การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) อนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไหมลายลูกแก้วของชาวกูย

ต่อลมหายใจ...ผืนไหมลายลูกแก้ว

โครงการนี้ทำให้ได้ฝึกฝนทักษะการทำงานหลายอย่าง เช่น การวางแผน การแบ่งหน้าที่ การสืบค้นข้อมูล การเปิดใจรับฟังคนอื่น และการทำงานร่วมกันด้วยความสามัคคี ที่สำคัญได้เปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนที่เห็นความสำคัญของส่วนรวมมากขึ้น ไม่สนใจแต่งานของตัวเองเหมือนที่ผ่านมา...การได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้รู้แต่ละท่าน เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทีมรู้สึกดีใจมาก จากเดิมที่แทบจะไม่เคยพูดคุยกับคุณยายเหล่านี้ ก็ได้พูดคุยกันมากขึ้นหรือบางคนเพิ่งมารู้ว่าเป็นญาติกันก็คราวนี้


ในอดีตคนในชุมชนบ้านขี้นาค อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ส่วนใหญ่เป็นชาวกูย (ส่วย) แต่ในช่วง 10 – 20 ปีที่ผ่านมามีคนจากจังหวัดอื่นอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนมากขึ้น ทั้งคนไทย คนลาว คนเขมร จนเกิดการแต่งงานข้ามชาติพันธุ์ ข้ามจังหวัด ส่งผลให้วัฒนธรรม ประเพณี ภาษา ของชาวกูยลางเลือกลงบ้าง เช่นเดียวกับผ้าไหมลายลูกแก้วที่เริ่มเลือนหายไป

แต่ในวันนี้ภูมิปัญญาด้านการทอผ้าไหมลายลูกแก้วของชุมชนบ้านขี้นาคเริ่มฟื้นคืนกลับมา เยาวชนกลุ่มSpy Kids ลูกหลานชาวกูยที่แต่เดิมคอยช่วยงานวัด งานบุญ งานประเพณีของชุมชนอยู่เสมอ ลุกขึ้นมาทำโครงการเยาวชนเรียนรู้และอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าไหมลายลูกแก้วของชาวกูย ด้วยเหตุผลสั้นๆ คือ พวกเขาอยากรื้อฟื้น “ผ้าไหมลายลูกแก้ว” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวกูยให้กลับคืนสู่ชุมชนอีกครั้ง



+ สืบสานต่อ...ก่อนจะเลือนหาย

นุ่น-นิภาดา บุญท่วม เล่าว่า กลุ่มของเธอรวมตัวทำกิจกรรมอาสาในชุมชนอยู่เสมอ เมื่อพี่เลี้ยงชวนมาทำโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษก็อยากลองทำดูบ้าง ตอนคิดโครงการกันนั้นจำได้ว่าต่างคนต่างมีเรื่องที่อยากทำ นุ่นอยากทำเรื่องสมุนไพร พิมพ์-พิมพ์จันทร์ ชอบชื่ และชมพู่-สิริวิมล ไชยภา  สนใจเรื่องดนตรี ขณะที่อุมา-อุบลวรรณ ศิลาชัยบอกว่าน่าจะทำเรื่องผ้าลายลูกแก้ว เพราะเป็นเอกลักษณ์ของชาวกูย พร้อมให้เหตุผลว่า เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีคนทอแล้ว ทุกคนได้ยินที่อุมาเสนอต่างรู้สึกชอบและคิดว่าน่าจะใช้เป็นโจทย์โครงการได้

อุมาเล่าว่า ผ้าไหมลายลูกแก้วเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่อยู่คู่ชุมชนบ้านขี้นาคมานานร่วมร้อยปี แต่เดิมชาวกูยทั้งหญิงชายจะสวมใส่เสื้อผ้าที่ตัดจากผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมสีดำจากมะเกลือเพื่อร่วมงานบุญและงานเทศกาลต่างๆ ผู้เฒ่าผู้แก่ส่วนใหญ่สวมใส่ผ้าไหมลายลูกแก้วเป็นปรกติในชีวิตประจำวัน ผ้าไหมลายลูกแก้วจึงอยู่ในวิถีชีวิตของคนบ้านขี้นาค และเป็นความภาคภูมิใจของผู้สวมใส่ แต่ด้วยความที่ผ้าไหมลายลูกแก้วทอยาก ต้องใช้เวลาทอนาน ระยะหลังคนในชุมชนจึงหันไปสวมใส่เสื้อผ้าสำเร็จรูป เพราะหาซื้อได้ง่าย ราคาถูก ไม่ต้องเสียเวลาทอ หรือไม่ก็ซื้อผ้าไหมลายลูกแก้วจากหมู่บ้านอื่นมาตัดเย็บเสื้อผ้า ทำให้การทอผ้าไหมลายลูกแก้วใกล้สูญหายไป ซึ่งขณะนี้พบว่ามีชาวบ้านขี้นาคซึ่งเป็นชาวกูยแท้ๆ ที่ยังคงมีการทอผ้าไหมลายลูกแก้วแบบโบราณอยู่ไม่มากนัก แต่ละคนก็อายุ 50 ปีขึ้นไป พวกเราคิดว่านี่เป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องทำ


+ สืบสาวข้อมูลผืนไหม

อุมาเล่าต่อว่า เมื่อประเด็นชัด สิ่งที่ทีมต้องทำต่อคือ วางแผนการทำงาน โดยเน้นให้ความสำคัญกับ “ชุดข้อมูลความรู้” เริ่มต้นจากจัดประชุมชี้แจงโครงการให้ชุมชนรับรู้ โดยเชิญผู้รู้ที่มีความรู้เรื่องผ้าลายลูกแก้วเข้าร่วมด้วย เพื่อบอกกล่าวกับผู้รู้ว่า เยาวชนกำลังจะทำอะไร และมีเรื่องอะไรที่เยาวชนอยากรู้บ้าง พร้อมขอคำแนะนำในเบื้องต้นว่าแต่ละเรื่องสามารถสอบถามจากผู้รู้คนไหน จากนั้นทีมได้ออกแบบการทำงานเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ทำแผนที่เดินดินว่าในหมู่บ้านมีคนทอผ้าลายลูกแก้วได้กี่คน มีบ้านหลังไหนบ้าง โดยมีพิมพ์เป็นหัวหน้า มด-ปทุมรัตน์ จันทองจดบันทึกเพราะมดพูดส่วยได้ ส่วนน้องๆ ในทีม ช่วยกันถ่ายวิดีโอและถ่ายภาพ

กลุ่มที่ 2 สืบค้นวิธีการย้อมผ้าด้วยการใช้มะเกลือ มีนุ่นเป็นหัวหน้าทีมและเป็นคนถามหลัก แม้ว่านุ่นจะพูดภาษาส่วยได้บ้าง แต่เพราะสำเนียงการพูดแปร่งๆ ผู้รู้จึงฟังไม่รู้เรื่อง งานนี้ต้องอาศัยพี่ๆ ชั้น ม.ปลายมาช่วยแปล

กลุ่มที่ 3 สืบค้นเรื่องอุปกรณ์การทอ มีน้องเป็นหัวหน้าทีมอาสาพาทีมไปเรียนรู้เรื่องนี้

กลุ่มที่ 4 สืบค้นปฏิทินวัฒนธรรม มีอุมาเป็นผู้รับผิดชอบพาน้องๆ ไปเรียนรู้จากยายวงเดือน นาคนวลว่า ในแต่ละเดือนใช้ผ้าทอลายลูกแก้วทำอะไรบ้าง โดยอุมาจะทำหน้าที่เป็นคนถามหลัก มีพี่ ม.4 ช่วยจดบันทึก มีน้องๆ ในกลุ่มเป็นคนถ่ายภาพและบันทึกเสียง

กลุ่มที่ 5 ศึกษาประวัติความเป็นมาของผ้าลายลูกแก้ว มีชมพู่เป็นผู้รับผิดชอบหลัก และมีรุ่นพี่มาช่วยถามและจดบันทึก ส่วนชมพู่กับเพื่อนรับหน้าที่ถ่ายภาพและวิดีโอ



+ “ภาษา” อุปสรรคการสื่อสาร...สู่การเรียนรู้ตัวตนคนกูย

พิมพ์เล่าว่า ก่อนลงพื้นที่เก็บข้อมูล ทีมงานได้จัดเตรียมกรอบคำถามที่จะสอบถามผู้รู้ โดยตั้งประเด็นคำถามไว้ แล้วให้พี่เลี้ยงช่วยเติมเต็ม เพื่อให้คำถามนั้นครอบคลุมทุกประเด็น ซึ่งทีมวางแผนให้กลุ่มแผนที่เดินดินสืบค้นความรู้ก่อนเป็นกลุ่มแรก เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการสืบค้นเรื่องต่อไป เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วทีมก็จะทำสัญลักษณ์กำกับไว้บนแผนที่

จากการสืบค้นข้อมูลของกลุ่มที่ 1 พบว่า บ้านขี้นาคมีทั้งหมด 96 หลังคาเรือน แต่ทอผ้าลายลูกแก้วเป็นเพียงแค่ 9 หลังคาเรือนเท่านั้น เมื่อได้รับการชี้เป้าจากกลุ่มแผนที่เดินดินแล้ว กลุ่มที่เหลือจึงเข้าไปสืบค้นข้อมูลเรื่องวิธีการย้อม วิธีการทอ ประวัติของผ้าลายลูกแก้ว และปฏิทินการใช้ผ้าลายลูกแก้วในแต่ละเดือนกับผู้รู้แต่ละท่าน

อุมาบอกว่า แม้ว่าทีมจะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ แยกย้ายกันไปสืบค้นข้อมูล แต่เมื่อกลุ่มไหนทำงานของตนเสร็จแล้วก็มักอาสาไปช่วยเพื่อนกลุ่มอื่นที่งานยังไม่เสร็จ ท้ายสุดจึงนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน หากข้อมูลขาด พี่เลี้ยงก็จะกระตุ้นให้น้องๆ เก็บข้อมูลเพิ่มเติมระหว่างที่ไปลงมือปฏิบัติกับผู้รู้อีกครั้ง

อุมาเล่าว่า แม้จะตั้งคำถามไว้อย่างดี แต่เมื่อลงพื้นที่จริงกลับพบปัญหาใหญ่เรื่องการสื่อสาร เป็นเพราะพวกเราพูดส่วยไม่ได้ ทำให้เวลาถามผู้รู้มักจะได้คำตอบที่ไม่ตรงประเด็น ถามอย่างตอบอย่าง แม้จะเปลี่ยนคำถามหลายครั้งก็ยังไม่ได้คำตอบที่ต้องการ เช่น ถามว่ามีใครทอผ้าลายลูกแก้วเป็นบ้าง ผู้รู้ก็ตอบว่าผ้าไหมลายลูกแก้วมันสวย มีคนทำเยอะแยะไป ทั้งๆ ที่เราอยากได้ชื่อคนที่ทอผ้าเป็นเท่านั้น

ส่วนชมพู่สะท้อนว่า เธอรู้สึกว่าการไปสัมภาษณ์ผู้รู้เป็นเรื่องยาก เพราะสื่อสารกันไม่ค่อยรู้เรื่อง โชคดีที่รุ่นพี่ในกลุ่มใจเย็น พยายามเปลี่ยนคำถามใหม่ให้สามารถสื่อสารกับผู้รู้ให้ได้ บางครั้งเธอต้องรอฟังคำตอบให้จบก่อน แล้วค่อยถามใหม่ จึงใช้เวลานานกว่าจะสัมภาษณ์เสร็จ

แค่การเก็บข้อมูลในระยะเวลา 2 วัน ก็ทำให้กลุ่มเยาวชนได้สัมผัสถึงช่องว่างระหว่างวัย ที่มีภาษาเป็นอุปสรรค...แต่ปัญหาดังกล่าวกลับกลายเป็น “โอกาส” ให้น้องๆ ได้เริ่มต้นเรียนรู้ภาษาของชาติพันธุ์ตนเองเพิ่มขึ้น


­

+ เรียนรู้และฝึกฝน...ต่อลมหายใจผืนไหมลายลูกแก้ว

เมื่อได้ข้อมูลเบื้องต้นครบทุกประเด็น ทีมช่วยกันเรียบเรียงข้อมูลเก็บไว้เป็นเอกสารการถ่ายทอดภูมิปัญญาการทอผ้าไหมลายลูกแก้วของชาวกูยเพื่อมอบคืนแก่ชุมชน พร้อมกับจัดประชุมวางแผนร่วมกับผู้รู้ว่า ในแต่ละเดือนผู้รู้ว่างช่วงไหน เพื่อนัดหมายให้ผู้รู้สอนฝึกปฏิบัติการทอผ้าไหมลายลูกแก้ว จนได้เป็นตารางแผนงานว่า แต่ละสัปดาห์จะเรียนรู้กับผู้รู้ท่านใด ที่ไหน โดยนัดหมายให้เยาวชนทั้งหมดไปเรียนรู้พร้อมกัน เช่น สัปดาห์นี้บ้านนี้จะฟอกเส้นไหม ก็ยกพวกไปเรียนรู้พร้อมกันทุกคน

อุมาเล่าว่า พวกเราต้องเรียนรู้จริงทุกขั้นตอน ตั้งแต่การฟอกไหม การกระตุกไหม การปั่นไหม ใส่อัก การทำเครือ การต่อเส้นไหม จนถึงขั้นตอนการทอ โดยหมุนเวียนกันไปเรียนรู้กับผู้รู้แต่ละท่านในแต่ละสัปดาห์ เมื่อเรียนรู้ครบทุกขั้นตอนแล้ว ใช่ว่าทุกคนจะทอผ้าลายลูกแก้วเป็น ซึ่งแต่ละคนยอมรับว่า ยังมีขั้นตอนที่ยาก โดยเฉพาะการอ่านลาย ถ้าอ่านลายไม่ได้ก็ไม่สามารถทอได้ มีแต่เธอเท่านั้นที่ทอได้จนเสร็จเป็นผืนแล้ว

ขณะที่นุ่นบอกว่า ขั้นตอนการปั่นไหมยากที่สุด หากไม่มีสมาธิ หรือใจร้อน ไหมจะพันกันยุ่งเหยิงไปหมด ตอนนั้นยอมรับว่ายังไม่เข้าใจว่าการปั่นไหมต้องใจเย็น คนโบราณบอกว่าขั้นตอนนี้จะช่วยฝึกนิสัยคน แต่พวกเราไม่รู้ก็จะรีบปั่นให้เสร็จ ยิ่งรีบก็ยิ่งทำให้เส้นด้ายพันกันไปหมดจนดึงไม่ออก จนผู้รู้ต้องมาช่วยแก้

“ช่วงหลังเวลามีงานบุญประเพณีคนในชุมชนจะนิยมใส่ผ้าลายลูกแก้วกัน เมื่อเป็นเช่นนี้คนที่ไม่มีก็เริ่มอยากมีบ้าง คนที่ทอได้ก็เริ่มกลับมาทอกันอีกครั้ง”




+ เรียนรู้และซึมซับอย่างซาบซึ้ง

นอกจากได้เรียนรู้ขั้นตอนการทอผ้าไหมลายลูกแก้วแล้ว การได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้รู้แต่ละท่าน เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทีมรู้สึกดีใจมาก จากเดิมที่แทบจะไม่เคยพูดคุยกับคุณยายเหล่านี้ ก็ได้พูดคุยกันมากขึ้น หรือบางคนเพิ่งมารู้ว่าเป็นญาติกันก็คราวนี้

โครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างสัมพันธ์ที่ดีให้กับชุมชนเท่านั้น แต่ยังช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยให้คนเฒ่าคนแก่และเด็กใกล้ชิดกันมากขึ้น และที่สำคัญคือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวเยาวชน...

พิมบอกว่า สิ่งที่รู้สึกว่าตนเองเปลี่ยนไปคือ เรื่องการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เมื่อก่อนถ้ามีเวลาว่างจะเล่นแต่อินเทอร์เน็ต โครงการนี้ทำให้เธอได้ฝึกฝนทักษะการทำงานหลายอย่าง เช่น การวางแผน การแบ่งหน้าที่ การสืบค้นข้อมูล การเปิดใจรับฟังคนอื่น และการทำงานร่วมกันด้วยความสามัคคี ที่สำคัญได้เปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนที่เห็นความสำคัญของส่วนรวมมากขึ้น ไม่สนใจแต่งานของตัวเองเหมือนที่ผ่านมา

ส่วนน้องบอกว่า เธอมีความรับผิดชอบ และใส่ใจผู้อื่นมากขึ้น เช่น เวลานัดหมายกันทำงาน เมื่อก่อนเวลามาสายไม่รู้สึกอะไร แต่เดี๋ยวนี้จะรีบมา เพราะไม่อยากให้เพื่อนเสียเวลารอ

ขณะที่อุมาบอกว่า เธอรู้จักแบ่งเวลาเป็น เพราะเธอเรียน ม.ต้นแล้ว ไหนจะการบ้าน ไหนจะงานบ้าน แถมยังต้องมาทำโครงการอีก เธอจึงต้องรีบทำงานอื่นให้เสร็จเพื่อที่จะมาทำงานนี้

เช่นเดียวกับชมพู่ที่บอกคล้ายๆ กันว่า เธอมีความรับผิดชอบมากขึ้น เมื่อก่อนไม่ค่อยมีความรับผิดชอบ ทำงานบางอย่างยังไม่เสร็จก็จะไปทำอย่างอื่น แต่พอมาทำโครงการนี้ทำให้เธอต้องแบ่งเวลาว่าควรทำงานไหนเมื่อไร ทั้งนี้รวมถึงพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของเธอก็เปลี่ยนไป จากที่เคยโพสต์ข้อความ รูปภาพไร้สาระไปวันๆ แต่ตอนนี้จะโพสต์อะไรที่มีเนื้อหาสาระมากขึ้น

สำหรับนุ่นแล้วเธอบอกว่า รู้สึกดีใจที่ได้รู้จักผ้าไหมลายลูกแก้วมากขึ้น ทั้งยังได้เรียนรู้เรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน ทั้งประวัติความเป็นมา การทำแผนที่เดินดินสำรวจครูภูมิปัญญาว่าอยู่ที่ไหนบ้าง ใช้วัสดุอุปกรณ์อะไร การย้อมผ้าด้วยมะเกลือต้องทำอย่างไร ต้องย้อมในฤดูกาลไหน รวมถึงการสวมใส่ในโอกาสต่างๆ มีอะไรบ้าง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ทำให้เธอภาคภูมิใจ รู้สึกรักชุมชน และรักความเป็นกูยมากขึ้น แม้จะยังทอผ้าไม่เก่ง ท่าทางเก้งก้างไม่คล่องแคล่วเหมือนครูภูมิปัญญา แต่ในวันที่ กศน.มาประเมินศูนย์เรียนรู้ในชุมชน น้องๆ ได้รับโอกาสให้นำเสนอผลงานของโครงการ ซึ่งช่วยสร้างความภาคภูมิใจให้น้องๆ เป็นอย่างมาก

และแล้วเป้าหมายที่กลุ่ม Spy Kids ตั้งไว้ก็เริ่มเป็นจริง เมื่อคนในชุมชนบ้านขี้นาคเริ่มตื่นตัวหันมาสนใจรื้อฟื้นการทอผ้าไหมลายลูกแก้วกันมากขึ้น เช่น แม่ของอุมาเองจากที่เคยเลิกทอไปนานแล้ว ก็ได้กลับมาทอผ้าใหม่อีกครั้ง

“ช่วงหลังเวลามีงานบุญประเพณีคนในชุมชนจะนิยมใส่ผ้าลายลูกแก้วกัน เมื่อเป็นเช่นนี้คนที่ไม่มีก็เริ่มอยากมีบ้าง คนที่ทอได้ก็เริ่มกลับมาทอกันอีกครั้ง”


+ ฝึกคิด...ฝึกทักษะชีวิต

สิดาวรรณ ไชยภา พี่เลี้ยงโครงการเล่าว่า กลุ่ม Spy Kids ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2555 เกิดขึ้นจากการที่เด็กๆ ติดตามผู้ปกครองที่ทำงานวิจัยมาประชุมที่ศาลาวัด จึงรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมพัฒนาหมู่บ้านมาโดยตลอด การทำโครงการครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ เพราะจากที่เคยสัมผัสกับเยาวชนพบว่า เด็กในชุมชนยังขาดภาวะผู้นำ ยังรอให้ผู้ใหญ่นำทำกิจกรรมต่างๆ และกิจกรรมส่วนใหญ่ยังวนเวียนอยู่กับการพัฒนาหมู่บ้าน เก็บขยะในชุมชน จึงมองว่าการทำโครงการในครั้งนี้น่าจะดีที่จะได้พัฒนาศักยภาพเยาวชนบ้านขี้นาค

โครงการนี้ทำให้วิธีคิดของเด็กๆ เปลี่ยนไป เมื่อก่อนพวกเขาจะใช้ชีวิตไร้สาระมาก แต่พอได้มาทำกิจกรรมเขาจะไม่บิดพลิ้ว เข้าร่วมโดยตลอด ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนก็เห็นดีด้วยที่จะให้เด็กทำกิจกรรมดีๆ แบบนี้ และอยากให้ทำต่อไปเรื่อยๆ อยู่บ้านก็ไม่ได้งานอะไร ทำโครงการนี้อย่างน้อยเด็กก็ได้ฝึกคิด ฝึกทักษะชีวิต โดยส่วนตัวเชื่อว่าถ้าเราฝึกให้เขาคิดบ่อยๆ เขาจะได้คิดวิเคราะห์เป็น ไม่หลงเชื่อใครง่ายๆ เมื่อก่อนเด็กอายที่จะพูดภาษากูย และพูดไม่ได้ แต่วันนี้เห็นว่าเขาอยากพูดภาษากูยมากขึ้น” สิดาวรรณบอกเล่าความรู้สึก

ทั้งนี้ในบทบาทของพี่เลี้ยงเธอได้พยายามจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆ ด้วยการพาไปเรียนรู้กับเครือข่ายเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ แล้วนำกระบวนการที่ได้เรียนรู้มาปรับใช้กับทีม กระตุ้นให้ใช้เทคโนโลยีในการค้นหาความรู้ รวมทั้งจัดโอกาสในการเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกชุมชน เช่น พาไปดูงานเรื่องการทอผ้าลายลูกแก้วที่หมู่บ้านข้างเคียง เป็นต้น

นอกจากพัฒนาทักษะเยาวชนแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่กับเยาวชนในชุมชนที่สนิทสนมกันมากขึ้น ที่สำคัญโครงการนี้ช่วยเปลี่ยนมุมมองของผู้ใหญ่เรื่องการพัฒนาเด็กว่า การทำงานจริงจะช่วยสร้างประสบการณ์ชีวิตที่ดีให้กับเด็ก ดังนั้นบรรยากาศในชุมชนเมื่อผู้ปกครองเห็นเด็กกลุ่มหนึ่งทำกิจกรรมร่วมกัน ถ้าลูกหลานของตนไม่มาร่วม ผู้ปกครองจะไล่ลูกหลานให้มาช่วยกัน สะท้อนให้เห็นว่า หากเยาวชนมีกิจกรรมคนในชุมชนก็พร้อมสนับสนุน

การทำงานร่วมกันระหว่างคน 2 วัย คือ ปราชญ์ผู้รู้กับเยาวชน ส่งผลให้วันนี้ชุมชนบ้านขี้นาคมีหนังสือที่รวบรวมองค์ความรู้เรื่องอุปกรณ์ และวิธีการทอผ้าไหมลายลูกแก้วไว้ให้คนรุ่นหลังได้สืบทอด พร้อมกับนักทอผ้ารุ่นใหม่ที่แม้วันนี้ฝีมือการทอจะยังไม่ชำนาญเท่าไรนัก แต่หัวใจพวกเขาก็รับรู้ถึงคุณค่าของผืนไหมที่เป็นทรัพย์สมบัติอันเป็นรากเหง้าของชาวกูย และวางใจได้ว่าสำนึกที่ได้ปลูกขึ้นมานี้จะช่วยต่อลมหายใจผ้าไหมลายลูกแก้วให้อยู่คู่กับชาวกูยต่อไป


โครงการเยาวชนเรียนรู้และอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าไหมลายลูกแก้วของชาวกูย

แกนนำเยาวชน 1) สิริวิมล  ไชยภา  2) อุบลวรรณ ศิลาชัย  3) สุวนันท์ นาคนวล  4) พิมพ์จันทร์ ชอบชื่น  5)  นิภาดา บุญท่วม  6) ปทุมรัตน์ จันทร์ทอง

พี่เลี้ยง  สิดาวรรณ ไชยภา