ก่อนจะเป็นพลเมือง(สื่อ)น้ำดี
​เพราะต้นทุนของความเป็นพลเมืองในยุคดิจิตอลไม่ใช่เพียงแค่การเข้าถึงเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทหลากหลายในชีวิตประจำวัน แต่ยังหมายรวมไปถึงการที่เยาวชนมี “ทักษะ องค์ความรู้ และช่องทาง”ในการใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาดด้วย

­

­

การสื่อสารต่อสาธารณะจึงเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากสถานการณ์การสื่อสารที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การปรับตัวด้วยการพัฒนาช่องทางการสื่อสารของพลเมืองจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการเผยแพร่โครงการของตนเองที่สามารถเข้าถึงคนหลายๆกลุ่ม กิจกรรม workshop "เยาวชนนักสื่อสารสาธารณะ" โดยThai PBS ร่วมกับ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพานิชย์ จำกัด (มหาชน) จึงเป็นการเปิดพื้นที่การสื่อสารของเยาวชนใน 4 โครงการ

ประกอบด้วย โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชน จ.น่าน โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก และโครงพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา โดยเริ่มต้นจากโจทย์ชุมชนแล้วนำมาสู่โครงการที่เด็กและเยาวชนออกแบบขึ้นเพื่อตอบโจทย์ชุมชน ภายใต้“ทุกข์และทุน”ที่เขามองเห็น ซึ่งกิจกรรม workshop "เยาวชนนักสื่อสารสาธารณะ"ในครั้งนี้จะเป็นการเสริมทักษะการทำงานในรูปแบบการสื่อสารสาธารณะของเยาวชนให้เป็นรูปธรรมและสามารถเข้าถึงแก่คนทั่วไปมากขึ้น

­

­

­

­

วลัยลักษณ์ ชมโนนสูง เจ้าหน้าที่พัฒนาเครือข่ายสื่อพลเมือง สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ Thai PBS กล่าวว่า กิจกรรม workshop "เยาวชนนักสื่อสารสาธารณะ" เป็นการเปิดโอกาสให้น้องๆเยาวชนในฐานะคนดูได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแชร์ประสบการณ์การทำงานของตนเอง โดยสวมบทบาทนักข่าวพลเมือง ด้วยตัวของน้องๆเอง ซึ่งน้องๆเยาวชนจะได้เรียนรู้วิธีการทำข่าวและเห็นความสำคัญของนักข่าวพลเมืองว่าทำหน้าที่อะไร ทำไมต้องมีนักข่าวพลเมือง เครื่องมือของนักข่าวพลเมืองมีอะไรบ้าง นักข่าวพลเมืองสื่อสารผ่านช่องทางไหนได้บ้าง

โดยมีการฝึกทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฎิบัติจริง ได้แก่ กิจกรรมที่1.การสร้าง Banner (แบนเนอร์) ง่ายๆ เพื่อประชาสัมพันธ์และสื่อสารในสิ่งที่ตนอยากบอก ด้วยการให้เยาวชนลงพื้นที่หาข้อมูล ในประเด็นที่สนใจ ผ่านการพูดคุยกับคนที่สามารถให้ข้อมูลในเรื่องที่เยาวชนสนใจให้มากที่สุด พร้อมทั้งเลือกรูปให้ตรงกับประเด็นที่อยากนำเสนอให้สาธารณะรับรู้ แล้วโพสต์ลงเฟสบุ๊ค กิจกรรมนี้จะเป็นการสื่อสารง่ายๆ ผ่านภาพนิ่งเพื่อบอกกล่าวเล่าเรื่องว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ขณะที่ในกิจกรรมที่ 2.การถ่ายทำวิดีโอในรูปแบบสารคดีข่าว ด้วยการให้เยาวชนแต่ละกลุ่มเลือกประเด็นที่ทางกลุ่มสนใจ แล้วลงพื้นที่สัมภาษณ์แหล่งข่าวแบบเจาะลึก การช่างสังเกตเพื่อดึงความโดดเด่นของบริบทชุมชน จากนั้นนำมาเรียบเรียงเขียนบทสารคดีสั้น โดยเยาวชนต้องออกแบบหรือเดินเรื่องด้วยตัวเองตั้งแต่การกำหนดประเด็น วาระหรือเรื่องราวที่อยากนำเสนอ การพากษ์เสียง แล้วถ่ายทอดเป็นคลิปวิดีโอและนำไปสู่การนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในมุมต่างๆกับเพื่อนกลุ่มอื่นๆ

­

­

­

­

กระบวนการดังกล่าวไม่ได้เพียงต้องการให้น้องๆเยาวชนได้รับความรู้เพียงการถ่ายภาพและจับประเด็นเท่านั้น แต่ยังเป็นการฝึกให้เยาวชน มีทักษะในการตั้งคำถาม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตนเองสนใจ และอยากถ่ายทอดให้คนอื่นให้รับรู้และเข้าใจมากที่สุด ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของการเป็นเยาวชนนักข่าวสื่อสารสาธารณะ ผ่านการคิดวิเคราะห์ เรียนรู้ แล้วนำทักษะองค์ความรู้ที่ตกผลึกมาสู่การผลิตสื่อง่ายๆ ประยุกต์ใช้กับโครงการของตัวเองได้ในท้ายที่สุด

กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร เจ้าหน้าที่โครงการสนับสนุนองค์กรเพื่อพัฒนาเยาวชน มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวสอดคล้องกันในเรื่องการสนับสนุนการพัฒนาเยาวชนไปสู่ความเป็น “Active Citizen” บนฐานความเชื่อที่ว่า หากเยาวชนได้มีโอกาสทำหน้าที่เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาให้ชุมชน จะช่วยให้เด็กและเยาวชนได้ประสบการณ์ชีวิต เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อชุมชนตนเอง และก่อให้เกิดความรู้สึกเชื่อมโยงตัวเองกับชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ นำไปสู่การจัดการปัญหาและขับเคลื่อน“สำนึกความเป็นพลเมือง”ไปด้วยกัน

ขณะเดียวกัน การเป็นทั้งผู้ผลิตสารและผู้มีสารอยู่ในมือของเยาวชนที่ทำโครงการจะนำไปสู่การเล่าเรื่อง ต่อสาธารณะ เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องราวบริบทของชุมชนที่ตนอาศัย ซึ่งถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งช่องทางในการสร้างแรงกระเพื่อมสำหรับการเป็นสื่อน้ำดีแก่สังคม เพราะการสร้างเจตคติของผู้ส่งสารและรับสาร ภายใต้อัตลักษณ์ของความเป็นพลเมือง คือโจทย์หนึ่งที่ท้าทายสำหรับการเปลี่ยนผ่านความเป็นสื่อในยุคดิจิตอลที่เยาวชนพึงตระหนัก

­

­

­

­

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ“การเติมเต็มความรู้สึกรักและหวงแหน”แก่เยาวชนได้เรียนรู้ถึงรากเหง้าของของชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานสำคัญสำหรับการวางแผนการทำงานขับเคลื่อนจากโจทย์ชุมชนสู่การทำงานระดับจังหวัด เพราะการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากผู้ใหญ่ที่มีกระบวนการแตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่ จะนำไปสู่การทำงานในโครงการของเด็กและเยาวชน ทั้งด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปะวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และสัมมาชีพ ที่ตนสนใจ เรียกได้ว่า “เป็นการเป็นการเตรียมเด็กให้เชื่อมต่องานกับผู้ใหญ่ในการดูแลบ้านเกิดตัวเอง”

­



อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญกว่านั้นไม่ใช่เพียงแค่การเชื่อมโยงกันในแต่ละมิติเพื่อให้เกิดการส่งต่อของคนแต่ละรุ่นเท่านั้น ทว่านี่เป็นการใช้ช่องทางเทคโนโลยีในการสื่อการและการสร้างมาตรฐานความเป็นสื่อนำดีฉบับใหม่ให้กับสังคมไทยด้วย.///