“แหลมสนอ่อน” ป่าสมบูรณ์ผืนสุดท้ายของสงขลา

“ผมโตขึ้นพร้อมกับความทรงจำว่า ตอนเด็กชายหาดสมิหลาที่พ่อพามาเล่นน้ำทะเลมันกว้างไกลสุดตา แต่ทุกวันนี้เดินสองสามก้าวก็ถึงทะเลแล้ว ผมสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เมื่อมีโอกาสมาทำโครงการนี้ถึงได้รู้ว่าทุกอย่างที่ส่งผลต่อระบบนิเวศชายหาดนั้น เกิดจากฝีมือมนุษย์อย่างเราทั้งสิ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม”


หัชสชัย จันทศรี


หัชสชัย จันทศรี หรือ “ตอง” มิได้ปล่อยให้เรื่องราวทั้งหมดอยู่แค่ใน “ความทรงจำ” เท่านั้น แต่เมื่อมีโอกาส เขาจะได้เข้ามามีบทบาทในการเรียนรู้ดูแล และร่วมกันปกป้องผืนทราย อันเป็นสถานที่บันทึกความทรงจำของเขาในวัยเด็ก

“ก่อนหน้าที่จะมาจับเรื่องนี้...ผมเคยเป็นอาสาสมัครวัดหาดมาก่อน”


จากเยาวชนผู้มีจิตอาสาสู่อาสาสมัครวัดชายหาดที่เข้มแข็ง ที่มารวมตัวกันเพื่อศึกษาพื้นที่แหลมสนอ่อน โดยหวังว่า “ข้อมูล” นี้จะช่วยบอกเล่าเรื่องราวคุณค่าความสมบูรณ์ของป่าสน และมีส่วนในการ “กระตุ้น” ให้พลเมืองสงขลาเกิดความตระหนักและหวงแหนแหลมสนอ่อนได้ในที่สุด

ก่อนที่ป่าสนผืนเดียวและผืนสุดท้ายแห่งนี้...จะเหลือเพียงความทรงจำ

­



คือ “ป่าสน” ผืนเดียวและผืนสุดท้าย

ป่าสนธรรมชาติบริเวณแหลมสนอ่อนของจังหวัดสงขลา เป็นป่าสนผืนเดียวและผืนมุดท้ายที่เหลืออยู่ในตัวเมืองสงขลา มีความสำคัญและมีประโยชน์มหาศาลต่อคนสงขลา โดยเฉพาะการเป็นระบบนิเวศที่ช่วยลดการกัดเซาะชายฝั่ง และเป็นแนวกันคลื่นลมพายุได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเป็นแหล่งอาหารของนกสวยงามนานาชนิด

และ “ป่าสน" ที่อยู่คู่กับ “แหลมสมิหลา”มายาวนานหลายชั่วอายุคนจนชาวสงขลาเรียกขานกันติดปากว่า "แหลมสนอ่อน" แห่งนี้ กำลังอยู่ในภาวะที่จะต้องฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกิดการหักโค่นล้มตายจากผืนหาดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดเหตุการณ์วาตภัยเมื่อปลายปี 2553 ทำให้ต้นสนล้มตายไปเกือบ 10,000 ต้น

­



“ป่าสนเป็นพื้นที่ป่าที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบนิเวศชายฝั่ง ช่วยลดการกัดเซาะชายฝั่งจากคลื่น และยังเป็นแนวกันลมพายุ แต่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ละเลยความสำคัญของป่าสนไป อีกทั้งประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองชายหาด และยังมองว่าป่าชายหาดไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จึงมักเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่จะถูกทำลายเพื่อสร้างแหล่งรองรับนักท่องเที่ยว” อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสงขลา พีระ ตันติเศรณี หรือ “ลุงพีระ” ของเด็กๆ ชาวสงขลาเคยกล่าวไว้ในช่วงที่จะมีการนำพื้นที่ป่าสนผืนสุดท้ายของคนสงขลาไปทำเป็นสถานที่รองรับนักท่องเที่ยว


แม้การต่อสู้ของลุงพีระจะทำให้โครงการสร้างกระเช้าลอยฟ้าต้องชะลอออกไปอย่างไม่มีกำหนด ถึงกระนั้นก็ตามคนสงขลาก็ยังไม่แน่ใจว่าโครงการนี้จะกลับมาอีกหรือไม่ แต่ “เยาวชนสงขลา” มองว่านี่เป็น “โอกาส” ที่พวกเขาจะได้ “ค้นหาความรู้” และสร้าง “ความเข้าใจ”เพื่อให้คนสงขลาหันกลับมาเห็นความสำคัญของป่าสนแห่งนี้




ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ตองและ สุจารี บุญยอด หรือ “เมย์” จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา นิทัศน์ รัตนฉายา หรือ “เฟิร์ส” จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ศิวกร มินอิน หรือ “โม” และนฤพล ไกรนรา หรือ “โอม” จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสงขลา รวมตัวกันภายใต้ชื่อ “กลุ่มสมรม” อันหมายถึง แหล่งรวมเยาวชนผู้มีจิตสำนึกและต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมคิดทำโครงการศึกษาป่าสนธรรมชาติบริเวณแหลมสนอ่อน


“ตอนนั้นพวกเราเป็นกลุ่มนักศึกษาที่มาฝึกงานกับสงขลาฟอรั่ม และเป็นอาสาสมัครวัดชายหาดอยู่ด้วย เราเห็นว่าลุงพีระเป็นคนจริงจังที่ต่อสู้เรื่องแหลมสนอ่อนและต่อสู้เพื่อชาวสงขลามายาวนาน เมื่อคนล้มไปหนึ่งคน ผมจึงคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่ชาวสงขลาต้องลุกขึ้นมาสู้ต่อเพื่อปกป้องบ้านเมืองของตัวเองบ้าง”

ตองหนึ่งในแกนนำเล่าว่า สาเหตุที่เป็นแรงผลักดันให้พวกเขารวมตัวกันอย่างกะทันหันเป็นเพราะวิกฤตเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ลุงพีระ ตันติเศรณี ผู้ที่ต่อสู้เพื่อชาวสงขลาถูกลอบทำร้ายจนเสียชีวิต

­



“ตอนนั้นพวกเราเป็นกลุ่มนักศึกษาที่มาฝึกงานกับสงขลาฟอรั่ม และเป็นอาสาสมัครวัดชายหาดอยู่ด้วย เราเห็นว่าลุงพีระเป็นคนจริงจังที่ต่อสู้เรื่องแหลมสนอ่อนและต่อสู้เพื่อชาวสงขลามายาวนาน เมื่อคนล้มไปหนึ่งคน ผมจึงคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่ชาวสงขลาต้องลุกขึ้นมาสู้ต่อเพื่อปกป้องบ้านเมืองของตัวเองบ้าง ยอมรับว่าตอนนั้นกลัวมาก แต่สิ่งที่ทำให้เราก้าวผ่านความกลัวมาได้คือ คิดว่าถ้าพวกเราไม่ช่วยกันปกป้องแหลมสนอ่อนไว้แล้ว ต่อไปในอนาคตถ้ามันถูกทำลายไปหมด แล้วเราจะบอกลูกหลานได้อย่างไรว่ามันแค่...เคยมี”

แม้สถานการณ์รอบตัวจะไม่เป็นใจ แต่พวกเขาก็เดินหน้าทำงานสานต่อความฝันของ “ลุงพีระ”โดยเสนอ “โครงการศึกษาป่าสนธรรมชาติบริเวณแหลมสนอ่อน” ไปยังสงขลาฟอรั่ม ซึ่งโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับระบบนิเวศและความอุดมสมบูรณ์ของป่าสนอ่อนเมืองสงขลา ก่อนนำมาเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้รับรู้และเกิดความตระหนักว่าป่าที่สมบูรณ์นั้นมีคุณค่าอย่างไร

เมย์เสริมว่า อีกหนึ่งเหตุผลที่เลือกทำโครงการนี้เพราะอยากรู้ว่าในเมื่อมีคนกลุ่มหนึ่งต้องการทำลาย แล้วทำไมคนอีกกลุ่มหนึ่งจึงต้องการที่จะรักษาป่าไว้ จนเกิดเป็นปัญหาความขัดแย้งในที่สุด...

“เราอยากให้คนสงขลารับรู้ข้อมูลและเกิดความตระหนักว่าแหลมสนอ่อนเป็นป่าสนผืยสุดท้ายที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของจังหวัดสงขลาแล้ว พืชที่ขึ้นในป่าสน อย่าง หญ้าลิงลม หรือผักบุ้งทะเลที่เมื่อเจริญเติบโตรากจะช่วยยึดเหนี่ยวต้นไม้ใหญ่และผืนทรายเวลาเกิดพายุได้ดี แต่ที่ผ่านมาคนไม่ค่อยรู้ข้อมูลเหล่านี้ และคิดว่ามันเป็นเพียงวัชพืชทั่วไปซึ่งปัญหาที่ตามมาคือป่าถูกบุกรุกทำลาย ดังนั้นเป้าหมายสูงสุดของพวกเราจึงมากกว่าการสร้างความตระหนัก แต่คือความตั้งใจที่อยากให้ชุดข้อมูลนี้ถูกนำไปใช้ปกป้องผืนป่า และใช้ต่อสู้กับผู้บุกรุกและเหล่านายทุนที่กำลังมองหาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์จากพื้นที่แหลมสนอ่อนนั่นเอง”




เติมความรู้ ก่อนค้นหาความรู้

เพราะโครงการเป็นเรื่องของการจัดทำ “ข้อมูล” หรือ “ชุดความรู้” เพื่อนำเสนอสู่สาธารณะที่อาจจะนำไปสู่ขั้นตอนการตัดสินใจร่วมกันกลุ่มสมรมมองว่า ลำพังศักยภาพของพวกเขาอาจมีไม่มากพอที่จะทำเรื่องราวที่ใหญ่เกินตัว ดังนั้นภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด การกำหนดแผนงานหรือกิจกรรมที่ร่วมกันคิดจึงต้องรัดกุม และดำเนินงานได้จริง

“ก่อนลงมือทำโครงการ พวกเราต้องไปอบรมกับทางสงขลาฟอรั่ม เพื่อเรียนรู้ขั้นตอนการทำงาน การออกแบบกิจกรรม และการลงพื้นที่ทำงานกับชุมชน…ความรู้และทักษะที่ได้จากการอบรมทำให้เรารอบคอบในการทำงานมากยิ่งขึ้น” ตองแกนนำอธิบาย

­



ซึ่งแผนการดำเนินงานที่ต้องคิดกันอย่างรอบคอบ ถี่ถ้วนคือ การกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน จากนั้นจึงมาร่วมกันออกแบบกิจกรรมที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่วางเอาไว้ และสำหรับโครงการนี้ “เป้าหมาย” คือการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับคุณค่าของต้นสนบริเวณแหลมสนอ่อนผ่านชุดข้อมูลความรู้

“ก่อนลงมือทำโครงการ พวกเราต้องไปอบรมกับทางสงขลาฟอรั่ม เพื่อเรียนรู้ขั้นตอนการทำงาน การออกแบบกิจกรรม และการลงพื้นที่ทำงานกับชุมชน…ความรู้และทักษะที่ได้จากการอบรมทำให้เรารอบคอบในการทำงานมากยิ่งขึ้น”

“ข้อมูลอันดับแรกของพวกเราได้จากเอกสารเท่าที่พอจะค้นคว้าได้ บางส่วนสอบถามจากนักวิชาการหรือครูอาจารย์ในพื้นที่เมื่อได้ข้อมูลที่เป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของป่าสนจนครบเราจึงลงพื้นที่สำรวจ 2 ครั้ง...แต่ก็ไม่ได้ไปกันเองมีการประสานงานนักวิชาการที่จะเติมเต็มความรู้ให้พวกเรา นอกจากนั้นก็มีตัวแทนเยาวชนที่ชักชวนกันลงไปดูสภาพพื้นที่จริงว่าเป็นอย่างไร เพื่อนำมากำหนดกิจกรรมรณรงค์ในครั้งต่อไป”




ทั้งนี้กิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เริ่มต้นด้วยการนำเครือข่ายเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมเรียนรู้ในพื้นที่จริง โดยมีวิทยากรซึ่งเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาของสมาชิกในทีม คืออาจารย์ณัฏฐาพงศ์ อภิโชติเดชาสกุล รวมทั้งทีมเจ้าหน้าจากสงขลาฟอรั่ม และคุณสุภาภรณ์ ปันวารี เจ้าหน้าที่จากศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก(RECOFTC)คุณลัดดา วิไลศรี และคุณรัตนติกา เพชรทองมา เจ้าหน้าที่มูลนิธิกองทุนไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลามาร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องการสำรวจและการประเมินสภาพป่า

รู้จักป่า...รู้จักตัวเอง

เฟิร์สบอกว่า จากการศึกษาพื้นที่แหลมสนอ่อนโดยใช้เครื่องมือของกลุ่ม RECOFTC ทำให้เรียนรู่ว่าในป่าจะมีสัญลักษณ์ที่บอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าได้นั่นคือบรรดาสัตว์ต่างๆ เช่น กบ นก และงู ซึ่งแสดงให้รู้ว่าป่าแห่งนั้นยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก เพียงแต่ว่าปัจจุบันมีมนุษย์บุกรุกพื้นที่ป่าบ้างก็ล่านก บางครั้งก็โค่นทำลายป่าเพื่อสร้างรีสอร์ท ทำให้สัตว์เหล่านี้หายไป ส่งผลต่อระบบนิเวศของป่า ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ลดลง และป่าจะหมดไปในที่สุด นอกจากนี้เรายังเก็บข้อมูลเรื่องการวางแปลงสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของป่า การสังเกตชั้นเรือนยอดต้นไม้ ชนิดพันธุ์พืชที่พบ วัดขนาดต้นไม้ สังเกตพืชที่ปกคลุมผิวดิน รวมถึงการคำนวณปริมาณคาร์บอนที่ป่าสนกักเก็บไว้ได้ ซึ่งเป็นตัวช่วยในการลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย

และถึงแม้ว่ากลุ่มสมรมจะมีเวลาทำโครงการเพียง 1 เดือน แต่ก็เป็น 1 เดือนที่ถือว่าคุ้มค่ามาก โดยเมย์บอกว่าปัญหาที่พวกเขามีคือเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดและเวลาว่างที่ไม่ตรงกัน ดังนั้นสิ่งที่ต้องระวังอย่างมากคือเรื่องของการจัดการเวลาเพราะงานไม่สามารถทำคนเดียวได้

“รู้ว่าทุกคนล้วนมีภาระที่ต้องรับผิดชอบ ทั้งงาน ทั้งเรื่องส่วนตัว แต่ถ้าจัดการเวลาไม่เป็น ทุกอย่างก็พัง แต่หากเราจะใช้ข้ออ้างว่าไม่มีเวลาเพื่อหลีกหนีสิ่งหนึ่งก็คงจะไม่ใช่”


“ช่วงแรกปัญหาที่เราเจอมากที่สุดคือเวลาที่ว่างไม่ตรงกันของแต่ละคน ช่วงแรกยอมรับว่าไม่พอใจมากเวลาที่นัดกันมาทำงานแล้วมีคนบอกว่าไม่ว่างและไม่สะดวกตอนนั้นในใจก็นึกว่า เราเองก็มีภาระ แต่ทำไมเรายังมาได้ เลยเสนอว่าหากใครไม่ว่างช่วงไหนก็คุยกันว่าจะสามารถช่วยทดแทนในส่วนใดได้บ้าง เพื่อให้งานเดินหน้าได้อย่างไม่สะดุด”

สำหรับตองมองว่า เวลาเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้งานมีความก้าวหน้ามากน้อยแค่ไหน

“รู้ว่าทุกคนล้วนมีภาระที่ต้องรับผิดชอบ ทั้งงาน ทั้งเรื่องส่วนตัว แต่ถ้าจัดการเวลาไม่เป็น ทุกอย่างก็พัง แต่หากเราจะใช้ข้ออ้างว่าไม่มีเวลาเพื่อหลีกหนีสิ่งหนึ่งก็คงจะไม่ใช่”

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เวลา 1 เดือนที่ทั้ง 5 คนได้มารวมตัวกันเพื่อทำโครงการนั้น ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ก็ทำให้พวกเขาเข้าใจตัวเองมากขึ้น ตามมาด้วยความภาคภูมิใจที่น้อยคนนักจะได้รับความรู้สึกนี้

ตองบอกว่า เมื่อก่อนเวลาทำงานกลุ่มที่มหาวิทยาลัย ยอมรับเลยว่าขี้เกียจมาก เมื่อไหร่ที่เพื่อนโทรมาตามให้ไปทำงานก็มักจะอ้างเหตุผลต่างๆ นาๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องไป แต่เมื่อได้มาทำโครงการนี้รู้เลยว่าตัวเองโตขึ้นมากเพราะมีเพื่อนหลายคนทัก

“วันนี้ย้อนกลับไปมองตัวเองในอดีตก็ยังสงสัยว่าทำไมเราเป็นอย่างนั้น แต่วันนี้จากเสียงสะท้อนของเพื่อนที่บอกว่าตองมีความรับผิดชอบมากขึ้นจึงเริ่มสังเกตตัวเองถึงได้รู้ว่าเราไม่ใช่ตองคนเดิมแล้ว รู้สึกว่าตัวเองโตขึ้น กลายเป็นคนสมรมเหมือนชื่อกลุ่มคือคนที่ทำได้ทุกอย่างไม่เกี่ยงงานและเมื่อเราไม่เกี่ยงงานประสบการณ์ก็มากขึ้น มีโอกาสร่วมงานกับคนหลายรูปแบบ เกิดความคุ้นเคยกับการสื่อสาร ตองว่าข้อนี้สำคัญมากที่ทำให้ตองกลายเป็นคนกล้าแสดงออก กล้าเสนอความคิดเห็น และกล้าพูดในที่สาธารณะ”

นอกจากนั้นตองยังเอ่ยปากชมเพื่อนร่วมทีมอย่างเฟิร์สอีกด้วยว่า ช่วงก่อนจะจัดกิจกรรมพากลุ่มเยาวชนเครือข่ายเข้าไปในป่าสนเพื่อศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน ช่วงนั้นเฟิร์สค่อนข้างประหม่าและกังวลมาก เพราะต้องทำหน้าที่เป็นคนบรรยายข้อมูล ซึ่งเฟิร์สมักจะบ่นอยู่เสมอว่า อายมากและไม่กล้าเวลาที่ต้องพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก แต่ถึงแม้จะบ่นทุกวัน แต่เพื่อนๆ ก็จะเห็นเฟิร์สพยามยามซักซ้อมและทบทวนข้อมูลอยู่เสมอ จนในที่สุดจากความพยายามของเฟิร์สส่งผลให้วันนั้นเขาสามารถสื่อสารให้น้องๆ เข้าใจได้เป็นอย่างดี ไม่เคอะเขินคิดว่าวันนั้นเฟิร์สคงภูมิใจในตัวเองมาก เพราะตั้งแต่รู้จักกันมาก็เพิ่งเคยเห็นเฟิร์สยิ้มด้วยแววตาสดใสมากขนาดนี้

พวกเขาบอกว่าเห็นแหลมสนอ่อนมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่กล้าเข้าไป และไม่เคยรู้เลยว่าแหลมสนอ่อนนั้นสมบูรณ์เพียงไร...

แต่วันนี้พวกเขาภูมิใจที่สุดที่ได้มีส่วนในการเปิดพื้นที่ป่า และพาเยาวชนกลุ่มเครือข่ายประมาณยี่สิบคนเข้าไปเรียนรู้ร่วมกัน แม้จะเป็นเยาวชนกลุ่มเล็กๆ แต่พวกเขาก็หวังว่าน้องๆ กลุ่มนี้จะออกไปเป็นกระบอกเสียงบอกเล่าเรื่องราวที่ได้พบ ความอุดมสมบูรณ์และคุณค่าในป่าสนแห่งนี้ให้เพื่อนๆ ในโรงเรียนรับรู้และขยายเป็นวงกว้างสู่ผู้ปกครองและสังคมได้ในที่สุด จนทุกคนเกิดความตระหนักหวงแหนพื้นที่แหลมสนอ่อนซึ่งเป็นผืนป่าสนที่สมบูรณ์ที่สุดของเมืองสงขลาขณะนี้