...จะดีไหม ถ้าการทำงานอุทิศเพื่อสังคม กลายเป็น “สนามฝึกซ้อม” ให้เยาวชนได้ฝึกฝน การทำงานในหลายๆ ด้าน ทั้งออแกไนซ์ อีเว้นท์ ครีเอทีฟ ผู้ประสานงาน นักบัญชี นักโฆษณาประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ให้พวกเขาได้ลองผิด ลองถูก พร้อมๆ กับการค้นหาความถนัดของตนเอง ก่อนออกไปเผชิญชีวิตจริง โดยไม่ต้องลงทุนใด ๆ นอกจาก “ใจ” อาสา ที่ต้องการเห็นสังคม และเพื่อนพ้อง มีความสุข
ชื่อ “กลุ่มปลาดาว” น่าจะมีหลายคนที่คุ้นหูหรือผ่านตาไปบ้าง อาจเพราะบุคลิกที่ทางกลุ่มปลาดาวสร้างให้กับกลุ่มตนนั้น ชวนให้ผู้คนทั่วไปสะดุดและสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกิจกรรมที่แปลกแหวกแนว โดยไม่ละเลยถึงการทำความดีต่อสังคม หรือที่หลายคนเรียกมันว่า ‘ความคิดสร้างสรรค์ในทางสร้างเสริม’ กลุ่มปลาดาวเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2545 เป็นหนึ่งในเครือข่ายเยาวชนโลก(Global Youth Network)ในปี 2546 นำทีมโดย นายธนวัฒน์ ธำรงเจริญกุล เป็นประธาน กลุ่มปลาดาวเป็นกลุ่มที่เน้นเรื่องการนำศักยภาพของเยาวชนมาใช้สูงสุด เพราะเชื่อว่า สังคมจะดีได้ควรเริ่มที่ตนเอง เยาวชนจะเป็นตัวแปรสำคัญในภาวะที่สังคมไทยขุ่นมัว
“มณีรัตน์ นานาประเสริฐ” หรือ “กิ๊บ” อายุ 23 ปี คือ 1 ในเยาวชนรุ่นแรกๆ ที่เข้ามาทำกิจกรรมเพื่อสังคมและเข้าร่วมทำกิจกรรมกับ “เครือข่ายเยาวชนกลุ่มปลาดาว” ตั้งแต่ปี 2547
ตอนนั้น “กิ๊บ” เรียนอยู่ ม.4 ที่โรงเรียนระยองวิทยาคม จ.ระยอง เป็นคณะกรรมการนักเรียน ครูก็ส่งกิ๊บไปเข้าค่ายกับพี่ๆ กลุ่มปลาดาวซึ่งมี “พี่ดิว” และ “พี่ดอฟ” เป็นแกนนำ แล้วก็ได้ร่วมกับกับพี่ๆ ไปรณรงค์เรื่องไม่สูบบุหรี่ เรื่องโรคเอดส์ กับสาธารณะสุข จ.ระยอง ประทับใจกับกิจกรรมที่ทำให้เรารู้สึกว่าเรามีคุณค่ามากขึ้น ก่อนหน้านี้ “กิ๊บ” ไม่เคยทำกิจกรรมอาสามาก่อนเลย เคยแต่ไปเป็นตัวแทนโรงเรียนแข่งขันเชิงวิชาการมากกว่า
หลังจากร่วมงานกับกลุ่มปลาดาวแล้ว ปีถัดมา ก็เริ่มขอทุนเอง เป็นโครงการอนุรักษ์แม่น้ำระยอง ไปขอทุนกับเอกชน มาทำกันเองกับเพื่อนๆ ที่ระยอง และยังมีโครงการค่ายศีลธรรมบนเกาะสีชัง รวมถึงค่ายพัฒนาทักษะแกนนำ ระหว่างเรียน
“กิ๊บ” ทำกิจกรรมมาโดยตลอดกระทั่งศึกษาจบระดับอุดมศึกษาสาขาเทคโนโลยีการจัดการ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สาขาเทคโนโลยีการจัดการ
การทำกิจกรรมอาสา ให้อะไรกับเราบ้าง?
กิจกรรมจิตอาสาทำให้ได้ประสบการณ์ทำงานจริง และหลาย ๆ ครั้งโอกาสก็เข้ามาหาทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ร่วมงานกับคนอีกหลายกลุ่มหลายวงการ ทำให้เข้าใจคน เข้าใจชีวิตมากขึ้น เข้าใจในความแตกต่างของคน ตอนนี้จะรู้สึกเฉยๆ ไม่ค่อยโกรธใคร ตัวเราเองก็เป็นสุข อีกอย่างมุมมองของเราที่มีต่อสังคม ก็เปลี่ยนไป เมื่อก่อนมองว่าคนที่ทำเพื่อสังคมคงมีไม่มาก แต่พอได้มาอยู่ในกลุ่มนี้ ทำให้พบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่อยากช่วยเหลือสังคม
สิ่งที่กลุ่มปลาดาวมี และแตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ คือ ปลาดาว มีวิธีในการสร้างสรรค์กระบวนการบ่มเพาะคน ที่แตกต่างและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เรากล้าที่จะทำ ภายใต้ความเสี่ยงที่คนอื่นคิดว่าเสี่ยงเกินไป แต่เราคิดเรื่องความปลอดภัยไว้เบื้องหลังความเสี่ยงนั้นๆ
“อนาคตก็ยังอยากทำงานเพื่อสังคมต่อไป แต่อาจจะไม่ลงมาทำเต็มรูปแบบ อาจจะทำธุรกิจของตนเอง แล้วนำกำไรไปสนับสนุนให้เด็กๆ ที่อยากทำงานเพื่อสังคมต่อไป”
นายอาทิตย์พงษ์ สุทธิรักษ์ หรือ “นิว” อายุ 22 ปี กำลังศึกษาอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ธัญญบุรี สาขา บริหารการจัดการ ปี 4
“นิว”มองหาช่องทางที่จะทำกิจกรรมมาตั้งแต่เรียนอยู่ในอำเภอบ้านค่าย ชอบทำงานเพื่อส่วนรวมอาจเป็นเพราะถูกบ่มเพาะจากที่บ้าน ที่ให้ช่วยเหลือผู้อื่นที่กำลังเดือดร้อน อย่างเช่น ถ้าแถวบ้านมีงานแล้วคุณพ่อกับคุณแม่เขาไปไม่ได้ เขาก็จะมาอธิบายมาบอกให้ผมไปช่วยงานแทน หรือคุณพ่อผมจะโทรมาบอกเสมอถ้ามีหน่วยรับบริจาคโลหิตมา หรือคนกำลังต้องการเลือดกรุ๊ปที่ผมมีคุณพ่อจะโทรมาบอกตลอด เหมือนเป็นจิตใต้สำนึกที่มันถูกปลูกฝังมานาน ทำให้ผมอยากย้ายโรงเรียนเพราะ คิดว่าถ้าผมได้ไปเรียนในอำเภอเมืองน่าจะมีกิจกรรมให้ผมทำเยอะ ผมจึงย้ายมาเรียนที่โรงเรียนระยองวิทยาคม ตอนม. 4 กระทั่งม.5 (ปี2547) ช่วงนั้นเห็นเพื่อนๆ ไปประชุมกันบ่อยๆ ก็อยากรู้ว่าเพื่อนทำอะไรกัน ก็ขอไปทำกิจกรรมกับเขาบ้าง ปรากฏว่าเพื่อนๆ เขาเป็นสมาชิกกลุ่มปลาดาว ซึ่งเขามีกิจกรรมบ่อยมากเกือบทุกเดือน งานแรกที่ทำก็คือการรณรงค์เรื่องเทเหล้า เผาบุหรี่ ผมก็อาสาเข้าไปช่วยแจกโปสเตอร์
ส่วนใหญ่ “นิว” จะทำหน้าที่เป็น supporter คอยสนับสนุนให้เพื่อนๆ โดยไม่เกี่ยงว่าจะต้องทำหน้าที่อะไร เต็มใจทำทั้งนั้น กิจกรรมของกลุ่มปลาดาว ค่อนข้างถี่ ช่วงที่ผมเริ่มเข้ากลุ่มใหม่ๆ พอดีมีงานป้องกันสุขภาพผู้สูบบุหรี่มือสอง เรียกได้ว่าต้องออกจากบ้านทุกๆ วัน ในช่วงปิดเทอม แต่การเรียนในห้องเราจะพยายามไม่ให้เสีย ยิ่งเวลาเรามีน้อย เราจะพยายามตั้งใจเรียนเพื่อชดเชยกับเวลาที่ขาดเรียนไป
แต่ก็คุ้มเพราะสิ่งที่ได้เรียนรู้หาไม่ได้กับการเรียนในห้องเรียน อย่างตอนจัดงานรณรงค์ป้องกันสุขภาพผู้สูบบุหรี่มือสอง ต้องทำเอกสารเอง เดินเอกสารเอง ประสานงานกับผู้ใหญ่และหน่วยงานราชการ ได้เรียนรู้เทคนิคหลายอย่าง ทั้งวิธีการเข้าหาผู้ใหญ่ การตามเอกสาร การร่างเอกสารราชการ เทคนิคสำคัญในการส่งหนังสือขออนุญาตใช้สถานที่ เราต้องส่งหนังสือตั้งแต่วันจันทร์เท่านั้น เพราะต้องเผื่อเวลาให้ราชการทำงาน บางครั้งคนรับผิดชอบไม่มา ก็จะล่าช้าไปอีก เวลาส่งหนังสือ ต้องส่งเอง ส่งให้ถึงหน้าห้อง ถ้าส่งแฟกซ์ ไปตามขั้นตอนมันจะล่าช้า
“เวลาที่พวกเราเด็กๆ เดินเอกสารกันเอง ผู้ใหญ่เขาเห็นก็จะชื่นชม อย่างผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง พอเขาเห็นพวกเราปลาดาวเขาก็อนุญาตให้เราเข้าร่วมประชุมกับเขาด้วยทุกๆ เดือน เดือนละ 1 ครั้ง เขาค่อนข้างฟังความคิดเห็นของเด็กๆ โดยเฉพาะกลุ่มปลาดาว”
แม้ว่า “นิว” จะทุ่มเทให้กับการทำกิจกรรมอาสา แต่ “นิว” ก็มีผลการเรียนที่ไม่น้อยหน้าเพื่อน เขามีคะแนนเอ็นทรานซ์ติด 1 ใน 5 ของประเทศ ในหมวดวิชาสังคมศึกษา “นิว” เล่าว่า กระทั่งศึกษาระดับอุดมศึกษา เขาและเพื่อนๆ ในกลุ่มปลาดาว ยังคงทำกิจกรรมร่วมกับ ปปส. ในเรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติด
อนาคตอยากศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้มีความรู้รอบด้านมากขึ้น การทำงานกับกลุ่มปลาดาวทำให้ “นิว” ค้นพบว่าตัวเองมีความถนัดในการจัดงานออแกไนซ์ งานอีเว้นท์ ต่าง ๆ จนคิดว่าอยากจะทำงานด้านนี้ต่อไปในอนาคต แต่ยังคงไม่ทิ้งงานด้านจิตอาสากับกลุ่มปลาดาว ซึ่งตอนนี้มีรุ่นน้อง เข้ามาเรื่อยๆ รุ่นพี่มีหน้าที่ในการบุกเบิกงานใหม่ แล้วให้รุ่นน้องเข้ามาสานต่อ
นายโชติเวชญ์ อึ้งเกลี้ยง หรือ “กลิ้ง” อายุ 22 กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ปี 4 “กลิ้ง” เริ่มเข้ามาทำกิจกรรมในกลุ่มปลาดาวเมื่อปี 2549
ในกลุ่มปลาดาว “กลิ้ง” คือ ผู้นำกิจกรรมสันทนาการ นำกระบวนการภายในค่าย รวมถึงงานค่ายและงานรณรงค์ ทำหน้าที่ในการร่วมคิดกระบวนการทำได้ทุกอย่าง ที่ผ่านมา “กลิ้ง” ทุ่มเทเวลาให้กับการทำกิจกรรม เหมือนจะเป็นการชดเชยที่ “กลิ้ง” เลือกที่จะไม่เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มปลาดาวในช่วงที่เขาเรียนอยู่ ม.5 เพราะคิดว่าตัวเองไม่เก่งพอที่จะทำกิจกรรมไปด้วยเรียนไปด้วย เมื่อได้เรียนระดับอุดมศึกษาแล้ว จึงค่อนข้างให้เวลาเต็มที่กับการทำกิจกรรม
มาถึงวันนี้ “กลิ้ง” ก็รู้สึกเสียดาย ที่ไม่ตัดสินใจทำกิจกรรมในช่วงที่เรียนม.ปลาย เพราะในช่วงนั้นเป็นช่วงที่กลุ่มปลาดาว ต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ เป็นยุคบุกเบิกของกลุ่ม ซึ่งผมยังแอบชื่นชมเพื่อนๆ และพี่ๆ ที่เขาผ่านอุปสรรคตรงนั้นมาแล้ว ซึ่งมันทำให้ผมรู้สึกว่า ผมอยากเข้าไปมีส่วนร่วมในวีรกรรมในยุคบุกเบิกนั้นบ้าง
วันนี้ “กลิ้ง” ศึกษาอยู่ในสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ แต่ยังมองว่า เขาควรจะศึกษาต่อด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ เพราะเชื่อว่า แนวคิดหลักทางเศรษฐศาสตร์จะเป็นมุมมองที่กว้างพอที่จะนำมาปรับใช้ในงานในอนาคต ซึ่งคิดจะเอาประสบการณ์ที่ได้ไปทำบริษัทออแกไนซ์ของตัวเองเช่นกัน
“ทั้งงานค่าย ที่มีปัญหาให้แก้ไขเฉพาะหน้าอยู่ตลอดเวลา และงานรณรงค์ที่ทำให้พวกเรากลุ่มปลาดาวต้องคิดกิจกรรม อย่างสร้างสรรค์และแปลกใหม่ ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ทำให้พวกเรามีประสบการณ์ และความชำนาญมากขึ้น ต้องขอบคุณ ปลาดาว ที่ทำให้พวกผมมีประสบการณ์ในวันนี้ ”
การได้ร่วมงานกับปลาดาว ไม่เพียงแต่จะทำให้ผมได้ประสบการณ์อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ในช่วงหลังยังทำให้ผมได้มีโอกาส แสดงฝีมือ และเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ระหว่างเรียนให้กับตัวเองด้วย ตอนนี้ผมกลับมาเป็นผู้รับบ้างแล้ว เพราะตั้งแต่ต้นปี 2552 ผ่านมา ก็มีงานเข้ามาตลอด ต้องขอบคุณปลาดาวครับ ที่สร้างโอกาสให้ผม ในงานต่างๆ จะมีผู้ใหญ่ใจดี ที่เขาเห็นแววของเราเขาก็จะมาติดต่อ ให้ผมไปช่วยงาน จึงเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้เรามีรายได้ระหว่างเรียน
สิ่งที่เกิดขึ้นบางครั้งมันทำให้ผมต้องตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่า ในระยะหลังๆ มานี่เรากำลังทำงานเพื่อเงินอยู่หรือเปล่า!!! และคำตอบที่ผมได้คือ “ก็ใช่” อาจเพราะเมื่อสมัยที่ยังใช้เวลาเพื่อที่จะบ่มเพาะฝีมือ เป็นช่วงเวลาที่เราทุ่มเทให้กับงานสุดๆ โดยที่ไม่เคยเป็นห่วงสถานภาพเรื่องเงินเลย แต่ปัจจุบันดูเหมือนโอกาสต่างๆ เข้ามาพร้อมกับทักษะที่เราบ่มเพาะในวันนั้น ผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วล่ะที่การให้ครั้งนี้อาจกลายเป็นการรับทางหนึ่งด้วย
“เมื่อก่อน คุณพ่อ กับคุณแม่ ก็เป็นห่วงกลัวกระทบการเรียน กลัวจะเรียนไม่จบ แต่ตอนนี้ท่านก็เข้าใจและรู้สึกดีกับกลุ่มปลาดาวมากขึ้น ผมคิดว่าการทำกิจกรรมถ้าเราแบ่งเวลาเป็น มันจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียนอย่างแน่นอน”
เครือข่ายเยาวชนกลุ่มปลาดาว