​รายงานการดำเนินโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ปีที่ 2

รายงานโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา  คณะทำงานได้พยายามเก็บรายละเอียดการทำงานทุกขั้นตอนไว้เพื่อทำให้มองเห็นภาพการทำงานที่ใช้ประสบการณ์ของปีแรก และพลังการขับเคลื่อนด้วยพลังความคิดสดๆในระหว่างปีที่สองร่วมกันของคนทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องนักพัฒนาหนุ่มสาวที่เป็นเจ้าหน้าที่สงขลาฟอรั่มที่ได้ใช้ความพยายามสร้างสรรค์งาน “โค้ช” ขึ้นมาด้วยความตั้งใจและมองเห็นเป็นเส้นทางของการทำงานระหว่างน้องกับพี่ที่ต้องการหนุนเสริมกันและกันไปสู่เป้าหมายของโครงการพลังพลเมืองเยาวชนร่วมกัน โดยปฏิบัติการเป็นขั้นตอนและรวบรวมเป็นความรู้สดๆมาเป็นประสบการณ์การทำงานได้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือ


1) การร่วมกันสร้างกระบวนการพัฒนาข้อเสนอโครงการของกลุ่มแกนนำเยาวชน ในแบบที่เรียกว่า “การกลั่นกรองจากมุมมองหลายมิติ” จนออกมาเป็นแผนปฏิบัติการโครงการที่เข้าใจตรงกัน


2) กระบวนการเยี่ยมเยียนกลุ่มเฉลี่ยเดือนละ 3 ครั้ง ที่ปรึกษาหรือโค้ชประเมินสถานการณ์การทำงานของกลุ่มแกนนำเยาวชนเป็นระยะๆ ไปพร้อมๆการพัฒนาทักษะชีวิตเบื้องต้น 5 ด้านได้แก่เรื่องระบบคิด การจัดการทางอารมณ์ การรู้เขารู้เรา การสื่อสารเพื่อสร้างสัมพันธภาพ และการมีจิตใจเพื่อส่วนรวมโดยโค้ชทำหน้าที่ตั้งคำถาม ชวนคิด ชวนคุย


3) กระบวนการปลูกฝังสำนึกความเป็นพลเมืองให้แกนนำเยาวชน ในระหว่างลงไปศึกษาความเป็นชุมชนของความเป็นพลเมือง (community of citizens) ที่ชุมชนคลองแดน อ.ระโนด จ.สงขลา สัมผัสเรื่องจริงชีวิตจริงในด้านความเป็นผู้นำของสามัญชน การมีส่วนร่วมในการดูแลและส่งเสริมกิจกรรมของชุมชนทั้งด้านธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ศาสนา ศิลปวัฒนธรรมประเพณี การร่วมกันออกกฎระเบียบและเคารพในกฎระเบียบของชุมชน และการร่วมกันแก้ปัญหาของชุมชน 


4) การใช้พลังที่มีอยู่ในตัวตนให้เกิดความสดชื่นเป็นสุข อาทิพลังถ้อยคำเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ทำให้เกิดแรงกระตุ้นพลังความเป็นพลเมืองขึ้นในใจและเห็นคุณค่าของการลุกขึ้นมาทำงานเล็กๆที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อบ้านเมืองของตน การรู้จักตั้งคำถามที่มีลูกล่อลูกชน การตั้งคำถามเพื่อท้าทายเพื่อชวนให้คิดมากขึ้น ฝึกการรู้จักฟังอย่างตั้งใจ เพื่อให้การฟังช่วยถักทอความคิด เข้าใจปัญหามากขึ้น การฝึกให้น้องรู้เท่าทันความคิดเห็นของตนเอง ไม่ยัดเยียดความคิดกันแต่ใช้การต่อยอดความคิดแทน มีศิลปะในการสนทนา และนำศิลปะเช่นบทเพลงที่มีแรงบันดาลใจ ภาพที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ การสร้างบรรยากาศในเรื่อง “พลังปัญญาสร้างสรรค์ร่วมกัน” (collective wisdom) รวมทั้งความเชื่อในเรื่องการใช้ประสบการณ์ในการแก้ปัญหา มากกว่าความรู้ที่สำเร็จรูป โดยเปิดพื้นที่การเรียนรู้จากเรื่องจริง เรียนรู้และสัมผัสความจริง


5) การใช้ Social networks อย่างรู้เท่าทัน ใช้สื่อสารระหว่างกันและสื่อสารกับสาธารณะอย่างเข้าใจ


6) การบันทึกเรื่องราวการทำงาน และพัฒนาไปสู่การสรุปผลการดำเนินงานเมื่อสิ้นสุดโครงการที่น้องทำ


ทั้งหมดนี้เป็นหัวใจของเนื้อหาสาระของรายงานการดำเนินโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาในปีที่สอง ที่มี “โค้ช” ซึ่งเป็น เจ้าหน้าที่สงขลาฟอรั่มทำหน้าที่เป็นกลไกที่มีชีวิตและจิตวิญญาณขับเคลื่อนโครงการได้อย่างมีพลัง!!


อ่านรายละเอียด  รายงานการดำเนินโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ปีที่ 2