ครูสุรนันท์ พันธ์สมบูรณ์ โรงเรียนบ่อแก้ววิทยา อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร สอนชีววิทยาให้ตอบโจทย์ตัวชี้วัดและทักษะชีวิต

ครูสุรนันท์  พันธ์สมบูรณ์

โรงเรียนบ่อแก้ววิทยา อำเภอไทรงาม  จังหวัดกำแพงเพชร



สอนชีววิทยาให้ตอบโจทย์ตัวชี้วัดและทักษะชีวิต

                 โรงเรียนบ่อแก้ววิทยา อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา มีนักเรียนชาย-หญิงทั้งหมดประมาณ 375 คน ครู 20 คน แต่ละระดับชั้นแบ่งเป็น 2 ห้อง ห้องละประมาณ 30 คน

                  ทีมงานจากมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ เดินทางมาที่โรงเรียนบ่อแก้ววิทยาแห่งนี้ ในวันที่ 27-29 สิงหาคม 2556 เพื่อจับภาพกระบวนการเรียนการสอนของ “อาจารย์สุรนันท์ พันธ์สมบูรณ์” ครูผู้สอนวิชาชีววิทยาที่สร้างสรรค์รูปแบบการเรียนการสอนซึ่งสามารถตอบโจทย์ตัวชี้วัดผลการเรียนรู้และทักษะชีวิต รวมถึงจุดประกายให้เด็กอยากค้นหาความรู้ด้วยตัวเอง

เชื่อมวิชาชีววิทยาสู่วิชาชีวิต

                ครูสุรนันท์เล่าให้ทีมงานฟังถึงแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนวิชาชีววิทยาว่า

                “เริ่มต้นจะทำอย่างไร หนึ่ง ไปดูตัวชี้วัดก่อนว่า เขาต้องการให้เด็กทำอะไร อันที่สอง เด็กเขามีภูมิปัญญาอะไรที่ติดตัวเขาบ้าง ถ้าเราเอา 2 ตัวนี้มารวมกันได้ เด็กจะสนใจ แล้วก็เรียนชีวะได้ง่ายขึ้น หลังจากนั้น จะสอนเด็กยังไง ก็โดยการเอา PBL เข้ามา ต้องเอา 3 อย่างนี้มาบวกรวมกันให้ได้ แล้วขณะที่เรียนไปเรื่อย ๆ เด็กเขาจะเกิดคำถาม แล้วจะพัฒนาเป็นงานในเรื่องของตัวโครงงานตามมา

                 ถ้าเป็นเนื้อหายาก จะให้เรียนทฤษฎีก่อน แล้วมีโครงงาน ขึ้นคำถามให้เด็ก แล้วทำโครงการยาวเลยจนจบ แต่ถ้าเป็นเนื้อหาที่เด็กมีพื้นอยู่แล้ว ก็จะขึ้นโครงการมาก่อน แล้วเราก็เอาตัวชี้วัดแทรกไปทีละกิจกรรม”

                ห้องเรียนชีววิทยาจัดโต๊ะให้นักเรียนนั่งเรียนเป็นกลุ่มเช่นเดียวกับห้องเรียนวิทยาศาสตร์ทั่วไป แต่รูปแบบการเรียนการสอนนั้นแตกต่าง ทีมงานได้เข้าไปสังเกตการณ์เรียนการสอนในชั้นเรียนของครูสุรนันท์ ซึ่งเป็นชั่วโมงเรียนวิชาชีววิทยาของนักเรียนชั้น ม.6 หัวข้อเรื่อง “พันธุ์ข้าวในชุมชน”

                 ในชั่วโมงเรียนครั้งก่อน ๆ ครูสุรนันท์ได้ให้นักเรียนเลือกว่า จะสำรวจพันธุ์พืชชนิดใดที่ชุมชนปลูกมาก ซึ่งชุมชนละแวกนี้ปลูกข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง เสียงส่วนใหญ่เลือกสำรวจพันธุ์ข้าว จากนั้นได้ให้โจทย์นักเรียนไปเก็บข้อมูลพันธุ์ข้าวที่ชาวบ้านในหมู่บ้านของตนเองปลูกคนละ 5 หลังคาเรือน โดยแบ่งกลุ่มตามหมู่บ้าน และให้นักเรียนไปค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวของโครงการข้าวที่ประเทศไทยปลูกด้วย

                สำหรับโจทย์ในห้องเรียนครั้งนี้คือ ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มช่วยกันสรุปข้อมูลที่ได้มาพร้อมกับออกแบบตารางนำเสนอว่า หมู่บ้านของนักเรียนใช้พันธุ์ข้าวอะไรบ้าง

                หลังจากนั้น ให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มนำเสนอข้อมูล ดังเช่นตัวแทนนักเรียนจากหมู่บ้านคลองโขนนำเสนอว่า

                  “จากการสำรวจจำนวน 20 หลังคาเรือน พบว่า ปัจจุบันพันธุ์ข้าวที่นิยมปลูก คือ  

  กข 31   จำนวน 6 หลังคาเรือน 

พิษณุโลก 2   จำนวน 5 หลังคาเรือน

กข 41   จำนวน 5 หลังคาเรือน

กข 47  จำนวน 3 หลังคาเรือน

ชัยนาท 80  จำนวน 1 หลังคาเรือน”


               จากข้อมูลที่นักเรียนแต่ละกลุ่มนำเสนอ พบว่า พันธุ์ข้าวมีความแตกต่างกัน แม้ว่าจะเป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงกัน ครูสุรนันท์จึงถามนักเรียนต่อว่า นักเรียนคิดว่าชาวบ้านมีหลักเกณฑ์อะไรในการเลือกบ้าง นักเรียนเรียนตอบว่า ดิน น้ำ ฤดูกาล

               ครูสุรนันท์จะใช้คำถามกระตุ้นให้นักเรียนคิดต่อไปเรื่อย ๆ เช่น ช่วงหน้าหนาว ชาวบ้านเลือกปลูกพันธุ์อะไร ช่วงหน้าแล้งปลูกพันธุ์อะไร แล้วชาวบ้านเอาข้อมูลมาจากไหน จากอินเตอร์เหมือนนักเรียนไหม น่าเชื่อถือไหม ใช้เกณฑ์อะไรในการแบ่งสายพันธุ์ข้าว เป็นต้น

                ส่วนข้อมูลที่นักเรียนยังไม่ได้หามาคือชื่อวิทยาศาสตร์ของข้าวแต่ละพันธุ์ ซึ่งครูสุรนันท์ได้ให้นักเรียนไปค้นคว้าเป็นการบ้านมานำเสนอครั้งต่อไป

                จากการสอบถามนักเรียน ม.6 ช่วงท้ายชั่วโมงถึงความรู้สึกต่อการเรียนรู้ในแนวทางนี้ พบว่า เด็กชอบการเรียนรู้ที่ได้ลงมือปฏิบัติ และทำให้ได้ความรู้จากสิ่งใกล้ตัวที่เห็นอยู่เป็นประจำ  เมื่อถามว่า ถ้าความรู้ที่ได้จากลงมือปฏิบัติไม่ตรงกับในหนังสือ จะเชื่ออย่างไหน นักเรียนส่วนใหญ่ตอบว่า เชื่อความรู้จากการลงมือปฏิบัติมากกว่า เมื่อถามต่อว่า หากข้อสอบที่ต้องไปสอบ ออกเรื่องที่ผลจากการปฏิบัติกับในหนังสือไม่ตรงกัน จะเลือกตอบอย่างไร นักเรียนส่วนใหญ่ตอบว่า เลือกตอบตามหนังสือ เพราะมีสิทธิ์จะได้คะแนนมากกว่า

              การเรียนการสอนเรื่องพันธุ์ข้าวในชุมชน เป็นตัวอย่างการจัดรูปแบบการเรียนการสอนในเนื้อหาที่เด็กมีพื้นความรู้อยู่แล้ว จึงสามารถให้โจทย์นักเรียนไปทำงานได้เลย โดยไม่ต้องเรียนทฤษฎีก่อน

             ชั่วโมงถัดมาเป็นวิชาชีววิทยาของนักเรียนชั้น ม.4 ซึ่งเรียนในหัวข้อ “การทำงานของกระบังลม” เนื่องจากเป็นเนื้อหาที่ยาก และนักเรียนยังไม่มีพื้นความรู้ในเรื่องนี้ ครูสุรนันท์จึงสอนความรู้ทางทฤษฎีให้ก่อนจะต่อยอดเนื้อหาเป็นโครงงานให้เด็กเรียนรู้ต่อไป

             เริ่มต้นชั่วโมงเรียน ครูสุรนันท์เปิดคลิปวีดีโออธิบายการทำงานกระบังลมให้นักเรียนดู จากนั้นบอกกับนักเรียนว่า คลิปวีดีโอที่นำมาเปิดนั้นดูแล้วเข้าใจยาก ขอให้นักเรียนออกแบบสื่อการสอนการทำงานของกระบังลมที่เชื่อมโยงกับการหายใจเข้า-ออก จากอุปกรณ์ที่แต่ละกลุ่มเตรียมมา และสามารถเปิดหนังสือดูได้  ซึ่งชั่วโมงเรียนครั้งก่อนได้ให้นักเรียนคิดและเตรียมอุปกรณ์กันมาเอง เช่น ขวดพลาสติก ลูกโป่ง หนังยาง ตะเกียบ เป็นต้น

              จากการสังเกตพบว่า นักเรียนไม่ค่อยปรึกษากัน ใครที่ทำได้ก็ลงมือทำ ใครทำไม่ได้ก็นั่งเฉย ครูสุรนันท์จึงกระตุ้นโดยการบอกให้นักเรียนช่วยกันคิด ให้ดูจากหนังสือ ทำให้เด็กช่วยกันทำงานมากขึ้น แต่ยังคงมีเด็กกลุ่มที่คิดไม่ออก ครูสุรนันท์จึงเปิดคลิปวีดีโอให้ดูอีกครั้ง หลังจากประดิษฐ์สื่อการสอนเสร็จแล้ว ให้นักเรียนประเมินราคาอุปกรณ์ที่ใช้ทำด้วย

              ต่อมาให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มนำเสนอสื่อการสอนเรื่องการทำงานของกระบังลม ซึ่งผลงานของแต่ละกลุ่มมีทั้งความเหมือนและความต่าง แล้วให้นักเรียนทั้งชั้นให้คะแนนว่าสื่อการสอนชุดไหนอธิบายเรื่องกระบังลมกับการหายใจเข้าออกได้เข้าใจมากที่สุด และให้เทียบราคาอุปกรณ์และประสิทธิภาพของสื่อการสอนแต่ละชุดที่ทำขึ้นมา

             หลังจากนั้นให้นักเรียนแต่ละกลุ่มประเมินผลการทำงานของตัวเองว่าเป็นอย่างไร กลุ่มที่สำเร็จช้าคิดว่า ที่ทำงานเสร็จช้าเนื่องจากอุปกรณ์ที่เตรียมมาใช้ไม่ได้ ต้องแก้ปัญหา ส่วนกลุ่มที่เพื่อนโหวตว่าดีที่สุด คิดว่าผลสำเร็จเกิดจากการที่ทุกคนในกลุ่มมีส่วนร่วมในการทำงาน

             จากการเรียนทฤษฎีในห้องเรียน ครูสุรนันท์วางแผนว่าจะต่อยอดเป็นโครงการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ของนักเรียนโรงเรียนต่อไป

             วันรุ่งขึ้น ทีมงานจากมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ได้ติดตามนักเรียนชั้น ม.5 ลงชุมชนไปเก็บข้อมูลปัญหาและโรคเกี่ยวกับระบบประสาทสัมผัสทั้ง 5 ที่ผู้สูงอายุในชุมชนมีอาการป่วย นักเรียนแบ่งกลุ่มกันไปตามหมู่บ้านของตัวเอง โดยถือแบบสอบถามไปสัมภาษณ์ เริ่มจาก ชื่อ อายุ ปัญหาหรืออาการป่วยเกี่ยวกับประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ปาก ผิวหนัง การเก็บข้อมูลนี้เป็นโครงงานที่สืบเนื่องมาจากการเรียนวิชาชีววิทยา หัวข้อการทำงานของระบบประสาท

             เนื่องจากคนในชุมชนเป็นคนกำแพงเพชรผสมกับชาวอีสานที่มาย้ายมาตั้งรกรากที่นี่ เวลาถามผู้สูงอายุที่มาจากอีสาน บางท่านจะฟังภาษาภาคกลางไม่เข้าใจ เด็กที่พูดภาษาอีสานได้จะถามแทนเพื่อนที่พูดอีสานไม่ได้ ส่วนเพื่อนที่บ้านอยู่ไกล ก็จะแบ่งหน้าที่ให้ช่วยรวมรวบข้อมูล จะได้ไม่ต้องเดินทางไกล

            (ในความจริง นักเรียนจะเก็บข้อมูลหลังเลิกเรียน แต่ครั้งนี้นักเรียนลงพื้นที่ตอนสาย เป็นการทำซ้ำอีกครั้ง โดยเลือกผู้สูงอายุที่ยังไม่เคยสัมภาษณ์ เพื่อให้ทีมงานได้เรียนรู้กระบวนการลงชุมชนของเด็กนักเรียน)

จุดเปลี่ยน..รูปแบบการเรียนการสอน

             ครูสุรนันท์เล่าให้ทีมงานฟังถึงแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนวิชาชีววิทยาว่ามาจากปฏิกริยาของเด็กนักเรียน  “เพราะสังเกตเด็กในห้องตั้งแต่แรกเลย ที่เราบังคับเขา เหมือนเราตั้งใจให้เนื้อหาเยอะมากเลย เราต้องการ 500 แต่พอสอนเด็กจริง ๆ เด็กได้แค่ 50 ซึ่งน้อยมาก แล้วเด็กก็นิ่งเงียบ ไม่มีแววตาที่อยากจะเรียน ตรงนี้เราก็อยากเปลี่ยน แล้วจะเปลี่ยนยังไง เมื่อก่อนสะเปะสะปะไปทั่ว ไม่รู้จะเริ่มอะไร  พอไปเข้า LLEN (Local Learning Enrichment Network) เขาแนะนำวิธีการสอน สอนวิทยาศาสตร์อย่างไรให้เด็กเข้าใจ พอไปอีกจุดหนึ่ง ก็จะเป็นการดึงยังไงให้เด็กเกิดกระบวนการคิด เกิดทักษะการเรียนรู้ เอามาผนวกกัน”

             ความคิดในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2548 แล้วค่อย ๆ พัฒนารูปแบบจนลงตัว ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับนักเรียนเด็กได้อย่างชัดเจน จากเดิมเด็กที่เรียนไม่เก่ง จะไม่กระตือรือร้น ไม่อยากเรียน เมื่อเปลี่ยนมาสอนแบบใหม่ได้จุดประกายให้เด็กเกิดความสนุกและกระตือรือร้นในการเรียนรู้วิชาชีววิทยา

   ครูสุรนันท์กล่าวถึงความแตกต่างของเด็กเรียนเก่งและเด็กเรียนไม่เก่งว่า

   “เรื่องการออกแบบความคิด เด็กไม่เก่งจะไวกว่าเด็กเก่ง แล้วเขาจะทำงานได้ เขาจะไม่เป็นปมด้อย เขากล้าตัดสินใจ ยิ่งเด็กกลาง ๆ ห้องจะมีความคิดสร้างสรรค์เยอะมาก เด็กเก่งเหมือนถูกตีกรอบไว้ว่า อยู่แค่นี้ ๆ ตามหนังสือ เขาจะกลัวผิดนะเด็กเก่ง แต่เด็กไม่เก่ง ความคิดสร้างสรรค์จะออกมา พอหมดเทอมปุ๊บ เขาจะรวมกลุ่มกัน แล้วบอกว่า ครู หนูอยากรู้เรื่องนี้ ครูเป็นที่ปรึกษาได้ไหม”

             และเมื่อนำข้อสอบ O-NET หรือข้อสอบสไตล์เดียวกับ PISA มาให้เด็กทำ เด็กจะทำได้ เพราะคุ้นเคยกับกระบวนการคิดวิเคราะห์ เด็กที่เรียนอ่อนสามารถทำคะแนนได้ดีขึ้นเรื่อยๆ  เมื่อเด็กสนุกกับการเรียนรู้ ทำให้เกิดความมั่นใจ และเริ่มคิดวางแผนทิศทางในการเรียนต่อตามความสนใจของตัวเอง

             นอกจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กที่เห็นได้อย่างชัดเจนแล้ว สิ่งที่ตอกย้ำให้ครูสุรนันท์เชื่อมั่นว่าเดินมาถูกทางคือคำพูดของเด็กที่บอกว่า  “วิชาชีวะไม่ใช่การท่องจำ มันต้องเข้าใจเป็นอันดับแรก”

              ผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นกับครูสุรนันท์เมื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนคือ มีเวลาเหลือมากขึ้น ไม่ต้องกังวลว่าจะสอนเนื้อหาไม่ทันเหมือนเมื่อก่อน

ต่อมเรียนรู้ของเด็กระเบิดออก

               เมื่อต่อมการเรียนรู้ของเด็กระเบิด ความอยากเรียนรู้จึงพรั่งพรูออกมาอย่างเหลือเชื่อ มีการต่อยอดเป็นโครงงานนอกเหนือจากที่ครูพาทำมากมายหลายโครงงาน ซึ่งเกิดมาจากคำถามของเด็ก จนเกินกำลังที่ครูสุรนันท์จะรับเป็นที่ปรึกษาโครงงานทั้งหมด

               ยกตัวอย่างเช่น เด็กเห็นนักเรียนชั้นอื่นทำแก้วจากใบข้าวเพื่อใช้เป็นกระถางต้นไม้ได้ และเห็นในชุมชนปลูกอ้อยเช่นกัน จึงเกิดความอยากรู้ว่า แล้วใบอ้อยนำมาทำกระถางแบบนี้ได้ไหม ความอยากรู้นี้ถูกพัฒนาเป็นโครงงานทำกระถางจากใบอ้อย มีการพัฒนาสูตรการผลิตหลายสูตรเพื่อให้คุณภาพดีขึ้น ทดลองทำเป็นงานศิลปะ จนโครงงานนี้ได้รับรางวัล และกลุ่มเด็กเจ้าของโครงงานยังไม่จบเพียงเท่านี้ ยังคงสานต่อเพื่อพัฒนาคุณภาพให้เป็นผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้านต่อไป แม้ยังไม่ชัดเจนว่าจะออกมาในรูปแบบไหน

               มีเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง เห็นคนในชุมชนต้องไปเสียเงินเพื่อใช้เครื่องคัดแยกข้าว จึงเกิดความคิดที่ว่า เป็นไปได้ไหมที่จะผลิตเครื่องคัดแยกข้าวขนาดเล็ก ราคาถูก โดยมุ่งหวังว่าหากทำได้สำเร็จ จะเป็นประโยชน์แก่ชุมชนต่อไป ชาวบ้านในชุมชนไม่จำเป็นต้องไปเสียเงินเพื่อใช้เครื่องคัดแยกข้าวขนาดใหญ่ เด็กคนที่มีความสามารถเขียนแบบได้ร่างแบบเครื่องคัดแยกข้าว โครงเหล็กจากโต๊ะนักเรียนถูกนำมาดัดแปลงเป็นโครงของเครื่องนี้ เด็กสามารถเชื่อมโยงความรู้ทางฟิสิกส์จากโครงงานนี้ได้ แม้โครงงานนี้เพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน แต่กลุ่มเด็กที่รวมตัวกันแสดงให้เห็นถึงมุ่งมั่นในการทำให้สำเร็จ และมีความคิดสำหรับโครงงานต่อไปรออยู่แล้ว คือการทดลองสร้างเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก เพื่อให้คนในชุมชนใช้

                ยังมีโครงงานอีกหลายโครงงานที่เกิดจากความอยากเรียนรู้ของเด็กนักเรียน ต่อมการเรียนรู้ของเด็กระเบิดออกมาแล้ว แต่ดูเหมือนว่ากำลังของครูที่จะเป็นที่ปรึกษาให้เด็กมีไม่เพียงพอ

เสียงสะท้อนจากผู้ปกครอง

               ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทางโรงเรียนได้เชิญชาวบ้านในชุมชนมาสอนภูมิปัญญาของคนในชุมชนแก่เด็กนักเรียน แต่ในระยะหลังผู้บริหารไม่สนับสนุนแนวทางนี้ การใช้ครูภูมิปัญญาในชุมชนมาสอนเด็กจึงขาดช่วงไป

               ทีมงานได้มีโอกาสพูดคุยกับแม่จำปี บุคะวัน ครูภูมิปัญญาที่สอนเรื่องทอเสื่อให้แก่เด็ก แม่จำปีเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ในการสอนเด็กทอเสื่อว่า ไปสอนเด็ก รู้สึกอบอุ่นดี สนิทกัน ช่วงแรกเด็กจะขี้เกียจ แต่ตอนหลังกลับให้ความสนใจมาก ในหมู่บ้านใครทอเสื่อ เด็กที่สนใจก็จะไปล้อมวงดู

              ลูกของแม่จำปีก็เรียนจบจากโรงเรียนบ่อแก้ววิทยา แม่จำปีบอกความรู้สึกเมื่อครั้งรู้ว่าครูสอนลูกทำนา ตอนแรกไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าส่งลูกไปเรียนหนังสือ แต่ทำไมครูสอนทำนา เมื่อเวลาผ่านไปก็เห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวลูกที่สนใจช่วยเหลือทางบ้านทำนา ไม่รู้สึกว่าเป็นอาชีพที่ต่ำต้อย ลูกมีความรับผิดชอบดีขึ้น จึงเข้าใจและยอมรับแนวทางการสอนเด็กจากการทำนา

               ส่วนแม่ภคมน พิมพา อดีตครู กศน. จบ ปวส.ด้านเกษตร เคยได้รับเชิญเป็นครูภูมิปัญญาไปสอนเด็กนักเรียนในเรื่องปุ๋ยและพืช  แม่ภคมนคาดการณ์ถึงอนาคตว่า คนหนุ่มสาวจะออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน และกลับมาบ้านเมื่อเริ่มมีอายุมาก หากไม่มีพื้นฐานทำเกษตรเอาไว้บ้าง เมื่ออายุเกินวัยทำงานในโรงงานหรือในบริษัทแล้ว จะไม่มีงานรองรับในยามสูงวัย

                นอกจากนี้ ทีมงานยังได้ไปเยี่ยมเยียนพูดคุยกับครูภูมิปัญญาที่สอนทำไม้กวาด ทุกท่านล้วนบอกว่า ยินดีและเต็มใจสอนเด็ก ไม่คิดว่าเป็นการแย่งอาชีพ แต่คิดว่าสามารถเป็นอาชีพเสริมให้กับเยาวชนได้ เพราะมีตลาดรองรับอยู่แล้ว

               มีนักเรียนหญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกสาวครูภูมิปัญญาสอนทำไม้กวาด ในอดีตมีพฤติกรรมชอบแต่งหน้า ทาปาก สนใจการแต่งตัว ไม่สนใจเรียน จนคุณครูเป็นห่วงว่าจะกลายเป็นเด็กใจแตก อยู่มาวันหนึ่ง คุณครูเชิญให้สอนทำไม้กวาดแทนแม่ที่เป็นครูภูมิปัญญา หลังจากนั้น เด็กรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้รับการยอมรับ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเลิกสนใจแต่งตัวจนเกินงาม หันมาเอาการเอางานมากขึ้น จนคนในชุมชนแปลกใจ

                แม้ว่าในขณะนี้การให้ครูภูมิปัญญาในชุมชนมาสอนเด็กได้หยุดชะงัก แต่มีแนวโน้มว่าจะได้กลับมาอีกครั้ง เนื่องจากทางเขตพื้นที่การศึกษามีนโยบายมาว่า ให้สอนเด็กเรื่องอาชีพในชุมชน

พัฒนาเป็นบ่อแก้ววิทยาโมเดล

              จากรูปแบบการเรียนการสอนที่ครูสุรนันท์สร้างสรรค์ขึ้น ทำให้ครูบางคนเริ่มให้ความสนใจจะเข้ามามีส่วนร่วม ขณะนี้ความอยากเรียนรู้ของนักเรียนเกิดขึ้นมาก เพียงลำพังครูสุรนันท์คงรองรับไม่ไหว

              ทีมงานจากมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ รวมถึง ผศ. ดร.เรขา อรัญวงศ์ อาจารย์จากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ที่มาร่วมเรียนรู้ที่โรงเรียนบ่อแก้ววิทยาตลอดสองวันที่ผ่านมา ได้ใช้โอกาสพูดคุยกับครูวิชาคณิตศาสตร์ ศิลปะ สังคมศึกษา ฟิสิกส์ ซึ่งเป็นกลุ่มครูที่มีแนวโน้มที่จะเป็นแนวร่วมของครูสุรนันท์ได้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการประสานความร่วมมือ

              ที่ผ่านมาครูคณิตศาสตร์และครูศิลปะ มีส่วนร่วมจากต่อยอดจากโครงงานที่ครูสุรนันท์ใช้สอนเด็ก เช่น เมื่อเด็กต้องหาค่าเป็นร้อยละหรือเปอร์เซ็นต์จากข้อมูลที่เก็บได้ในชุมชน ก็จะมาปรึกษาครูคณิตศาสตร์ รวมถึงปรึกษาการคำนวณส่วนผสมในการผลิตกระถางจากใบอ้อย เป็นต้น ในขณะที่ครูศิลปะก็นำกระถางที่ผลิตจากใบอ้อยซึ่งเป็นโครงงานของนักเรียน ต่อยอดเป็นงานศิลปะจากกระถางเหล่านั้น

                 เมื่อโยนคำถามให้ครูกลุ่มนี้คิดว่า เป็นไปได้ไหมที่จะบูรณาการการเรียนรู้จากโครงงานเดียว แต่สามารถสอนหลายวิชาได้ โดยให้ลองคิดจากกระถางใบอ้อยซึ่งเริ่มจากโครงงานวิชาชีววิทยา ครูคณิตศาสตร์บอกว่าสามารถใช้สอนเรื่องการคำนวณร้อยละและเศษส่วนได้ ครูศิลปะบอกว่าสามารถสร้างงานศิลปะจากแก้วได้ ครูฟิสิกส์ซึ่งดูแลเรื่องธนาคารด้วยเสนอว่า สามารถดัดแปลงให้ทำเป็นกระปุกออมสินเพื่อส่งเสริมการออมได้ ครูสังคมต่อยอดว่าเป็นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้ด้วย

                 ตัวอย่างที่คุณครูช่วยกันคิดสด ๆ ทำให้เห็นความเป็นไปได้ที่จะบูรณาการการเรียนการสอนหลายวิชาจากโครงงานเดียวกัน โดยสามารถเลือกโครงงานที่เด็กคิดไว้มาพัฒนาเพื่อให้ตอบโจทย์ตัวชี้วัดของสาระวิชาได้มากกว่าหนึ่งวิชา

                 จากโอกาสนี้ อาจารย์เรขา ได้รวบรวมความคิดเขียนเป็นตาราง เพื่อให้นำไปพัฒนาต่อได้ง่ายในอนาคต  และทีมงานได้นำเสนอผู้อำนวยการโรงเรียนรับทราบ พร้อมทั้งจูงใจให้ช่วยสนับสนุนการดำเนินการให้เป็นจริง โดยกระตุ้นให้เห็นว่ายังไม่มีโรงเรียนใดที่ใช้รูปแบบนี้ หากพัฒนาให้เป็นจริงได้ ก็จะกลายเป็นบ่อแก้ววิทยาโมเดล