เรียนรู้ชุมชน เพื่อตอบโจทย์ชุมชน



เป็นอีกหนึ่งมหาวิทยาลัยที่นำโครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคมเพื่อประเทศไทยน่าอยู่ เข้าไปสู่ห้องเรียนโดยอาจารย์จักรพันธ์วิลาสินีกุล นำไปเป็นหนึ่งในรายวิชาที่นักศึกษาปีที่ 3 ในคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ สาขาภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จะต้องได้เรียนรู้โจทย์สังคมนอกห้องเรียนกับเพื่อนต่างมหาวิทยาลัย ทำให้นักศึกษาได้รับโอกาสในการออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียน นางสาวนภาพร วิภาหะ (แบม) อายุ 20 ปี ขณะนี้เรียนอยู่ชั้นปี 3 เป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ออกมาสะท้อนถึงประโยชน์การเรียนในรายวิชานี้

“เหมือนการขยายสเกลงานจากตอนแรกที่ปีแรกๆ เราทำงานแค่คนเดียว หรือ เป็นกลุ่มเล็กๆหรือเป็นกลุ่มที่แสดงงานในพื้นที่ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่เมื่อออกมาเป็นรายวิชาทำให้เราต้องออกไปยังชุมชนและสังคมภายนอก ซึ่งเป็นสเกลที่กว้างขึ้น โดยเราต้องบริหารจัดการทั้งสมาชิกภายในกลุ่ม และบุคคลภายนอกซึ่งเป็นคนอีกกลุ่ม เป็นการขยายสเกลงานที่ทำให้หมือนกับเราออกไปทำงานจริงๆ ข้างนอก ซึ่งเวลาเราออกไปทำงานข้างนอกก็ต้องทำงานกับผู้คนที่เป็นองค์กรใหญ่ขึ้น วิชานี้เหมือนเป็นจุดเริ่มต้น”

เมื่อเข้ามาสัมผัสในรายวิชาที่ต้องนำวิชาเอกภาพพิมพ์มาตอบโจทย์สังคมชุมชน กลุ่มของแบมเลือกจึงจะนำประเด็นส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม /ศิลปะรับใช้ชุมชน / การท่องเที่ยวชุมชน มาสื่อสาร สะท้อนเรื่องราวของชุมชนเยาวราช – สำเพ็ง กับปัญหามลภาวะทางเสียง ชี้ให้เห็นถึงอันตรายของมลภาวะทางเสียงที่ถูกมองข้ามจากความเคยชิน ความคาดหวังเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเกิดการรับรู้และเข้าใจถึงผลกระทบ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงมลภาวะทางเสียงต่อไป

การมาเรียนรู้จากโจทย์จริงจากสังคม ทำให้แบมและเพื่อนๆ ต้องลงพื้นที่เพื่อสืบค้นข้อมูล การนั่งเสิร์ชข้อมูลจากกูเกิ้ลเพียงอย่างเดียวอาจจะทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่ตรงความต้องการของชุมชนเสียทีเดียว จึงทำให้แบมและเพื่อนๆ ต้องลงไปสัมผัสชุมชนโดยตรง ทำให้แบมได้เรียนรู้หลายด้านจากการทำงานภายใต้วิชานี้

“สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่อย่างแรกคือ กระบวนการทำงานเป็นทีม กระบวนการแก้ไขปัญหา รวมถึงการแตกประเด็น ว่าเราจะจับประเด็นใดมาทำงาน เช่น การลงพื้นที่ที่เยาวราช สำเพ็งตอนแรกคิดว่าชาวบ้านจะรู้สึกเหมือนเราเรารู้สึกว่าปัญหามลพิษทางเสียงเป็นปัญหาที่น่ารำคาญมากแต่ปรากฏว่าเมื่อลงพื้นที่พบว่าชาวบ้านรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมดาแต่เราก็รู้ว่าเป็นเรื่องอันตรายกรณีนี้เราอาจเปลี่ยนเป้าหมายให้เขารับรู้ซึ่งจากเป้าหมายเดิมที่ต้องการไปช่วยแก้ปัญหาเรื่องเสียง แต่ปรากฏว่ากลุ่มเป้าหมายเขาไม่ได้สนใจ เราต้องมีการปรับไปเรื่อยๆ เพื่อตอบโจทย์ชุมชนมากยิ่งขึ้น”

“คิดว่าการเรียนรู้ในวิชานี้เป็นประสบการณ์ที่ใหญ่มาก คือถ้าเราผ่านโครงการนี้ เราอาจได้ทำจริงและทำให้เกิดขึ้นได้จริงในชุมชน ซึ่งสายที่เรียนคือสาย art ซึ่งเราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ art ที่คนไทยมองว่าเป็นเรื่องศิลปะเพื่อตัวเอง ศิลปะเพื่อตอบสนองอารมณ์ความรู้สึก ให้มารับใช้สังคมได้”

ซึ่ง แบมก็สะท้อนปิดท้ายว่า “การเรียนรู้ที่ได้ลงชุมชนแบบนี้ ชอบมากกว่าการเรียนแต่หลักการนี่คือการนำไปใช้จริงซึ่งทำให้เจอสิ่งที่ไม่คาดฝันมาก่อน เจอปัญหาเฉพาะหน้าและทำให้เกิดการแก้ไข”

รอชมผลงานได้เร็วนี้ ทาง www.scbfoundation.com

………………………………………………………..

เวทีนำเสนอผลงานนักศึกษาครั้งที่ 1โครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคมเพื่อประเทศไทยน่าอยู่ ครั้งที่ 5จัดโดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (University Network For Change : UNC) เปิดเมื่อวันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561 ณ อาคารคุณหญิงพัฒนา (อาคาร 8) คณะศิลปะและการออกแบบ ม.รังสิต