จับภาพ “ครูจำเรียง ไชยเจริญ” วิชาการงานอาชีพและวิชาแนะแนว ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 โรงเรียนแหลมสิงห์วิทยา ต.พริ้ว อ. แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี

จับภาพ “ครูจำเรียง ไชยเจริญ”

วิชาการงานอาชีพและวิชาแนะแนว ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6

โรงเรียนแหลมสิงห์วิทยา ต.พริ้ว อ. แหลมสิงห์  จ.จันทบุรี

                วิธีการสร้างการเรียนรู้ของครูจำเรียงในวิชาการงานอาชีพ จะเน้นการมีส่วนร่วมของเด็ก และทำให้เด็กเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ วันที่คณะทำงานจากมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ได้เยี่ยมชมการสอนของครูจำเรียง วิชาการงานอาชีพ เป็นวันที่นักเรียน ม. 6/3 และม.6/4 เตรียมอุปกรณ์มาเพื่อจัดพวงหรีด โดยมีที่มาจากการที่ครูให้ตัวเลือกแก่นักเรียนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่าง “การเขียนลายผ้าบาติก” และ “การจัดพวงหรีด” นักเรียนอยากทำอะไร และได้ข้อสรุปว่านักเรียนส่วนใหญ่สนใจการจัดพวงหรีด  เมื่อถึงคาบเรียนจัดพวงหรีด ครูแจกใบความรู้เรื่องการจัดพวงหรีด และแบบประเมินทักษะ/กระบวนการทำงาน  โดยนักเรียนเป็นผู้ออกแบบ รูปแบบการจัดเอง เตรียมอุปกรณ์และแบ่งภาระหน้าที่ในการทำงานร่วมกัน

               หลังจากหมดชั่วโมงเรียน ครูวางแผนกับนักเรียนไว้ว่าในชั่วโมงเรียนวิชาการงานอาชีพครั้งต่อไปจะเป็นการชวนคิดชวนคุยเรื่องการตั้งราคาพวงหรีด จากเงินต้นทุนที่ใช้ไปรวมทั้งค่าฝีมือแรงงานในการทำ  โดยครูให้นักเรียนนำผลงานของกลุ่มตนเองส่งผ่าน facebook ของครู เพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากเพื่อนๆ เพิ่มเติม

1. กระบวนการทำ PBL ของครู

                จากเรื่องเล่าตัวอย่างของครูจำเรียง เล่าถึงปีการศึกษาที่ผ่านมาครูมีแนวคิดอยากให้นักเรียนมีจิตสำนึกรักบ้านเกิดและอาชีพในท้องถิ่น จึงให้โจทย์ “ค้นหาอาชีพท้องถิ่นของตน” ซึ่งเป็นกิจกรรมกลุ่ม โดยแบ่งกลุ่มตามชุมชนที่นักเรียนอาศัยอยู่  โดยให้นักเรียน เขียนอาชีพที่น่าสนใจคนละ 1 อาชีพ  หลังจากนั้นให้นักเรียนเล่าถึงอาชีพที่ตนเลือกให้เพื่อนๆ ฟัง และให้นักเรียนช่วยกันเลือกอาชีพที่น่าสนใจและเห็นว่าน่าจะสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ดีในอนาคตเพียงอาชีพเดียว  และช่วยกันเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับอาชีพที่เลือก  เกี่ยวกับต้นทุน ผลผลิต รายได้ และแผนการนำเสนอ “ของดีบ้านเรา” ภายในเวลา 5-10 นาที  เมื่อวางแผนร่วมกันเสร็จแล้วให้เขียนแผนที่ความคิด ลงกระดาษบรูฟ 1 แผ่น และตกแต่งให้ดูดีด้วย สีเทียนที่ครูแจกให้  เมื่อเสร็จให้นำขึ้นติดรอบๆ ห้องแนะแนว โดยมีตัวแทนกลุ่ม 2 คน เพื่อตอบคำถามครูและเพื่อนๆ กลุ่มอื่นที่เดินเยี่ยมชมไอเดียของกลุ่ม  หลังจาก 1 สัปดาห์นักเรียนนำข้อมูลที่ได้มานำเสนอในห้องเรียน  ครูจำเรียงเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า กิจกรรมนี้ทำให้นักเรียนและครูได้รู้ว่าตำบลบางชันของเรา เหมาะที่จะอนุรักษ์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโฮมสเตย์ และทำให้นักเรียนได้ค้นพบและรู้จักของดีที่มีอยู่ในชุมชน เกิดความภูมิใจในชุมชนของตนเองมากขึ้น

              แรงบันดาลใจที่ครูจำเรียงนำมาใช้กับวิชาการงานอาชีพทุกวันนี้ เกิดจากการได้ฟังเรื่องเล่าของครูสุรนันท์ จ.กำแพงเพชร และคำพูดของคุณหมอประเสริฐ เมื่องานเสริมศักยภาพครูแกนนำ ระหว่างวันที่ 16-18 ตุลาคม 2555 ณ โรงแรมอมารีแอร์พอร์ต ที่ว่า “ในเมื่องานมันวิ่งมาหาเรามาก เราจะทำให้งานเหล่านี้เป็นงานที่อยู่ในเวลางานได้อย่างไร”และคำแนะนำให้ครูกลับมาปรับการเรียนการสอนของตัวเองดูอะไรบ้าง ทำให้มีกำลังใจอยากปรับการเรียนการสอนแบบ PBL

                  ส่วนแรงบันดาลใจภายในยังมีความต้องการเห็นเด็กมีจิตสำนึกรักท้องถิ่นและอนุรักษ์ท้องถิ่นของตนเองไว้ ให้เด็กรู้เท่าทันสถานการณ์ในปัจจุบัน และครูทราบดีว่าเด็กหลายคนมาจากครอบครัวที่มีปัญหา ขาดความอบอุ่น สมาธิสั้น เรียนไม่เก่ง จึงอยากเป็นที่พึ่ง ที่ปรึกษาให้กับในนักเรียนในช่วงวัยรุ่น

                   สิ่งที่ครูจำเรียงอยากทำต่อไป ครูจำเรียงอยากให้มีสัญญาณ internet ในโรงเรียน เพื่อให้เป็นที่นักเรียนค้นหาความรู้  และอยากทำให้เด็กรู้เท่าทันปัญหาชีวิต เท่าทันเทคโนโลยี โดยจะยกข่าวปัจจุบันมาเป็นโจทย์ให้เด็กได้เรียนรู้

2. ผลลัพธ์จากเด็ก

               เมื่อลงไปนั่งพูดคุยกับเด็กๆ และถามถึงความรู้สึกที่เรียนวิชานี้ เด็กๆ ต่างบอกว่าชอบ เพราะได้ลงมือทำเอง ได้ความสามัคคีเมื่อทำงานร่วมกับเพื่อนๆ และสามารถนำไปสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้  แต่สำหรับเด็กผู้ชายแม้จะไม่ใช่วิสัยที่เด็กผู้ชายจะชอบทุกคน แต่ก็ช่วยเพื่อนในกลุ่มได้เป็นอย่างดี  กล่าวคือ เด็กในห้องเรียนของครูจำเรียงกลุ่มนี้ มีความกระตือรือร้นที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการจัดพวงหรีดอย่างไรให้ออกมาสวย  ได้ลงมือทำจริง จากการสังเกต พบว่าเด็กมีความตั้งใจในการทำงานร่วมกัน เคารพกติกาในห้องและรับฟังคำแนะนำของครู เช่น ครูบอกว่า สัญญาณของการทำงานเสร็จคือทำความสะอาดโต๊ะตัวเองให้เรียบร้อย ทุกกลุ่มปฏิบัติตาม

บรรยากาศในห้องเรียนก่อนลงมือปฏิบัติ

แต่ละกลุ่มช่วยกันทำ อย่างตั้งใจ


ภาพ 1 บรรยากาศการเรียนการสอนของครูจำเรียง ร.ร.แหลมสิงห์วิทยา

                 เด็กเกิดทักษะ 21st Century Skills หรือไม่? กิจกรรมจัดพวงหรีดนี้เพียงกิจกรรมเดียว ทำให้คณะทำงานเห็นว่าเด็กได้ฝึกทักษะดังนี้ (1) ฝึกทักษะด้านการสื่อสารและการให้ความร่วมมือโดยดูจากการพูดคุยและช่วยกันทำตั้งแต่เริ่มจนเก็บโต๊ะให้สะอาด มีการแก้ปัญหากันเองภายในกลุ่ม  (2) ทักษะการสื่อสาร สื่อ และเทคโนโลยี โดยพิจารณาจากการที่ครูเปิด VDO ขั้นตอนการจัดพวงหรีดให้ดูก่อน หลังจากนั้นให้เด็กออกแบบและค้นคว้าเพิ่มเติมเองว่าจะใช้วัสดุอุปกรณ์หรือดอกไม้อะไรบ้างจากหนังสือและ internet  และมีการส่งรูปผลงานผ่าน facebook ของครูจำเรียง โดยเพื่อนๆ นักเรียนสามารถกด like และแสดงความเห็นได้  และ (3) ฝึกทักษะการยืดหยุ่นและการปรับตัวในการทำงานร่วมกัน คือเด็กๆ ใช้การลองผิดลองถูกเมื่อเห็นว่าไม่สวยเพื่อนๆ ก็ช่วยกันจัดใหม่ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นของตัวเอง ด้วยการออกแบบการจัดพวงหรีดมาเองก่อนลงมือทำ เด็กบางคนทำดอกไม้จุ่มสีที่ตนชอบมาเอง มีภาวะผู้นำและมีความรับผิดชอบ ดูจากการแบ่งหน้าที่กันทำงานกันอย่างชัดเจน และสามารถรับผิดชอบตัวเองจัดการงานได้ โดยแบ่งกันไปกินข้าวก่อนแล้วกลับมาทำต่อเพื่อให้งานเสร็จทันเวลา

ข้อสังเกต: 

(1) ครูเป็นผู้ให้ตัวเลือกแก่เด็กระหว่าง การทำผ้าบาติกกับจัดดอกไม้ เด็กจะทำอะไร ซึ่งไม่ได้เกิดจากความสนใจจริงๆ ของเด็ก

(2) ยังไม่เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพราะการจัดพวงหรีดมีมานานแล้ว รวมทั้งไม่มีการออกแบบการเรียนรู้ร่วมกันกับครู

(3) เด็กยังไม่มีการเชื่อมโยงความรู้ เนื่องจากครูยังไม่สามารถพาเด็กไปเรียนรู้แบบบูรณาการข้ามสาระวิชาได้ ครูยังเป็นครูสอนเดี่ยวอยู่ ซึ่งวิชาการงานนี้อาจสอนร่วมกับครูศิลปะ สังคม  ภาษาไทยได้ไม่ยาก แต่ที่น่าแปลกใจคือเด็กส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักดอกไม้ที่ตัวเองนำมาใช้ในกิจกรรม


3. ภาพรวมโรงเรียน และสิ่งแวดล้อม

                    การขยายผลหลังจากเข้าร่วมโครงการ จากเดิมการเรียนการสอนของครูจำเรียงเป็นแบบสอนเดี่ยว สอนคนเดียวในวิชาที่รับผิดชอบ แต่หลังจากเข้าร่วมโครงการ ในปีการศึกษา 2555 ภาคเรียนที่ 2 ครูจำเรียงได้ชักชวนครูสอนวิชาเกษตร เพื่อสอนร่วมกันในวิชาการงานและการเพาะเห็ด ตามที่นักเรียนเสนอไว้เมื่อปีการศึกษาที่ผ่านมา และมีการชักชวนเพื่อนครูในสาระวิชาการงานอาชีพ ทั้ง 11 คน ร่วมพูดคุยเรื่องการแลกเปลี่ยนการสอนแบบ PBL โดยใช้กิจกรรมตามวันสำคัญ เช่น วันลอยกระทง ซึ่งทางโรงเรียนทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนอยู่แล้ว เพื่อเป็นการขยายผลการสร้างการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนและสร้างเครือข่ายครู

แนวทางการบริหารโรงเรียน/ครู

                  เนื่องด้วยผู้อำนวยการโรงเรียนแหลมสิงห์วิทยา ท่านเพิ่งย้ายมารับตำแหน่ง ณ โรงเรียนนี้ได้ไม่นาน จึงยังไม่ค่อยทราบแนวการสอนของครูจำเรียงเท่าไรนัก แต่ด้วยท่านมีแนวคิดที่ “ไม่อยากเห็นเด็กไทยเป็นขี้ข้าเขมร เพราะเด็กไทยไม่รู้ภาษาอังกฤษ” จึงมีแนวคิดที่ค่อนข้างสอดคล้องกับกิจกรรมของครูจำเรียงอยู่บ้าง ในส่วนของกิจกรรมที่ให้เด็กไปค้นหาของดีหรืออาชีพที่มีอยู่ในชุมชนของเราเพื่ออนุรักษ์ไม่ให้สูญหาย

                   ผู้อำนวยการท่านนี้มีแนวคิดที่อยากจะสร้าง (1) ห้องเรียนคุณภาพ ด้วยการจัดให้มีอุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนการสอนของครู อย่าง LCD ทุกห้องเรียน  (2) แนวคิด internet รอบโรงเรียน โดยหวังให้เด็กๆ ได้ใช้ internet ในการศึกษาค้นคว้าอย่างสะดวกทุกที่ทุกเวลา และ (3) ส่งเสริมการสอนแบบ EIS คือเน้นการเรียนการสอนในวิชาต่างๆ ด้วยภาษาอังกฤษ เพื่อให้เด็กกล้าพูดภาษาอังกฤษมากขึ้น สนับสนุนครูทำงานเป็นกลุ่ม ส่งเสริมให้ครูไปอบรม รวมถึงส่งครูไปฝึกภาษา ณ ต่างประเทศ