"ตะโปนขลองจ์ โซดละเว" สานสัมพันธ์บนผืนผ้า

­

เมื่อช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ 1 มี.ค. ทีมงานมูลนิธิสยามกัมมาจลได้เข้าร่วมกิจกรรม "ตะโปนขลองจ์ โซดละเว" สานสัมพันธ์บนผืนผ้า ของกลุ่มเยาวชนกอนกวยโซดละเวและชุมชนบ้านแต้พัฒนา ณ ศาลากลางหมู่บ้าน บ้านแต้พัฒนา ต.โพธิ์กระสังข์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ

­

บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างอบอุ่น มีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้ใหญ่ และเด็กๆ ในชุมชนมาร่วมงานอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

­

­

กิจกรรมวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสรุปผลการทำงานตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาของเยาวชนในการสืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าไหมโซดละเว (ผ้าไหมลายหางกระรอก) ของดีคู่ชุมชนในท้องถิ่นบ้านเกิดไม่ให้สูญหายให้แก่ชุมชน และเป็นการเผยแพร่คืนข้อมูลการทำงานร่วมกับชุมชนให้ชาวชุมชนรับรู้ รวมถึงการจัดวงแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานร่วมกับเยาวชนกลุ่มอื่นๆ

­

­

"ตอนเริ่มแรกที่ชวนเยาวชนมาทำโซดละเว ผมฝันอยากเห็นเยาวชนในชุมชนเป็นเหมือนที่เราเป็น อยากให้อดทน และมีสมาธิจากการทำงาน เราก็ชวนเด็กๆในชุมชนมาทำผ้าด้วยกัน กลุ่มหนึ่งก็ทำหน้าที่หนึ่ง สาวไหมนะ ต้มไหมนะ แบ่งบทบาทหน้าที่ในการทำตามความสามารถ จับผ้า ทอผ้า ให้เขาค่อยๆเรียนรู้ดูจากผู้ใหญ่ และเขาก็ลงมือทำกันจริงๆจังๆ เห็นแบบนี้แล้วมันมีแรงบันดาลใจที่จะสืบทอด สืบสานการทอผ้า ทุกขั้นตอนของการทำผ้า ผมเห็นว่าหลังจากที่เขามาทำตรงนี้ น้องๆ รับผิดชอบมากขึ้น เพราะแต่ละวันเขามีภาระต้องทำให้เสร็จ น้องๆบางคนทำไม่ได้เราก็ให้กำลังใจเขาว่า ไม่มีใครที่ทำเป็นตั้งแต่เกิด นอกจากนี้เรารวมน้องๆ มาคิดว่าเราต้องเก็บข้อมูลเพื่อคิดคำถามเกี่ยวกับประวัติและประโยชน์จากการทอผ้าโซดละเว ก็แบ่งกันเลยว่าคนนี้ไปเก็บข้อมูลผ้าจีสนอปนะ โซดละเวนะ พิธีกรรมนี้นะ พอไปพวกเขาก็จะเรียนรู้การถามการจดบันทึก กลับมาก็จะเอาคำตอบมาเล่ากัน มาสรุปกัน"

­

"สำหรับงานวันนี้เราวางแผนจัดงาน ตะโปนขลองจ์ น้องๆ ทุกคนช่วยกันวางแผนทำนิทรรศการ จัดสถานที่ ปฏิคม เตรียมจับผ้า ประสานงานกับผู้ใหญ่มาช่วย ทุกคนช่วยกันเรียนรู้ช่วยกันทำ"แอ้ด วินัย โพธิสาร นักศึกษาวิชาครู ปี 5 มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ แกนนำพลเมืองเยาวชนกล่าว

­

น้องคิด สุกฤตยา ทองมนต์ หนึ่งในแกนนำเยาวชนสะท้อนการเรียนรู้จากการจัดงานนี้ว่า "หนูคิดว่าได้เรียนรู้การคิดวิเคราะห์ เราทำงานก็มีกระบวนการในการวางแผน การทำงานด้วยกันทำให้เรามีความสามัคคี"

­

ส่วน เต๋า อภิชาติ วัลอุบล แกนนำเยาวชนโครงการดักแด้แตกใหม่ทอรักทอไหมสายใย (โซดละเว) สะท้อนว่า "ตอนแรกที่ทอโซดละเว ซื้อไหมมาย้อมเคมีสีม่วง แต่ผมคิดว่า... ถ้าเลี้ยงไหมเอง ทอเอง ใช้สีธรรมชาติย้อมแล้วมันจะมีคุณค่า... แม้ว่ายากแต่ผมก็อยากทำ การย้อมเราลองกันเยอะมาก ลองผิดลองถูกอย่างสีเขียวนี้ลองทั้งใบเตย ก็ไม่สวย ใบขี้เหล็กก็ไม่เขียว มันออกสีเหลือง เราค่อยๆ ลองทำ คนแก่ก็มาช่วยแนะนำว่าสีเขียวได้จากอันนี้นะ ตอนนี้เราก็สรุปได้แล้วว่า สีเหลืองได้จากแก่นเข สีดำได้จากมะเกลือ สีเขียวได้จากมะเกลือแล้วเอาไปลงโคลน.... แม้ว่าจะหลายขั้นตอน เราช่วยกันเอาอุปกรณ์มารวมกันหลายหลัง ช่วยกันทำคนละขั้นตอน มีชาวบ้านมาช่วยด้วย ทำแล้วก็สนุก มีความสุขไปด้วย"

­

"นอกจากจะได้เรียนรู้การทอผ้าแล้ว ผมได้แรงบันดาลใจอยากจะเป็นครู ให้ความรู้กับเยาวชนต่อ" เต๋ากล่าว

­

ครูแอ้ด วินัย โพธิสาร เล่าต่อว่า..."หลังจากนี้ผมอยากจะทำพิพิธภัณฑ์ผ้า การทำผ้าไหม เพราะถ้าเราไม่อยู่ในชุมชนไปเรียนข้างนอก ข้อมูลที่เราจดบันทึกไว้ทั้งที่ไปถามยาย ผ้าชนิดต่างๆ ใช้ประโยขน์ทำอะไร เช่น ผ้าจีสนอป ใช้นุ่งโจงกระเบนขึ้นโบสถ์ ผ้าโซดระเวผู้หญิงที่จะแต่งงานต้องทอได้ แล้วเอาไว้ไหว้ผู้ใหญ่ก่อนจะแต่งงาน แต่เดี๋ยวนี้ซื้อกันอย่างเดียว อีกงานคือ รำแม่มด ถ้าเป็นตัวแทนเทวดาผู้ชายจะนุ่งสะโหร่ง ถ้าเป็นเทวดาผู้หญิงจะนุ่งผ้าซิ่น นอกจากนี้ถ่ายวีดีโอการทำไว้จะได้มีไว้เป็นแนวคิดที่คนอื่นได้เรียนรู้ต่อ"

­

โครงการดักแด้แตกใหม่ทอรักทอไหมสายใย (โซดละเว) เป็นหนึ่งในสิบเอ็ดโครงการเยาวชนภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ดำเนินการโดยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ ในการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเยาวชนไทยให้มีสำนึกของความเป็นพลเมือง