ตัวอย่างครูดี 4.0 ครูแดง – รุ่งนภา นาคะเต โรงเรียนวัดอมรวดี (อมรวิทยาคาร) จ.สมุทรสงคราม

รู้ตัวว่าสอนผิดเมื่อเกษียณ

“ครูแดง” ทุ่มทั้งชีวิตเปลี่ยนแปลงครูรุ่นใหม่




#ครูดี4.0  



ครูคนหนึ่งเป็นครูมาตลอดชีวิตและคิดว่าสิ่งที่ตนได้ทุ่มเท มุ่งมั่นให้กับลูกศิษย์คือสิ่งที่ดีที่สุด คือสิ่งที่ถูกต้องที่สุด แต่เหมือนสายฟ้าฟาดลงกลางใจ ปีสุดท้ายอายุราชการไปดูงานที่รร.ลำปลายมาศฯ น้ำตาไหลพรากสิ่งที่ทำกลับสร้างบาปให้เด็ก ทำให้วันนี้ “ครูแดง” ขอเป็นครูอาสาช่วยเทรนครูในโรงเรียนวัดอมรวดี (อมรวิทยาคาร) สร้างการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีสอนแนวใหม่ให้แก่ครูทุกคน


“สิ่งที่เราทำมาเหมือนกับเราสร้างบาปให้เด็กเยอะมาก” เป็นคำพูดที่กินใจมากที่ออกมาจากปากครูเกษียณอายุราชการ “ครูแดง – รุ่งนภา นาคะเต” ที่เกษียณอายุราชการไปเมื่อปี 2559 ครูแดงเล่าให้ฟังว่าไม่เคยคิดว่าจะเปลี่ยนแปลงวิธีคิด หรือ วิธีสอนของตนเองเพราะคิดว่าการสอนแบบเดิมของตนก็ทำให้ลูกศิษย์เป็นเด็กเก่งอยู่แล้ว พอเกษียณอายุราชการทางโรงเรียนวัดอมรวดี (อมรวิทยาคาร) จ.สมุทรสงคราม ได้เชิญให้เป็นครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครูแดงจึงได้สอนต่อ

พอดีที่ทางโรงเรียนวัดอมรวดี ฯ ได้เข้าร่วมโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (SCB Connext ED) ในModule Whole School ด้วยนวัตกรรมของ รร. ลำปลายมาศพัฒนา ภายใต้การดูแลของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) “ครูแดง” ได้ถูกเลือกให้ไปร่วมกิจกรรม Open Eye ที่ รร.ลำปลายมาศฯ เมื่อไปอยู่ 5 วัน ได้เห็นกระบวนการสอนของรร.แห่งนี้ ครูแดงสะท้อนจากใจว่า “ พอไปเห็นวิธีการของรร.ลำปลายมาศฯ ที่สอนลูกศิษย์แล้ว สิ่งแรกที่ครูเห็นคือร้องไห้เลย สิ่งที่เราทำมาเหมือนกับเราสร้างบาปให้กับเด็กเยอะมาก”
“พอกลับมาครูเปลี่ยนวิธีสอนใหม่หมดเลย ซึ่งวิธีการสอนแบบรร.ลำปลายมาศฯ เราก็เคยคิดมาแล้วแต่ไม่มีโอกาสใช้ เนื่องจากสมัยก่อนผู้บริหารไม่ได้อำนวยให้แบบนี้ด้วย สิ่งที่เราเคยได้เรียนรู้มาและสะสมมาพอไปเรียนที่ลำปลายมาศฯ ก็ทำให้เราเปลี่ยนตัวเองและนำกลับมาใช้เมื่อ พ.ศ. 2560”



“...พ.ศ. 2550 ได้มาทำงานวิชาการ 3 ปี  ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงวิธีสอน
เพราะคิดว่าถ้าสอนเด็กแบบเดิมจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงกับเด็กแน่ๆ

อาศัยที่ตัวเองเป็นคนที่ชอบอ่าน ชอบฟัง ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงวิธีการสอน...”



ครูแดงเล่าย้อนวัยให้ฟังว่าตนเริ่มอาชีพครูเมื่อ พ.ศ. 2521 มีรูปแบบการเรียนการสอนแบบเดิมคือสอนตามเนื้อหาวิชา และวิธีการสอนก็ใช้วิธีดุ หรือ เอ็ด เด็กนักเรียน “บางสาระวิชาที่อยากให้ได้ผลดีๆ ก็ติวบ้าง ทำแบบนี้มาจนถึง พ.ศ. 2550 ได้มาทำงานวิชาการ 3 ปี  ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงวิธีสอน เพราะคิดว่าถ้าสอนเด็กแบบเดิมจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงกับเด็กแน่ๆ อาศัยที่ตัวเองเป็นคนที่ชอบอ่าน ชอบฟัง ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงวิธีการสอน”



ครูแดงเล่าว่าการเริ่มเปลี่ยนครั้งแรกคือนำเครื่องมือการสอน mind map มาใช้ในการกระตุ้นเด็กให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ตนเองถนัด โดยเฉพาะในวิชาภาษาไทย ในบทที่ยากๆ คือการเขียนจดหมาย เรียงความ ถ้าใช้ mind map จะทำให้เด็กเขียนดีขึ้น เรียนดีขึ้น “แต่วิธีการสอนของครูก็ยังเป็นแบบเดิมๆ อยู่ คือดุเหมือนเดิม เด็กกลัวเพราะเราดุ ทำให้ผลการเรียนโอเน็ตไม่เคยต่ำกว่าเกณฑ์เพราะเด็กพยายามทำให้เพราะกลัวเรา แต่ระยะหลังๆ ก็มีจิตวิทยาการสอนมากขึ้น เช่น ให้ทำซ้ำๆ บ่อยๆ ก็ได้ผล  การสอนแบบเดิมผลสัมฤทธิ์ของเด็กก็ดี แต่เราก็เห็นว่าเด็กเขาไม่มีความสุข และทำให้ผลการเรียนไม่คงทน พอเราไม่กวดขันก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม เหมือนเด็กคิดไม่เป็น” ครูแดงกล่าว



“...ต้องคิดว่านี่คือลูกของเรา นี่คือเด็กของเรา ห้องเรียนของเรา
อย่างคะแนนโอเน็ตเราก็ไม่ได้เน้นมาก เพราะได้ตกลงกับผู้อำนวยการแล้วว่า
สิ่งที่สำคัญกว่าถ้าเด็กเรามีความสุข และเริ่มคิดเป็น...”



ถึงมีฐานทุนเดิมแต่เมื่อได้ไปเห็นนวัตกรรมจากรร.ลำปลายมาศ  ครูแดงก็รู้ว่าที่ผ่านมาสอนผิดพลาดมาโดยตลอด ไม่รอช้านำนวัตกรรมกลับมาลองทำที่โรงเรียนทันที ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ  ซึ่งครูแดงต้องเปลี่ยนแปลงทั้งวิธีคิด บุคลิก อารมณ์ วิธีสอน ครูแดงเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงที่ยากลำบากนี้ว่า...
“...ต้องเปลี่ยนการทำเสียงดังเป็นเสียงเบา เสียงทุ้ม เพื่อให้เด็กมีสมาธิ และครูเป็นคนเสียงดัง เป็นคนดุ อยู่บ้านฝึกยิ้มในกระจก ฝึกพูดเสียงเบา ให้สามีเป็นคนดูว่าถ้าพูดเสียงแบบนี้ได้หรือยัง
ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ต้องคิดว่านี่คือลูกของเรา นี่คือเด็กของเรา ห้องเรียนของเรา อย่างคะแนนโอเน็ตเราก็ไม่ได้เน้นมาก เพราะได้ตกลงกับผู้อำนวยการแล้วว่าสิ่งที่สำคัญกว่าถ้าเด็กเรามีความสุข และเริ่มคิดเป็น  
ต้องปรับการสอนใหม่ เมื่อก่อนใช้หนังสือเป็นตัวตั้ง หันมาใช้เทคนิคสื่อ เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ครูทำสื่อไม่ค่อยเป็น จะอาศัยครูรุ่นใหม่ที่เก่งเทคโนฯ ก็วานให้เขาสอนให้หน่อย ทั้งเรื่องการใช้ wifi ดู youtube จะทำอย่างไร ถ้าจะเก็บภาพจะทำอย่างไร น้องๆ ก็ช่วยกันสอน จะไม่อายเรื่องตรงนี้ที่เราไม่รู้ พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

จากที่ทำไม่เป็นก็ให้สอนให้หมด จริงๆ น้องๆ ก็กลัวๆ กล้าๆ เพราะเราเป็นเป็นครูผู้ใหญ่แล้ว แต่ก็ทำบรรยากาศให้เหมือนกับเป็นเพื่อน ก็บอกน้องว่าเราก็เหมือนเพื่อนๆ นั่นแหละอายุเท่าๆ กัน ลองสอนให้หน่อยซิ...”



“...หันมาใช้เทคนิคสื่อ เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ครูทำสื่อไม่ค่อยเป็น จะอาศัยครูรุ่นใหม่ที่เก่งเทคโนฯ
ก็วานให้เขาสอนให้หน่อย ทั้งเรื่องการใช้ wifi ดู youtube จะทำอย่างไร?
ไม่อายเรื่องตรงนี้ที่เราไม่รู้ พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ...”



ปรับไปสอนไป เมื่อนำไปใช้สอนเด็กแรกๆ เด็กๆ จะงงมาก และก็ซุบซิบว่าครูเปลี่ยนไป แม้กระทั่งการนั่งเรียนครูก็ให้นั่งเป็นแนวราบทั้งหมด สร้างความสงสัยให้กับนักเรียนตัวน้อย ครูแดงเล่าแบบขำๆ ว่า “ตอนแรกที่เริ่มไปสอนแบบนี้ เขาก็กล้าๆ กลัวๆ ที่จะคุยกับเรา แต่เราก็ทำเฉยๆ กระบวนการเราใช้จิตศึกษา กับ บอดี้สแกน และใช้วิธีการ No sap เราจะไม่กดดันเขา แต่เราจะรอคอย ใจเย็น กระบวนการของเราคือใจเย็น เราจะรอคอยคำตอบจากนักเรียน เราจะไม่ทำเอง สร้างกำลังใจให้เด็ก”
แรกๆ ครูแดงยอมรับว่าเปลี่ยนตัวเองยากมีเผลอดุเด็กแต่รู้ตัวทันกล่าวขอโทษทันที “ตอนนำไปใช้แรกๆ ยากมาก ต้องปรับอารมณ์ตัวเองตลอด เราติดที่ว่าพอเด็กคุยกัน เล่นกัน เราจะเอ็ด ตรงนี้ยากมาก แรกๆ บางทีเผลอ แต่ก็ขอโทษเด็กเป็น ถ้าเกิดเราทำอะไรที่ขัดข้อง หรือเครียด ก็ขอโทษกันตรงๆ ไม่อ้อมค้อมกับเด็ก”
นอกจากพยายามปรับอารมณ์แล้ววิธีการสอนของครูแดงก็เปลี่ยนไปมาก ครูแดงมีแนวคิดให้เด็กเรียนรู้และแก้ปัญหาเองโดยครูทำหน้าที่กระตุ้น “ครูก็จะเปลี่ยนมาสอนโดยให้เด็กเป็นคนคิดเอง แก้ปัญหาเอง อยากทำอะไรให้เขาทำเอง ให้เขาคิดเอง โดยที่เรามีวิธีการกระตุ้นโดยให้เข้าอยู่ในสาระการเรียนรู้ มาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด ที่มีอยู่แล้วไม่สะเปะสะปะ เราก็มีวิธีการ เทคนิค กระบวนการสอน เพียงแต่เราก็กระตุ้นให้เขาคิด ส่วนมากครูใช้คำถามเป็นตัวกระตุ้น”



“ครูก็จะเปลี่ยนมาสอนโดยให้เด็กเป็นคนคิดเอง แก้ปัญหาเอง อยากทำอะไรให้เขาทำเอง
ให้เขาคิดเอง โดยที่เรามีวิธีการกระตุ้นโดยให้เข้าอยู่ในสาระการเรียนรู้
มาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด ที่มีอยู่แล้วไม่สะเปะสะปะ เราก็มีวิธีการ เทคนิค
กระบวนการสอน เพียงแต่เราก็กระตุ้นให้เขาคิด ส่วนมากครูใช้คำถามเป็นตัวกระตุ้น”



ซึ่งครูแดงเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างมาก เมื่อก่อนคิดว่าตัวเองเป็นใหญ่เป็นโคช  “ในเรื่องการเรียนรู้เราคิดว่าเราจะทำอย่างนี้แล้วเด็กจะได้เหมือนที่เราอยากได้ ความคิดในเรื่องการเรียนรู้ที่เราจะให้เด็กเปลี่ยนไป เราต้องใช้กระบวนการแบบ Active Learning  เช่น PBL หรือ 5W1H หลายๆ อย่างจะกระตุ้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเขาเอง ให้เขามีส่วนร่วม เพียงแต่ว่าเราคอยเป็นโคชเท่านั้น ให้เด็กทำเองแล้วเราต้องรอคอยเป็น ต้องใจเย็น ใจมาก่อนเลย ใจรักเด็กซะอย่างมันทำได้ ถ้าใจไม่รักทำไม่ได้”
ครูแดงเล่าถึงตัวอย่างการสอนโดยใช้กระบวนการ Active Learning  ให้ฟังว่าอย่างเห็นภาพว่า... “สมมติสอนเรื่องการเขียนจดหมาย เป็นเรื่องยากสำหรับเด็ก ก่อนอื่น ครูก็ให้นักเรียนลองดูซิ เวลาเขียนจดหมายถึงเพื่อนจะเกริ่นอย่างไรก่อน คือเราใช้ round table เราจะพูดคุยกันก่อน พอพูดคุยกันแล้วเราก็มีใบงานกระตุ้นให้เขาคิดว่าขั้นแรกต้องทำอย่างไรก่อน เราดูภูมิของเด็กก่อน เด็กบอกว่าวิธีการเขียนจดหมายมันมีวิธีการไหม แต่ครูไม่รู้ นักเรียนลองช่วยหา ว่าวิธีการเขียนจดหมายเขาทำกันอย่างไร ก็แบ่งกลุ่มกันให้เขาช่วยกันคิดภายในกลุ่ม เราก็มีข้อมูลให้คือ 1.โรงเรียนเราจะมี wifi ให้เขาค้นหา ให้เวลาเขาทำพอสมควร แล้วเราก็มาดูว่าแต่ละกลุ่มเป็นอย่างไร เขาก็โชว์ผลงานตัวเอง แล้วแต่เขาจะออกแบบ เสร็จแล้วลองมาดูว่าขั้นแรกของการเขียนจดหมายคืออะไร ก็เอาจากที่เขาสรุป มาระดมความคิดจากที่เด็กหาข้อมูลมา ให้เขาคิดเองว่าการเขียนจดหมายมันเป็นอย่างไร ที่เธอทำมา เธอทำอย่างไรก่อน เธอทำแบบไหน ลองดูซิ ความรู้ที่เธอหามาได้ จากอินเทอร์เน็ตก็ได้ที่เธอหาได้ แล้วก็มีแท็บเล็ตให้เขาดู สุดท้ายก็ให้เขามาสรุป ให้เด็กมาเขียนเอง ว่าอะไรอย่างไร ตรงไหนเหมือน ตรงไหนต่างกัน สุดท้ายเราค่อยบอกที่หลังว่าอย่างนี้ก็ถูก แล้วถ้าดีกว่านี้หล่ะจะเป็นอย่างไร ทั้งหมดนี้ให้เขาเขียนเป็น mind map  ถ้าถูกเราก็โอเค แต่ถ้าขาด ก็จะบอกว่าถ้าดีกว่านี้หล่ะจะทำอย่างไร เด็กก็จะช่วยกัน จนสุดท้ายเราก็จะบอกว่าใช่ที่เธอเขียนมา แต่ครูก็จะเติมส่วนที่ขาดหายไป แล้วก็สรุป แล้วก็ให้เขาออกชิ้นงานเอง ตอนแรก ถ้าออกชิ้นงานคนเดียวอาจจะทำไม่ได้ก็ให้ทำเป็นกลุ่มก่อน ลองขียนจดหมายถึงเพื่อนดูซิ ลองในกลุ่มช่วยกัน เป็นชิ้นงานแรก แล้วก็มาดูว่าของใครถูกสุด แล้วชั่วโมงต่อไปถึงค่อยให้ทำเป็นรายบุคคล ถ้าเขาทำถูกเราก็ชมเชย นี่คือกระบวนการ Active Learning” ครูแดงกล่าว  



“...เราต้องใช้กระบวนการแบบ Active Learning  เช่น PBL
หรือ 5W1H หลายๆ อย่างจะกระตุ้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเขาเอง
เขามีส่วนร่วม เพียงแต่ว่าเราคอยเป็นโคชเท่านั้น...”



ครูแดงเล่าต่อว่าพอนำมาทดลองทำในโรงเรียน ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนแรก ก็เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้ดีใจมาก “สิ่งที่เกิดขึ้นแบบนี้ ไม่เคยเกิดกับเรามาก่อน เราเป็นครูมา เราดุ แต่เด็กก็เขียนไม่ได้เหมือนเดิม แต่พอลองใช้กระบวนการของรร.ลำปลายมาศฯ ปรากฎว่าเด็กเขาทำได้ และมีความคงทนแล้ว ทำได้สวยด้วย และเขามีความคิดที่ดีๆ โอเคเด็กครูไม่เก่ง แต่ปรับมามีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  เขาคิดได้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็กไปในทางที่ดีขึ้น แต่ที่ภูมิใจอีกคือเด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จำนวน 17 คน ตอนนี้เขียนได้แล้ว  “ไม่ต้องเป็นห่วงเขาว่าเขาจะเรียนต่อชั้นมัธยมไม่ได้อีกแล้ว เขาเรียนได้สบายๆ แล้ว”
ตอนนี้เด็กนักเรียน ป.6 อ่านออกเขียนได้ ครูแดงคิดว่าเป็นเพราะกระบวนการจิตศึกษาที่มาช่วยทำให้เด็กมีสติ มีปัญญา และสามารถคิดได้ ครูแดงย้ำต่อว่านอกจากกระบวนการที่มาช่วยแล้ว ครูยังมีความไว้วางใจให้กับเขาด้วย “ครั้งแรกก็เอาสิ่งที่เด็กชอบมากคือการ์ตูนช่องกับเขียนแบบอิสระไม่ได้กำหนดอะไรให้เขา  ลูกศิษย์คนนี้ชื่อคูนรัตน์  แรกๆ เขาก็บอกว่าเขาไม่เคยเขียนอะไรได้เลย วันนี้เขาเขียนได้ ก็ถามว่าทำไมถึงเขียนได้ เขาก็บอกว่าผมกล้าที่จะเขียน ผมไม่กลัวครูแล้วครับ เมื่อก่อนกลัวครูว่าเขียนไม่สวย เขียนไม่ถูก เราก็ยิ้มอย่างเดียว เขาดีใจมากเลยกับชิ้นงานแรก”



“ครั้งแรกก็เอาสิ่งที่เด็กชอบมากคือการ์ตูนช่องกับเขียนแบบอิสระไม่ได้กำหนดอะไรให้เขา  ลูกศิษย์คนนี้ชื่อคูนรัตน์
แรกๆ เขาก็บอกว่าเขาไม่เคยเขียนอะไรได้เลย วันนี้เขาเขียนได้  ก็ถามว่าทำไมถึงเขียนได้
เขาก็บอกว่าผมกล้าที่จะเขียน ผมไม่กลัวครูแล้วครับ
เมื่อก่อนกลัวครูว่าเขียนไม่สวย เขียนไม่ถูก เขาดีใจมากเลยกับชิ้นงานแรก”



ลูกศิษย์อีกคนที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะด้านพฤติกรรมเกเรที่ใครๆ ก็เอือมระอา คือ เด็กชายโสทร (มอส)  ครูแดงเล่าว่ามอสเป็นเด็กไม่ตั้งใจเรียน และเป็นเด็กโตที่สุดในห้องเรียน เพราะเรียนซ้ำชั้น เป็นเด็กที่มาจากครอบครัวที่แตกแยก เคยกินยานอนหลับ 20 เม็ดในโรงเรียน  แรกๆ เราใช้วิธีรุนแรงกับเขา เขาก็ไม่หาย คือดุเขา ตอนนี้เขาเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย เราภูมิใจที่สุดที่เขาเปลี่ยนแปลง ตอนนี้เขาไม่เกเรแล้ว มาโรงเรียนทุกวัน การเรียนดีขึ้นเยอะเลย  ทั้งคณิตศาสตร์  ภาษาอังกฤษก็ใช้ได้นะ ครูที่สอนบอกว่าเขาดีขึ้น มีบางครั้งที่เขาหลุดแต่เขาเริ่มเก็บอาการได้แล้ว รู้ว่าเวลานี้ต้องทำอะไร เวลานั้นควรทำอะไร  รู้จักเป็นพี่ในห้องเรียน รู้จักที่จะเรียนรู้และรู้จักทำงานร่วมกับเพื่อน นิสัยเขาก็เปลี่ยนไป  เริ่มให้ความเคารพครูมากขึ้น ช่วยเพื่อนมากขึ้น  คำหยาบคายไม่ค่อยมีแล้ว  และมีจิตใจที่จะมาช่วย เป็นจิตอาสาแต่เช้า ดูแลน้องให้น้องปรนนิบัติสถานที่ เพื่อนๆ ก็ปฏิบัติกับเขาดีขึ้น จากที่เคยกลัวมอสมากก็เริ่มเล่นกันด้วยดี ไม่มีเรื่องแล้ว ส่วนแม่เขาที่ไม่เคยสนใจเขา มาสนใจเขา"



“...ตอนนี้เราเกษียณแล้วแต่ยังมีกำลังปัญญาอยู่ กำลังกาย เรากำลังทำให้อนาคตของชาติมีคุณภาพ
เด็กดีก่อนเลย ดีแล้วเก่ง บอกผอ.ว่าจะทำจนกว่าน้องๆ ครู ทุกคน (
21 คน)
ในโรงเรียนจะเก่ง ถึงจะปล่อยมือได้ นั่นคือสโลแกนของครู...”



นี่คือความภาคภูมิใจในชีวิตของครูคนหนึ่ง ที่วันนี้ได้มีโอกาสรับใช้ประเทศชาติ ถึงแม้จะเกษียณอายุไปแล้ว แต่ด้วยความรู้ความสามารถที่เปลี่ยนแปลงตนเองได้ ได้นำมาเป็นวิชาความรู้ที่จะถ่ายทอดให้แก่ครูรุ่นน้องที่โรงเรียนต่อไป โดยความหวังในชีวิตสุดท้ายของครูแดงคือ อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ได้เปลี่ยนแปลงครูและเด็กในโรงเรียนนี้ เป็นครูมา 29 ปี บอกตัวเองว่าที่ผ่านมาเราก็รู้สึกเสียใจว่าเราหวังดีกับเด็กแต่เราใช้วิธีกับเขาไม่ถูกวิธีเพราะเราไม่รู้ เราไม่ศึกษาให้ถ่องแท้ เวลาที่เหลือเราก็จะตอบแทนแผ่นดินตรงนั้นให้จะทำจนกว่าไม่มีแรง เพราะเด็กคือชีวิตที่สำคัญ เด็กเล็ก คือเราต้องดูแลแล้วก็ต้องให้ความรัก ความรักแบบนอบน้อม แล้วเขาคือกำลังของชาติเรา ตอนนี้เราเกษียณแล้วแต่ยังมีกำลังปัญญาอยู่ กำลังกาย เรากำลังทำให้อนาคตของชาติมีคุณภาพ เด็กดีก่อนเลย ดีแล้วเก่ง บอกผอ.ว่าจะทำจนกว่าน้องๆ ครู ทุกคน (21 คน) ในโรงเรียนจะเก่ง ถึงจะปล่อยมือได้ นั่นคือสโลแกนของครูครูแดงตั้งปณิธานไว้อย่างแม่นมั่น