาเป็นอาจารย์ ตอนนั้นรู้สึกอึดอัดใจ รับเด็กมาทำงานแล้วไม่ได้ดั่งใจ จึงว่าเรามาเริ่มสร้างเด็กเองเลยน่าจะดีกว่า

พอเพื่อนๆ รู้ว่าเราจะเริ่มมาสร้างคนจากอาชีพนี้ ทุกคนก็จะโทรหามาเราเลยว่าเรามีเด็กไหม ส่งมาให้หน่อย อยากได้เด็กมีความรู้ความสามารถ สเปคประมาณนี้ เราก็เป็นผู้เชื่อม เราเป็นสะพานเชื่อมให้เด็กได้มีงานทำ บริษัทก็ได้คนที่อยากได้” อาจารย์บิ๊กเล่าอย่างมีความสุข

การเรียนการสอนต้องปรับตามสถานการณ์โลก

พอมาทำงานเป็นอาจารย์ อาจารย์บิ๊กคิดว่าควรจะต้องเปลี่ยนวิธีการสอนทุกปี โดยจับตามกระแสของวงการโฆษณาในและนอกประเทศว่าเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด และดูผู้เรียน ดูสภาพแวดล้อมที่เด็กต้องนำไปใช้จริงใช้เป็นหลักสอนด้วย “เห็นการเปลี่ยนแปลงของบริษัทโฆษณาในเมืองไทยและเมืองนอก เห็นการปรับตัวของครีเอทีฟ ก็เลยรู้สึกว่าคนสอนก็ต้องปรับเพื่อให้ทันให้การเปลี่ยนแปลง เพราะว่าจริงๆ เราสอนวิชาชีพ วิชาชีพที่เราสอนต้องสอดรับกับสิ่งที่นักศึกษาเขาจะไปทำงานจริงๆ”

“วิชาที่สอนคือกลยุทธ์การสร้างสรรค์ พอเห็นว่าวงการโฆษณาเปลี่ยน ลูกค้าสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตมากขึ้น จึงต้องการเพิ่มวิชาการวางกลยุทธ์การสื่อสารเพื่อสังคม social enterprise และในวิชาการผลิตสื่อและชิ้นงานโฆษณา ก็เพิ่มเรื่องของการสร้างสรรค์งานโฆษณาเพื่อสังคม จึงคิดหาประเด็นเหล่านี้มาให้เด็กๆ ได้ศึกษาและทำ พอดีอาจารย์สาว(อาจารย์สุภาพร หนูก้าน อ่านเรื่องราวได้ที่นี่https://goo.gl/Mm5GSw) มาเล่าเรื่องราว *โครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคมเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ (University Network for Change : UNC) ให้ฟังในที่ประชุมคณะ อาจารย์ก็เล่าว่าโครงการนี้ ได้นำประเด็นของสังคมจริงๆ มาให้นักศึกษาลองทำ ตัวเองก็เลยรู้สึกสนใจขึ้นมา จึงมาเข้าร่วมในโครงการนี้ปี 4 (ปี 2560) เป็นปีแรก นำมาเป็นโปรเจคเต็มๆ ของวิชานี้ให้กับนักศึกษาปี 2 มีคะแนน 3 หน่วยกิต”


วงการโฆษณาเปลี่ยน ลูกค้าสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตมากขึ้น

จึงต้องการเพิ่มวิชาการวางกลยุทธ์การสื่อสารเพื่อสังคม social enterprise

จำลองห้องเรียนให้เป็นบริษัทโฆษณา


พอเข้าโครงการอาจารย์บิ๊ก ก็ลองบูรณาการรูปแบบโครงการกับการเรียนการสอนในห้องเรียนให้สอดคล้องกัน จึงจำลองห้องเรียนให้เป็นบริษัทโฆษณา“บอกกับนักศึกษาว่าที่อาจารย์อยากให้เรียนโปรเจคแบบนี้ เพราะว่าอาจารย์ไม่เป็นห่วงเรื่องวางกลยุทธ์งานโฆษณา เพราะว่าการทำสินค้านะง่าย แต่การทำเป็นประเด็นสังคม และตีว่าประเด็นสังคมเป็นสินค้าตัวหนึ่งที่ทำการสื่อสาร และส่งถึงผู้บริโภคให้กลุ่มเป้าหมายยอมรับและซื้อนะยาก ก็เลยถามว่าจะลองทำกันไหม นักศึกษาสนใจอยากทำ ก็เลยให้ทำ”

“อีกสิ่งหนึ่งที่เติมเรื่องนี้เข้ามาในวิชาเรียน เพราะอยากให้นักศึกษาเข้าใจว่าการช่วยเหลือสังคม ในฐานะที่เขาเป็นเด็กเขาสามารถจะทำได้นะ ให้เขาเรียนรู้สเต็ปงานก่อนแล้วมานำเสนอ ให้โจทย์ว่ามีประเด็นปัญหาสังคม อาจารย์นั่งเป็นเหมือนผู้สังเกตุการณ์แล้วคอยแนะนำ ทำหน้าที่โคชชิ่ง ตรงนี้ดีแล้ว ตรงนี้เติม”

อาจารย์บิ๊กเล่าว่าได้ออกแบบห้องเรียนใหม่เหมือนจำลองบริษัทโฆษณามาไว้ในห้องเรียนเลย ใช้วิธีการแบ่งงานเหมือนบริษัทโฆษณา อาจารย์เป็นเจ้าของบริษัท และออกใบสมัครให้นักศึกษาทั้งห้อง สมัครงานในแผนกต่างๆ ตามความสนใจ มีแผนก AE (ACCOUNT EXECUTIVE) แผนกดูแลลูกค้า แผนกPlanner วางแผนกลยุทธ์ แผนกCreative แผนก Production แผนก Media “ซึ่งการออกแบบให้เรียนรู้แบบนี้ เป็นการทดสอบ ทดลอง เพื่อไว้ใช้ตอนปี 4 ด้วย เพราะเด็กๆ จะต้องทำจุลนิพนธ์ 1 คน ต่อ 1 ชิ้น ซึ่งการมาทำงานร่วมงาน 1 ชิ้นในโครงการนี้ ทำให้ทุกคนได้เรียนรู้ process ด้วยกัน แต่จะรู้เชิงลึกงานในแผนกที่ตัวเองรับผิดชอบ และเด็กๆ ยังสามารถนำงานจากโครงการฯ นี้ ไปใช้เป็น PORTFOLIO ใช้ฝึกงานในปี 3 อีกด้วย”


“อยากให้นักศึกษาเข้าใจว่าการช่วยเหลือสังคม ในฐานะที่เขาเป็นเด็กเขาสามารถจะทำได้นะ

อาจารย์นั่งเป็นเหมือนผู้สังเกตุการณ์แล้วคอยแนะนำ ทำหน้าที่โคชชิ่ง ตรงนี้ดีแล้ว ตรงนี้เติม”


อาจารย์บิ๊กเพิ่มเติมว่าการคลี่ให้เห็นประเด็นปัญหาสังคมจริงๆ เป็นความตั้งใจให้ที่จะให้นักศึกษาได้มามีอีกมุมมองหนึ่งในชีวิต “ชีวิตที่ในความเป็นลูกคุณหนู เป็นอะไรที่สบายไม่เคยลำบาก เขาจะได้มารู้สึกจริงๆ ว่าคนที่เขาลำบากคืออะไร เราอยากให้เขาได้เรียนทั้งวิชาชีพและเรียนรู้ชีวิต มีความสำคัญนะคะ เพราะว่าเคยได้ยินเพื่อนๆ หรือใครๆ ชอบพูด หรือแม้แต่อาจารย์ชอบพูดในที่ประชุมว่าเด็กสมัยนี้ไม่อดทน แต่เรารู้สึกว่าเด็กสมัยนี้เขาอดทนนะ คือสังคมตอนนี้มันอยู่ยากกว่าสมัยเรา ด้วยสภาพแวดล้อมเราว่าเขาอดทนนะในความที่ต้องเผชิญกับสังคม ได้คุยกับเพื่อนในวงการโฆษณาก็บอกว่าดีเลยที่สอนเด็กแบบนี้ อยากได้เด็กที่รู้สถานการณ์จริง รู้ว่าสังคมเป็นอย่างไร การพาเรียนรู้โจทย์จริง จะทำให้บางอย่างซึมซับในตัวเขาเข้าไปเอง”

อาจารย์บิ๊กเสริมอีกว่าในเรื่องของมุมมองผู้ใหญ่ที่ไม่ค่อยเข้าใจเด็ก สิ่งนี้เป็นอุปสรรคระหว่างกันได้ “จริงๆ แล้วผู้ใหญ่ชอบมอง ในแง่ของตัวเองว่าเด็กไม่ค่อยรู้เรื่อง คือชอบใช้ตัวเองเป็นตัวตัดสิน จริงๆ แล้วผู้ใหญ่ยังไม่ได้เข้าไปคุยกับเด็กเขาจริงๆ หรือเปล่า ถ้าเราได้คุยกับเขา ก็รู้ได้ว่าเด็กๆเขาก็สามารถมองเห็นอะไรได้มากกว่าที่เราตัดสิน เพียงแต่ยังไม่มีใครเข้าไปนั่งคุยกับเขาอย่างจริงๆ จังๆ เพราะว่าจริงๆ เด็กเปิดรับและฟังผู้ใหญ่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กอายุเท่าไร เพียงแต่เราต้องเข้าไปในระดับที่เท่ากัน เด็กเขาก็มีความคิดสร้างสรรค์ มีไอเดียอะไรที่อยากจะช่วยเหลือสังคมได้เหมือนกัน ไม่ว่าเรียนสาขาไหน เด็กเขาทำได้หมด เพียงแต่ว่าผู้ใหญ่ช่วยเปิดใจคุยกับเขา คิดว่าเด็กเขาจะยินดีจะเข้ามาช่วยงานผู้ใหญ่แน่”

เป็นอาจารย์ต้องเรียนรู้และปรับตัว

อาจารย์บิ๊กเล่าว่าเมื่อตัวเองไม่ได้จบด้านการสอนโดยตรง เคยสอนแต่ลูกน้องด้วยกระบวนการทำงาน การมาเป็นอาจารย์คือการเรียนรู้ใหม่หมด อาจารย์บิ๊กจึงเปิดใจที่จะให้นักศึกษาช่วยคอมเม้นท์เพื่อพัฒนาการสอนของตนเอง “จะให้นักศึกษาช่วยคอมเม้นท์งานสอนของเรา โดยใช้วิธีให้เขียนได้เต็มที่ โดยไม่ต้องใส่เลขรหัส เราอยากได้คอมเม้นท์จะได้นำไปปรับ เรารู้ตัวอยู่แล้วว่าเรามีนิสัยที่ดุ ปรี๊ดเร็ว แต่พอให้เด็กๆ ประเมินกลายเป็นว่าไม่ค่อยมีด้านนี้เท่าไร เด็กๆ บอกว่าชอบวิธีสอนแบบนี้ที่พูดตรงๆ คอมเม้นท์งานเขาตรงๆ เขาจะได้วิธีคิดงาน ได้ประโยชน์นำไปปรับงานได้ กลับไปคิดอะไรใหม่ๆ ได้ เขาก็เลยชอบ ตอนแรกเด็กๆ ก็บอกว่าเครียดมาเพราะอาจารย์ดุมาก เราเป็นคนบอกให้เด็กสู้ได้เต็มที่เพราะว่าเป็นความคิดของเขา จากวันนั้นมาทำให้เรารู้สึกว่าการเรียนการสอนแบบนี้สนุกดี”


“บางทีสอนๆ ไป ปรี๊ดเลยนะคะ แต่ต้องดึงตัวเองกลับมาให้ได้เร็วที่สุด

แบบว่าเดี๋ยวนะ อาจารย์ขอพัก ขอออกไปนอกห้อง 5 นาที”


อาจารย์บิ๊กบอกว่าต้องปรับอารมณ์ร้อนของตัวเองลงเยอะมากก็เพื่อเด็กๆ “เป็นคนที่พูดตรงๆ และเป็นคนค่อนข้างแรงมากกับลูกน้อง เคยทำลูกน้องผู้หญิงร้องไห้ เราไม่ขอลูกน้องผู้หญิงอีกเลยขอเป็นลูกน้องเป็นผู้ชายหมด พอเสร็จงานก็เลี้ยงข้าว กินข้าวกัน ลูกน้องจะรู้นิสัย แต่พอมาเป็นอาจารย์เราต้องลดภาวะตรงนี้เยอะมาก บางทีสอนๆ ไป ปรี๊ดเลยนะคะ แต่ต้องดึงตัวเองกลับมาให้ได้เร็วที่สุด แบบว่าเดี๋ยวนะ อาจารย์ขอพัก ขอออกไปนอกห้อง 5 นาที” นี่คือวิธีของอาจารย์ที่ใช้ดับอารมณ์อย่างได้ผล

เป้าหมายสูงสุดคือพัฒนาการสอน

อาจารย์บิ๊ก บอกว่าเป้าหมายสูงสุดของตัวเองคือพัฒนาการสอนให้ดีที่สุด ให้เด็กได้ประโยชน์ที่สุด อาจารย์จึงยอมเหนื่อยกว่าเดิมในการพาเด็กๆ เข้าร่วมโครงการนี้ แม้นักศึกษาจะเข้าร่วมเพียงสองรุ่น อาจารย์บิ๊กก็ดีใจที่ได้เห็น การเปลี่ยนแปลงเด็ก โดยเฉพาะการกระตุกเรื่องปัญหาสังคม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ


“พอเด็กได้ลองมาสัมผัสกับประเด็นปัญหาสังคม และได้ลงไปสัมผัสเรื่องราวในพื้นที่ เด็กก็สะท้อนว่าจริงๆ แล้วเขาไม่เคยรู้ว่ามีปัญหาแบบนี้อยู่จริงๆ โดยเฉพาะนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการปี 5 ที่กำลังพัฒนาผลงานนั้น นักศึกษาทำประเด็นเรื่องสื่อสร้างสรรค์ สื่อปลอดภัย ก็เห็นว่าพวกเขาได้เรียนรู้เยอะมาก เพราะเขาไม่ได้แค่ไปหาข้อมูลจากคนอื่นเท่านั้น แต่ข้อมูลได้สะท้อนกลับมาที่ตัวพวกเขาเอง ยิ่งมาศึกษาลึกเข้าไปเรื่อยๆ มันกลับมาสะท้อนว่าตัวฉันก็เป็น ให้ข้างนอกสะท้อนกลับมาข้างใน เขาก็จะมีความตระหนักมากขึ้น ว่าเขาควรจะปรับเปลี่ยนแก้ไขตนเองอย่างไร ก่อนที่จะไปสื่อสารกับคนอื่น ก่อนที่จะไปแก้คนอื่น และนักศึกษาปีที่แล้ว การเข้าโครงการนี้ได้เปลี่ยนทัศนคติของเด็กไปเยอะมาก จากทำเรื่องนาข้าว ความคิดของเด็กเขาจะไม่กินข้าวเหลือ ไม่ต้องลงไปถึงว่าจะต้องไปช่วยสังคมอย่างไร แต่ให้เขาคิดได้ด้วยประเด็นบางอย่าง ก็ถือว่าเป็นอะไรที่ดีแล้วค่ะ” อาจารย์บิ๊กสะท้อนผลลัพธ์ภาพรวมของนักศึกษา

เสียงสะท้อนจากนักศึกษาถึงอาจารย์บิ๊ก

นักศึกษารุ่นแรกของอาจารย์บิ๊กที่เข้าร่วมโครงการ UNC ในปี 2560 เรียนรู้ในประเด็นสิ่งแวดล้อม ด้านเกษตรอินทรีย์ ชื่อผลงาน Red Hot Organic Farmer เป็นแคมเปญรณรงค์ให้ชาวนาใน จ.เพชรบุรีหันมาปลูกข้าวอินทรีย์เพื่อดีต่อสุขภาพคนทำนาและคนทานข้าว จากการเรียนรู้ในโครงการนี้ นักศึกษา 4 คนซึ่งเป็นตัวแทนของห้อง ได้แก่ ชัยสัณฑ์ มณีพลอยเพ็ชร, กฤติเดช วรปกรณ์ชัย,ธัญพิชชา วัฒนชีวโนปรณ์ และ อภิชญา อึ้งปกรณ์แก้ว ได้มาสะท้อนการเรียนรู้ในห้องเรียนของอาจารย์บิ๊ก ได้อย่างน่าสนใจ

กฤติเดช สะท้อนว่า “การเข้าร่วมโครงการนี้ ทำให้ผมได้พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาเพราะอาจารย์บิ๊กจะคอยให้คำปรึกษา คอยดูว่างานเราไปถึงไหนแล้ว มีอะไรมาลง page หรือยัง ใช้ภาษาเหมาะสมหรือเปล่า บางทีเราทำงานกันดึกมากแต่อาจารย์บิ๊กก็ยังคอยช่วย คอยบอกว่าให้ส่งงานมาให้ครูดูก่อนนำเสนอ อาจารย์เขาไม่ทิ้งให้เราทำ แต่อาจารยคอยดูแลอยู่ตลอด และผมชอบที่ได้มาฟังคอมเม้นท์งานจากผู้เชี่ยวชาญจริงๆ เหมือนเราได้พัฒนาตัวเอง ไม่ใช่แค่ฟังความคิดจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัย แต่เวทีนี้เหมือนเป็นสนามข้างนอก เราจะได้รู้คนที่เขาเชี่ยวชาญแล้ว เขาอยู่ในวงการนี้เขาเห็นข้อบกพร่องของงานเราตรงไหน เราสามารถนำไปพัฒนาตัวเองและผลงานให้ดีขึ้นได้”

ชัยสัณฑ์ ร่วมสะท้อนว่า “อาจารย์บิ๊กใส่ใจเรา เขาไม่ได้แค่หยิบๆ โปรเจคมาให้นักศึกษาทำแล้วค่อยมาดูงานตอนเสร็จ แต่อาจารย์เหมือนพี่สาวคอยอยู่ช่วยงาน ช่วยให้คำปรึกษาตลอด เพราะอาจารย์บอกว่าอาจารย์ไม่ได้คาดหวังแค่ให้ความรู้พวกเรา แต่ต้องการให้งานพวกเราทำประสบความสำเร็จให้สูงที่สุดเท่าที่พวกเราจะไปได้”


“อาจารย์พูดตลอดว่าตอบนะ อยากให้ตอบ คือคำตอบของพวกคุณไม่มีถูกไม่มีผิด

อาจารย์อยากฟังว่าความคิดเราเป็นอย่างไร”

งานของอาจารย์บิ๊กจะเป็นงานทำจริง ลงมือจริง”



การสอนของอาจารย์ไม่เหมือนการสอนแบบเลคเชอร์ ที่เราจะแค่จดอย่างเดียวแล้วใช้ทฤษฏีเหล่านั้นมาตอบในข้อสอบ แต่งานของอาจารย์บิ๊กจะเป็นงานทำจริง ลงมือจริง มีความหลากหลายให้ทำจริงๆ ซึ่งตัวผมก็ชอบ ผมชอบเรียนอะไรที่แปลกใหม่อยู่แล้ว อย่างช่วงที่ทำโปรเจคโครงการนี้ จะให้งานไม่เหมือนกันสักอาทิตย์ เป็นงานที่บางทีก็ไม่เข้าใจว่าเกี่ยวกับโฆษณาอย่างไร แต่พออาจารย์สรุปให้ฟังเราก็เข้าใจว่าทุกอย่างที่เขาทำมีความหมายและมีความแตกต่างที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานโฆษณาได้จริงๆ”

ธัญพิชชา เสริมว่า “อาจารย์พูดตลอดว่าตอบนะ อยากให้ตอบ คือคำตอบของพวกคุณไม่มีถูกไม่มีผิด อาจารย์อยากฟังว่าความคิดเราเป็นอย่างไร อย่างโครงการนี้อาจารย์ลงไปทำด้วยทุกขั้นตอนจริงๆ พวกหนูปลูกข้าว อาจารย์ก็ลงไปปลูกข้าวอยู่ด้วยกัน อาจารย์คอยให้คำแนะนำตลอด ถ้าอยากลองทำอย่างนี้ได้ไหมค่ะอาจารย์ อาจารย์ก็บอกว่าลองทำดูเลย ไม่ต้องกลัว สุดท้ายเป็นประสบการณ์ที่เราได้เรียนรู้จากพื้นที่จริงๆ”

อภิชญา สะท้อนตบท้ายว่า “การที่อาจารย์พาพวกเราออกไปนำเสนองาน เห็นงานเพื่อนๆ มีประโยชน์กับพวกเรามาก เราได้เห็นงานเพื่อน แล้วงานเพื่อนนั่นแหละที่จะมาพัฒนาตัวพวกเราและพัฒนางานของเรา เหมือนเป็นการมาแชร์กันค่ะ”

เสียงสะท้อนของนักศึกษามาช่วยทำให้แนวคิดการจัดการเรียนการสอนแนวใหม่ที่อาจารย์พาให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากโจทย์จริง พื้นที่จริง มีมิติที่เป็นจริงมากยิ่งขึ้นและช่วยตอกย้ำการมาถูกทางในการ บูรณาการการเรียนการสอนแบบใหม่ คือสิ่งที่อาจารย์บิ๊กพยายามพานักศึกษาเรียนรู้ให้ได้ ทักษะในศตวรรษที่ 21 หมายความว่า การเรียนรู้เพื่อให้ได้วิชาแกนและแนวคิดสำคัญในศตวรรษที่ 21 คือทักษะชีวิตและการทำงาน ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม และทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี การเรียนรู้สมัยใหม่คือคนเราจะเรียนได้ต้องลงมือทำด้วยตนเองเท่านั้น การฝึกลงมือทำ Learning by Doing and Thinking ด้วย เพื่อที่จะให้เกิดทักษะ 3 ด้านนี้ข้างต้น (ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช : หนังสือการสร้างการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21 บทที่ 1) ทั้งหมดนี้อาจารย์บิ๊กได้ทำให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล ถ้าหากอาจารย์ท่านใดจะนำไอเดียนี้ไปต่อยอดในห้องเรียนของตนเองบ้าง


*เครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (University Network for Change : UNC) เป็นการรวมตัวของผู้บริหาร และคณาจารย์จากคณะวิชาที่สอนด้านศิลปะและการออกแบบเพื่อการสื่อสารของมหาวิทยาลัยทั้งในกรุงเทพมหานครและภูมิภาค ที่ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัย ในการสร้างศิลปินและนักออกแบบเพื่อการสื่อสารรุ่นใหม่ที่มีสำนึกความเป็นพลเมือง และสามารถสร้างสรรค์สื่อเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาสังคมไทย โดยมีคณะทำงาน UNC ขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันภายใต้โครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคมเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ (University Network for Change : UNC)มาตั้งแต่ปี 2557 ด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์กรภาคประชาสังคม สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์