“สืบงานสาน” เปลี่ยนชีวิตเด็กช่าง สู่นักวางแผนเพื่อชุมชน

งานจักสานเป็นงานหัตถกรรมเก่าแก่ที่ใช่ว่าจะทำกันง่ายๆ เพราะแต่ละชิ้นต้องใช้ทักษะความอดทน สมาธิ และฝีมือ รวมทั้งเวลาในการผลิต


­

นอกจากความละเอียดและประณีตอันเป็นเสน่ห์ของงานจักสานแล้ว อีกคุณค่าที่สำคัญคือ “ภูมิปัญญาจักสาน” คุณค่าที่มีช้านานของจังหวัดสงขลา

เพราะสิ่งที่เป็น “คุณค่า” กำลังขาดการสืบสานต่อ โครงการสืบงานสาน ของกลุ่มชมรม 108 IDEA ภายใต้การนำของ รุสลาน เดเระมะ หรือ “ดิ๊ก”นักศึกษาชั้น ปวส.2 สาขาช่างเทคนิคสถาปัตยกรรม วิทยาลัยเทคโนโลยีสงขลา จึงเกิดขึ้นโดยมี วีรวุธ พรมสวัสดิ์ หรือ “เจ” รุจิยา บุญรอดรักษ์ หรือ “สวย” อรรถชัย เจริญพงศ์ หรือ “โอ๊ต” และประทีป วิไลรัตน์ หรือ “เบร์” เป็นเพื่อนร่วมทีม มีอาจารย์ธรณ์เทพ ธีปรัชพันธุ์ เป็นที่ปรึกษาโครงการ

­


ใช้งานออกแบบ “หนุน” ภูมิปัญญาจักสาน

ดิ๊ก แกนนำกลุ่มชมรม 108 IDEA เจ้าของแนวคิดโครงการสืบงานสาน เล่าว่า แต่ละปีชมรมจะมี “Theme” หรือหัวข้อในการทำงานแตกต่างกันออกไป ในฐานะประธานชมรม ดิ๊กได้เสนอแนวคิดเรื่องการนำความรู้ด้านการออกแบบไปรับใช้งานชุมชน เพราะเห็นว่าปัจจุบันคนให้ความสนใจงานจักสานน้อยลง แม้จะเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ขึ้นชื่อของจังหวัด ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ยังคงมีรูปแบบเดิมๆ

“เป็นห่วงว่าภูมิปัญญาด้านนี้จะสูญหายไป จึงพูดคุยกันในชมรมว่า อยากจะนำงานออกแบบที่เรียนมาไปทำงานกับชุมชนดูบ้าง ก็เป็นจังหวะที่สงขลาฟอรั่มมีโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาพอดี จึงเขียนโครงการสืบงานสานส่งเข้าไป ซึ่งคำว่า “สืบ” คือการค้นหาข้อมูล คำว่า “สาน” หมายถึงการต่อยอดงานจักสานของชุมชน หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ นอกจากน้องๆ ในชมรมได้เรียนรู้การทำงานกับชุมชน ขณะเดียวกันก็สามารถนำความรู้ที่เรียนมาไปผนวกกับภูมิปัญญางานจักสานที่มีอยู่ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นการเพิ่มรายได้ให้ชุมชนต่อไป”

ชีวิตที่เปลี่ยนไปของเด็กช่าง


ดิ๊กยอมรับว่า ก่อนมาทำโครงการนี้ เขาเป็นคนไม่ได้เรื่อง...ไม่มีความรับผิดชอบ ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย ไม่มีจุดหมาย ติดเกม ตื่นสาย อารมณ์ร้อน

แต่ข้อดีของดิ๊กคือ ชอบอ่านหนังสือ และช่างสังเกต...

“ผมเห็นว่าชาวต่างชาติชอบงานแฮนด์เมดจึงมีแนวคิดพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์จักสานให้มีรูปแบบใหม่ๆ โดยอาศัยความรู้ด้านการออกแบบที่เรียนมาประยุกต์ต่อยอดกับงานจักสานของชุมชน โดยใส่ความทันสมัย หรือนำวัสดุอื่นๆ เข้าไปเพื่อให้เกิดความน่าสนใจซึ่งพวกเราเชื่อมั่นว่าจะช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นมากขึ้น”

­


ลำพังแค่อาศัยทักษะและความรู้ด้านการออกแบบเพียงอย่างเดียวอาจจะยังไม่พอ กลุ่มชมรม 108 IDEA จึงชวนกันลงไปศึกษาเทคนิคการจักสานจริงในชุมชน ไปเรียนรู้ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุ การขึ้นรูป และการสาน จนกระทั่งได้เป็นชิ้นงานออกมา

“ผม...มีแนวคิดพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์จักสานให้มีรูปแบบใหม่ๆ โดยอาศัยความรู้ด้านการออกแบบที่เรียนมาประยุกต์ต่อยอดกับงานจักสานของชุมชน โดยใส่ความทันสมัย หรือนำวัสดุอื่นเข้าไปเพื่อให้เกิดความน่าสนใจซึ่งจะช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นมากขึ้น”

ซึ่งหลังลงพื้นที่ ทั้งดิ๊กและทีมเล่าว่า มีความรู้ด้านการจักสานมากขึ้น โดยเฉพาะจากคุณลุงเจ้าของร้านหวายย่านเกาะยอ

­


“ลุงสอนเราทุกเรื่อง ทั้งความรู้เรื่องหวาย วิธีการคัดเลือกหวาย วิธีการปอกเปลือก และเทคนิคการดัด การลนไฟ รวมทั้งแนะนำแหล่งปลูกหวาย นอกจากนั้น ลุงยังสนับสนุนอาหารและน้ำมันรถ โดยไม่เรียกร้องค่าใช้จ่ายหรือรับสิ่งตอบแทน เพราะลุงต้องการคนสืบทอดเรื่องดังกล่าว ขณะที่ลูกหลานไม่ให้ความสนใจภูมิปัญญาตรงนี้พอเราเข้าไปหา ขอให้ลุงช่วยสอน ลุงดีใจมากจึงยินดีสอนทุกเรื่องและยังให้หวายมาใช้โดยไม่คิดเงิน”

ความมีน้ำใจของลุง ทำให้กลุ่มชมรม 108 IDEA มุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด

ทั้งนี้จากแผนงานเดิมคือใช้ “กระจูด” ในงานจักสาน แต่ความรู้ที่ได้รับจากคุณลุงทำให้ทีมต้องกลับมาทบทวนตัวกิจกรรม...รวมถึงวัสดุที่ใช้ และตัวชิ้นงานที่ต้องการจะพัฒนา



ปรับแผน…เปลี่ยนกิจรรม

จากโจทย์ที่ได้รับคือ “คิดชิ้นงานและวัสดุที่ต้องใช้” โดยต้อง “ตอบโจทย์” คือ ใช้งานได้จริง ซึ่งทุกคนในชมรมช่วยกันคิดรูปแบบผลิตภัณฑ์จักสานและวัตถุดิบที่ใช้แล้ว นำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนข้อดีข้อเสีย จากนั้นตัดสินด้วยวิธีการลงประชามติ เริ่มจากรูปแบบ ผลการลงคะแนนออกมาคือ “โคมไฟ” เพราะใช้หวายเป็นวัตถุดิบ และทุกคนในทีมก็ไปเรียนรู้การจักสานด้วยหวายมาแล้ว

­


การเลือกวิธีการลงประชามติเสียงส่วนใหญ่มาใช้กับการทำงานร่วมกับคนจำนวนมากนั้นดิ๊กบอกว่า “เป็นเรื่องหลักการทำงาน จะเอาความคิดของคนคนเดียวหรือของตัวเองเป็นใหญ่และมาตัดสินไม่ได้ ต้องคิดถึงแกนนำคิดถึงคนอื่นๆ ในชมรมด้วย ที่สำคัญคือเมื่อเรามองทุกคนเป็นผู้นำ เราก็จะได้รับความร่วมมือจากทุกคนในชมรม”

เมื่อได้ข้อสรุปเรื่องตัวผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบที่ได้ แกนนำแบ่งสมาชิกในทีมออกเป็น 5 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีแกนนำลงพื้นที่หาข้อมูลวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ แล้วนำมาแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอีกครั้งภายใต้ หลักเกณฑ์เงื่อนไขต้องเป็นภูมิปัญญาจักสานในจังหวัดสงขลา ต้องมีผู้รู้หรือปราชญ์ให้ความรู้ และคุณสมบัติของวัตถุดิบจะต้องสามารถนำมาทำโคมไฟได้เท่านั้น และตามหลักเกณฑ์นี้ทำให้ผลโหวตของคะแนนเสียงที่ออกมาเป็นหวาย

เรียนรู้ปัญหา…ใช้ปัญญาแก้ไข

ระหว่างที่ดิ๊กและแกนนำไปศึกษาวิธีการทำหวายจากลุงเพิ่มเติม ทีมอื่นๆ ก็ไปศึกษาและออกแบบโคมไฟจากลวดลายที่กำหนดไว้ 4 ลาย แล้วนำแบบร่างมาเสนอเพื่อคัดเลือกด้วยการโหวตอีกครั้ง โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาเข้ามาร่วมพิจารณาถึงความเป็นไปได้

ผลจากการโหวตทำให้กลุ่มได้โคมไฟที่ต้องทำด้วยหวาย 15 แบบ จากทั้งหมด 35 แบบ โดยเลือกจากความสวยงาม ความเป็นไปได้ในการผลิต ที่สำคัญคือต้องสามารถถ่ายทอดสู่ชุมชนได้

­

­

แต่เมื่อถึงขั้นตอนการผลิต ก็เกิดปัญหามาทดสอบการทำงานของทีมอีกครั้ง

“เวลาว่างของพวกเราไม่ตรงกัน เพราะเป็นช่วงสอบ และบางคนต้องทำโครงงานเพื่อขอจบ ทางออกคือต้องประชุมทีมเพื่อหาวันว่างที่ตรงกัน และต้องใช้เวลาช่วงปิดเทอมมาทำกิจกรรม”

นอกจากต้องวางแผนและจัดสรรเวลาให้ตรงกันแล้ว อีกหนึ่งสถานการณ์ที่เข้ามาทดสอบกลุ่มชมรม 108 IDEA คือ “ฤดูกาล”

“พอดีเป็นช่วงหน้าฝน ทำให้วัตถุดิบไม่เพียงพอ เป็นช่วงที่หวายขาดตลาดหายาก และมีราคาสูง ส่วนหวายที่เก็บมาตากไว้ก็แห้งไม่ทัน”

เมื่อไม่สามารถเลื่อนเวลาออกไปได้อีก แกนนำจึงแก้ปัญหาด้วยการออกตระเวนหาซื้อหวายแทบทุกร้านในจังหวัดสงขลา รวมถึงร้านที่อำเภอหาดใหญ่ ซึ่งแกนนำเคยไปขอความรู้แต่ถูกปฏิเสธมาก่อนหน้านี้ และต้องยอมซื้อในราคาแพง

ดิ๊ก บอกว่า โชคดีที่เรายังมีงบประมาณเหลือพอ เพราะก่อนหน้านี้เราไม่ค่อยมีค่าใช้จ่ายมากนัก ทำให้มีเงินเหลือพอสำหรับการกว้านซื้อหวายและค่าอาหารไว้ใช้ในวันทำกิจกรรม

“ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเขาวางแผนผิด คิดเองว่างานสานเป็นเรื่องง่าย แต่ลืมคิดถึงคนอื่นที่สานไม่เป็น จึงไม่ได้วางแผนให้ความรู้และสอนก่อนหน้านี้ ทำให้เมื่อลงมือปฏิบัติจริงแล้วน้องๆ ทำกันไม่ได้ สานกันไม่เป็น”

­


แต่การทำกิจกรรมก็ไม่เป็นอย่างที่คิด ต้องเจอกับอุปสรรคใหญ่อีกครั้ง เมื่อระยะเวลาที่กำหนดไว้ 2 วัน ต้องถูกขยายออกไปถึง 7 วัน แม้กิจกรรมจะกำหนดช่วงให้มีทั้งภาคทฤษฎีเพื่อเรียนรู้เรื่องการทำหวาย แต่ในภาคปฏิบัติกลับไม่ง่ายอย่างที่คิดดิ๊กยอมรับว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะเขาวางแผนผิด คิดเองว่างานสานเป็นเรื่องง่าย แต่ลืมคิดถึงคนอื่นที่สานไม่เป็น จึงไม่ได้วางแผนให้ความรู้และสอนก่อนหน้านี้ ทำให้เมื่อลงมือปฏิบัติจริงแล้วน้องๆ จึงทำกันไม่ได้ สานกันไม่เป็น ตนและแกนนำจึงกลับมาประชุมหาทางแก้ไข จึงมาคิดว่าเราคงต้องยอมเสียเวลาสอนวิธีการสานให้กับน้องๆ จนกว่าน้องจะพอทำได้ โดยแบ่งเป็นกลุ่มๆ ละ 3 คน หมุนเวียนกันมาฝึกการสานจากแกนนำที่ไปเรียนรู้มา จนครบทั้ง 15 กลุ่ม ใช้เวลาฝึกอยู่ 5 วัน และกลับมาทำกิจกรรมอีก 2 วัน รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 7 วัน ซึ่งน้องๆ รวมถึงแกนนำทุกคนต่างยินดีเสียสละเวลาที่ต้องกลับบ้านในช่วงปิดเทอมอยู่ทำกิจกรรมต่อกันจนเสร็จ

ฟันผ่าอุปสรรค

เพราะการเปิดโอกาสให้ที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยรุ่นพี่และรุ่นน้องวางแผนร่วมกันและร่วมตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ผ่านประชามติของทีมแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ดิ๊กรู้ว่า บางครั้งการเปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่ขาดทักษะความรู้ หรือแม้แต่ความเชี่ยวชาญในงานที่ทำ อาจส่งผลต่อผลงานที่ผลิตออกมา โดยเฉพาะในกรณีดังกล่าว การคาดคะเนระยะเวลาที่ผิดพลาดด้วยการ “คิดเอาเอง” ว่าทั้งหมดจะทำงานออกมาทัน ทั้งๆ ที่เหลือเวลาเพียง 2 วันเท่านั้น

ดิ๊ก บอกว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ สิ่งที่อยากแก้ไขมากที่สุดคือการวางแผนการทำงาน

“หากย้อนกลับไปได้จะไม่ตามใจน้องมากเกินไป เพราะเราเปิดโอกาสให้พวกเขาคิดและตัดสินใจ แต่จุดอ่อนของทีมคือ การประเมินศักยภาพตนเอง กับระยะเวลาที่เหลืออยู่ต่ำเกินไป”

ดิ๊กยังบอกอีกว่า หลังจากผ่านโครงการนี้ทำให้เรียนรู้ว่า การเป็นผู้นำคนนั้นต้องกล้าตัดสินใจ ไม่ใช่ต้องอ่อนไปเสียทุกครั้ง

“หากย้อนกลับไปได้จะไม่ตามใจน้องมากเกินไป เพราะเราเปิดโอกาสให้พวกเขาคิดและตัดสินใจ แต่จุดอ่อนของทีมคือ การประเมินศักยภาพตนเอง กับระยะเวลาที่เหลืออยู่ต่ำเกินไป”

เมื่อเห็นจุดอ่อน ยอมรับในข้อผิดพลาดแต่ทุกคนคิดว่าปัญหาใหม่ต้องไม่เกิดขึ้นอีกเพราะในระหว่างที่ทีม “ผลิต” กำลังขะมักเขม้นกับงาน คนที่เหลือก็ใช้เวลาอย่างมีค่าด้วยการออกสำรวจตลาด หาสถานที่ที่จะนำผลงานไปจัดแสดงเพื่อให้คนทั่วไปได้เห็นผลิตภัณฑ์จักสานจากหวายรูปแบบใหม่จากไอเดียเด็กช่าง

แต่แผนจัดแสดงสินค้าก็ไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ เนื่องจากพวกเขาเลือกนำผลิตภัณฑ์ไปจัดแสดงร่วมกับผลงานของกลุ่มอื่นๆ ในงานที่สงขลาฟอรั่มจัดขึ้น ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานเป็นอย่างมาก และได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สนใจขอซื้อผลงาน...แม้จะไม่ได้ขาย แต่ก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของกลุ่มทั้งเรื่องผลตอบรับและราคา

ประจักษ์...ด้วยผลงาน

แม้ผลงานของกลุ่มชมรม 108 IDEA จะได้รับการยอมรับจากคนทั่วไป แต่หากมองเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการสืบงานสานแล้วถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเมื่อพวกเขานำโคมที่พัฒนาขึ้นจากความรู้ด้านการออกแบบที่ทันสมัยและน่าสนใจ ผนวกกับภูมิปัญญาจักสาน เพื่อถ่ายทอดกลับคืนสู่ชุมชน ลุงเจ้าของภูมิปัญญากลับปฏิเสธ แม้ลุงจะชื่นชอบและทึ่งในผลงาน รวมทั้งไอเดียที่พวกเขาผลิตออกมา แต่ด้วยอายุที่มากขึ้นและสายตาที่เลือนราง ลุงจึงไม่สามารถสานงานชิ้นเล็กๆ ที่ต้องใช้ความละเอียดอย่างมากในการสานจึงทำได้ลำบาก และไม่มีความถนัดจึงปฏิเสธที่จะทำงานชิ้นเล็กๆ นี้ และยังสานของชิ้นใหญ่ๆ อย่าง โต๊ะ เก้าอี้ ต่อไป เพราะยังพอมีลูกค้าและขายได้ราคามากกว่าการทำโคมไฟ


ดิ๊ก ชี้แจงว่า ลุงให้เหตุผลในการปฏิเสธว่า แกทำโต๊ะทำเก้าอี้ขายตัวละ 3,000 – 4,000 บาท ก็มีได้รายได้สูงกว่าทำโคมไฟขายที่ได้เพียงชิ้นละ 1,000 บาท แต่โดยส่วนตัวแล้วมองว่าการทำของชิ้นใหญ่จะเป็นการสิ้นเปลืองวัตถุดิบ คือ หวายซึ่งปัจจุบันแม้จะขึ้นเองตามธรรมชาติในป่า แต่นับวันหวายเริ่มมีปริมาณลดลงเช่น การทำเก้าอี้ 1 ตัวจะต้องใช้หวายจำนวนมาก ถ้าเทียบจำนวนหวายที่ใช้ทำเก้าอี้ 1 ตัว สามารถทำโคมไฟได้ถึง 10 ชิ้น แม้เป้าหมายการคืนความรู้สู่ชุมชนจะไม่สำเร็จ แต่เป้าหมายการสืบงานสานในการส่งต่อความรู้ถือว่าสำเร็จตามที่ตั้งไว้ เพราะน้องๆ ในชมรมทุกคนสามารถสานหวาย และรู้วิธีขึ้นโครงหวายได้จากที่ไม่เคยทำมาก่อน

สืบงานสาน

ดิ๊กบอกว่าจากเดิมเขาขาดทักษะการวางแผน แต่เมื่อได้ทำโครงการทำให้เรียนรู้ว่า ก่อนจะทำอะไรต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ และหลังจากทำโครงการสืบงานสาน ดิ๊กยอมรับว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับชีวิตอย่างมาก กลายเป็นคนมีหลักการเพราะได้เรียนรู้มากมายจากสิ่งที่ลงมือทำ และรู้จักการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้มุมมองความคิดเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยนจาก “หน้ามือเป็นหลังมือ” ซึ่งผลที่เห็นได้ชัดคือจากคนที่เรียนไม่เก่งเมื่อตอนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้เกรดเฉลี่ย 1.25 พอมาเรียนวิทยาลัยเทคโนโลยีสงขลาและได้มาทำโครงการนี้การเรียนดีขึ้นมาก สูงขึ้นมาถึง 3.25 จนได้เกียรตินิยม สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับสถาบัน เกิดภาวะความเป็นผู้นำ กล้าคิด กล้าตัดสินใจ มีเหตุผลมากขึ้น และจากคนที่ไม่รับผิดชอบ ไม่เคยต้องวางแผนอะไร กลายเป็นคนที่รู้จักการวางแผนอย่างเป็นระบบ คิดว่าวันนี้จะทำอะไร พรุ่งนี้ต้องทำอะไร รู้จักทบทวนสิ่งที่ทำ และเตรียมแผนอย่างน้อย 2 ทางเลือกสำรองไว้หากทางเลือกแรกไม่สำเร็จ



ปัจจุบันดิ๊กศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยรังสิต คณะสถาปัตยกรรม ชั้นปีที่ 3 จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ดิ๊กยอมรับว่า เขาเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากจากการทำโครงการ มีความเป็นผู้นำมากขึ้น จากที่เคยเป็นเพียงคนทำงานเบื้องหลัง ก็ได้มาเป็นหัวหน้าวิธีคิดก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคน จากเดิมเวลาอยากจะเสนออะไรก็เสนอเลย ไม่มีหลักการ ไม่มีเหตุผล ไม่คิดถึงคนอื่น แต่ตอนนี้ถ้ารู้สึกขัดแย้งหรือไม่พอใจใคร ก็จะขออนุญาตเพื่อนๆ เดินออกไปหาที่เงียบๆ นั่งสงบสติอารมณ์ตัวเองก่อน 5 -10 นาที เมื่อลดอารมณ์ลงได้แล้วจึงค่อยกลับเข้ามาทำงานต่อ

“ผลที่เห็นได้ชัดคือจากคนที่เรียนไม่เก่งเมื่อตอนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้เกรดเฉลี่ย 1.25 พอมาเรียนวิทยาลัยเทคโนโลยีสงขลาและได้มาทำโครงการนี้การเรียนดีขึ้นมาก สูงขึ้นมาถึง 3.25 จนได้เกียรตินิยม สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับสถาบัน เกิดภาวะความเป็นผู้นำ กล้าคิด กล้าตัดสินใจ มีเหตุผลมากขึ้น และจากคนที่ไม่รับผิดชอบ ไม่เคยต้องวางแผนอะไร กลายเป็นคนที่รู้จักการวางแผนอย่างเป็นระบบ คิดว่าวันนี้จะทำอะไร พรุ่งนี้ต้องทำอะไร รู้จักทบทวนสิ่งที่ทำ และเตรียมแผนอย่างน้อย 2 ทางเลือกสำรองไว้หากทางเลือกแรกไม่สำเร็จ”

ส่วนแกนนำคนอื่นเช่น เบร์ จากเดิมที่คิดแค่ต้องการนำความรู้เรื่องการออกแบบมาลองวิชา แต่เมื่อเริ่มศึกษาเรื่องการจักสาน ทำให้เบร์มองว่างานจักสานเป็นสิ่งที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ และมีความรับผิดชอบในสิ่งที่ได้รับมอบหมายมากขึ้น

นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างของเยาวชนในสนใจใช้ “ความรู้” ที่มีอยู่มารับใช้ “สังคม” และ “ชุมชน” ที่พวกเขาอาศัยอยู่ แม้ว่า “ความรู้” ที่พวกเขาต้องการ “คืนกลับสู่ชุมชน” จะยังไม่บรรลุผล ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่างแต่อย่างน้อยภูมิปัญญาจักสานได้ถูก “สืบ” และ “สาน” โดยคนรุ่นใหม่ที่ช่วยต่อลมหายใจให้ภูมิปัญญาจักสานได้อีกคราหนึ่ง