“สงขลาฝั่งหัวเขาแดง” คือถิ่นประวัติศาสตร์สำคัญอันเป็นหลักฐานของการเกิดเมืองสงขลา แต่ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเนินเขาจึงอยากต่อการขยายพื้นที่อยู่อาศัยและการทำมาหากิน ประกอบกับการขาดแคลนแหล่งน้ำจืด ภายหลังประชาชนจึงโยกย้ายเข้าสู่เมืองสงขลาแห่งใหม่บริเวณที่เรียกกันว่าบ่อยาง ทำให้สงขลาฝั่งหัวเขาแดงค่อยๆ ซบเซาลง แต่บริเวณดังกล่าวซึ่งในปัจจุบันคือ “บ้านบ่อทรัพย์” ที่ยังคงมี “แหล่งเรียนรู้” ทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่า เช่น สุสานต้นตระกูล ณ สงขลา วัดโบราณ เช่น วัดภูผาเบิก วัดศิริวรรณาวาส วัดบ่อทรัพย์ วัดสุวรรณคีรี บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ รูปปั้นเจ้าป่าเจ้าเขาซึ่งเป็นที่เคารพของคนในพื้นที่ แต่ปัจจุบันเด็กและเยาวชน รวมถึงคนในชุมชน และคนสงขลากลับไม่เห็นคุณค่าและไม่รู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชุมชนแห่งนี้ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเมืองสงขลา...




“บ้านบ่อทรัพย์” ที่เคยเจริญรุ่งเรืองในอดีตก็เริ่มเสื่อมโทรมลง คนในชุมชนทะเลาะวิวาทกัน เด็กเยาวชนติดยาเสพติด คนในชุมชนทิ้งถิ่นฐานไปทำมาหากินที่อื่น ครอบครัวหย่าร้าง ทิ้งลูกให้กับคนแก่ เด็กต้องออกจากการเรียนกลางคันเนื่องจากความยากจน ฯลฯ เยาวชนแกนนำกลุ่มจิตใสอาสาจึงเกิดแนวคิดคืนชีวิตให้เส้นทางประวัติศาสตร์ชุมชนวัดบ่อทรัพย์ขึ้น ด้วยการลงพื้นที่ศึกษาแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ชุมชนวัดบ่อทรัพย์ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์และฟื้นเส้นทางประวัติศาสตร์กับคืนมาอีกครั้ง และเพื่อ “ปลูกจิตสำนึก” ให้เยาวชนเกิดสำนึกรักบ้านเกิด

สร้างทีม...เพื่อสร้างการเรียนรู้

เพราะมีประสบการณ์ทำโครงการห้องสมุดคาเฟ่เคลื่อนที่พี่สอนน้องกับสงขลาฟอรั่มเมื่อปีที่แล้วนักเรียนโรงเรียนบ้านบ่อทรัพย์ต้องการ “ขยายผล” การทำงาน เพื่อ “สร้างแหล่งเรียนรู้” ในชุมชน จึงแตกทีมออกมาทำโครงการแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนวัดบ่อทรัพย์ โดยมีรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์จากการทำโครงการปีแรกเข้ามาเป็นตัวหลัก และเพิ่มสมาชิกใหม่ซึ่งเป็นรุ่นน้องเข้ามาร่วมเรียนรู้ด้วย




อารีรัตน์ งาหัตถี – แนน กับพิมพิศา ปาณะ – โอ๊ต รุ่นพี่ซึ่งเรียนอยู่ชั้น ม.3 เล่าว่า เธอได้ไปชวนน้องๆ ให้มาทำโครงการด้วยกัน ซึ่งก็ได้ธีรักษ์ จิตพิทักษ์ - ยา ณัฐดาวรรณ พูนเมือง - เฟิร์น และศรีสุดา พิมพาชะโร - หมิว มาร่วมเป็นทีมทำงาน

“แม้จะวางแผนแบ่งงานกันคร่าวๆ แต่เมื่อต้องเก็บข้อมูลจากการสำรวจ และสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่ ทีมงานทั้งหมดจะยกโขยงไปลงพื้นที่ร่วมกันทั้งช่วยกันสัมภาษณ์ สอบถาม จดบันทึกเพื่อให้ทุกคนได้รับข้อมูลเท่ากัน”

แนนเล่าว่า เมื่อได้น้องๆ มาร่วมทีมแล้วก็เริ่มวางแผนการทำงานร่วมกันทันทีทุกคนเห็นตรงกันว่าสิ่งที่ต้องทำคือการเดินสำรวจสถานที่สำคัญในชุมชน และศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ต่างๆ เพื่อนำมาเรียบเรียง โดยตั้งใจว่าจะมีการถ่ายทอดเรื่องราวที่ได้ศึกษามาแก่น้องๆ เพื่อนๆ ในโรงเรียนได้รับรู้ด้วย จึงแบ่งบทบาทหน้าที่ให้แต่ละคนรับผิดชอบข้อมูลในส่วนที่ต้องบรรยาย เช่น โอ๊ต บรรยายเรื่องวัดสุวรรณคีรี ยาบรรยายเนื้อหาของวัดศิริบรรณาวาสหมิวบรรยายเกี่ยวกับวัดภูผาเบิก ส่วนแนนรับผิดชอบวัดบ่อทรัพย์ ส่วนสุสานเจ้าเมืองก็จะช่วยๆ กันบรรยาย

แม้จะวางแผนแบ่งงานกันคร่าวๆ แต่เมื่อต้องเก็บข้อมูลจากการสำรวจ และสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่ ทีมงานทั้งหมดจะยกโขยงไปลงพื้นที่ร่วมกันทั้งช่วยกันสัมภาษณ์ สอบถาม จดบันทึกเพื่อให้ทุกคนได้รับข้อมูลไปพร้อมกัน





“เริ่มต้นก็จะไปสำรวจเส้นทาง ไปถามเจ้าอาวาส ไปบอกท่านว่าเราจะมาทำโครงการแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์หลังโรงเรียน ท่านเลยเล่าประวัติศาสตร์ให้ฟัง แล้วก็ถามจากคนในหมู่บ้านว่า มีใครรู้ประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านบ้างชาวบ้านก็แนะนำให้ว่าควรจะไปสอบถามกับใคร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน” โอ๊ตเล่าถึงวิธีการในการค้นหาผู้รู้ประวัติศาสตร์

โอ๊ตเล่าต่อว่า ก่อนลงพื้นที่ พวกเราจะประชุมวางแผนกันก่อนว่าจะลงพื้นที่วันไหน จะไปกันอย่างไร ตกลงกันได้ว่าจะใช้วิธีเดินรอบหมู่บ้านก่อนเป็นอันดับแรกซึ่งระหว่างลงพื้นที่พวกเราได้รับความร่วมมือจากพ่อเฒ่าแม่เฒ่าในชุมชนดีมาก แม้จะรู้สึกเหนื่อย แต่พอได้รับกำลังใจจากผู้ใหญ่ที่เราเข้าไปหาก็ทำให้พวกเรามีกำลังใจและมีแรงทำงานมากขึ้น คิดได้ว่าถ้าเราไม่ทำก็ไม่มีใครมาสานต่อ

สร้าง “กระบวนการเรียนรู้” สู่น้อง

นอกจากการสืบค้นข้อมูลจากการสัมภาษณ์คนในพื้นที่แล้ว น้องๆ กลุ่มจิตใสอาสายังร่วมกันสืบค้นข้อมูลจากเอกสาร หนังสือต่างๆ และจากอินเทอร์เน็ต เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่บางครั้งผู้เฒ่าผู้แก่อาจจะหลงลืมไปบ้าง

“หลังจากสืบค้นข้อมูลจากทั้ง 2 แหล่งแล้ว พวกเราก็นำข้อมูลทั้งหมดมาสอบทานกัน ซึ่งพบว่าข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่และข้อมูลที่ได้จากอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่จะตรงกัน ส่วนข้อมูลที่ไม่ตรงกันก็จะพยายามเรียบเรียง โดยยึดฐานข้อมูลจากคนเฒ่าคนแก่เป็นหลัก” แนนเล่าถึงการตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องของทีมงาน




สำหรับการเรียบเรียงเนื้อหาพวกเราจะร่างไว้ก่อน แล้วให้ครูวิไลรัตน์หมัดหลีซึ่งที่ปรึกษาของโครงการช่วยขัดเกลา รวมทั้งเสริมความรู้ด้วยการเชิญวิทยากรจากกรมศิลปากรมาบรรยายให้ความรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ให้นักเรียนฟัง ซึ่งในกิจกรรมดังกล่าวได้มีการแบ่งกลุ่มทำ “แผนที่เดินดิน” โดยนักเรียนแต่ละกลุ่มจะช่วยกันวาดแผนที่สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชุมชน เป็นการทำความรู้จักกับสถานที่ต่างๆ บนกระดาษ ก่อนที่พวกเราจะพาน้องๆ ลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์

“พาน้อง ป.1 – ป.6 ครั้งละ 2 ห้องบ้าง 3 ห้องบ้างไปเรียนรู้ เพราะโรงเรียนแต่ละชั้นเรียนมีนักเรียนน้อยมากบางชั้นมีนักเรียนแค่ 9 คนเท่านั้น แต่การพาน้องไปเรียนรู้ข้างนอกได้นั้นเราต้องถามครูและดูชั่วโมงเรียนของน้องๆ ก่อน เช่น วิชาประวัติศาสตร์ เป็นต้น หรือบางครั้งก็นัดกันวันเสาร์อาทิตย์ ซึ่งการเรียนรู้ก็จะใช้วิธีบรรยายทีละจุด แล้วให้น้องจดสิ่งที่เราเล่า หรือบางครั้งบรรยายเสร็จก็ให้น้องวาดภาพด้วย บางครั้งก็ใช้เวลานาน เพราะน้องบางคนสะกดไม่เก่ง ยิ่งน้องเล็กยิ่งต้องบรรยายละเอียด เพราะบางทีเขาไม่เข้าใจ แต่ถ้าเป็นชั้น ป.4–ป.5 ก็จะเข้าใจมากกว่า ทั้งนี้การเรียนรู้แต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงจึงจะครบทุกฐานการเรียนรู้ แต่ส่วนใหญ่เราจะได้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น จึงต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะครบทุกฐานการเรียนรู้” แนนเล่าถึงกระบวนการถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์สู่รุ่นน้องในโรงเรียน

รู้ “สำนึกรัก” บ้านเกิด

ทั้งนี้ทีมยอมว่ารับสิ่งที่ถ่ายทอดอาจยังไม่ลึกเพราะมีเรื่องราวเยอะมาก บางส่วนทีมงานยังสืบค้นไม่ได้ทั้งหมดซึ่งเป็นงานที่จะต้องค่อยๆ ศึกษาต่อไป

แม้จะออกตัวว่าบรรยายได้ไม่ลึก แต่โอ๊ตเล่าเสริมว่า
“ตอนแรกที่สืบค้นข้อมูลเบื่อมากเลย แต่กิจกรรมที่พาน้องมาเรียนรู้เป็นกิจกรรมที่รู้สึกสนุกมากมันสนุกที่ได้ไปด้วยกันกับน้อง บางทีพี่พูดบรรยายผิด น้องๆ ก็จะหัวเราะ เราก็ได้หัวเราะไปกับน้อง บางครั้งบรรยายสำเนียงออกทองแดง น้องก็จะหัวเราะ แล้วถ้าหลุดทองแดงแล้วก็ต่อด้วยภาษาใต้เลย เวลาบรรยายก็จะเขินน้อง แต่ก็พยายามเล่าจนจบ น้องๆ จะสนใจถาม”

­



ส่วนยาบอกว่า สิ่งที่ทำรู้สึกว่ายาก แต่ก็สนุกด้วย ทุกคนเต็มใจที่จะทำ รู้สึกว่าตนเองกล้ามากขึ้น และรู้สึกรักบ้านเกิดมากขึ้น กล้าที่จะอธิบายให้คนที่มาเยี่ยมมาชมได้รับรู้ แล้วก็กล้าที่จะพูดนำเสนอหน้าห้องมากขึ้น รักบ้านเกิดมากขึ้นเพราะรู้ว่าบ้านเรามีสถานที่สำคัญ แล้วอยากจะหวงแหนอนุรักษ์ไว้

แต่สำหรับหมิวซึ่งเป็นคนขี้อายมากบอกว่า การทำกิจกรรมแบบนี้ดีที่ทำให้เธอกล้ามากขึ้น

“สิ่งที่ทำรู้สึกว่ายาก แต่ก็สนุกด้วย ทุกคนเต็มใจที่จะทำ รู้สึกว่าตนเองกล้ามากขึ้น และรู้สึกรักบ้านเกิดมากขึ้น”

โอ๊ตเสริมต่อว่า การทำโครงการเช่นนี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองมาก เพราะสามารถนำประสบการณ์ที่ได้ไปต่อยอดในการเรียน “เราได้ความรู้ด้วย เราทำเพื่อบ้านเกิดของเรา จากโครงการห้องสมุดฯ ก็ต่อยอดกันมา และยังสนุกเพราะได้ไปสำรวจโบราณสถานในพื้นที่จริงๆ ส่วนที่ช่วยในการเรียนคือ ตอนทำโครงการแรกก็ไม่กล้าพูดเหมือนหมิว แต่กล้าขึ้นมาได้เพราะเราพยายามทำให้มันดีที่สุด การที่เราได้ลงมือทำเองทำให้เราเล่าได้ แม้บางครั้งจะไม่ค่อยมั่นใจนัก แต่ก็เล่าอย่างที่ลงมือทำ ซึ่งพอกล้าขึ้น การนำเสนอในห้องเรียนก็ทำได้มากขึ้นตามไปด้วย แล้วยังใช้ประสบการณ์เรื่องการสืบค้นข้อมูลไปใช้ในการเรียนได้อีกด้วย”

ฝ่ายแนนก็สบทบว่า เมื่อก่อนในกลุ่มไม่มีใครกล้าพูด แนนเองก็ไม่กล้าพูด พอมาทำโครงการก็เริ่มมั่นใจในตนเองมากขึ้น และที่เป็นประโยชน์มากคือ การได้พาน้องไปเรียนรู้แบบนี้ ทำให้น้องได้รู้จักประวัติศาสตร์บ้านของตัวเอง ทำให้เขารักบ้านเกิดตัวเองมากขึ้น ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ส่วนตัวแนนเองเมื่อก่อนไม่รู้เลยว่าอะไรเป็นอะไร พอได้ไปสืบค้นข้อมูลก็ได้รู้มากขึ้น เช่น บ่อน้ำมีความสำคัญอย่างไร มีที่มาอย่างไร ทำให้เราอยากอนุรักษ์ไว้ ไม่ไปทำลายมันไม่เอาขยะไปทิ้ง เพราะปัจจุบันคนในละแวกบ้านบ่อทรัพย์ยังใช้น้ำบ่อ โดยใช้รถรุน (รถลาก) บรรทุกภาชนะมาตักน้ำไปใช้ที่บ้าน

­



ทั้งนี้ทีมงานทุกคนเห็นร่วมกันว่า กระบวนการศึกษาด้วยตนเองทำให้เรื่องราวประวัติศาสตร์น่าสนใจมากกว่าการเรียนในห้องเรียน เพราะเป็นวิธีการที่สนุก ทำให้เข้าใจได้มากกว่า การพาน้องๆ ลงพื้นที่ สัมผัสได้ว่าน้องๆ จะรู้สึกสนุกกับการเรียนรู้มาก และสิ่งที่ทุกคนภาคภูมิใจมากที่สุดคือ การได้เห็นผลงานที่ทำปรากฏเป็นรูปเล่มที่สวยงามจากการที่ครูที่ปรึกษานำไปพิมพ์เป็นหนังสือ เพราะไม่คิดว่าพวกเขาจะทำได้ถึงขนาดนี้

การเรียนรู้ “เกิด” ได้ทุกที่

ครูวิไลรัตน์ที่ปรึกษาโครงการ ได้เล่าถึงการทำงานของน้องๆ ว่า แนวคิดการทำโครงการน้องๆ เขาเป็นคนคิดเองหมด ครูแค่ทิ้งโจทย์ไว้ให้ว่าจะทำโครงการเท่านั้น ส่วนที่ว่าเขาอยากทำเรื่องอะไรก็ให้คิดเอง ส่วนการเขียนแผน เขียนโครงว่าจะทำกิจกรรมอะไร อย่างไร เด็กๆ จะคิดมาก่อน

“ครูยังแปลกใจในสิ่งที่เขาคิดว่าจะทำขนาดนี้เลยหรือ เขาตั้งเป้าหมายของเขาคือ อยากให้น้องๆ ในโรงเรียนได้ออกมาศึกษาว่า สถานที่รอบๆ โรงเรียนมันมีคุณค่า มีความเป็นมาอย่างไร มีเด็กในโรงเรียนไม่กี่คนที่รู้ประวัติความเป็นมาเป็นไป แต่ครูก็ยินดีสนับสนุนแม้ว่าครูจะมีประสบการณ์การทำโครงการแบบนี้น้อย แต่ครูก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกับเขา เพราะส่วนตัวเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียนก็เป็นการเรียนรู้เหมือนกัน”

“แม้ว่าครูจะมีประสบการณ์การทำโครงการแบบนี้น้อย แต่ครูก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกับเขา เพราะส่วนตัวเชื่อว่าไม่ว่าเป็นการเรียนรู้ในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียนก็เป็นการเรียนรู้เหมือนกัน”

สำหรับรูปแบบการทำงานของทีม รุ่นพี่จะคอยสอนน้องใหม่ด้วยวิธีกา “พาทำ” รุ่นพี่ช่วยเป็นแกนหลักว่า ขั้นตอนการดำเนินงานจะเป็นอย่างไร กิจกรรมจะทำอะไร อย่างไร จะไปเก็บข้อมูลในชุมชนอย่างไร การทำงานในโครงการอยู่ในสายตาของครูทุกๆ ท่าน รวมทั้งผู้อำนวยการก็จะทราบว่า กลุ่มนี้ทำอะไร เพราะการทำกิจกรรมต้องมีการขออนุญาตพาน้องๆ ออกไปเรียนรู้นอกสถานที่ นอกจากนี้ใน
ส่วนของเนื้อหาสาระทางประวัติศาสตร์ที่เด็กๆ สืบค้นและเรียบเรียงไว้ ครูได้นำไปพิมพ์เป็นเอกสารซึ่งเมื่อผู้อำนวยการโรงเรียนเห็นผลงานที่ปรากฎก็บอกว่าจะหางบประมาณมาพิมพ์เพิ่ม




“ส่วนจุดติดขัดในการทำงานของน้องๆ ในสายตาครูพบว่า ส่วนมากจะเป็นเรื่องของวัยรุ่นที่เขาอาจจะมีงอนกันบ้าง จนบางคนถึงขนาดบอกว่าจะไม่ทำแล้ว ครูในฐานะที่เป็นคนกลางก็ต้องรับทุกเรื่อง โดยปรึกษากับครูที่สอนเขาโดยตรงซึ่งมีความใกล้ชิดกับเด็กมากกว่าว่าต้องทำอย่างไร ส่วนมากครูก็ช่วยพูดกับตัวต้นเหตุก่อน ช่วยคลายปมทีละจุดด้วยการชวนคิดชวนคุยว่า ให้ช่วยกันนะลูก โครงการของเราใครจะเป็นพระเอกนางเอกคนเดียวไม่ได้ ทุกคนต้องเป็นพระเอกนางเอกกันหมด” ครูวิไลรัตน์เล่าถึงการช่วยคลี่คลายปัญหาความสัมพันธ์ในทีม

“ต่อยอด” การเรียนรู้

สมศักดิ์ จันทร์นวล ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ่อทรัพย์ที่ได้เห็นการทำงานของน้องๆ กลุ่มนี้มาโดยตลอด บอกว่า โครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อเด็กมากคือ อย่างน้อยๆ เขาก็ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของบ้านตนเองและสามารถเผยแพร่ไปสู่ภายนอกได้ เด็กได้ประสบการณ์จากโครงการนี้มากพอสมควร อันดับแรกคือความกล้าหาญ จากข้อมูลเดิมทราบว่าบางคนไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก พอมาอยู่ในโครงการนี้ก็กล้าแสดงออกมากขึ้น และสองทำให้เด็กสามารถเข้าสู่ชุมชนได้เป็นอย่างดี

โดยกระบวนการสร้างความรู้ที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ผ่านการทำงานในโครงการ อาจยังไม่ได้ขยายไปสู่เด็กคนอื่น แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความรู้ด้วยตนเองที่จะเป็นประโยชน์ต่อเด็กๆ ในอนาคต ส่วนการจะปรับกระบวนการเรียนรู้แบบนี้สู่การเรียนรู้ของโรงเรียนนั้น ผอ.สมศักดิ์มองว่า ที่ผ่านมาไม่เชิงว่าไม่อยู่ในแผน แต่มีอยู่บ้างในการเรียนการสอน เช่น ประวัติศาสตร์ที่เรามักเรียนกว้างๆ แต่พอมีโครงการนี้ก็เรียนแคบลง แคบในบริบทที่เกี่ยวข้องรอบๆ โรงเรียน ซึ่งจะช่วยสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับเด็กว่า ประวัติศาสตร์บ้านของตนเองสำคัญ ชุมชนของเราเมื่อก่อนมีความรุ่งเรืองอย่างไร เรียนจากแคบๆ ก่อนจะขยายไปสู่วงกว้างต่อไป

“กระบวนการสร้างความรู้ที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ผ่านการทำงานในโครงการ อาจยังไม่ได้ขยายไปสู่เด็กคนอื่น แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความรู้ด้วยตนเองที่จะเป็นประโยชน์ต่อเด็กๆ ในอนาคต”


เมื่อเห็นประโยชน์เช่นนี้โรงเรียนก็ต้องสนับสนุน เมื่อสงขลาฟอรั่มจัดกิจกรรม โรงเรียนก็จะมอบหมายให้ครูที่รับผิดชอบนำเด็กเข้าร่วมทุกครั้ง แต่มีข้อเสนอว่าเป็นไปได้ไหมที่จะขยายจำนวนเด็กจาก 5 คน เพิ่มขึ้นเป็น 7 คน หรือ 10 คน เพื่อที่จะได้เป็นการ “สร้างเด็ก” รุ่นต่อรุ่นให้ต่อเนื่องกันไป ถ้ามีโครงการแบบนี้ก็จะสนับสนุนให้เด็กๆ ทำโครงการอีก ซึ่งจากการรับรายงานจากคุณครูการสนับสนุนต่างๆ ดีแล้ว ทั้งเรื่องงบประมาณที่เหมาะสม

­



สำหรับการ “ต่อยอด” สิ่งที่นักเรียนทำในโครงการ ผอ.สมศักดิ์บอกว่า หนังสือที่พิมพ์ออกมาเป็นตัวอย่างนั้น โรงเรียนคงจะต้องจัดหางบประมาณพิมพ์เพิ่ม แล้วนำมาทำเป็นบทเรียนในการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของโรงเรียน สร้างเป็น “หลักสูตรท้องถิ่น” ที่มีเนื้อหาบูรณาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชุมชน

ณ วันนี้ช่วงต้นฤดูฝนของปี 2557 การทำงานของโครงการยังไม่สิ้นสุด เพราะน้องๆ กลุ่มจิตใสอาสา

ยังคงค้างแผนงานในส่วนของการทำป้ายแนะนำสถานที่ต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาตนเองสู่การเป็นมัคคุเทศก์น้อยประจำโรงเรียน ทั้งนี้เพราะทุกคนตระหนักว่า ชุมชนบ้านบ่อทรัพย์มีศักยภาพของสถานที่และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ อีกทั้งยังมองเห็นถึงความ “เชื่อมโยง” ในการทำงานของโครงการนี้กับโครงการของเพื่อนในโรงเรียนคือ โครงการโตไปไม่ว่างงานที่มีการทำไข่ครอบซึ่งเป็นภูมิปัญญาด้านการทำอาหารที่สามารถเป็นจุดขายทางด้านการท่องเที่ยวได้ รวมถึงการเชื่อมโยงสู่ผลิตภัณฑ์ปลาหวาน ซึ่งเป็นสินค้าของชุมชนที่มองว่า อาจเป็นสินค้าที่ระลึกจากการท่องเที่ยวในชุมชน น้องๆ เยาวชน
ต่างคาดหวังว่าหากสามารถทำในเรื่องเหล่านี้ได้ ก็จะทำให้ชุมชนบ้านบ่อทรัพย์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง คนในชุมชนเห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์บ้านของตนเอง ทั้งยังเป็นแนวทางสร้างรายได้แก่คนในชุมชน ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนบ้านบ่อทรัพย์ต่อไป




หลังจากการทำโครงการเยาวชนแกนนำกลุ่ม จิตใสอาสา ได้สะท้อนถึงคุณค่าของการเรียนรู้การทำงานตามคำบอกเล่าของเยาวชนพบว่า เยาวชนแกนนำเกิดจิตสำนึกความรักและหวงแหนบ้านเกิดและแหล่งประวัติศาสตร์โบราณสถานในชุมชนมากขึ้น ทั้งยังเยาวชนแกนนำเองยังเกิดความรักความผูกพัน ระหว่าง พ่อเฒ่าแม่เฒ่า เพื่อนในโรงเรียน และคนในชุมชนจากการลงไปเก็บข้อมูลเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ในชุมชน รวมถึงเยาวชนแกนนำทั้ง ๕ คน เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองไปในทางที่ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็น การเป็นคนที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นมากขึ้น มีความเป็นผู้นำ กล้าพูด กล้าคิด และแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่ถูกต้องอย่างเหมาะสมเช่น เยาวชนแกนนำจากเมื่อก่อนเป็นคนที่ขี้อาย ไม่กล้าพูด กล้าคุยกับใคร ไม่กล้าที่จะสบตา กับคนแปลกหน้า มาสามารถที่จะถ่ายทอดเรื่องราวข้อมูลประวัติศาสตร์ในชุมชนได้อย่างมั่นใจ(ในระดับหนึ่ง)ได้และที่สำคัญพวกเขาบอกว่าพวกเขาได้นำศักยภาพพลังพลเมืองตัวเล็กๆที่มีอยู่ในตนเอง พวกเขาสามารถดึงออกมาทำให้เกิดประโยชน์กับบ้านเกิดและชุมชนให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะทำให้เยาวชนในชุมชนหันเข้ามาใส่ใจดูแลถึงคุณค่าและประวัติศาสตร์ของชุมชนตนเองมากขึ้น เป็นต้น

­

­


ปัจจุบันกระบวนการทำงานของกลุ่มจิตใสอาสากำลังค่อยๆขยับไปพร้อมๆกับการเรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้น เช่นแกนนำหลายคนต้องช่วยพ่อแม่ทำมาหากินในช่วงเวลาว่างทำให้ต้องเสียสละและได้รับความร่วมมือจากครอบครัวเพื่อมาทำงานให้ส่วนรวม หรือการที่แกนนำในกลุ่มบางคนไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมได้ เนื่องจากย้ายสถานศึกษาหรือลาออกกลางคันทำให้ครูและเพื่อนที่เหลือต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้แล้วเยาวชนนำต้องฝึกฝนตนเองในการถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนให้เป็นเรื่องเล่าที่มีพลังสามารถสร้างจิตสำนึกคนให้ได้ การขับเคลื่อนโครงการห้องเรียนประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านบ่อทรัพย์ มีความโดดเด่นอยู่ที่ครูกับศิษย์ได้หลอมหัวใจเป็นหนึ่งเพื่อเรียนรู้และหนุนเสริมซึ่งกันและกันโดยมีแรงบันดาลใจจากความห่วงใยชุมชนเป็นฐานพลังที่จะเอาชนะกับปัญหาอุปสรรค์ต่างๆปัจจุบันคุณครูเองยังรู้สึกภาคภูมิใจที่การทำงานได้นำมาซึ่งการเติบโตและศักยภาพใหม่ของลูกศิษย์ เช่น จากลูกศิษย์ที่เป็นเด็กเงียบๆไม่กล้าที่จะคุยกับใครก็กลายมาเป็นแกนนำที่มีบทบาทสำคัญในการเล่าเรื่องราวของชุมชนในน้องฟัง และจากลูกศิษย์ที่เป็นเด็กที่เอาแต่ใจ คนอื่นต้องทำตามสิ่งที่ตนเองคิดก็ปรับเปลี่ยนมายอมรับความคิดเห็นของคนอื่น ยอมรับในศักยภาพของเพื่อนร่วมทีมหรือแม้แต่ลูกศิษย์ที่เอาแต่รอให้คนอื่นนำอยู่ตลอดเวลาก็เปลี่ยนแปลงมาผู้นำในบางสถานที่เขาถนัด ที่สำคัญครูเริ่มมองเห็นความหวังว่าในอนาคต ลูกศิษย์เหล่านี้จะเติบโตมาเป็นพลเมืองที่มีบทบาทในการพัฒนาและปกป้องบ้านเกิดของพวกเขา“เป็นเด็กบ้านนอกที่ภูมิใจในรากเหง้าของตนเอง”