การจัดการศึกษาบนฐานการมีส่วนร่วมของชุมชน

       งานวิจัยเรื่อง “การศึกษารูปแบบการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของโรงเรียนและชุมชน” โดยทีมวิจัยโรงเรียนบ้านกุดเสถียร ด้วยทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น เป็นแรงจูงใจที่ทำให้คณะทำงานจากมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) ออกเดินทางไปติดตามเยี่ยมชมและจับภาพรูปแบบการจัดการศึกษาอย่างมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนและชุมชนที่โรงเรียนบ้านกุดเสถียร ตำบลสร้างมิ่ง อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร เมื่อวันที่ 16-18 ธันวาคม 2556


ข้อมูลทั่วไป

      โรงเรียนบ้านกุดเสถียร เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 บ้านกุดเสถียร ตำบลสร้างมิ่ง อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลสร้างมิ่ง เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีเขตพื้นที่ให้บริการ 1 หมู่บ้าน คือ บ้านกุดเสถียร มีคณะครูและผู้บริหาร จำนวน 11 คน มีครูภูมิปัญญาที่สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาสอน จำนวน 7-8 คน ปัจจุบันมีนักเรียน 117 คน มีนายจำรัส ช่วงชิง เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2549

      โรงเรียนบ้านกุดเสถียรมีพื้นที่ประมาณ 32 ไร่ พื้นที่บริเวณด้านหลังโรงเรียนเป็นผืนป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ฤดูแล้งต้นติ้วออกดอกขาวบานสะพรั่ง ฤดูฝนมีเห็ดมากมายหลายชนิด ทั้งเห็ดโคน เห็ดระโงก เห็ดไค ฯลฯ ส่วนชุมชนบริเวณรอบโรงเรียนชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกข้าว ปลูกยางพารา เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง มีกลุ่มเกษตรอินทรีย์ปลูกข้าวปลอดสารพิษ ผลิตปุ๋ยชีวภาพ มีศูนย์ฝึกอาชีพทอผ้าไหมในพระราชดำริ และศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเฉลิมราชองค์ราชัน 80 พรรษา นอกจากนี้ ยังมีปราชญ์ชาวบ้านหลายสาขา เช่น ด้านสมุนไพร เกษตรอินทรีย์ ผ้าทอพื้นเมือง ผ้ามัดหมี่ หมอลำ เป็นต้น


บทเรียนสอนใจเมื่อชุมชนไร้โรงเรียน

     โรงเรียนบ้านกุดเสถียรเป็นโรงเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งยุบเมื่อปี 2543 เนื่องจากมีเด็กนักเรียนต่ำกว่า 60 คน โดยในปีที่ถูกยุบมีนักเรียนจำนวน 32 คน ผู้อำนวยการโรงเรียนและหัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอขณะนั้นร่วมกันเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวใจชาวบ้านให้ยอมยุบโรงเรียน โดยบอกว่า เมื่อยุบไปเรียนกับโรงเรียนใหญ่เด็กจะได้รับโอกาสที่ดีกว่าเนื่องจากมีความพร้อมมากกว่าทั้งเรื่องครูและอุปกรณ์การเรียนการสอนต่างๆ รวมทั้งรับปากกับชาวบ้านว่าจะจัดสวัสดิการรถรับ-ส่งและดูแลเด็กเป็นอย่างดี ไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน ชาวบ้านจึงยอมให้ยุบโรงเรียนและย้ายเด็กไปเรียนที่โรงเรียนบ้านสร้างมิ่งพัฒนาที่ 191 ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านกุดเสถียรราว 3 กิโลเมตร พร้อมกับครู ครุภัณฑ์ และวัสดุ-อุปกรณ์การเรียนการสอนต่างๆ ที่ถูกขนย้ายตามไปด้วยทั้งหมด เหลือไว้แต่อาคารว่างเปล่า

      หลังจากโรงเรียนถูกยุบเมื่อชาวบ้านเดินผ่านไปผ่านมาเพื่อทำไร่ไถนา เห็นโรงเรียนแล้วต่างก็มีความรู้สึกสลดหดหู่ เสียงเคาะระฆัง เสียงเด็กร้องเพลงชาติ เสียงเล็กๆ ที่เคยท่องอ่านบทเรียน ร้องเพลง หัวเราะเฮฮาเวลาทำกิจกรรมต่างๆ เงียบหายไป เหลือไว้แต่อาคารร้าง หน้าต่างผุพัง มีเด็กเลี้ยงวัวเลี้ยงควายเข้ามานอนเล่นกัน ความรู้สึกชาวบ้านขณะนั้นคือ เหมือนมีอะไรบางอย่างที่ขาดหายไปจากชีวิต หายไปจากชุมชน เกิดความว้าเหว่ในหัวใจ และต่างพากันผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาดูแลโรงเรียนด้วยความรักและผูกพัน

      จนถึงปี 2545 ชาวบ้านกุดเสถียรเก็บสะสมความรู้สึกหดหู่และสะเทือนใจสงสารลูกหลานตัวเองที่ได้รับความลำบากจากการเดินทางไปเรียนในโรงเรียนหมู่บ้านอื่น ซึ่งตอนแรกที่ให้ยุบบอกกับชาวบ้านว่าจะมีรถรับ-ส่ง มีสวัสดิการที่ดีให้ เด็กจะไม่เดือดร้อน แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้ทำอย่างที่รับปากไว้ ทั้งจากคำบอกเล่าของเด็กเองที่ไม่มีความสุขกับการเรียนที่โรงเรียนใหม่ ไม่ได้รับสิทธิ ไม่ได้การดูแลเอาใจใส่เท่ากับเด็กคนอื่นๆ ที่เรียนอยู่ก่อน ยิ่งในวันที่มีกิจกรรมพิเศษ เช่น วันเด็ก วันปีใหม่ เด็กๆ จากบ้านกุดเสถียรต่างนั่งมองของขวัญ ของแจกต่างๆ ที่พวกเขาจะต้องได้รับทีหลังหรือไม่ได้เลยเพราะต้องรอให้เหลือจากเด็กในเขตบริการของโรงเรียนก่อน กอปรกับมีเหตุการณ์ที่โรงเรียนปล่อยเด็กเดินกลับบ้านเอง ซึ่งในสมัยนั้นเส้นทางจากบ้านกุดเสถียรไปโรงเรียนบ้านสร้างมิ่งฯมีลำห้วยกั้นกลาง ต้องใช้สะพานไม้ข้าม ฤดูฝนจะมีน้ำหลาก แต่บางครั้งครูปล่อยให้เด็กอนุบาลเดินสะพายกระเป๋ากลับบ้านเองผ่านลำห้วยนี้ ความรู้สึกที่สะสมจากการที่เห็นว่าลูกหลานไม่ได้รับการดูแลที่ดีทำให้ชาวบ้านรวมตัวกันคิดเรื่องไปทวงโรงเรียนคืน

     ชาวบ้านอยากได้โรงเรียนคืนแต่ไม่รู้จะทำอย่างไรจึงพากันไปขอคำแนะนำจาก “คุณสมบูรณ์ ทองบุราณ” ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา และเคยเป็น NGO เก่า คุณสมบูรณ์จึงชวนนักเคลื่อนไหวมาช่วย โดยนำชาวบ้านกุดเสถียรทั้งหมู่บ้านเดินขบวนไปที่สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอ (สปอ.) เพื่อทวงโรงเรียนคืน ไปนั่งตากแดดตากฝนอยู่หนึ่งวันจนในที่สุดทาง สปอ.ก็ยินยอมคืนโรงเรียนให้กับชุมชน แต่มีเงื่อนไขว่า ถึงจะได้โรงเรียนกลับไป แต่จะไม่มีใครดูแล ไม่มีครูกลับไปสอน ไม่มีเงินอุดหนุน วัสดุครุภัณฑ์การเรียนต่างๆ ก็อาจจะไม่ได้คืน ซึ่งชาวบ้านก็ยืนยันว่าแม้ไม่ได้ครูคืนแม้แต่คนเดียวก็จะพาเด็กกลับ จะสอนเอง จะรวมเงินกันจ้างครูมาสอน และจะช่วยกันหาวัสดุอุปกรณ์การเรียนให้เด็กเอง

     มีโรงเรียน แต่ไร้ผู้บริหาร ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

     ในที่สุดชาวบ้านก็ได้โรงเรียนคืน และได้ครูกลับมาหนึ่งคนคือ “ครูสุวรรณ อุตสาหะกิจ” ซึ่งเป็นคนบ้านกุดเสถียรที่อาสากลับมาพร้อมกับนักเรียนจำนวน 25 คน แต่ครูคนเดียวไม่สามารถดูแลเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ป.6 ได้ แม้จะมีเด็กไม่มากนักก็ตาม เพราะต้องทำหน้าที่ตั้งแต่ครูใหญ่ ครูน้อย และภารโรง ในวันที่ต้องไปราชการหรือไปประชุมที่อื่นๆ ชาวบ้านจะช่วยกันจัดเวรมาดูแลเด็ก เช่น มาเล่านิทานให้เด็กฟัง ทำอาหารให้เด็กกิน ชวนเด็กทอผ้า เย็บปักถักร้อย พาร้องรำทำเพลง ตามแต่ความถนัดของชาวบ้านแต่ละคนที่อาสามาดูแล เป็นอย่างนี้เรื่อยมา

     จนถึงปี 2547 ผลพวงจากการปฏิรูปการศึกษาทำให้มีการยุบรวมสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอ (สปอ.) เป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา อยู่ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกระทรวงศึกษาธิการได้ทำการสำรวจโรงเรียนทั่วประเทศว่าโรงเรียนไหนไม่มีผู้บริหารการศึกษา มีการตั้งงบประมาณและจัดสอบผู้บริหาร โรงเรียนบ้านกุดเสถียรก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ด้วยค่านิยมและความเชื่อของผู้บริหารส่วนใหญ่ที่ต้องการอยู่โรงเรียนขนาดใหญ่ โรงเรียนแห่งนี้จึงไม่มีใครเลือก คนที่มีสิทธิเลือกก่อนก็เลือกไปอยู่โรงเรียนขนาดใหญ่เรียงลำดับกันไปเรื่อยๆ คนที่สอบได้คะแนนลำดับท้ายๆ ไม่เหลือทางเลือกก็จำใจต้องเลือก ทำให้ในปี 2547 แม้จะมีผู้บริหารเข้ามา แต่เมื่อมาด้วยความไม่พึงพอใจก็ไม่มีความคิดหรือความสนใจที่จะพัฒนาโรงเรียนร่วมกับชาวบ้าน อยู่เพื่อรอหาช่องทาง/โอกาสที่จะโยกย้าย เป็นวัฏจักรอย่างนี้เรื่อยมาจนถึงปี 2549 รวมเวลา 3 ปี มีผู้บริหารที่ย้ายมาแล้วก็ย้ายไปถึง 5 คน บางปีเปลี่ยนผู้บริหารถึง 3 คน บางคนมาอยู่เพียงแค่ 3 เดือน มีผลให้โรงเรียนไม่พัฒนาก้าวหน้า อยู่ไปอย่างไร้ทิศทาง จนกระทั่งปลายปี 2549 เค้าลางของความเปลี่ยนแปลงก็เริ่มปรากฏขึ้นพร้อมกับการก้าวเข้ามาของผู้บริหารโรงเรียนคนใหม่ที่ชื่อ “จำรัส ช่วงชิง”

.

. เมื่อ “ผอ.จำรัส ช่วงชิง” เลือกมาโรงเรียนบ้านกุดเสถียร

     ช่วงที่โรงเรียนบ้านกุดเสถียรเผชิญภาวะวิกฤติและล้มลุกคลุกคลานอยู่นั้น เป็นช่วงที่ ผอ.จำรัส ช่วงชิง เป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนเลิงนกทา ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาประจำอำเภอ โดยรับผิดชอบสอนวิชาภาษาไทยและสังคมศึกษา รวมทั้งทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานชุมชน ต่อมาได้ตัดสินใจสอบเป็นผู้บริหารสถานศึกษาและสอบบรรจุได้คะแนนอันดับ1 ได้สิทธิเลือกคนแรกซึ่งขณะนั้นมีโรงเรียนหลายแห่งที่ขึ้นบัญชีไว้ให้เลือก แต่ ผอ.จำรัส ตัดสินใจเลือกโรงเรียนบ้านกุดเสถียร โดยก่อนที่จะเลือกได้ลงสำรวจพื้นที่โรงเรียนและชุมชนโดยรอบเป็นเวลาหนึ่งวันแล้วเห็นว่า “โรงเรียนแห่งนี้น่าจะพัฒนาได้ มีพื้นที่ 32 ไร่ มีอาคาร มีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่โดดเด่น เพียงแต่ยังแยกส่วนกันอยู่”

     เมื่อเลือกไปแล้วผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาเรียกไปถามว่า “เลือกผิดหรือเปล่า ได้สิทธิเลือกคนแรก มีโรงเรียนใหญ่ตั้งหลายแห่ง ทำไมไม่เลือก” ผอ.จำรัสยืนยันว่าจะเลือกโรงเรียนบ้านกุดเสถียรเพราะมีความคิดว่า “ผู้บริหารถ้าต้องการจะแสดงศักยภาพที่แท้จริงต้องไปอยู่โรงเรียนที่ขาดแคลน ถึงจะวัดค่าว่ามีฝีมือจริง โรงเรียนขนาดใหญ่ใครไปก็ได้ งบประมาณก็พร้อม บุคลากรก็พร้อม อาคารสถานที่ เทคโนโลยีพร้อมหมด” ความก้าวหน้าของผู้บริหารไม่ได้ขึ้นอยู่กับการที่มีครูมาก งบประมาณมาก เทคโนโลยีมาก หากแต่ขึ้นอยู่กับคุณภาพงานที่สร้างไว้ที่ตัวเด็ก ซึ่งตอนที่ ผอ.จำรัส เข้ารับตำแหน่งในปีงบประมาณ 2550 นั้น โรงเรียนบ้านกุดเสถียรมีครูอยู่ 2 คน มีนักเรียน 32 คน สภาพโรงเรียนทรุดโทรม พื้นที่บริเวณรอบโรงเรียนกว่า 30 ไร่รกร้างขาดการดูแล

     ด้านชาวบ้านกุดเสถียร สถานการณ์ของโรงเรียนช่วง 3 ปีก่อนหน้านี้ที่ต้องเปลี่ยนผู้บริหารมาแล้วถึง 5 คน แต่ละคนที่มาก็ไม่ได้มีความจริงใจที่จะพัฒนาโรงเรียน จึงเกิดความรู้สึกไม่เชื่อมั่นต่อผู้บริหารที่เข้ามา เห็นว่า “ใครมาก็ปากหวานว่าจะร่วมมือกับชุมชนทำงานเต็มที่เพื่อลูกหลาน” ดังนั้น ความรู้สึกของชาวบ้านที่มีต่อ ผอ.จำรัส ก็เหมือนกับที่รู้สึกกับผู้บริหารคนอื่นๆ ที่เข้ามาก่อนหน้านี้ “ก็ปากหวานเหมือนคนอื่นนั่นแหล่ะ ไม่อยู่นานหรอก ไม่ต้องไปสนใจ” สิ่งนี้จึงเป็นปัญหาแรกที่ ผอ.จำรัส ต้องนำมาขบคิดว่า จะปรับความรู้สึกของชาวบ้านได้อย่างไร เพื่อให้เห็นถึงความตั้งใจจริงที่จะมาทำงานกับชุมชน ซึ่งขณะนั้นคิดว่ามีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือ ต้องอาศัยระยะเวลา

     ดังนั้น การเข้ามาทำงานในช่วงปีแรก ผอ.จำรัส จึงเพียงแต่บอกแนวคิดและให้นโยบายกับครู 2 คนที่มีอยู่ว่า ต้องการจัดการศึกษาและพัฒนาการเรียนการสอนแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน ยังไม่เน้นเรื่องการวางแผนการเรียนการสอน แต่จะเน้นที่การเปลี่ยนความคิดและแสวงหาความร่วมมือจากชุมชน ให้ครูสอนและดูแลเด็กไปตามเดิมก่อน ส่วนตัวเองจะขอทำงานกับชุมชน เพราะคิดว่าถ้าจะมาทำงานเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาไปสู่เป้าหมายตามที่ต้องการได้ ต้องได้ความร่วมมือจากชุมชนก่อน ต้องทำให้ชุมชนมีความเชื่อถือและศรัทธา เพราะถ้าเชื่อถือและศรัทธาแล้วจะได้ความร่วมมือ


เดินหน้าพัฒนาโรงเรียนโดยชุมชนมีส่วนร่วม

     ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง ผอ.จำรัส เริ่มสำรวจข้อมูลชุมชนอีกครั้งเพื่อศึกษาหาแนวทางและความเป็นไปได้ในการจัดการศึกษาที่เชื่อมโยงระหว่างโรงเรียนกับชุมชน เพราะนอกจากมีแนวคิดเรื่องการจัดการศึกษาอย่างมีส่วนร่วมแล้ว ผอ.จำรัส ยังเชื่อว่า การพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เกิดประโยชน์ต่อเด็กอย่างแท้จริงและเด็กสามารถนำติดตัวไปใช้ได้ตลอดชีวิตจะต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทแวดล้อมของชุมชน แต่ปัญหาคือ ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนขาดตัวเชื่อม ผู้บริหารที่ผ่านมาไม่เปิดประตูโรงเรียน ไม่ไปประสานความสัมพันธ์กับชุมชน ทั้งๆ ที่ชาวบ้านมีใจอยากจะร่วมพัฒนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

     ผอ.จำรัส มีความเชื่อว่า โดยพื้นฐานแล้วไม่มีใครไม่อยากรู้จักกัน ไม่มีใครไม่อยากสร้างโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนที่ดีเพื่อลูกหลานตัวเอง จึงใช้วิธีเข้าไปหาชาวบ้าน ไปเล่าความจริงใจให้ฟังว่ามุ่งมั่นจะทำเรื่องอะไร จะเดินหน้าอย่างไร แล้วเชิญชวนชาวบ้านมาทำด้วยกัน ซึ่งแรกๆ ชาวบ้านก็ไม่สนใจเพราะยังเสียความรู้สึกจากสิ่งที่ผู้บริหารคนอื่นๆ ทำไว้ ซึ่ง ผอ.จำรัส ก็ไม่ละความพยายาม หาวิธีการที่จะทำให้เข้าถึงชาวบ้าน เช่น ชาวบ้านจะมีการประชุมกันทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง แม้จะจัดประชุมกันช่วงกลางคืนก็จะเข้าไปร่วมด้วย เพื่อไปรายงานว่า เกิดอะไรขึ้นในโรงเรียน ขณะนี้โรงเรียนมีปัญหาอะไร ถามชาวบ้านว่าอยากจะทำอะไรเพื่อให้โรงเรียนพัฒนา ซึ่งชาวบ้านก็จะถามแทรกตลอดว่า “จะอยู่อีกกี่วัน กี่เดือน” ผอ.จำรัส ก็ตอบว่า “ก็อยู่ไปเรื่อยๆ จนกว่าชาวบ้านจะไล่”

     อีกด้านหนึ่ง ผอ.จำรัส ก็ลงมือแผ้วถางพื้นที่บริเวณด้านหน้าเพื่อปรับภูมิทัศน์ของโรงเรียนด้วยตัวเอง ชาวบ้านเดินผ่านไปผ่านมาเห็นภาพนี้หลายวันเข้า ก็เริ่มมีคนเข้ามาทัก มาถาม และในที่สุดก็มีคนมาช่วย แรกๆ มากันไม่กี่คน แต่การที่ได้ทำงานร่วมกันแบบเคียงบ่าเคียงไหล่อย่างไม่ถือเนื้อถือตัว ถือยศถือตำแหน่ง ทำให้เกิดการเห็นอกเห็นใจกัน เริ่มเห็นว่ามาทำงานจริง ไม่ใช่แค่ปากหวาน ชาวบ้านก็เริ่มเข้ามาให้ความร่วมมือมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อชาวบ้านเริ่มเชื่อใจก็เริ่มเข้ามาถามว่า “ผอ.อยากจะทำอะไร” ผอ.จำรัสก็ชวนแผ้วถางสวนป่าบริเวณหลังโรงเรียน ชาวบ้านถามว่า “จะถางป่าไปทำอะไร” ผอ.ก็บอกว่า “จะทำเป็นที่พักผ่อนให้เด็ก” แต่ในใจตอนนั้นคิดอยากทำ “ห้องเรียนธรรมชาติ” อยากปรับพื้นที่เป็น “ฐานการเรียนรู้” ให้กับเด็ก เพื่อสร้างความแตกต่างและโดดเด่นให้กับโรงเรียน ด้วยเห็นว่าสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติในพื้นที่กว่า 30 ไร่ของโรงเรียนมีประโยชน์สำหรับการเรียนรู้ของเด็ก แต่ที่ไม่ได้บอกชาวบ้านเพราะไม่อยากให้ชาวบ้านปวดหัวกับภาษาวิชาการหรือทฤษฎีต่างๆ แต่อยากจะพูดคุยด้วยภาษาที่เข้าใจกันได้ง่าย

     ผอ.จำรัส มีสโลแกนในการทำงานกับชุมชนคือ “เข้าร่วม เข้าหา ปรึกษา ให้เกียรติ” ซึ่งการให้เกียรติเป็นสิ่งที่กำหัวใจชาวบ้าน การทำงานร่วมกันอย่างที่ไม่คิดว่าเขาเป็นเพียงชาวบ้าน แต่คิดว่าเขาเป็นบุคคลสำคัญ เป็นขุมปัญญา มองว่าทุกคนเก่งหมด เพียงแต่เก่งคนละด้าน การสร้างสิ่งเหล่านี้ยิ่งใหญ่กว่าการใช้อำนาจสั่งการ ทำให้ได้ความเคารพนับถือ การทำงานโดยไม่ถือยศถือตำแหน่งทำให้ได้ใกล้ชิดกับชาวบ้าน ผอ.จำรัส บอกว่า “ถึงเราจะมีอำนาจแต่อย่าใช้อำนาจ ใช้ความร่วมมือจะยั่งยืน มีความอบอุ่นมั่นคง และเป็นมิตรที่ดีต่อกัน”

     ดังนั้น การพัฒนาและบริหารจัดการโรงเรียนบ้านกุดเสถียรภายใต้การนำของ ผอ.จำรัส จึงอยู่บนฐานการตัดสินใจร่วมของชุมชนทุกเรื่อง ตัวอย่างเช่น การให้ทุนการศึกษากับเด็กนักเรียน แทนที่ผู้บริหารกับคณะครูจะตัดสินใจคัดเลือกกันเองก็ให้ชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอชื่อ ชาวบ้านจะไปปรึกษาหารือกันในกลุ่มแล้วเสนอรายชื่อพร้อมข้อมูลและเหตุผลประกอบการตัดสินใจมาที่โรงเรียน เด็กที่ได้รับทุนการศึกษาจึงมาจากมติของชุมชน

     นอกจากนี้ ชุมชนและคณะครูยังได้ร่วมกันทำงานวิจัย 2 เรื่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียน โดยรับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น เรื่องแรกคือ “การศึกษารูปแบบการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของโรงเรียนและชุมชน” ดำเนินการระหว่างเดือนเมษายน 2551-มีนาคม 2552 และเรื่องที่สองคือ “การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นบนพื้นฐานความต้องการของชุมชน กรณีศึกษาโรงเรียนบ้านกุดเสถียร” เป็นงานวิจัยที่ต่อยอดจากเรื่องแรกเพื่อจะทำให้เป็นหลักสูตรท้องถิ่นที่ใช้ได้จริง กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งการได้มีโอกาสทำงานวิจัยร่วมกันทำให้ต้องมีการนัดพบปะพูดคุยกันบ่อยครั้ง มีผลให้ชาวบ้านกับคณะครูมีความใกล้ชิดสนิทสนมและคุ้นเคยกันมากขึ้น


จัดการเรียนรู้บูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่น

     จากความตั้งใจที่จะพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านกุดเสถียรให้มีความเหมาะสมกับบริบทแวดล้อมของโรงเรียนเพื่อให้ประโยชน์ตกถึงเด็กอย่างแท้จริง ดังนั้น ในช่วงปี 2551 ผอ.จำรัส จึงเริ่มเปิดเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการศึกษา โดยพยายามเข้าไปเชื่อมกับชุมชน สำรวจว่าบ้านไหนมีใครโดดเด่นด้านภูมิปัญญาเรื่องใด เช่น ทอผ้า จักสาน เกษตรอินทรีย์ วัฒนธรรมประเพณี เพื่อเชิญชวนเข้ามาสอนในโรงเรียน โดยระยะแรกดึงเรื่องการทอผ้าเข้ามาก่อน เพราะกลุ่มทอผ้าของบ้านกุดเสถียรมีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง แต่ปัญหาในระยะเริ่มต้นนี้คือ ชาวบ้านยังไม่เข้าใจเพราะเห็นว่าเรื่องทอผ้ากับการศึกษาเป็นคนละเรื่องกัน คิดว่าจะพากันไปผิดทิศผิดทาง กลัวเด็กจะไม่ได้เรียนวิชาการ “ถ้าจะให้เด็กมาเรียนทอผ้าในโรงเรียนก็ให้เรียนที่บ้านก็ได้”

     ด้าน ผอ.จำรัส ก็คิดว่า ชาวบ้านยังไม่เข้าใจไม่เป็นไร ขอให้ได้ความร่วมมือมาเป็นพื้นฐานก่อนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ไม่ได้มุ่งเป้าว่าโรงเรียนจะสอนทอผ้าได้หรือไม่ได้ เด็กจะทอเป็นหรือไม่เป็น แต่การที่โรงเรียนให้เกียรติชาวบ้านเชิญเข้ามาสอน เป็นการได้มวลชน ได้ทีมงาน ได้เพื่อนทำงาน ได้ความรักความผูกพันซึ่งกันและกัน ทำเพื่อให้คนมีหัวใจร่วมกันก่อนส่วนเรื่องวิชาการไว้ทีหลัง


เด็กและครูเรียนรู้จากครูภูมิปัญญา

     แม้ชาวบ้านจะไม่เห็นด้วยแต่ก็ให้ความร่วมมืออย่างดี มีครูภูมิปัญญาด้านทอผ้าเข้ามาสอนให้กับเด็กในโรงเรียนอย่างละเอียดครบถ้วนตลอดทั้งกระบวนการ และเน้นให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริงทุกขั้นตอน โดยทุกครั้งที่ครูภูมิปัญญาเข้ามาสอนเด็ก ผอ.จำรัส จะให้ครูของโรงเรียนเข้าร่วมสังเกตและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเด็กด้วย ทำอย่างนี้เรื่อยมา จนกระทั่งวันหนึ่งที่เรื่องของภูมิปัญญากลายเป็นกระแสหลักของประเทศ ทางเขตพื้นที่การศึกษาเริ่มมองหาโรงเรียนที่นำภูมิปัญญามาสอนแบบบูรณาการจึงได้มาพบที่โรงเรียนบ้านกุดเสถียร ซึ่งมีผลให้ในปี 2552 โรงเรียนบ้านกุดเสถียรได้รับเลือกให้ไปร่วมจัดแสดงนิทรรศการในกิจกรรมถนนคนเรียน ที่จัดโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งบนถนนสายนั้นเป็นการสาธิต Best Practice ของโรงเรียนต่างๆ โรงเรียนบ้านกุดเสถียรไปสาธิตเรื่องภูมิปัญญาทอผ้าพื้นเมืองกับการศึกษา ในงานนั้น คุณหญิงกษมา วรวรรณ ได้มาเยี่ยมชมที่บูธจัดแสดงของโรงเรียน ได้เห็นกิจกรรมทอผ้าของเด็กๆ และมอบรางวัลให้ หลังจากนั้นมีคนจากบริษัทจินตนาการซึ่งเป็นบริษัทผลิตสารคดีเข้ามาซักถามข้อมูลต่างๆ ต่อจากนั้นอีกสองสัปดาห์ก็โทรศัพท์ติดต่อมาว่า คุณหญิงกษมา ให้ลงพื้นที่มาทำสารคดีเรื่องราวของโรงเรียนบ้านกุดเสถียรที่นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาบูรณาการเข้ากับวิชาการได้อย่างมีคุณภาพเพื่อเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11

     หลังเรื่องราวของโรงเรียนเผยแพร่ผ่านสื่อโทรทัศน์ โรงเรียนก็เริ่มเป็นที่รู้จัก เริ่มมีคนติดต่อขอเข้ามาศึกษาดูงาน จุดนี้เองที่ทำให้ชาวบ้านคลายความสงสัยว่าเรื่องทอผ้ากับการศึกษาจะไปด้วยกันได้อย่างไร จากที่เคยทักท้วง ชาวบ้านก็เริ่มเข้าใจ เริ่มเปลี่ยนความคิด เริ่มเห็นว่าโรงเรียนเดินมาถูกทางแล้ว


บูรณาการเข้าสาระการเรียนรู้

     พอเริ่มมีคนสนใจเข้ามาศึกษาดูงาน ผอ.จำรัส จึงขยายผลไปสู่การชวนครูออกแบบโครงร่างการเรียนรู้แบบง่ายๆ โดยเชิญครูภูมิปัญญามาพูดคุยร่วมกันว่า เทอมนี้จะสอนเรื่องอะไร เด็กจะได้เรียนรู้อะไร สอนอย่างนี้จะใช้เวลากี่ชั่วโมง ส่วนครูในโรงเรียนหลังจากที่ได้เรียนรู้กับครูภูมิปัญญาพร้อมๆ กับเด็กมาระยะหนึ่งแล้ว ผอ.จำรัส ก็เริ่มพาครูมาเรียนรู้ร่วมกันว่าจะเชื่อมหรือบูรณาการสู่วิชาการตามสาระการเรียนรู้ต่างๆ ได้อย่างไร โดยทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ใช้วิธีให้ครูคุยกันแล้วทำเป็นโครงการง่ายๆ ว่าจะสอนอะไร ใช้วิธีการสอนอย่างไร วัดหรือประเมินอย่างไรถึงรู้ว่าเด็กผ่านกิจกรรมนั้น

     ตัวอย่างเช่น การเรียนวิชาคณิตศาสตร์ผ่านลายผ้า ก่อนสอน ผอ.จำรัสกับครูจะไปคุยเรื่องลายผ้าต่างๆ จากครูภูมิปัญญาก่อน เช่น ถ้าจะทำลายสี่เหลี่ยมจัตุรัสจะต้องวางเส้นทอกี่เส้น เส้นตั้งกี่เส้น จากนั้นกลับมาปรึกษาหารือกันว่าจะสอนคณิตศาสตร์จากลายผ้าได้ย่างไร ให้ครูเขียนเป็นโครงการสอนที่มีองค์ประกอบง่ายๆ สำหรับวางแผนสอนเด็ก โดยมีสมมติฐานว่า ถ้าทำกิจกรรมแบบนี้เด็กจะเกิดการเรียนรู้อย่างไร

     วิชาวิทยาศาสตร์ก็เป็นอีกวิชาหนึ่งที่บูรณาการเข้ากับการทอผ้าได้ดี เพราะกระบวนการทำสีย้อมผ้าจากวัตถุดิบธรรมชาตินั้น การหมักด้วยจำนวนวันที่ไม่เท่ากัน สัดส่วนของวัตถุดิบที่ไม่เท่ากัน จะมีผลทำให้ความเข้มของสีไม่เท่ากัน เด็กๆ ก็จะได้ฝึกสังเกต จดบันทึก และทำการเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานของนักวิทยาศาสตร์

     บทบาทของ ผอ. จำรัส คือ ศึกษาเรียนรู้นโยบาย หลักเกณฑ์ และมาตรฐานการศึกษาให้แม่น แล้วเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน พาครูทำแล้วร่อนเอาประเด็นที่เกี่ยวข้องจับใส่เกณฑ์ ใส่กรอบมาตรฐานต่างๆ ให้ได้


วางแผนการสอนรายสัปดาห์

     การเรียนรู้ของเด็กๆ ที่โรงเรียนบ้านกุดเสถียรมีทั้งคาบเรียนวิชาปกติและคาบเรียน “วิชาภูมิปัญญา” ที่จัดให้มีชั่วโมงเรียน 2 คาบต่อสัปดาห์ ทุกห้องเรียนพร้อมกันในคาบสุดท้ายของวันจันทร์และวันอังคาร

     ครูที่โรงเรียนบ้านกุดเสถียรจะร่วมกันวางแผนการสอนเป็นรายสัปดาห์ ใน 1 สัปดาห์เด็กทั้งโรงเรียนจะเรียนรู้ภายใต้ประเด็นหลัก (theme) เดียวกัน ซึ่งประเด็นหลักนี้จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ โดยเลือกให้สอดคล้องกับฤดูกาล เช่น ผักติ้ว มะขาม กล้วย เห็ด ขมิ้นชัน ฯลฯ ในคาบเรียนปกติครูแต่ละคนจะนำไปบูรณาการเข้ากับวิชาที่ตนเองสอน เช่น ในช่วงที่คณะของมูลนิธิฯไปเยี่ยมชม เป็นสัปดาห์ที่เด็กๆ เรียนรู้เรื่อง “มะขาม” ในชั่วโมงคณิตศาสตร์ครูก็จะใช้มะขามเป็นอุปกรณ์หลักประกอบการเรียนการสอน โดยเชื่อมเรื่องการบวก ลบ คูณ หาร แทรกเข้าไป พอถึงชั่วโมงเรียนวิชาภูมิปัญญาเด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้วิธีการแปรรูปมะขามเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำมะขาม แยมมะขาม เป็นต้น โดยเด็กๆ จะได้ลงมือปฏิบัติจริงร่วมกับครูและครูภูมิปัญญาที่ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาสอน เมื่อได้ผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปที่สามารถนำมารับประทานได้จริงแล้ว เด็กๆ จะได้เรียนรู้เรื่องประโยชน์และสรรพคุณของมะขาม

     การเรียนรู้ของเด็กๆ มีทั้งแบบเรียนในห้องเรียนปกติและห้องเรียนธรรมชาติในบริเวณสวนป่าด้านหลังโรงเรียน ที่ชาวบ้านและคณะครูร่วมกันแผ้วถางเพื่อจัดทำเป็นฐานการเรียนรู้สำหรับเด็ก จำนวน 5 ฐาน ซึ่งครูแต่ละชั้นเรียนจะตัดสินใจเองว่า จะนำเด็กมานั่งเรียนรู้ที่ฐานไหน วันไหน ภายใต้แผนการสอนรายสัปดาห์ที่ออกแบบรวมกันไว้ ฐานที่ 1 เตรียมเดินป่าศึกษาธรรมชาติ “ทุกย่างก้าวคือเส้นทางแห่งการเรียนรู้” เป็นฐานปฐมนิเทศ แนะนำว่าถ้าเข้าไปในป่าจะได้พบกับฐานการเรียนรู้อะไรบ้าง แต่ละฐานมีความรู้อะไร มีประโยชน์เกี่ยวข้องกันอย่างไร ฐานที่ 2 ตลาดนัดสวนป่า “อยู่อย่างไทย สุขภาพดี ชีวียั่งยืน” ให้เด็กเรียนรู้เรื่องสมุนไพรและต้นไม้กินได้ที่อยู่ในป่า เช่น มีเห็ดตามฤดูกาลประเภทไหนที่กินได้ ผักหรือผลไม้ป่าที่กินได้มีอะไรบ้าง เรื่องสุขภาพและโภชนาการที่ดี เช่น ผักแต่ละชนิดมีประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการอย่างไร ทำอาหารอะไรได้บ้าง ทำอย่างไร เด็กๆ จะแยกย้ายกันไปเก็บแล้วนำมาแลกเปลี่ยนคุยกัน สิ่งไหนที่ไม่รู้จักจะถามจากครูภูมิปัญญาที่มาร่วมสอนด้วย ครูก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กันด้วย ฐานที่ 3 ตู้ยาสมุนไพร “รู้ค่ายาดี รู้วิธีอายุยืน” พื้นที่บริเวณฐานนี้มีสมุนไพรต่างๆ ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ เด็กๆ จะได้เรียนรู้เรื่องสมุนไพรต่างๆ ได้เรียนรู้ว่าในป่ามีสมุนไพรอะไรบ้าง แต่ละตัวมีประโยชน์อย่างไร นำไปใช้อย่างไร เช่น ว่านนกเจ่า ปีกไก่ดำ ใบย่านนาง ส้มป่อย ขมิ้นชัน เป็นต้น ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่การทำแคปซูลสมุนไพรซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมการเรียนรู้ที่โรงเรียนส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง ฐานที่ 4 ต้นไม้กับชีวิต เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ว่าต้นไม้กับชีวิตเกี่ยวข้องกันอย่างไร จะปฏิบัติกับต้นไม้อย่างไร เรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์ป่า ลดปัญหาโลกร้อน โดยพยายามให้แนวคิดเด็กว่าการทำลายธรรมชาติไม่ใช่เพียงการไปตัดต้นไม้ แต่การใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็นคือการทำลายธรรมชาติ พื้นที่รอยต่อระหว่างฐานที่ 4 กับฐานที่ 5 จัดเป็น “สวนป่า ลานธรรม” จำลองแบบจากวัดป่ามีไว้สำหรับพาเด็กปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา มีพระวิทยากรมาสอนธรรมะทุกวันศุกร์ถ้าไม่มีกิจกรรมพิเศษอื่นแทรก ฐานที่ 5 เศรษฐกิจพอเพียง เด็กๆ จะได้เรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง รู้จักพึ่งตนเอง ทำกินเองก็ได้ ทำขายก็ดี


กิจกรรมเสริมทักษะอื่นๆ

     นอกจากการเรียนรู้ในคาบเรียนปกติแล้ว ที่โรงเรียนบ้านกุดเสถียรยังมีการจัดกิจกรรมค่ายต่างๆ ขึ้นภายในบริเวณสวนป่าของโรงเรียน แต่ละปีจะเปลี่ยนประเด็นไปเรื่อยๆ เช่น ค่ายวิชาการบูรณาการภูมิปัญญาไทย ค่ายเสริมทักษะภาษาอังกฤษบูรณาการคณิต-ไทย เป็นต้น กิจกรรมเยี่ยมบ้าน

     โรงเรียนบ้านกุดเสถียรจัดให้มีกิจกรรมเยี่ยมบ้านซึ่งจัดเป็นประจำทุกเทอม โดยหลังสอบเสร็จคณะครูจะแบ่งกลุ่มออกเป็นกลุ่มละ 2-3 คน จากนั้นแบ่งสายกันออกไปเพื่อเยี่ยมบ้านนักเรียนทุกคน เพื่อไปรายงานผลการเรียน บอกเล่าพัฒนาการและพฤติกรรมต่างๆ รวมทั้งปัญหาอุปสรรคในการเรียนรู้ของเด็กให้ผู้ปกครองฟัง เป็นการสะท้อนข้อมูลให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองเพื่อให้เกิดความสบายใจและมั่นใจที่ฝากลูกหลานไว้กับโรงเรียน รวมทั้งไปเพื่อรับฟังความต้องการของผู้ปกครองด้วย โดยในแต่ละเทอมครูจะหมุนเวียนกันไป ใครที่เคยไปสายไหนแล้วให้สับเปลี่ยนไปสายอื่นในเทอมต่อไปเพื่อจะได้มีโอกาสพบปะกับผู้ปกครองอย่างทั่วถึง


ถ่ายโอนจาก สพฐ. สู่ อปท.

     แม้ว่าโรงเรียนจะพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี แต่ ผอ.จำรัส ยังมีความคิดว่า ความเป็นโรงเรียนของชุมชนจะสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ก็ต่อเมื่อไปเชื่อมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพราะผู้บริหารท้องถิ่นเป็นกลุ่มที่มาจากการเลือกตั้ง คนที่เลือกเข้ามาคือชาวบ้านในชุมชน เมื่อเขาเป็นคนของชุมชน ถ้านำโรงเรียนถ่ายโอนไปอยู่กับเขา เขาจะต้องทำเพื่อชุมชน ส่งเสริมลูกหลานของคนในชุมชน ด้วยเงินภาษีและงบประมาณที่มีพร้อมที่จะสนับสนุนโรงเรียน ถ้าเขาไม่ทำหรือทำไม่ดีจะมีผลต่อการลงสมัครในครั้งต่อไป จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ผอ.จำรัส ตัดสินใจภายใต้การมีส่วนร่วมของชาวบ้านที่จะนำโรงเรียนบ้านกุดเสถียรถ่ายโอนจากอ้อมอกของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายโสธร เขต 2 ไปสู่การดูแลขององค์การบ