“Insectica Kingdoms” สนุกอย่างสร้างสรรค์ สานฝันสู่สังคม
“Insectica Kingdoms” สนุกอย่างสร้างสรรค์ สานฝันสู่สังคม


ชื่อผลงาน
: มหัศจรรย์อาณาจักรแมลง : ผจญภัย (Insectica Kingdoms)

เจ้าของผลงาน : 1.นายธนพล กุลจารุสิน (แบงค์)

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

2. นายฉัตรปรินทร์ หงส์ศิริธรรม (จ้ำ)

  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

3. นายสุทธินันท์ สุคโต (ชาติ)

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

กฎของธรรมชาติมีอยู่ว่า เราปลูกอะไรย่อมได้อย่างนั้น ไม่ต่างจากมนุษย์ ที่ในวัยเด็กเติบโตมากับอะไร สิ่งนั้นย่อมติดตัวติดใจและเติบโตเป็นความฝันนำทางชีวิตในกาลต่อมา

ด้วยกฎข้อนี้ เด็กติดเกมคนหนึ่ง เมื่อเติบโตมาก็คงจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากผู้ใหญ่ติดเกม ที่อาจไม่ได้ทำอะไรให้สังคมเลย

อย่างไรก็ตาม การปลูกพืชชนิดเดียวกันในดินที่ต่างกัน ในอากาศที่บริสุทธิ์ไม่เท่ากัน และด้วยน้ำจากลำธารคนละสาย ย่อมทำให้พืชเติบโตแตกต่างกันออกไปฉันใด

มนุษย์ที่มีพื้นฐานชีวิตเหมือนกัน แต่เติบโตในสภาพแวดล้อมและปัจจัยเกื้อหนุนที่ต่างกัน ก็อาจเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่แตกต่างกันฉันนั้น

คำตอบอยู่ที่ปัจจัยแวดล้อมในการเติบโต จริงอยู่ว่าเด็กติดเกมก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ติดเกมในวันพรุ่งนี้ แต่หากระหว่างการเติบโตนั้นเขาได้รับปัจจัยเกื้อหนุนที่เหมาะสม ผู้ใหญ่คนนั้นก็อาจสามารถสร้างชีวิตของตนให้มีคุณค่า และสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม ในขณะที่ตัวเองก็ยังติดเกมอยู่ก็เป็นได้

ขอชวนไปรู้จัก “แบงค์-จ้ำ-ชาติ” 3 หนุ่มอดีตเด็กติดเกม กับเกมที่พวกเขาพัฒนาขึ้น ไม่ใช่เพียงเพื่อความสนุก แต่ยังช่วยพัฒนาเยาวชนได้อย่างแยบคาย

เกมอะไร? และพัฒนาเยาวชนด้านไหน? ลองไปฟังเขาคุยกัน

Quote

“เราชอบเล่นเกม แล้วทำไมไม่ลองทำเกมกันดูบ้าง ทำให้คนอื่นสนุกเหมือนที่เราสนุก”

จากเด็กติดเกมสู่โปร “เกม” เมอร์

“ตอนเด็กๆ เราทุกคนชอบเล่นเกมหมดเลยครับ”"รับร์กติดเกมสู่โปร "ชนด้านไหน? เขาพัฒนาขึ้น ไม่ใช่เพียง

สร้างชีวิตของตนให้มีคุณค่า และสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม ในขณะที่ตัวเองก็นายฉัตรปรินทร์ หงส์ศิริธรรม หรือ “จ้ำ” เปิดบทสนทนาด้วยการเล่าย้อนไปถึงวัยเด็กของเขาและทีม “เรียกได้ว่าเกิดมาในยุคที่เกมกำลังสนุกเลย (หัวเราะ) ตอนนั้นเป็นเครื่องเกมตลับ ผมก็ติด พอมีคอมพิวเตอร์ของตัวเองก็เล่นเกมอย่างเดียว เล่นทุกเกมทั้งออนไลน์ออฟไลน์ เล่นจนวันหนึ่งเกิดความคิดว่า เราชอบเล่นเกม แล้วทำไมไม่ลองทำเกมกันดูบ้าง ทำให้คนอื่นสนุกเหมือนที่เราสนุก (ยิ้ม)”

ไม่ต่างจากนายธนพล กุลจารุสิน หรือ “แบงค์” และนายสุทธินันท์ สุคโต หรือ “ชาติ” ที่ต่างอยู่ในฐานะเด็กติดเกม และมีความฝันที่อยากจะเป็นคนเขียนเกมเหมือนๆ กัน

อย่างไรก็ตาม ความฝันเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถบรรลุความฝันได้ ในกรณีของทั้ง 3 หนุ่ม อาจเป็นโชคดีที่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งจากที่บ้านและโรงเรียน

“พ่อให้เล่นเกมหลากหลายครับ ทั้งเกมทั่วไปและเกมส่งเสริมการเรียนรู้ ฝึกภาษาอังกฤษ พ่อบอกว่าถ้าเล่นแล้วจะให้รางวัล” แบงค์เล่าถึงการสนับสนุนของพ่อ ก่อนที่จ้ำจะเล่าให้ฟังถึงการสนับสนุนจากที่โรงเรียน

“ผมเรียน ม.ปลาย สายวิทย์-คอม ที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จันทบุรีครับ อาจารย์เห็นเราชอบเล่นเกมและอยากเขียนเกม เลยสนับสนุนให้เราทำเกมส่งประกวด NSC จึงทำเกมส่งประกวดมาตั้งแต่นั้น”

ถือเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยอย่างยิ่ง ที่ทั้งโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.จันทบุรี ของจ้ำ และโรงเรียนระยองวิทยาคม จ.ระยอง ของแบงค์และชาติ นำเสนอแนวทางการศึกษาที่หลากหลายให้แก่นักเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมปลาย คือมีการแยกย่อยสาขามากกว่าโรงเรียนทั่วไป เพื่อให้เด็กนักเรียนสามารถเลือกศึกษาในสาขาที่ตนสนใจได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เช่นสายวิทย์ของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.จันทบุรี มีการแยกสาขาย่อยออกเป็นวิทย์-คณิต, วิทย์-คอม และวิทย์-แพทย์ กันเลยทีเดียว

ซึ่งแน่นอนว่า แยกย่อยให้เลือกกันขนาดนี้ จ้ำกับแบงค์ก็ไม่ต้องลังเลที่จะเลือกวิทย์-คอมเป็นแน่แท้ และไม่ใช่เพียงแค่แยกสาขาเท่านั้น แต่ในกระบวนการศึกษายังมีการเชิญวิทยากรวิชาชีพจากภายนอกมาให้ความรู้แก่รุ่นพี่ และรุ่นพี่ก็จะนำความรู้ที่ได้มาขยายผลต่อให้รุ่นน้อง ช่วยให้รุ่นน้องไม่ต้องเคว้งคว้างหาความรู้ด้วยลำพังตัวเองคนเดียว

กระบวนการศึกษาแบบนี้เอง ที่ทำให้นอกจากนักเรียนจะได้ความรู้ในสายอาชีพจริงๆ แล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้องในสถาบัน ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และช่วยเหลือกัน ซึ่งแบงค์ในฐานะรุ่นพี่ ก็ได้รู้จักกับชาติในฐานะรุ่นน้องจากกระบวนการนี้นี่เอง

และตามประสาวัยรุ่นมีของ จะให้มานั่งเรียนนั่งพัฒนาโครงงานอย่างเดียวก็ใช่ที่ แนวทางที่อาจารย์ของทั้งสองโรงเรียนเลือกใช้ จึงคือให้นักเรียนทำโครงงานและส่งประกวดตามเวทีต่างๆ จ้ำ-แบงค์-ชาติจึงได้ฝึกปรือการทำเกมจนเกิดทักษะเชี่ยวชาญ ได้รางวัลและประสบการณ์จากเวทีต่างๆ มาไม่น้อย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย หรือ NSC

และเป็นเวทีนี้เองที่ทำให้จ้ำกับแบงค์ได้มาพบ รู้จัก และกลายเป็นเพื่อนกัน

รวมกลุ่มสร้างฝัน

เมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมปลาย จ้ำกับแบงค์ก็ได้เข้ามาเรียนในคณะเดียวกัน คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และเป็นช่วงนี้เองที่ทั้งสองเริ่มฟอร์มทีมเพื่อทำเกมส่งประกวด ซึ่งเกมที่เริ่มพัฒนาด้วยกันเป็นเกมแรกก็คือ Insectica Kingdoms

“เกมนี้คิดกันมาตั้งแต่ปี 1 ครับ ค่อยๆ ทำกันมา” จ้ำเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มแรกในการสร้างเกม Insectica Kingdoms ซึ่งตอนนั้นจ้ำกับแบงค์ยังพัฒนากัน 2 คน จนเมื่อขึ้นปี 2 จึงได้ชาติที่เป็นรุ่นน้องของแบงค์ที่โรงเรียนระยองวิทยาคม เข้ามาร่วมทีมอีกแรงหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม แม้สมาชิกจะเพิ่มขึ้น แต่การพัฒนาเกมก็ยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป อาศัยเวลาว่างจากการเรียนมาทำ รวมไปถึงใช้ช่วงปิดเทอม แทนที่ทั้งสามจะกลับบ้านเหมือนนักศึกษาคนอื่นๆ ก็กลับมาสุมหัวทำเกมกัน

จริงจังกันขนาดนี้ เพราะเป้าหมายในการทำเกมของทั้งสามไม่ใช่แค่ทำส่งประกวดเล่นๆ แล้วจบไป แต่ตั้งใจทำส่งประกวด และพัฒนาเพื่อขายกันเลยทีเดียว

“ตั้งแต่ ม.ปลาย เราเน้นพัฒนาเกมสำหรับคอมพิวเตอร์ PC ส่งประกวดเป็นหลักครับ ซึ่งเราก็พบว่ายังไม่มีตลาดซื้อขายที่ชัดเจน และมีการลงทุนสูงเรื่องการผลิตแผ่น CD ออกวางขาย ดังนั้น เมื่อขึ้นมหาวิทยาลัย เราก็เลยเบนเข็มมาทางเกมบน Smart Phone และ Tablet ที่มีตลาดซื้อขายชัดเจนและมีมาตรฐานเดียวกันทั้งโลก” ชาติอธิบายแนวทางของทีม ก่อนที่จ้ำจะเสริมต่อว่า

“คือตอนนั้นเราคิดว่า ไหนๆ จะทำทั้งทีก็น่าจะทำแบบส่งประกวดได้ด้วยและขายได้ด้วยครับ แทนที่จะอยากทำอะไรก็ทำเลย เราเลยต้องไปศึกษาตลาดก่อนว่า ตลาดเกมตอนนั้นเกมแนวไหนที่คู่แข่งมีน้อย”

ซึ่งจากการสำรวจตลาดก็พบว่า ณ ขณะนั้นเกมแนว Turn Based Strategy หรือการวางแผนสู้รบ มีคู่แข่งอยู่ในตลาดแค่ 4-5 ราย แต่กลุ่มผู้เล่นกลับมีมากถึง 4-5 ล้านคน ทั้งสามจึงไม่รอช้าที่จะผลิตเกมในแนวนี้ออกมาเพื่อตีตลาด

ก่อนจะพบว่า...

“มันเป็นแนวเกมที่ทำยากมากครับ (หัวเราะ) คู่แข่งก็เลยน้อย แต่ถ้าทำดีๆ ก็จะสนุก ลูกค้าก็เลยเยอะ เลยใช้เวลาทำกันค่อนข้างนาน” จ้ำเล่า

“เราต้องศึกษาเรียนรู้กันพอสมควรครับ ทั้งการพัฒนาเกม การเขียนเกม การทำกราฟฟิค ก็อาศัยเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นหลัก และก็สอบถามจากผู้รู้ด้วย” ชาติเสริม

อนึ่ง ในการทำงานเป็นทีมย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เกิดปัญหาขัดแย้งกันระหว่างคนในทีม แต่น่าแปลกอย่างยิ่งที่การทำงานของจ้ำ-แบงค์-ชาติ กลับราบรื่นจนน่าประหลาดใจ

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เป็นเช่นนั้น ทั้งสามหนุ่มเปิดเผยว่า อยู่ที่การแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนลงตัว และแต่ละคนต่างก็ทำหน้าที่ของตัวเอง โดยไม่ไปก้าวก่ายหน้างานในความรับผิดชอบของคนอื่น

เรียกว่าให้เกียรติกันและกันก็คงไม่ผิดนัก

“ผมจะทำเรื่องดีไซน์โปรแกรมทั้งหมดครับ คือ ดีไซน์เบื้องต้นว่าเกมจะออกมาเป็นอย่างไร กับอีกงานคือทำกราฟฟิคทั้ง 2D และ 3D ซึ่งส่วนนี้ผมก็จะแบ่งกันทำกับชาติ และชาติก็จะช่วยสนับสนุนเรื่องเทคนิคและโปรแกรมที่จำเป็นต่างๆ ขณะที่แบงค์ก็จะรับผิดชอบการเขียนโปรแกรมไปคนเดียวเลย คือเราวางแผนกันชัดเจน มีตารางเวลาของแต่ละคนเลยว่า วันนี้ใครต้องทำอะไร งานต้องเสร็จวันไหน ถ้างานเสร็จตามกำหนดมันไม่มีปัญหาอะไรอยู่แล้วครับ ทำงานร่วมกันมา 3 ปี ไม่เคยทะเลาะกันสักครั้งเดียว” จ้ำเล่าพร้อมรอยยิ้ม

ในขณะที่เพื่อนๆ เรียนเสร็จก็อาจไปพักผ่อนหรือเล่นสนุก แต่ทั้งสามกลับต้องมาแบ่งงานกันทำอย่างจริงจังและมีวินัย มองในมุมหนึ่ง นี่อาจเป็นภาระที่หนักเกินไปสำหรับนักศึกษาวัยเรียน วัยที่ควรจะเต็มเปี่ยมด้วยความสดชื่นในการเรียนรู้และสีสันของการเล่นสนุก แต่ทั้งสามกลับยิ้มอิ่มใจ และบอกว่านี่แหละคือการเล่นสนุกของพวกเขา

“ถ้าถามว่าหนักไหม มันก็หนักกว่าคนอื่นเยอะครับ แต่มันก็คุ้มกว่า เราได้ประสบการณ์ เราได้ฝึกตัวเอง เพราะเราตั้งใจกันว่า พอเรียนจบเราจะเปิดเป็นบริษัททำเกมของตัวเอง นี่จึงเป็นเส้นทางที่เราต้องเดิน” จ้ำกล่าวด้วยรอยยิ้ม

Quote

“อาจเป็นความผูกพันด้วยครับ คือเราทำกันมานานแล้ว เริ่มรู้สึกผูกพันกับงาน อยากให้มันเสร็จสมบูรณ์จริงๆ”

โลดแล่นไปในอาณาจักรแมลง

“เกมนี้เป็นเกมวางแผนการรบครับ เราพัฒนาให้สามารถเล่นได้ทั้งบน Smart Phone บน Tablet และบนคอมพิวเตอร์ PC เนื้อเรื่องเป็นการต่อสู้ของแมลง 4 เผ่า คือ มด ด้วง หนอน และตั๊กแตน ซึ่งแต่ละเผ่าก็มีทหาร 4 ประเภท คือ นักเวทย์ นักดาบ นักธนู และฮีโร่ ให้เลือกใช้ แต่ละตัวก็จะมีความสามารถแตกต่างกันออกไป เป้าหมายของเกมก็ง่ายๆ ครับ คือวางแผนโจมตีฝ่ายตรงข้ามให้แพ้แค่นั้นเอง” ชาติอธิบายถึงผลงาน

Insectica Kingdoms หรือในชื่อภาษาไทยว่า “มหัศจรรย์อาณาจักรแมลง : ผจญภัย” เป็นเกมจัดทัพวางแผนการรบในรูปแบบ 3 มิติ โดยผู้เล่นจะมีบทบาทในการควบคุมกองทัพแมลงเผ่าต่างๆ 4 เผ่าตามที่ตนเองเลือก ซึ่งแต่ละเผ่าจะมีความสามารถพิเศษแตกต่างกันไป ก่อนเริ่มรบ ผู้เล่นจะต้องเลือกด่านหรือสนามรบ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 15 ด่าน และจะมีลักษณะพิเศษแตกต่างกัน จากนั้นจึงเริ่มวางแผนสู้รบให้สามารถทำลายปราสาทของฝ่ายตรงข้ามให้ได้ โดยทีมได้พัฒนาให้ผู้เล่นสามารถเล่นกับสมองกลหรือ AI ในคอมพิวเตอร์ หรือจะเล่นผ่านระบบ LAN ในกลุ่มเพื่อนหลายๆ คนก็ได้

อย่างไรก็ตาม แม้โครงสร้างของเกมจะถูกวางไว้อย่างดี แต่การพัฒนาเกมสักเกมเพื่อเข้าสู่ระบบตลาดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อพัฒนาเสร็จครั้งหนึ่ง ส่งประกวด และกลับมาทบทวนใหม่ ทีมก็ยังพบข้อผิดพลาดที่ต้องแก้ไขอยู่เรื่อยๆ

“ตัวเกมมีการแก้ไขครั้งใหญ่ๆ หลายรอบมากครับ คือเกมนี้เราพัฒนาเสร็จทีหนึ่งก็จะส่งประกวด ซึ่งแต่ละครั้งก็จะกลับมาปรับปรุงอยู่เรื่อยๆ เหมือนจะไม่ลงตัวสักที (หัวเราะ) เวอร์ชั่นแรกก็คือส่งประกวด NSC ปี 2012 ครับ แต่ไม่ได้เข้ารอบชิง เพราะมันยังไม่สมบูรณ์” จ้ำเล่า

กระนั้น สำหรับคนที่เดินตามความฝันอย่างมุ่งมั่นเช่นทั้งสาม อุปสรรคขวากหนามหาใช่เรื่องใหญ่โตที่ควรท้อถอย แต่คือองค์ประกอบหนึ่งของการเดินไปจนถึงความฝัน

“อาจเป็นความผูกพันด้วยครับ คือเราทำกันมานานแล้ว เริ่มรู้สึกผูกพันกับงาน อยากให้มันเสร็จสมบูรณ์จริงๆ” จ้ำกล่าว

ทั้งสามจึงพัฒนาเกมต่อไป และส่งเข้าแข่งขันในเวทีSamart Innovation Awards ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) และบริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลจากเวทีนี้ จะได้รับการต่อยอดไปยังโครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี ได้รับทุนจากบริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาผลงานต่อ และได้เข้าร่วมอบรมพื้นฐานด้านธุรกิจ เพื่อต่อยอดผลงานไปสู่การทำธุรกิจได้จริงอีกด้วย

“ช่วงนั้นเริ่มมีความมั่นใจแล้วครับว่าจะทำได้ การได้ไปอบรมทำให้ได้ความรู้ด้านธุรกิจ ทั้งการนำเสนอลูกค้า การขอทุน มันสร้างความมั่นใจให้เราได้มากว่า เราสามารถเปิดบริษัทของเราได้ มันเห็นช่องทาง ช่วงขึ้นปี 3 จึงเริ่มเขียนแผนธุรกิจกัน ก่อนจะพัฒนาเกมส่งประกวด NSC ปี 2013 อีกรอบ” แบงค์เล่า

ซึ่งในครั้งนี้ Insectica Kingdoms ของทั้งสามก็สามารถฝ่าด่านคู่แข่งจนได้เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ และได้ต่อยอดมายังโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ในเวลาต่อมา

พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อสิ่งที่ดีที่สุด

“ช่วงนั้นถือว่าตัวเกมใกล้เสร็จสมบูรณ์มากๆ แล้วครับ จนได้การสนับสนุนจากโครงการต่อกล้าฯ เราก็มาแก้ไขจุดที่เกมยังบกพร่องอยู่ เช่น ทำให้ระบบมันสอดรับกับ Device ของลูกค้าให้มากกว่าเดิม รวมไปถึงเพิ่มAvatar ตัวละครให้มีหลากหลายขึ้นด้วย” แบงค์อธิบายถึงพัฒนาการของ Insectica Kingdoms หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่

รวมไปถึงทีมยังได้พัฒนาระบบการเล่นของเกมให้ลื่นไหลมากขึ้น โดยเฉพาะในโหมดการเล่นแบบ LAN จากเดิมที่เคยต้องเล่นผ่าน WIFI ทีมก็ได้ปรับมาให้เล่นผ่าน Bluetooth ผู้เล่นจึงเล่นได้ลื่น ไม่ติดขัดเหมือนเวอร์ชั่นก่อนหน้านี้

ซึ่งการพัฒนาที่เกิดขึ้น เป็นการผสมผสานกันระหว่างความตั้งใจเดิมของทีม และการชี้แนะจากคณะกรรมการ

“การได้เจอกรรมการอีกชุดหนึ่ง ได้แนวคิดอีกแบบหนึ่งเพิ่มเข้ามา มันช่วยในการพัฒนาผลงานของเรามากๆ ครับ” แบงค์กล่าว ก่อนที่จ้ำจะเสริมว่า

“ถ้าเป็นความเห็นในแง่ลบ เช่น ตรงนี้ยังไม่สนุกนะ ตรงนี้ต้องแก้ไข ผมจะดีใจมากๆ ครับ คือทำให้เราได้รู้จริงๆ ว่าเรามีปัญหาตรงไหน แล้วจะได้นำกลับไปแก้จริงๆ ส่วนคำชมก็ถือว่าเป็นกำไรครับ (หัวเราะ)”

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ทั้งสามได้ทดลองปล่อยเกมเวอร์ชั่นทดสอบในชื่อ Insectica Fighter ออกสู่ตลาด Blackberry World ให้ผู้ใช้ Smart Phone ในระบบ Blackberry ได้ทดลองดาวน์โหลดไปเล่นกัน กระทั่งเมื่อได้รับการสนับสนุนจากโครงการและแรงผลักดันจากภายในของทั้ง 3 หนุ่มเอง ก็ทำให้ ณ วันนี้ Insectica Kingdoms ภายใต้ชื่อผู้พัฒนา Jelly Ant Studio ได้เปิดตัวในระบบ IOS สนนราคาที่ $0.99 เป็นที่เรียบร้อย และในอนาคตแน่นอนว่าทีมกำลังพัฒนาเพื่อเปิดตัวในระบบ Android ต่อไป

“ถามถึงจุดเด่นของเกม น่าจะเป็นเรื่องดีไซน์และรูปแบบเกมครับ เหมือนเราผสมจุดดีของแต่ละเกมมาไว้ในเกมเรา คือตอนพัฒนาเราลองเทียบดูแล้วว่าคู่แข่งเรามีจุดด้อยตรงไหน เล่นแล้วมันยังขาดอะไร ก็เพิ่มจุดนั้นเข้าไป และเพิ่มความแปลกใหม่เข้าไป” แบงค์กล่าว

“กลุ่มเป้าหมายก็จะเป็นผู้ใช้ Smart Phone และ Tablet อายุ 15 ปีขึ้นไป อาจถึง 40 ปีก็ได้ครับถ้าเขายังเล่นเกมอยู่ (หัวเราะ) ตอนนี้เกมก็ออกไปแล้ว ก็อยากได้เสียงตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคครับ” ชาติเสริมด้วยเสียงหัวเราะ

ซึ่งถึง ณ วันนี้สิ่งที่ชาติคาดหวังไม่น่าจะไกลเกินจริง เพราะก่อนหน้านี้ที่ทีมตระเวนออกบูธประชาสัมพันธ์ก็มีคนให้ความสนใจและเอ่ยปากชมเกมมากมาย

“ลูกค้ารายแรกๆ ของเราคือเด็กที่มาร่วมงาน NSC ครับ เขามาลองเล่นแล้วบอกว่า พี่...ผมซื้อเลย ว่าแล้วก็หยิบเงินมาให้ 40 บาทจะซื้อเลย คือตอนนั้นยังไม่ได้ลงใน App Store นะครับ ความรู้สึกตอนนั้นคือใจมาเลย สบายใจมากๆ เด็กก็มาต่อแถวเล่นกัน” จ้ำเล่าบรรยากาศในวันนั้นด้วยแววตาเปี่ยมสุข

Quote

“สมัยนี้คนมักทำเกมแนวรุนแรงก้าวร้าว แต่เราจะทำเกมที่สร้างสรรค์ อย่าง Insectica Kingdoms นี้ก็เป็นเกมสร้างสรรค์ ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ การประเมินสถานการณ์”

ความสนุกที่มาพร้อมกับการพัฒนาสังคม

แม้จากการทดลองนำไปเผยแพร่และได้รับเสียงตอบรับจากผู้เล่นหลายคนว่า สนุก กระนั้น ก็ยังมีผู้เล่นอีกจำนวนหนึ่งที่บอกว่า เกมนี้เล่นยาก

“เพราะแม้เนื้อเรื่องมันจะดูเหมือนเป็นเกมต่อสู้ แต่จริงๆ เกมนี้เป็นเกมแนววางแผนนะครับ คล้ายๆ หมากรุก คือเราต้องศึกษาตัวละครให้ดีๆ เลยว่า แต่ละตัวมันดียังไง มันมีทักษะด้านไหน และวางแผนการรบจากพื้นฐานของตัวละครที่เรามีอยู่ มันเลยอาจจะยากไปนิดหนึ่งสำหรับบางคน ไม่เหมือน Angry Bird ที่ลากปล่อยแล้วจบ” จ้ำอธิบาย

ซึ่งด้วยรูปแบบเกมเช่นนี้เอง ที่ทำให้นอกจากความสนุกแล้ว ผู้เล่นยังจะได้ฝึกการคิดวิเคราะห์สถานการณ์อย่างเป็นขั้นตอน รวมไปถึงฝึกไหวพริบในกรณีที่แผนของเราไม่เป็นไปตามที่วางไว้ ก็จำเป็นต้องหาทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านั้นให้ลุล่วง

อนึ่ง กรอบคิดเกี่ยวกับความเป็น “เกม” นี้ยังคงเป็นประเด็นปัญหาที่ผู้ใหญ่กับเด็ก รวมถึงผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งกับผู้ใหญ่อีกกลุ่มยังคงเห็นต่าง ว่าขึ้นชื่อว่าเกม ย่อมหมายถึงความสนุกที่ไม่ได้ให้ประโยชน์อะไร แต่สำหรับเกมบางประเภท นอกจากจะสนุกแล้วยังช่วยพัฒนาทักษะของผู้เล่นได้

ฐานะของคนทำเกมจึงเป็นฐานะที่สุ่มเสี่ยงจะถูกบริภาษจากสังคมที่ยังมองว่าเกมเป็นสิ่งไร้สาระ ซึ่งทั้งจ้ำ-แบงค์-ชาติ ที่กำลังจะผันตัวเองไปเป็นบริษัทผู้ผลิตเกมอย่างจริงจัง เล็งเห็นถึงความเปราะบางของประเด็นดังกล่าว และได้เตรียมพร้อมที่จะนำเสนอสิ่งที่แตกต่างให้แก่สังคมไว้แล้วในระดับหนึ่ง

“เกมมันเชื่อมโยงกับสังคมแน่นอนครับ เพราะเกมส่งผลกระทบต่อแนวคิดของผู้เล่น ถ้าเกิดเล่นเกมแนวรุนแรง มันก็ทำให้เด็กมีความรุนแรงในตัวเองสูง แต่ถ้าเล่นเกมแนววางแผนหรือแนวน่ารักๆ ก็จะให้ผลในอีกแบบหนึ่ง” แบงค์กล่าว

“เราจึงจะทำเกมที่สอดแทรกความรู้หรืออะไรบางอย่างที่เกมสมัยนี้ไม่ค่อยทำกันครับ สมัยนี้คนมักทำเกมแนวรุนแรงก้าวร้าว แต่เราจะทำเกมที่สร้างสรรค์ อย่าง Insectica Kingdoms นี้ก็เป็นเกมสร้างสรรค์ ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ การประเมินสถานการณ์” จ้ำกล่าว พร้อมเสนอแนวทางการทำเกมของทีมต่อไปว่า

“เกมตัวใหม่ที่เรากำลังพัฒนากันอยู่เป็นเกมแนวเลี้ยงสัตว์ออนไลน์ครับ จะเป็นเกมที่สอดแทรกว่าเราต้องดูแลสัตว์ที่เรารับผิดชอบ มันจะมีเรื่องอารมณ์ความรู้สึกมาเกี่ยวข้อง ให้เด็กเล็กรู้ว่าต้องสังเกตอารมณ์ของสัตว์ เชื่อมไปถึงชีวิตของเราที่ต้องใส่ใจอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่นด้วย ไม่ใช่เล่นแต่เกมยิงๆ กับอีกเกมก็จะเป็นเกมปลูกต้นไม้ แนวคิดของเกมคือ ถ้าผู้เล่นเล่นเกมกับเราจนจบ เราจะปลูกต้นไม้จริงบนโลกให้ต้นหนึ่ง อะไรอย่างนี้เป็นต้นครับ”

กับอีกแนวทางหนึ่งนอกเหนือไปจากความรับผิดชอบในวิชาชีพ ก็คือความรับผิดชอบต่อสังคมหรือ CSR ทั้งสามก็ได้วางแผนไว้แล้วเช่นเดียวกัน

“เราตั้งใจกันไว้แล้วครับ ว่าเราจะแบ่งกำไรอันน้อยนิดของบริษัทในอนาคตของเรา มาทำ CSR คืนบางอย่างสู่สังคม อาจเป็นไปในรูปของการบริจาครายได้จากเกม ให้เด็กผู้ยากไร้หรือเด็กที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาครับ” ชาติเสริม

แรงบันดาลใจยังเต็มถัง ชีวิตจึงยังต้องไปต่อ

“เราทำเกมกันมาตั้งแต่ ม.ปลาย ทำกันมาหลายปีแล้ว และยังเพลินกับมันอยู่ แล้วเวลาที่มีคนมาเล่นเกมเราแล้วเขาสนุก เขาชม มันเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราอยากทำต่อไปเรื่อยๆ ครับ” จ้ำกล่าว

“ภูมิใจที่แข่งแล้วผ่านเข้ารอบจนชนะได้รางวัลครับ แค่เกมนี้เกมเดียวได้รางวัลมาหลายที่มาก (หัวเราะ) และได้เจอผู้เล่นที่มาเล่นเกมของเราจริงๆ เขาเล่นแล้วสนุก ก็รู้สึกดีมากครับ” แบงค์เสริม

เป็นความสุขเล็กๆ ที่เกิดขึ้นภายในใจ แต่หารู้ไม่ว่ามันมีพลังมหาศาลที่สามารถขับเคลื่อนให้ชีวิตของทั้ง 3 หนุ่มก้าวไปสู่ความฝันที่จะมีบริษัทผลิตเกมเป็นของตัวเอง

“ณ ตอนนี้เหมือนเราเริ่มต้นก่อนเพื่อน เพื่อนยังไม่ได้คิดทำอะไรกันเลย รอเป็นพนักงานเงินเดือน แต่เรากล้าที่จะออกมาทำอะไรที่แตกต่าง มันก็อาจจะเหนื่อยกว่าการเป็นลูกจ้างก็ได้นะครับ แต่ผมเชื่อว่ามันยังสนุก ยังสบายใจกว่า เพราะมันเป็นของเรา วันนี้เราเห็นลู่ทาง รู้แล้วว่าต้องขาย ต้องวางแผนอย่างไร ที่สำคัญคือ ดูศักยภาพของทีมงานแล้ว เราทุกคนทำได้จริงๆ” จ้ำกล่าวอย่างมั่นใจ

ทุ่มเทชีวิตอดหลับอดนอนทำเกมจนได้รางวัลจากหลายเวที ได้กำลังใจจากนักเล่นเกมทั่วสารทิศ รวมถึงได้เริ่มต้นธุรกิจของตัวเองที่เป็นธุรกิจทำเงินจริงๆ บนโลกออนไลน์

นี่คือสถานะที่คนทั่วไปคงนิยามได้คำเดียวว่า ความสำเร็จ

แต่สำหรับ 3 หนุ่มเขาไม่มองเช่นนั้น

“ยังไม่เรียกว่าประสบความสำเร็จแล้วกันครับ (หัวเราะ) เรียกว่าเพิ่งสตาร์ทดีกว่า แค่เราเริ่มต้นก่อนคนอื่นเท่านั้นเอง” จ้ำกล่าว

และวันนี้ การเริ่มต้นไปสู่ความเป็นมืออาชีพของทั้งสามก็ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ด้วยสำนักงานเล็กๆ หลังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ทั้งสามจะใช้เป็นที่ทำการของบริษัท และมีแผนจะจดทะเบียนบริษัทในปี 2557 นี้ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การเป็นบริษัทเกมที่มีคุณภาพของประเทศ ที่สามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากบริษัทเกมของญี่ปุ่นหรือเกาหลีได้อย่างไม่น้อยหน้า

และที่สำคัญไปกว่านั้น ก็คือ

“เราจะเป็นบริษัทที่ช่วยส่งเสริมให้สังคมดีขึ้นด้วยครับ” แบงค์จบบทสนทนาด้วยรอยยิ้มกว้างขวาง

เพราะกฎธรรมชาติบอกว่า เราปลูกอะไรย่อมได้อย่างนั้น เด็กติดเกม 3 คน เมื่อเติบโตมาจึงกลายเป็นผู้ใหญ่ติดเกมตามกฎธรรมชาติ

แตกต่างแต่เพียงว่า ด้วยสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยปัจจัยหนุนเสริมที่ดี ได้ทำให้นอกจากติดเกมแล้ว ทั้งสามยังมีความคิดที่แตกต่าง มีความมุ่งมั่นชนิดที่เพื่อนรุ่นเดียวกันไม่มี และที่สำคัญคือ มีความฝันที่ดี และเป็นมิตรต่อสังคม

เกมของทั้งสามจึงไม่ใช่เพียงความสนุกที่ไร้สาระ แต่คือความสนุกที่มาพร้อมฟังก์ชั่นที่ให้ผู้เล่นได้พัฒนาตัวเองบนโลกของความจริง

การติดเกมหรือไม่ติดเกมจึงไม่น่าจะใช่สาระอีกต่อไป เหมือนกับเมล็ดพืช ไม่ใช่สิ่งที่ควรให้ความสำคัญเท่ากับว่า เมล็ดนั้นปริแตกออกมาเป็นต้นไม้แบบไหน แคระแกร็น หรือเติบโตผลิดอก ขจายเกสรความคิดฝันออกไปสู่โลกกว้าง

ซึ่งถึงสุดท้ายนี้ คุณผู้อ่านน่าจะเชื่อแล้วว่า ทั้งสามเป็นต้นไม้อย่างหลัง

ร่วมติดตามเกสรความคิดฝันของทั้งสามหนุ่มต่อไป แล้วเราอาจจะพบว่า สังคมที่ดีอาจเกิดขึ้นจากเกมที่ดีก็เป็นได้

กฎธรรมชาติว่าไว้อย่างนั้น...