พัฒนาคน=พัฒนาชุมชน
อบต.แหลมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม

พัฒนาคน=พัฒนาชุมชน

อบต.แหลมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม

การทำงานแบบมีส่วนร่วมเป็น “นวัตกรรม” ของการทำงานท้องถิ่น สำหรับภาคีเครือข่ายภายในตำบล ไม่ว่าจะเป็นกับ รพ.สต. อสม. หรือโรงเรียน บุคลากรต้องคำนึงถึงการทำงานแบบองค์รวม ต้องก้าวข้ามตำแหน่งหน้าที่ของตนเอง และหน้าที่ขององค์กรไปให้ได้

“เด็กแหลมใหญ่เป็นหนึ่งในกลุ่มเด็กขึ้นชื่อของสมุทรสงคราม ขึ้นชื่อเลื่องลือว่าเป็นเด็กหัวโจก เป็นอันธพาล ถ้าพูดถึงเด็กแหลมใหญ่ ใครๆ ก็ไม่อยากยุ่ง” อมรศักดิ์ ฉัตระทิน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมใหญ่ เอ่ยขึ้น

ตำบลแหลมใหญ่ตั้งอยู่บริเวณปลายน้ำของแม่น้ำแม่กลอง ถือเป็น “ปากสมุทร” ด้วยพื้นที่ตั้งอยู่บริเวณปากอ่าว สภาพชุมชนละแวกนี้จึงเป็นบ้านสวนกึ่งทะเล ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำมาหากินอยู่กับชายฝั่ง อาชีพประมง และสวนมะพร้าวจึงเป็นสองอาชีพหลักของชาวบ้านตำบลแหลมใหญ่ ทั้ง 8 หมู่บ้าน

“เรียนรู้” จาก “ความไม่รู้”

นายก อบต.แหลมใหญ่ บอกว่า วิถีชีวิตชาวประมงที่ต้องออกเรือหาปลา ผิวหนังผ่านร้อนผ่านฝนปะทะคลื่นลมมานักต่อนัก บุคลิกลักษณะภายนอกจึงบ่งบอกวิถีชีวิตชาวเรือได้อย่างชัดเจน แต่...บุคลิกภายนอกดังกล่าว กลับกลายเป็นปมที่สร้างความแปลกแยกให้เกิดขึ้น จนกลายเป็นปัญหาของเด็กและเยาวชนที่หลายคนนึกไม่ถึง

“เด็กผู้ชายที่นี่พอโตขึ้นหน่อยก็ต้องออกเรือไปช่วยพ่อแม่ อยู่บนเรือจะให้มาพูดเสียงเบาก็ไม่ได้ กลายเป็นว่าเด็กติดนิสัยพูดจาเสียงดัง โผงผางฟังดูก้าวร้าว บุคลิกก็ดูห่ามๆ ไม่เป็นมิตร ความแกร่งหรือความแข็งแรงที่เขาต้องมีเพื่อช่วยพ่อแม่ทำงานบนเรือ พอมาใช้ชีวิตอยู่กับเด็กคนอื่นๆ กลายเป็นว่าพวกเขาดูแตกต่าง ไม่ได้รับการยอมรับ ยิ่งพอไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะยังไงก็มีงานประมงทำอยู่แล้ว เขาก็ใช้เวลาว่างไปปล่อยพลังด้านอื่น บ้างก็ไปแว้นกวนเมือง บ้างก็เป็นอันธพาลหาเรื่องชกต่อยกัน แต่สาเหตุจริงๆ เป็นเพราะเขาไม่มีพื้นที่ ไม่ได้รับโอกาสให้แสดงศักยภาพด้านดี” นายกอมรศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้จากการสำรวจของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแหลมใหญ่ (รพ.สต.แหลมใหญ่)พบว่า สถานการณ์ปัญหาเด็กและเยาวชน ตำบลแหลมใหญ่ ประกอบด้วยปัญหาเด็กขี่มอเตอร์ไซค์ผาดโผน มีพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่มีระเบียบวินัยและติดยาเสพติด ติดเกม ตั้งครรภ์ไม่พร้อม นายก อบต.อมรศักดิ์จึงร่วมมือกับบุคลากรของ อบต.ลงพื้นที่แก้ไขสถานการณ์ปัญหาเด็กและเยาวชนอย่างจริงจัง

นายก อบต. อมรศักดิ์ บอกว่า โอกาสที่ อบต.แหลมใหญ่ เข้ามาเรียนรู้จากโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2: หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว โดยเริ่มต้นจาก “ความไม่รู้” แล้ว “เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน” ทั้งคณะผู้บริหาร อบต. ทีมงานนักถักทอชุมชน เด็กเยาวชน และผู้ใหญ่ในชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงานของบุคลากรภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เข้าไปทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยเฉพาะด้านเด็กและเยาวชน และปรับทัศนคติของคนในชุมชนให้หันมาให้โอกาสเด็กและเยาวชนในการแสดงออกซึ่งศักยภาพด้านบวกของพวกเขา

นายก อบต.แหลมใหญ่ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ อบต.ไม่ได้เตรียมความพร้อมด้านงบประมาณสำหรับสนับสนุนกิจกรรมเด็กและเยาวชนอย่างเพียงพอ ทำให้การทำงานติดขัด จนบางครั้งเขาและบุคลากรคนอื่นๆ ต้องใช้งบประมาณส่วนตัวเข้าไปสนับสนุนเด็ก แต่ก็ทำอะไรได้ไม่มาก แต่หลังจากได้เข้าร่วมเรียนรู้ในหลักสูตรนักถักทอชุมชน พวกเขาได้ทำความเข้าใจร่วมกันทั้ง อบต.ว่า การพัฒนาตำบลหรือชุมชนต้องพัฒนาที่คน เด็กและเยาวชนถือเป็นรากฐานของการพัฒนา อบต.จึงปรับกระบวนการทำงานและเตรียมงบประมาณไว้รองรับกิจกรรมของนักถักทอชุมชน ทั้งด้านเด็กเยาวชน และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาชุมชนด้านอื่นๆ

ต้องเลือกคนในพื้นที่...

ความพิเศษของนักถักทอชุมชนแหลมใหญ่ คือ ส่วนผสมของบุคลากรที่ไม่ได้มีบทบาทหน้าที่โดยตรงกับงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนของ อบต. เลย ได้แก่ ก้อย – มธุรส ปรองดอง ครูประจำโรงเรียนวัดปากสมุทร ผา – บุปผา ทรัพย์สมบูรณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชี อบต.แหลมใหญ่ และ จอย – จรรยา แจ้งกระจ่าง เจ้าหน้าที่ฝ่ายงานทั่วไป อบต.แหลมใหญ่

ถึงแม้ก้อยจะไม่ใช้บุคลากรของ อบต. แต่เป็นคนในพื้นที่ - ความเป็นครูที่มีอยู่แล้วในตัว เป็นแรงผลักดันให้เธอทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลังความสามารถ แม้มีภาระงานในโรงเรียนที่ต้องทำงานตั้งแต่เช้ายันเย็นมากมายอยู่แล้วก็ตาม

ส่วนผาและจอยสมาชิกอีก 2 คนที่ก้อยเลือกเข้ามาร่วมเป็นทีมทำงาน โดยก้อยให้เหตุผลว่า ทั้ง 2 คนเป็นเจ้าหน้าที่ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใน อบต.ได้ไม่นาน จึงอยากเปิดโอกาสให้ผาและจอยได้แสดงความสามารถในการทำงานชุมชน และเพิ่มพูนทักษะความรู้ใหม่ๆ ด้านการทำงานกับเด็กและเยาวชนผ่านหลักสูตรนี้ และเนื่องจากทั้ง 2 คนเป็นคนพื้นถิ่นตำบลแหลมใหญ่ จึงคิดว่าน่าจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาตำบลแหลมใหญ่ต่อไปได้

ทั้ง 3 คนบอกว่าว่า แม้ตำแหน่งงานที่แต่ละคนรับผิดชอบอยู่จะไม่สอดคล้องกับกระบวนการทำงานในหลักสูตรนักถักทอชุมชนที่เน้นการลงพื้นที่สำรวจสภาพความเป็นจริงในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตของคนในชุมชน สถานการณ์ปัญหา และการลงไปทำกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ชุมชน อุปสรรคสำคัญในช่วง 3-4 เดือนแรกที่กลายเป็นปัญหาคือเรื่องการจัดการเวลา

“ปกติทำงานบัญชีไม่เคยต้องลงชุมชน เพราะนั่งอยู่แต่กับโต๊ะในที่ทำงาน แต่หลังจากเข้าร่วมโครงการนี้การลงชุมชนเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งที่จำเป็นต้องทำ แต่ก็เต็มใจทำเพราะเป็นบ้านของตัวเอง พอติดปัญหาเรื่องเวลา พวกเราเลยแบ่งเวลาหลังเลิกงานตอนเย็นเข้าไปสำรวจชุมชน เพราะเป็นเวลาที่เด็กๆ เลิกเรียน และผู้ปกครองกำลังว่างเว้นจากการทำงาน ถือว่าเป็นโอกาสในการเรียนรู้และฝึกทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น” ผา กล่าว

ด้านจอยเล่าว่า เธอเป็นคนโลกส่วนตัวสูง ก่อนหน้านี้ไม่เคยทำกิจกรรมอะไรในชุมชนของตัวเองเลย ทั้งที่พ่อเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ที่ทำงานชุมชนอยู่ตลอด ปกติหลังจากเสร็จงานกลับบ้านจะเก็บตัวอยู่แต่ในห้อง ไม่สุงสิงกับใครแม้แต่คนในครอบครัว

“หลักสูตรนี้ช่วยให้คิดได้ว่า เราเป็นคนชุมชนนี้แท้ๆ จะไม่ทำอะไรเพื่อชุมชนเลยหรือ...ก็เลยมุ่งมั่นที่จะทำงานอย่างเต็มที่ ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ในงานประจำของเราด้วยซ้ำ” จอยกล่าว

ในการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนแต่ละครั้ง ทีมให้ความสำคัญกับการถอดบทเรียนทั้งก่อนและหลังทำกิจกรรม เพื่อประเมินหาข้อเด่นและข้อด้อยจากการดำเนินงาน รวมถึงวัดความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเด็กเยาวชน หรือกระทั่งผู้ปกครอง และผู้ใหญ่ในชุมชน โดยก้อยย้ำว่า การถอดบทเรียนทำให้พวกเธอรู้ผลลัพธ์จากการทำงานแต่ละครั้งว่า ผู้ร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้หรือได้พัฒนาทักษะด้านใดบ้างจากการทำกิจกรรมร่วมกัน

ส่วนผาบอกว่า การทำกิจกรรมไม่ใช่ทำเสร็จแล้วก็จบไป แต่เราต้องรู้ว่าคนที่เข้าร่วมเขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงกิจกรรมในครั้งต่อไป แต่ที่ดียิ่งกว่าคือทำให้เราเปิดใจยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นและเข้าใจเขามากขึ้น

สร้าง “เครือข่าย” ช่วยผ่อนแรงการทำงาน

เมื่อเวลาเป็นข้อจำกัด ก็ต้องเร่งหาทางกำจัดข้อจำกัดด้านเวลา ทีมนักถักทอชุมชน อบต.แหลมใหญ่ ใช้วิธี แจกจ่ายงาน ให้บุคคลอื่นร่วมรับผิดชอบการทำโครงการแต่ละส่วน และ ประสานขอความร่วมมือ จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างกลไกการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในชุมชน

ก้อยบอกว่า เธอได้แนวคิดนี้มาจากหลักสูตรนักถักทอชุมชนที่พัฒนาวิธีคิดให้เธอเห็นความสำคัญขององค์ประกอบเล็กๆ ทุกส่วนในชุมชม ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน โรงพยาบาลชุมชน ผู้นำชุมชน และผู้ปกครองของเด็กและเยาวชน บทเรียนจากหลักสูตรสร้างความเชื่อมั่นและทำให้เธอไว้วางใจผู้อื่นมากขึ้น เพราะได้เรียนรู้ว่าทุกส่วนสามารถประสานบทบาทหน้าที่เพื่อทำงานขับเคลื่อนให้ชุมชนเข้มแข็ง และคลี่คลายปัญหาเด็กและเยาวชนของชุมชนได้ เพราะถ้าไม่กระจายงาน เธอต้องทำงานกันอยู่แค่ 3 คน ซึ่งไม่มีทางขับเคลื่อนและขยายขอบเขตงานออกไปในวงกว้างกว่านี้ได้แน่ๆ

องค์ประกอบทุกส่วนในชุมชน มีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบต่างกันออกไป พวกเธอเห็นโอกาสจึงใช้ความแตกต่างของแต่ละฝ่ายเข้ามาผลักดันกิจกรรมที่หลากหลายให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ผู้ใหญ่บ้าน ม.4 และจอยที่เข้ามาเป็นลูกมือ ยังคงขับเคลื่อนกิจกรรมแก๊งนมกล่องของเด็กเล็กในชุมชนอย่างต่อเนื่อง

ทีมโค้ชฟุตบอลปากสมุทรจูเนียร์ นายก อบต. และบุคลากรจาก อบต. ที่มีความถนัดด้านกีฬา เข้ามาดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบ ที่ปกติใช้เวลาว่างไปกับการเล่นเกม ขี่มอเตอร์ไซค์ และมั่วสุม

โรงเรียน เข้ามาดูแลเด็กและเยาวชนในระบบ ด้วยการสนับสนุนกิจกรรมของสภาเด็กและเยาวชนตำบล

นอกจากนี้ยังมี รพ.สต. ที่เข้ามาเป็นวิทยากรในกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นเป็นพิเศษ เพื่ออบรมพัฒนาความรู้ด้านสาธารณสุข สุขภาวะ และการใช้ชีวิตในสังคมให้แก่เด็กและเยาวชน

ใช้กิจกรรมเด็กดึงดูดความสนใจคนในชุมชน

นอกจากบทบาทนักถักทอชุมชนที่ต้องทำงานร่วมกับทีมงานคนอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนงานในภาพรวมแล้ว จอยยังรับหน้าที่ดูแลกิจกรรม “แก๊งนมกล่อง” เป็นหลัก เนื่องจากผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ผู้ริเริ่มกิจกรรมเป็นคุณพ่อของเธอ ที่เล็งเห็นว่าเด็กเล็กในชุมชนวัย 4 ขวบขึ้นไป ปั่นจักรยานด้วยความเร็วโฉบเฉี่ยวไปมา แลดูอันตราย จึงชวนเด็กๆ มาจับเด็กมารวมกลุ่มกันปั่นจักรยานไปรอบๆ ชุมชน จนมีผู้ใหญ่ใจดีในชุมชนให้การสนับสนุนนมกล่อง มาช่วยเพิ่มพลังให้เด็กๆ จึงเป็นที่มาของชื่อกลุ่มและกลายเป็นวัตถุประสงค์การรวมกลุ่มเด็กและเยาวชนในเวลาต่อมา

ปัจจุบัน การทำกิจกรรมภายใต้แก๊งนมกล่อง มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในชุมชนรู้วิธีรักษาสุขภาพอนามัยของตนเอง แล้วเชื่อมโยงไปถึงการชักชวนให้คนในชุมชนหันมาปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพ และลดมลภาวะทางอากาศ นอกจากนี้ ยังมีการสอดแทรกความรู้เรื่องกฎระเบียบจราจรและวินัยในการขับขี่ยานพาหนะให้เด็กเรียนรู้ไว้ในเบื้องต้น

“ไหนๆ เด็กๆ ก็ชอบปั่นจักรยานอยู่แล้ว ผู้ใหญ่บ้านเลยอยากชักชวนมาเรียนรู้และทำกิจกรรมด้วยกัน โดยใช้การปั่นจักรยานเป็นตัวดึงดูดความสนใจของเด็ก แล้วให้กิจกรรมของเด็กเป็นตัวดึงดูดความสนใจของคนในชุมชนอีกต่อหนึ่ง” ผาอธิบาย

เด็กๆ แก๊งนมกล่องจะนัดหมายพบปะและทำกิจกรรมร่วมกันทุกวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 16.00 น. หลังเลิกเรียน โดยกิจกรรมที่ทำร่วมกันในแต่ละครั้งเกิดขึ้นจากการโหวตของสมาชิกภายในกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น การปั่นจักรยานศึกษาชุมชน การปั่นจักรยานเก็บขยะเพื่อชุมชน การเข้าวัดทำบุญ หรือแม้แต่การเข้าไปศึกษาเรียนรู้ของดีชุมชนร่วมกับผู้ใหญ่ในงานที่ อบต. จัดขึ้น เช่น งานของดีประจำตำบล เป็นต้น เพื่อให้เด็กได้ทำความรู้จัก และความรักในภูมิปัญญาดั้งเดิมของตนเอง

จอยอธิบายว่า กิจกรรมทั้งหมดมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้เด็กๆ รักการเรียนรู้ ฝึกฝนความมีระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา และรู้จักเสียสละเพื่อส่วนร่วม ส่วนเธอก็ได้ขอคำปรึกษาและพูดคุยกับพ่อได้ตลอดเวลา กล่าวได้ว่า งานนักถักทอชุมชนช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างเธอกับครอบครัว จากคนที่มีโลกส่วนตัวสูงก็เรียนรู้ที่จะเข้าหาคนอื่น และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีมากขึ้น

กีฬาฟุตซอล เป็นการดึงความร่วมมือจากผู้ใหญ่ใจดีในชุมชน และบุคลากรของ อบต. เข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อฝึกฝนเรื่องระเบียบวินัยผ่านกีฬา ผลักดันให้เด็กและเยาวชนหันมาใช้เวลาว่างฝึกซ้อมกีฬา พร้อมส่งเสริมให้ออกไปแข่งขันฟุตซอลหาประสบการณ์นอกชุมชน หากสามารถพิสูจน์ศักยภาพของตนเองได้ ด้วยความสนใจและถนัดด้านกีฬาฟุตบอล ประกอบกับสนิทกับกลุ่มเด็กและเยาวชนหัวโจกของตำบลอยู่แล้วเป็นการส่วนตัว นายก อบต.อมรศักดิ์ จึงรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและดูแลรับชอบโครงการกีฬาฟุตซอล ด้วยตนเองภายใต้ทีม “ปากสมุทร จูเนียร์” โดยใช้หลักคิด “เข้าถึงและเข้าใจ”

“น้าต๋อย” คือ ภาพของ นายก อบต.อมรศักดิ์ ในสายตาของเด็กและเยาวชน ซึ่งนายกอมรศักดิ์ อธิบายว่า ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด เป็น นายก อบต.หรือเป็นผู้ใหญ่ธรรมดา เด็กจะเข้าหาผู้ใหญ่ก็ต่อเมื่อผู้ใหญ่เข้าหาเด็กก่อน เช่นเดียวกันถ้าผู้ใหญ่จะแก้ปัญหาเด็ก ผู้ใหญ่ต้องคุยกับเด็กให้รู้เรื่องก่อน ถึงแม้ผู้ใหญ่หลายคนจะมองเด็กบางกลุ่มว่าเป็นปัญหาสังคม แต่เด็กยังพัฒนาได้ถ้าผู้ใหญ่เข้ามาช่วยเหลือ

“ผู้ใหญ่ต้องเข้าใจว่าเด็กสมัยนี้ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ต้องตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน หนักกว่านั้นบางครอบครัวพ่อแม่ไม่ได้ประพฤติตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก เด็กจึงไม่ควรได้รับการละเลยจากสังคม ส่วนตัวผมจะสนิทกับเด็กเกเร เพราะเข้าไปชวนคุยเลยรู้ปัญหาของเขา โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย ธรรมชาติของเขาอยากเป็นฮีโร่ ถ้าไม่มีใครเข้าไปแนะนำในทางที่ดี เขาจะชอบแสดงบทโหด ด้วยความก้าวร้าว เพราะเด็กเขามีพลังเหลือเฟือ ผมเลยคิดรวมเด็กกลุ่มนี้ให้เข้ามาเล่นกีฬา มาแสดงบทพระเอกดีกว่าไปเป็นโจร”

ต้น – อภิรักษ์ ปรองดอง เจ้าหน้าที่ อบต. ที่อาสาเข้ามาร่วมผลักดันทีมนักกีฬาฟุตซอล เล่าถึงวัตถุประสงค์ของโครงการว่า เขาต้องการให้เด็กและเยาวชนมารวมกลุ่มกันเพื่อปลูกฝัง ความมีระเบียบวินัย สร้างความสามัคคีภายในกลุ่ม และสอนให้รู้จักความอ่อนน้อมถ่อมตน รวมทั้งมีสัมมาคารวะ ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยที่ถูกละเลยไป เพราะไม่ได้รับการดูแลจากคนในครอบครัว

น๊อต – โชคชัย ประสพโชค และ เจี๊ยบ – วีระ ศรีพุ่ม จึงเป็นอีก 2 แรง ที่นายก อบต.อมรศักดิ์ ออกปากขอความร่วมมือให้มาช่วยฝึกสอนเด็กๆ เนื่องจากเคยเป็นนักฟุตบอลอาชีพและมีประสบการณ์ด้านการฝึกสอนฟุตบอลมาก่อน

น๊อตบอกว่า การเล่นกีฬาทำให้เด็กและเยาวชนได้ดึงศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ และทำให้เด็กและเยาวชนเห็นถึงคุณค่าในตัวเอง

“ก่อนหน้านี้สังคมอาจจะมองไม่เห็นคุณค่าของเขา ซึ่งเราห้ามไม่ได้ แต่การเล่นกีฬาช่วยลดอคติของเด็กๆ ที่มีต่อสังคม เนื่องจากเขาเห็นคุณค่าและความสามารถของตัวเอง ซึ่งพวกเราในฐานะโค้ช นอกจากสอนเขาเรื่องทักษะการเตะฟุตบอลแล้ว เรายังปลูกฝังทักษะการใช้ชีวิตให้ด้วย ทั้งด้านการควบคุมอารมณ์ ความมีระเบียบวินัย และการช่วยเหลือกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง” น๊อตอธิบาย

ส่วนความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจนในตัวเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้เจี๊ยบ บอกว่า เด็กมีสมาธิจดจ่อกับการฝึกซ้อมมากขึ้น และพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้ดี พอเขารู้ว่าเขาทำสิ่งที่ดีได้ มีคนรู้ มีคนเห็น แทนที่เย็นๆ เขาจะไปมั่วสุมกินเหล้าสูบบุหรี่ เขาก็ชวนกันมาซ้อมฟุตบอลแทน

“ขี่มอเตอร์ไซค์ เที่ยวเล่นไปวันๆ แถวบ้าน” โก๊ะ – จิรายุทธ ศรีนวล ลูกชาวประมงตำบลแหลมใหญ่ วัย 17 ปี เอ่ยถึงสิ่งที่เขาทำเป็นปกติก่อนหน้ามาร่วมเตะฟุตบอลกับ อบต.

โก๊ะ เล่าว่า เดิมทีในชุมชนไม่มีกิจกรรมอย่างอื่นให้ทำ เมื่อมีเวลาว่างก็ไม่อยากอยู่บ้านเฉยๆ เลยออกไปขี่มอเตอร์ไซค์เล่น แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปเมื่อ อบต. จัดสรรพื้นที่ให้คนที่สนใจเข้ามาแตะฟุตบอลด้วยกัน พร้อมทั้งจัดทีมพี่เลี้ยงหรือโค้ชซึ่งเป็นรุ่นพี่ในชุมชน เข้ามาช่วยสอนทักษะกีฬาฟุตบอลให้แก่เยาวชน

“พอมีสนามตรงนี้ให้มาแตะฟุตบอล มันก็ดีกว่าไปขี่มอเตอร์ไซค์ ถ้าให้เลือกผมเองก็ชอบเตะฟุตบอลมากกว่า เตะไปๆ ผมก็รู้สึกได้ว่าร่างกายแข็งแรงขึ้น มีความกล้าแสดงออกมากขึ้น เพราะมาตรงนี้ได้เจอคนเยอะ ต้องกล้าพูด และต้องปรับตัวเข้ากับคนหมู่มากให้ได้ แล้วผมก็อยากออกไปแข่งขันกีฬากับชุมชนอื่นด้วย เพราะฉะนั้นผมต้องพยายามเต็มที่ ขยันมาซ้อมเพื่อพิสูจน์ฝีมือให้พี่ๆ เห็น” โก๊ะ กล่าวอย่างตรงไปตรงมา

เช่นเดียวกับ นนท์ – อานนท์ นิ่มนวล ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ ปากสมุทรจูเนียร์ ด้วยความรู้สึกสนุก นนท์บอกว่า เดิมทีเขาขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวเล่นไปวันๆ ซึ่งก็ไม่สนุกเท่ามาเตะฟุตบอล มาตรงนี้พวกเขาได้เล่นได้ทำกิจกรรมร่วมกันหลายๆ คนมันสนุกกว่า

ผนึกกำลังสภาเด็ก-สภานักเรียนร่วมทำงานเพื่อชุมชน

สำหรับสภาเด็กและเยาวชนตำบลแหลมใหญ่ นอกจากก้อยซึ่งเป็นครูที่ปรึกษา และเป็นผู้รับผิดชอบการทำกิจกรรมของสภาเด็กฯ อยู่ก่อนแล้ว ก้อยยังดึงวาสนา จันทร์เมฆา นักพัฒนาชุมชน อบต.แหลมใหญ่ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งงาน ให้มาร่วมดูแลกลุ่มสภาเด็กฯ ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารโรงเรียนวัดปากสมุทรเป็นอย่างดี ด้วยการอนุญาตให้แกนนำสภาเด็กฯ ทำงานร่วมกับคณะกรรมนักเรียนโรงเรียน เพื่อทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนได้

อ่ำ – ศุภโชค สาครขำ ประธานสภาเด็กและเยาวชนตำบลแหลมใหญ่ และ เมย์ – ฐานมาศ คชรัตน์ ประธานนักเรียนโรงเรียนวัดปากสมุทร และสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนตำบลแหลมใหญ่ เล่าถึงแนวทางการทำงานว่า ความร่วมมือของสภาเด็กฯ กับสภานักเรียนโรงเรียน ทำให้นักเรียนได้มีโอกาสเข้าไปทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน และทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ทั้งกับโรงเรียนและชุมชนไปพร้อมกันได้ เช่น กิจกรรมเก็บขยะในโรงเรียนและในชุมชน, กิจกรรมปล่อยปูปลาคืนสู่ธรรมชาติ, กิจกรรมการก่อเจดีย์ทรายในวันสำคัญทางศาสนา และโครงงานทำปูนซีเมนต์จากหอยแมลงภู่ เป็นต้น

“พอคิดขึ้นมาได้ว่าอยากทำกิจกรรมอะไร เราก็จะมาวางแผนกันว่าจะดึงนักเรียนในโรงเรียนมาทำกิจกรรมร่วมกันในลักษณะไหน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบตามช่วงชั้นที่เรียนบ้าง ตามความถนัดบ้าง อย่างโครงงานทำปูนซีเมนต์จากหอยแมลงภู่ เราก็ให้น้องๆ ช่วงชั้นประถมศึกษามาช่วยคัดเปลือกหอย ส่วนช่วงชั้นมัธยมศึกษาก็ออกแรงทำงานที่หนักกว่า หลักๆ เลยก็คือ เราคิดกิจกรรม แล้วเขียนแผนงานมาเสนอ อบต. ซึ่งพี่ๆ จะให้โอกาสพวกเราคิดอย่างเต็มที่อยู่แล้ว” อ่ำอธิบาย

เมย์บอกว่า โครงการปูนซีเมนต์จากหอยแมลงภู่เป็นตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจนถึงประโยชน์ของการทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาโรงเรียนและชุมชนที่ช่วยพัฒนาทักษะชีวิต ทั้งในด้านการทำงานและความคิด นอกจากนี้ยังช่วยปลูกฝังสำนึกรักบ้านเกิดและความมีจิตอาสา ด้วยการเสียสละเวลาของตัวเองมาทำกิจกรรมเพื่อผู้อื่น

“พวกเราจะจัดแบ่งเวรกันไปเก็บเปลือกหอยในชุมชน โดยให้น้องๆ แต่ละช่วงชั้นเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพื่อฝึกฝนทักษะการทำงานและความรับผิดชอบ ส่วนประโยชน์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนต่อชุมชน คือ ช่วยลดปริมาณเปลือกหอยซึ่งเป็นขยะในชุมชน ลดมลภาวะทางกลิ่นจากซากเปลือกหอยที่กองทับถมกัน ทำให้ไม่เกิดน้ำเสียไหลลงสู่แม่น้ำ และช่วยสร้างรายได้ให้นักเรียนที่ร่วมกิจกรรมและสะสมเข้าช่วยเหลือกิจกรรมของโรงเรียนได้ด้วย”

นอกจากนี้ เมย์ยังสะท้อนว่า การทำงานร่วมกันเป็นทีมที่ต้องมีการวางแผนงาน ทำให้เธอเกิดการพัฒนาด้านความคิด ฝึกฝนให้เกิดภาวะความเป็นผู้นำ ทั้งในเรื่องความรับผิดชอบ การกล้าแสดงความคิดเห็นของตัวเองและในขณะเดียวกันต้องยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย

ผลของการสานพลัง...สร้างเครือข่าย

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การกระจายงานของนักถักทอชุมชน อบต.แหลมใหญ่ ช่วยทำให้กลไกการทำงานด้านเด็กและเยาวชน รวมทั้งกลไกการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่าง อปท. ชุมชน และโรงเรียน ขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่อง และเดินไปในทิศทางเดียวกัน เพราะมีการสร้างความเข้าใจร่วมกัน ทั้งยังมีนักถักทอชุมชนเข้าไปดูแลติดตามผลอยู่เสมอ

ผลจากการสานพลังสร้างเครือข่ายเช่นนี้ นอกจากการสร้างความเปลี่ยนแปลงภายนอกให้เกิดขึ้นกับผู้อื่นและชุมชนที่เป็นบ้านเกิดของตนเองแล้ว วิธีคิดและวิธีทำงานตามแบบฉบับนักถักทอชุมชนยังสร้างความเปลี่ยนแปลงภายในให้เกิดขึ้นกับตัวนักถักทอชุมชนด้วยเช่นกัน

จอยบอกสั้นๆ ว่า หลักสูตรนักถักทอชุมชนทำให้เธอ “คิด” มากขึ้น ก่อนหน้านี้ทำอะไรพ่อแม่คิดให้ตลอด แทบไม่ต้องคิดทำอะไรด้วยตัวเองเลย เพราะเป็นลูกคนเดียวที่พ่อแม่ตามใจ กลับจากทำงานก็เก็บตัวอยู่กับโลกโซเชียลในห้อง แต่งานนักถักทอชุมชนช่วยฝึกฝนวิธีการคิด เพราะต้องวางแผนการทำงาน ทำให้คิดเยอะและลึกมากขึ้น เมื่อได้คิด ก็สื่อสารออกมาด้วยการพูดได้ดีขึ้น หลายคนบอกว่าเธอมีความกล้าแสดงออกเพิ่มขึ้นมาก

ด้านผาบอกว่า งานนักถักทอชุมชนทำให้เธอเห็นคุณค่าและค้นพบศักยภาพด้านอื่นๆ ของตัวเอง

“จากสาวบัญชีนั่งหน้าโต๊ะทำงานอย่างเดียว ตอนนี้ต้องเข้ามาสวมบทบาททำงาน 2 อย่างในเวลาเดียวกัน ตอนแรกก็กล้าๆ กลัวๆ ไม่รู้จะทำได้หรือเปล่า พอได้ลงมือทำก็ได้พิสูจน์ว่าตัวเองทำได้ ได้เห็นศักยภาพด้านอื่นๆ ของตัวเองที่มีคุณค่าต่อผู้อื่นด้วย”

ส่วนก้อยย้ำว่า จากเดิมที่ต่างคนต่างทำงานตามหน้าที่ แต่หลักสูตรนักถักทอชุมชน “หนุนเสริม” ให้เกิด การทำงานต่างหน้าที่อย่างเข้าใจ ด้วยแนวคิดเรื่องการทำงานแบบมีส่วนร่วม ทำให้งานขับเคลื่อนไปได้ด้วยความสามัคคี มากกว่าการทำงานแบบตัวใครตัวมันอย่างที่ผ่านมา นอกจากนี้การทำงานกับคนหมู่มากยังทำให้เธอได้ฝึกทักษะการทำงานอย่างมีวิจารณญาณ โดยเฉพาะการตัดสินใจที่ต้องมีความละเอียดรอบคอบมากขึ้น

“ยิ่งทำงานก็ยิ่งเรียนรู้ว่าเราไม่ควรตัดสินใครจากเปลือกนอก ทุกคนมีศักยภาพในตัวเอง ไม่เว้นแม้แต่เด็กและเยาวชน หรือตัวเราเอง อยู่ที่จะมีพื้นที่เหมาะสมให้เราได้แสดงความสามารถออกมาหรือไม่ ดังนั้นในการทำงาน เราก็ต้องเข้าใจธรรมชาติของคนแต่ละเพศ แต่ละวัย แล้วจัดกิจกรรมให้เหมาะสมตามความสนใจของเขา”

ขณะที่ นายก อบต.แหลมใหญ่ บอกว่า การทำงานแบบมีส่วนร่วมเป็น “นวัตกรรม” ของการทำงานท้องถิ่น สำหรับเครือข่ายภายในตำบล ไม่ว่าจะเป็นกับ รพ.สต. อสม. หรือโรงเรียน บุคลากรต้องคำนึงถึงการทำงานแบบองค์รวม ต้องก้าวข้ามตำแหน่งหน้าที่ของตนเอง และหน้าที่ขององค์กรไปให้ได้

“ก่อนนี้บางหน่วยงานถ้าเรามอบหมายให้ทำงานนอกเหนือประเด็นที่รับผิดชอบอยู่ เขาจะไม่อยากทำเลย เพราะไม่ใช่หน้าที่ เราก็ต้องมาปรับให้เขาคิดเพื่อส่วนรวม คิดถึงคนอื่นบ้าง ส่วนคนในชุมชนก็ต้องเข้าไปปรับวิธีคิดให้เข้าใจว่า ปัญหาบางอย่างเขาสามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและนิสัยของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องรอให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปดูแลทุกอย่าง วิธีคิดแบบนี้เป็นการทำงานบนแนวทางการพัฒนาร่วมกัน”

การพัฒนาชุมชนต้องมีเป้าหมายการทำงานอย่างชัดเจน เพราะเป้าหมายจะนำมาสู่การคิดหาวิธีการเพื่อเดินทางไปให้ถึงปลายทางที่ต้องการด้วยการลงมือทำบางอย่าง

นายก อบต.แหลมใหญ่ ทิ้งท้ายว่า การพูดให้ใครสักคนลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อผู้อื่น ไม่ใช่เรื่อง

ง่าย แต่การทำงานเพื่อผู้อื่นมีคุณค่าบางอย่างที่จะทำให้คนทำงานเกิดพลังและความสุขระหว่างการทำงาน

“คนสำราญ งานสำเร็จ ผมบอกแบบนี้เสมอ เพราะคนทำงานต้องมีความสุขกับการทำงาน งานถึงจะสำเร็จได้ตามที่วางเป้าหมายไว้ ยิ่งงานที่ทำเป็นการทำความดี ยิ่งสร้างความสุขโดยไม่ต้องไปหาพยานที่ไหน เพราะเมื่อเราทำความดี ตัวเราสามารถซึมซับความดีและมีความสุขได้ทันที”

แม้ที่มาของนักถักทอชุมชน อบต.แหลมใหญ่ จะมีจุดเริ่มต้นจากการทำตามคำสั่ง และทำไปเพราะหน้าที่ แต่การลงมือทำงานด้วยการเข้าไปสัมผัสคลุกคลีกับผู้คนในพื้นที่ช่วยพัฒนากระบวนการคิด จนสามารถปรับทัศนคติและวิธีคิด ให้พวกเธอเข้าใจบทบาทหน้าที่ที่มีคุณค่าของตนเองได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามมาจึงมีผลลัพธ์ไปในทิศทางที่น่าพอใจ โดยเฉพาะสถานการณ์ปัญหาของเด็กและเยาวชนที่เปลี่ยนพฤติกรรมมาให้ความสนใจทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น

นักถักทอชุมชน คือ ผู้เชื่อมร้อยให้เบ้าหลอมทุกส่วนในชุมชนมีโอกาสทำงานประสานกัน เพื่อพัฒนาให้ชุมชนเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็น เด็กและเยาวชน ครอบครัว โรงเรียน ผู้ใหญ่ในชุมชน บุคลากรในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอง รวมถึงการประสานความร่วมมือกับเครือข่ายภายนอกที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น เมื่อทุกฝ่ายร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับผิดชอบ ความสำเร็จก็อยู่ตรงหน้า ขอแค่ลงมือทำ แล้วก้าวเดินไปในทิศทางและจังหวะเดียวกันก็เท่านั้น

///////////////////////////////////////////