จับภาพ “วิธีจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัย” โรงเรียนบ้านนาแก้ว อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล


จับภาพ “วิธีจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัย”

โรงเรียนบ้านนาแก้ว อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล


               ระหว่างวันที่ 13-15 สิงหาคม 2556 เป็นช่วงเวลาที่คณะทำงานจากมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) ได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมและจับภาพกระบวนการเรียนรู้ของครูและนักเรียนที่โรงเรียนบ้านนาแก้ว อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล โดยสิ่งที่ดึงดูดความสนใจให้เราเดินทางไกลจากกรุงเทพมหานครสู่ดินแดนเกือบสุดปลายด้ามขวานครั้งนี้ เพราะมีเรื่องเล่าขานถึงรูปแบบการเรียนรู้ของโรงเรียนแห่งนี้ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนรู้ของทั้งครูและเด็กไปพร้อมๆ กัน ด้วยเครื่องมือการเรียนรู้ที่เรียกว่า “กระบวนการวิจัย 10 ขั้นตอน”

                  การลงพื้นที่เพื่อจับภาพการจัดการเรียนรู้ของโรงบ้านนาแก้วครั้งนี้ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับทั้งผู้อำนวยการโรงเรียน ครู คณะกรรมการสถานศึกษา และนักเรียนหลายชีวิต และนอกจากจะได้สัมผัสบรรยากาศการเรียนรู้ภายในโรงเรียนแล้ว เรายังได้มีโอกาสเดินทางเข้าไปซักถามพูดคุยกับผู้ปกครองของนักเรียนในชุมชนบริเวณรอบรั้วโรงเรียนหลายหลังคาเรือน ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รับความเอื้อเฟื้อทั้งข้อมูลและการอำนวยความสะดวกในการนำเข้าชุมชนจาก คุณสมพงษ์ หลีเคราะห์ และคุณพิเชษฐ์ เบญจมาศ จากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล โดยทั้งสองท่านนี้เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนและเป็นพี่เลี้ยงที่ช่วยสนับสนุนเติมเต็มกระบวนการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัยให้กับโรงเรียนบ้านนาแก้ว รวมถึงโรงเรียนอื่นๆ ในเครือข่ายอีกกว่า 10 แห่งภายในจังหวัดสตูล

ข้อมูลทั่วไป

               โรงเรียนบ้านนาแก้ว ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 ตำบลท่าแพ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปัจจุบันมีนักเรียนจำนวน 113 คน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านนาแก้วและชุมชนใกล้เคียง มีครู 12 คน และมีอาจารย์ยงยุทธ ยืนยง เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน

                   โรงเรียนบ้านนาแก้ว เป็น 1 ใน 11 โรงเรียนที่เข้าร่วม “โครงการส่งเสริมและพัฒนาการวิจัยประเด็นการศึกษาจังหวัดสตูล” ที่ดำเนินงานโดยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูลภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โครงการนี้มีเป้าหมายที่จะนำกระบวนการวิจัยด้วยเครื่องมือวิจัยท้องถิ่นมาใช้ในการแก้ปัญหาการศึกษาในพื้นที่ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับบริบทและวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน โดยประสานชุมชนและโรงเรียนเข้าด้วยกัน และเปลี่ยนครูให้กลายเป็นนักจัดกระบวนการเรียนรู้ที่อยู่บนฐานของการลงมือปฏิบัติจริง

กระบวนการวิจัยกับการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียน

                 การนำกระบวนการวิจัยด้วยเครื่องมือวิจัยท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียน ถือเป็นพัฒนาการที่ต่อยอดขยายผลมาจากการทำวิจัยท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดสตูล ที่สังเกตพบว่า ชาวบ้านที่มีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัยด้วยเครื่องมือวิจัยท้องถิ่นมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทั้งทักษะการฟัง พูด ถาม เขียน และคิด จึงเกิดการตั้งคำถามขึ้นว่า “ถ้าเด็กนักเรียนใช้เครื่องมือวิจัยท้องถิ่นในการเรียนรู้จะเป็นอย่างไร” [1] อันเป็นที่มาของการริเริ่มพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัย โดยมีกลุ่มแกนนำประกอบด้วย คุณสมพงษ์ หลีเคราะห์, อาจารย์สุทธิ สายสุนีย์, อาจารย์หุดดีน อุสมา และอาจารย์ยงยุทธ ยืนยง เป็นผู้ร่วมออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และทดลองนำสู่การปฏิบัติจริงครั้งแรกในปี พ.ศ.2549 ที่โรงเรียนบ้านตะโละใส ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล

                     การจัดการเรียนรู้ที่ร่วมกันออกแบบขึ้นมาใหม่และทดลองใช้ที่โรงเรียนบ้านตะโละใสนี้ ส่วนหนึ่งมาจากฐานคิดของกลุ่มแกนนำที่ต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสอนในระบบโรงเรียน จากเดิมที่ ครูนำความรู้ที่มีอยู่จากตัวครูเอง จากบุคคลอื่นๆ จากหนังสือ หรือจากสื่อต่างๆ มาบอก มาเล่า มาสอนให้เด็กได้รับรู้ ไปสู่การเรียนรู้ที่ ครูทำหน้าที่จัดกระบวนการให้เด็กได้ไปค้นหาความรู้จากบุคคล สถานที่ หนังสือ หรือสื่อต่างๆ แล้วจัดการกับความรู้เหล่านั้นด้วยตนเอง ดังนั้น เงื่อนไขสำคัญของการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบนี้คือ “ครูห้ามสอน” แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ให้เด็กหาความรู้เอง เน้นให้นักเรียนเป็นผู้ปฏิบัติการ ครูมีหน้าที่เป็นนักจัดกระบวนการเรียนรู้ เป็นที่ปรึกษาการเรียนรู้ให้กับเด็ก และเป็นผู้ประสานความร่วมมือไปสู่ชุมชน

                    ผลจากการทดลองจัดการเรียนรู้ที่โรงเรียนบ้านตะโละใสเมื่อนำมาถอดบทเรียน ทำให้ได้รูปแบบของกระบวนการเรียนรู้ระหว่างครู นักเรียน และชุมชน ซึ่งต่อมาได้มีการขยายผลและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องผ่านการเรียนรู้โดยนำสู่การปฏิบัติจริงในโรงเรียนอีกหลายแห่งในจังหวัดสตูล เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอนุบาลนูรูลอิสลาม โรงเรียนสันติสุขมุสลิมวิทยา โรงเรียนสตูลวิทยา โรงเรียนจริยธรรมอิสลามมูลนิธิ เป็นต้น จนได้เป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ต่อมาเรียกกันว่า “กระบวนการวิจัย 10 ขั้นตอน”ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ส่วนคือ การจัดกระบวนการของครูและขั้นตอนการเรียนรู้ของเด็ก ดังต่อไปนี้

กระบวนการวิจัยในโรงเรียนบ้านนาแก้ว

               โรงเรียนบ้านนาแก้ว เริ่มนำกระบวนการวิจัยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนรู้ราวปลายปี พ.ศ. 2553 เมื่อ ผอ.ยงยุทธ ย้ายเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน

                 ก่อนเข้ามารับตำแหน่ง ผอ.ยงยุทธ ได้ทราบสถานการณ์ปัญหาของโรงเรียนบ้านนาแก้วขณะนั้นคือ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กต่ำ ชาวบ้านหันหลังให้กับโรงเรียน ผู้ปกครองที่พอมีฐานะก็ย้ายลูกไปเรียนโรงเรียนอื่นนอกชุมชน ทำให้จำนวนเด็กนักเรียนลดน้อยลงทุกปี ซึ่งปีแรกที่ ผอ.ยงยุทธ เข้ามารับตำแหน่งมีนักเรียนเพียง 84 คน

                   จากประสบการณ์ที่ได้มีส่วนร่วมเป็นหนึ่งในทีมแกนนำจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัยที่โรงเรียนบ้านตะโละใส ซึ่งบทเรียนครั้งนั้นทำให้ค้นพบว่า การเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัยส่งผลให้เกิดการบูรณาการการเรียนรู้ที่กว้างขวางแก่นักเรียน อีกทั้งยังก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างครู นักเรียน และชุมชนอย่างแนบแน่น ประสบการณ์จากบ้านตะโละใสจึงเป็นเสมือนต้นทุนและพันธสัญญาที่ทำให้ ผอ.ยงยุทธ นำวิธีการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบนี้มาใช้เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนที่โรงเรียนบ้านนาแก้ว ด้วยเจตนาอันแน่วแน่นับตั้งแต่ก้าวแรกที่ย่างเข้าสู่รั้วโรงเรียน

  ปักธง-ประกาศนโยบาย

                   เมื่อแรกเข้ามารับตำแหน่ง ผอ.ยงยุทธ ได้ประกาศนโยบายต่อครู ผู้ปกครองนักเรียน รวมไปถึงชาวบ้านในชุมชนแวดล้อมโรงเรียนถึงเจตนาอันแน่วแน่ที่จะนำวิธีการเรียนการสอนด้วยกระบวนการวิจัยมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียน โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียนให้ดีขึ้น

 

  วางเป้าหมาย

               ผอ.ยงยุทธ ตั้งใจไว้ว่าอยากจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับครูซักครึ่งหนึ่งในโรงเรียนก็พอ โดยวางขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงไว้ 4 ระดับคือ

                  ปีแรก เป็นปีแห่งการ “ชี้เป้า” เพื่อทำความเข้าใจและให้เห็นบทบาทที่แท้จริงในการจัดการศึกษาของครู เพราะที่ผ่านมาเชื่อว่าครูสอนโดยไม่รู้เป้า ไม่เข้าใจหลักสูตร ช่วงแรกนี้จึงเป็นเวลาของการทบทวนตัวเองว่าครูมีบทบาทหน้าที่อะไร วิธีการที่ผ่านมาทำอะไร ได้ผลเป็นอย่างไร วิธีการที่นำเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่คืออะไร แตกต่างอย่างไร และจะนำไปสู่ผลลัพธ์อะไร ให้ครูเริ่มทดลองจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการใหม่ในแบบ “ทำไป เรียนรู้ไป” โดยมี ผอ.เป็นผู้ให้แนวทางและคำแนะนำปรึกษา ร่วมกับทีมพี่เลี้ยงจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล

                  ปีที่สอง ต้องการเห็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนด้วยกระบวนการวิจัย 10 ขั้นตอน เกิดขึ้นในโรงเรียนทุกระดับชั้น

                  ปีที่สาม อยากเห็นครูแต่ละคนสามารถแตกยอดออกไป โดยสามารถออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการวิจัยได้อย่างหลากหลายเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้และดึงศักยภาพในตัวเด็กออกมาให้ได้มากที่สุด

                   ปีที่สี่ อยากเห็นความสมบูรณ์ของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้วยการบวนการวิจัยเกิดขึ้นในโรงเรียนทั้งด้านเทคนิค วิธีการ เครื่องมือ และแหล่งเรียนรู้ รวมทั้งครูสามารถประยุกต์ใช้กระบวนการวิจัยไปสู่การเรียนการสอนรายวิชาปกติตามหลักสูตรได้

  ท้าทายและพัฒนาครู

                   เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจกับครูเรื่อง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ หลักสูตรการเรียนการสอน รวมไปถึงมาตรฐานการศึกษา แล้ว “ชี้เป้า” เพื่อให้ครูทุกคนเห็นภาพที่ต้องการตรงกัน ให้รู้ว่าจะพาเด็กไปสู่เป้าหมายอะไร เพราะเชื่อว่าถ้าเป้าชัดวิธีการจะออกมาเอง เช่น ถ้าตั้งเป้าว่า “เด็กคิดเป็น” วิธีการจัดการเรียนรู้ควรเป็นอย่างไร บทบาทความเป็นครูที่แท้จริงคืออะไร

                   โดย ผอ.ยงยุทธ กล่าวท้าทายครูทุกคนว่า “วิธีการที่ทำมาแล้วไม่ได้ผล” และตัวเองเชื่อว่าวิธีการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัยจะสามารถพัฒนาคุณภาพผู้เรียนไปสู่เป้าที่ต้องการได้ ซึ่งสิ่งที่ให้ครูทดลองทำนั้นง่ายกว่าวิธีที่สอนตามปกติด้วยซ้ำ เพราะการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่นี้ ครูเป็นเพียงผู้จัดกระบวนการ ยั่วยุ กระตุ้นให้เด็กไปแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ได้ปิดกั้นความคิดของครู เพราะถ้าหากครูเชื่อในวิธีการอื่นก็สามารถทำตามวิธีนั้นได้ ซึ่งสุดท้ายต้องนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

                     ทั้งนี้ ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงบทบาทครูเพื่อนำไปสู่การจัดการเรียนการสอนด้วยกระบวนการวิจัยพร้อมกันทั้งโรงเรียนนี้ ผอ.ยงยุทธ ใช้วิธีเป็นทั้ง “คุณอำนาจ” และ “คุณอำนวย” กล่าวคือ ระยะแรกใช้ไม้แข็ง บังคับให้ครูทุกคนต้องจัดการเรียนการสอนด้วยกระบวนการวิจัย โดยปีแรกใช้วิธีเผด็จการมากเพื่อ “ปักธงอย่างแน่นหนา ยืนยันอย่างหนักแน่นว่าจะใช้วิธีการนี้” เพราะต้องการรื้อความคิดเก่าๆ ขับเคลื่อนไปสู่ความคิดใหม่ ไม่เช่นนั้นจะไปต่อไม่ได้ ต่อมาในระยะหลังๆ เมื่อครูเริ่มเห็นทิศทางที่จะเดินไปด้วยกันแล้วก็เปลี่ยนมาใช้ไม้อ่อน ประนีประนอม ชวนพูดคุย คอยชี้เป้า บอกแนวทาง กระตุ้น เป็นพี่เลี้ยง และให้กำลังใจกับครู

  เรียนรู้แบบมีพี่เลี้ยง

                    การเริ่มต้นจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัยของครูในโรงเรียนบ้านนาแก้วไม่ได้ทำโดยลำพังภายในโรงเรียน แต่มีทีมพี่เลี้ยงจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนในการพัฒนาศักยภาพครูตลอดทั้งกระบวนการ โดยแบ่งการสนับสนุนเป็น 3 ระยะคือ

                   ช่วงเติมเต็มความรู้เกี่ยวกับกระบวนการวิจัย โดยการจัดอบรมกระบวนการวิจัย 10 ขั้นตอน การพัฒนาโจทย์วิจัย การค้นคว้าเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพาไปศึกษาดูงานจากโรงเรียนที่มีการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบนี้มาก่อนแล้ว เช่น โรงเรียนอนุบาลสตูล ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลท่าแพ เป็นต้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ครูสามารถนำไปต่อยอดในการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กได้

                   ช่วงทดลองจัดการเรียนรู้ ในระหว่างการทดลองจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัย ทีมพี่เลี้ยงจะเข้าไปให้คำแนะนำปรึกษากับครู ร่วมวางแผนจัดกิจกรรม พาครูทดลองทำ โดยเข้าร่วมสังเกตการจัดกระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียน รวมทั้งทบทวนและสรุปผลการจัดการเรียนรู้ร่วมกับครูและผู้บริหารโรงเรียนเป็นระยะๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น

                        นอกจากนี้ ทีมพี่เลี้ยงยังมีการติดตามเสริมหนุน แนะนำ ให้กำลังใจกับครูเป็นระยะๆ ตลอดทั้งปีการศึกษา เมื่อพบปัญหาก็ร่วมกันแก้ไข โดยระหว่างทางหากพบว่าครูติดขัด หรือยังขาดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องใดก็จะมีการเปิดคลินิกให้คำแนะนำปรึกษา และจัดอบรมเสริมให้ตามความต้องการ เช่น อบรมพลังกลุ่ม การทำงานเป็นทีม การเก็บข้อมูล การเขียนรายงาน เป็นต้น

                      ช่วงสรุปสังเคราะห์ผลการจัดการเรียนรู้ เป็นการถอดบทเรียนจากการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัยตลอดทั้งปีการศึกษาที่ผ่านมา โดยผู้บริหารโรงเรียน ครู และผู้ปกครอง ร่วมสรุปผลที่เกิดขึ้นกับเด็กจากกิจกรรมการเรียนรู้ในขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการวิจัย โดยอิงกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ หลักสูตรแกนกลาง รวมทั้งตัวชี้วัดของกระทรวงศึกษาธิการ เช่น สมรรถนะ 5 ประการ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการ เป็นต้น

  สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้

  ประชุมครูทุกสัปดาห์ = PLC ในโรงเรียน 

                จัดให้มีการประชุมครูทุกสัปดาห์ในวันศุกร์ เวลาที่ประชุมทุกคนเท่าเทียมกัน ทุกคนพูดถึงเรื่องการทำงานของตัวเอง เล่าว่าทำอะไร ความก้าวหน้าการทำวิจัยของเด็กเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไร ขณะที่ครูเล่า ผอ.ยงยุทธ ทำหน้าที่ซักถามเพื่อให้เพื่อนครูคนอื่นๆ ได้เรียนรู้ แรกๆ ครูต่างสงวนท่าทีในการแลกเปลี่ยนเพราะกลัวผิด ผอ.ต้องบอกว่า “ทำแล้วไม่มีผิด” ช่วงหลังๆ ครูจึงกล้าแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น

                  นอกจากนี้ ผอ.ยงยุทธ ยังใช้วงประชุมนี้สอดแทรก เติมเต็มความรู้ เทคนิค วิธีการจัดกิจกรรมให้กับครูเพื่อนำไปปรับใช้ในห้องเรียน

                   และด้วยเหตุที่ครูแต่ละคน “ทำไป เรียนรู้ไป” ระหว่างทางเมื่อเกิดปัญหาติดขัดก็จะใช้วิธีการสอบถามแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเพื่อนครู และจาก ผอ.ที่พร้อมให้คำแนะนำปรึกษาตลอดเวลา เพื่อเป็นการตรวจสอบว่าตัวเองเดินมาถูกทางหรือไม่ อย่างไร

  ประชุมผู้บริหารโรงเรียนเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการ = PLC ข้ามโรงเรียน 

                 ในรอบ 1 เดือนมีการจัดประชุมผู้บริหารโรงเรียนในเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 11 โรงเรียน เพื่อร่วมทบทวนและสรุปผลการทำงาน โดยผู้บริหารแต่ละโรงเรียนมาเล่าเรื่องการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัยของโรงเรียนตนเองและสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นแลกเปลี่ยนกัน แล้วหาวิธีปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้

  ดึงผู้ปกครอง-ชุมชนมีส่วนร่วม

                  การจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านนาแก้วดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบของ “คณะกรรมการสถานศึกษา” ที่ประกอบด้วย ผู้นำชุมชน และตัวแทนผู้ปกครองนักเรียน โดยมีการจัดประชุมผู้ปกครองภาคการศึกษาละ 1 ครั้ง เพื่อร่วมพูดคุยปรึกษาหารือ วางทิศทางที่อยากเห็นลูกหลานเป็น อยากให้ลูกหลานไป โดยเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการเลือก/ตัดสินใจในการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนร่วมกับ ผอ.และคณะครู

                   ในระหว่างภาคการศึกษาหากมีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนของโรงเรียนแทรกเข้ามา ผอ.จะเรียกคณะกรรมการสถานศึกษาและตัวแทนผู้ปกครองมาร่วมประชุมกลุ่มย่อยทันที เพื่อรับฟังความคิดเห็นซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี นอกจากนี้ การจัดกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนจะมีการตีฆ้องร้องป่าวบอกชาวบ้านในชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งทำให้ต่อมาโรงเรียนได้กลายเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่เวลามีเทศกาลสำคัญก็จะมาจัดกันที่โรงเรียน โดย ผอ. และคณะครูมีส่วนร่วมด้วย

                 ในส่วนของการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัยได้มีการจัดให้คณะกรรมการสถานศึกษาและตัวแทนผู้ปกครองนักเรียนบางส่วนเข้าร่วมอบรมกระบวนการวิจัย 10 ขั้นตอนกับทีมพี่เลี้ยงจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล รวมทั้งพาไปศึกษาดูงานการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัยของโรงเรียนอื่นๆ เช่น โรงเรียนอนุบาลสตูล ในหลายครั้ง หลายโอกาส เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ปกครอง รวมทั้งเป็นกุศโลบายในการแก้ปัญหากรณีที่มีครูต่อต้าน ก็จะใช้พลังแนวร่วมจากผู้ปกครองในการเปลี่ยนแปลงครู ผลพวงที่ได้อีกด้านหนึ่งคือ เดิมในการจัดประชุมผู้ปกครองจะไม่ค่อยมีใครกล้าพูด กล้าถาม จะรับฟังอย่างเดียว แต่พอผ่านการอบรมการวิจัยมาแล้วทำให้หลายคนกล้าพูด กล้าถาม และกล้าแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมมากขึ้น และรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน

                    การมีส่วนร่วมที่สำคัญอีกด้านหนึ่งของชุมชนคือ เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งครูภูมิปัญญาหลักของนักเรียนในการศึกษาค้นคว้าข้อมูลเพื่อการทำวิจัย หากชุมชนไม่ให้ความร่วมมือเด็กๆ ก็จะไม่สามารถเรียนรู้ด้วยวิธีการนี้ได้

ตัวอย่างการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัยของโรงเรียนบ้านนาแก้ว

                 การจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัยของโรงเรียนบ้านนาแก้ว เป็นกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะของผู้เรียน โดยจัดโครงสร้างเวลาเรียนให้มีชั่วโมงเรียน 4 คาบต่อสัปดาห์ ทุกห้องเรียนพร้อมกันในช่วงบ่ายของวันอังคารและวันพุธ ครั้งละ 2 คาบ เป็นการเรียนรู้แบบกลุ่มโดยนักเรียน 1 ห้อง เลือกทำโครงงานวิจัย 1 เรื่อง ในระยะเวลา 2 ภาคการศึกษา เด็กชั้นอนุบาลเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัย 7 ขั้นตอน ส่วนเด็กชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัย 10 ขั้นตอน

                 เงื่อนไขสำคัญของการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบนี้คือ “ครูห้ามสอน” แต่มีบทบาทหน้าที่เป็นผู้จัดกระบวนการ กระตุ้น ให้คำแนะนำปรึกษา เพื่อให้เด็กได้แสวงหาความรู้ด้วยตัวเองผ่านการลงมือปฏิบัติจริงภายใต้วิถีชีวิตของชุมชน รวมถึงอีกบทบาทที่สำคัญคือ ครูมีหน้าที่สังเกตและบันทึกการเรียนรู้ของเด็กหลังเสร็จกิจกรรมตลอดทุกขั้นตอนในกระบวนการวิจัย โดยเขียนเล่าเป็นความเรียงว่า จัดกิจกรรมอย่างไร เด็กแต่ละคนเรียนรู้และมีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร รวมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กได้สะท้อนความรู้สึกทุกครั้งหลังกิจกรรมว่า รู้สึกอย่างไรกับกิจกรรมที่ทำ ได้เรียนรู้อะไร ประทับใจอะไร

                   การเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัย มีองค์ประกอบหลัก 10 ขั้นตอน ในแต่ละขั้นตอนประกอบด้วยกระบวนการย่อยที่มีจุดมุ่งหมายในการฝึกทักษะพื้นฐานด้านต่างๆ ให้กับเด็ก โดยครูจะต้องเป็นผู้วางแผนและออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ในแต่ละกระบวนการย่อยให้มีความเหมาะสมกับบริบทในชั้นเรียน เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่ความลึกของกิจกรรมการเรียนรู้ก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละระดับชั้นอย่างพอประมาณกับเด็ก ดังนั้น การเรียนรู้ด้วยรูปแบบนี้ครูจึงต้องวางแผนและออกแบบกิจกรรมด้วยเทคนิคและวิธีการที่หลากหลาย เช่น การเล่นเกมต่างๆ การร้องเพลง การแสดงละคร การใช้ mind map กระบวนการกลุ่ม/การทำงานเป็นทีม การค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง และที่สำคัญที่สุดคือการตั้งคำถามที่กระตุ้นให้เด็กคิดและคิดต่อยอดไปได้เรื่อยๆ

               ขั้นตอนที่ 1 เรียนรู้เรื่องใกล้ตัว มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กรู้จักรูปแบบการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัย และให้เด็กได้มีโอกาสสนทนาพูดคุยกับครูมากขึ้น ประกอบด้วยกระบวนการย่อยอีก 6 ขั้นตอน ได้แก่ จุดประกายการเรียนรู้ รู้จักตนเอง กระบวนการกลุ่ม สร้างข้อตกลงในห้อง พัฒนากระบวนการคิด และเรื่องที่ตนเองสนใจ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแฝงเป้าหมายที่มุ่งฝึกฝนทักษะให้กับเด็กทั้งด้านกระบวนการคิด การพูด การเล่าเรื่อง การฟัง การตั้งคำถาม การสังเกต การสืบค้นข้อมูล การรวบรวมข้อมูลจากสิ่งที่ได้เห็น/ได้ฟัง การเชื่อมโยงความรู้ในแบบแผนผังความคิด (mind map) และการทำงานเป็นทีม โดยที่ทุกกิจกรรมในขั้นตอนที่ 1 นี้เป็นเสมือนการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กเพื่อที่จะเชื่อมโยง ส่งต่อไปสู่การทำงานในขั้นตอนต่อๆ ไป

                 ตัวอย่างของบางกิจกรรมในขั้นตอนนี้ เช่น กิจกรรม “รู้จักตนเอง” เริ่มต้นเด็กๆ ทุกคนในห้องจะได้พูดเรื่องราวของตัวเองซึ่งเป็นเรื่องที่เขารู้ดีที่สุด ในขณะเดียวกันก็ได้รับฟังเรื่องราวของคนอื่น จากนั้นเด็กๆ ก็จะนำเรื่องราวของตัวเองมาทำผังความคิด โดยเด็กๆ จะต้องกลับไปสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับเครือญาติของตัวเองแล้วนำมาแยกแยะ จัดกลุ่มในรูปแบบของ “ผังเครือญาติ” ภายใต้กิจกรรมนี้ได้เชื่อมโยงการเรียนรู้ของเด็กไปสู่ครอบครัวและชุมชน เพราะเด็กๆ ต่างก็พากันไปสืบค้นเรื่องราวของเครือญาติจากผู้ปกครอง ส่วนผู้ปกครองก็ได้พาเด็กๆ ไปรู้จักกับเครือญาติทั้งหมดของตัวเอง ทำให้เด็กๆ ได้ประวัติของตระกูลมาเขียนเป็นผังเครือญาติ

                  ทั้งนี้ การเรียนรู้เรื่องใกล้ตัวของเด็กจะเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของแต่ละชั้นเรียน โดยจะเริ่มจากระดับที่ใกล้ตัวที่สุดขยายออกไปสู่ระดับที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ ตามความสามารถในแต่ละช่วงวัยของเด็ก เช่น เด็กเล็กก็เรียนรู้เรื่องของตัวเอง ครอบครัว เครือญาติ เด็กโตก็ขยายไปสู่การเรียนรู้เรื่องชุมชนของเรา อำเภอของเรา จังหวัดของเรา เป็นต้น

                  พอเข้าสู่ ขั้นตอนที่ 2การวิเคราะห์ จำแนก และเลือกเรื่อง มีเป้าหมายมุ่งฝึกทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ การจดบันทึก การนำเสนอ การรับฟังและทำงานร่วมกับผู้อื่น/การทำงานเป็นทีม โดยเด็กๆ จะนำข้อมูลที่ได้จากกิจกรรมสุดท้ายในขั้นตอนที่ 1 คือ “เรื่องที่ตนเองสนใจ” มาใช้ในการทำงานต่อ โดยเรื่องที่นักเรียนสนใจต้องเป็นเรื่องราวที่สังเกตพบเห็นในชุมชน เด็กๆ ทุกคนจะต้องไปสำรวจและรวบรวมเรื่องราวในชุมชนของตัวเองแล้วช่วยกันนำเสนอเรื่องราวที่พบเห็นและสนใจ จากนั้นนำข้อมูลทั้งหมดมาจัดหมวดหมู่ เช่น สิ่งที่สนใจเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาชีพ ประเพณี อาหาร เป็นต้น แล้วให้แต่ละคนเลือกจากเรื่องต่างๆ เหล่านั้นคนละ 1 เรื่อง พร้อมเหตุผลในการเลือก นำเสนอด้วยรูปแบบของแผ่นพับ/flip chart เผยแพร่แจกจ่ายให้เพื่อนร่วมชั้น shopping idea มีการกำหนดเกณฑ์ในการเลือกเรื่องโดยทุกคนในชั้นมีส่วนร่วมในการตั้งเกณฑ์เพื่อคัดเลือกเรื่อง แล้วช่วยกันเลือกเกณฑ์ นำเกณฑ์ที่เป็นข้อตกลงร่วมกันไปใช้ในการเลือก 1 เรื่องสำหรับการทำวิจัยของห้องที่ทุกคนยอมรับ

              ขั้นตอนที่ 3 ย้อนรอยกระบวนการ มีเป้าหมายมุ่งฝึกทักษะด้านการเล่าเรื่อง การแสดงความคิดเห็น การคิดทบทวน/ไตร่ตรอง การตัดสินใจ โดยให้นักเรียนทบทวนที่มาของการได้เรื่องที่จะทำวิจัยของห้อง เล่ากระบวนการที่ได้มาว่าเป็นอย่างไร ทุกคนยืนยันที่จะทำเรื่องนี้หรือไม่ สามารถเปลี่ยนแปลงได้แต่ต้องมีเหตุผล

              ขั้นตอนที่ 4 พัฒนาโจทย์วิจัย มีเป้าหมายมุ่งฝึกทักษะด้านการคิด การเรียบเรียงความคิด การเขียน โดยนักเรียนช่วยกันหาคำสำคัญของเรื่องที่จะทำ นำคำสำคัญเหล่านั้นมาตั้งเป็นวัตถุประสงค์ของโครงงาน กำหนดโจทย์วิจัย และตั้งชื่อโครงงาน ในขั้นตอนนี้เป็นการระดมความคิดเห็นร่วมกันของนักเรียน โดยครูทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง คอยแนะนำ ตะล่อมให้มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะนำโครงงานสู่การปฏิบัติจริงได้

               ขั้นตอนที่ 5 ตั้งคำถามย่อย ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือมุ่งฝึกทักษะด้านการคิดและการตั้งคำถาม โดยครูให้เด็กช่วยกันตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่เลือกทำให้ได้มากที่สุด จากนั้นนำทุกคำถามมาเรียง คัดเลือก แยกแยะ จัดหมวดหมู่ เพื่อให้ได้คำถามที่ครอบคลุมเนื้อหา สำหรับในชั้นเด็กเล็กที่เด็กอาจจะยังตั้งคำถามไม่เป็น ครูต้องคอยเสริม ช่วยฝึก เช่น ถ้าเด็กเลือกทำวิจัยเรื่องนก ครูต้องช่วยถามเสริม เช่น เด็กๆ อยากรู้อะไรเกี่ยวกับนกบ้าง แล้วใช้วิธีกระตุ้นให้เด็กพูดอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับนกออกมา เช่น สีของนก ขาของนก อาหารของนก เป็นต้น

  

              ขั้นตอนที่ 6 ค้นหาวิธีการเก็บข้อมูล มีเป้าหมายสำคัญคือมุ่งฝึกทักษะด้านการคิดและการวางแผน โดยในขั้นตอนนี้เด็กๆ ต้องร่วมกันค้นหาครูภูมิปัญญาและแหล่งข้อมูลในชุมชน ทำเครื่องมือบันทึกข้อมูล ทำแผนกิจกรรมว่าจะไปเก็บข้อมูลจากใคร ที่ไหน อย่างไร

               ก่อนปิดภาคการศึกษาที่ 1 ทุกชั้นเรียนจะต้องเสร็จสิ้นการเรียนรู้ในขั้นตอนที่ 6 เพื่อให้ได้โครงงานวิจัย และมีเวทีนำเสนอโครงงานของเด็กทุกห้องเรียนเพื่อเป็นการฝึกฝนทักษะในการนำเสนอต่อสาธารณะ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้ปกครอง (ตัวแทนชุมชน) และทีมพี่เลี้ยงจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล ร่วมรับฟัง ซักถาม ให้ความคิดเห็น และคำแนะนำเพื่อเติมเต็มให้โครงงานวิจัยของเด็กมีความสมบูรณ์และเป็นไปได้มากที่สุด

                 พอย่างเข้าสู่ภาคการศึกษาที่ 2 เด็กๆ จะกลับมาทำงานต่อในขั้นตอนที่ 7 เก็บข้อมูล ซึ่งเป้าหมายสำคัญคือมุ่งฝึกทักษะด้านการสื่อสารทั้งการพูด การเขียน การตัดสินใจ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ในขั้นตอนนี้เด็กๆ จะต้องร่วมกันวางแผนออกเก็บข้อมูลในชุมชน โดยมีการสร้างข้อตกลงในการออกหาข้อมูล เตรียมเครื่องมือในการเก็บข้อมูลเพื่อให้ได้คำตอบจากทุกคำถามที่ตั้งไว้ และเก็บข้อมูลได้อย่างสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัย มีการประสานงานทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน โดยมีครูคอยช่วยเหลือสนับสนุน

                ในการลงพื้นที่เด็กๆ ทุกคนได้มีโอกาสแสดงภาวะผู้นำในเรื่องหรือสถานการณ์ที่ตนรู้และคุ้นเคย เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วมีการจัดเวทีย่อยในชั้นเรียนเพื่อเล่าประสบการณ์การเรียนรู้ที่ได้จากการลงเก็บข้อมูล และนำเสนอข้อมูลที่ได้แล้วช่วยกันเติมเต็มให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์

                 ขั้นตอนที่ 8 สรุป ตรวจสอบ และวิเคราะห์ มีเป้าหมายสำคัญคือมุ่งฝึกทักษะด้านการคิดวิเคราะห์การเล่าเรื่อง และการเขียน โดยเด็กๆ รวบรวมข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่นำมาแยกแยะ สรุปความรู้ที่ได้ เพื่อตอบวัตถุประสงค์ของการวิจัย

                ขั้นตอนที่ 9 ใช้ประโยชน์จากข้อมูล มีเป้าหมายสำคัญคือมุ่งฝึกทักษะด้านการนำเสนอหรือเผยแพร่องค์ความรู้แก่ชุมชน โดยเด็กแต่ละกลุ่มจะมีวิธีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่มที่ทำโครงงานวิจัยเรื่องปุ๋ยอินทรีย์น้ำก็จะจัดทำเอกสารแผ่นพับเผยแพร่ให้กับเกษตรกรในชุมชน เป็นต้น

                 ขั้นตอนที่ 10 สรุปและรายงานผล มีเป้าหมายสำคัญคือมุ่งฝึกทักษะด้านการพูดในที่สาธารณะ การนำเสนอผลงานด้วยรูปแบบต่างๆ การเล่าเรื่อง โดยก่อนปิดภาคการศึกษาที่ 2 ทุกชั้นเรียนนำเสนอผลงานวิจัย โดยมีการเชิญผู้ปกครองรวมถึงคนในชุมชนเข้ามาร่วมรับฟังด้วย

                 ในการขึ้นเวทีนำเสนอผลงานวิจัยเด็กๆ จะร่วมกันออกแบบวิธีการนำเสนอ เช่น นำเสนอด้วย power point การแสดงละคร การเล่านิทาน เป็นต้น โดยเด็กๆ ในกลุ่มแบ่งหน้าที่กันทำตามความสามารถและความถนัด และทุกคนรู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง

                สิ่งหนึ่งที่สำคัญในขั้นตอนนี้คือ ผอ.ยงยุทธ จะอยู่ร่วมรับฟังการนำเสนอผลงานของเด็กนักเรียนทุกกลุ่มโดยไม่ลุกไปไหนเลยเพื่อจะได้เห็นพัฒนาการของเด็กๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

        &nbs