ถอดบทเรียนกระบวนการพัฒนาพลเมืองเยาวชน จ.สงขลา ปี 5
โคชชิ่ง ปี 5 โดยคิดค้นคว้า : กระบวนการพัฒนาเยาวชนจังหวัดสงขลา

­

กระบวนการพัฒนาเยาวชนจังหวัดสงขลา

     

     ผลจากการทำโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลามาตลอด 4 ปี สงขลาฟอรั่มค้นพบว่า ช่วงวัยระหว่าง 12-24 ปี เป็นวัยที่มีพลังในการทำงานจิตอาสา และมีความรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากนี้ยังเป็นวัยที่สามารถปลูกฝังเรื่องของจิตสำนึกพลเมืองได้ ซึ่งจากการที่สงขลาฟอรั่มได้ศึกษาเรื่องของสมองของวัยรุ่นทำให้พบว่า วัยนี้เป็นช่วงที่สมองในส่วนลิมบิก Limbic System อย่างเต็มที่ทำให้วัยรุ่นมีอารมณ์หุนหันพลันแล่น ชอบทำอะไรเสี่ยง ๆ และสมองที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้เต็มที่คือสมองส่วนรอบคอบ หรือสมองส่วหน้าของเขาทำให้เกิดความไม่สมดุล ทำให้สงขลาฟอรั่มสนใจว่าสมองของช่วงนี้มีลักษณะพิเศษที่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้และเชื่อมโยงกับส่วนต่าง ๆ ของสมองได้สูง ดังนั้นหากวัยรุ่นถูกฝึกให้เกิดกระบวนการคิด การวางแผนและการเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ตลอดเวลาให้เขาได้รู้จักตั้งเป้าหมายในชีวิตให้ชัดเจน จะทำให้เขาสามารถพัฒนาเกิดเป็นทักษะในการกำกับตนเองได้

     ดังนั้นในปีนี้สงขลาฟอรั่มจึงนำเรื่องการพัฒนาสมองมาเป็นโจทย์ใหญ่ของโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาปีที่ 5 เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการสำคัญที่จะช่วยให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมที่ดีและก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

     โดยยังไม่ทิ้งเรื่องจิตสำนึกพลเมือง ที่ผลจากการระดมความคิดเรื่องของคุณลักษณะของจิตสำนึกพลเมืองในปีที่ 4 และการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองทำให้ค้บพบคุณลักษณะ 8 ประการที่ใกล้เคียงกันได้แก่ 1.การเป็นผู้มีความรู้ มีการศึกษา 2. มีความสามารถที่มองเห็นและเข้าใจสังคมของตนและโลก 3.มีความสามารถที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่น รับผิดชอบในบทบาทของตัวเองและบทบาทส่วนรวม 4. เข้าใจ อดทน ยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม 5. คิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลและเป็นระบบ 6. มีความเต็มใจที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยท่าทีที่สันติไม่รุนแรง,เต็มใจที่จะเปลี่ยนการใช้ชีวิต และอุปนิสัยการบริโภคเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม 7. เข้าใจและปกป้องสิทธิมนุษยชน 8. เต็มใจและความสามารถในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเมืองระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ

      ดังนั้นการพัฒนาพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาในปีนี้จึงเน้นไปที่การพัฒนาสมองและสำนึกพลเมือง ที่ทีมโคชสงขลาออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ของเยาวชนไว้ดังนี้

­

กระบวนกา่รสร้างพลเมืองเยาวชนโดยสงขลาฟอรั่ม

­

เส้นทางกระบวนการพลเมืองเยาวชนสงขลา

      1. ประชาสัมพันธ์/ สรรหาโครงการเยาวชน

     สำหรับกระบวนการประชาสัมพันธ์และสรรหาโครงการของเยาวชนในปีนี้ สงขลาฟอรั่มออกแบบกระบวนการทำงานใหม่ ใช้วิธีการลงพื้นที่เพื่อสรรหาเยาวชนที่มีความคิดสอดคล้องกับโครงการ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้

  • กลุ่มที่มีแนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาแนวใหม่และการศึกษาที่เป็นอิสระจากส่วนกลาง ประกอบด้วย เทศบาลตำบลปริก และโรงเรียนชะแล้นิมิตวิทยา ที่มีการนำวิถีชุมชนเข้ามาให้เด็กเรียนรู้
  • กลุ่มชุมชนที่สนใจการเรียนรู้จาก Beach for life ในการสร้างแรงบันดาลใจ รวมทั้งบุคลากรในสงจลาฟอรั่มที่เคยทำงานในพื้นที่เล็งเห็นถึงความกระตือรือร้นของคนในชุมชนจึงลงไปประชาสัมพันธ์ยังพื้นที่นั้น
  • โครงการที่โดดเด่นควรค่าแก่การสนับสนุนและมีแนวทางในการต่อยอดงานได้
  • กลุ่มคนภายนอกที่เข้าร่วมกิจกรรม Learning Festival ในปีที่ผ่านมา และเกิดแรงบันดาลใจส่งข้อเสนอโครงการ ได้มารวม 27 โครงการกระจายใน 3 จังหวัดของภาคใต้ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา จังหวัดตรัง จังหวัดสตูล

­

โดยเครื่องมือที่ใช้ในกระบวนการนี้คือ “โคชโมเดลหรือเครื่องมือ 5 ห่วง” ใช้สำหรับพัฒนาโจทย์โครงการ

­

โมเดล5ห่วง

     ส่วนโครงการใหม่ที่ยังไม่เคยเข้าร่วมกระบวนมาก่อน ทีมโคชจะเน้นการตั้งคำถาม ใช้วิธีล้อมวงชวนพูดคุยแลกเปลี่ยนระดมความคิดร่วมกัน จากนั้นพาเข้าสู่เครื่องมือโคชโมเดล วิธีการนี้โคชบอกว่าหากอยากให้ได้ผลจริงควรพาเยาวชนที่เสนอโครงการลงพื้นที่เพื่อศึกษาบริบทของชุมชน ให้เขามองเห็นทุกข์ทุนที่มีในชุมชน เพื่อให้เขาเห็นภาพสถานการณ์ปัญหาชัดเจน และมองเห็นโจทย์โครงการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหา โดยคำถามชวนคิดชวนคุย คือ

  • สนใจอะไรในชุมชนของตัวเอง
  • อยากทำอะไร
  • อยากทำประมาณไหน
  • มีความเป็นไปได้ไหมในสิ่งที่อยากทำ

­

2. พิจารณากลั่นกรองมุมมองหลายมิติจากบุคลากรหลายสาขา

     ทั้งนี้ทีมสงขลาฟอรั่มได้นิยามคำว่า “มุมมองหลายมิติ” ประกอบด้วย บุคคล ซึ่งได้แก่ที่ปรึกษาโครงการที่มีความชำนาญจากหลากหลายสาขา เช่น ด้านกฎหมาย ด้านการศึกษานอกระบบและด้านศิลปวัฒนธรรม และมุมมองจากผู้บริหารโครงการและโคชที่ผ่านโครงการการทำงานร่วมกับเยาวชนที่มีความหลากหลาย

­

    กระบวนการกลั่นกรองจากมุมมองหลายมิติ มีดังนี้ 
  • โคชพิจารณาจากเกณฑ์ 5 ข้อ ประกอบด้วย 1. การรวมกลุ่มของเยาวชน 2. มีที่ปรึกษาประจำกลุ่ม 3. โครงการมีความเชื่อมโยงกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง 4. งบประมาณมีความเหมาะสม 5. พื้นที่การทำงาน
  • โคชพิจารณากลั่นกรองและส่งต่อให้กับผู้บริหารสงขลาฟอรั่นผ่านเกณฑ์ 3 ข้อ คือ 1. คุณค่าของงานเยาวชนที่มีต่อส่วนรวม 2. งบประมาณที่ขอตรงตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง 3. วิธีการออกแบบการทำงานมีความคิดสร้างสรรค์
  • ข้อสรุปของการพิจารณาโครงการ ที่มาจากการระดมความคิดร่วมกันทั้ง 3 ฝ่ายประกอบด้วย ผู้บริหาร ที่ปรึกษาโครงการ และโคช

โคชโมเดล

  • โคชลงพื้นที่พิจารณกลั่นกรองร่วมกับเยาวชน ครู ผ่านเครื่องมือโคชโมเดลเพื่อเป็นเงื่อนไขในการหาเหตุผลของการตัดสินใจเลือกทำโครงการ จากนั้นพาน้องทำไทม์ไลน์การทำโครงการภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด เพื่อไปให้ถึงจุดหหมายที่วางไว้
  • โคชรวบรวมโครงการของเยาวชนที่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองทั้งหมดเตรียมเสนออนุมัติ
  • นำเสนอต่อผู้บริหารและแบ่งความรับผิดชอบให้โคชดูแลกลุ่มเยาวชน

­

ผลที่เกิดขึ้น

     มีโครงการที่ผ่านการพิจารณาทั้งสิ้น 19 โครงการ แบ่งเป็นกลุ่มเก่า 6 โครงการและกลุ่มใหม่ 13 โครงการ ในปีนี้ยังมีโครงการที่ยังคงสนับสนุนต่อ เช่น โครงการผักเพื่อชีวิต กลุ่ม beach for life และกลุ่มศึกษากฏหมายเพื่อคุ้มครองหาดทรายอย่างยั่งยืน กลุ่มนักกฎหมายอาสา

­

3. พลังการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง

     เมื่อได้จำนวนโครงการครบตามเป้าหมายที่วางไว้ เยาวชนทุกคนจะเริ่มปฏิบัติงานตามแผนที่ได้นำเสนอไว้ โดยโคชจะลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของเยาวชนผ่านการจดบันทึกเป็นฐานข้อมูลเก็บไว้ และเสริมศักยภาพในการทำงานผ่านการให้เครื่องมือกับเยาวชน เช่น

  • เครื่องมือ BAR ( Before Action Review) เพื่อให้เยาวชนได้เตรียมความพร้อมในการทำงาน แบ่งบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน และวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ
  • เครื่องมือ AAR (After Action Review) เพื่อให้เยาวชนได้ทบทวนการทำงานที่ผ่านมาว่าเขาได้เรียนรู้อะไรจากการทำงาน

     โดยระหว่างทางโคชจะต้องทบทวนความรู้ ความเข้าใจเรื่อง Active Learning การเรียนรู้จากการปฎิบัติจริง 

     นอกจากการหนุนเสริมศักยภาพเด็กและเยาวชนแล้ว สงขลาฟอรั่มยังมีการหนุนเสริมคนทำงานในองค์กรด้วยการจัดเสวนาเรื่องทักษะและคุณลักษณะที่สำคัญของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 นอกจากนี้โคชยังต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องสมองสุดวิเศษ และทำความเข้าใจเรื่อง Executive function (EF) เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับสมองของเยาวชนกลุ่มเป้าหมายให้ลึกขึ้น และนำเรื่องที่โคชได้เรียนรู้มาออกแบบกิจกรรมนันทนาการเพื่อช่วยเสริมในเรื่องการบริหารสมอง และการกระตุ้นสมองให้กับเยาวชนเพื่อให้สอดคล้องกับการยกระดับงาน

tips_coach

4. Work shop ประชุมเชิงปฏิบัติการ “พลังสมองวัยรุ่นสู่พลังพลเมืองเยาวชน”

     โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการของโครงการ โดยสิ่งแรกที่เยาวชนต้องเข้าใจคือเรื่องพลังเยาวชน เข้าใจความมหัศจรรย์ของพลังสมองที่มีอยู่ในตัวเขา และเชื่อมโยงคุณค่าของงานที่ตนเองทำกับสถานการณ์สังคมระดับประเทศ ระดับโลก ซึ่งปีนี้โคชให้เยาวชนได้ลงมือปฏิบัติงานก่อน เพื่อเป็นการเพิ่มระยะเวลาในการทำงานของเยาวชนให้มากขึ้น ซึ่งต่างจากปีที่ผ่านมาที่มีการจัดกิจกรรม Workshop ก่อนที่จะให้เยาวชนลงมือปฏิบัติโครงการ โดยเวทีนี้โคชได้ออกแบบการเรียนรู้ออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ

­

ขั้นตอนที่ 1 เรียนรู้เรื่องสมองและปลูกฝังสำนึกพลเมือง
  • บทบาทพลเมืองเยาวชนที่สำคัญกับการดูแลชีวิตและสังคม
  • สถานการณ์ทางสังคม ผ่านกลุ่มตัวอย่างคือ กลุ่มปันรักที่รวมตัวกันทำเรื่องอาหารปลอดภัยเพื่อผู้บริโภค
  • เรียนรู้เรื่องสมองอันสุดแสนวิเศษ โดยป้าหนู-พรรณิภา โสตถิพันธุ์ เพื่อให้เยาวชนได้รู้จักระบบสมองของตัวเองที่มีความมหัศจรรย์ และดูการทำงานที่ประสบความสำเร็จที่เชื่อมโยงกันระหว่างทักษะการพัฒนา ทักษะการกำกับตนเองและการทำงานให้ประสบผลสำเร็จจากตัวแทนเยาวชนกลุ่ม beach for life และกลุ่มนักกฎหมายอาสา

­

ขั้นตอนที่ 2 ฝึกกระบวนการคิดเชื่อมโยง
  • ฝึกทักษะการคิดจดจ่อ ด้วยการทบทวนเป้าหมาย กิจกรรม แผนการดำเนินงาน และคุณค่าที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ
  • ฝึกทักษะการคิดเชื่อมโยงงานที่ตนเองทำให้เข้ากับสถานการณ์โลกในประเด็นต่าๆ อาทิ สถานการณ์การศึกษา สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน คุณภาพชีวิต และความมั่นคงทางอาหาร โดยมีโคชทำหน้าที่ตั้งคำถามเพื่อให้เห็นความเชื่อมของโครงการกับสถานการณ์ปัญหา แลกเปลี่ยนกันภายในกลุ่มย่อยเพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมกันคิดวิเคราะห์ เพื่อนำเสนอในวงใหญ่อีกครั้ง

­

ขั้นตอน 3 ฝึกทักษะการคิดเชิงออกแบบ การคิดสร้างสรรค์ และการทำงานเป็นทีม
  • ให้เยาวชนทุกกลุ่มระดมความคิดเพื่อหาโจทย์ปัญหาร่วม และออกแบบวิธีการนำเสนอผ่านหุ่นเงา 

­

ผลที่เกิดขึ้น

     เยาวชนจะรู้จักตัวเอง รู้จักโครงการเพื่อน และรู้ว่าโครงการที่ตนเองทำเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยสถานการณ์โลกได้อย่างไร มองเห็นความเชื่อมในเนื้องานของตัวเองกับเพื่อน นอกจากนี้ยังได้ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ การคิดเชิงออกแบบ การคิดสร้างสรรค์ และการทำงานเป็นทีมอีกด้วย

­

5. ติดตามหนุนเสริมรายโครงการตลอดระยะเวลา 6 เดือน

     ประสบการณ์ทำงานในปีที่ผ่านมา โคชสงขลาพบว่า ทีมงานมีเวลาในการติดตามโครงการของเยาวชนค่อนข้างน้อย ปีนี้ทีมโคชจึงปรับกระบวนการติดตามหนุนเสริมใหม่ ให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่เป็นพิเศษ โดยให้เวลาสำหรับการติดตามอย่างน้อย 2 วัน/ทีม ทั้งร่วมทำกิจกรรมกับเยาวชน สังเกตการณ์ และคอยตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นเยาวชน จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาระดมความคิดกับทีมโคชอีกครั้ง

    โดยเครื่องมือที่ใช้ในขั้นตอนนี้มีหลายรูปแบบ เช่น ไทม์ไลน์,ปฏิทินชุมชน, mind map ,หลักการเล่าเรื่อง การคำนวณรายได้ชุมชน ขึ้นอยู่กับโจทย์ของกลุ่มว่าควรหยิบอะไรไปใช้ (ทำอินโฟ )

­

กระบวนการ
  • ตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นการทำงานผ่านไทม์ไลน์ของโครงการ เพื่อให้น้องเห็นช่องว่างว่ามีข้อมูลตรงไหนบ้างที่ต้องเก็บเพิ่ม หรือกิจกรรมไหนที่ต้องปรับแก้
  • เน้นให้เยาวชนทำกิจกรรมที่ได้ลงมือปฏิบัติจริง เพราะโคชเชื่อว่าเยาวชนจะได้เรียนรู้จากการลงมือทำคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด โดยระหว่างทางของการลงมือทำจะมีทีมโคชคอยทำหน้าที่กระตุ้นการทำงานผ่านการตั้งคำถาม ลงพื้นที่ร่วมกับน้องรายโครงการ

tips_coach2

6. กิจกรรมเติมจิตสำนึกพลเมือง: พลเมืองรุ่นใหม่เท่าทันสถานการณ์ขยะ

     เนื่องจากสถานการณ์ขยะในช่วงที่ผ่านมาถือเป็นประเด็นสำคัญของสังคมโลกที่ควรได้รับการแก้ไข ทีมโคชจึงใช้สถานการณ์ปัญหาขยะมาเป็น “เครื่องมือ” ในการจัดกิจกรรมเพื่อเติมเต็มจิตสำนึกพลเมือง โดยเลือกชุมชนเป้าหมายคือชุมชนเก้าเส้ง เป็นพื้นที่จำลองสถานการณ์ให้เยาวชนได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน และเรียนรู้ว่าปัญหาขยะที่เกิดขึ้นเพราะอะไร รวมถึงจัดเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ “ถ้าเขาจะจัดการปัญหาขยะเขาจะต้องจัดการอย่างไร” หลังการเสวนาทีมโคชฝึกทักษะการคิดเชื่อมโยงระหว่างปัญหาขยะกับโครงการที่เยาวชนทำเพื่อปลุกสำนึกพลเมืองให้เกิดขึ้นในตัวเยาวชน

­

กระบวนการทำงาน
  • จัดกลุ่มเยาวชนแบบคละโครงการ นำตัวชี้วัดเรื่องสำนึกพลเมือง 8 ข้อ ชวนเยาวชนพูดคุยรายข้อ เช่น สถานการณ์ของวันนี้คิดว่าเกิดเรื่องไหนที่เกี่ยวข้องกับตัวเองบ้าง และเกิดช่วงไหน เมื่อไหร่ (กระบวนที่ออกแบบให้เยาวชนฟังสถานการณ์ขยะจากพื้นที่ตัวอย่างก่อน จากนั้นแบ่งกลุ่มระดมความคิดร่วมกัน ลงพื้นที่เพื่อไปศึกษาข้อมูลตามโจทย์ที่โคชให้โดยเยาวชนจะต้องเก็บข้อมูลและนำข้อมูลที่ได้มาแลกเปลี่ยนกัน)
  • มารวบรวมข้อมูล แลกเปลี่ยนในกลุ่มย่อยผ่านการทำ Mind map เพื่อช่วยจัดระบบความคิด เช่น ที่มาของขยะมาจากไหน เป็นต้น โคชตั้งคำถามชวนวิเคราะห์ถึงสาเหตุและวิธีแก้ไขจากประเด็นที่แต่ละกลุ่มได้รับมอบหมาย ทำกิจกรรมอะไรเพื่อเป็นการลดปัญหาขยะ แบ่งบทบาทหน้าที่กันอย่างไร ก่อนพาลงพื้นที่จริงอีกครั้ง
  • ให้ถุงผ้ากับเยาวชน เพื่อเป็น “เงื่อนไข” ให้เยาวชนเห็นว่าในหนึ่งวันเขาสร้างขยะอะไรบ้าง โดยให้เยาวชนนำขยะใส่ในกระเป๋าผ้า ในช่วงเย็นจึงมาสรุปกันว่าในหนึ่งวันพวกเขาสร้างขยะไปเท่าไหร่ ซึ่งจากกิจกรรมนี้เยาวชนสะท้อนว่า การมีถุงผ้าทำให้เยาวชนรู้จักประเมินว่าการจะกินจะใช้อะไรสร้างขยะแค่ไหน และพยายามลดจำนวนขยะที่ตัวเองจะสร้างขึ้นจากการบริโภค
  • ช่วงเย็นทีมโคชชวนเยาวชนถอดบทเรียนเรื่องสำนึกพลเมืองทั้ง 8 ข้อ เช่น สำนึกพลเมืองที่เกิดขึ้น การศึกษาข้อมูลทำให้ตัวเองเข้าใจสถานการณ์เรื่องปัญหาขยะเกิดขึ้นตอนไหน ช่วงไหนของกิจกรรม โดยให้เขาเขียนอธิบาย เพราะอยากรู้ว่าน้องเข้าใจความเป็นพลเมืองที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ทำไหม ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้น้องได้ย้อนกลับไปมองงานตัวเองด้วย

­

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
  • เยาวชนเข้าใจและมองเห็นสำนึกพลเมืองจากสถานการณ์ขยะเป็นเบื้องต้น
  • จากการทำกิจกรรมพบว่าเยาวชนได้เรื่องของตัวชี้วัดข้อ 1-7 (ตามตัวชี้วัด) มากที่สุด
  • ถ้าจะทำให้ดีขึ้น อยากเพิ่มเวลาให้น้องมีโอกาสเล่างานตัวเองให้เพื่อนฟัง เพื่อทบทวนคุณค่างานและฝึกทักษะการนำเสนองานของตัวเอง

ตัวชี้วัดสำนึกพลเมือง

7. กิจกรรม Learning festival ในพื้นที่

     ก่อนเริ่มกิจกรรม Learning Festival ทางโคชจะปล่อยให้น้องดำเนินกิจกรรมตามแผนที่วางไว้ คอยกระตุ้นให้เยาวชนเรื่องการจัดกิจกรรม Learning Festival เป็นระยะ ๆ เพื่อให้เยาวชนสามารถเปิดพื้นทีได้ทันเวลา และสามารถจับประเด็นเพื่อนำข้อมูลที่ตนเองทำมาใช้นำเสนอได้ โดยเหตุผลของการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรม Learning Festival เป็นรายพื้นที่ (เดิมจัดอยู่แล้วแต่ปีนี้ให้ความสำคัญมากขึ้น) เพราะต้องการ ให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าความหมายของงานที่เยาวชนทำ และสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนอยากทำงานต่อ แต่ที่สำคัญคือต้องการฝึกทักษะการสื่อสาร การนำเสนอผ่านที่สาธารณะ และสร้างการมีส่วนร่วมทั้งต่อทีมและต่อชุมชน

กระบวนการ
  • ชวนเยาวชนรายพื้นที่ร่วมออกแบบกิจกรรมโดยให้เยาวชนวาดภาพฝันที่อยากเห็น รูปแบบของการจัดเวที
  • เชิญผู้รู้ในประเด็นที่เยาวชนทำมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดวงเสวนาเพื่อยกระดับการทำโครงการของเยาวชนให้แหลมคมยิ่งขึ้น
  • เปิดวงเสวนาวงย่อยชวนคนในชุมชนพูดคุยถึงแนวทางการขับเคลื่อนพัฒนาเยาวชนของชุมชน โดยโคชพยายามเชื่อมโยงงานที่เยาวชนทำให้เข้ากับวิถีชีวิตของชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนเห็นคุณค่างานของเยาวชน

tips_coach3

คุณสมบัติโคช

จากเส้นทางการพัฒนาเยาวชนจังหวัดสงขลา จะเห็นได้ว่าโคชต้องมีความละเอียดและใส่ใจในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ เพื่อพาเยาวชนไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนั้น “โคช” จึงต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  1. สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนได้ มองเห็นศักยภาพ และสะท้อนให้เขาเห็นว่าตัวเองมีศักยภาพอย่างไร เพื่อให้เกิดความภาคภุมิใจ
  2. เห็นคุณค่าของงานเยาวชน เมื่อไหร่ที่พี่เลี้ยงมองไม่เห็นคุณค่าของงานเยาวชนจะไม่สามารถสานต่องานของเยาวชนได้ ทั้งต่อชุมชน และต่อตัวเขาอย่างไร
  3. สร้างพลังคำถามเพื่อต่อยอดการเรียนรู้ ตั้งคำถามเป็น ให้เยาวชนได้ฉุกคิด ทบทวนตัวเอง วางแผนงานของตัวเองได้
  4. สามารถเรียนรู้และลงมือทำควบคู่เยาวชนได้ พี่เลี้ยงจะต้องมีทักษะการทำงานร่วมกับเยาวชน
  5. เชื่อใจ รับฟัง และเคารพในความคิด ด้วยความเข้าใจ
  6. เชื่อมั่นอย่างสนิทใจว่าเยาวชนสามารถพัฒนาเติบโตได้ เปิดโอกาสให้เยาวชนทำ ได้ลงมือด้วยตัวเอง เสริมให้เยาวชนมั่นใจ
  7. หมั่นสังเกตสถานการณ์กลุ่ม / พฤติกรรม ที่จะต่อไปทั้งทางบวกและลบหนุนเสริมเครื่องมือให้เยาวชนดำเนินกิจกรรมต่อได้
  8. ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังให้จบ ไม่ตั้งแง่ให้เยาวชนเล่าในสิ่งที่เยาวชนอยากจะเล่า พี่เลี้ยงมีหน้าที่แค่คอยจับประเด็นจากสิ่งที่เยาวชนเล่า
  9. สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเยาวชน เพื่อให้เขาเชื่อใจ สนิทใจและกล้าที่จะปรึกษาพูดกับพี่เลี้ยงในทุก ๆ เรื่อง
  10. มีความอดทนสูง ในการรอที่จะฟัง รอคำตอบของเขาที่เขาต้องการจะพูด ใจเย็น
  11. เปิดใจยอมรับการเรียนรู้ใหม่ ๆ เรียนร่วมไปกับเยาวชน
  12. พี่เลี้ยงต้องมีคุณลักษณะเป็นพลเมืองเช่นเดียวกับเยาวชน
  13. การเคารพสิ่งที่เขาจะทำภายใต้ความคิดและการตัดสินใจของความเป็นมนุษย์
  14. มีความคิดสร้างสรรค์ ที่เอื้อต่อการออกแบบกระบวนการใหม่ ๆ ตลอดเวลาเพื่อให้น้องได้เรียนรู้
  15. มีความยืดหยุ่น รับกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าหากไม่เป็นไปตามที่วางไว้
  16. ไม่ทิ้งรายละเอียดของแต่ละกระบวนการทำงาน สังเกตในทุก ๆ ท่าทีของเยาวชน

­

บทบาทของโคช

     5 ปีของการทำโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ทีมโคชสงขลาฟอรั่มมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการโคชเยาวชนอยู่เสมอเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาของพื้นที่ และสถานการณ์ของเยาวชน ซึ่งบทบาทของโคชในปีนี้สรุปได้ดังนี้

­

“โคชคือผู้ที่พร้อมเรียนรู้ตลอดเวลา และมีความสุขและสนุกกับการเรียนรู้

เอื้อให้เกิดการเรียนรู้แก่คนอื่น ๆ ด้วย”


  1. มีหน้าที่ในการหนุนเสริมการเรียนรู้ของเยาวชน วิเคราะห์สถานการณ์ จุดอ่อน เพื่อหาเทคนิคที่สอดคล้องกับการทำงานของเยาวชน
  2. กระตุ้นให้เกิดความก้าวหน้า
  3. เตรียมชุดเครื่องมือเพื่อยกระดับให้เกิดการเรียนรู้แก่เยาวชน
  4. พัฒนาทักษะในการดำเนินชีวิต เสริมทักษะให้ทำงานเป็นทีม สร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน
  5. เสริมศักยภาพเยาวชนและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชน ผ่านการพูดคุย ตั้งคำถามที่นำไปสู่ความภาคภูมิใจ ให้เห็นว่าสิ่งที่ทำมีคุณค่าอะไรบ้างกับชุมชน สังคมและตัวเอง เน้นการตั้งคำถามเพื่อให้เขาได้คิดผ่านงานของตนเอง
  6. เรียนรู้ด้วยการลงมือทำไปพร้อม ๆ กับเยาวชน เพื่อสังเกตพฤติกรรมของเยาวชน
  7. เชื่อมโยงงานคุณค่างานที่เกิดขึ้นผ่านสิ่งที่เยาวชนทำเชื่อมโยงกับความรู้ข้อใดบ้าง EF ด้านใดบ้าง
  8. มีการออกแบบความคิดสร้างสรรค์ในการจัดเวที
  9. รับรู้และเข้าใจข้อจำกัดของเยาวชนที่ต้องจัดการตัวเอง ครอบครัวก่อนที่จะเข้ามาทำโครงการ

­

คุณสมบัติของที่ปรึกษาโครงการ

    ในการทำงานเพื่อพัฒนาเยาวชนของสงขลาฟอรั่ม ไม่ได้มีแค่เพียงโคชและพี่เลี้ยงเท่านั้น แต่ยังมีคนอีกกลุ่มที่เข้ามามีบทบาทในการหนุนเสริม เติมทักษะความรู้ให้กับเยาวชนอีกกลุ่มหนึ่งนั่นคือ ที่ปรึกษาโครงการ โดยบทบาทของที่ปรึกษาควรมี คือต้องเข้าใจพัฒนาการและความคิดของเยาวชน ให้เกียรติเยาวชนให้เขามีโอกาสคิดเองทำเอง ดังนั้นทุกคนเป็นได้แต่ต้องชอบเรื่องการสร้างเยาวชน ต้องมีความเชื่อและศรัทธาในศักยภาพของเด็กว่าสามารถพัฒนาได้ ซึ่งสงขลาฟอรั่มมองว่าคุณสมบัติของที่ปรึกษาข้างต้นประกอบด้วย

  • ใจเย็น เข้าใจธรรมชาติของเด็ก ตั้งคำถามเป็น สามารถอธิบายเมื่อเยาวชนเกิดความสงสัย ไม่ชี้นำและไม่สั่งการ มีความเชื่อในธรรมชาติของเด็ก ที่พร้อมจะได้เล่น ได้ลองในสิ่งที่เขาอยากจะทำแล้วเขาจะสนุก เติมเต็มสิ่งที่ที่ปรึกษาต้องการให้เด็ก เช่น ทักษะการสืบค้นข้อมูล ทักษะการนำเสนอ เป็นต้น
  • เปิดโอกาสให้เด็กทำงานอย่างเต็มที่ คอยสังเกตอยู่ห่าง ๆ หนุนเสริมเครื่องมือในการช่วยเหลือการทำโครงการ
  • เชื่อมั่นเรื่องการเรียนรู้จากการทำจริง เพราะการเปิดโอกาสให้เด็กได้ลองให้ทำเอง จะทำให้เขาจะค้นพบบทบาทหน้าที่ และการให้เวลาให้เขาได้ลองฝึกเขาจะเข้าใจบทบาทของตัวเองดีขึ้น
  • ตั้งคำถามต้องเป็น และต้องเป็นคำถามที่ไม่กดทับความคิดเด็ก แต่เป็นทำถามให้เด็กฉุกคิด ที่ปรึกษาที่ดีต้องเรียนรู้ที่จะตั้งคำถามเพื่อพาเขาไปในสิ่งที่เขาจะสามารถทบทวนและเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการถาม