“คาร์บอนคุง ไลฟ์” สาระบันเทิงเพื่อวัยใส แรงบันดาลใจเพื่อโลกสวย

      สิ่งต่างๆ บนโลกใบนี้ตั้งอยู่บนความเปลี่ยนแปลง หรือกล่าวในอีกนัยหนึ่งก็ได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงคือกลไกที่ขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ บนโลกใบนี้
     ตลอดมา เราจึงไม่เคยพบเห็นสิ่งใดที่อยู่ยั้งยืนยง ดำรงสภาพผ่านร้อนฝนหนาวโดยไม่เปลี่ยนแปลง แต่ล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ซึ่งไม่ใช่เพียงรูปธรรม แต่รวมไปถึงสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น อารมณ์ความรู้สึก ความรัก ข้อคิดปรัชญา ฯลฯ ถึงวันหนึ่งล้วนต้องดับ ต่างแต่เพียงดับช้าหรือเร็วเท่านั้น 


      ซึ่งการดับช้าหรือดับเร็วของสิ่งใดสิ่งหนึ่งนี่เอง ที่ทำให้เราสามารถวัดคุณค่าของสิ่งสิ่งนั้นได้
เป็นเหมือนการคัดสรรจากธรรมชาติ ว่าสิ่งที่ดีย่อมมีคุณค่าแก่การดำรงอยู่ และส่งผ่านจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง พัฒนาต่อๆ ไปจนกว่าจะถึงปลายทาง 


และวันนี้ ปรากฏการณ์นั้นก็ได้เกิดขึ้นแล้วกับหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่ง ที่รับมรดกจากรุ่นพี่ มาพัฒนาเพื่อสานต่อปณิธาน และส่งมอบสู่อีกรุ่นหนึ่งในวงกว้าง 


ขอชวนไปทำความรู้จักกับกลุ่มหนุ่มสาว 3 คน “บูม-นุช-จ๊ะเอ๋” กับเกมที่ถูกพัฒนาต่อเนื่องมาถึง 4 รุ่น และเชื่อว่าจะถูกพัฒนาต่อไป ตราบเท่าที่อากาศในโลกยังแปรปรวนอยู่อย่างนี้

"กิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน...มันเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยไม่รู้ตัว...เลยเกิดแรงบันดาลใจอยากทำโปรแกรมอะไรขึ้นมาสักอย่าง...เพื่อช่วย Save the World รักษาโลกเราไว้"


แรงบันดาลใจเกิดได้ในห้องน้ำ
“ได้มีโอกาสไปเข้าห้องน้ำที่ NECTEC ครับ แล้วเห็นป้ายกราฟรณรงค์ว่า “รู้หรือเปล่าว่าวันหนึ่งคุณใช้กระดาษทิชชูไปเท่าไหร่ แล้วเป็นการทำลายต้นไม้เท่าไหร่” อ่านเสร็จรู้สึกเลยว่า จริงๆ แล้วกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันที่เรารู้สึกว่าเป็นกิจกรรมทั่วๆไป จริงๆ แล้วมันเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยไม่รู้ตัว ไม่ต้องเผาโฟมหรืออะไร แค่กิจกรรมในชีวิตเราก็ปล่อยคาร์บอนออกมาเยอะแล้ว ก็เลยเกิดแรงบันดาลใจอยากทำโปรแกรมอะไรขึ้นมาสักอย่าง ที่ทำให้คนรู้สึกตระหนักในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ เพื่อช่วย Save the World รักษาโลกเราไว้” นายปกรณ์ นกแก้ว หรือ “บูม” เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการเล่าให้ฟังถึงแรงบันดาลใจในการพัฒนาเกมคาร์บอนคุง ไลฟ์ ขึ้น

และแรงบันดาลใจที่ว่า “เราควรทำอะไรให้โลกนี้บ้าง!” นี้ของบูม ก็ได้ถูกส่งต่อไปยังอีก 2 สาวในทีม คือ นางสาวปรียานุช สุปรีย์ลีลา หรือ “นุช” และนางสาวกชมน กาญจนจันทร์ หรือ “จ๊ะเอ๋” ซึ่งเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันในกลุ่มกิจกรรม PUPA โดยทั้งสามได้มาปรึกษาหารือกันว่าจะพัฒนาโปรแกรมอะไรที่สามารถช่วยโลกใบร้อนๆ ของเรานี้ได้ ก่อนจะเผอิญไปถูกตาต้องใจกับโปรแกรมชิ้นหนึ่งที่รุ่นพี่ใน PUPA ได้พัฒนาไว้ก่อนหน้านี้
โปรแกรมดังกล่าวเป็น Web Application หรือแอพพลิเคชั่นบนเว็บไซต์ ที่ให้คนสามารถเข้าไปคำนวณกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเขาได้ ว่ากิจกรรมนั้นปลดปล่อยคาร์บอน (ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโลกร้อน) เท่าไหร่ เพื่อกระตุ้นเตือนให้คนตระหนักถึงการใช้ชีวิตของเราที่มีผลต่อสภาพแวดล้อมโดยรวม
“เป็น app. ที่จะช่วยบอกว่า กิจกรรมที่เราทำนั้นส่งผลอะไรต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง เกิดคาร์บอนเท่าไหร่ โดยให้เข้าไปกรอกข้อมูลในเว็บไซต์ เช่น วันนี้เราขับรถกี่กิโล app. ก็จะคำนวณและแสดงออกมาว่า ที่เราขับรถนั้นก่อให้เกิดคาร์บอนเท่าไหร่ ซึ่งพวกเราเห็นว่าแนวคิดของรุ่นพี่นั้นดี ทำให้เราตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ว่าอยากจะทำให้น่าสนใจกว่านั้น” จ๊ะเอ๋อธิบาย
ด้วยเล็งเห็นว่า การทำแอพพลิเคชั่นในรูปแบบของสาระนั้น แม้จะมีประโยชน์ แต่ก็เข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้ยาก กอปรกับบูมนั้นเติบโตและมีทักษะด้านการพัฒนาเกมแอพพลิเคชั่นอยู่แล้ว ทั้งสามจึงตกลงใจที่จะแปรรูป Web Application ของรุ่นพี่ มาเป็น Game Application ในรูปแบบของตัวเอง
“พอมันเป็นตัวอักษรอยู่บนเว็บ มันไม่ค่อยมีคนมาใช้งานครับ ทั้งเข้าถึงยากและใช้งานยาก แต่เราอยากให้คนมาใช้งานเยอะๆ คิดว่าถ้ามีสีสันมากขึ้นน่าจะมีคนมาใช้งานมากขึ้นได้” บูมกล่าว

­

รวมพลังสานฝัน ต่อยอดความท้าทาย

แม้ว่าบูม นุช และจ๊ะเอ๋ จะเป็นสมาชิกของกลุ่ม PUPA เหมือนกัน ซึ่งแปลว่าทั้งสามต้องมีความสนใจด้านการเขียนโปรแกรมเหมือนๆ กัน แต่ในโลกของโปรแกรมนั้นมีหลากหลาย เหมือนรากไม้ที่แตกแขนงเป็นสาขาย่อยนานา ทั้งสามคนก็เช่นเดียวกัน คือ ต่างคนต่างก็มีความสนใจการเขียนโปรแกรมในสาขาย่อยที่แตกต่างกันออกไป ตามพื้นฐานของชีวิตที่แตกต่างกัน


ปิวปา (PUPA) เป็นกลุ่มกิจกรรมภายใต้การสนับสนุนของภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่อาจารย์สุธน แซ่ว่อง ที่ปรึกษาของ NSC เป็นผู้ก่อตั้งขึ้น มีลักษณะคล้าย "ชมรม" ที่ให้นักศึกษาเข้ามารวมกลุ่มเพื่อพัฒนาศักยภาพใน 2 ด้าน คือ 1.ด้าน hard skill คือ การเขียนโปรแกรม mobile และ application กับ 2.ด้าน solf skill คือ การพัฒนาบุคลิกภาพ ความตรงต่อเวลา การทำงานร่วมกันเป็นทีม เป็นต้น

­

บูมนั้นเรียกว่าเติบโตมาพร้อมกับคอมพิวเตอร์ก็คงไม่ผิดนัก เพราะเรียนวิชาคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่อนุบาล ประกอบกับในครอบครัวมีคนเล่นเกม ทำให้เกมคอมพิวเตอร์สำหรับบูมเป็นอะไรที่มากกว่าความบันเทิงในโลกเสมือน แต่เป็นดังกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย
“น้าเป็นเกมเมอร์ครับ เรานั่งดูน้าเล่นเกมแล้วรู้สึกว่าน้าเก่งจัง ก็คิดว่าเราน่าจะทำอะไรอย่างนี้ได้บ้าง มีกระดาษแผ่นหนึ่งก็วาดเกมให้เพื่อนเล่น ให้หาดินสอในรูป หาของในรูป เพื่อนสนุก เราก็สนุก” บูมอมยิ้ม
บูมจึงเริ่มสนุกกับการเขียนเกมมานับแต่นั้น และได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตัวเองผ่านกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเข้าค่ายโอลิมปิคการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, การฝึกงานกับบริษัทดีบัส ผู้ผลิตเกมออนไลน์สัญชาติไทย รวมถึงการพัฒนาโปรแกรมส่งประกวดตามเวทีการแข่งขันต่างๆ เป็นต้น
บูมนั้นเรียกได้ว่าเกิดมาเพื่อเกม แต่สำหรับนุช การที่ทีมตัดสินใจพัฒนาแอพพลิเคชั่นเกมขึ้น กลับกลายเป็นปัญหาของเธอ
แม้จะมีทักษะการเขียนโปรแกรมและชอบเล่นเกมมาตั้งแต่เด็กเหมือนกัน แต่นุชก็ไม่เคยมีประสบการณ์เขียนเกมมาก่อน ทำให้การพัฒนาเกมในครั้งนี้ ซึ่งเธอได้รับมอบหมายให้เป็นมือเขียนโปรแกรม จึงต้องศึกษาและทำงานหนักพอตัว
“หนูไม่ค่อยถนัดเรื่องเกม เป็นมือใหม่ด้านเขียนเกมเลยก็ว่าได้ เลยต้องศึกษามากหน่อย ศึกษาการทำงาน การเขียนโค้ด ตอนแรกทำได้ช้ามาก (หัวเราะ) แต่พอทำได้แล้วก็ค่อยๆ ไหลลื่นขึ้น” นุชกล่าว
เพราะไม่มีอะไรที่ยากเกินกว่าความพยายาม แม้จะต้องทำงานหนัก แต่นุชก็มองว่านี่เป็นโอกาสที่เธอจะได้ความรู้และท้าทายความสามารถ และสุดท้ายเธอก็สามารถทำได้
ส่วนสมาชิกคนสุดท้ายคือ จ๊ะเอ๋ เป็นรุ่นน้องของบูมและนุชที่ PUPA ซึ่งจ๊ะเอ๋ถือเป็นมือฉมังเรื่องการทำกราฟฟิค เมื่อได้จ๊ะเอ๋มาร่วมทีม บูมจึงไม่รอช้า มอบหมายงานกราฟฟิคให้น้องทันที
“สำหรับโครงการนี้ผมเป็นหัวหน้าโครงการครับ ก็จะดูว่ามีงานอะไรบ้าง จะต้องทำอะไรบ้าง ก็ออกแบบกันในทีมแล้วก็แบ่งงานให้แต่ละคน โดยดูจากความถนัดของแต่ละคน” บูมกล่าว

“กลุ่มที่เราเน้นคือ กลุ่มเด็ก...หากปลูกฝังตั้งแต่เด็กก็จะทำให้ในอนาคตเขาจะเป็นคนที่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม”


วิวัฒนาการเพื่อความสนุกอย่างมีสาระ
จากเวอร์ชั่นแรกในชื่อ “คาร์บอนคุง” ที่เป็น Web Application ให้คนเข้าไปกรอกกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น เปิดพัดลมไปกี่ชั่วโมง app. ก็จะคำนวณและแสดง Carbon Footprint ออกมาเป็นตัวเลขว่า วันนี้คุณปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศเท่าไหร่ มาสู่เวอร์ชั่นที่ 2 “คาร์บอนคุง โมบาย” ก็ยังคงเป็นรูปแบบเดิม เพียงแต่ขยายขอบเขตจากเว็บไซต์มาสู่ Mobile Application
บูมและทีมมองว่าการแสดงข้อมูลที่เป็นสาระอาจให้ความรู้แก่ผู้ใช้ดี แต่ไม่ตอบสนองความสนุก ซึ่งส่งผลต่อการใช้ในระยะยาว ในเวอร์ชั่นที่ 3 ทีมจึงพัฒนาคาร์บอนคุง ไลฟ์เสียใหม่ ออกมาให้เป็นเกมบน Social Media อย่าง Facebook
ซึ่งการพัฒนาออกมาเป็นเกมนี้ นอกจากปัจจัยเรื่องการดึงความสนใจของผู้ใช้และพื้นฐานการพัฒนาเกมของบูมแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยหลักก็คือ ทีมต้องการขยายผลด้านจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้แก่เด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ
“กลุ่มที่เราเน้นคือ กลุ่มเด็ก เพราะเป็นกลุ่มที่เริ่มง่าย หากปลูกฝังตั้งแต่เด็กก็จะทำให้ในอนาคตเขาจะเป็นคนที่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม เราจึงตั้งใจทำรูปแบบของเกมเพื่อให้เข้าถึงง่าย ทุกคนจะได้รู้สึกว่าไม่น่าเบื่อ และเขาจะซึมซับไปโดยไม่รู้ตัว” จ๊ะเอ๋กล่าวถึงเป้าหมายของทีม
การทำสิ่งที่ยาก มันยากด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว แต่การพัฒนาเกมคาร์บอนคุง ไลฟ์นี้ ได้ทำให้ทั้งสามค้นพบว่า สิ่งที่ยากกว่าคือ การทำสิ่งที่ยากให้ออกมาง่าย
“เจออุปสรรคตั้งแต่แรกเลยค่ะว่า เราจะสื่อเรื่องคาร์บอนให้ออกมาเป็นเกมอย่างไรดี เพราะการแปลงจากข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงมาเป็นเกมเป็นสิ่งที่ยากมาก ทำอย่างไรให้คนเล่นได้ ให้คนเข้าใจได้ กับอีกอย่างคือ แม้ทีมเราจะสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม คิดว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก จึงคิดอยากจะทำให้คนอื่นได้รู้ แต่ความรู้เรื่องคาร์บอนของเราไม่มีเลย” นุชกล่าวกลั้วหัวเราะ
อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรที่ยากเกินการเรียนรู้ ทั้งสามเริ่มต้นจากฐานข้อมูลที่รุ่นพี่พัฒนาไว้ก่อนหน้า บวกกับศึกษารวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องใช้เวลาในการศึกษาพอสมควร
“ความตั้งใจของเราคือ อยากให้เกมนี้อิงกับงานวิจัยต่างๆ ด้วยครับ เพื่อความถูกต้องของข้อมูล ซึ่งการหาข้อมูลพวกนี้มีอุปสรรค โดยเฉพาะการสืบค้นหรือขออนุเคราะห์ข้อมูลจากส่วนราชการ” บูมแจกแจง
“การจะออกแบบเกมมาหนึ่งเกมต้องมีข้อมูลมหาศาลค่ะ แล้วต้องมาคิดว่าจะนำข้อมูลพวกนี้มาตีให้เป็นเกมอย่างไรให้ได้ ถ้าเราไม่มีข้อมูลแต่แรกก็จะออกแบบยากมาก” นุชสำทับ
ใช้เวลาไปกับการระดมและคัดกรองข้อมูลทางสิ่งแวดล้อมอยู่นาน จนถึงจุดที่พึงพอใจ ทั้งสามก็เริ่มต้นกระบวนการแปรรูปจากข้อมูล มาสู่เกมออนไลน์ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ชวนถอนหายใจมาตั้งแต่ต้น
“เริ่มแรกคือ เราไม่รู้ว่าโปรแกรมนี้มันเขียนยังไง (หัวเราะร่า) เราไม่เคยใช้เครื่องมือที่ใช้เขียนเกมนี้มาก่อน เลยต้องมาศึกษาใหม่ตั้งแต่แรก” นุชกล่าวถึงอีกหนึ่งอุปสรรคในการทำงาน
ดังที่กล่าวไป นุชในฐานะมือเขียนโปรแกรมประจำทีม จึงต้องเริ่มศึกษากระบวนการเขียนเกมใหม่ตั้งแต่ต้น ทั้งขอคำปรึกษาจากผู้รู้ที่เคยใช้งานโปรแกรม รวมถึงศึกษาจากวิดีโอ ซึ่งด้วยทัศนคติที่ไม่มองว่านี่คือปัญหาชวนท้อ แต่คือความท้าทายที่สนุกและชวนให้พิชิต ทำให้นุชสามารถเขียนโปรแกรมจนแล้วเสร็จได้ในที่สุด
เช่นเดียวกับจ๊ะเอ๋ที่รับหน้าที่ด้านกราฟฟิค ที่แม้จะไม่มีประสบการณ์ทำเกมมาก่อน แต่ด้วยทัศนคติที่ดีและหัวใจที่สู้ ก็ทำให้เธอสามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายจนแล้วเสร็จได้
“เพราะเราเป็นมือใหม่ค่ะ ไม่ได้ทำเกมใหญ่ๆ กันมาก่อน และเกมนี้ใช้กราฟฟิคเยอะมากๆ มีตั้ง 8 เกม เราก็ต้องทำฉากทั้ง 8 ฉาก มีตัวละครอีกหลายตัว แล้วมีขยะอีกกี่ประเภทเราก็ต้องทำหมด” จ๊ะเอ๋กล่าวพลางหัวเราะ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเขียนโปรแกรมและทำกราฟฟิคเสร็จ อีกปัญหาหนึ่งก็ตามมาคือ การพัฒนาเข้าไปสู่ระบบของ Facebook ซึ่งต้องอาศัยพลังในการจูนเกมให้เข้ากับระบบของ Social Media ชิ้นนี้ไม่น้อย
“การทำเวอร์ชั่นเกมบน Facebook ถือว่ายากค่ะ เพราะต้องเชื่อมต่อกับระบบของ Facebook ซึ่งตอนนั้น Code ที่ติดต่อกับ Facebook มันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอด และเราต้องเปลี่ยนตาม แม้แต่ตอนก่อนวันที่จะแข่งวันหนึ่ง Facebook ก็ยังส่งข้อความมาบอกว่าเปลี่ยนเวอร์ชั่นแล้ว เราก็ต้องรีบแก้รีบเปลี่ยนตาม ยากและเหนื่อยมากตอนนั้น” นุชเล่า
แต่สุดท้าย คาร์บอนคุง ไลฟ์ เวอร์ชั่นที่ 3 ก็ถือกำเนิดขึ้นได้ด้วยความพยายามของทีมทั้ง 3 คน

“อยากสร้างเกมที่สร้างจิตสำนึกมากกว่าให้ข้อมูลหนักๆ รู้สึกดีที่เห็นเด็กสนุกสนานกับเกมและได้ความรู้ใหม่ๆ”


สาระบันเทิงเพื่อวัยใสบนโลกออนไลน์
กลุ่มเป้าหมายของคาร์บอนคุง ไลฟ์ คือ เด็กชั้นประถมถึงมัธยมต้น รวมไปถึงบุคคลทั่วไปที่เล่น Facebook ขณะที่เป้าหมายของตัวเกมคือ ให้ความสนุกและปลูกฝังจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน
“ถ้าเป็นเกมเพื่อสิ่งแวดล้อมมันจะปลูกฝังเขาไปโดยไม่รู้ตัว เราพัฒนาคาร์บอนคุง ไลฟ์ ให้เป็นเกมที่ข้างในประกอบด้วยมินิเกมย่อยๆ มีลักษณะเป็นภารกิจให้ตัวละครทำ เช่น เกมเดินทาง เขาต้องเดินทางโดยมีภารกิจที่เกมกำหนดให้ เช่น มีปริมาณคาร์บอนให้เท่านี้ มีงบประมาณให้เท่านี้ ต้องให้ไปถึงเป้าหมายโดยใช้วิธีการต่างๆ เช่น เดิน ขึ้นรถเมล์ ขับรถ ปั่นจักรยาน ซึ่งแต่ละอย่างจะมีการคำนวณปริมาณคาร์บอนออกมา” จ๊ะเอ๋อธิบายถึงตัวอย่างมินิเกมเกมหนึ่ง
คาร์บอนคุง ไลฟ์ เป็นเกมประเภทให้ตัวละครพิชิตภารกิจที่กำหนดไว้ให้ให้สำเร็จ โดยจำลองภารกิจมาจากรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ในสังคมเมือง ซึ่งภารกิจต่างๆ นั้นก็จะแยกย่อยออกเป็นมินิเกมอีก 8 เกม ที่ในแต่ละเกมจะมีการบรรยายให้เด็กหรือผู้เล่นได้รับรู้ถึงความเกี่ยวเนื่องกัน ระหว่างภารกิจที่ทำกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อันได้แก่

1.เกมแยกขยะ เป็นเกมที่ให้เด็กทิ้งขยะให้ถูกถังตามประเภทของถังขยะ 4 สี 4 ประเภท (สร้างจิตสำนึกด้านการแยกขยะ)


2.เกมทำความสะอาด เป็นเกมที่ให้ทำความสะอาดเครื่องใช้ไฟฟ้า (สร้างจิตสำนึกด้านการดูแลรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะนอกจากจะทำให้อายุการใช้งานยาวนานขึ้นแล้ว เครื่องใช้ไฟฟ้าที่สะอาดจะกินไฟน้อยกว่าเครื่องที่สกปรกอีกด้วย) 


3.เกมหมีขั้วโลก เป็นเกมควบคุมหมีขาวให้วิ่งไปบนแผ่นน้ำแข็งที่กำลังละลายและแตกออกไปจนถึงเส้นชัย (สร้างจิตสำนึกด้านการรับรู้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน)


4.เกมกำจัดก๊าซเรือนกระจก (สร้างจิตสำนึกด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชีวิตประจำวัน เพื่อรักษาชั้นโอโซนของโลกไว้)


5.เกมเก็บขยะในแม่น้ำ (สร้างจิตสำนึกด้านการรักษาความสะอาดของแหล่งน้ำ)


6.เกมขายของ (ฉลากคาร์บอน) เป็นเกมที่ให้เด็กสวมบทเป็นพ่อค้าแม่ค้า ที่มีลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้า พ่อค้าแม่ค้าก็ต้องเลือกสินค้าที่มีคาร์บอนต่ำให้ลูกค้า (สร้างจิตสำนึกด้านการเลือกสินค้าอุปโภคบริโภคที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับต่ำ) 


7.เกมส่งของ (การเดินทาง) เป็นเกมที่จ๊ะเอ๋ยกตัวอย่างไว้ข้างต้น โดยให้เด็กสวมบทบาทเป็นตัวละคร ต้องเดินทางจากจุด A ไปจุด B โดยต้องทำภารกิจที่ได้รับ ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ (สร้างจิตสำนึกด้านการเดินทาง/คมนาคมขนส่งในชีวิตประจำวัน ให้มีส่วนในการปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศให้น้อยที่สุด)

8.เกมปลูกต้นไม้ เป็นเกมที่ให้ตัวละครปลูกต้นไม้ ปลูกได้เท่าไหร่เกมจะคำนวณให้ว่า สามารถลดคาร์บอนไปได้เท่าไหร่ (สร้างจิตสำนึกด้านการปลูกต้นไม้)
“เป็นเกมง่ายๆ ที่เด็กเล่นได้ผู้ใหญ่เล่นสนุก ง่ายๆ เบาสมอง แต่ได้สาระไปด้วยในตัวค่ะ” จ๊ะเอ๋สรุปพร้อมยิ้มภูมิใจ

­

การประกวด พัฒนา และขยายผล



“ที่ PUPA จะมีการส่งประกวด NSC ทุกปีอยู่แล้วค่ะ ซึ่งก่อนหน้าการประกวดสมาชิกก็จะมาระดมความเห็นกันว่าจะทำเรื่องอะไรดี ใครสนใจเรื่องอะไรก็ทำเรื่องนั้น” นุชเล่าให้ฟังถึงกิจกรรมในกลุ่ม PUPA ซึ่งคาร์บอนคุง ไลฟ์ เวอร์ชั่น 1 และ 2 ที่พัฒนาโดยรุ่นพี่ ก็ถูกพัฒนาส่งเข้าประกวดการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (National Software Contest : NSC) ตามแนวทางการทำกิจกรรมของ PUPA
โดยเวอร์ชั่นแรก “คาร์บอนคุง” (Carbonkun : The Carbon Detective) ส่งเข้าประกวด NSC ครั้งที่ 13 ประจำปี 2011 ขณะที่เวอร์ชั่น 2 “คาร์บอนคุง โมบาย” (Carbon Detective on Mobile) ส่งเข้าประกวดในปีต่อมา ซึ่งทั้ง 2 เวอร์ชั่นได้รับการตอบรับจากผู้ใช้เป็นอย่างดี
และมาถึงคิวของบูม-นุช-จ๊ะเอ๋ ก็ได้พัฒนาคาร์บอนคุง ไลฟ์ เวอร์ชั่น 3 ซึ่งเป็นเกมบน Facebook เข้าประกวด NSC ครั้งที่ 15 ประจำปี 2013 และได้รับรางวัลชมเชยกลับมา ซึ่งด้วยแรงสนับสนุนจากอาจารย์ที่ปรึกษา และความต้องการของทีมที่อยากจะขยายผลต่อ จึงทำให้ทั้งสามส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ซึ่งถือเป็นโครงการที่ช่วยสนับสนุนให้ทีมสามารถพัฒนาเกมบน Facebook จนแล้วเสร็จสมบูรณ์ รวมถึงสามารถพัฒนาเกมในเวอร์ชั่นที่ 4 สำหรับสมาร์ทโฟนโดยเฉพาะได้เป็นผลสำเร็จ โดยปัจจุบันคาร์บอนคุง ไลฟ์ เปิดให้คนทั่วไปได้เข้าไปดาวน์โหลดเล่นฟรีทาง Google Play บนระบบปฏิบัติการ Android ในชื่อ “Carbonkun: Life”
“รู้สึกดีใจค่ะที่ได้พัฒนางานที่รุ่นพี่ทำไว้ตั้งแต่แรก จนสามารถนำมาใช้จริง ไม่ได้ใช้แค่ในการแข่งขันอย่างเดียว แต่ขยายผลออกสู่ด้านการศึกษาและธุรกิจ” จ๊ะเอ๋กล่าวภูมิใจ
“เราอยากทำให้แพร่หลายกว่าเดิมครับ คือบน Facebook บางคนเข้าไม่ถึง จึงอยากพัฒนาให้สามารถใช้งานบนสมาร์ทโฟนได้” บูมกล่าว
ซึ่งแน่นอนว่า กว่าที่จะสามารถพัฒนาเวอร์ชั่น 4 ได้สำเร็จ ทีมต้องเหนื่อยไม่ใช่น้อย
“เวอร์ชั่น 3 กับเวอร์ชั่น 4 มันแตกต่างกันค่ะ เหมือนทำใหม่เลย (หัวเราะ) อันหนึ่งเป็น Facebook อีกอันเป็นสมาร์ทโฟน ต้องแก้ Code เหมือนเริ่มทำโครงงานใหม่ แต่ก็อยากทำค่ะ อยากสร้างเกมที่สร้างจิตสำนึกมากกว่าให้ข้อมูลหนักๆ รู้สึกดีที่เห็นเด็กสนุกสนานกับเกมและได้ความรู้ใหม่ๆ รวมไปถึงแค่คิดว่าใครก็ตามที่มาเล่น แล้วเขาได้ตระหนักอะไรสักอย่างถึงสิ่งแวดล้อมได้ แค่นี้ก็พอแล้ว” นุชกล่าวด้วยรอยยิ้ม
นั่นคือความสุขทางใจของคนพัฒนา แต่ถ้าผลงานสามารถขยายผลทางธุรกิจได้ด้วย ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะนิ่งดูดาย
“ได้ลองเอาเกมไปให้เด็กๆ เล่นที่งาน มอ.วิชาการ ซึ่งเป็นงานวิชาการของมหาวิทยาลัยค่ะ เด็กก็สนุกสนานกับการเล่นเกมดี ก็เลยเป็นแรงบันดาลใจว่า ถ้าพัฒนาให้เกมเข้าไปในโรงเรียนได้ก็น่าจะดี” จ๊ะเอ๋กล่าวถึงแนวทางการขยายผลเชิงธุรกิจ
โดยปัจจุบัน ทีมได้เริ่มขยายผลให้โรงเรียนประถมและมัธยมในพื้นที่จังหวัดสงขลา ทดลองนำไปใช้และทำการเก็บข้อมูล ซึ่งหากผลตอบรับออกมาเป็นที่น่าพอใจ ก็จะนำเสนอเข้าสู่กระทรวงศึกษาธิการ ให้นำเกมบรรจุเข้าไว้ในโครงการ Tablet ของนักเรียนชั้นประถมทั่วประเทศต่อไป
“ช่วงแรกอาจเริ่มจากพื้นที่ใกล้เคียงก่อนค่ะ โดยจะเริ่มเอาไปให้โรงเรียนที่มีศักยภาพเอาไปให้เด็กๆ ได้ลองเล่นกัน หลังจากนั้นอาจผลตอบรับดี ก็จะพัฒนาเข้าสู่ระบบธุรกิจต่อไป” จ๊ะเอ๋กล่าว

“อยากเห็นสังคมที่เป็น Green Social เป็นสังคมที่เป็นโลกน่าอยู่ เป็นโลกสีเขียว...หวังว่าเกมของเราจะเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่จะมีส่วนช่วยให้สังคมเราเป็นสังคมแห่งสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”


ความสำเร็จส่วนตัว บนจิตสำนึกส่วนรวม

“มันเป็นการนำเสนอเรื่องสิ่งแวดล้อมแนวใหม่ในรูปแบบเกม ที่ทำให้รู้สึกว่าเกมไม่ใช่อะไรที่ไม่ดีนะครับ เพราะที่ผ่านมาผมทำเกมก็จะโดนติงตลอดว่า เล่นแต่เกม เด็กติดเกม แต่เกมนี้กำลังจะบอกว่า เกมก็มีด้านที่ดีเหมือนกันนะ มันให้อะไรได้มากกว่าที่คิด” บูมกล่าวอย่างภาคภูมิใจ ที่ในวันนี้เกมสำหรับทั้งสามไม่ใช่เรื่องบันเทิงไร้สาระอีกต่อไป แต่คือสาระที่แฝงอยู่ในความบันเทิง พร้อมจะกระตุ้นให้ผู้เล่นได้ตระหนัก และเกิดจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมด้วยช่วยกันดูแลรักษาโลกใบนี้สืบต่อไป
ซึ่งโดยไม่ต้องไปรอพิสูจน์ที่ไหน แต่สามารถพิสูจน์ได้จากทั้งบูม-นุช-จ๊ะเอ๋ นี่เอง ที่การคลุกคลีอยู่กับเกม ได้ช่วยพัฒนาศักยภาพ และสร้างจิตสำนึกให้พวกเขารักษ์โลกมากยิ่งขึ้นไปโดยไม่รู้ตัว
“มันเป็นการพัฒนาตัวเองอย่างหนึ่งด้วยค่ะ ว่าจะต้องทำให้ดีๆ กว่าจะได้รูปกราฟฟิครูปหนึ่งมา ต้องศึกษาต้องหาเพิ่มเติม ต้องเรียนรู้เพิ่มด้วยตัวเอง” จ๊ะเอ๋กล่าว
“ได้วางแผนครับว่าจะทำงานอย่างไร จะติดต่อกับคนอื่นกับหน่วยงานข้างนอกจะต้องทำอย่างไร ควรจะปรึกษาใคร” บูมกล่าว
“และที่สำคัญคือ ได้ตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นค่ะ” นุชเสริม “จะทำอะไรก็คิดถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เวลาไปซื้อของก็บอกว่าไม่ต้องใส่ถุง ชิ้นไม่ใหญ่มากก็เดินถือกลับบ้านได้”
“มันจะทำให้เวลาจะใช้อะไรสักอย่างเราจะคิดมากขึ้น เช่น ไปกินน้ำที่ร้านอาหารและเขาให้หลอดมา ถ้าเราใช้ทั้งประเทศรวมกันจะเยอะขนาดไหน จะรู้สึกตระหนักขึ้นมาได้” บูมกล่าวด้วยรอยยิ้ม
ซึ่งแน่นอนว่า ณ วันนี้ คาร์บอนคุง ไลฟ์ จะไม่ได้จำกัดวงอยู่กับผู้พัฒนาอย่างหนุ่มสาว 3 คนอีกต่อไป แต่กำลังขยายผลตัวเองผ่าน Social Media ออกไปในวงกว้าง ซึ่งทั้งสามพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ดีใจและภูมิใจที่ผลงานเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และได้รับการต่อยอดนำไปใช้จริงบนโลกร้อนๆ ใบนี้
ด้วยความหวังอย่างแรงกล้า ว่าผลงานของพวกเขาจะสามารถสร้างโลกสีเขียวที่น่าอยู่ได้
“สิ่งที่อยากให้เกิดคือ ให้ผู้เล่นได้ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมค่ะ ว่าการที่เราทำกิจกรรมบางอย่างมันอาจส่งผลกระทบให้สิ่งแวดล้อมของเรามันเลวร้ายลงได้ ก็อยากให้ผู้ใช้ลดการกระทำนั้นให้น้อยลงหรือเลิกไป ทั้งการทิ้งขยะไม่เป็นที่ การตัดไม้ทำลายป่า หรือการทำกิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูงๆ เป็นต้นค่ะ” นุชกล่าว
“อยากเห็นสังคมที่เป็น Green Social ค่ะ” จ๊ะเอ๋เสริม “เป็นสังคมที่เป็นโลกน่าอยู่ เป็นโลกสีเขียว เดี๋ยวนี้สิ่งแวดล้อมเลวร้ายขึ้นทุกวัน เราก็หวังว่าเกมของเราจะเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่จะมีส่วนช่วยให้สังคมเราเป็นสังคมแห่งสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”
แม้สิ่งต่างๆ บนโลกใบนี้จะตั้งอยู่บนความเปลี่ยนแปลง และไม่มีอะไรที่จะดำรงสภาพผ่านร้อนฝนหนาวโดยไม่เสื่อมทรุด แม้แต่โลกใบนี้เองก็ตาม
แต่ ณ วันนี้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับโปรแกรมเล็กๆ โปรแกรมหนึ่ง ซึ่งถูกส่งต่อและพัฒนาต่อเนื่องโดยหนุ่มสาวกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ได้บอกกับเราว่า สิ่งที่ดีย่อมมีคุณค่าแก่การดำรงอยู่ และสิ่งดีๆ ที่เล็กๆ หากมาหลอมรวมกัน ย่อมก่อเกิดเป็นพลังที่จะเปลี่ยนแปลงโลก ไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อมทรุดเร็ววันนัก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากสิ่งที่ดีนั้นได้ก่อรูปจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่เด็กและเยาวชนอันเป็นอนาคตของชาติและของโลก ก็เปรียบเหมือนต้นกล้าที่แข็งแรงสดใส มีพลังพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้เย็นลง และน่าอยู่มากขึ้นต่อไปในอนาคต
ตราบนานเท่านาน...