คำกล่าวเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาการศึกษา"
โดย ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล งานตลาดนัดความรู้ เครือข่ายเรียนรู้สู่ความพอเพียง ครั้งที่ 3 วันที่ 27 พฤษภาคม 2554 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

ขอต้อนรับคณะผู้บริหารและคุณครูทั้งหลายที่มารวมอยู่ ณ ที่นี้ และขอขอบคุณท่านทั้งหลายที่สนใจน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ เพื่อพัฒนาเยาวชนในโรงเรียนต่างๆ และขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ทั้ง 13 แห่ง ที่ผู้บริหารและคุณครูในสถานศึกษาเหล่านี้ ได้แสดงความมุ่งมั่น ออกแรงอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ส่วนการประเมินศูนย์การเรียนรู้ฯ ก็เข้มข้นจริงๆ เพราะทุกคนร่วมมือกัน เพื่อจะให้ได้ศูนย์การเรียนรู้ฯ ที่มีคุณภาพจริงๆ และสามารถทำหน้าที่ตามที่ได้มุ่งหวังไว้


เรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับศูนย์การเรียนรู้ฯ ทั้ง 13 แห่ง ไม่ใช่แสดงความยินดีกับสถานศึกษา หรือผู้บริหาร หรือคุณครู ใน 13 แห่งนี้เท่านั้น หรือไม่ใช่แต่แสดงความยินดีกับนักเรียนซึ่งจะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งกับการออกแรงของศูนย์การเรียนรู้ฯ ทั้ง 13 แห่งนี้ เรามีความคาดหวังและเชื่อว่า ศูนย์การเรียนรู้ฯ ทั้ง 13 แห่ง จะเป็นกำลังสำคัญในการขยายผลสู่เพื่อนโรงเรียน สู่ชุมชน และสู่สังคมโดยทั่วไปของประเทศไทย



ผมอยากจะมองย้อนกลับไป เมื่อ 12 ปีที่แล้ว เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2542 ทางสำนัก ราชเลขาธิการได้ส่งคำนิยามของ ‘ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง’ และอัญเชิญพระราชกระแสจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้นำคำนิยามดังกล่าวไปใช้เผยแพร่ สู่สาธารณชนได้ ฉะนั้น เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2542 จึงถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการที่กลุ่มบุคคลจำนวนมาก สนใจที่จะน้อมนำหลักปรัชญาฯ มาใช้ในการดำเนินชีวิต และในการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ และเพื่อนำมาเผยแพร่ต่อไป ปรากฏว่า ณ จุดนั้น ภาคการศึกษาเป็นภาคที่น้อมนำไปขยายผลเป็นลำดับต้นๆ


5 ปีต่อมา คือ ปี พ.ศ. 2547 เราได้จัดประกวดความเรียง ‘ตัวอย่างเศรษฐกิจพอเพียงที่ข้าพเจ้ารู้จัก’ ในครั้งนั้น เราได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง ทั้งจากองค์กรต่างๆ และบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะจากสถานศึกษาต่างๆ เราได้ความเรียงมา 1,500 ชิ้น ประสบการณ์ดีๆ ก็มีมาก จากผลงาน 1,500 ชิ้นนี้ แต่เราก็ได้เรียนรู้ว่า ในขณะนั้น ยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่คลาดเคลื่อน ไม่น้อยเหมือนกัน


เหตุที่นำเรื่องนี้มาพูด เพื่อให้เห็นว่ากระบวนการในการขับเคลื่อนการน้อมนำปรัชญาฯ ไปใช้เพื่อเป็นประโยชน์กับส่วนรวม เป็นกระบวนการที่จะต้องทำ ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ไป อย่างต่อเนื่อง โดยนำสิ่งที่เป็นคุณค่าเป็นประสบการณ์ที่ดี มานำเสนอให้รับรู้ซึ่งกันและกัน และจะได้เป็นความรู้ที่จะนำไปเผยแพร่ได้ต่อไป พร้อมกันนั้นก็สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ ทั้งหมดนี้ เป็นกระบวนการที่ไม่ใช่ทำครั้งเดียว หรือทำในวันเดียว แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องกันไป


ผมขอกลับไปพูดถึงเรื่องเมื่อ 12 ปีที่แล้ว บางคนอาจจะบอกว่า 12 ปี ทำได้แค่นี้เองหรือ หรือบางคนอาจจะบอกว่า 12 ปี ทำได้มากถึงแค่นี้เชียวหรือ ก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละท่าน สำหรับผมเองมองว่า 12 ปี มีผู้ที่น้อมนำหลักปรัชญาฯ ไปใช้ มีผู้ที่พยายามจะทำให้เกิดการขยายผล และการเผยแพร่ เพื่อให้การน้อมนำไปใช้นั้น เป็นประโยชน์สูงที่สุด และในเวลาที่รวดเร็วที่สุด แต่ไม่ใช่เป็นเวลาที่รวดเร็วจนกระทั่งทำให้เป็นไฟไหม้ฟางหรือไม่ยั่งยืน ผมคิดว่าเรากำลังเดินอยู่บนเส้นทางที่เหมาะสม โดยได้รับความคิดเห็นอันมีคุณค่าจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมากที่มาร่วมกันพิจารณากระบวนการนี้


เมื่อปี พ.ศ. 2548 ในขณะนั้น เรามีโรงเรียนอาสาสมัคร และได้รับการคัดเลือก ให้มาเป็นโรงเรียนที่น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในกระบวนการพัฒนาสถานศึกษา และพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ในโรงเรียน 9 แห่ง ใน 9 อนุภูมิภาค ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกัน ทั้งทาง ภูมิสังคม และ บริบทของโรงเรียน


เมื่อมองกลับไปยังจุดนั้น ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านที่อยู่ในที่นี้คงจะจำได้ว่า ความรู้สึกคือจำนวนโรงเรียนทั้งหมดทั่วประเทศ มีประมาณ 40,000 แห่ง เราเริ่มที่ 9 แห่งใน 9 อนุภูมิภาค รู้สึกว่าเส้นทางในอนาคตน่าจะมีภาระอีกมาก การที่จะขยายไปจนครบทั้งหมดคงเป็นเรื่องยากเหลือเกิน ใครจะมีความอดทน มีความเพียรที่จะทำได้ให้ครบหมด หลายๆ คนอาจจะรู้สึกท้อในใจ แม้กระทั่งอาจจะประเมินด้วยซ้ำว่าอาจจะเป็นไปไม่ได้เพราะว่าภารกิจใหญ่โตมากเกินไป


มาถึงวันนี้ ทุกๆ ท่านอาจจะมาประเมินร่วมกันใหม่ได้ว่า จากโรงเรียน 9 แห่ง ใน 9 อนุภูมิภาคนั้น เมื่อ 6 ปีที่แล้ว เดี๋ยวนี้มีโรงเรียนที่เป็นอาสาสมัคร และได้รับการประเมินให้เป็นสถานศึกษาพอเพียงแบบอย่าง จำนวน ๑,๒๖๑ โรงเรียนแล้วในปัจจุบัน โดยที่สถานศึกษา 1,261 แห่งนี้ มีความโดดเด่นในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปใช้ในการบริหารจัดการสถานศึกษา และในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่พัฒนาเด็กนักเรียนให้เกิดอุปนิสัยพอเพียง จนเห็นผลชัดเจน


ที่น่ายินดีก็คือ ในปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการได้บรรจุปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไว้ในหลักสูตรทุกระดับ และกำหนดให้การจัดการศึกษาของชาติยึดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญานำทาง แล้วก็มีความเชื่อมั่นในการกำหนดเป้าหมายของการขับเคลื่อนว่า ภายในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะมีสถานศึกษาพอเพียงเพิ่มขึ้นเป็น 9,999 แห่งทั่วประเทศ


เพราะฉะนั้น จาก 9 แห่งในปี 2548 แล้วเดินร่วมกันอย่างมุ่งมั่น โดยมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งจนกระทั่งในขณะนี้มี 1,261 แห่ง และจะกลายเป็น 9,999 แห่งทั่วประเทศในเร็วๆนี้ สำหรับตัวผมเองถือว่าเป็นความก้าวหน้าที่เรามีความเชื่อมั่นว่า คงจะสามารถทำไปได้จนครอบคลุมทั้งประเทศในเวลาไม่นานเกินรอและมีความคาดหวังและความเชื่อมั่นว่าจะทำได้อย่างยั่งยืน คือ ให้สามารถรักษาคุณภาพการทำงานและการจัดการเรียนรู้ที่ดี ให้อยู่ได้ตลอดไป


สำหรับศูนย์การเรียนรู้ฯ 13 แห่ง ที่เราชื่นชมกันในวันนี้ ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจลได้กล่าวไปแล้วว่า คุณลักษณะพิเศษของศูนย์การเรียนรู้ฯ คือ จะเป็นแหล่งศึกษาดูงานที่สามารถสื่อสารกระบวนการปลูกฝังอุปนิสัยพอเพียงให้กับเด็กได้อย่างชัดเจน เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้เรามีความยินดีว่า พร้อมๆ กับเป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการที่จะมีสถานศึกษาพอเพียงถึง 9,999 แห่งในช่วง 3 ปีนี้ ทางมูลนิธิสยามกัมมาจล ซึ่งเป็นแกนนำร่วมกับภาคีต่างๆ ในการขับเคลื่อนศูนย์การเรียนรู้ฯ ก็มีความเชื่อมั่นว่า จะสามารถพัฒนาให้มีศูนย์การเรียนรู้ฯ จากที่มีอยู่ปัจจุบัน 13 แห่ง ให้เป็น 84 แห่งในสิ้นปีนี้ เพื่อจะได้ทำหน้าที่ร่วมกับสถานศึกษาพอเพียง 9,999 แห่ง ในการขยายผลการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ครบทุกสถานศึกษาทั่วทั้งประเทศ ในเวลาอันไม่ยาวนานนี้


มองในแง่มุมดีๆ ทั้งหลาย วันนี้เป็นวันที่เราควรจะมองในแง่ดีบนพื้นฐานของความเป็นไปได้ว่า เราค่อยๆ สร้างรากฐานที่แข็งแกร่ง มีพลังมากมาย ทั้งของท่านผู้บริหาร คุณครู ที่อยู่ในที่นี้ และภาคีต่างๆ ที่มาร่วมกันแสดงความยินดีในวันนี้ แต่ในขณะเดียวกัน เพื่อความไม่ประมาท และไม่ประเมินไปในทิศทางดีจนเกินไป ก็อยากจะขอรายงานให้ท่านทั้งหลายกรุณารับทราบในสิ่งที่มูลนิธิสยามกัมมาจลได้ติดตามสถานการณ์ และมีปัจจัยที่เป็นสถานการณ์คุกคามการพัฒนาเยาวชนอยู่ไม่น้อย ที่เกิดขึ้นอยู่พร้อมๆ กับที่เราขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่ว่าอย่างอื่นอยู่นิ่งๆ แต่ยังมีปัจจัยเรียกว่า เป็นสถานการณ์ที่คุกคามการพัฒนาเยาวชน ที่เราควรจะรับทราบด้วย

  • ประการที่หนึ่ง อาจจะมีแนวโน้มในทางลบ ถึงแม้จะไม่มากนัก แต่ก็เป็นแนวโน้มในทางลบที่เราควรจะรับทราบเอาไว้ นั่นคือ คุณภาพการศึกษา ซึ่งมาจากการวัดคุณภาพของเยาวชน รวมทั้งพฤติกรรมความเสี่ยงทางเพศของเด็กในวัยเรียน
  • ประการที่สอง คือ กระแสวัตถุนิยม ซึ่งส่งผลที่สำคัญ คือความต้องการที่จะหาเงินแบบง่ายๆ ที่ไม่ขึ้นอยู่กับหลักการของความขยันหมั่นเพียร และความซื่อสัตย์
  • ประการที่สาม ที่น่าห่วงเป็นแนวโน้มซึ่งดูแล้วยังไม่ดีขึ้น คือ การแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน
  • ประการที่สี่ คือ ความเสื่อมถอยทางด้านคุณธรรมและจริยธรรม
  • ประการที่ห้า อันนี้ไม่เกี่ยวกับเยาวชน แต่เกี่ยวกับประเทศไทยโดยทั่วไป คือ คะแนนความโปร่งใส ไม่สุจริตของประเทศไทย มีแนวโน้มยังลดลง อันดับของประเทศไทยในโลกและในหมู่ประเทศแถบเอเชีย ยังลดลงอยู่ ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบต่อค่านิยมของเยาวชน และสุดท้าย การรักษาความสมดุลระหว่างการรับวัฒนธรรมของต่างประเทศ กับการรักษาวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ยังมีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงอยู่ คือการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเอื้อเฟื้อต่อกันและกัน มีแนวโน้มลดลง ซึ่งอาจจะมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการพัฒนาสังคมเมืองมากขึ้น




ปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเยาวชน แต่ผมมีความเชื่อมั่นว่า ในหมู่ภาคีของเรา รวมทั้งท่านที่อยู่ในที่นี้ทุกท่าน คงจะเห็นพ้องกับผมว่า การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เมื่อเทียบกับการไม่ดำเนินการอะไรเลยเกี่ยวกับการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จากการที่เรามุ่งมั่นและดำเนินการอยู่บนเส้นทาง ตามที่ผมได้กล่าวถึงตั้งแต่ต้นในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สิ่งทั้งหลายที่พวกท่านทั้งหลายกำลังทำอยู่ ณ ขณะนี้ ซึ่งจะเป็นการปลูกฝังอุปนิสัยพอเพียงให้กับเด็กและเยาวชน ท่ามกลางปัญหาหรือสถานการณ์คุกคามเหล่านี้ ซึ่งที่จริงแล้ว ถ้าเราได้รับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์คุกคามต่างๆ และอุปสรรคเหล่านี้ น่าจะเป็นแรงบันดาลใจยิ่งขึ้นกว่าเดิม ในการที่เราจะไปขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยที่เราต้องไม่ใจร้อน และก็ไม่ใจเย็นเกินไป แต่ทำด้วยความมุ่งมั่น และด้วยความมุ่งหวังที่จะสร้างรากฐาน ให้ทุกก้าวย่างเข้มแข็งเหมือนเดิม


ฉะนั้น ผมมีความเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ว่า จากกระบวนการขับเคลื่อน และจาก ‘ตลาดนัดความรู้’ ซึ่งมูลนิธิสยามกัมมาจลจัดครั้งนี้เป็นครั้งที่สามแล้ว คงไม่เป็นการเสียแรงเปล่าอย่างแน่นอน เพราะประโยชน์จากสองครั้งแรกก็ชัดเจน ผมอยากจะเสนอว่าเป้าหมายของการจัดตลาดนัดความรู้ในวันนี้ มี 3 ประการ



           ประการแรก อาจจะสำคัญที่สุด คือ การเรียนรู้ร่วมกัน โดยเฉพาะตัวอย่างในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปปลูกฝังอุปนิสัยความพอเพียงของเยาวชนอย่างเป็นรูปธรรม การมีตลาดนัดความรู้ โดยเผยแพร่ความรู้จากศูนย์การเรียนรู้ฯ ที่เข้มข้น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ทำให้กลายเป็นรูปแบบของการนำไปจัดกิจกรรมการเรียนการสอนต่างๆ สิ่งนี้ ผมคิดว่ามีคุณค่าสูงอย่างยิ่ง



          ประการที่สอง คือ การสร้างเครือข่ายในการทำงาน เพราะเราทราบดีว่า ถ้าเราต่างคนต่างทำ หรือไม่ร่วมกันทำ ความรวดเร็วที่จะประสบความสำเร็จ หรือนํ้าหนักของความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น น่าจะน้อยลงไปมาก เพราะฉะนั้น การสร้างเครือข่ายการทำงานจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และในแง่ความเป็นมนุษย์ของพวกเราทุกคน การทำงานยากๆ ก็คือการต้องเดินขึ้นภูเขา การเติมพลัง สร้างขวัญ และกำลังใจของทุกๆคน น่าจะมีความสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ในช่วง 2 วันนี้ ผมหวังอย่างยิ่งว่าทุกๆ ท่านที่มาร่วมอยู่ ณ ที่นี้ จะเปิดใจแลกเปลี่ยนความรู้ กับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ด้วยกัน เพื่อให้มีการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการจัดการการศึกษา ขอให้เราได้ค้นพบ ได้รู้จักกับกัลยาณมิตร สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ ทั้งในภูมิภาคเดียวกันและต่างภูมิภาคเพื่อร่วมพลังการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ขยายผลไปทั่วประเทศ



          สุดท้ายนี้ อยากจะขอย้ำว่า การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา เป็นเรื่องของการปลูกฝังค่านิยมในสังคมไทย จึงขอยํ้าว่าเป็นเรื่องที่จะต้องทำต่อเนื่องในระยะยาว เพราะฉะนั้น ในส่วนของมูลนิธิสยามกัมมาจล เราปวารณาว่าจะขอเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะพยายามมีบทบาทในการทำให้การขับเคลื่อนนี้เป็นผลสำเร็จให้ได้ และจะเสริมสร้างความเข้มแข็ง เพื่อจะเสริมแกนหลัก คือ กระทรวงศึกษาธิการ ขอปวารณาที่จะช่วยเสริมงานทางด้านนี้ ให้ต่อเนื่องและสำเร็จต่อไป แต่ว่าในที่สุดก็จะต้องหวังจากท่านทั้งหลาย ขอกลับมาที่จุดของท่านผู้บริหาร และคุณครู ที่อยู่ในโรงเรียนทั้งหลาย ทั้งในสถานศึกษาพอเพียง 1,261 แห่งที่มีอยู่แล้ว และใน 9,999 แห่งที่จะเกิดขึ้น และในศูนย์การเรียนรู้ฯ ที่ได้คุณภาพ 13 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 84 แห่ง ในสิ้นปีนี้ ที่จะมาช่วยกันทำให้ความคาดหวังนี้เป็นจริง มั่นคง ถาวร และยั่งยืน



ดาวน์โหลดไฟล์ประกอบการสัมนา ดาวน์โหลดที่นี่