พลิกฟื้นชีวิตดิน…ด้วยพลังเยาวชนฮักนะเชียงยืน

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้วบ้านแบก ตำบลนาทอง อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม ถือเป็น หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนาสลับกับป่าโปร่ง ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมทำการเกษตรโดยเฉพาะปลูกข้าว ส่วนเวลาที่เหลือก็ปลูกพืชผักเพื่อจำหน่าย แต่เมื่อมีอาชีพที่ให้รายได้ดีรุกเข้ามาในชุมชน ทำให้ชาวบ้านกว่า 90 เปอร์เซ็นต์หันมาทำอาชีพ “ปลูกแตงแคนตาลูปเพื่อจำหน่ายเมล็ด” ให้กับบริษัทต่างชาติ ทำให้วิถีการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมเริ่มหายไปจากชุมชน

­

­

การทำการเกษตรรูปแบบใหม่ทำให้คนในชุมชนต้องรับวัตถุดิบจากบริษัทมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น สารเคมี ปุ๋ยเคมี ยากันรา ยาฆ่าแมลง รวมทั้งอุปกรณ์ช่วยฉีดและวัสดุปลูกพืชต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ “ผลผลิต” ตรงตามที่บริษัทต้องการ ส่งผลให้ “ดิน” มีคุณภาพเสื่อมลง มีสารเคมีตกค้างในดินเป็นจำนวนมาก และยังส่งผลกระทบไปถึงคุณภาพอากาศและน้ำ วงจรสิ่งมีชีวิตเปลี่ยนไป จิ้งหรีด มดแดง เขียด งู ไม่มีให้เห็น บริเวณที่ชาวบ้านนำเนื้อแตงไปทิ้งหากเป็นพื้นที่ที่มีหญ้า หญ้าจะไหม้ตาย และที่สำคัญคือชาวบ้านต้องซื้อน้ำกินแทนที่จะกินน้ำจากบ่อน้ำเหมือนที่ผ่านมา

­

เกิดอะไรขึ้นกับชุมชนบ้านแบก!


­

เป็นคำถามที่ “เยาวชนกลุ่มฮักนะเชียงยืน” จังหวัดมหาสารคาม ตั้งขึ้น พร้อมกับคิดหาวิธีแก้ไขโดยมี “แสน” ธีระวุฒิ ศรีมังคละ เป็นแกนนำชักชวนเพื่อนๆ ในชั้นเดียวกัน ประกอบด้วย “เนส” ศิรินญา บุญอาจ “เอ็ม” อนุชา ฆ้องแก้ว “ส้ม” ศิริลักษณ์ โพธิ์หล้า และ “เปรี้ยว” ศิริลักษณ์ สงคราม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม จังหวัดมหาสารคาม เพราะเริ่มเห็นว่าสภาพแวดล้อม สิ่งมีชีวิต และวิถีของชาวบ้านในชุมชนเปลี่ยนไป จึงคิดทำโครงการ “ลดมลพิษ...พลิกฟื้นชีวิตดิน” จากโครงการปลูกใจรักษ์โลก ที่มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับมูลนิธิกองทุนไทย สนับสนุนการดำเนินงาน


ธีระวุฒิ ศรีมังคละ หรือ “แสน” เยาวชนแกนนำกลุ่มฮักนะเชียงยืน เล่าว่า พวกเขาคิดทำโครงการ “ลดมลพิษ...พลิกฟื้นชีวิตดิน” ขึ้นเพราะต้องการสร้างแนวร่วมในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน กลุ่มเครือข่ายในชุมชนให้รับรู้และเข้าใจ จนเกิดความตระหนักถึงผลกระทบจากการใช้สารเคมี เพื่อพลิกฟื้นดินให้กลับมาเป็นแหล่งอาหารของคนในชุมชนต่อไป

“ปัญหาการใช้สารเคมีในชุมชนเริ่มรุนแรงและปรากฏผลให้เห็นเด่นชัด คนในชุมชนเกิดอาการป่วยเรื้อรัง มีการแพ้สารเคมี เวียนหัวจากการสูดดมสารเคมี ชาวบ้านบางคนไม่กล้าเดินผ่านบริเวณเพาะปลูกเลย เพราะแค่เดินผ่านก็เกิดผดผื่นขึ้นตามร่างกายและที่สำคัญพบว่ามีการใช้แรงงานเด็กๆ (ป.5 - 6) ไปผสมพันธุ์แตงแคนตาลูปที่ต้องทำในเวลากลางคืนด้วยผลตอบแทนสูงกว่า 500 บาทต่อวัน ส่งผลให้เด็กส่วนหนึ่งหลับในชั่วโมงเรียนหนังสือ บางคนถึงขนาดขาดเรียนเพื่อไปหารายได้ ซึ่งต้องแลกมากับร่างกายที่ทรุดโทรมและการเจ็บป่วย”

แสน เล่าต่อว่า หลังจากลงพื้นที่สืบค้นข้อมูลเบื้องต้นแล้ว เยาวชนกลุ่มฮักนะเชียงยืนก็ประสานงานเชิญภาคีที่เกี่ยวข้องจัดเวทีเสวนาหาแนวทางลดผลกระทบจากระบบเกษตรพันธะสัญญา งานนี้มีชาวบ้านเข้าร่วมด้วยประมาณ 30 คน ทั้งคนแก่ เด็ก และกลุ่มวิจัยระบบการเกษตรภายใต้พันธะสัญญา จนได้ข้อมูลเชิงลึกระดับหนึ่ง พวกเราจึงปรับรูปแบบการทำงานใหม่เป็น 3 ขั้นคือ 1. ขั้นเตรียม 2. ขั้นดำเนินกิจกรรม และ 3.สรุปผล

ขั้นเตรียมประกอบด้วย การสำรวจปัญหาด้วยการสอบถามและสัมภาษณ์เชิงลึก จากนั้นจึงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมทั้งการตรวจสอบดิน และการปลูกแคนตาลูปจากปราชญ์ชาวบ้าน หมอดิน จากงานวิจัย ขั้นดำเนินกิจกรรม จัดกิจกรรมเพื่อนบอกเพื่อนเพื่อสร้างกลุ่มเครือข่าย และกิจกรรมรักบ้านเกิดเพื่อสร้างกลุ่มเยาวชน ขั้นสรุป เป็นการเปิดเวทีปลูกรักบ้านเกิดโดยจัดทำกับกลุ่มผู้ปกครองและเวทีคืนข้อมูลสู่หมู่บ้านโดยการแสดงละครของกลุ่มเครือข่ายและกลุ่มเยาวชน เพื่อสร้างความตระหนักให้กับผู้ปกครอง โดยทุกกิจกรรมมุ่งไปสูการลดใช้สารเคมีในการเพาะปลูก และตลาดเขียว

­

“กิจกรรมเพื่อนบอกเพื่อนมีเป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายกับกลุ่มเยาวชนที่อาศัยอยู่ในบ้านแบก ซึ่งเป็นนักเรียนในโรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม เพื่อให้ตระหนักรู้ถึงผลเสียของการใช้สารเคมี ส่วนกิจกรรมรักบ้านเกิดมีเป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายกับกลุ่มเยาวชนนักเรียนในโรงเรียนบ้านแบก (แบกสมบูรณ์วิทย์) โดยเปิดวิดีโอภัยของสารเคมีในรูปแบบของการ์ตูน และพาน้องๆ ลงพื้นที่แปลงปลูกแคนตาลูปเพื่อเก็บตัวอย่างดิน สาธิตวิธีเก็บตัวอย่างดินให้น้องๆ จากนั้นก็มาสรุปผลการทำกิจกรรมรวมกับพบว่า เยาวชนและชาวบ้านรู้ถึงผลและอันตรายของการใช้สารเคมี แต่ยังไม่เกิดความตระหนักพอที่จะลดหรือเปลี่ยนวิธีการใช้สารเคมี”

­

ด้วยเหตุนี้แสนและเพื่อนๆ จึงจัดกิจกรรม “เวทีเสวนาปลูกรักษ์บ้านเกิด” ขึ้น เพื่อคืนข้อมูลเกี่ยวกับดินให้ชาวบ้านรับรู้ผ่านการแสดงละครเบิกฟ้าเบิกอรุณ ที่เปรียบเทียบวิถีชีวิตเก่าแก่และวิถีชีวิตแบบใหม่ เพื่อให้ชาวบ้านที่ได้ชมเกิด “ความตระหนัก” ถึงพิษภัยของสารเคมีทั้งต่อตนเองและครอบครัว รู้จักป้องกันตัวเองจากสารเคมีแทน พร้อมกับคิดทำ “ตลาดเขียว” ซึ่งเป็นตลาดปลอดสารพิษให้คนในชุมชนไว้ซื้อขายกันเอง ซึ่งตอนนี้ตลาดเขียวยังคงเป็นแค่ความฝันที่ยังไปไม่ถึง แต่พวกเราก็จะพยายามทำต่อไป

­

ตลอดระยะเวลา 1 ปีของการทำโครงการนี้ แสนบอกว่า พวกเขาได้เรียนรู้มากมาย โดยเฉพาะเรื่องการทำงานเป็นทีม เมื่อก่อนไม่เคยเชื่อเลยว่าการทำงานเป็นทีมจะช่วยให้งานสำเร็จลุล่วงได้ แต่เมื่อได้ร่วมโครงการปลูกใจรักษ์โลก ทำได้เรียนรู้เรื่องหลายเรื่อง ทั้งความสามัคคี ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และให้เกียรติกันเท่านั้นถึงจะทำงานออกมาได้สำเร็จลุล่วงได้

­

ด้าน อาจารย์เพ็ญศรี ใจกล้า อาจารย์ที่ปรึกษากลุ่มเยาวชนฮักนะเชียงยืน เล่าว่า เราอยากให้เด็กๆมีจิตอาสา จะเก่งไม่เก่งไม่เป็นไร เพราะถ้ามีจิตอาสาแล้วเขาจะทำงานด้วยความสบายใจ ไม่ต้องวิตกกังวลอะไร และสิ่งที่เด็กจะได้เรียนรู้คือการตัดสินใจด้วยตัวเอง และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า สิ่งที่ได้จากการทำโครงการนี้คือการมีเครือข่ายเข้ามาช่วยเหลือ และมีผู้ใหญ่ให้การสนับสนุนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องน่าดีใจเป็นอย่างยิ่ง

­

­

วันนี้แม้ว่าปัญหาการใช้สารเคมีในชุมชนบ้านแบกจะยังไม่สามารถแก้ไขได้ ด้วยมีข้อจำกัดและเงื่อนไขที่ใหญ่เกินกว่ากลุ่มเยาวชนเล็กๆ อย่างพวกเขาจะรับมือไว้ แต่อย่างน้อยโครงการนี้ก็ได้สร้างเยาวชนให้มีจิตใจรักสิ่งแวดล้อม และมีเยาวชนกล้าที่จะก้าวลงมาทำในสิ่งดีๆ เพื่อชุมชนสังคมของตนเอง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าชาวบ้านจะตระหนักถึงพิษภัยของสารเคมีหรือดินจะกลับมามีคุณภาพเหมือนเดิมหรือไม่ แต่เยาวชนกลุ่มนี้ก็ได้ “เปลี่ยนทัศนคติ” ในการทำงานของตนเองพร้อมได้เรียนรู้ “บทเรียนชีวิต” เพิ่มขึ้น...

­

น้องๆที่สนใจงานด้านสิ่งแวดล้อมสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ “ปลูกใจ...รักษ์โลก” ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 20 กันยายน 2556 สอบถามลาดละเอียดเพิ่มเติม โทร : 02-314-4112-3 ต่อ 301,302 หรือโทร : 086-788-2606 หรือ www.scbfoundaion.com / www.tff.or.th