จับภาพ “ครูสราวุทธ สินธุโร” กระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โรงเรียนสุนทโรเมตตาประชาสรรค์ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี

จับภาพ “ครูสราวุทธ  สินธุโร”

กระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

โรงเรียนสุนทโรเมตตาประชาสรรค์ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี

                “เรื่องเล่า” วิธีจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะของนักเรียนด้วยการให้รวมกลุ่มกันตั้งบริษัทจำลองของ อาจารย์สราวุทธ สินธุโร ในวงแลกเปลี่ยนรู้ครูสอนดี จ.ปทุมธานี คือสิ่งที่กระตุ้นความสนใจให้คณะทำงานจากมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) เดินทางไปติดตามเยี่ยมชมและจับภาพกระบวนการเรียนรู้ของทั้งครูและนักเรียนกลุ่มนี้ที่โรงเรียนสุนทโรเมตตาประชาสรรค์ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2556

               อาจารย์สราวุทธ สินธุโร ประกอบวิชาชีพครูมาเป็นเวลากว่า 20 ปี ย้ายมาสอนที่โรงเรียนสุนทโรเมตตาประชาสรรค์ราว 13 ปี ปัจจุบันเป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียน หัวหน้าฝ่ายวิชาการ และสอนวิชาพลศึกษา

               โรงเรียนสุนทโรเมตตาประชาสรรค์ เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การดูแลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 4ตั้งอยู่ที่ ต.บ่อเงิน อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี เริ่มเปิดการเรียนการสอนเมื่อปี 2533 โดยมีพระครูสุนทรคุณธาดา (หลวงพ่อทองกลึง สุนทโร) มอบที่ดินกรรมสิทธิ์บริเวณวัดเจดีย์หอย จำนวน 30 ไร่ ให้เป็นสถานที่จัดตั้งโรงเรียน ปัจจุบันจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1- 6 มีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 134 คน ครู 12 คน มีนายวรพันธ์ แก้วอุดม เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน

จัดกระบวนการเรียนรู้ตามสภาพผู้เรียน: แรงบันดาลใจของครู

              ด้วยสภาพแวดล้อมของโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่เรียกกันว่าเป็นเขตชายแดนของ 3 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และนนทบุรี นักเรียนของโรงเรียนจึงมาจากชุมชนแวดล้อมในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ที่เข้ามาเรียนจะไม่เด่นด้านทักษะวิชาการ บางส่วนมีความสุ่มเสี่ยงต่อปัญหายาเสพติดและการท้องก่อนวัยอันควร และบางส่วนเป็นเด็กที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ กอปรกับบริบทแวดล้อมของโรงเรียนยังคงสภาพของความเป็นชุมชนชนบท นักเรียนส่วนใหญ่มีผู้ปกครองประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้าง เหล่านี้ล้วนเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ครูสราวุทธและเพื่อนร่วมงานรุ่นบุกเบิกของโรงเรียน อีก 3 คน ประกอบด้วย อาจารย์แววตา คลังหิรัญ, อาจารย์บุญเสมอ ปิตินานนท์ และอาจารย์สายันต์ เอี่ยมมิ เกิดความคิดที่จะนำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นฐานในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน อย่างที่ครูสราวุทธบอกว่า ด้วยสภาพของนักเรียนส่วนใหญ่ทำให้ต้องเดินด้วยเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง


กระบวนการเรียนรู้ของครูและศิษย์


  ครู: ค้นคว้า ทดลองทำ นำเด็กปฏิบัติ

               ครูสราวุทธบอกว่า ถ้าอยากให้เด็กทำอะไร ครูต้องลงมือทำก่อน ทำให้เด็กเห็นจนเป็นความเคยชินแล้วค่อยๆ ซึมซับไปสู่การปฏิบัติตาม ดังนั้น เมื่อตั้งใจที่จะนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของนักเรียน ครูสราวุทธซึ่งมีใจรักเรื่องการทำเกษตรกรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงเริ่มต้นด้วยการศึกษาค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมทั้งการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ การทำปุ๋ย การขยายพันธุ์พืช และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วยการหาหนังสือมาอ่าน สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต ไปศึกษาดูงาน ไปเรียนรู้กับพระและชาวบ้านในชุมชนแวดล้อมโรงเรียนที่มีความเชี่ยวชาญ จากนั้นจึงแปลงความรู้มาสู่การทดลองทำด้วยตนเองโดยการปรับพื้นที่ส่วนหนึ่งในบริเวณโรงเรียนให้เป็นพื้นที่สำหรับทำเกษตรกรรมทั้งปลูกพืชผัก ผลไม้สมุนไพรหลากหลายชนิด รวมไปถึงการทำนา และเลี้ยงสัตว์ เมื่อทำได้ผลจริงแล้ว จึงนำความรู้เหล่านั้นถ่ายทอดต่อให้กับเด็กได้เรียนรู้และฝึกลงมือปฏิบัติ

นักเรียน: เรียนรู้ด้วยการฝึกทำงาน


โครงการเศรษฐกิจพอเพียง

               กิจกรรมภายใต้โครงการเศรษฐกิจพอเพียงที่ครูสราวุธและเพื่อนครู (ครูแววตา ครูบุญเสมอ และครูสายันต์) ส่งเสริมให้เด็กๆ เรียนรู้และฝึกปฏิบัติมีหลากหลาย โดยแบ่งเป็นชุมนุมต่างๆ ได้แก่ ลำตัด ผูกผ้า นวดฝ่าเท้า แปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร ปลูกผักปลอดสารพิษ ปลูกชะอม ปลูกพืชไร้ดิน เพาะเห็ด ทำนา เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด เป็นต้น

              ภายใต้โครงการนี้เด็กๆ ในแต่ละชุมนุมได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริงกับครู ชาวบ้านในชุมชน และบุคคลที่เป็นมืออาชีพในงานด้านนั้นๆ โดยตรง เช่น เด็กๆ ชุมนุมนวดฝ่าเท้าได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติกับหมอนวดที่มีความเชี่ยวชาญของชุมชน จากนั้นจึงพัฒนาไปสู่การถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นโดยรุ่นพี่ที่ชำนาญและได้ใบรับรองแล้วฝึกต่อให้รุ่นน้อง ส่วนชุมนุมปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยอินทรีย์ครูก็จะเชิญชาวบ้านในชุมชนที่มีความเชี่ยวชาญมาสอนวิธีการและพาเด็กๆ รวมทั้งครูฝึกปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน ส่วนชุมนุมลำตัดเด็กๆ ก็ได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติกับคณะหวังเต๊ะ เป็นต้น

               วันที่คณะของมูลนิธิฯเดินทางไปจับภาพ ตรงกับวันพุธที่มีคาบเรียนเศรษฐกิจพอเพียงเป็นคาบเรียนสุดท้าย จึงได้เห็นภาพของนักเรียนแยกย้ายกันไปทำกิจกรรมที่แต่ละคนเลือกเข้ากลุ่ม เช่น ภาพของเด็กและครูที่ช่วยกันตัดยอดชะอมนำมามัดเป็นกำก่อนนำไปขาย ช่วยกันเก็บผักบุ้งในแปลง บ้างก็ช่วยกันทำปุ๋ยหมัก บางกลุ่มกำลังฝึกนวดฝ่าเท้าโดยมีนักเรียนรุ่นพี่ฝึกให้รุ่นน้อง ส่วนครูสราวุทธกับเด็กๆ อีกกลุ่มหนึ่งกำลังช่วยกันปลูกสวนไผ่ ครูสราวุทธบอกว่า สวนไผ่นี้จะเป็นสื่อการเรียนรู้สำหรับสอนและฝึกการปฏิบัติของนักเรียน โดยตั้งใจไว้ว่าจะฝึกให้นักเรียนตอนกิ่งไผ่ เพราะเห็นว่ากิ่งไผ่ขายได้ราคาดี ซึ่งต่อไปเด็กๆ สามารถที่จะตอนกิ่งหรือเก็บหน่อไม้ไปขายเพื่อเป็นรายได้ระหว่างเรียน

โครงการบริษัทจำลอง

                ด้วยเหตุที่นักเรียนส่วนใหญ่ของโรงเรียนเป็นกลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างยากจนถึงปานกลาง ครูสราวุทธจึงมีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้นักเรียนมีกิจกรรมการเรียนรู้ที่นำไปสู่การหารายได้ระหว่างเรียนได้ด้วย เมื่อไปสืบค้นพบเรื่อง “โรงเรียนทำมาหากิน” ที่ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ เคยสนับสนุนให้ สพฐ.ทำและล้มเลิกไปแล้ว แต่กลับเป็นสิ่งที่จุดประกายให้ครูสราวุทธเกิดความสนใจนำมาปรับปรุงใหม่ให้เป็นรูปแบบของการจัดตั้งบริษัทจำลอง จากนั้นจึงนำแนวคิดนี้ไปปรึกษาหารือกับเพื่อนครูเมื่อเห็นพ้องต้องการ จึงไปชักชวนนักเรียนและเริ่มทดลองทำบริษัทจำลองครั้งแรกเมื่อปีการศึกษา 2555 เป็นต้นมา

              ครูสราวุทธเริ่มต้นด้วยการเรียกประชุมนักเรียนทั้งหมดเพื่ออธิบายให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการของการจัดตั้งบริษัทจำลอง เพื่อให้นักเรียนได้รับรู้และเกิดความเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ภายใต้การทำกิจกรรมนี้รวมไปถึงประโยชน์ที่นักเรียนจะได้รับ นั่นก็คือการหารายได้ระหว่างเรียน ชักชวนนักเรียนให้รวมกลุ่มกันจัดตั้งบริษัท โดยมีเงื่อนไขว่าแต่ละบริษัทจะต้องเขียนโครงการขออนุมัติผ่านผู้อำนวยการโรงเรียน ส่วนใครจะทำบริษัทอะไรนั้นให้เป็นไปตามความสนใจของนักเรียน โดยจัดคาบเรียนสุดท้ายของวันอังคารให้เป็นคาบเรียนบริษัทจำลองที่เด็กๆ จะได้ร่วมกันเรียนรู้แนวคิด หลักการ รวมไปถึงรายงานผลการประกอบกิจการ ส่วนการลงมือปฏิบัติของแต่ละบริษัทให้เด็กๆ บริหารจัดการเวลากันเอง

             เด็กๆ จะรวมกลุ่ม (มีตั้งแต่กลุ่มละ 2-10 คน) เลือกประเภทกิจการ และเลือกครูที่ปรึกษากันเองตามความสมัครใจ ทุกคนในกลุ่มจะเป็นผู้ถือหุ้นโดยออกเงินเพื่อลงทุนตั้งต้นคนละเท่าๆ กัน เงินลงทุนมีทั้งมากและน้อยแตกต่างกันไปตามประเภทกิจการของแต่ละกลุ่ม มีตั้งแต่หุ้นละ 50-500 บาท เด็กๆ บอกว่าเงินที่นำมาลงทุนขอมาจากพ่อแม่โดยเล่าให้ฟังก่อนว่าจะนำเงินมาใช้เพื่อทำอะไรซึ่งพ่อแม่ก็ให้การสนับสนุน

              ในการจัดตั้งบริษัทจำลองเด็กๆ ได้มีโอกาสทดลองเขียนโครงการที่เป็นเหมือนแผนธุรกิจเล็กๆ เพื่อขอจัดตั้งบริษัทโดยอธิบายเหตุผล วัตถุประสงค์ เป้าหมาย วิธีการดำเนินงาน แผนการปฏิบัติงานและระยะเวลาดำเนินการ ฯลฯ ซึ่งการทำงานในขั้นตอนนี้เด็กๆ มีโอกาสได้ฝึกกระบวนการคิด เพราะต้องร่วมกันคิดเองว่าจะทำบริษัทอะไร เพราะอะไร และทำเพื่ออะไร โดยมีครูที่ปรึกษาคอยถามกระตุ้นให้คิดและช่วยประเมินความเป็นไปได้

                กิจการที่เด็กๆ เลือกทำส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเด็ก เป็นสิ่งที่เด็กๆ พบเห็นและจดจำมาจากบริบทแวดล้อมของชุมชน หรือเป็นสิ่งที่เด็กๆ ถนัดที่จะทำอยู่แล้วเพราะเป็นอาชีพของครอบครัว โดยส่วนใหญ่เลือกทำบริษัทด้านการเกษตรและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น เลี้ยงปลาดุก เลี้ยงเป็ด ปลูกพืชผักสวนครัวต่างๆ ทำไม้กวาดทางมะพร้าวขาย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีบริษัทขายตรงเครื่องสำอาง บริษัทผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และของขบเคี้ยวต่างๆ เช่น บริษัทสารพัดยำ ลูกชิ้นทอด ข้าวโพดคลุก น้ำสมุนไพร/น้ำหวาน เป็นต้น กรณีที่เด็กบางกลุ่มเลือกประกอบกิจการที่ครูไม่มีความรู้มากพอที่จะช่วยแนะนำหรือให้คำปรึกษาได้ ครูก็จะให้เด็กๆ เชิญพ่อแม่/ผู้ปกครองที่มีความรู้ในการทำกิจการนั้นๆ มาเป็นที่ปรึกษาของบริษัทได้

               เด็กๆ ได้ทดลองนำโครงการที่เขียนมาสู่การทำเป็นธุรกิจจริงซึ่งขั้นตอนนี้ครูได้ออกแบบให้มีการจัดทำปฏิทินการปฏิบัติงานประจำวัน ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย และประมาณ 1-2 เดือนจะต้องนำเสนอผลประกอบการต่อครูและเพื่อนนักเรียน ซึ่งที่ผ่านมาเด็กๆ สามารถประเมินได้ด้วยตัวเองว่ากิจการที่ทำอยู่จะไปรอดหรือไม่ กำไรหรือขาดทุน กิจการไหนที่ไปได้ดีก็ทำต่อไป ส่วนกิจการไหนที่ทำท่าว่าจะไปไม่รอดก็สามารถขอปรับเปลี่ยนประเภทกิจการได้ตลอด

                วันที่คณะของมูลนิธิฯเดินทางไปเยี่ยมชม ได้มีโอกาสเห็นเด็กๆ 4 กลุ่ม ที่เลือกประกอบธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่มมาเปิดร้านช่วงพักกลางวันในโรงอาหารของโรงเรียน สังเกตเห็นว่าเด็กๆ มาเตรียมการเปิดร้านก่อนเวลาพักกลางวันเล็กน้อย อาหารที่ขายเป็นประเภทของว่าง เช่น ยำลูกชิ้น ลูกชิ้นทอด ไส้กรอกทอด ข้าวโพดคลุกเนย น้ำมะนาว ชามะนาว ลูกค้าก็คือครูและเพื่อนๆ เด็กๆ แบ่งหน้าที่กันทำ บ้างรับลูกค้าอยู่หน้าร้าน บ้างจัดเตรียมส่วนประกอบ บ้างปรุง/ทอด ตักใส่จาน ล้างจาน ฯลฯ ขายได้ซักพักพอคนเริ่มซา เด็กๆ ช่วยกันเก็บกวาด ทำความสะอาด เช็ด ล้างอุปกรณ์ จากนั้นแยกย้ายกันไปขึ้นชั้นเรียน

               จากการที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับนักเรียนทั้งระดับ ม.ต้น และ ม.ปลาย กว่า 10 คน พบว่า เด็กๆ สามารถเล่าเรื่องการทำงานของตัวเองได้อย่างคล่องแคล่ว ด้วยสีหน้าแววตาแจ่มใส บอกเล่าถึงขั้นตอนและวิธีการทำกิจการของตัวเองได้อย่างรู้จริงและเข้าใจ เช่น “กิติยา” และ “ณัฐฐา” ตัวแทนนักเรียนที่รวมกลุ่มกันเปิดบริษัทเลี้ยงเป็ดเมื่อปีที่แล้ว ทั้งสองคนช่วยกันเล่าว่า บริษัทของตนเองมี 6 หุ้น ลงหุ้นคนละ 500 บาท ตกลงกันว่าจะเลี้ยงเป็ด โดยไปเลี้ยงที่บ้านเพื่อนซึ่งพ่อแม่ประกอบอาชีพเลี้ยงเป็ดอยู่แล้วเพื่อจะได้ขอคำปรึกษา เด็กๆ นำเงินที่ได้ไปซื้อลูกเป็ดมา 20 ตัว ตัวละ 120 บาท พอเลี้ยงๆ ไปเกิดปัญหาทำท่าว่าจะไปไม่รอดเพราะเป็ดไม่ออกไข่ทำให้ไม่มีรายได้ไปซื้ออาหารให้เป็ด จึงไปขอคำปรึกษาจากพ่อทำให้ได้ความรู้ว่าการเลี้ยงเป็ดแบบไม่ไล่ทุ่งของกลุ่มตัวเอง จะเปลืองอาหาร และเป็ดจะไม่ค่อยออกไข่เพราะอยู่แต่ในเล้าไม่ได้ออกกำลังกาย เด็กๆ เห็นท่าว่าจะทำต่อไม่ไหวเพราะไม่สามารถพาเป็ดไปเลี้ยงแบบไล่ทุ่งได้เนื่องจากไม่มีเวลาต้องไปเรียนหนังสือ จึงตัดสินใจร่วมกันว่าจะเลิกกิจการโดยขายเป็ดให้พ่อ แล้วนำเงินมาลงทุนทำกิจการปลูกพืชผักสวนครัวขายซึ่งคิดว่าน่าจะไปได้ดีกว่า เพราะเด็กๆ มีแปลงเกษตรในคาบเรียนเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว และมีแหล่งรับซื้อคือแม่ค้าในวัดเจดีย์หอยและชาวบ้านในชุมชนที่ชอบอุดหนุนผักของเด็กๆ เพราะเป็นผักปลอดสารพิษ

               เมื่อถามกิติยาและณัฐฐาว่า ได้อะไรจากการทำบริษัทจำลอง ทั้งคู่ตอบตรงกัน ทำให้เป็นคนที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะทุกคนในกลุ่มมีการแบ่งหน้าที่กันทำ ถ้าใครไม่ทำหน้าที่ก็จะทำให้บริษัทไปไม่รอด นอกจากนี้ ยังได้เห็นความมีน้ำใจและความสามัคคีในกลุ่มเพื่อนที่ช่วยกันทำงานด้วย

               ครูสราวุทธบอกว่า ผลประกอบการของเด็กๆ เมื่อปีการศึกษาที่ผ่านมาประมาณครึ่งหนึ่งประสบความสำเร็จ ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งล้มลุกคลุกคลาน แต่โรงเรียนก็ไม่ปล่อยให้เด็กๆ ขาดทุน โดยครูจะช่วยรับซื้อผลผลิต เช่น ไข่เป็ด ผักสวนครัวต่างๆ รวมทั้งโรงเรียนยังช่วยลงทุนสนับสนุนด้านวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้เด็กๆ สามารถประคับประคองกิจการไปได้

               สำหรับครูสราวุทธ การลงทุนโดยโรงเรียน “ขาดทุนคือกำไร” เพราะสิ่งที่โรงเรียนลงทุนสนับสนุนให้กับเด็กๆ เพื่อทำกิจกรรมเหล่านี้ถือเป็นสื่อการเรียนรู้ ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว กำไรหรือขาดทุน ถือเป็นการเรียนรู้ชีวิตของเด็กๆ ด้วยการฝึกปฏิบัติจริง ซึ่งจะทำให้พวกเขาได้ประสบการณ์วิชาชีพและเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการไปด้วยในตัว

              การส่งเสริมให้นักเรียนทำบริษัทจำลองของครูสราวุทธจึงกล่าวได้ว่าเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ PBL รูปแบบหนึ่ง เพราะการทำบริษัทจำลองเป็นกิจกรรมที่มุ่งสร้างเสริมประสบการณ์ผ่านการลงมือทำของผู้เรียน เน้นการปฏิบัติที่เกิดจากความเข้าใจ รู้จริง และทำได้ ภายใต้บริบททางเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่อันเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยของนักเรียน เป็นจัดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง เด็กๆ ได้เรียนรู้และสัมผัสสภาพจริงของการทำงาน ได้ฝึกทำงานร่วมกัน ได้แสวงหาความรู้ เชื่อมโยงความรู้สู่การปฏิบัติจริง ซึ่งเด็กๆ ต้องเผชิญกับปัญหาและหาทางแก้ปัญหาในแต่ละขั้นตอนของการทำงานด้วยตัวเองโดยมีครูเป็นที่ปรึกษา คอยให้คำชี้แนะและให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

ผลลัพธ์ที่เกิดกับนักเรียน

               ครูสราวุทธบอกว่า แรกๆ เงินอาจเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เด็กอยากทำงาน แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง เด็กๆ เกิดการซึมซับนิสัยรักการทำงาน ความมีระเบียบวินัย และความรับผิดชอบไปโดยอัตโนมัติ  เช่น วันหนึ่งขณะลงแปลงเกษตรเกิดมีท่อน้ำแตก เด็กๆ ช่วยกันลงขุดและซ่อมแซมกันเองโดยที่ครูไม่ต้องบอก นอกจากนี้ ยังช่วยทำให้เด็กเกเรปรับตัวโดยธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากกระบวนการกลุ่มที่ช่วยทั้งผลัก ดึง และประคับประคองให้เด็กๆ ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเข้าหากันเพื่อให้สามารถอยู่ในกลุ่มได้ ที่สำคัญคือเด็กๆ เหล่านี้มีความผูกพันกับครูและโรงเรียน เมื่อจบการศึกษาไปแล้วยังคงกลับมาเยี่ยมเยียนและช่วยกิจกรรมของโรงเรียนเป็นครั้งคราว

              ผอ.วรพันธ์บอกว่า เด็กผมไม่เก่งเรื่องวิชาการ แต่ถ้าไปหลงป่าพร้อมกับเด็กในเมือง เด็กผมรอด เอาตัวรอดได้ เพราะอยู่ในโรงเรียนทุกคนได้ฝึกทำงานหลากหลาย

               การเรียนรู้ผ่านการทำลงมือทำภายใต้โครงการเศรษฐกิจพอเพียงและบริษัทจำลองทำให้นักเรียนได้ทั้งทักษะชีวิตและได้ฝึกฝนอาชีพ มีความรู้ติดตัวที่สามารถนำไปประกอบอาชีพ มีรายได้ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เช่น นักเรียนชุมนุมนวดฝ่าเท้าสามารถออกรับจ้างนวดตามบ้านในชุมชนหารายได้เสริมให้กับตนเองและครอบครัวได้ ส่วนนักเรียนชุมนุมลำตัด มีผู้สนใจติดต่อจ้างไปทำการแสดงในงานต่างๆ ทำให้เด็กมีรายได้ระหว่างเรียน ฯลฯ

              การพัฒนานักเรียนโดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยการให้นักเรียนลงมือทำงานในรูปแบบของโรงเรียนสุนทโรฯ จึงเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เด็กๆ เกิดทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ทำให้นักเรียนเข้าใจการใช้ชีวิตเพราะเป็นการเรียนรู้จากสภาพจริงผ่านการทำงานร่วมกัน เด็กคิดเป็นทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ทำงานเป็นทีม วางแผนการทำงานร่วมกัน แบ่งหน้าที่กันทำ เกิดความสามัคคี มีน้ำใจ มีวินัย ความรับผิดชอบ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ระหว่างการทำงานมีความขัดแย้ง มีถกเถียงกันบ้าง เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เด็กๆ ได้เรียนรู้และช่วยกันแก้ไข เป็นเหมือนการจำลองชีวิตจริงในสังคมมาสู่การเรียนรู้ของเด็กๆ ซึ่งจะเป็นรากฐานชีวิตที่ทำให้เด็กๆ เติบโตและเอาตัวรอดได้ในสังคม

สิ่งที่ครูหวังและยังคงทำต่อไป

                 ครูสราวุทธบอกว่า อยากสอนลูกศิษย์ให้เป็นคนเก่ง เป็นคนดี และอยู่ในชุมชน เช่น กลับมาเป็นครูสอนที่โรงเรียนในชุมชนของตนเอง

                 สิ่งที่จะทำต่อไปคือ ส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง สอนคนให้เป็นคน สร้างคน ทำในสิ่งที่คิดว่าน่าจะดีกับเด็กโดยจะพยายามหางานให้เด็กทำ ให้เด็กเห็นคุณค่าของงานที่ทำ ในอนาคตถ้าเด็กคนไหนไม่มีเงินเรียนต่อก็ยังสามารถยึดเป็นอาชีพได้

              ความคาดหวังของครูสราวุทธคือ หวังให้สิ่งที่ทำอยู่นี้มีความยั่งยืน ที่ผ่านมาพยายามผลักดันให้แนวคิดและการจัดกิจกรรมเรียนรู้ทั้งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและการฝึกให้เด็กทำงานซึมซับกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรของโรงเรียน ซึ่งต่อไปแม้ว่าผู้บริหารและครูจะมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป แต่รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นประโยชน์ของเด็กเป็นหลัก เน้นสภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ และเน้นเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมของชุมชนอย่างที่พยายามทำอยู่ทุกวันนี้ยังคงอยู่ตลอดไป

              ครูสราวุทธบอกว่า การที่จะทำโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างแท้จริงครูจะต้องมีใจรัก เป็นผู้ให้ เอาใจใส่ลูกศิษย์ และมีความคิดสร้างสรรค์ ที่สำคัญคือต้องมีเพื่อนครูที่ร่วมอุดมการณ์เดียวกันและมีผู้บริหารโรงเรียนให้การสนับสนุน แม้ว่ากว่า 10 ปีที่ผ่านมาโรงเรียนสุนทโรฯได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารมาแล้วหลายคน แต่คนที่มารับช่วงต่อต่างก็ช่วยกันต่อยอดและสนับสนุนแนวทางที่ครู สราวุทธและเพื่อนครูได้พยายามวางรากฐานไว้เพราะเห็นว่าเหมาะสมกับสภาพของนักเรียนและเป็นประโยชน์ต่อตัวเด็กอย่างแท้จริง

                 เมื่อถามครูสราวุทธและครูบุญเสมอว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้อดทนพยายามที่จะวางรากฐานและสานต่อโครงการต่างๆ เพื่อฝึกเด็กให้เรียนรู้ผ่านการทำงาน ทั้งๆ ที่ตัวครูเองต้องทำงานหนักมากขึ้นทั้งงานสอน งานบริหาร แล้วยังต้องวางตัวเป็นต้นแบบลงมือลงแรงทำกิจกรรมต่างๆ เคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับเด็กๆ ด้วย ครูทั้งสองคนตอบตรงกันว่าสิ่งนั้นคือ ความรักที่มีต่อเด็กและความผูกพันที่มีต่อโรงเรียน