จับภาพ “ครูเพ็ญศรี ใจกล้า” จากห้องเรียนสู่ชุมชน: เส้นทางการเรียนรู้ของครูและศิษย์ โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม

จับภาพ “ครูเพ็ญศรี  ใจกล้า”

จากห้องเรียนสู่ชุมชน: เส้นทางการเรียนรู้ของครูและศิษย์

โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม อำเภอเชียงยืน

จังหวัดมหาสารคาม

              เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2556 คณะทำงานจากมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) ออกเดินทางจากกรุงเทพมหานคร โดยมีเป้าหมายและปลายทางคือการไปจับภาพกระบวนการเรียนรู้ของครูคือ “อาจารย์เพ็ญศรี ใจกล้า” และศิษย์คือ นักเรียน “กลุ่มฮักนะเชียงยืน” ที่โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม

              อาจารย์เพ็ญศรี ใจกล้า คือ ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม และเป็นหัวหน้าระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  ส่วนกลุ่มฮักนะเชียงยืนเป็นการรวมตัวกันของนักเรียนชั้น ม.6 ม.5 ม.4 และ ม.3 จำนวน 14 คน (แสน, เปรี้ยว, ส้ม, นาง, เนย, แซม, เนส, เอ็ม, อี๊ฟ, มิ้นท์, ก๊อต, แอน, ป๊อบ, และเจมส์) เพื่อทำ “โครงการลดมลพิษฟื้นชีวิตดิน” ซึ่งเป็นโครงการรับทุนจากมูลนิธิกองทุนไทยที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาทักษะของนักเรียนผ่านการทำโครงงานด้านสิ่งแวดล้อม

ห้องเรียนครูเพ็ญศรี

              ช่วงเช้าของวันที่ 7 มิถุนายน 2556 คณะของมูลนิธิฯเข้าไปสังเกตการเรียนการสอนในชั้นเรียนของครูเพ็ญศรี ซึ่งเป็นชั่วโมงเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของนักเรียนชั้น ม.3  มีนักเรียนสับเปลี่ยนหมุนเวียนกัน (เดินเรียน) เข้ามาเรียนในช่วงเช้าของวันนี้ 3 ห้อง คือ ม.3/2 ม.3/4 และ ม.3/5 ห้องละประมาณ 30 - 35 คน หัวข้อที่เรียนคือ การแบ่งยุคสมัยและวิธีการทางประวัติศาสตร์

               ห้องเรียนของครูเพ็ญศรี เป็นห้องเรียนที่ไม่มีกระดานหน้าห้อง ไม่มีชอล์ก/ปากกาเคมี ไม่มีโต๊ะ และไม่มีเก้าอี้สำหรับนักเรียน เมื่อเด็กๆ เดินมาถึงห้องเรียนก็จะนั่งรวมกันเป็นกลุ่มๆ บนพื้นห้อง ครูเพ็ญศรีนั่งอยู่บนเก้าอี้ในมุมที่นักเรียนทุกคนสามารถมองเห็นครูได้อย่างทั่วถึง ทักทายและชวนเด็กๆ พูดคุยสัพเพเหระนิดหน่อย จากนั้นจึงบอกหัวข้อการเรียนรู้ในวันนี้ แล้วให้เด็กๆ จับกลุ่ม กลุ่มละ 3-4 คน ให้ทุกคนเตรียมหนังสือวิชาประวัติศาสตร์ 1 เล่ม กระดาษรีไซเคิล 1 แผ่น พร้อมปากกา แล้วโยนคำถามไปในวงของนักเรียน เช่น “มีการแบ่งยุคสมัยของประวัติศาสตร์ออกเป็นกี่ยุค”, “วิธีการทางประวัติศาสตร์แบ่งออกเป็นกี่ขั้นตอน นักเรียนคิดว่าขั้นตอนไหนมีความสำคัญที่สุด เพราะอะไร”  ให้เวลานักเรียนแต่ละกลุ่มช่วยกันค้น ช่วยกันคิด แล้วเขียนคำตอบลงในกระดาษ ช่วงเวลานี้เด็กๆ แต่ละกลุ่มต่างเปิดหนังสือเพื่อค้นหาคำตอบ พูดคุย ถกเถียงกันประมาณ 10 นาที จากนั้นครูเพ็ญศรีให้นักเรียนแลกเปลี่ยนกันว่า แต่ละกลุ่มมีความคิดเห็นว่าขั้นตอนของวิธีการทางประวัติศาสตร์ขั้นตอนไหนที่มีความสำคัญมากที่สุด เพราะอะไร ซึ่งคำตอบของเด็กแต่ละกลุ่มก็มีความแตกต่างกันไป

               ตลอดทั้งคาบเรียนครูเพ็ญศรีแสดงบทบาทเป็นเพียงผู้ตั้งคำถาม กระตุ้นให้เด็กคิดและมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ โดยครูเพ็ญศรีจะมีคำที่ใช้กระตุ้นให้เกิดการคิด และช่วยกันคิดต่อๆ ไปด้วยคำว่า “มั้ย” (น่าจะมาจากคำว่า “ไหม” ซึ่งเป็นคำถามมาจาก “หรือไม่”) เช่น เมื่อเด็กคนหนึ่งตอบคำถามพร้อมอธิบายเหตุผลจบ ครูเพ็ญศรีจะถามต่อว่า “มั้ย” แล้วมองไปที่เพื่อนคนอื่นๆ เป็นเชิงให้ช่วยกันแสดงความคิดเห็นต่อๆ กันไป หรือกระตุ้นด้วยคำถามว่า “มีกลุ่มไหนที่มีความคิดเห็นแตกต่างไปจากที่เพื่อนตอบมาแล้วหรือไม่” หรือ “มีใครที่คิดไม่เหมือนเพื่อนมั้ย” เพื่อให้เด็กทุกคนได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ อย่างทั่วถึง เด็กคนไหนที่มีทีท่าเหมือนไม่ค่อยสนใจมีส่วนร่วม ครูเพ็ญศรีจะเรียกแล้วกระตุ้นให้ตอบคำถาม

              บทสรุปท้ายชั่วโมงเรียนครูเพ็ญศรีบอกนักเรียนว่า ครูไม่มีคำตอบให้ว่าขั้นตอนไหนของวิธีการทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุด เพราะทุกคนจะสามารถรู้ได้ว่าขั้นตอนไหนสำคัญหรือไม่ อย่างไร ก็ต่อเมื่อได้ลงมือทำตามขั้นตอนเหล่านั้นไปทีละขั้นตอนด้วยตัวเองในชั่วโมงเรียนต่อๆ ไป

              นอกจากนี้ ครูเพ็ญศรียังมีความพยายามสอดแทรกรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อปลูกฝังให้เด็กๆ เกิดทักษะหรือคุณลักษณะบางอย่าง เช่น ให้เขียนรายงานส่งด้วยลายมือ และให้นักเรียนทำสมุดเล่มเล็กจากกระดาษที่ใช้แล้วหน้าเดียวสำหรับทำการบ้านส่ง เป็นต้น

จากห้องเรียนสู่ชุมชน: การเรียนรู้บนสภาพปัญหา

               ช่วงบ่ายของวันที่ 7 มิถุนายน 2556 คณะของมูลนิธิฯติดตามนักเรียนกลุ่มฮักนะเชียงยืน ไปที่โรงเรียนบ้านแบก (แบกสมบูรณ์วิทย์) ซึ่งเป็นสถานที่จัดกิจกรรมเพื่อคืนข้อมูลจากการทำโครงการลดมลพิษฟื้นชีวิตดินให้กับชุมชน ซึ่งเด็กๆ ได้ประสานการจัดงานกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว เมื่อลงจากรถ “ส้ม” แกนนำเยาวชนคนหนึ่งจึงนำกลุ่มเพื่อนๆ ไปแจ้งกับครูของโรงเรียนบ้านแบกว่า จะขอเข้ามาจัดเตรียมสถานที่สำหรับการจัดกิจกรรม รวมทั้งซักซ้อมความเข้าใจกับน้องๆ นักเรียนโรงเรียนบ้านแบกที่จะเข้าร่วมกิจกรรมวันพรุ่งนี้ ซึ่งน้องๆ กลุ่มนี้จะมีบทบาทสำคัญในการเข้าร่วมขบวนแห่เชิญชวนพ่อแม่พี่น้องในชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม รวมทั้งจะเป็นกลุ่มผู้เข้าร่วมเรียนรู้ในฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับผลกระทบของการใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรมด้วย

              เมื่อบอกกล่าวเจ้าของพื้นที่เรียบร้อยแล้ว เด็กๆ แยกย้ายกันทำหน้าที่ ได้แก่ กวาดลานในอาคารประชุมเอนกประสงค์ที่ใช้เป็นสถานที่จัดงาน ขนวัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้ในการจัดงาน จัดเตรียมเก้าอี้ เตรียมนิทรรศการ เตรียมพื้นที่สำหรับจัดฐานการเรียนรู้ ฯลฯ รอเวลาจนกระทั่งประมาณบ่ายสามโมงหลังเสียงเคาะระฆังเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านแบกทุกชั้นเรียนกว่า 80 คน ก็มารวมตัวกันที่อาคารประชุม คุณครูเกริ่นแนะนำกลุ่มพี่ๆ จากโรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม จากนั้นโยนเวทีให้กับตัวแทนกลุ่มฮักนะเชียงยืนพูดคุยกับน้องๆ 

               “แสน ส้ม นาง และเปรี้ยว” เป็นตัวแทนช่วยกันชี้แจงกับน้องๆ โรงเรียนบ้านแบกถึงวัตถุประสงค์ในการมาครั้งนี้ว่า เพื่อนัดหมายและซักซ้อมความเข้าใจสำหรับการร่วมงานวันพรุ่งนี้ เช่น นัดหมายเรื่องการแต่งกาย นัดหมายเวลาและสถานที่ที่จะมารวมตัวกัน อธิบายกิจกรรมที่จะทำร่วมกัน รวมทั้งย้ำให้เด็กๆ ทุกคนช่วยกันเชิญชวนผู้ปกครองให้มาร่วมงานในวันพรุ่งนี้ด้วย

               หลังจากน้องๆ โรงเรียนบ้านแบกแยกย้ายกันกลับบ้านไปแล้ว พี่ๆ กลุ่มฮักนะเชียงยืนก็ซักซ้อมคิวตามลำดับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นบนเวที มี “นาง” และ “เอ็ม” รับหน้าที่เป็นพิธีกรดำเนินรายการ ต่อด้วยการซ้อมแสดงละครเพื่อสะท้อนข้อมูลคืนให้กับชุมชนถึง 2 รอบ จากนั้นครูเพ็ญศรีเรียกเด็กๆ ตั้งวงพูดคุยกัน โดยครูเพ็ญศรีตั้งคำถามโยนไปในวงเพื่อให้เด็กๆ ช่วยกันประเมินความพร้อมของการจัดงานในวันพรุ่งนี้ ทั้งที่เป็นความพร้อมของแต่ละคนในการทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ความพร้อมของทีม ความพร้อมของการจัดฐานการเรียนรู้ ฯลฯ ครูเพ็ญศรีซักถามถึงการทำงานในจุดต่างๆ เพื่อให้เด็กๆ สะท้อนถึงปัญหาที่พบระหว่างการซักซ้อมกิจกรรม เมื่อเด็กๆ สะท้อนปัญหาที่พบออกมา ครูเพ็ญศรีก็จะถามต่อว่า “จะแก้ไขอย่างไร” เด็กๆ จะหันหน้าเข้าหากัน พูดคุยกันเบาๆ ก่อน จากนั้นจึงหันมาบอกวิธีการแก้ปัญหากับครูเพ็ญศรี ซึ่งครูเพ็ญศรีก็จะบอกว่า “แล้วแต่เด็กๆ”

               ตัวอย่างการประเมินความพร้อมตนเองของเด็กเยาวชน เช่น “นาง” ประเมินว่าตัวเองจะยังทำหน้าที่พิธีกรได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะยังไม่มีความพร้อมเรื่องรายชื่อแขกผู้ใหญ่ที่จะมาร่วมงานและการลำดับพิธีการในช่วงที่ประธานมาเปิดงาน ซึ่งตัวเองจะต้องกลับไปทำการบ้านโดยเตรียมจดรายชื่อแขกผู้ใหญ่ ลำดับกิจกรรม และซักซ้อมการพูดที่เป็นทางการให้คล่องมากกว่านี้ หรือ ปัญหาที่เพื่อนซึ่งรับบทสำคัญในการแสดงละครไม่ได้มาร่วมซ้อมในวันนี้ ครูเพ็ญศรีถามว่า “ถ้าพรุ่งนี้เพื่อนมาไม่ได้อีกจะทำอย่างไร” เด็กๆ พูดคุยกันแล้วเสนอให้เปลี่ยนตัวแสดง โดยให้ “แสน” รับบทสำคัญนั้นแล้วให้เพื่อนที่ไม่ได้มาซ้อมรับบทตัวประกอบอื่นแทน เพราะ “แสน” เป็นคนเขียนบทละครเองจึงสามารถจะจำบทได้ทั้งหมดอยู่แล้ว และในการซ้อมวันนี้ “แสน” ก็ซ้อมรับบทแทนเพื่อนซึ่งก็ทำได้ดี และนี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กๆ ต้องซักซ้อมการแสดงละครถึง 2 รอบ เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อเปลี่ยนตัวแสดงแล้วการแสดงยังคงรื่นไหลไปได้ด้วยดี

              จากการสังเกตพบว่า เด็กๆ สามารถประเมินตัวเอง ประเมินกันเองในทีม เห็นปัญหาและข้อบกพร่องของตัวเองและทีม ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ของกันและกันได้ รวมทั้งร่วมพูดคุยและตัดสินใจเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันในกลุ่มได้ โดยมีครูเพ็ญศรีทำหน้าที่ยิงคำถามบ้าง คำวิจารณ์บ้าง เพื่อทำให้เด็กฉุกคิด และร่วมกันแสวงหาคำตอบที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ ในการทำงานด้วยตัวเอง

               สุดท้ายก่อนแยกย้ายกันในวันนี้ครูเพ็ญศรีถามเด็กๆ ว่า “จุดมุ่งหมายที่เรามาซักซ้อมกิจกรรมและพูดคุยกันในวันนี้เพื่ออะไร” แสนตอบว่า “เพื่อเตรียมงาน ให้เกิดการผิดพลาดน้อยที่สุด”


              กิจกรรมคืนข้อมูลสู่ชุมชน เช้าตรู่ของวันที่ 8 มิถุนายน 2556 เส้นทางบนถนนในบ้านแบก ตำบลนาทอง อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม ปรากฏภาพขบวนแห่ของเด็กนักเรียนตัวเล็กตัวน้อยจากโรงเรียนบ้านแบก ถือป้ายแห่ร้องเชิญชวนชาวบ้านในชุมชนไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ของ “โครงการลดมลพิษฟื้นชีวิตดิน” ที่จะจัดขึ้นภายในบริเวณโรงเรียนบ้านแบก ในช่วงเวลาประมาณ 08.00 – 11.00 น. ซึ่งกิจกรรมวันนี้เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญของโครงการฯโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะนำข้อมูลผลการตรวจสอบดินส่งคืนให้กลับชาวบ้านในชุมชน หลังจากที่เด็กๆ ได้เก็บตัวอย่างดินจากที่ดินของเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการฯนำไปตรวจสอบสารตกค้างในดินและได้ผลสรุปออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

             

                เมื่อขบวนแห่มาถึงโรงเรียนซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน เด็กๆ จากโรงเรียนบ้านแบกแบ่งกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมฐานการเรียนรู้ ซึ่งมีอยู่ 3 ฐาน ได้แก่ ฐานดิน ฐานสารเคมี และฐานเลือด (แสดงผลกระทบจากสารเคมี) ซึ่งมีแกนนำเยาวชนพี่ๆ จากโรงเรียนเชียงยืนพิทยาคมแบ่งหน้าที่แยกย้ายกันไปเป็นพี่เลี้ยงประจำแต่ละฐานเพื่อนำน้องๆ ร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ภายใต้บรรยากาศสนุกสนานที่สอดแทรกด้วยเนื้อหาสาระเกี่ยวกับผลกระทบของสารเคมีที่ผู้ใหญ่ใช้ในการทำเกษตรกรรม

               งานวันนี้มีชาวบ้านในชุมชนมาร่วมกิจกรรม ประมาณ 20 คน ส่วนหนึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ส่งดินเข้าร่วมตรวจสอบ อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนบ้านแบกที่มาร่วมกิจกรรม เด็กๆ กลุ่มฮักนะเชียงยืนแบ่งหน้าที่กันทำงาน เช่น “มิ้นท์” อยู่ฝ่ายลงทะเบียนต้อนรับชาวบ้านที่มาร่วมงาน “ส้ม” ดูแลต้อนรับแขกผู้ใหญ่ที่มาร่วมงาน “แอน” ดูแลให้ทุกคนที่มาร่วมงานมีขนมและน้ำดื่ม “แสน” ชวนชาวบ้านบางส่วนเยี่ยมชมนิทรรศการให้ความรู้เรื่องการตรวจสอบสารเคมีตกค้างในดิน สารเคมีและผลกระทบจากการใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรม ส่วน “นาง” และ “เปรี้ยว” ช่วยกันอธิบายผลการตรวจสารตกค้างในดินให้กับชาวบ้านที่เป็นเจ้าของที่ดินฟัง

               ราวๆ 09.00 น. ปลัดอาวุโสอำเภอเชียงยืนมาเป็นประธานเปิดงาน จากนั้นเยาวชนกลุ่มฮักนะเชียงยืนร่วมกันแสดงละครเรื่อง “เบิกฟ้าเบิกอรุณ” เพื่อสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของคนบ้านแบกที่เปลี่ยนแปลงไปจากการทำเกษตรกรรมแบบพออยู่พอกินมาสู่การทำเกษตรกรรมแบบพันธสัญญาที่ส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพของตัวเกษตรกรเองและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน จากนั้นต่อด้วยเวทีเสวนาเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ของดินและผลกระทบจากการใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรมของชาวบ้านแบก ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ครูจากโรงเรียนบ้านแบก พยาบาลจาก รพสต.นาทอง และตัวแทนเกษตรกรที่ปลูกแตงแคนตาลูป โดยมี “แสน”, “นาง” และ “เอ็ม” ทำหน้าที่ซักถาม ชวนพูด ชวนคุย

              ช่วงบ่ายหลังจากเด็กๆ กินข้าวกินปลาอิ่มหนำสำราญกันดีแล้ว แว่วเสียงเด็กๆ เริ่มพูดคุยกันเกี่ยวกับกิจกรรมที่เพิ่งทำเสร็จไป เป็นการ AAR กันเองของเด็กๆ ครูเพ็ญศรีทอดเวลาให้เด็กๆ ได้ทบทวนกันเองก่อน หลังจากนั้นประมาณหนึ่งชั่วโมงครูเพ็ญศรีจึงเรียกเด็กๆ รวมวงเพื่อ AAR ร่วมกันอีกครั้ง เมื่อสังเกตจากการ AAR ร่วมกันสะท้อนให้เห็นว่า เด็กๆ มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น รู้ว่าปัญหาเกิดมาจากสาเหตุอะไร และรู้ว่าควรจะแก้ปัญหาอย่างไรในบริบทความคิดและประสบการณ์ของพวกเขา เด็กๆ ทุกคนได้ย้อนทบทวนการทำบทบาทหน้าที่ของตัวเองจากการทำกิจกรรมที่เพิ่งเสร็จไป โดยมองเห็นและกล้าที่จะพูดถึงข้อบกพร่องของตนเองและรู้ด้วยว่าถ้าจะทำให้ดีขึ้นกว่านี้ควรจะทำอย่างไร

                จากการสังเกตการทำงานร่วมกันของเด็กๆ ตั้งแต่ช่วงเตรียมงานในคืนวันที่ 6 มิถุนายน จนกระทั่งเสร็จสิ้นกิจกรรมเข้าสู่ช่วง AAR พบว่า นักเรียนกลุ่มนี้มีความรับผิดชอบและความตั้งใจในการทำงาน มีการแบ่งบทบาทหน้าที่กันอย่างชัดเจน แต่ละคนรู้บทบาทหน้าที่ของตัวเอง ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขซึ่งสะท้อนมาจากใบหน้า แววตา ความสนุกสนาน และความกระตือรือร้นในการทำงานร่วมกัน เด็กๆ กลุ่มนี้กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ใหญ่ สามารถทบทวน วิเคราะห์ และวิจารณ์การทำงานของตัวเองและเพื่อนๆ ได้ กล้าที่จะยอมรับและพูดถึงข้อบกพร่องของตัวเอง สังเกตว่าเมื่อเด็กๆ สะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ณ จุดใดจุดหนึ่งของงาน ผู้ที่สะท้อนก็คือคนที่ทำหน้าที่ ณ จุดนั้นนั่นเอง และยอมรับว่าปัญหาเกิดจากความบกพร่องของตัวเอง โดยไม่มีใครกล่าวตำหนิหรือกล่าวโทษว่าเป็นความบกพร่องของเพื่อน

              ส่วนบทบาทของครูเพ็ญศรีในกิจกรรมครั้งนี้คือ เป็นผู้ที่ชวนศิษย์ทดลอง/ลงมือทำ ตั้งโจทย์ และคอยส่งเสริม สนับสนุน อำนวยความสะดวกให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมอย่างราบรื่น ซึ่งพบว่า ครูเพ็ญศรีได้ทุ่มเท เสียสละทั้งกำลังกาย เวลา (หลังเลิกเรียน พักกลางวัน ต่อด้วยกลางคืนก็ต้องมาอยู่เป็นเพื่อนเด็กๆ เตรียมนิทรรศการ) และเงิน (เลี้ยงข้าวเด็กๆ หลายมื้อระหว่างการทำกิจกรรม) เพื่อสนับสนุนการทำงานของเด็กๆ ครูเพ็ญศรีมีความอดทน ใจเย็น ลดบทบาทและอัตตาของตัวเอง ทำตัวเสมือนเป็นเพื่อนคนหนึ่งของเด็กๆ ไม่ชี้นำ ทำหน้าที่เพียงชี้แนะ และหนักไปทางตั้งคำถามให้เด็กคิด กระตุ้นให้เด็กช่วยกันหาคำตอบไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพบคำตอบที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการแก้ไขปัญหาในการทำงานด้วยตัวของเขาเอง

ครูเปลี่ยนวิธีคิดและรูปแบบการเรียนการสอน

                 ครูเพ็ญศรีพูดคุยกับนักวิชาการจากมูลนิธิสดศรี – สฤษดิ์วงศ์ ที่ลงในพื้นที่ในครั้งนี้ว่า ตัวเองได้เริ่มเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและรูปแบบการเรียนการสอนของตัวเอง นับตั้งแต่เข้าร่วมโครงการ LLEN ซึ่งเป็นชุดโครงการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดทำขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนในพื้นที่ด้วยการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ๆ จากนั้นมาต่อยอดด้วยการเข้าร่วมโครงการชุมชนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์และครูสอนดีของมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) ที่มีเป้าหมายในการสร้างชุมชนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูสู่การจัดการเรียนการสอนแบบ PBL เพื่อพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็ก ซึ่งทำให้ครูเพ็ญศรีได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งได้รับแรงบันดาลใจจาก “เรื่องเล่าความสำเร็จ” ที่เป็นประสบการณ์จริงในการจัดกระบวนการเรียนรู้ของเพื่อนครูจากหลากหลายพื้นที่ และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาทดลองลงมือปฏิบัติจริงในชั้นเรียนของตนเอง เช่น เปลี่ยนวิธีการสอนจากการบอกความรู้มาเป็นวิธีการตั้งคำถามให้เด็กค้นคว้าและเรียนรู้ด้วยตนเองหรือเรียนรู้เป็นทีม ภายหลังการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนครูเพ็ญศรีบอกว่า แอบได้ยินเด็กๆ คุยกันว่า เมื่อถึงชั่วโมงของครูเพ็ญศรีจะตื่นเต้น เพราะครูมีวิธีการสอนแปลกๆ ใหม่ๆ ทำให้ไม่น่าเบื่อ

               ส่วนการจัดการเรียนการสอนแบบ PBL นั้น ครูเพ็ญศรีบอกว่า ตอนแรกนำ PBL มาใช้กับนักเรียนเพื่อมุ่งพัฒนาผลสัมฤทธิ์ของเด็กเป็นสำคัญ แต่เมื่อได้ลงมือปฏิบัติจริงทำให้พบว่า การเรียนรู้แบบ PBL สามารถพัฒนาเด็กได้มากกว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เพราะเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งในระหว่างกระบวนการเด็กๆ ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะอย่างรอบด้าน เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ด้วยความพอใจของผู้เรียน โดยมีครูคอยชง คอยเสริมพลังให้

                ราว 3 ปีกว่านับจากวันที่เข้าร่วมโครงการ LLEN ครูเพ็ญศรีเรียนรู้และพัฒนาตัวเองจากการสอนแบบบอกความรู้มาสู่การตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ผ่านการคิดค้นด้วยตัวเอง ชวนเด็กเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง โดยส่งเสริมให้เด็กคิด ตัดสินใจ และลงมือทำด้วยตนเอง เริ่มจากการให้เด็กทำโครงงานที่เป็นการประดิษฐ์ คิดค้น เครื่องมือ เครื่องใช้เพื่อประโยชน์ต่างๆ ไปสู่การสนับสนุนให้เด็กๆ ทำโครงการที่เชื่อมโยงการเรียนรู้ไปสู่วิถีชีวิตของชุมชนที่เป็นถิ่นที่อยู่ ซึ่งเป็นโอกาสที่ทำให้เด็กๆ ได้ฝึกทักษะหลากหลายด้านไปพร้อมกัน รวมทั้งยังได้ทำประโยชน์ต่อสังคมไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ด้วย ซึ่งทำให้ครูเพ็ญศรีพบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ เด็กๆ สามารถพูดหรือแสดงความคิดเห็นได้อย่างมีเหตุผล ตรงประเด็น อยากรู้อยากเห็น คิดเป็น อารมณ์เย็นมากขึ้น รวมทั้งเกิดการยอมรับกันและกันในกลุ่มมากขึ้น

 

เด็กเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้

               จุดเริ่มต้นการรวมตัวกันของนักเรียนกลุ่มฮักนะเชียงยืนเพื่อทำ “โครงการลดมลพิษฟื้นชีวิตดิน” เริ่มมาจากที่ครูเพ็ญศรีได้รับอีเมล์ประชาสัมพันธ์ผ่าน plcthailand@googlegroups.com เชิญชวนกลุ่มเยาวชนให้เสนอโครงการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อขอรับทุนสนับสนุน ภายใต้โครงการจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาเยาวชน ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของเยาวชนผ่านการทำโครงงานสิ่งแวดล้อม โดย มูลนิธิสยามกัมมาจลร่วมกับมูลนิธิกองทุนไทย จึงเกิดความสนใจอยากให้ลูกศิษย์ได้มีโอกาสทดลองทำ เพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่จะทำให้เด็กๆ ได้แสดงพลังของการมีจิตอาสา และเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเด็กๆ ที่จะได้เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้แบบ PBL ผ่านการทำโครงการนี้ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับเด็กๆ ได้มีโอกาสพบปะและทำงานกับผู้คนที่หลากหลายด้วย จึงไปชักชวนลูกศิษย์ให้รวมกลุ่มกันจัดทำโครงการเพื่อเสนอขอรับการสนับสนุน

              การทำกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการลดมลพิษฟื้นชีวิตดินเป็นการทำงานร่วมกันของเด็กๆ ที่เริ่มตั้งแต่การคิดประเด็นที่จะนำเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุน โดยเด็กๆ หยิบยกปัญหาที่เพื่อนร่วมชั้นเรียนคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ที่ “บ้านแบก” มักจะหลับในเวลาเรียนเป็นประจำ ขาดเรียนบ่อย เมื่อสืบความดูจึงรู้ว่าเพื่อนคนนี้ตอนกลางคืนต้องออกไปรับจ้างผสมพันธุ์แตงแคนตาลูป จึงได้ไปพูดคุยซักถามเพื่อนเกี่ยวกับการปลูกแตง ทำให้ได้ข้อมูลว่า ในชุมชนที่เพื่อนอาศัยอยู่ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมปลูกแตงแคนตาลูปและแตงโมในลักษณะที่เป็นการทำเกษตรแบบพันธสัญญา ซึ่งมีการใช้สารเคมีจำนวนมากหลากหลายชนิดตามที่บริษัทกำหนดมาให้ และชาวบ้านส่วนใหญ่รวมทั้งเพื่อนร่วมชั้นเรียนไม่ได้มีการป้องกันตัวเองจากสารเคมีเหล่านั้น เด็กๆ จึงตามเพื่อนลงสำรวจชุมชนและพบบรรจุภัณฑ์สารเคมีชนิดต่างๆ จำนวนมากในพื้นที่ปลูกแตงของเกษตรกร เมื่อสอบถามชาวบ้านก็ได้ข้อมูลที่ตรงกันว่ามีการใช้สารเคมีจำนวนมากในทุกขั้นตอนของการปลูกแตงจริง เด็กๆ จึงได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะใช้ประเด็นนี้ในการทำโครงการเพื่อเสนอขอรับทุน ด้วยเหตุผลว่า ประเด็นนี้เป็นปัญหาของชุมชนโดยส่วนรวมและมีเพื่อนร่วมชั้นเรียนอยู่ในชุมชนซึ่งจะช่วยเรื่องการประสานงานได้

               ทุกขั้นตอนของกระบวนการทำงานภายใต้โครงการนี้เด็กๆ ได้รับโอกาสให้ร่วมกันคิด ค้น และลงมือทำด้วยตนเอง ด้วยการทำงานเป็นทีม นับตั้งแต่คิดประเด็น ส่งหัวข้อเพื่อขอรับการสนับสนุน พัฒนาการเขียนโครงการ ลงสำรวจพื้นที่และเก็บข้อมูลในชุมชน ค้นคว้ารวบรวมข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับดินและและการตรวจสอบดิน จัดกิจกรรมเสวนาเพื่อนบอกเพื่อนเพื่อสร้างกลุ่มเครือข่ายและทำให้กลุ่มเครือข่ายรู้ เข้าใจ ตระหนักถึงผลกระทบจากการใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรม จัดกิจกรรมค่ายรักบ้านเกิด เก็บตัวอย่างดินของเกษตรกรที่ปลูกแตงในชุมชนบ้านแบกเพื่อส่งตรวจความสมบูรณ์ของดิน และจัดกิจกรรมคืนข้อมูลสู่ชุมชนที่คณะของมูลนิธิฯตามไปจับภาพ ซึ่งเป็นกิจกรรมสุดท้ายของโครงการ

              เด็กๆ แบ่งหน้าที่รับผิดชอบโดยแบ่งการทำงานของโครงการออกเป็น 5 ฝ่ายหลัก คือ ฝ่ายวิชาการ ผู้รับผิดชอบหลักคือ แสนและนาง ฝ่ายประสานงานคือ ส้มและแซม ฝ่ายสันทนาการคือ ก๊อตและเนย ฝ่ายเหรัญญิกคือ เอ็ม และฝ่ายสวัสดิการคือ อี๊ฟและแอน ส่วนเพื่อนๆ ที่เหลือช่วยสนับสนุนตามความถนัด ส่วนการแบ่งหน้าที่กันในแต่ละกิจกรรมย่อยของโครงการ เด็กๆ จะแบ่งหน้าที่กันตามความถนัด เช่น ในการลงสำรวจข้อมูลชุมชน เปรี้ยวจะทำหน้าที่เป็นผู้ซักถามพูดคุยกับชาวบ้าน โดยมีส้มทำหน้าที่จดบันทึกและถ่ายภาพ เป็นต้น

               การมีส่วนร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการนี้ เป็นโอกาสที่เด็กๆ ได้เปิดโลกทัศน์ของการเรียนรู้ ก้าวสู่การเรียนรู้นอกห้องเรียน ได้เรียนรู้บนสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในบริบทของชุมชนที่อยู่อาศัย ได้สัมผัสประสบการณ์จริงจากการลงมือทำงาน เด็กๆ ต้องมีการค้นคว้าแสวงหาความรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน ต้องเชื่อมโยงความรู้สู่ชีวิตจริงโดยมีส่วนร่วมในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับชุมชน ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำโครงการโดยผู้สนับสนุนทุน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานกับเพื่อนจากต่างโรงเรียน ต่างพื้นที่ ได้ทำงานประสานความร่วมมือกับหลายฝ่ายทั้งที่เป็นเกษตรกรในชุมชน ผู้นำชุมชน หน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเด็กๆ บอกว่า กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ล้วนต้องดำเนินการด้วยตัวเอง โดยมีครูเป็นผู้คอยให้คำแนะนำปรึกษาอยู่เบื้องหลัง

               การมีส่วนร่วมในการทำโครงการลดมลพิษฟื้นชีวิตดินจึงทำให้นักเรียนกลุ่มนี้สามารถพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่นำไปสู่การมีทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ แสวงหาความรู้ ทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการสื่อสารทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน รวมทั้งได้ทักษะชีวิตเรื่องการมีภาวะผู้นำ ความรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม การทบทวนวิเคราะห์วิจารณ์ตัวเอง ความสามารถในการปรับตัว ความร่วมมือกับผู้อื่น และการแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากการที่พวกเขาได้รับโอกาสให้ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงในการทำกิจกรรมต่างๆ ของโครงการ โดยมีครูเป็นผู้ชักชวน ส่งเสริม สนับสนุน ชี้แนะ และตั้งคำถาม/ให้โจทย์

              เมื่อถามเด็กๆ ถึงความเปลี่ยนแปลงของตัวเองที่เกิดขึ้นหลังจากเข้าร่วมโครงการนี้ เด็กๆ บอกว่า เข้าสังคม-เข้าหาผู้ใหญ่ได้ดีขึ้น มีมนุษยสัมพันธ์ดีขึ้น เข้าใจตัวเองและคนอื่นมากขึ้น สื่อสารได้ดีขึ้น กล้าแสดงออกมากขึ้น คิดรอบด้านมากขึ้น รวมทั้งมีความรับผิดชอบมากขึ้น

แรงบันดาลใจที่จะไปต่อ

                ครูเพ็ญศรี บอกว่า สิ่งที่อยากจะทำต่อไปคือ “การหาแนวร่วม” ขยายจำนวนครูและขยายจำนวนนักเรียนสู่การเรียนรู้แบบ PBL ให้มากขึ้น โดยจะพยายามชวนเพื่อนครูคนอื่นๆ ในโรงเรียนให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและรูปแบบการเรียนการสอน

                แรงบันดาลใจที่ทำให้ครูเพ็ญศรีเดินหน้าต่อไปก็คือ “ลูกศิษย์” ซึ่งครูเพ็ญศรีเชื่อว่า เด็กๆ มีศักยภาพมาก และเขาจะสามารถพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่ถ้าได้รับการส่งเสริมสนับสนุนอย่างถูกทาง

               เมื่อถามถึงสิ่งที่ได้รับจากความพยายามที่จะพัฒนาเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อส่งผ่านไปสู่การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของลูกศิษย์ ครูเพ็ญศรีตอบว่าคือ ความสุข ถ้าอยากเป็นผู้ได้ ต้องเป็นผู้ให้ก่อน


               นักเรียนกลุ่มฮักนะเชียงยืน เมื่อสิ้นสุดโครงการในปีนี้ แม้เด็กๆ จะได้เรียนรู้และค้นพบว่า แท้ที่จริงชาวบ้านรับรู้ถึงผลกระทบจากการใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรมที่มีต่อสุขภาพอยู่แล้ว และเป็นการยากที่จะเปลี่ยนความคิดและวิถีการทำเกษตรกรรมของชาวบ้าน เพราะผลกำไรที่ดีเป็นแรงจูงใจที่ทำให้ชาวบ้านยอมเสี่ยง แต่เด็กๆ ก็ยังมุ่งหวังที่จะเดินหน้าสานต่อโครงการนี้ แม้ทำแล้วจะได้ผลน้อยก็จะค่อยๆ ทำต่อไป ถึงไม่สามารถทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนโดยการลดหรือเลิกใช้สารเคมีได้ก็หวังอยากจะให้ชาวบ้านตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตัวเองจากการใช้สารเคมีให้มากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

               เด็กๆ ตั้งใจว่าจะนำสิ่งที่ค้นพบจากการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนในปีนี้ ซึ่งพบว่า ชาวบ้านห่วงเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของดินมากกว่าห่วงเรื่องสุขภาพของตนเอง (กลัวว่าถ้าดินไม่ดีจะได้ผลผลิตน้อย) รวมถึงสิ่งที่ได้จากเวทีเสวนาที่พยาบาลจาก รพสต.นาทอง บอกว่า สมุนไพรรางจืดสามารถใช้ป้องกันสารพิษตกค้างในร่างกายของเกษตรกรได้ เป็นจุดตั้งต้น/แนวทางเพื่อนำมาคิดต่อยอดสานต่อการทำโครงการลดมลพิษคืนชีวิตสู่พื้นดินที่บ้านแบกต่อไป โดย แสน แซม เอ็ม ก๊อต ส้ม นาง และเปรี้ยว จะเปลี่ยนบทบาทมาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา/พี่เลี้ยง แล้วส่งต่อโครงการให้กับรุ่นน้องคือ เจมส์ มินท์ และแอน รับช่วงเป็นแกนนำหลักต่อไป