คนสร้างขยะ…ขยะเปลี่ยนคน

ภาพขวดน้ำดื่มที่หล่นเกลื่อนกลาดรวมอยู่กับถุงขนมมีให้เห็นทั่วโรงเรียนคือจุดเริ่มต้นให้ ณัฏฐลักษณ์ ไชยคีรี หรือ “นาว” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ร่วมกับเพื่อนๆ ตั้งกลุ่มโรงเรียนระโนด (มะขามเฒ่า) เพื่อใช้เป็น “กลไก” ปลูกจิตสำนึกแก่เพื่อนๆ และน้องๆ ในโรงเรียนให้รู้จัก “คุณค่า” ของขยะก่อนทิ้ง


“ในโรงเรียนของเรามีขยะเยอะมาก ส่วนใหญ่ทิ้งกันเกลื่อน กินตรงไหน ทิ้งตรงนั้น ทั้งๆ ที่ขยะบางชนิดน่าจะคัดแยกก่อนทิ้งหรือขายได้ โดยเฉพาะขวดน้ำดื่มซึ่งมีมาก พวกหนูเลยคิดว่าถ้าเอาขยะมาขายเป็นทุนการศึกษาให้กับน้องๆ ที่เรียนดีแต่ยากจนได้ก็น่าจะดี”

ไอเดียนี้เกิดขึ้นจากการที่นาวเห็นว่าในโรงเรียนมีคนนำขยะไปขายอยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่ได้ทำในลักษณะ “กลุ่ม” เป็นแบบต่างคนต่างทำ และเมื่อเห็นว่าในโรงเรียนมีน้องๆ หลายคนที่ “เรียนดีแต่ยากจน” จึงเกิดแนวคิดที่จะนำ “ขยะ” ไปขาย เพื่อนำรายได้มาเป็นทุนการศึกษาให้น้องๆ


แม้โจทย์ของโครงการนี้คือ “กองทุนขยะ” แต่นาวและเพื่อนๆ ในกลุ่มก็ได้ “ซ่อน” บางสิ่งบางอย่างไว้ในโครงการนี้นั่นคือ ในกระบวนการจัดเก็บขยะเพื่อคัดแยกว่าชิ้นไหนขายได้ ชิ้นไหนจำเป็นต้องทิ้งนั้น ถือเป็นการ “สร้างพฤติกรรม” ใหม่ให้กับเด็กๆ ในโรงเรียน เพราะนับจากนี้เป็นต้นไป ทุกคนต้อง “แยก” ขยะก่อนนำไปทิ้งในที่ที่โรงเรียนจัดไว้ให้เท่านั้น


คนพร้อม...ทีมยังไม่พร้อม

แต่หนทางของกลุ่มโรงเรียนระโนด (มะขามเฒ่า)ก็มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เนื่องจาก “ความไม่พร้อม” เรื่องเวลา เพราะต่างคนต่างมีภารกิจต้องเรียนหนังสือ เวลาว่างไม่ตรงกัน แต่นาว ไม่ย่อท้อ เดินหน้าด้วยการระดมทีมงานอีกรอบ คราวนี้เลือกทีมที่เป็นคณะกรรมการโรงเรียน และที่สำคัญคือต้องมี “จิตอาสา”


ทีมแกนนำจึงเริ่มงานแรกด้วยการออกสำรวจราคาขวดน้ำจากพ่อค้ารับซื้อของเก่า เพื่อกำหนดราคารับซื้อภายในโรงเรียน โดยเด็กๆ พบว่าขณะนั้นมีการรับซื้อขวดน้ำอยู่ที่กิโลกรัมละ 17 บาท เท่ากับขวดเปล่า 48 ใบ

“เราก็คิดว่า ถ้าจะเก็บให้ครบ 48 ใบ อาจจะนานเกินไปเลยเสนอแนวทางใหม่คือ 5 ขวด 1 บาท เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เพื่อนๆ ในโรงเรียนนำขวดมาขายได้เร็วขึ้น”


เมื่อได้สูตรการรับซื้อแล้ว แกนนำก็กระจายกำลังกันออกไปประชาสัมพันธ์ในโรงเรียนผ่านเสียงตามสาย ทั้งช่วงเช้าหน้าเสาธง และช่วงพักกลางวัน ถึงตรงนี้ ธนวัฒน์ ขาวพรทิพย์ หรือ “นิว” ก็เข้ามาช่วยงานด้านประชาสัมพันธ์

“มีหน้าที่เชิญชวนให้เพื่อนๆ ในโรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรมคัดแยกขยะ แต่เสียงสะท้อนของพี่ๆ บอกว่าในช่วงแรกเราพูดเร็วเกินไป คนฟังไม่ทัน แล้วก็พูดวนๆ คือตอนนั้นเราคิดอะไรได้ก็พูดเลย ไม่มีการเรียบเรียงคำพูดว่าจะพูดอะไรก่อนหลัง ” ปัจจุบันนิวเป็นนักประชาสัมพันธ์ที่เก่งขึ้นแล้ว

เนาวลักษณ์ สุวรรณรัตน์ หรือ “แป้ง” ที่เคยมีประวัติ “ทิ้งขยะไม่เป็นที่” เมื่อถูกพี่ๆ ดึงเข้ามาร่วมโครงการทำให้เธอปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยเหตุผลว่า “เพราะต้องการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเพื่อนๆ เรามีหน้าที่เชิญชวนให้คนอื่นไม่ทิ้งขยะ...แต่ถ้าเรายังทิ้งอยู่...เราจะไปชวนคนอื่นได้อย่างไร” แป้งให้ข้อสรุปถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง


หนทาง...ก็ยังไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

เพื่อนๆ ยังไม่ให้ความร่วมมือ ทั้งเรื่องการทิ้งขยะให้ถูกที่ เพราะยังคงมีการทิ้งขวดน้ำปะปนกับเศษอาหารและขยะอื่นๆ แม้ว่าพวกเขาจะซื้อถังขยะสีดำวางกระจายอยู่ทั่วโรงเรียนแล้วก็ตาม มีเพื่อนเพียง 10 คนเท่านั้นที่ช่วยเก็บขวดน้ำมาขายให้กับกลุ่มฯ ด้วยความกังวลว่ากองทุนการศึกษาจากขยะจะไม่ได้ผลตามเป้าหมาย ทีมแกนนำจึงหารือกันใหม่เพื่อแก้ไขปัญหา โดยใช้วิธีการตระเวนเก็บขวดน้ำพลาสติกตามมุมต่างๆ ภายในโรงเรียนด้วยตัวเอง รวมถึงช่วยกันคัดแยกขวดน้ำจากถังขยะทุกเย็น

แต่พวกเขาไปพบกับปัญหาใหม่...

เนื่องจากบุคลากรในโรงเรียนเก็บขวดน้ำขายอยู่ก่อนแล้ว จึงเกิดความไม่พอใจกันบ้างเล็กน้อย...แต่พวกเราเข้าไปพูดคุยด้วยอาการอ่อนน้อมถ่อมตน โดยอธิบายว่า โครงการนี้จัดทำขึ้นเพื่อหารายได้เป็นกองทุนให้กับน้องๆ ที่เรียนดีแต่ยากจนไม่ได้นำไปใช้จ่ายอย่างอื่น เขาจึงนำขวดน้ำมาขายให้กับกลุ่มเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาตามมาคือ สถานที่เก็บขวดน้ำไม่พอ จึงเดินเข้าไปหาผู้อำนวยการโรงเรียนกระทั่งได้พื้นที่หน้าห้องคหกรรมเป็นสถานที่รวบรวมขวดน้ำอย่างน้อย 2 สัปดาห์สำหรับรอพ่อค้าคนกลางมารับซื้อ และทุกๆ 2 สัปดาห์ทีมแกนนำจะนัดรวมตัวกันขนขวดน้ำไปขายให้พ่อค้าคนกลาง


ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ ทีมแกนนำสามารถมอบทุนการศึกษาให้น้องที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ไปแล้วกว่า 10 ทุนๆ ละ 500 บาท แม้จำนวนเงินจะไม่มากแต่ความภาคภูมิใจและการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำเกิดขึ้นมากมาย ทั้งเรื่องของการทำงานเป็นทีม และการปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงาน


ผลจากการทำโครงการ

ธนพัฒน์ หนูคง หรือ “เอ้” บอกว่า เมื่อก่อนเขาเป็นอีกคนที่ทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ชอบแอบเสียบเปลือกขนมลูกอมไว้ตามโต๊ะ ตามซอกเก้าอี้ และไม่เคยแยกขยะ แต่ปัจจุบันเขานำวิธีการคัดแยกขยะกลับไปใช้ที่บ้าน และที่สำคัญการทำโครงการทำให้เขารู้จักการคิด วิเคราะห์อย่างเป็นระบบมากขึ้น

สรประสิทธิ์ จิตดำริ หรือ “อ้วน” ยอมรับว่าเมื่อก่อนเขาเป็นคนที่มีโลกทัศน์คับแคบและคิดว่า “ขยะ” ไม่น่าจะมีความสำคัญและสร้างผลกระทบกับชีวิตมากนัก แต่ “ขยะ” ก็พาเขาไปรู้จักข้อมูลต่างๆ มากมาย เช่น การนำไปรีไซเคิล เอาไปทำปุ๋ย และเอาไปขายเป็นเงินกลับมา ที่สำคัญทำให้เขารู้ว่าแท้ที่จริงแล้วจังหวัดสงขลาคือแหล่งขยะที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง


สำหรับ ณัฏฐลักษณ์ ไชยคีรี หรือ “นาว” แกนนำที่เคยได้รับทุนการศึกษาและมีความฝันว่าอนาคตจะตอบแทนโรงเรียน ด้วยการหาทุนการศึกษาให้น้องๆ บ้างบอกว่า ความฝันที่ต้องการทำกองทุนให้น้องๆ ในโรงเรียนนั้นบัดนี้เป็นจริงขึ้นมาแล้ว