เมื่อเอ่ยถึงศาสนา สำหรับบางคนอาจไม่มีอะไรน่าสนใจนัก ยิ่งเมื่อพูดถึงการเรียนศาสนา หลายคนคงจินตนาการไปถึงบรรยากาศการเรียนที่ชวนง่วงและแสนน่าเบื่อแต่สำหรับโรงเรียนทางธรรมวิทยามูลนิธิ ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา หรือที่เรียกกันว่า “โรงเรียนปอเนาะ” วิชาศาสนาเป็นวิชาบังคับที่นักเรียนทุกคนต้องเรียนเพิ่มเติมจากคาบวิชาสามัญทั่วไป

ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่การสอนศาสนาแค่ในห้องเรียนจะโน้มน้าวให้นักเรียนปฏิบัติตามหลักคำสอนได้

แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อนักเรียนกลุ่มหนึ่งนำหลักศาสนามาสอนในแปลงผัก...???

­



การปลูกผัก “เครื่องมือ” สอนหลักศาสนา

­

ณัฐณิชา หัดสมัด – เราะห์ หนึ่งในแกนนำโครงการเรียนรู้หลักศาสนาเพื่อการจัดการตนเอง เล่าถึงความรู้สึกเมื่อ ครูมาหมะ กูเต๊ะ ที่ปรึกษาโครงการชักชวนมานำเสนอโครงการต่อสงขลาฟอรั่มว่า ตอนแรกคิดแค่ว่าอยากสนุก ไม่รู้มาก่อนว่าต้องทำโครงการจริงจังขนาดนี้เข้าใจว่าแค่ไปนำเสนองาน เสร็จแล้วก็กลับ เลยอยากไปเพราะจะได้เจอเพื่อนใหม่ๆ แต่พอรู้ว่าโครงการผ่านแล้วต้องทำต่อ ตอนนั้นยังไม่ค่อยมั่นใจว่าอยากจะทำจริงๆ

แต่ด้วยใจที่พร้อมเปิดรับการเรียนรู้อยู่เสมอ เราะห์บอกว่า พอเริ่มทำโครงการ ความรู้สึกสนุกก็กลับมาอีกครั้ง ยิ่งทำก็ยิ่งมี “พลัง” มากยิ่งขึ้น

­



ฮันซาลา เด็นมาน์ – ดา อธิบายถึงโครงการเรียนรู้หลักศาสนาเพื่อการจัดการตนเองอย่างสั้นๆ ง่ายๆ แต่ได้ใจความว่า โครงการนี้เป็นการสอนศาสนาในแปลงผัก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ข้อมูลหลักศาสนาและแปลงผัก

“โครงการนี้...ใช้การปลูกผักเป็น “เครื่องมือ” ในการสอนศาสนา เพื่อโน้มน้าวและจูงใจให้นักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนผู้ชายให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น”

ถึงแม้โรงเรียนทางธรรมวิทยาฯ จะเป็นโรงเรียนสอนศาสนา แต่ จุฑามาศ มะสะ - มะห์ กลับบอกว่า นักเรียนส่วนใหญ่ไม่สนใจศึกษาหลักคำสอนทางศาสนาจึงไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนผู้หญิงแต่งกายไม่เรียบร้อย นักเรียนผู้ชายก็หนีเรียนและติดยาเสพติด เป็นต้น พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับนักเรียนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นพฤติกรรมลอกเลียนแบบ ซึ่งส่งผลเสียต่อนักเรียนทุกคน โดยเฉพาะรุ่นน้องที่เห็นตัวอย่างไม่ดีจากรุ่นพี่

“ถ้านักเรียนในโรงเรียนมีหลักศาสนาอยู่ในใจก็จะไม่ประพฤติตัวในทางที่ไม่ถูกต้อง เขาจะสำนึกได้และไม่กล้าทำ เพราะมันเป็นบาป” มะห์เน้นย้ำ

โครงการเรียนรู้หลักศาสนาเพื่อการจัดการตนเองจึงใช้การปลูกผักเป็น “เครื่องมือ” ในการสอนศาสนา เพื่อโน้มน้าวและจูงใจให้นักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนผู้ชายให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น


 


ขณะที่เพื่อนร่วมทีมอีก 2 คนคือ รอกีเยาะ เดหลำ – เยาะ และมุนีนะ อักษร – มูนะห์ บอกว่า ก่อนเริ่มกิจกรรมแรก เรารับอาสาสมัครมาแค่ 20 คนก่อน แต่ใครจะมาร่วมอีกเราก็ไม่ห้าม นักเรียนโรงเรียนนี้ชอบทำกิจกรรมร่วมกันในที่ที่มีคนเยอะๆอยู่แล้วเห็นได้ว่ามีสมาชิกใหม่แวะเวียนมาอยู่เสมอยิ่งเป็นนักเรียนผู้ชายเขาจะชอบทำกิจกรรมมากกว่าเรียนหนังสือในห้องเรียน ดังนั้นหากสามารถดึงดูดความสนใจของพวกเขา ชักชวนให้มาทำกิจกรรมนอกห้องเรียน พวกเขาก็จะให้ความร่วมมือ เพราะรู้สึกสนุก

“ถ้าว่างให้มาช่วยทำแปลงผักนะ แวะมารดน้ำด้วยนะ” เป็นคำพูดที่เราะห์กล่าวชักชวน เพื่อนๆ และน้องๆ แบบทีเล่นทีจริง “เรื่องกิจกรรมเขาจะมา ถ้าเรื่องเรียนเขาจะโดด”

เรียนรู้ “ชีวิต” จากการทำงาน

แต่การทำงานดูเหมือนจะไม่เป็นไปตามแผน พวกเธอไม่สามารถจัดการอบรมเตรียมความพร้อมให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ เนื่องจากเป็นช่วงสอบและใกล้ปิดเทอม

เราะห์เล่าว่า ตอนแรกพวกเธอวางแผนว่าหลังรับอาสาสมัครเข้ามาแล้วจะมีการอบรมกับผู้รู้ทางศาสนา แล้วจะพาอาสาสมัครไปดูงานเรื่องการปลูกผักปลอดสารพิษแบบเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่กลับมาจะได้ลงแปลงปลูกเลย แต่มาติดช่วงปิดเทอม เลยตัดสินใจ “ปรับแผนใหม่”ด้วยการเตรียมแปลงปลูกไว้ก่อน

­



พื้นที่สำหรับเตรียมแปลงผักเป็นพื้นที่รกร้างของโรงเรียน มีหญ้าขึ้นรกเต็มไปหมดจึงไม่มีใครเข้าไปใช้ประโยชน์ถึงแม้จะรับอาสาสมัครไว้แล้ว แต่การเตรียมพื้นที่เป็นงานหนัก พวกเธอจึงขอร้องให้เพื่อนผู้ชายมาช่วยโดยตั้งใจชวนคนที่มีความชำนาญด้านงานเกษตรมาโดยเฉพาะ วันนั้นมีเพื่อนผู้ชาย 3 คน กับแกนนำซึ่งเป็นผู้หญิงมาช่วยกันเตรียมพื้นที่

“เรารู้ว่าเขาช่วยที่บ้านทำงานเกษตรอยู่แล้ว เขาต้องทำได้แน่ๆ เลยชวนมาวันแรกเรียกว่าไปขุดหญ้า ไม่ใช่ถางหญ้า เพราะตัวเราเองไม่มีทักษะ ดินก็แข็ง ดินตรงนี้ไม่เคย ปลูกอะไรมาก่อน ขุดยากมาก ทำจนมือแดงไปหมด” เราะห์เล่าไปหัวเราะไป

“ในสายตาผู้ใหญ่...พวกเราเป็นเพียงแค่เด็กที่ไม่ทนงานหนัก ทำอะไรไม่เคยสำเร็จเลยเอาคำดูถูกมาเป็นแรงบันดาลใจ”

งานยกร่อง 4 ร่อง แต่ละร่องยาวประมาณ 4 เมตรสำเร็จได้ภายในวันเดียว ดูแล้วเหมือนทุกอย่างจะผ่านไปได้อย่างราบรื่น แต่เราะห์และเพื่อนๆ ยอมรับว่า บางช่วงจังหวะขณะลงแรงทำงานตรงนั้น พวกเธอรู้สึกไม่อยากทำ เพราะไม่เคยทำงานที่ต้องใช้แรงงานมากขนาดนี้มาก่อน

“รู้สึกท้อเพราะเหนื่อย ปกติอยู่บ้านไม่ต้องทำงานอะไรเลย คุณหนูมาก เลิกเรียนกลับบ้าน อาบน้ำแล้วก็มากินข้าว แม่จะไม่ให้ทำงานหนัก เรียกได้ว่างานหนักไม่เอางานเบาไม่สู้” เราะห์เล่าถึงตัวเอง

ขณะที่มะห์บอกว่า แต่เมื่อเราบอกว่าเราจะทำแล้ว ต้องทำให้ได้ ไม่อยากให้คนอื่นดูถูกได้

ส่วนดาอธิบายว่า ในสายตาของผู้ใหญ่หรือแม้กระทั่งครูในโรงเรียนบางคน พวกเราเป็นเพียงแค่เด็กที่ไม่ทนงานหนักและทำอะไรไม่เคยสำเร็จเลยเอาคำที่คนอื่นดูถูกมาเป็นแรงบันดาลใจ

“บางคนดูถูกว่าเด็กอย่างเราจะทำได้หรือ เลยอยากพิสูจน์ให้เห็นว่าเราทำได้...ต้องทำให้สำเร็จ” ดาย้ำอย่างจริงจัง

­



มาปลูกผักกันเถอะ

เมื่อช่วงปิดภาคเรียนมาถึง นักเรียนหอพักส่วนใหญ่ต่างเดินทางกลับบ้านเกิดของตนเอง จึงเหลือเพียงแกนนำและเพื่อนนักเรียนส่วนน้อยที่อาศัยอยู่ละแวกโรงเรียนที่แวะเวียนกันเข้ามาดูแลแปลงผัก เมื่อสมาชิกมาน้อย การให้ความรู้เรื่องศาสนาจึงไม่สามารถทำได้ตามที่วางแผนไว้


ผักแปลงแรกที่สาวๆ ทั้ง 5 คนลงแรงปลูกคือ ผักบุ้งเพราะปลูกง่าย นอกจากนี้ยังมีผักกาดขาวมะเขือ ถั่ว ตะไคร้ กล้วย และพริกตามลำดับ

เราะห์เล่าว่า เธอเคยอยู่ชุมนุมเกษตรมาก่อน จึงพอมีความรู้เรื่องการทำการเกษตรอยู่บ้าง ถึงแม้เธอจะไม่ชอบทำการเกษตรเลยก็ตาม เธอเคยตัดสินใจเปลี่ยนชุมนุมเพราะรู้สึกว่าทำงานเกษตรมันเหนื่อย เลยเปลี่ยนไปอยู่ชุมนุมศิลปวัฒนธรรม เพราะสบายกว่า แต่ตอนนี้ต้องกลับมาอยู่ชุมนุมเกษตรเหมือนเดิม

ถึงแม้จะไม่มีผู้ใหญ่คอยหนุนให้ทำกิจกรรมในช่วงปิดเทอม แต่พวกเธอก็สามารถจัดแบ่งเวลามาดูแลแปลงปลูกกันเอง เริ่มตั้งแต่มาดูแลรดน้ำตอน 6 โมงเช้า หลังละหมาด ตอนสายๆ ก็กลับบ้าน แล้วกลับมาอีกช่วง 4 โมงเย็น ไปจนถึง 6 โมงเย็นหรือมากกว่านั้น

­



มาถึงตรงนี้หลายคนคงมีคำถามว่า...แล้วหลักศาสนาจะเกี่ยวข้องกับแปลงผักได้อย่างไร

ดาอธิบายว่า ตามหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลามเวลาทำอะไรทุกอย่างต้องกล่าวพระนามของอัลเลาะห์ก่อนพวกเราจึงนำหลักการนี้เข้ามาสอดแทรกระหว่างลงแปลงผัก

“หลังจากขุดหลุมเสร็จ ก่อนที่เราจะโรยเมล็ดพันธุ์ลงในหลุม ก็ให้น้องๆ กล่าวพระนามพระอัลเลาะห์ก่อนจะใช้ดินกลบก็กล่าวอีกครั้ง” มะห์อธิบายเพิ่ม

“นอกจากจะได้เรียนรู้หลักศาสนาแล้วกระบวนการทำการเกษตรยังช่วยเสริมสร้างความรักและความสามัคคีระหว่างกันได้อีกด้วย”

­



ดาเสริมต่อว่า บางทีก็พูดเป็น “อุบาย” ว่าต้องกล่าวแบบนี้ก่อนนะ ไม่เช่นนั้นผักจะไม่ขึ้น

นอกจากการกล่าวพระนามอัลเลาะห์แล้ว พวกเธอยังหยิบยกหลักคำสอนที่มีอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอาน, ฮะดิษ และอื่นๆ มาบอกกล่าวแก่น้องๆ ระหว่างทำการเกษตรด้วย พวกเธอมองว่า นอกจากจะได้เรียนรู้หลักศาสนาแล้วกระบวนการทำการเกษตรยังช่วยเสริมสร้างความรักและความสามัคคีระหว่างกันได้อีกด้วย

“ระหว่างที่กำลังปลูกผักกันอยู่เราก็พูดคำสอนขึ้นมาเลย ทำไปพูดไป”

เราะห์บอกว่า พวกเธอไม่ได้เป็นผู้มีอิทธิพลในโรงเรียนที่จะพูดอะไรให้ใครต่อใครเชื่อตามได้ หลักศาสนาที่นำมาถ่ายทอดเป็นศรัทธาของชาวมุสลิมอยู่แล้ว พวกเธอเพียงแค่นำหลักคำสอนมาย้ำ ทำให้ผู้ร่วมโครงการรู้สึกว่าศาสนาเป็นเรื่องใกล้ตัวแล้วฉุกคิด ส่วนจะนำไปปฏิบัติหรือไม่นั้นก็สุดแล้วแต่

“สำหรับผู้หญิงเราก็บอกว่าหลักศาสนาของเราต้องสวมเสื้อผ้าหลวมๆ หนาๆ ใส่รัดๆ บางๆ ก็เปรียบเสมือนไม่ได้ใส่ ถือว่าเป็นบาป”เราะห์ยกตัวอย่าง

“ก็มีบ้างบางครั้งเราพูดเขาก็ไม่ฟัง แล้วก็เถียง แต่เราก็ค่อยๆ บอกกล่าวไปเรื่อยๆ เรียกว่าทำไปสอนไปนั่นแหล่ะ” มะห์ กล่าว

แต่กว่าจะได้ “หลักศาสนา” มาใช้สอนระหว่างการปลูกผักก็ไม่ใช่เรื่องง่าย...พวกเธอต้องเตรียมตัวเหมือนกัน ด้วยการค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตัวเอง เช่น อ่านจากหนังสือ หรือหาจากเว็บไซต์ ซึ่งบางครั้งข้อมูลที่ได้จากอินเทอร์เน็ตก็เชื่อถือไม่ได้หรืออธิบายไม่ชัดเจน เราก็ต้องนำมาเปรียบเทียบกับอัลกุรอานก่อน ถ้าส่วนไหนยากเกินไปก็จะถามอาจารย์

“ก่อนนำหลักศาสนาไปสอนน้องๆ จะต้องให้อาจารย์ตรวจก่อน” ดาเน้นย้ำ จริงๆ แล้วหลักศาสนาของเราสอนให้เราเผยแพร่ความรู้ ถ้าเราไม่เผยแพร่เป็นบาป แต่ถ้าเรารู้และเผยแพร่แล้วคนอื่นไม่ทำตามก็ไม่เป็นไร ถือว่าเราได้ทำแล้ว

­



ผักเติบโต...คนก็เติบโต

ด้วยความที่แปลงผักของพวกเธอยึดหลักการปลูกผักปลอดสารพิษแบบเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้มูลสัตว์แทนปุ๋ยเคมี ถึงแม้จะไม่ชอบใจนัก แต่พวกเธอก็ทำงานด้วยความเสียสละ

ดาเล่าว่า บางครั้งพวกเธอต้องไปเก็บขี้วัวกันเองจากในชุมชนใกล้โรงเรียน...ไม่ชอบก็ต้องทำใจ แต่ก็สนุก

“เพื่อนๆ กับน้องๆ มาช่วยเตรียมแปลงและช่วยกันปลูกผัก แต่ไม่ค่อยมีคนมาช่วยรดน้ำและดูแลผัก ผักส่วนหนึ่งก็ตายไป เพราะช่วงปิดเทอมเป็นช่วงหน้าร้อน...จำได้วันนั้นรดน้ำ 10 บัวคนเดียว กลับบ้านไปเมื่อยมาก” เราะห์เล่าอย่างสนุกสนาน

ดาเล่าถึงประสบการณ์การปลูกผักกาดขาวให้ฟังว่า ตอนแรกเอาตาข่ายไปคลุมบนแปลง เพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดิน พอมันงอกเป็นต้นกล้าพวกเราดันเอาตาข่ายออก เพราะกลัวว่าตาข่ายจะทับต้นกล้าตาย กลายเป็นว่าพอเอาตาข่ายออก ผักกาดขาวโตขึ้นมาเป็นต้นเล็กๆ ไม่สวย เพราะอากาศช่วงนั้นร้อนมาก

­



ส่วนมะห์บอกว่า แมลงศัตรูพืชไม่ใช่ปัญหา มีแมลงก็ปล่อยให้มันกินบ้าง มันกินแค่นิดเดียว แบ่งให้มันด้วยสงสาร ส่วนถั่วที่ปลูกไว้นั้นแกนนำและเยาวชนอาสาก็เด็ดกินจนหมดระหว่างทำงาน จนไม่เหลือผลผลิตถั่วไว้ให้เชยชมเลย

หลังฝ่าฟันความยากลำบาก ทั้งขุดดิน หว่านกล้า ถางหญ้า และรดน้ำพรวนดิน เมื่อผักบุ้งเติบโตขึ้นแกนนำทุกคนตอบอย่างพร้อมเพรียงกันว่า “ดีใจมาก”

“เมื่อก่อนปลูกผักหวังคะแนน แต่ครั้งนี้ปลูกโดยที่ไม่ได้หวังอะไร เลยรู้สึกดีกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา” ดากล่าว

และแล้วผักบุ้งชุดแรกที่เกิดจากฝีมือของ 5 สาวกลุ่ม sullamin ulumก็ถูกนำไป “บริจาคให้” โรงอาหารสำหรับใช้ทำกับข้าวเลี้ยงเด็กกำพร้า เพราะหลักคำสอนทางศาสนาสอนให้บริจาค ให้รู้จักการเป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับ

เราะห์เล่าด้วยรอยยิ้มว่า หลังจากบริจาคผักบุ้งให้โรงอาหารแล้ว หากใครอยากได้ผักก็มาถอนไปกิน เหลือจากนั้นเราถึงจะเอาไปขายในตลาดของหมู่บ้าน...วันที่เอาไปขายก็นำผักบุ้งใส่ในตะกร้าหน้ารถมอเตอร์ไซค์ไปทีละ 5 มัด หมดแล้วกลับมาเอาใหม่ สดๆ จากแปลง ขายผักบุ้งได้ 300 กว่าบาทก็เก็บมาเป็นทุนไว้ซื้อเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อไป

“เอาไปฝากร้านค้าชุมชนให้ช่วยขายด้วย วันแรกยายขายไม่หมด บอกยายว่าเอาไปกินได้เลย แต่ยายเจ้าของร้านบอกว่าไม่ได้ ผักนี้เป็นของนักเรียน ยังไงก็จะช่วยขายจนหมด” มะห์เล่าด้วยสีหน้าดีใจ

เพาะพันธุ์ผัก...เพาะพันธุ์ปัญญา

ถึงแม้จะมีเพียงอาสาสมัครกลุ่มเล็กๆ เข้ามาลงแปลงปลูกผักช่วงปิดเทอม แต่ก็มีความสำเร็จเล็กๆ เกิดขึ้นระหว่างทาง

ดาเล่าว่าน้องๆ ปรับตัวดีขึ้นทั้งเรื่องคำพูดและการแต่งกาย น้องบางคนปรับปรุงคำพูดคำจาต่อรุ่นพี่ จากเดิมที่เรียกชื่อเฉยๆ ก็จะเรียกพี่หากถามว่าวันนี้เราทำโครงการสำเร็จไหม เราคิดว่าทำสำเร็จไปแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ แต่พวกเราตั้งเป้าว่าจะทำให้ดีขึ้นไปอีก ซึ่งหลังจากเปิดเทอมมาก็จัดอบรมอาสาสมัครไปแล้ว ลงแปลงปลูกครั้งที่ 2 แล้วก็เก็บผลผลิตไปแล้วด้วย

“ส่วนครั้งต่อไปครั้งที่ 3 คงปลูกผักบุ้งเหมือนเดิม เพราะเด็กในโรงเรียนชอบเด็ดไปต้มกินกับมาม่า แล้วก็จะลองปลูกพริกอีก เพราะครั้งแรกเอาเมล็ดไปเพาะแล้วมันไม่ขึ้น เลยอยากลองดูว่าครั้งนี้จะเป็นอย่างไร” เราะห์บอกเล่าแผนงาน

อาจกล่าวได้ว่าสาวๆ กลุ่ม sullamin ulumค่อยๆ เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมๆ กับเมล็ดพันธุ์พืชที่พวกเขาบ่มเพาะ ผ่านกระบวนการคิดและการลงมือทำด้วยตนเอง




โดยเฉพาะเราะห์ที่บอกว่า เมื่อก่อนเธอเป็นคนที่หนักไม่เอาเบาไม่สู้ แต่ตอนนี้ใครให้ทำอะไรเธอทำหมด พอได้เริ่มทำอะไรเองบ้างก็รู้สึกดีกับตัวเอง เมื่อก่อนตอนเราทำอะไรไม่เป็นแล้วเห็นคนอื่นทำได้จะรู้สึกท้อ คิดว่าทำไมเราทำไม่ได้ ทำไมคนอื่นทำได้

“รู้สึกว่าตัวเองมีความอดทนมากขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ อดทนต่อความยากลำบากที่ต้องตากแดด ต้องออกแรงปลูกผัก อดทนต่อความเอาแต่ใจของตัวเอง รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น จากเมื่อก่อนอยากได้อะไรต้องได้ ถ้าไม่ได้แล้วบ้านพังแน่ๆ แต่พอได้มาทำงานร่วมกับเพื่อน ก็เรียนรู้ว่าเวลาทำงานถ้านึกถึงแต่ตัวเอง ไม่นึกถึงใจเพื่อน เพื่อนก็จะเสียความรู้สึก”

“รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำ ได้เรียนรู้ทั้งเรื่องการปลูกผักและเรื่องศาสนา ตัวเราเองบางทีก็ลืมนำหลักศาสนามาปฏิบัติ พอมาทำโครงการตรงนี้ ได้ทบทวนตัวเอง ได้ปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นด้วย ตอนนี้ถ้ากลับบ้าน ก็ได้หุงข้าวให้แม่กินบ้าง” เราะห์เล่าด้วยรอยยิ้ม

ส่วนดาบอกว่า หลังเข้ามาทำโครงการเธอรู้สึกว่าตัวเองมีความอดทนมากขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ อดทนต่อความยากลำบากที่ต้องตากแดด ต้องออกแรงปลูกผัก อดทนต่อความเอาแต่ใจของตัวเอง รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น จากเมื่อก่อนอยากได้อะไรต้องได้ ถ้าไม่ได้แล้วบ้านพังแน่ๆ แต่พอได้มาทำงานร่วมกับเพื่อน ก็เรียนรู้ว่าเวลาทำงานถ้านึกถึงแต่ตัวเอง ไม่นึกถึงใจเพื่อน เพื่อนก็จะเสียความรู้สึก

ดายังบอกอีกว่า พ่อเป็นกำลังใจสำคัญของเธอและชื่นชมสิ่งที่เธอทำเสมอเธอรู้สึกดีใจที่ไม่ทำให้พ่อผิดหวัง “พอมาแต่งตัวเรียบร้อยแบบนี้แล้วรู้สึกสบายใจ ถ้าเราแต่งตัวไม่เรียบร้อย คนในชุมชนจะมอง แล้วเขาจะดูถูกไปถึงพ่อแม่เราด้วย ไม่ได้ต่อว่าเราโดยตรง”

มะห์บอกว่า หลักการทำงานภายในทีมของพวกเธอคือไม่มีการกดดันซึ่งกันและกัน ถึงแม้จะมีงอนกันบ้าง แต่แค่หยอกล้อกันเท่านั้น สุดท้ายเมื่อไม่มีใครคุยด้วยก็กลับมาคุยกันต่อ

“เราทำงานเหนื่อยเราก็พัก พอมีแรงเราก็ทำต่อ ไม่จำเป็นต้องบังคับตัวเองให้ทำให้เสร็จในวันเดียว...มาถึงตอนนี้รู้สึกภูมิใจที่น้องๆ เชื่อฟังคำพูดของเรา ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเปลี่ยนไปจนเป็นตัวอย่างให้คนอื่นได้ ตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะต้องไปเปลี่ยนคนอื่น แค่ทำโครงการให้คนอื่นเข้ามาร่วมเท่านั้นก็พอแล้ว”

ขณะที่เราะห์กล่าวอย่างมุ่งมั่นว่า เธออยากสร้างความสำเร็จสักอย่างในชีวิต จึงคิดสานต่อโครงการต่อไปจนกว่าจะจบชั้น ม.6 ถึงแม้จะไม่ได้ทำงานร่วมกับสงขลาฟอรั่มแล้วก็ตาม เพราะคิดได้ว่าสิ่งที่เธอทำจะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับเธอได้ในอนาคต




จากพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในโรงเรียน กลับกลายเป็นแปลงปลูกผักเพื่อการเรียนรู้หลักคำสอนของศาสนาอย่างเป็นรูปธรรม จากคำสบประมาทที่กลายเป็น “แรงผลักดัน” ให้สาวๆ ทั้ง 5 คนมุ่งมั่นทำความดีต่อไป ด้วยคิดว่า “ต้นกล้าแห่งความดี” ที่พวกเธอ “บ่มเพาะ” ขึ้นจะเติบโตขึ้นพร้อมๆ กับผักที่พวกเธอและเพื่อนนักเรียนร่วมกันปลูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าพวกเธอไม่เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงตนเอง ก่อนที่จะไปสู่การเปลี่ยนแปลงผู้อื่น คล้ายกับว่าถ้าผักเติบโตงอกงามจากการดูแลเอาใจใส่ของพวกเธอมากเท่าไร การเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจของพวกเธอก็เติบโตไปในทางที่ดีมากขึ้นเท่านั้น