เรียนรู้นอกห้องเรียน “สร้างโอกาสในชีวิต”



ตอนแรกเราใช้ความรู้ในห้องสอบ จบแล้วได้คะแนน เป็นผลดีกับตัวเองแต่ตอนนี้เรานำความรู้ที่เรามีเผยแพร่ผลงานออกไปให้สังคม เมื่อสังคมดีขึ้น เราก็มีความสุข


จากพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียน โครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคมเพื่อประเทศไทยน่าอยู่ ปีที่ 5ทำให้นายอาณกร ตันสุริวงศ์ (ปันปัน) อายุ 20 ปี ชั้นปี 2 มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขานิเทศศาสตร์ เอกลูกค้าสัมพันธ์ สนใจที่จะเข้าร่วมโครงการในลักษณะอาสาสมัคร หลังจากอาจารย์สุภาพรหนูก้าน ให้คำแนะนำว่ามีโครงการหนึ่งที่น่าสนใจและตรงกับสายที่เรียนอยู่ คือ เน้นการสร้างสื่อและงานนิเทศศาสตร์ น่าจะเป็นการฝึกประสบการณ์ที่ดี รวมถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วย จึงยกมือขอเข้าร่วมโครงการทันที

“ตัวเองรู้สึกว่าจะได้รับประสบการณ์ที่ดี เพราะว่าเราได้ทำงานร่วมกับผู้อื่นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ พี่ๆ ที่ให้คำแนะนำ องค์กรต่างๆ ทำให้ได้พบปะผู้คนมากขึ้น มีโอกาสมากขึ้น ซึ่งส่วนตัวเป็นคนชอบทำงานนอกห้องเรียนอยู่แล้ว รู้สึกว่างานในห้องเรียนไม่พอ คือเราอยากได้อะไรที่เป็นจริง ไม่ใช่สิ่งสมมติ ได้เจอคนจริงๆ ได้ประสบการณ์จริงๆและได้คิดด้วย” อณากรเผยถึงที่มา

เจ้าตัวเพิ่มเติมว่าปกติตนเองเป็นเด็กทำกิจกรรมมาตั้งแต่มัธยมปลาย ได้รับบทบาทให้เป็นคณะกรรมการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ทำให้ซึมซับบรรยากาศการทำงานกับผู้คนมากมาย เพื่อนๆ ก็เชียรว่ามีความคิดสร้างสรรค์น่าจะมาเรียนด้านนิเทศศาสตร์ เจ้าตัวจึงมาเรียนสายสื่อสารและมีเป้าหมายชัดเจน อยากทำงานสื่อสารที่มีคุณภาพ “หลังจากนี้ไม่ว่าทำงานอยู่องค์กรไหนก็อยากให้ได้คุณภาพของการสื่อสารขององค์กรนั้นออกมาด้วย อยากทำงานสื่อสารให้มีคุณภาพและมีประโยชน์ต่อคนในสังคม”

การสื่อสารที่ดีในความคิดของอณากร คือการที่ได้ส่งสารใดๆ ออกไปแล้วผู้รับสารไม่เกิดความขัดแย้ง ไม่ไปอยู่ในทัศนคิตที่ผิด ไม่อยู่ในตรรกะที่ผิด และคนส่งสารมีความสุข รวมถึงคนรับสารก็มีความสุข ทำให้เจ้าตัวเลือกหยิบประเด็นปัญหาการใช้สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผลิตผลงานชื่อ Infulfailure ซึ่งเป็นการเล่นคำของ influencer คือผู้ชักนำทางความคิด เป็นผู้มีอิทธิพลในปัจจุบันสร้างสรรค์งานร่วมกับเพื่อนๆ อีก 19 คน มีแนวคิดว่า “..ผมคิดว่าในยุคที่ไม่ว่าใครก็เป็นคนสร้าง content ได้จึงเกิด influencer ในรูปแบบของ Net idol หรือ Fanpage ต่างๆ ใน social mediaในขณะที่ sender และ receiver มีจำนวนมากพอๆกันการแก้ปัญหาที่ sender จึงไม่เป็นผลนักเราจึงเลือกที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้ receiver แทน” ซึ่งอณากรบอกว่าจะผลิตผลงานในรูปแบบวิดีโอสรุปการทดลอง โดยจะไปทำการทดลองตามมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยจะมี content ให้นักศึกษาอ่าน เพื่อให้เห็นความคิดว่า “คนเราตัดสินใจจากตัวเนื้อหาหรือยอดการ share การ retweet”แล้วทำเป็นวิดีโอสรุปการทดลองเพื่อให้เห็น reaction ของผู้เข้าทดลอง ขณะนี้ผลงานอยู่ในระหว่างการพัฒนา

ตอนแรกเราใช้ความรู้ในห้องสอบ จบแล้วได้คะแนน เป็นผลดีกับตัวเองแต่ตอนนี้เรานำความรู้ที่เรามีเผยแพร่ผลงานออกไปให้สังคม เมื่อสังคมดีขึ้น เราก็มีความสุข

ความคาดหวังจากงานชิ้นนี้เจ้าตัวบอกว่า “อยากให้ผลงานของเราสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ ถ้าผลงานของเราได้สร้างการเปลี่ยนแปลงจริงๆ เราได้ช่วยสังคมด้วยความรู้ ซึ่งที่จริงแล้วตอนแรกเราใช้ความรู้ในห้องสอบ จบแล้วได้คะแนน เป็นผลดีกับตัวเอง แต่ตอนนี้เรานำความรู้ที่เรามีเผยแพร่ผลงานออกไปให้สังคม เมื่อสังคมดีขึ้น เราก็มีความสุข”

สิ่งที่ทำให้สนใจทำประเด็นนี้คนฟังอาจจะรู้สึกว่าเป็นประเด็นปัญหาที่เล็กๆ ในสังคม ไม่เห็นต้องทำเลย แต่เจ้าตัวกลับคิดว่าที่เลือกทำประเด็นเล็กๆ เพราะรู้สึกว่าการเข้าถึงสื่อมันง่ายและใกล้ตัวนั่นเอง “ซึ่งแค่ประเด็นเล็กๆ แก้ไขได้ คนก็จะมีวิจารณญาณมากขึ้น และถ้าทำสำเร็จจริงๆ คนจะมีวิจารณญาณในการรับสารต่างๆ ในสื่อออนไลน์ เขาก็จะมีวิจารณญาณทำอย่างอื่นในชีวิตประจำวันด้วย เมื่อทุกคนรู้จักเลือกสารที่ดี ทุกคนในสังคมก็จะมีทัศนคติที่ดีขึ้น มีตรรกะที่หนักแน่นขึ้น”

“ผมคิดว่าการสื่อสารที่ดี ทำให้เราเกิดพัฒนาบุคลิกภาพที่ดี ซึ่งการมีบุคลิกภาพที่ดีคือการสื่อสารอย่างหนึ่ง ทำให้การใช้ชีวิตในแต่ละวันเป็นไปด้วยความระมัดระวัง รอบคอบและทำทุกอย่างด้วยความมีสติ เพราะทุกอย่างคือการสื่อสาร”

เพราะเรียนอยู่ในสาขาลูกค้าสัมพันธ์ จึงคิดว่าการสื่อสารเป็นเรื่องที่สำคัญ การมาร่วมโครงการนี้นอกจากอยากได้ประสบการณ์แล้ว เจ้าตัวยังคิดว่าการเรียนรู้นอกห้องเรียนก็มีความสำคัญมากเหมือนกัน.. “เพราะผมรู้สึกว่าคนที่แม่นตำราในห้องเรียน ทำคะแนนได้ดี ก็ดีในระดับหนึ่ง แต่สำหรับคนที่ทั้งแม่นตำราในห้องเรียน และทำงานจริงเป็น รู้จักผู้คนเยอะ จะได้โอกาสในชีวิตมากกว่า”นี่คือมุมมองที่ทำให้เจ้าตัวมานั่งอยู่ในจุดนี้ที่ต้องใช้เวลาว่างส่วนหนึ่งของตัวเองมาทำโครงการนี้ด้วย “อย่างที่บอกว่าสมัยมัธยมฯ ก็ให้เวลาส่วนตัวไปกับกิจกรรมของโรงเรียนอยู่แล้ว และคิดว่าทุกคนมี 24 ชั่วโมงเท่ากัน เวลาเรากลับไปที่ห้องเราก็นอน เล่นคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์กับเราและกับสังคม ถ้าเปรียบการทำงานตรงนี้ก็เหมือนเราไปออกกำลังกาย แต่วันนี้เรามาออกกำลังความรู้ของตัวเองและออกกำลังสมองตัวเอง เพียงแค่เสียสละเวลาว่างวันละ 1-2 ชั่วโมง เหมือนเราเข้ายิมบริหารสมอง” อนากรกล่าวสรุปปิดท้าย

รอชมผลงานของอณากรและเพื่อนในโครงการได้เร็วนี้ ทาง www.scbfoundation.com

………………………………………………………..

เวทีนำเสนอผลงานนักศึกษาครั้งที่ 1โครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคมเพื่อประเทศไทยน่าอยู่ ครั้งที่ 5จัดโดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (University Network For Change : UNC) เปิดเมื่อวันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561 ณ อาคารคุณหญิงพัฒนา (อาคาร 8) คณะศิลปะและการออกแบบ ม.รังสิต