โจทย์ใหญ่ที่นักศึกษาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาราชภัฏสงขลาต้องพบตลอดระยะเวลา 4 ปีการศึกษาคือการหา “พื้นที่” ทำงานพัฒนาชุมชน...เพราะกรอบการเรียนระบุว่า นักศึกษาต้องลงไปร่วมเรียนรู้กับชุมชน ศึกษาสถานการณ์ปัญหา ตลอดจนใช้วิชาความรู้หรือทฤษฎีไปช่วยแก้ปัญหาของชุมชนได้



นักศึกษาทั้ง 7 คน ของกลุ่ม CD POWER ที่ประกอบด้วย นัฐวุฒิ เกื้อบุญส่งหรือ “หนุ่ม” สุทธิพงษ์ จูเอ้งหรือ “บอย” เกรียงไกร สองไทย หรือ “อาร์ม” อภิวัฒน์เทิดเกียรติ หรือ “ซัน” จุรีรัตน์ ประหลาดมานิตหรือ “กิ่ง” วริยา กาญจนะ หรือ “อุ๊” และ วาสนา พรมนุ้ย หรือ “ปู” นักศึกษาโปรแกรมวิชาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ก็ไม่มีข้อยกเว้น

หนุ่มเล่าว่า การเรียนพัฒนาชุมชน อาจารย์จะให้โจทย์ไว้ว่านักศึกษาต้องทำงานพัฒนาชุมชน ด้วยการฝังตัวอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ตั้งแต่ปีที่ 1 จนถึงปีที่ 4ที่เรียกกันว่า “ห้องปฏิบัติการทางสังคม” หรือ “Social Lab” โดยในชั้นปีที่ 1 นักศึกษาต้องรู้จัก “บริบท” ของชุมชน สามารถบอกได้ว่าชุมชนนี้อยู่ที่ไหน มีวัฒนธรรม และความเป็นมาอย่างไรพอขึ้นปี 2 จึงเริ่มเจาะลึกในรายประเด็น เช่น เริ่มศึกษาปัญหา ศึกษาต้นทุนของชุมชน รวมถึงวิเคราะห์ และกระตุ้นให้คนในชุมชนรับรู้ถึงปัญหาดังกล่าว และในปี 3 เมื่อเรียนรู้ทฤษฎีมากขึ้น นักศึกษาต้องเข้าไปสร้างการมีส่วนร่วมให้คนในชุมชนเข้ามาแก้ไขปัญหาของตนเอง โดยมีนักศึกษาเป็นพี่เลี้ยงส่วนในปีที่ 4 นักศึกษาต้องจัดกระบวนการให้ชุมชนจัดการตนเอง มีนักศึกษาเป็นผู้ติดตามประเมินผลและถอดบทเรียน ทั้งนี้เพราะต้องการให้นักศึกษาได้ลงมือทำงานพัฒนาชุมชนอย่างจริงจัง

แต่ปัญหาที่เป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขาคือ...ทุกคนอยู่นอกพื้นที่...และบางคนไม่รู้จักพื้นที่เลยแม้แต่น้อย

พัฒนาโจทย์...พัฒนาคน

จากโจทย์ที่นักศึกษาทุกคนและทุกชั้นปีต้องหาพื้นที่ทำงานกับชุมชน ทำให้เพื่อนๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ต่างมี “ห้องปฏิบัติการทางสังคม” กันเกือบทุกคนแล้ว…คงเหลือแต่สมาชิก 7 คนของ CD POWER เท่านั้นที่ยังเคว้งอยู่

“เครียดมาก เพราะเพื่อนๆ ได้พื้นที่ทำงานกันหมดแล้ว เหลือแต่พวกเราที่ยังไม่มีพื้นที่ทำงาน เพราะพื้นที่ที่พวกเราเสนอไปอาจารย์ก็ไม่เห็นด้วย ทำให้ต้องเปลี่ยนโจทย์ เปลี่ยนพื้นที่อยู่หลายครั้ง...โชคดีที่อาจารย์ปอมพาไปเรียนรู้ที่ชุมชนบ้านต้นปลิงที่รุ่นพี่เคยเข้าไปทำฝายชะลอน้ำมาแล้ว สิ่งที่เห็นคือชุมชนกำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ทั้งๆ ที่บริเวณนี้ป่าอุดมสมบูรณ์มาก เลยคิดสานงานต่อจากที่รุ่นพี่เคยทำไว้โดยใช้โจทย์เดิมคือการทำฝายชะลอน้ำ” หนุ่มบอกเล่าจุดเริ่มต้นของการทำโครงการ

แม้ว่าการเลือกโจทย์ในการทำโครงการของน้องๆ ครั้งนี้ยังไม่ชัดเจนมากนัก เพราะมีคำถามตามมาว่าการทำฝายชะลอน้ำจะช่วยให้ชุมชนมีน้ำใช้เพิ่มขึ้นอย่างไร? “ด้วยวิธีการอย่างไร?” แต่การ “ทำฝาย” ครั้งนี้เป็น “เครื่องมือ” ให้น้องๆ ได้เข้าสู่ชุมชน สัมผัสชุมชน ให้พวกเขาได้เรียนรู้คนในชุมชนและทำงานร่วมกับชุมชนมากยิ่งขึ้น



อาจารย์ณัฏฐาพงษ์ อภิโชติเดชาสกุล หรือ “อาจารย์ปอม” อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา บอกว่า หลังกลับจากชุมชนต้นปลิง นักศึกษากลุ่มนี้กำลังคิดทำโครงการอยู่ ซึ่งพอดีกับทางสงขลาฟอรั่มมีโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาขึ้นเป็นปีแรกจึงเห็นโอกาสและอยากให้นักศึกษาได้เข้ามาเรียนรู้ “เครื่องมือ” การทำงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเขียนและพัฒนาโครงการขณะเดียวกันก็มีงบประมาณสนับสนุนการทำโครงการด้วย จึงแนะนำให้เสนอโครงการไปที่สงขลาฟอรั่มซึ่งพวกเขาได้รับการคัดเลือก และมีโอกาสเข้าค่ายกับสงขลาฟอรั่มจำนวน 3 วัน 2 คืน

และนี่คือจุดเริ่มต้นของโครงการปลูกต้นน้ำคืนชีวิต...ของกลุ่ม CD POWER

ทำไป...เรียนรู้ไป


ดวงแก้ว แกล้วทนงค์ หรือ “พี่กล้วย” พี่เลี้ยงสงขลาฟอรั่ม เล่าว่า จุดเด่นของน้องๆ กลุ่มนี้คือ “ใจ” ที่มุ่งมั่นทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ แม้จะเริ่มต้นทำโครงการช้ากว่ากลุ่มอื่น แต่พวกเขาก็มีใจเกินร้อยมาก การทำโครงการของน้องๆ กลุ่มนี้จึงเป็นลักษณะ “ทำไปเรียนรู้ไป”

“แม้โจทย์แรกคือการสำรวจพื้นที่เพื่อหาจุดที่เหมาะสมในการทำฝายชะลอน้ำ แต่เมื่อพบว่า “ตลิ่ง” กำลังพังขึ้นเรื่อยๆโจทย์ต่อมาที่ทุกคนนำมาหารือและขบคิดร่วมกับชุมชนคือทำอย่างไรที่จะป้องกันการพังทลายของตลิ่งได้ หนุ่มและทีมจึงจัดทีมใหม่...เพราะตอนนี้ “งานงอก” ที่ต้องทำพร้อมๆ กับงานหลักคือ ปลูกหญ้าแฝกควบคู่กับการทำฝายชะลอน้ำ”


บอยเล่าว่า เขาได้รับมอบหมายจากเพื่อนๆ ให้ทำหน้าที่ประสานงานในชุมชนเบื้องต้นบอยจึงเริ่มต้นภารกิจด้วยการเข้าไปหาผู้ใหญ่บ้านเพื่อแนะนำตนเองพร้อมกับชี้แจงรายละเอียดของโครงการให้ผู้นำชุมชนรับรู้ ซึ่งผู้นำชุมชนก็เห็นด้วยและยินดีที่นักศึกษาจะเข้ามาทำโครงการ หลังจากนั้นบอยและเพื่อนๆ ในกลุ่มจึงรวมตัวกันลงพื้นที่สำรวจปัญหาชุมชนเป็นครั้งแรก

“จำได้ว่ารู้สึกดีใจมากที่ผู้นำชุมชนและชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) กว่า 10คนให้การต้อนรับพวกเราเป็นอย่างดี เสมือนว่าเราเป็นแขกของหมู่บ้าน คอยดูแลพวกเราตลอดเวลาของการลงพื้นที่ ทั้งยังให้คำแนะนำระหว่างการลงสำรวจพื้นที่ด้วย”

­


และในขณะกำลังเดินสำรวจพื้นที่ในชุมชน สิ่งที่พวกเขาเห็นนอกจากการรุกล้ำลำห้วยแล้ว ยังพบว่ามีการพังทลายของตลิ่ง ที่กำลังขยายเป็นวงกว้าง....

แม้โจทย์แรกคือการสำรวจพื้นที่เพื่อหาจุดที่เหมาะสมในการทำฝายชะลอน้ำ แต่เมื่อพบว่า “ตลิ่ง” กำลังพังขึ้นเรื่อยๆโจทย์ต่อมาที่ทุกคนนำมาหารือและขบคิดร่วมกับชุมชนคือทำอย่างไรที่จะป้องกันการพังทลายของตลิ่งได้

“ที่ประชุมเสนอให้มีการปลูกหญ้าแฝกเพื่อลดการพังทลายของหน้าดินไปพร้อมกับการทำฝาย”หนุ่มและทีมจึงนำประเด็นนี้มาหารือกันต่อพร้อมๆ กับจัดทีมใหม่...เพราะตอนนี้ “งานงอก” ที่ต้องทำพร้อมๆ กับงานหลักคือ ปลูกหญ้าแฝกควบคู่กับการทำฝายชะลอน้ำ

ทีมจึงถูกแบ่งออกเป็น 2 ทีม โดยทีมแรกรับผิดชอบงานด้านการจัดทำฝาย ทีมที่สองดูแลเรื่องการปลูกหญ้าแฝก

­


“ข้อมูล-ความรู้”สิ่งจำเป็นที่ต้องมี

เมื่อต้องปลูกหญ้าแฝก แต่ข้อจำกัดของทีมคือยังมี “ความรู้” เกี่ยวกับหญ้าแฝกไม่มากพอ ทีมชุดที่ 2 จึงต้องลงมือค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมพร้อมทั้งจัดชุดไปประสานขอกล้าแฝกจากกรมป่าไม้


“หน้าแตกกลับมาเลยครับ พี่ที่กรมป่าไม้บอกว่ากล้าแฝกต้องไปขอที่กรมพัฒนาที่ดินพวกเราจึงทำหนังสือขอกล้าแฝกจากสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 จังหวัดสงขลา...”หนุ่มบอกเล่าความรู้สึก

“ทีมต้องกลับมา “ตั้งหลักคิด” กันใหม่ว่า ก่อนที่จะทำงานอะไรก็ตามพวกเราควรสืบค้นข้อมูลความรู้ในเรื่องนั้นๆ ให้ดีก่อน”

และเพราะไม่เคยเห็น “หญ้าแฝก”จึงทำหนังสือขอกล้าแฝกเพียง800 กล้า แต่เมื่อถึงเวลาไปรับของ ก็พบว่า กล้าแฝก 800 กล้าไม่น่าจะเพียงพอ

“จึงขอเพิ่มเป็น 2,500ต้น...พอถึงเวลาไปรับต้นกล้า สิ่งที่เรารู้คือ เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับหญ้าแฝกเลย เพราะตอนลงไปในแปลงปลูกหญ้าแฝกก็เห็นว่ามีการปลูกหญ้าแฝกอยู่หลายประเภท และแต่ละประเภทปลูกในดินแบบไหน ปลูกในฤดูกาลอะไร เราไม่รู้เลย...”



จุดนี้เองที่ทำให้ทีมต้องกลับมา “ตั้งหลักคิด” กันใหม่ว่า ก่อนที่จะทำงานอะไรก็ตามพวกเราควรสืบค้นข้อมูลความรู้ในเรื่องนั้นๆ ให้ดีก่อน...


แรงใจ...จากคนในชุมชน

ถึงกระนั้นก็ตาม...งานต้องเดินไปตามแผน ทีมหญ้าแฝกได้ต้นกล้าจากสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 จังหวัดสงขลา 2,500 ต้น ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะพอสำหรับการปลูกเพื่อลดการกัดเซาะพังทลายของตลิ่งในส่วนของทีม “สร้างฝาย” ที่มีการลงสำรวจเพื่อหาจุดทำฝายอีกรอบเพื่อให้มั่นใจว่า “ฝายลูกใหม่” จะไม่ล้มเหลวเหมือนฝายที่พี่ๆ เคยไปทำไว้

“ครั้งที่ 2 ของการสำรวจ ก็เดินหากันหลายจุด เราเลือกจุดที่ผู้นำหมู่บ้านและชุมชนเป็นคนชี้เป้า...แม้เราจะเห็นว่าถ้าสร้างฝายเหนือขึ้นไปจากจุดเดิมอาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่า...เนื่องจากพื้นที่ไม่ชันมาก และลดการกระแทกของน้ำได้...แต่ถ้าย้ายไปทำในพื้นที่ใหม่อาจจะเกิดปัญหากับคนในชุมชนได้เช่น พื้นที่ทำฝายบางส่วนอาจรุกล้ำพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน เป็นต้น และที่สำคัญคือหากสร้างฝายในพื้นที่ที่ลึกเกินไปจะทำให้การขนย้ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทำได้ยาก”

­


อย่างไรก็ตาม...เวลาแห่งการสร้างฝายและปลูกหญ้าแฝกมีไม่มากนัก ลำพังกำลังคน 7 คนอาจไม่เพียงพอ กลุ่มCD POWER จึงชักชวนเพื่อนในสาขาวิชาให้เข้ามาช่วยกัน “ทำความดี” โดยระดมคนได้ถึง 40 คน

“พอวันจะไปจริงๆ ฝนตกหนักมาก จากเพื่อนที่คิดว่าจะมา 40 คน เหลือแค่ 20 คนเท่านั้น ผมประเมินแล้ว กำลังคนไม่พอแน่ๆ แต่งานต้องเดินต่อไปเราก็เข้าพื้นที่ด้วยกำลังคนเพียง 20แต่พอไปถึงก็พบว่ามีชาวบ้านมารออยู่เกือบ 20 คน...ตรงนี้คือกำลังใจที่ทำให้เรามีแรงและกำลังใจฮึดสู้ขึ้นมาอีกครั้ง” หนุ่มเล่าสถานการณ์วันนั้นให้ฟังด้วยรอยยิ้ม

“พวกเราตั้งใจเต็มที่มากที่จะทำงานในวันนี้ จึงไม่อยากยกเลิก และที่สำคัญคือ ถ้าเรายกเลิกไป ผลที่ตามมาคือความไว้วางใจจากชาวบ้านที่มารอเราทั้งๆ ที่ฝนตกกำลังอยู่ และเพื่อนๆ ที่พวกเราชักชวนมาจะรู้สึกอย่างไรฉะนั้นไม่ว่าฟ้าฝนจะเป็นใจหรือไม่ พวกเราต้องทำกิจกรรมนี้ให้สำเร็จ”

พี่กล้วยเล่าเสริมว่า เหตุการณ์ในวันนั้นฝนที่ตกกระหน่ำอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุด อาจทำให้ภารกิจของน้องๆ ไม่บรรลุเป้าหมาย ในฐานะพี่เลี้ยงจึงเสนอให้น้องๆ ยกเลิกภารกิจไปก่อนเพราะเกรงว่าจะเกิดอันตราย
แต่เมื่อได้พูดคุยกับน้องๆ ในกลุ่มเห็นความมุ่งมั่นของพวกเขาแล้วก็ต้องยอม ปล่อยให้พวกเขาทำงานท่ามกลางสายฝนต่อไป




หนุ่ม เล่าถึงความรู้สึกในวันนั้นว่า พวกเราตั้งใจเต็มที่มากที่จะทำงานในวันนี้ จึงไม่อยากยกเลิก และที่สำคัญคือ ถ้าเรายกเลิกไป ผลที่ตามมาคือความไว้วางใจจากชาวบ้านที่มารอเราทั้งๆ ที่กำลังฝนตกอยู่ และเพื่อนๆ ที่พวกเราชักชวนมาจะรู้สึกอย่างไรฉะนั้นไม่ว่าฟ้าฝนจะเป็นใจหรือไม่ พวกเราต้องทำกิจกรรมนี้ให้สำเร็จ

เมื่อคิดเดินหน้าทำกิจกรรมต่อ แผนที่วางไว้ก็ต้องปรับเปลี่ยนใหม่ เพราะในตอนแรกจะช่วยกันระดมปลูกหญ้าแฝกก่อนแล้วจึงย้ายกำลังไปทำฝายแต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน หนุ่มและเพื่อนๆ จึงแบ่งทีมออกเป็น2 ทีมคือทีมสร้างฝายมีหนุ่ม บอย อาร์ม และปูเป็นแม่งาน ส่วนทีมปลูกหญ้าแฝกมีซัน อุ๊ และกิ่งเป็นแม่งาน หนุ่มบอกเล่าถึงสาเหตุของการแบ่งทีมทำงานเช่นนี้ว่า เป็นเพราะทีมสร้างฝ่ายต้องการแรงงานผู้ชายมากกว่า ส่วนทีมปลูกหญ้าแฝกที่ต้องให้ซันไปอยู่ด้วยก็เพื่อช่วยดูแลความปลอดภัยของเพื่อนผู้หญิง และช่วยยกของหนักๆ บ้างส่วนเพื่อนๆ อีก 20 คน และชาวบ้านบางส่วนก็แบ่งทีมรับผิดชอบตามความถนัด สำหรับเรื่องอาหารการกินก็ได้ชาวบ้านผู้หญิงมาช่วยดูแล

เรียนรู้...จากการทำงาน

เวลาที่เดินหน้าไปเรื่อยๆ กับฝนที่ตกกระหน่ำโดยไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ทำให้การทำฝายไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้เพราะความแรงของน้ำจากลำห้วยที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้ฝายลูกใหม่พังก่อนเวลาอันควร...ซึ่งเมื่อทบทวนประสบการณ์ความล้มเหลวของรุ่นพี่ด้วยแล้ว ทำให้พวกเขาต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำฝายใหม่ท่ามกลางสายฝน

ฝายเดิมคือการเอาไม้มาปักบนลำห้วย เอากระสอบทราบมาวางซ้อนเป็นชั้นๆขณะที่ฝายใหม่นอกจากการปักไม้ในชั้นแรกแล้ว ยังต้องมีไม้อีกชั้นสานเป็นตารางเพื่อให้ฝายแข็งแรงยิ่งขึ้น จากนั้นจึ้งค่อยนำกระสอบทรายมาวางซ้อนกัน



“ต้องขอบคุณทุกคนที่ร่วมกันคิดหาทางแก้ไขไปทีละจุดจนพวกเราสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปได้ในที่สุด”

ส่วนการปลูกหญ้าแฝกก็มีปัญหาไม่แพ้กันแม้จะวางแผนมาอย่างดี แต่ด้วยข้อมูลความรู้ที่มีน้อยเกินไปโดยเฉพาะความรู้เรื่องการปลูก ความลึกของหลุมและระยะห่าง ตลอดจนฤดูการปลูกทำให้ไม่สามารถคำนวณพื้นที่และจำนวนหญ้าแฝกที่มีอยู่ได้ แม้เทคนิควิธีเหล่านี้จะไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนโปรแกรมรายวิชาพัฒนาชุมชนโดยตรงแต่การหา “ความรู้เพิ่มเติม” ที่อาจารย์ที่ปรึกษานำมาสอนก่อนการลงพื้นที่ ก็ทำให้การทำฝาย และการปลูกหญ้าแฝกสำเร็จลุล่วง

1 สัปดาห์ผ่านไป หนุ่มสาวทั้ง 7 คนลงพื้นที่ชุมชนบ้านต้นปลิงอีกครั้งเพื่อติดตามผลการทำงานกิจกรรม...พบว่าทั้งฝายชะลอน้ำและหญ้าแฝกที่ปลูกไว้ยังสมบูรณ์อยู่


2 เดือนต่อมาหลังเสร็จสิ้นกิจกรรม พวกเขาลงพื้นที่อีกครั้งก็พบว่า ทั้งฝายและหญ้าแฝกพังเสียหายยับเยิน...จากการอุดตันของทราย ส่วนหญ้าแฝกก็อยู่ในภาวะแห้งตาย...

บทเรียนสอนให้น้องกลุ่มนี้นู้ว่า ความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ “การสร้างฝายเสร็จ” แต่อยู่ที่การหาความรู้ก่อนทำว่า ฝายที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เป็นอย่างไร และ “ความต่อเนื่องในการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนที่จะ “รักษา” ฝายและดูแลหญ้าแฝกให้เติบโตต่อได้ แม้นักศึกษากลับออกไปจากชุมชนแล้ว

ดังนั้นโจทย์สำคัญในการคืนชีวิตให้ต้นน้ำคือการสร้างคนที่จะมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรป่าไม้ของชุมชนอย่างยั่งยืน




ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน


ความพยายามบวกกับความมุ่งมันตั้งใจ ทำให้กลุ่ม CD Power สามารถทำงานผ่านไปได้ด้วยดี แม้จะมีอุปสรรคขวากหนามต่างๆ มาทดสอบก็ตาม

แต่สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนออกมาชัดเจนโดยเฉพาะจากการลงพื้นที่ครั้งแรกที่พวกเขามองเห็นว่า “ตลิ่ง” กำลังจะพังและต้องหาทางจัดการแก้ไข เพราะถ้า “นักพัฒนาชุมชน” มองเพียง “เป้าหมาย” ที่ต้องการทำ ในที่นี้คือการการสร้างฝายโดยไม่สนใจว่าปัญหารายทางที่พบคืออะไรแต่พวกเขากลับมองว่า นี่คือสิ่งที่พวกเขาต้องเอามาเป็นธุระ เข้ามาจัดการแก้ไขด้วยการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม แม้ว่าจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ก็ตาม

­


แต่ที่แน่ๆ คือ นับจากนาทีนี้...ทุกๆ ครั้งที่พวกเขาจะลงมือทำงาน สิ่งแรกที่ต้องทำคือการ “ค้นคว้าหาข้อมูล” ทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง นำมาคิด วิเคราะห์ ประเมินสรรพกำลังที่มีก่อนลงมือทำกิจกรรมหรือโครงการ ซึ่งแผนการทำงานเช่นนี้จะช่วยให้สิ่งที่พวกเขาคิดวางแผนไว้สำเร็จได้ในที่สุด