เมื่อ “หัวใจ” ของการทำงานเปลี่ยน...
อบต.เพี้ยราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์

องค์การบริหารส่วนตำบลเพี้ยราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ คือชุมชนที่มีต้นทุนทางสังคมสูง เนื่องจากมีการรวมกลุ่มด้านอาชีพและการเกษตรหลายกลุ่ม แต่ที่โดดเด่นคือ กลุ่มหม่อนไหมที่ได้รับรางวัลหมู่บ้านปลูกหม่อนเลี้ยงไหมตัวอย่างระดับประเทศ ผ้าไหมของที่นี่จึงการันตีด้วยตรานกยูงทองจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

นอกจากกลุ่มผู้ใหญ่จะเข้มแข็งแล้ว เยาวชนของที่นี่ก็รวมตัวกันทำกิจกรรมด้วยเช่นกัน แต่เป็นการรวมกลุ่มกันตามความสนใจ ไม่มีการประสานเชื่อมโยงระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก ส่งผลให้การทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนไม่ไปในทิศทางเดียวกัน กระทั่งทาง อบต. ตัดสินใจส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมอบรมในโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ด้วยหวังว่าจะเกิด “กลไก” นำพาชุมชนไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นโดยผ่านการพัฒนาเด็กและเยาวชน

เห็นปัญหา...หาทางแก้

กว่า 10 ปี ที่สุทัศน์ ชิดชอบ นายก อบต. เพี้ยรามทำงานคลุกคลีกับเยาวชน สุทัศน์บอกว่า ที่ผ่านมาเวลามีใครมาเสนอโครงการเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน เขามักจะรับฟัง และสนับสนุน เพราะอยากเห็นเยาวชนในชุมชนเป็นคนดี เนื่องจากเขาเองเคยเป็นเด็กเกเรมาก่อน หนักถึงขั้นโดนจับติดคุกเลยทีเดียว โชคดีที่มีพี่ชายคอยช่วยเหลือ เขาจึงหันกลับมาตั้งใจเรียนอีกครั้ง แต่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะกลับมาสู่เส้นทางที่ถูกต้องได้ หลายคนเกเรแล้วพลัดเดินบนเส้นทางผิดไปทั้งชีวิต

นายกสุทัศน์บอกว่า ปัญหาเด็กและเยาวชนที่เป็นข้อกังวลของเขาขณะนี้คือ ปัญหายาเสพติด เมื่อก่อนคิดว่าคงมาไม่ถึงเพี้ยรามแน่ แต่ปัจจุบันเริ่มมีเข้ามา เพราะคนในชุมชนที่ออกไปทำงานนอกพื้นที่ แล้วนำยาเสพติดกลับเข้ามาชักชวนเด็กในหมู่บ้านเสพ นอกจากนั้นยังมีเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เด็กแค่ ป.6 เริ่มกินเหล้า สูบบุหรี่ และอีกปัญหาที่ต้องเริ่มหาทางป้องกันคือ การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ทางแก้ที่อบต. ทำมาตลอดคือ จัดอบรมเพื่อชี้ให้เด็กเห็นโทษ หรือจัดกิจกรรมเพื่อไม่ให้เด็กมีเวลาว่างไปมั่วสุมอบายมุข เช่น แข่งกีฬา อุปสมบทสามเณรภาคฤดูร้อน หรือแม้กระทั่งลงพื้นที่บอกกล่าวร้านขายเหล้าให้งดจำหน่ายแก่เยาวชน ทำป้ายรณรงค์ให้ขายตามเวลาที่กฎหมายกำหนด พูดคุยกับวงประชุมผู้ใหญ่บ้านเพื่อเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายร่วมกันเฝ้าระวังยาเสพติด เน้น “ป้องกันและปรามปราบ” ซึ่งยอมรับว่า ไม่ได้ผลเท่าที่ควร และเริ่มมองว่าแค่ความทุ่มเทของเขายังไม่เพียงพอ จึงอยากสร้างทีมที่จะมาช่วยแก้ปัญหา

จนกระทั่งวรนุช มีโชค รองปลัด อบต. และ ศิริเพ็ญ ดาบทอง หัวหน้าสำนักงานปลัด ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนที่ เทศบาลตำบลเมืองแก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ตัวอย่างของหลักสูตรปีที่ 1 จึงนำมาบอกเล่าแก่นายก อบต. และร.ต.ท.สิทธิชัย คงใจดี ปลัด อบต.

เมื่อเห็นหนทาง นายกสุทัศน์ตัดสินใจให้เจ้าหน้าที่ที่มีบทบาทการทำงานสัมพันธ์กับการพัฒนาเด็ก เยาวชน หรือชุมชนเข้ารับการอบรม 5 คน ได้แก่ หน่อย-วรนุช มีโชค รองปลัด เจน-ศิริเพ็ญ ดาบทอง หัวหน้าสำนักปลัด จ๊ะเอ๋- ทักษพร ชาญเจริญ นักวิชาการศึกษา พุธ-สุภัทรา สุรินต๊ะ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน และแต๊บ-พรปวีณ์ สังข์พิทักษ์กุล นักพัฒนาชุมชน ที่ให้เจ้าหน้าที่เข้าอบรมถึง 5 คน เพราะเกรงว่าถ้าส่งน้อยจะทำงานไม่ได้ผล เรียกง่ายๆ ว่า ส่งไปเผื่อนั่นเอง แต่ก็บอกทั้ง 5 คนไว้ล่วงหน้าว่าหากไม่ดีหรือไม่ไหว ก็ถอนตัวได้ทันที

การพัฒนาเด็กของ อบต.ต้องเปลี่ยนแปลง

หลังได้รับมอบหมายภารกิจ ทุกคนรู้สึกแตกต่างกันไป จ๊ะเอ๋ออกตัวว่าเธอไปตามคำสั่ง “ตอนแรกยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องไป แต่ก็ต้องไป งงเหมือนกันว่าการอบรมจะเป็นรูปแบบไหน แล้วนำมาใช้กับชุมชนได้หรือไม่ รู้แค่อบรมแล้วต้องพาเด็กในชุมชนทำกิจกรรมเท่านั้น”

ส่วนแต๊บบอกว่า เมื่อถูกสั่งให้ไปก็ไป ไม่ได้ต่อต้าน มองว่าเป็นแค่อีกหน้าที่หนึ่งที่เพิ่มเข้ามา

แม้ไม่แน่ใจนักว่าการอบรมจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่ทุกคนรู้สึกเหมือนกันคือ อบต. เพี้ยราม ต้องการ “ความเปลี่ยนแปลง” เรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชน

“เมื่อก่อนเวลามีกิจกรรม เช่น รำ เราขอความร่วมมือผ่านทางโรงเรียนว่า ต้องการเด็กมารำ ทางโรงเรียนจะจัดมาให้ พอจบกิจกรรมก็แยกย้ายกันกลับ เห็นเด็กมีความสามารถก็ชื่นชมอยู่ในใจ แต่ก็เกิดคำถามในใจว่าทำไมผู้ใหญ่ในตำบลเราจึงไม่เห็นความสำคัญแล้วส่งเสริมให้เด็กได้พัฒนาตัวเองต่อ ไม่ใช่แค่มีงานก็นำเขามาใช้”หน่อยเล่าความรู้สึก

ด้านพุธบอกว่า “เคยนึกเหมือนกันว่า อบต. น่าจะทำอะไรให้จริงจัง เราตั้งงบประมาณงานอบรมเกี่ยวกับเด็ก เช่น โครงการท้องก่อนวัยอันควร ตอนอบรมเด็กตอบได้หมดว่าเกิดเพราะอะไร เขารู้ดีกว่าเราอีก แต่พออบรมเสร็จก็ไม่มีอะไรต่อ ปัญหาก็ไม่ลดลง ดูเหมือนเพิ่มขึ้นอีก แสดงว่าการอบรมไม่ให้ประโยชน์อะไร”

จัดทัพจัดทีม...ตามความถนัด

และแล้วห้องเรียนนักถักทอชุมชนก็เริ่มต้นขึ้น เนื้อหาที่ได้เรียนรู้เน้นไปที่ หลักการทำงานเป็นทีม การจัดทำโครงการ การสร้างกลไกเพื่อขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชน ควบคู่ไปกับการลงมือปฏิบัติจริงในชุมชน เมื่อมีวิชาก็ถึงเวลาสร้าง “กลไก” การพัฒนาภายในชุมชนให้เกิดขึ้นจริง งานแรกที่ทีมทำคือ ประสานโรงเรียนในพื้นที่ 5 แห่ง คัดสรรเด็กที่ชอบทำกิจกรรม หรือมีความสามารถมาเข้าร่วมโรงเรียนละ 10 คน ร่วมพูดคุยเพื่อค้นหากิจกรรมที่เด็กอยากทำ จากนั้นทีมนำข้อมูลดังกล่าวมาจัดทำเป็นโครงการ ซึ่งการทำงานของทีมจะมีรูปแบบเฉพาะ เนื่องจากภาระงานประจำและชีวิตส่วนตัวของทั้ง 5 คนที่มีจังหวะไม่ตรงกัน จึงเคลื่อนงานด้วยการใช้ไลน์กลุ่มเป็นสื่อกลางในการพูดคุย และแบ่งบทบาทหน้าที่ตามความถนัด

เจนและหน่อยซึ่งทำงานสายบริหาร มีความถนัดในการวางแผนงาน และคิดรูปแบบกิจกรรม เมื่อวางตารางเรียบร้อย พวกเธอจะส่งเข้า “ไลน์กลุ่ม” ให้ทุกคนร่วมออกความคิดเห็นและปรับเปลี่ยน ขณะที่พุธเชี่ยวชาญงานด้านเอกสาร จึงรับหน้าที่ออกหนังสือเชิญประชุม ทำกำหนดการ ส่วนจ๊ะเอ๋และแต๊บแบ่งกันทำหน้าที่พิธีกร สันทนาการ และนำกิจกรรม

สาวๆ ยอมรับว่าการทำงานอย่างนี้มีจุดอ่อนคือ เวลาทำงานจริงมักเจอปัญหามากมาย แต่ด้วย “ทีมเวิร์ค” ทำให้ทุกคนพยายามแก้ไขปัญหา ไม่มีใครเกี่ยงงาน ไม่มีใครโทษใคร เพราะต่างรู้ดีว่าแต่ละคนมีเวลาว่างน้อยเกินกว่าจะมาประชุมร่วมกันได้ ช่วยอะไรได้ก็ต้องช่วย เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด เช่นเดียวกับการนัดพบเด็กๆ เพื่อติดตามความคืบหน้า และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโครงการ พวกเธอจะจัดสรรเวลาว่างไปพบเด็กๆ อย่างน้อยหนึ่งคนก็ยังดี

เรียนรู้...เพื่อสืบสาน

ในที่สุดความพยายามของพวกเธอก็บรรลุผล เมื่อเกิดกลุ่ม “แกนนำเยาวชนตำบลเพี้ยราม” ที่ทำกิจกรรมนาฏศิลป์เรือมอันเร ซึ่งเป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวอีสานใต้ ของโรงเรียนพญารามวิทยา และได้ไปร่วมแสดงในงานประกวดแข่งขันหมู่บ้านหม่อนไหมตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับภาค จนถึงประเทศ โยธกา บุญมากประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมพญาราม ที่วาดหวังให้ หมู่บ้านพญารามรักษาประเพณีนี้ต่อไป จึงเข้ามาเป็นผู้ใหญ่ใจดีสนับสนุนการทำงานของนักถักทอชุมชน ด้วยการให้ความรู้เด็กๆ เรื่องหม่อนไหม และชักชวนมาเป็นทายาทหม่อนไหม

เรากำลังจัดทำโครงการหนึ่งชื่อ “ทายาทหม่อนไหม” หวังให้เด็กเหล่านี้เป็นต้นแบบแก่เด็กรุ่นหลังที่สนใจ เด็กจึงเป็นหัวใจหลักของการทำกลุ่มหม่อนไหม เพราะถ้าไม่มีเด็กมารับช่วงต่อ อนาคตการทำผ้าไหมแบบนี้คงสูญหายไป”

สิน-ทรัพย์สิน จันทะมา ประธานกลุ่มแกนนำเยาวชนตำบลเพี้ยรามเล่าถึงครั้งแรกที่เขาเข้ามาร่วมโครงการกับทีมนักถักทอชุมชนว่า ตอนแรกครูบอกให้ไปอบรมกับ อบต. เขาไม่รู้ว่าไปอบรมอะไร แต่ก็ไป เพราะคิดว่างาน ของ อบต. น่าจะเป็นเรื่องดี หลังจากนั้นสินได้พูดคุยกับพี่ๆ นักถักทอชุมชนว่า เขาและเพื่อนชอบดนตรีพื้นบ้าน “กันตรึม” และการแสดงรำประจำถิ่น “เรือมอันเร” จึงอยากถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้

เมื่อความต้องการของพี่และน้องตรงกัน “กิจกรรมรำสืบสานตำนานพื้นบ้านไหมพญาราม” ที่นำน้องๆ ชั้นประถมศึกษามาหัดรำกับกลุ่มแกนนำเยาวชนจึงเกิดขึ้น

“เราอยากให้ทุกคนได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมนี้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะการเข้าสาก[1] ที่ต้องใช้สมาธิในการเข้า ฟังจังหวะ และเนื้อเพลงให้ดี ถ้าเข้าผิดจังหวะก็จะโดนหนีบขาจนเจ็บได้“ สินอธิบายความสำคัญของการต้องรักษาวัฒนธรรมดังกล่าว

ด้านแจ็ค-สุทธิราชย์ ยืนยง เสริมต่อว่า “การแสดงนี้เป็นของเก่า ถ้าหายไปอาจมีของใหม่เข้ามาแทนที่ แต่ก็ต้องผิดเพี้ยนไปจากสมัยปู่ย่าตายาย คงน่าเสียดายหากต้องเสียสิ่งที่บรรพบุรุษให้ไว้”

“มากกว่าการเรียนให้รู้ คือต้องมีรายได้เลี้ยงตัวด้วย” คือความคิดของเด็กๆ แกนนำ แรกสุดพวกเขานำความสามารถด้านนาฏศิลป์ไปรับจ้างแสดงตามงานต่างๆ ต่อมาเมื่อได้ไปเข้าค่าย “ยุววิทยากร”ของสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.)กับเพื่อนจาก อบต. อื่น เห็นว่าการทำน้ำยาล้างจานน่าสนใจ เพราะทุกครัวเรือนต้องใช้ และเป็นช่องทางสร้างรายได้ เวลาไม่มีงานแสดงติดต่อเข้ามา

นอกจากคิดว่าอยากทำกิจกรรมอะไรแล้ว กลุ่มเยาวชนยังคิดถึงการแบ่งหน้าที่ภายในทีมด้วยเช่นกัน

“เวลาทำงานเป็นทีม เราต้องแบ่งงานกัน เพื่อให้การทำงานเป็นระบบ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งการแบ่งหน้าที่ก็มาจากการประชุมว่าใครอยากเป็นอะไร แล้วลองทำดูก่อน ถ้าไม่ได้ครั้งหน้าปรับเปลี่ยนกันใหม่ แต่ตอนนี้ยังไม่มีเปลี่ยน ทุกคนทำได้หมด” สินเล่า

ด้วยเหตุนี้ทุกตำแหน่งในทีมจึงมาจากความสมัครใจของเจ้าตัว แจ็ครับตำแหน่งฝ่ายบุคคล มีหน้าที่ลงทะเบียนนัดน้องเข้าประชุม รวมทั้งกำหนดเวลาการเข้าร่วมกิจกรรมแต่ละกิจกรรม เขาบอกว่าต้องการทำหน้าที่นี้ เพราะรู้จักคนเยอะ ด้านบิว-จันจิรา สายยศ เป็นเลขาฯ และฝ่ายสันทนาการ เพราะคิดว่าน่าสนุก แม้ช่วงแรกจะยากที่ต้องสรุปงาน แต่พอฝึกก็ทำได้คล่อง ส่วนตำแหน่งประธานของสินมาจากการเลือกของเพื่อนๆ ที่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เพราะสินกล้าแสดงออก กล้าพูด กล้าคิด

แต่กว่าจะมาเป็นกลุ่มแกนนำที่รู้หน้าที่ มีเป้าหมายเช่นนี้พวกเขาก็เคยเป็นเด็กที่พี่ๆ นักถักทอชุมชนต้องคอยบอกให้ทำ “ตอนแรกที่มาให้ช่วยคิด หรือถามอะไร เขาไม่ตอบโต้ ไม่อยากคิด ไม่อยากทำ อยากนั่งฟังเฉยๆ”

เมื่อเจอเด็กนิ่งใส่ ไม่สนใจอยากร่วมกิจกรรม สาวๆ ทั้ง 5 หาเหตุว่าเพราะอะไร และสรุปความได้ว่าคงเป็นความไม่คุ้นเคยกัน พวกเธอจึงเปลี่ยนแปลงตัวใหม่ตีเนียนเหมือนเพื่อนสนิทเด็กๆ

“เราให้ทุกคนจับไมค์แสดงความคิดเห็น พูดอะไรก็ได้ตามที่คิด เราจะสร้างเขาเป็นแกนนำ ก็ต้องกระตุ้นให้เขากล้าพูด เขาพูดผิดก็ไม่ขัด เพราะเคยขัดหนหนึ่ง เขานิ่งเลย ปล่อยให้เขาเป็นธรรมชาติดีกว่า แล้วค่อยๆ สอนเขา อย่างหนึ่งคือดูตัวอย่างจากวิทยากร สรส.ว่าเวลาอยู่กับเด็กต้องทำอย่างไร น้องเล่นเราก็เล่น ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ใหญ่สอนเขาตลอดเวลา” สาวๆ นักถักทอชุมชนอธิบายวิธีการเข้าหาเด็ก

เมื่อปรับตัวปรับใจเข้าหากัน รูปแบบการทำงานของทั้ง 2 ฝ่ายจึงเป็นแบบ “เด็กคิดผู้ใหญ่หนุน” ซึ่ง “การหนุน” ของพวกเธอมีหลายรูปแบบตั้งแต่การให้คำแนะนำ กำลังใจ จัดหาอุปกรณ์ทำงาน หาขนมนมเนยมาเลี้ยง แม้กระทั่งการระดมทุนส่วนตัวใช้เป็นทุนทำน้ำยาล้างจานชุดแรก

“พวกเรานำเงินส่วนตัวมาให้เด็กๆ เป็นทุนทำน้ำยาล้างจาน แล้วบอกเขาว่าขายได้กำไรต้องคืน เป็นเงินให้ยืมไม่ใช่ให้เลย ส่วนตัวไม่ได้ต้องการคืนหรอก แค่อยากให้เขารู้ว่าต้นทุนไม่ใช่สิ่งที่จะได้มาเปล่าๆ พวกเขาต้องตั้งใจทำ เพื่อให้ได้ทุนคืน ซึ่งพอเขาลงมือขาย แล้วได้กำไรก็ดีใจกันมาก พอไปแสดงกิจกรรมวันแม่ แล้วได้เงินรางวัลมา เขาพูดทันทีว่ามีเงินทุนอีกก้อนไว้ทำน้ำยาล้างจานแล้ว ตรงนี้เราเห็นความตั้งใจจริงของเขา”


เมื่อเด็กเปลี่ยน...ผู้ใหญ่เปลี่ยน

1 ปี ในการทำงานของทีมนักถักทอชุมชน อบต.เพี้ยราม เริ่มเห็นแสงแห่งความสำเร็จ เมื่อผู้บริหารเห็นความสำคัญเพิ่มงบประมาณด้านเด็กและเยาวชนขึ้นเป็น 3 เท่า แต่ที่ดีกว่านั้นคือ เด็กๆ พลิกบทบาทมาเป็นคนกระตุ้นนักถักทอชุมชนแทนว่า เมื่อไรพี่ๆ จะพร้อมทำกิจกรรม เพราะพวกเขาพร้อมแล้ว...

“ตอนนี้เราไม่ต้องบอกให้เขาคิดอีกแล้ว มีแต่เขามาบอกเราว่าอยากทำนั่น อยากทำนี่ บางทีมีบ่นเราด้วยนาทำไมไม่รับโทรศัพท์ เด็กๆ ไฟแรงมาก เราก็เหนื่อยน้อยลง แค่ตั้งรับอย่างเดียว รอสนับสนุนว่าเขาอยากได้อะไรเพิ่มเติม”

เห็นเด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ทำให้พวกเธอเข้าใจว่า จริงๆ แล้ว เด็กมีพลังอยากทำกิจกรรมดีๆ อยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่มีใครเปิดโอกาสให้เขา กระทั่งพวกเธอเข้ามาขับเคลื่อนงาน ชักชวนผู้ใหญ่ใจดีมาร่วม ผลจึงเกิดที่ตัวเด็กๆ ที่พร้อมจะขับเคลื่อนงานด้วยตนเองบนฐานทุนที่มีอยู่ เพราะหากมีอาชีพ มีรายได้ พวกเขาจะสามารถเดินตามฝันที่ต้องการรักษาวัฒนธรรมนาฏศิลป์พื้นบ้านไว้ได้

นอกจากจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในตัวเด็กและเยาวชนแล้ว ทีมนักถักทอชุมชนเองก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ “หัวใจ” ของการทำงานด้านเด็กและเยาวชนที่เปลี่ยนทัศนคติของพวกเธอไปตลอดกาล

ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า จากเดิมที่ทำโครงการจบก็จบกันไป กลับกลายมาเป็นต้องติดตาม และเตรียมพร้อมที่จะทำงานกับเด็กตลอดเวลา แม้งานส่วนตัวจะยุ่งแค่ไหน ต้องมีคนหนึ่งไปดูเด็กทำกิจกรรม เพื่อช่วยแนะนำ ไม่มีคำว่า “ไปไม่ได้” เพราะไม่อยากให้เด็กๆ รู้สึกโดนทิ้ง อย่างไรก็ต้องไปเป็นกำลังใจให้เสมอ แม้แต่การเข้าค่ายกับ สรส. ทีมจะแบ่งกันไปดูด้วยความเป็นห่วง และอยากเห็นว่าเขาทำแล้วมีความสุขไหม ทั้งหมดที่ทำมาจากความรู้สึก ไม่ใช่ทำด้วยภาระหน้าที่เหมือนที่ผ่านมา

เมื่อ “หัวใจ” ในการทำงานเปลี่ยน

วันนี้การอบรมสิ้นสุดลงแล้ว แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือ “หัวใจ” ของการเปลี่ยนแปลงเรื่องการทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชนของสาวๆ นักถักทอชุมชน อบต. เพี้ยราม ที่ดูเหมือนแต่ละคนยังอยากเดินหน้าทำงานต่อ เพราะมองว่าเป็นเรื่องสำคัญและละทิ้งไม่ได้

หน่อยเล่าอย่างตรงไปตรงมาว่า ตั้งแต่เข้าอบรมหลักสูตรนี้ เธอยุ่งมาก ไหนจะงานประจำไหนจะงานนักถักทอชุมชน แต่ทุกครั้งที่เด็กโทรมาก็เกิดแรงกระตุ้น ต้องหาเวลาไปคุยงานกับเด็กให้ได้ เมื่อก่อนเคยนัดเด็กทำกิจกรรมวันธรรมดา จนถูกโรงเรียนติงว่าเด็กเสียเวลาเรียน เธอจึงเปลี่ยนมาทำช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์แทน ถึงต้องเสียสละวันหยุด แต่พอเห็นความตั้งใจของเด็กก็อยากช่วย

“หลักสูตรนี้ทำให้เรามองดูตัวเอง เห็นว่าถ้าเราอยากให้เด็กในชุมชนออกมาร่วมกันทำกิจกรรมดีๆ เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำงาน ช่วยกันทำงานเป็นทีม ใครว่างก็ลงมือก่อน เพราะรู้ว่าแต่ละคนต่างมีภาระงานประจำที่ค่อนข้างหนัก”

ส่วนเจนบอกว่า เมื่อเข้าร่วมโครงการ อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์จะมาลงพื้นที่ทุกเดือนเพื่อติดตามความคืบหน้า ซึ่งกดดันเธอมาก แต่มองว่าเป็นข้อดี เหมือนเป็นแรงกระตุ้นให้เธอต้องปลีกเวลามาทำให้ได้ และดีใจที่ได้ร่วมงานกับนักถักทอชุมชนทีมนี้ เพราะหากคนใดคนหนึ่งยุ่งก็ผลัดกันขึ้นมานำได้ ต่างช่วยกันขับเคลื่อน เพราะ 5 คนนี้คือคนทำงานจริง

“ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดชัดคือ ได้กระบวนการพัฒนาจริงๆ แต่ก่อนไม่เคยคิดว่าต้องมีการถอดบทเรียน ไม่รู้ว่าทำแล้วได้อะไรบ้าง แค่ทำแล้วจบ แต่ตอนนี้ได้คิดมากขึ้นว่าทำแล้วได้อะไร และจะทำอะไรต่อ”

ขณะที่จ๊ะเอ๋บอกว่าช่วงแรกที่เข้าอบรมยอมรับว่าเหนื่อยและท้อ เพราะแค่งานในหน้าที่ก็ต้องทำทั้งปีแล้ว แต่ทักษะและประสบการณ์ที่ได้คุ้มค่ามาก ทำให้เธอกลายเป็นคนกล้าพูด กล้าแสดงออก ที่สำคัญคือทีมวิทยากรทำกิจกรรมสนุกสนานมากจนเป็นแรงกระตุ้นให้เธออยากพาเด็กทำกิจกรรมที่สนุกสนานแบบนี้บ้าง

สำหรับพุธบอกว่า สิ่งที่เธอได้เรียนรู้คือ การทำโครงการกับเด็กระยะยาวนั้นต้องพยายามเปิดพื้นที่ให้เขาได้มีโอกาสแสดงความสามารถเต็มที่ ทั้งนี้หลังเข้าอบรมพุธมองว่า เธอมีความอดทนสูงขึ้น และมีกระบวนการในการทำกิจกรรมมากขึ้น จากเดิมที่ทำๆ ให้จบไป ไม่มีกระบวนการว่าควรทำอะไรก่อนหลัง ไม่มีการติดตาม อย่างมากแค่สรุปแล้วจบ ไม่มีการถอดบทเรียนว่าได้อะไร หรือคิดต่อยอดไปทำต่อให้เป็นเรื่องเป็นราว แต่ตอนนี้มีการพูดคุยวางแผนการทำงานต่อเนื่อง ไม่ใช่จบแล้วก็แล้วกันเหมือนที่ผ่านมา

ส่วนแต๊บสะท้อนว่า เดิมเธอเป็นคนไม่ค่อยพูด พอเข้าอบรมก็พูดเป็นมากขึ้น มีระบบ ไม่วกวน ได้เรียนรู้วิธีการสอนเด็กให้เขาเข้าใจ ซึ่งก็ได้นำมาลองใช้กับลูกของตัวเองก่อนว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร และสิ่งที่ดีที่สุดคือทำให้เธอเกิดจิตสำนึกรักบ้านเกิด

“ตอนนี้เรารู้แล้วว่าการพัฒนาเยาวชนอย่างยั่งยืน ไม่ได้อยู่ที่งบประมาณ แต่อยู่ที่การสร้างใจให้ใจเด็กรู้จักคิด รู้จักใช้ชีวิต รู้จักใช้เวลาว่าง สำคัญคือให้ใจเขารัก...รักที่จะมาเข้าร่วมกิจกรรมกับเรา”

///////////////////////////////////////////



[1] การร่ายรำพร้อมกระโดดโลดเต้นเข้าไปในวงสากตำข้าว 2 อัน ซึ่งนำมาเป็นเครื่องเคาะจังหวะ โดยต้องเข้า-ออกให้ถูกจังหวะที่สาก 2 อันห่างกัน คล้ายการละเล่นลาวกระทบไม้