กระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มกองกำลังพัฒนาถิ่นเกิด
กระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มกองกำลังพัฒนาถิ่นเกิด ตำบลชุมแสง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ชุมชนท้องถิ่นในอดีตเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง พวกเขาสามารถสร้างความรู้เพื่อตอบสนองกับปัจจัยสี่ ซึ่งเป็นความจำเป็นของชีวิต สร้างความรู้เพื่อจัดความสัมพันธ์ให้ทั้งมนุษย์และธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งแสดงออกมาในรูปแบบของวัฒนธรรมประเพณี หรือข้อห้ามต่างๆ และมีกระบวนการถ่ายทอดความรู้ที่หลากหลาย

ทั้งในรูปแบบของการสอนโดยการบอกเล่า การพาทำ การทำให้เห็น รวมถึงการใช้ชีวิตที่อยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดก็เป็นการถ่ายทอดแบบซึมซับอย่างได้ผลกว่า 50 ปีมาแล้วที่ชุมชนท้องถิ่นได้รับการพัฒนาความทันสมัยภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระบวนการพัฒนาดังกล่าวแม้ว่าจะส่งผลให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเจริญด้านวัตถุอย่างมากมาย แต่กลับทำให้คนในชุมชนขาดสำนึกในการพึ่งตนเอง ขาดความกระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้และจัดการความรู้ที่สอดคล้องกับระบบภูมินิเวศเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันก็รู้สึกด้อยในภูมิความรู้ที่ตนเองมีอยู่ หันไปพึ่งความรู้จากภายนอกที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นของชีวิตตนเอง  นอกจากนั้นในกระบวนการพัฒนาที่ผ่านมาองค์กรหน่วยงานต่างๆ จำนวนมากที่มุ่งไปที่หมู่บ้านเพื่อทำงานพัฒนาชุมชนตามความสนใจ เฉพาะเรื่องของตนเอง ซึ่งเป็นการพัฒนาแบบแยกส่วน ทั้งที่คนในท้องถิ่นมีวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม  การพัฒนาการเกษตรและอาชีพ  การพัฒนาสังคม วัฒนธรรมประเพณี  การพัฒนาด้านสาธารณสุข  การจัดการเรื่องความมั่นคงและปลอดภัยของคนในชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น

ในกระบวนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจึงต้องอาศัยการจัดการความรู้เข้ามาทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงความรู้ สร้างความรู้ ใช้ความรู้บนฐานทุนของท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการความรู้เยาวชนที่เป็นอนาคตของชุมชนท้องถิ่นนั้น แต่จากกระแสเร่งเร้าการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทำให้เยาวชนขาดความรู้ความเข้าใจ และความภาคภูมิใจในตนเองและท้องถิ่น มองไม่เห็นคุณค่าและความงามของท้องถิ่น เพราะการมองข้ามไปสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมภายนอก “พี่เลี้ยง หรือแกนนำเยาวชน” จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำหน้าที่ค้นหาศักยภาพของเยาวชน จัดการความรู้ในท้องถิ่น และจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมศักยภาพให้กับเยาวชน รวมทั้งประสานเชื่อมโยงกับส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดการหนุนเสริมการพัฒนาเยาวชนอย่างต่อเนื่อง เป็นคนกลางที่ช่วยจัดบริบทที่เหมาะสม เอื้อให้กลุ่มรวมกันคิดอย่างเป็นระบบ เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ และทักษะการเรียนรู้ นำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน สิ่งเหล่านี้เป็นบทบาทสำคัญของพี่เลี้ยงเยาวชนในชุมชน ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้

ปรัชญาพื้นฐานของการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ตั้งอยู่บน ความเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ (Humanistic Value) คือทัศนะที่เชื่อมั่นว่ามนุษย์มีศักยภาพที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง มีความจริง ความดี และความงามอยู่ในตน เปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์พืชที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโต เมื่อมีเงื่อนไขต่างๆ พร้อมเมล็ดพันธุ์นั้นก็จะสามารถเติบโตขึ้นได้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดทางพุทธ เรื่องศักยภาพในการตื่นรู้หรือความเป็นพุทธะ ที่มีอยู่ในตัวมนุษย์  การจัดกระบวนการเรียนรู้จึงมิใช่การ “สอน” แต่เป็นการสร้างเงื่อนไขให้ศักยภาพภายในที่มีอยู่แล้วสามารถพัฒนาขึ้นได้ เป็นกระบวนการที่มุ่งสร้างเงื่อนไขให้เกิดการเติบโตขึ้นจากภายใน และกระบวนทัศน์องค์รวม (Holistic paradigm) ก็เป็นปรัชญาพื้นฐานหนึ่งที่มองเห็นว่า ความจริงของธรรมชาติของสรรพสิ่งคือการเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้ปฏิบัติต่อสรรพสิ่งอย่างไม่แยกส่วนจากชีวิต จึงไม่ยึดเอาตนเองเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง ทัศนะนี้มีผลต่อการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่สมดุลระหว่างการเรียนรู้ภายในและภายนอก เน้นความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างการเปลี่ยนแปลงตนเอง และเปลี่ยนแปลงโลก และมองเห็นความเชื่อมโยงของส่วนต่างๆ ที่เป็นฐานการเรียนรู้ของมนุษย์คือ กาย ใจ ความคิด และจิตวิญญาณ

ดังนั้น เพื่อให้พี่เลี้ยงที่มีความสนใจงานเยาวชนเป็นทุนเดิมที่ดีอยู่แล้ว ได้มีทัศนคติ ความรู้ และทักษะที่ถูกต้องในการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง “โครงการเสริมศักยภาพแกนนำเยาวชนในการเป็นผู้จัดการเรียนรู้ในชุมชน” จึงเกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของพี่เลี้ยงหรือแกนนำชุมชนให้สามารถจัดการเรียนรู้สำหรับเยาวชนและชุมชนท้องถิ่นได้ และนำไปสู่ชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็งและพึ่งตนเองได้บนฐานเศรษฐกิจแบบพอเพียง

ฐานคิดในการทำโครงการ

  กลุ่มกองกำลังพัฒนาถิ่นเกิด เกิดจากการรวมตัวกันของแกนนำเยาวชนที่มีความใฝ่ฝันที่จะทำกิจกรรมดีๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและชุมชน โดยมีโต เปา ยุ และเบิ้มเป็นแกนนำกลุ่ม โตเล่าให้ฟังว่าพวกเขามีความฝังใจอยากเอาชนะผู้ใหญ่อยู่ลึกๆ แรกเริ่มเดิมทีจริงๆ เมื่อปีที่ผ่านมา โตและผองเพื่อนได้ยื่นโครงการขอทุน SML จาก อบต. แต่ได้รับการปฏิเสธว่า กลุ่มยังไม่มีความเข้มแข็งจึงไม่ให้ โตรู้สึกว่าผู้ใหญ่มีแต่ตัดสิน แต่ไม่ยอมช่วย ไม่ให้โอกาสในการสร้างกลุ่มให้เข้มแข็ง

  โตเป็นนักศึกษาของ กศน.อำเภอจอมพระ เรียนจบแล้วในปีนี้ (2553) เมื่อกลางปี 2552 (กรกฎาคม) คณะครู กศน.ได้ชวนโตเข้าร่วมอบรมด้วย โตเองก็ไม่รู้ว่าอบรมอะไร ไม่ได้สนใจอะไรมาก เพียงแต่รู้สึกว่าตนเองไม่ได้ร่วมกิจกรรมของ กศน. มาหลายครั้งแล้ว จึงไม่อยากขาดอีก จึงตัดสินใจเข้าร่วม และชวนเพื่อนๆ ที่เป็นนักศึกษา กศน. เหมือนกันอีก 4 คน เข้าร่วมด้วย

  การอบรมครั้งนั้นทำให้โตรู้สึกประทับใจและชอบการเรียนรู้ในรูปแบบนี้ คือ กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เน้นการเรียนรู้แบบผ่านประสบการณ์โดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทั้งกระบวนกรและผู้เข้าอบรมร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน โตเล่าเกี่ยวกับการอบรมในครั้งนั้นว่า

ไปแล้วเจอการอบรมที่ไม่เคยเจอมาก่อน กิจกรรมที่มานั่งล้อมวงคุยกัน เราเคยเจอแต่กิจกรรมที่นั่งบนโต๊ะ มีคนไม่กี่คนเล่าให้ฟังเท่านั้น รู้สึกชอบวิทยากรเปิดโอกาสให้เราได้พูดไม่มีผิด รู้สึกว่าเราพูดได้ขนาดนี้เลยเหรอ เขาฟังเราไม่เหมือนคนแก่ที่บ้าน”

  การอบรมที่โตพูดถึงนี้เป็นการอบรมของทีมสถาบันยุวโพธิชนที่ทางสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ประสานให้เป็นผู้จัดการเรียนรู้ให้กับเยาวชนกลุ่มนี้ไปพร้อมๆ กับครู กศน.อำเภอจอมพระ โดยมุ่งหวังให้พวกเขากลับเป็นพี่เลี้ยงเยาวชน ที่สามารถจัดกระบวนการนำพาน้องๆ และผู้คนในชุมชนเรียนรู้ชีวิต เรียนรู้อาชีพ และเรียนรู้ชุมชนไปด้วย จริงๆ แล้วแกนนำเยาวชนกลุ่มนี้เป็นของแถมแหละ โดยแผนดำเนินงานเราตั้งใจที่จะพัฒนาครู กศน.อำเภอจอมพระให้สามารถเป็นพี่เลี้ยงเยาวชนมากกว่า แต่ด้วยจำนวนครูที่มีประมาณ 12 คน คนจัดกระบวนการจึงเสนอให้คัดเลือกแกนนำเยาวชนเข้าร่วมกระบวนการด้วย จากนั้นจึงได้มีการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาพี่เลี้ยงเยาวชนจัดขึ้นทั้งหมด 3 ครั้ง

  ต่อเนื่องจากเวทีการเรียนรู้ทั้ง 3 ครั้งนั้น ยังมีกิจกรรมที่แทรกระหว่างทาง แล้วทำให้กลุ่มแกนนำเยาวชนรู้สึกเกิดความเชื่อมั่นกับการทำงานแบบเกาะติด และลงลึกของ สรส. และสยามกัมมาจล คือ การที่มีผู้ประสานงานลงไปพูดคุยในพื้นที่ และมีการจัดเวทีพูดคุยปัญหาเด็กและเยาวชน พร้อมกับฟังความต้องการของพวกเขา ในครั้งนั้นโตบอกว่า “เมื่อดูวีซีดีกิจกรรมที่ศูนย์เรียนรู้ชาวดินแล้วเห็นเขาเข็นรถขายปลา ก็เกิดแนวความคิดอยากทำด้วยและเราน่าจะทำได้”

  เราจะเห็นได้ว่ากระบวนการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานใหม่ๆ  แม้จะเป็นสิ่งที่อยากทำอยู่แล้ว แต่ก็ต้องมีกระบวนการสร้างความเชื่อมั่นในการสร้างความฝัน ทำให้พวกเขามั่นใจว่ามันจะไม่ใช่เหมือนฝันกลางวันแบบที่ผ่านมา เพราะหลายๆ องค์กรที่เข้ามาทำงานกับชุมชน ก็มักให้สร้างภาพฝันแล้วก็จากไปพร้อมกับความฝันของพวกเขา การทำงานกับเยาวชนจึงต้องอาศัยความใกล้ชิด เกาะติด เป็นการแสดงความจริงใจของคนทำงานร่วมกัน

  อีกอย่างคือ การมีวีซีดีให้ดูตัวอย่างดีๆ เป็นการเสนอทางเลือกให้เห็นว่า เยาวชนสามารถทำอะไรได้บ้าง ทำให้เขามีภาพฝันใหม่ๆ เกิดขึ้น และยังสร้างความมั่นใจว่า สิ่งที่เขาคิดและฝันนั้นจะเป็นจริงได้

ภาพฝันและการเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็น

สิ่งที่สมาชิกกลุ่มร่วมกันระบุเป้าหมายหรือภาพฝันของพวกเขา ในอนาคตพวกเขาอยากเห็นสมาชิกในกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดรายจ่าย ใช้จ่ายอย่างประหยัด ยึดหลักการเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มอยู่ในชุมชนด้วยความสงบเรียบร้อยปราศจากอบายมุขต่างๆ และปลอดจากสิ่งเสพติดทุกชนิด ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้กับตนเอง ครอบครัว และสังคม เพื่อให้สมาชิกกลุ่มอยู่ในชุมชนอย่างมีความสุข (สุขที่แท้จริง) และยั่งยืน

  ในส่วนของความต้องการเห็นตนเองเป็นอย่างไร โตบอกว่าอยากเลิกอบายมุข เช่น การพนัน เล่นมวย เลิกได้เพราะเป็นหน้าที่ ต้องการให้เด็กศรัทธา ต้องการเลิกบุหรี่ เมื่อก่อนโตมีความฝันอยากเป็นผู้นำ  (อบต.) เพราะอยากพัฒนาชุมชน แต่เมื่อเข้ามาเรียนรู้แล้วเห็นว่าเขาเองสามารถพัฒนาชุมชนได้ โดยไม่มีตำแหน่งใดๆ

  โตบอกเพิ่มเติมว่า อยากมีอาชีพที่อยู่ในชุมชนได้จริง ไม่ต้องไปเป็นผู้นำ ชอบการเกษตรแบบสบายๆ มีการวางแผน วางระบบที่ดี เกิดรายได้จริง อยู่ได้จริง การเกษตรแบบครบวงจร มีการเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ดึงน้ำใต้ดินมาใช้จัดการบนพื้นที่ 1 ไร่

  และสุดท้ายอยากจะเป็นคนที่สามารถสื่อสารให้คนเข้าใจได้ ไม่สับสนในตนเอง ทั้งในเวลาตื่นเต้น หรือกลัว หรือดีใจ และอยากเรียนให้จบ เพื่อมีโอกาสมากขึ้น ในการทำงาน เช่น การเป็นครู กศน. เพราะได้โอกาสในทำงานกับชุมชนโดยตรง

  ในส่วนของครอบครัว โตต้องการเห็นครอบครัวอยู่ด้วยกัน คนในครอบครัวเข้าใจสิ่งที่เราทำ สนับสนุน อยากให้ช่วยเหลือในการเกษตร สนใจงานเยาวชนด้วยกัน อยากให้ลูกเป็นคนดี ไม่มุ่งเน้นการแข่งขัน เติบโตแบบไม่แข่งขันกับใคร หากินได้ อยู่ในธรรมเนียมประเพณี

  และอยากเห็นชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ มีการคิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง รู้จักการแก้ปัญหา มีความเอื้อเฟื้อ ไม่นินทา ไม่เหยียบย่ำผู้อื่น รับฟังและยอมรับความคิดของคนอื่น

กระบวนการสร้างภาพฝัน

  กลุ่มกองกำลังพัฒนาถิ่นเกิด ก่อเกิดขึ้นหลังจากที่มีแกนนำเยาวชนได้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมศักยภาพในการเป็นพี่เลี้ยงเยาวชนที่จัดโดย สรส. สยามกัมมาจล และ กศน.อำเภอจอมพระ ทั้ง 3 ครั้ง และได้มีการจัดเวทีศึกษาชุมชนเพื่อให้ครู กศน.และแกนนำเยาวชนได้เรียนรู้วิธีการศึกษาทุกข์และทุนของชุมชน โดยใช้ตำบลชุมแสงเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ ในครั้งนี้ทางแกนนำเยาวชนได้ชักชวนน้องๆ เยาวชนมาร่วมเวทีเรียนรู้ด้วย น้องกลุ่มนี้โดยประมาณ 20 คน ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนในระบบ โตให้เหตุผลว่า “เห็นนั่งๆ นอนๆ อยู่ที่บ้าน ชวนมาคุยกันน่าจะได้อะไรบ้าง” ส่วนน้องๆ ที่มาก็บอกว่า “นั่งๆ นอนๆ อยู่ที่บ้านเฉยๆ มาร่วมหน่อยก็ไม่เห็นเป็นไร” เวทีครั้งนี้จึงเต็มไปด้วยหนุ่มๆ ในวัยกระทิงกันทั้งนั้น

  เวทีครั้งนี้เราแบ่งแกนนำเยาวชนเป็น 4 กลุ่มย่อย ให้ได้พูดคุยกันว่า (1) ปัญหา ความกังวล  ที่มีต่อ เด็กและเยาวชนในตำบล, (2) อยากเห็นเยาวชนเป็นอย่างไรในอนาคต (ทั้งนิสัยใจคอ และความเป็นอยู่), (3) กิจกรรมเด็กและเยาวชนที่ผ่านมามีอะไรบ้าง  จัดเมื่อไหร่ ได้ผลอย่างไร  ช่วยแก้ปัญหาได้แค่ไหน อย่างไร, (4) อยากจะทำอะไรเพิ่ม จากเวทีนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้พวกเขาเริ่มคิดและพูดคุยกันเกี่ยวกับตนเอง ระดมกันออกมาได้มากมาย จากนั้นทางทีมกระบวนกรก็เปิดวีซีดีชุด “พลังเยาวชนรื้อฟื้นพลังท้องถิ่น” ให้ดู ซึ่งมีหลากหลายตัวอย่าง พวกเขารู้สึกประทับใจกิจกรรมของเยาวชนศูนย์เรียนรู้ชาวดิน เพราะรู้สึกว่ามันใกล้เคียงกับชีวิตของพวกเขามาก

  จากนั้นก็ให้เยาวชนทั้งหมดรวมกลุ่มกัน และช่วยกันลำดับความสำคัญของปัญหา และกิจกรรมที่จะทำเพื่อช่วยแก้ปัญหา พวกเขาสนใจการเรียนรู้แบบเยาวชนศูนย์เรียนรู้ชาวดินมาเป็นอันดับหนึ่ง ทีมกระบวนกรจึงเสนอให้พวกเขาได้ไปเรียนรู้ที่ศูนย์เรียนรู้ชาวดิน โดยใช้เวลา 3 วัน ใน 2 วันแรกเป็นการเรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นทีม และวันสุดท้ายได้แลกเปลี่ยนกับเยาวชนศูนย์เรียนรู้ชาวดิน พร้อมกับให้คุยกันถึงเป้าหมายชีวิต และวางแผนที่ละเอียดว่าใครอยากทำอะไรเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายชีวิตของตนเองและกลุ่ม จริงๆ การพูดคุยรอบนี้เป็นเพียงการเขียนลงกระดาษให้เป็นระบบมากขึ้น แต่ในระยะ 3 คืนที่พวกเขาได้ใช้ชีวิตร่วมกันที่นี่ พวกเขาได้พูดคุยกันเองอย่างเข้มข้นโดยตลอด

  เมื่อกลับไปถึงชุมชนของตนเอง พวกเขาจึงสามารถจัดตั้งกลุ่มของตนเองออกมาทันที พร้อมกับขอพื้นที่จากผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งก็เป็นพี่ชายของเปา และเป็นลุงของโตนั่นเอง ผู้ใหญ่บ้านสนใจการทำเกษตรอยู่แล้ว เมื่อเยาวชนคิดดีอยากทำเกษตร ผู้ใหญ่บ้านจึงหนุนเต็มที่ให้ทั้งบ่อเลี้ยงปลา ศาลาที่ใช้เป็นที่รวมกลุ่ม และที่ดินสำหรับทำการเกษตร

  โตเล่าว่า การรวมกลุ่มของเขาครั้งนี้ต่างจากการรวมกลุ่มเพื่อขอเงิน SML ของ อบต. อย่างมาก คือ ครั้งที่แล้วเขารวมแกนนำแล้วก็ล่ารายชื่อเยาวชน ส่วนครั้งนี้หลังจากที่ผ่านกระบวนการแล้ว โตกลับมาประชุมกลุ่มเยาวชน ฟังความคิดเห็นทั้งคนที่มาร่วมกระบวนการที่ขอนแก่น และที่ไม่ได้ร่วม ทั้งเยาวชนในระบบและนอกระบบ จากนั้นก็ได้จัดตั้งกลุ่มโดยใช้โอกาสในวันที่ 14 ตุลาคม 2553 เป็นวันเริ่มก่อเกิด และเริ่มดำเนินงานตามแผนที่ได้ร่วมกันวางไว้

ปัจจัย  เงื่อนไขที่จำเป็นที่จะทำให้โครงการนี้สำเร็จ

  การเริ่มต้นของกลุ่มนี้ทางแกนนำเยาวชนได้ชวนเยาวชนร่วมกันวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของกลุ่ม และพบเงื่อนไขที่จะทำให้การทำงานของกลุ่มประสบความสำเร็จ มีดังนี้

1)  มีแกนนำเยาวชนมีความเข้มแข็ง มีอุดมการณ์ที่จะอยู่ในท้องถิ่นของตนเอง และพัฒนาถิ่นเกิดให้ดีขึ้นและมีความสุข

2)  มีจำนวนแกนนำที่มากพอ (4 คน) ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนงานต่อได้ และด้วยความสัมพันธ์เดิมที่ดีอยู่แล้วเป็นปัจจัยเอื้อให้เกิดการทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี

3)  สมาชิกกลุ่มมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีความมุ่งมั่นตั้งใจ  อันแรงกล้าที่จะสร้างคุณค่าให้กับตนเอง ครอบครัว  และสังคม

4)  สมาชิกในกลุ่มรักการเรียนรู้ และมีทักษะการแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องให้กับตนเอง

5)  ผู้นำ/ผู้ใหญ่ในชุมชนให้การสนับสนุนทั้งที่การใช้คำพูดที่ส่งเสริมให้กำลังใจ การช่วยหนุนด้านความคิด ประสานงบประมาณกับส่วนต่างๆ รวมถึงการผลักดันงานเยาวชนให้เป็นนโยบายของ อบต.

6)  ทุนทางทรัพยากรในชุมชนที่ดีอยู่แล้ว เช่น ดิน น้ำ ปุ๋ยคอก ป่าไม้ ฯลฯ

7)  การได้เรียนรู้เรื่องการทำงานอย่างเป็นกระบวนการ (ที่บ้านดิน  อ.ภูเวียง)

8)  ผู้บริหารของ กศน. ตระหนักเห็นความสำคัญของการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเยาวชนให้เขาสามารถอยู่ในชุมชนได้อย่างมีศักดิ์ศรี และจัดเป็นหลักสูตรของ กศน. ได้ 

9)  มีครู  กศน. อำเภอจอมพระที่สนใจงานเยาวชน และมีความสามารถในการจัดกระบวนการเรียนรู้และติดตามอย่างใกล้ชิดกับเยาวชนในพื้นที่ได้

10)  มีองค์กรภายนอก เช่น สรส. และมูลนิธิสยามกัมมาจล สนับสนุนด้านการเรียนรู้ แนวคิด แนวทางใหม่ และสนับสนุนงบประมาณในการเริ่มต้นกิจกรรม

11)  มีตลาดในชุมชนรองรับผลผลิต

หลักคิดที่อยู่เบื้องหลัง

กระบวนการทำงานของกลุ่มกองกำลังพัฒนาถิ่นเกิดคำนึงถึงความสอดคล้องวิถีชีวิต และเป้าหมายของกลุ่ม โดยสมาชิกเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกำหนดกิจกรรม และเลือกทำในสิ่งที่ตนเองสนใจมากที่สุด

ประสบการณ์เดิม ทุนเดิมที่มี

แกนนำเยาวชน

โต ในช่วงวัยรุ่นตอนต้นได้เรียนหนังสือในระบบปกติ แต่ก็เปลี่ยนที่เรียนอยู่หลายที่ (5 สถาบัน) แต่โตก็เรียนไม่จบเพราะใช้ชีวิตกับการเที่ยว ดื่มเหล้า เสพยา ยกพวกตีกัน และมีแฟน จนต้องมาเรียน กศน. แม้แต่ กศน.เอง โตก็ต้องเปลี่ยนที่เรียน 2 แห่ง จึงได้เรียนจบ  ฐานะครอบครัวของโตพออยู่พอกิน เพราะพ่อไปทำงานลงเรือหาปลาส่งเงินมาให้ทางครอบครัวเดือนละ 10,000 บาท แม่ก็มีเงินเดือนพนักงานเลี้ยงเด็ก ชีวิตโตจึงค่อนข้างสบาย

แต่พ่อก็ไม่ได้อยู่กับครอบครัว ไปแต่ละรอบก็หลายปี บางทีมาแล้วไม่อยากไปอีก แต่อยู่บ้านก็ไม่รู้จะทำอะไร พ่อก็เลยต้องไปลงเรือหาปลาอีก ส่วนโตขาข้างขวาค่อนข้างมีปัญหาเนื่องจากเคยถูกยิงในช่วงวัยรุ่นตอนต้น ทำให้ขาบวมโตไม่หาย จึงทำให้ทำงานหนักไม่ค่อยได้ โตบอกว่า “ชีวิตโตค่อนข้างสบาย”

ในวัยอายุ 14 ปี โตตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ชีวิตคืออะไร” โตรู้สึกว่าชีวิตตนเองไม่มีคุณค่า จึงใช้ชีวิตด้วยความโลดโผน แต่โตก็ยังชอบอ่านหนังสือ เมื่อวัยเข้าปีที่ 20 ด้วยวัยที่เปลี่ยนไป และมีแฟนจึงเริ่มมองเข็มชีวิตใหม่ อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง และอยากสร้างครอบครัว โตจึงไปเรียนช่างไฟฟ้า ช่างก่อสร้าง ช่างคอมพิวเตอร์ (เรียนระยะสั้น) และช่างทำเครื่องเงิน

และเมื่อมาเรียนที่ กศน.จอมพระ ทำให้การเรียนรู้ของโตเปลี่ยนแปลงไป โตได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมที่ กศน. จัดมากขึ้น เคยเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มอนุรักษ์พลังงาน และกลุ่มหัวไร่ปลายนาแต่ก็เป็นเพียงผู้เข่าร่วมเท่านั้น โตพยายามรวมกลุ่มเยาวชนในหมู่บ้านเพื่อของบประมาณจาก อบต. แต่ตอนนั้นโตทำไม่สำเร็จ และเกิดความท้อแท้

และเมื่อ สรส. และมูลนิธิสยามกัมมาจลมาจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับ ครู กศน.จอมพระ โตมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย ในฐานะแกนนำเยาวชน กระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ ประกอบกับการได้เห็นตัวอย่างกระบวนการเรียนรู้และเติบโตของศูนย์เรียนรู้ชาวดิน ทำให้โตเกิดแรงบันดาลใจครั้งใหม่ในการเปลี่ยนแปลงตนเอง ไปพร้อมกับการสร้างกลุ่มเยาวชนให้เติบโตไปด้วยกัน

ส่วนแกนนำคนอื่นๆ เช่น เปา เป็นคนที่เน้นการปฏิบัติ แม้จะปกป้องตัวเองมากหน่อย แต่ก็มีความขยันขันแข็งมีความตั้งใจที่จะทำงานเพื่อชุมชน สามารถประสานงานได้ดีกับกลุ่มเด็กที่ดื่มเหล้า และเป็นวัยรุ่นที่อยู่นอกระบบการศึกษา ส่วนเบิ้มนั้นแม้จะเรียนรู้เรื่องการเกษตรมามาก แต่ยังไม่ค่อยได้ลงมือทำจริง บุคลิกเงียบ การทำงานครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่เบิ้มได้ใช้ความรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ สมาชิกอีกคนคือ ยุ มีความรู้เรื่องการเกษตรที่ลงมือทำเอง ทำมาตั้งแต่เด็ก และมีความตั้งใจจริงในการทำงาน

แกนนำทั้ง 4 คนนี้ เราพบว่าทุกคนมีความตั้งใจที่จะอยู่ในชุมชนอย่างจริงจัง แต่ละคนมีการพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ ในเบื้องต้นใครทำอะไรได้ก็ทำไปก่อน แต่โตก็จะเป็นคนทำงานเอกสาร และประสานงานหลัก

สมาชิก

สมาชิกของกลุ่มกองกำลังพัฒนาถิ่นเกิด มีสมาชิกทั้งสิ้นประมาณ 40 คน เป็นเยาวชนในระบบการศึกษาประมาณ 20 คน และเยาวชนนอกระบบประมาณ 20 คน จำนวนเยาวชนนอกระบบจะไม่ค่อยนิ่งมากนัก ยังไปๆมาๆ กับการทำงานต่างจังหวัด แต่กลุ่มยังสามารถดำเนินไปได้เรื่อยๆ เนื่องจากมีแกนนำเยาวชนที่เกาะติดอย่างต่อเนื่อง โตเห็นว่า สมาชิกกลุ่มต้องอาศัยการติดตามอย่างใกล้ชิดมากๆ สมาชิกกลุ่มแต่ละคนก็มีบทบาทในการดูแลกิจกรรมของตนเอง เข้าร่วมการประชุมสรุปบทเรียน และร่วมกิจกรรมจิตอาสาของชุมชน

ผู้ใหญ่ในชุมชน

  ใหญ่ในชุมชนแม้จะไม่ได้ให้การสนับสนุนมากนัก แต่ก็มีความเข้าอกเข้าใจเยาวชนมากขึ้น  ให้การสนับสนุนมากขึ้นกว่าเดิม และยังมีผู้ใหญ่บางกลุ่มที่คิดว่าโตรวมกลุ่มเยาวชนเพื่อจะหวังผลในการคัดเลือก อบต. เดิมผู้ปกครองเด็กเยาวชนก็ยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญกับการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน และคิดแต่เพียงว่าเยาวชนเป็นผู้ก่อปัญหา สร้างความเดือดร้อนให้กับพ่อแม่และชุมชน มีเยาวชนที่ไม่ค่อยช่วยงานครอบครัว แต่มาช่วยในกลุ่มก็มักจะถูกผู้ปกครองเพ่งเล็ง ทางแกนนำก็อธิบายว่า “มันเป็นกระบวนการสร้างกลุ่มและฝึกฝนเยาวชนในการสร้างความรับผิดชอบ”

กระบวนการ/วิธีการรวมกลุ่ม

แกนนำกลุ่มคิดว่า การมีกระบวนการพูดคุยกันเรื่อยๆ และการมีกิจกรรมทำด้วยกันอย่างต่อเนื่อง เป็นตัวเอื้อให้เกิดการสื่อสารต่อได้ และทำให้รู้จักว่าใครเหมาะที่จะทำอะไร

ชวนมาร่วมกระบวนการลองดู

  จากการจัดเวทีศึกษาศักยภาพตำบลชุมแสง โตซึ่งเป็นแกนนำเยาวชนได้ชักชวนเยาวชนที่อยู่ในชุมชนให้มาร่วมกิจกรรมเพราะอยู่บ้านก็นอนเฉยๆ เมื่อได้มาร่วมกระบวนการพูดคุยแล้ว และมีกิจกรรมที่ต่อเนื่องตามมาทันที โดยการไปเรียนรู้ที่ศูนย์เรียนรู้ชาวดินในเรื่องการทำงานเป็นทีม ความต่อเนื่องอย่างใกล้ชิดจึงทำให้เกิดการรวมกลุ่มได้เร็ว

ประชุมชี้แจง ทำความเข้าใจ รับฟังความคิดเห็น

  แกนนำเยาวชนได้เลือกใช้วิธีการที่เป็นทางการด้วย เช่น การประกาศทางหอกระจายข่าวเชิญชวนให้มาประชุมที่บ้านนายก อบต. หรือที่ทำการกองกำลังพัฒนาถิ่นเกิดของตนเอง และใช้วิธีการชี้แจงให้ทราบ และให้มีการพูดคุยซักถาม

เริ่มจากคนใกล้ตัว

โตเริ่มจากการชวนเปาเป็นน้าของโต ซึ่งวัยไม่ห่างกันมากนัก เปาเป็นหัวหน้ากลุ่มเยาวชนที่ชอบจับกลุ่มกันดื่มเหล้าเข้ามาร่วมกระบวนการด้วย และขยายออกไปสู่เยาวชนในระบบด้วย

อบรมและศึกษาดูงานร่วมกัน

ก่อนการรวมกลุ่มของเยาวชนตำบลชุมแสง โตได้ชักชวนเยาวชนเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ที่ศูนย์เรียนรู้ชาวดิน พวกเขาได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม การรู้จักตนเอง และการสร้างภาวะผู้นำ พร้อมกับการวาดภาพฝันและทำแผนร่วมกัน กระบวนการดังกล่าวทำให้พวกเขารู้จักกันมากขึ้น เชื่อมั่นในกันและกันมากขึ้น เมื่อกลับจากการอบรมพวกเขาก็ได้จัดตั้งกลุ่มทันที

  การรวมกลุ่มของเยาวชนที่นี่เกิดจากแกนนำเยาวชนในชุมชนเองเป็นหลัก มีจุดเด่นที่พวกเขารู้จักกันพอสมควร และสามารถติดตาม พูดคุยกันได้เรื่อยๆ เพราะอยู่ในชุมชน และสมาชิกในกลุ่มเองก็มีทั้งเยาวชนที่กำลังเรียนในระบบ และเยาวชนที่ไม่ได้เรียนหนังสือแล้ว การทำกิจกรรมจึงเกื้อหนุนต่อกันได้เป็นอย่างดี

วิธีการในการเลือกเรื่องที่จะทำหรือเลือกกิจกรรม

การเลือกทำกิจกรรมของกลุ่มกองกำลังพัฒนาถิ่นเกิด ได้มีกระบวนการให้ได้วิเคราะห์ทุนของครอบครัว ทุนชุมชน จุดแข็งจุดอ่อนของกิจกรรมที่เลือกทำ และวางแผนขั้นตอนในการดำเนินงาน พร้อมทั้งการเก็บข้อมูล และการแสวงหาความรู้เพิ่มเติม

กิจกรรมที่พวกเขาเลือกทำในเบื้องต้นจะเน้นการทำเพื่อบริโภคเองในครัวเรือน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับครอบครัวของตนเอง และตั้งใจที่จะใช้กิจกรรมเหล่านี้ในการสร้างความสัมพันธ์และเป็นกระบวนการสร้างกลุ่มไปด้วย

ขั้นตอนการทำกิจกรรม

กระบวนการทำกิจกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับครอบครัวของกลุ่มกองกำลังพัฒนาถิ่นเกิด มีขั้นตอนดังนี้

กิจกรรมที่เกี่ยวกับการเสริมศักยภาพ

เวทีครั้งแรกชื่อว่า ค่ายพัฒนาศักยภาพครู กศน.จอมพระและแกนนำเยาวชนครั้งที่ 1 พลังกลุ่มและการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้ ระหว่างวันที่ 12 -14  สิงหาคม 2552 ณ  ศูนย์ฝึกอบรม NET มูลนิธิพัฒนาอีสาน จ.สุรินทร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้พี่เลี้ยงเยาวชนได้เรียนรู้กระบวนการสร้าง“พลังกลุ่มและการเรียนรู้สู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้”

กระบวนการฝึกอบรมครั้งนี้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ รูปแบบกระบวนการเรียนรู้ ที่เน้นการมีส่วนร่วม ผ่านการทำกิจกรรมที่หลากหลาย และสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน  กระบวนกรทำหน้าที่เพียงอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ แต่ผู้เรียนสรุปบทเรียนด้วยตนเองมากที่สุด

เนื้อหาการเรียนรู้ประกอบด้วยการทำความเข้าใจวัตถุประสงค์และปรับความคาดหมายในการเรียนรู้ให้ตรงกันระหว่างกระบวนกรและผู้เข้าร่วม, การสร้างวินัยการเรียนรู้ร่วมกันและแสวงหาหลักการร่วมที่จะทำให้ค่ายบรรลุเป้าหมาย, เรียนรู้การทำสมาธิภาวนาเบื้องต้น, สร้างสรรค์สามัคคีธรรม ประกอบด้วย ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดสามัคคีธรรมในกลุ่ม และปัญหาอุปสรรคที่มักจะเกิดขึ้น ที่ทำให้ไม่สามารถเกิดการรวมกลุ่มได้ หรือรวมได้ไม่ต่อเนื่องยาวนาน, การเข้าใจเรื่องบุคลิกภาพตนเอง และบุคลิกภาพกับความสัมพันธ์กันภายในกลุ่ม, การจัดระบบและโครงสร้างความสัมพันธ์ภายในกลุ่ม โดยให้ตั้งอยู่บนหลักธรรมพื้นฐานของความเป็นกัลยาณมิตร

การสร้างภาวะผู้นำ ฝึกทักษะในการสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่ม เช่น การรับฟังอย่างใส่ใจ การเล่าเรื่องราวชีวิต การไว้วางใจ การสร้างการสื่อสารระหว่างกัน, การพูด/การนำเสนอในที่สาธารณะ, ฝึกทักษะการเขียน, ความเข้าใจเรื่องความหมายและลักษณะของผู้นำหลายรูปแบบ ภาวะผู้นำหรือคุณสมบัติที่ดีของผู้นำ คืออะไร และจะสร้างสรรค์ภาวะผู้นำขึ้นได้อย่างไร, ฝึกฝนการผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์ด้วยดนตรีบำบัด และการฝึกฝนการทำสมาธิ ภาวนา เพื่อแปรเปลี่ยนด้านในของชีวิต

เรียนรู้หลักการ ทฤษฎี ที่อยู่เบื้องหลังของการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของความเป็นมนุษย์ที่แท้

ผลที่เกิดขึ้น จากค่ายครั้งที่ 1 จากการให้ทำแบบประเมินผลพบว่า ครูและแกนนำเยาวชนมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ที่เอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นพี่เลี้ยง/กระบวนกร มีทักษะในการทำงานแบบมีส่วนร่วม (คิด ตัดสินใจ ลงมือทำ และสรุปบทเรียนร่วมกัน) มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบที่เน้นให้ผู้เรียนค้นพบตนเอง และมีพลังสร้างสรรค์ที่จะแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง (ไม่ใช่ครูบอก) และสามารถออกแบบกระบวนการเรียนรู้โดยใช้วงจรการเรียนที่เน้นการลงมือทำและถอดบทเรียน

หลังจากการเรียนรู้ผ่านไป 1 เดือน ผู้เข้าร่วมได้สะท้อนการนำไปใช้ได้แก่ ครูกศน. ได้ร่วมกันจัดตลาดนัดความรู้อาชีพ เป็นวิธีการที่แปลกใหม่ ไม่ใช่รูปแบบที่วิทยากรอยู่หน้าเวทีใช้เลเซอร์ชี้ power point ทำให้ได้รับการตอบรับจากทั้งกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่ดีมาก บรรยากาศการเรียนรู้พลิกความคาดหมายของชาวบ้าน ครูหลายคนพยายามใช้หลัก “บริหารเนื้อหา เวลา และบรรยากาศ” หลายคนที่ไปร่วมในงานสะท้อนว่าครูกศน.เปลี่ยนแปลง และผลความเปลี่ยนแปลงนี้มาจากการเรียนรู้จากครั้งที่แล้ว

ครูกศน.หลายคนเอาไปใช้กับกลุ่มนักศึกษา (เวลาพบกลุ่ม) ทำให้เขาอยากเรียนรู้กับเรา ไม่มีใครอยากหนี บางคนที่ลงไปทำงานชุมชน ก็บอกว่าได้นำไปใช้กับผู้สูงอายุ ทำให้เห็นว่ากลุ่มเป้าหมายรุ่นนี้ ก็ชอบการเรียนรู้แบบ play & learn เหมือนกัน

ผอ.กศน.อ.จอมพระสะท้อนว่า ครูกศน.มีการวางแผนดีขึ้น เป็นระบบ มีขั้นตอนมากขึ้น และที่สำคัญมีความเป็นทีมดีขึ้นมาก เหมือนกับว่าเรียนรู้เรื่องพลังกลุ่มของครั้งที่ผ่านเริ่มส่งผล ส่วนการทำหน้าที่เป็นคุณอำนวยการเรียนรู้ของกลุ่มครู ก็พบว่ามีความกระตือรือร้น แม้ว่าจะทำหน้าที่ได้ดีหรือไม่ดีแตกต่างกัน แต่ทุกคนก็มีการเตรียมประเด็น ป้อนคำถาม มีสันทนาการ มีการสรุปประเด็น

แกนนำเยาวชนได้ไปเป็นวิทยากรด้านพลังงาน และใช้ทักษะการพูดคุยแบบมีส่วนร่วม มีการซักถามและพูดคุยกับผู้เข้าร่วม ได้รับการตอบรับและผู้ฟังแลกเปลี่ยนพูดคุยกับเรามากขึ้น ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่วิทยากรก็พูดอย่างเดียว  ผู้ฟังก็ฟังอย่างเดียว

เวทีครั้งที่ 2 ค่ายพัฒนาศักยภาพครู กศน.จอมพระและแกนนำเยาวชนครั้งที่ 2 (ฝึกฝนกา