จันทิมา แก้วทอง
แกนนำเยาวชน active citizen จ.สตูล
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

เยาวชนเด่น โครงการสานพลังพัฒนาสวนป่าสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนหมู่ที่ 7  ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล

ชื่อเรื่อง เปลี่ยนสวนป่ารกร้างให้เป็น Public space ของในชุมชน


วิชาโครงงานฐานวิจัย เป็นแนวทางการเรียนรู้ที่โรงเรียนอนุบาลมะนัง ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูลเลือกนำมาปรับใช้กับนักเรียนในทุกระดับชั้นเมื่อปีการศึกษาที่ผ่านมา (ปี 2562) ตามนโยบายของผู้บริหาร การเลือกหัวข้อโครงงานในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่นักเรียนได้คิดโครงงานเอง เพื่อลงมือทำโครงงานตามโจทย์ที่นักเรียนสนใจ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 วิชาโครงงานฐานวิจัยถูกนำมาผนวกเข้ากับโครงการ Satun Active Citizen หรือ โครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูล ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาแกนนำเยาวชนในแต่ละพื้นที่ ผ่านประสบการณ์ทำงานร่วมกับชุมชน โรงเรียนอนุบาลมะนังมี ครูชัย - ศุภชัย หนูแก่นเพชร ครูที่ปรึกษานักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นพี่เลี้ยงโครงการ


โครงงานฐานวิจัยครั้งแรก

โครงการสานพลังพัฒนาสวนป่าสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนหมู่ที่ 7 ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล เป็นโครงการที่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ห้องครูชัยเลือกทำ พราว - จันทิมา แก้วทอง ได้รับเลือกจากเพื่อนๆ ในชั้นเรียนให้เป็นประธานกลุ่ม จากประสบการณ์ที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานนักเรียนโรงเรียนอนุบาลมะนังถึง 2 สมัย แน่นอนว่าเธอมีประสบการณ์การเป็นผู้นำ

“เพื่อนน่าจะเห็นว่า หนูเป็นประธานนักเรียนด้วย สามารถบริหารงานกลุ่มย่อยกลุ่มใหญ่ได้ เขาก็เลยเลือกให้หนูเป็นประธาน หนูลงสมัครประธานนักเรียน เพราะมองเห็นปัญหาภายในโรงเรียน เลือกทำงานส่วนรวมมากกว่าทำงานของตัวเองก่อน เพราะคิดว่าตัวเองสามารถพัฒนาและแก้ไขปัญหาภายในโรงเรียน พ่อเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะพ่อเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หนูเห็นว่าพ่อเป็นคนเสียสละ เลยได้แบบอย่างการทำงานมาจากพ่อ รวมถึงคนอื่นๆ ที่เสียสละเป็นตัวอย่าง คิดว่าถ้าเราเป็นคนแบบนั้น เราน่าจะทำให้สังคมน่าอยู่มากขึ้นได้ เวลาทำงาน ทำโครงการหรือว่ามีประชุม พ่อกับแม่ก็คอยสนับสนุนในสิ่งที่หนูทำ”

พราว เล่าว่า กระบวนการทำโครงการไม่ยากหากมีการวางแผน ขั้นตอนระยะแรก ประกอบด้วย การลงสำรวจพื้นที่ชุมชนเพื่อหาประเด็นที่สนใจอยากทำโครงการ แล้วกลับมาการระดมความคิดร่วมกันในทีมเพื่อตั้งโจทย์โครงการที่อยากทำจริงๆ เมื่อได้โจทย์โครงการแล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนการเก็บข้อมูลอีกครั้งในระยะที่สอง

“ทางโรงเรียนให้นักเรียนแบ่งกันว่าอยากสำรวจเรื่องอะไร ในโรงเรียนตอนนั้นมีคาบวิจัย 2 ชั่วโมง เราวางแผนไปสำรวจพื้นที่ใน 2 ชั่วโมงนั้น แต่ถ้าไม่ทันก็นัดมาทำงานกันต่อเสาร์อาทิตย์ เมื่อเก็บข้อมูลมาได้ ห้อง ม.3 ช่วยกันเสนอโครงการที่อยากทำ 3 เรื่อง หนึ่งน้ำประปาสีชาเย็น สองเรื่องบ่อน้ำบาดาล และสามการพัฒนาสวนป่า ถ้าเราศึกษาบ่อบาดาล เราต้องเจาะลึกลงไปถึงบาดาล พวกเราก็ไม่สามารถดำเนินการขนาดนั้นได้ ในส่วนของน้ำประปาเกี่ยวข้องกับองค์กรบริหารส่วนตำบล พวกเราเลยคิดว่าให้ อบต. เป็นคนดูแลดีกว่า เลยตกลงเลือกทำโครงงานเรื่องสวนป่า เพราะเป็นจุดใหญ่กลางชุมชนที่เป็นศูนย์รวมของชุมชนมะนัง” พราว เล่าถึงเหตุผลที่เลือกทำโครงการสานพลังพัฒนาสวนป่า

เป้าหมายของโครงการสานพลังพัฒนาสวนป่าสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนหมู่ที่ 7 คือ การเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นพื้นที่ใช้สอยที่เกิดประโยชน์กับคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสวนป่าให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องพรรณไม้และทรัพยากรธรรมชาติพื้นถิ่น พราว บอกว่า การทำงานกับเพื่อนในห้องเรียนเดียวกันไม่ใช่เรื่องยากเพราะรู้ใจกัน สิ่งสำคัญ คือ การพูดคุยให้ทุกคนเห็นเป้าหมายและเข้าใจลำดับการทำงานอย่างชัดเจน

“ตอนเป็นประธานนักเรียน เราได้รู้จักการวางแผนงาน การแบ่งงาน และการควบคุมคนเยอะๆ พอได้มาทำงานโครงการคนน้อยกว่า เพื่อนในห้อง 23 คนหนูสามารถดำเนินงานได้ง่าย มีประธาน มีเหรัญญิกคอยรวบรวมว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ มีเลขาจดข้อมูลที่ประชุมกัน แล้วก็ฝ่ายอื่นๆ พอมีงานย่อยเราให้เขาแบ่งงานตามถนัด เช่น ถ้าจัดโครงงานขึ้นมาสักหนึ่งโครงการ ก็จะแบ่งเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายสถานที่ ฝ่ายเตรียมอุปกรณ์ทำโครงงาน ฝ่ายนำเสนองาน แล้วแต่ว่าเขาถนัดอะไร ให้ไปรับผิดชอบฝ่ายนั้นจะได้ทำงานกันอย่างเต็มที่”

เมื่อได้โจทย์โครงการมาแล้ว พราว เล่าว่า พวกเขารวบรวมความคิดกันก่อนว่าจะแก้ไขปัญหาหรืออยากพัฒนาสวนป่าไปในทิศทางใด หลังจากนั้นจึงวางแผนเก็บข้อมูล ตั้งคำถามแยกเป็นหัวข้อ ก่อนลงพื้นที่สำรวจสวนป่าอย่างจริงจัง หัวข้อที่พราวและเพื่อนๆ สนใจมี 4 หัวข้อ ได้แก่ คำถามเกี่ยวกับชนิดต้นไม้ การกำจัดขยะในสวนป่า สภาพอากาศ และชนิดของสัตว์ป่า

“ตอนที่ลงสำรวจสภาพป่าครั้งแรก เจอเศษแก้ว เศษขยะ ม้าหินอ่อนพุพัง มีกลุ่มวัยรุ่นที่มักเข้าไปนั่งสังสรรค์ในสวนป่า ทำลายข้าวของ ทิ้งขวดแก้ว ทิ้งขยะ เป็นแหล่งมั่วสุม ที่ผ่านมาไม่เคยมีเหตุการณ์น่ากลัวแต่ป่าตรงนี้เป็นป่าทึบที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งติดกับโรงเรียนจึงเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างอันตรายสำหรับนักเรียน”


เปลี่ยนสวนป่าร้างให้กลายเป็น Public Space

Public Space คือ พื้นสาธารณะที่ 'ทุกคน' สามารถเข้าถึงและเข้ามาใช้ร่วมกัน ไม่ใช่แค่พื้นที่ที่มีบรรยากาศดีๆ แต่มอบ ‘ประสบการณ์’ ที่เข้าถึงผัสสะ (senses) เชื่อมโยงผู้คนและสังคมรอบข้าง

“ครูชัยให้ลองคิดดูดีๆ ว่ามีใครมีส่วนในสวนป่าบ้าง แล้วพวกเราก็คิดกันว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ส่วนรวมก็น่าจะเป็นของทุกคน เพราะฉะนั้นเราต้องให้เขาช่วยกันคิดแนวทางแก้ไขปัญหา ถ้าเอาความคิดใดความคิดหนึ่งเป็นหลัก อาจทำให้เกิดความขัดแย้งในชุมชน”

หากต้องการพัฒนาสวนป่าอย่างยั่งยืนในระยะยาว พราว ย้ำว่า ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนด้วยการสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ เมื่อคนในชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของผืนป่า ก็จะไม่ปัดภาระให้เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งในการเข้ามาดูแลรักษา

“เพียงแค่กลุ่มเด็กๆ อย่างพวกเราเพียงอย่างเดียวคงสามารถความเปลี่ยนแปลงไม่ได้เยอะ พื้นที่ป่าตรงนั้นมีกำนันเป็นคนดูแลอยู่แล้ว เราเลยติดต่อขอสัมภาษณ์กำนันว่าควรทำอย่างไร ร่างหนังสือเชิญขึ้นมาแล้วเอาไปให้คุณครูดูว่าต้องแต่งเติมตรงไหนบ้าง เป็นหนังสือเชิญขอเข้าร่วมประชุม แล้วขออนุญาตครูชัย ขับรถออกไปส่งเอกสารเองเพราะว่าบ้านของกำนันอยู่ใกล้ๆ กับโรงเรียน”

“ตอนแรกรู้สึกเกร็งๆ เพราะไม่รู้จักกับกำนันเป็นการส่วนตัว กังวลว่าจะคุยรู้เรื่องหรือเปล่า รู้สึกกลัวๆ ว่าที่พูดไปจะเข้าหูเขาไหม แต่ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ กำนันยอมรับความคิดเห็นของนักเรียนที่เสนอไป คือ การพัฒนาสวนป่าให้เป็นพื้นที่ใช้สอยของชุมชน”

“เราได้ไปสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่ในชุมชน ประมาณ 5-6 คน ที่อยู่ดั้งเดิมในแถบนั้น แล้วก็มีวัยรุ่น เยาวชน และผู้ใหญ่ละแวกนั้น แบ่งเป็นกลุ่มประมาณ 5-6 กลุ่ม ให้แต่ละคนในแต่ละกลุ่มแบ่งงานเป็นสายๆ คนนี้ถ่ายรูป คนนี้บันทึก คนนี้ตั้งคำถาม คนนี้สอบถามข้อมูล ถามเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสวนป่า พืชพันธุ์ไม้ ปัญหาที่เกิดขึ้น สาเหตุของปัญหา และแนวทางแก้ไขปัญหา เราให้คนในชุมชนช่วยกันระดมความคิด เพราะว่าสวนป่าเป็นของทุกคนในพื้นที่”

พราว บอกว่า แต่เดิมเด็กเยาวชนกับผู้ใหญ่ในชุมชน ถ้าไม่ใช่ครอบครัวเดียวกันก็ไม่ค่อยรู้จักคุ้นเคยกันเท่าไรนัก เธอรู้สึกประทับใจบรรยากาศระหว่างการพูดคุยกับผู้สูงอายุในชุมชน เป็นประสบการณ์ที่ทำให้อบอุ่นใจ

“เรารู้สึกว่าเขาดีใจเวลามีเด็กๆ มาบ้านแล้วก็พูดคุยกับเขา ตากับยายบอกว่ากลับมาอีกนะลูก ถึงไม่มีงานให้ทำ ก็กลับมาเยี่ยมกันนะ” พราว เอ่ยขึ้นด้วยน้ำเสียงตื้นตัน


เวทีคืนข้อมูลความรู้สู่ชุมชน และ วงเสวนาเรื่องการบริหารจัดการสวนป่า เป็นงานเฉพาะกิจที่จัดขึ้นอย่างเป็นทางการจากความร่วมมือของกลุ่มเยาวชนและผู้นำชุมชน เพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้คนในชุมชนรับรู้ถึงเป้าหมายโครงการ และเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้แสดงความคิดเห็น กิจกรรมวันนั้นได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้มาร่วมงานถึงเกือบ 50 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อย

“เราจัดงานกันที่อนามัย ใกล้ๆ กับสวนป่า จัดวันเดียวกันแต่แบ่งเป็น 2 ช่วง เวทีคืนความรู้สู่ชุมชน มีข้อมูลที่รวบรวมกันตั้งแต่แรก ใช้แผนที่ วิดีโอที่พวกเราลงสำรวจพื้นที่จริง และมีการนำเสนอข้อมูลโดยใช้พาวเวอร์พอยท์ ให้คนในชุมชนได้รู้ต้นเหตุและปลายเหตุของปัญหาว่าเกิดจากอะไร รวมถึงแนวทางการพัฒนาสวนป่า ส่วนวงเสวนาเป็นเวทีที่ให้ตัวแทนนักเรียนในชุมชน ผู้นำชุมชนและผู้อำนวยการช่วยกันวิเคราะห์ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร และเสนอแนวทางแก้ปัญหา”

พราว รับหน้าที่เป็นพิธีกร แม้ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับการถือไมค์พูดต่อหน้าคนเยอะๆ แต่ก็ยังมีความตื่นเต้นอยู่บ้าง ข้อมูลอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ในสวนป่ามีพันธุ์ไม้กว่าร้อยชนิด เช่น ต้นกระท้อน ต้นไทร กระพ้อ เป็นต้น พราว เล่าว่า ด้วยวางแผนพัฒนาสวนป่าให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในอนาคต กลุ่มเยาวชนได้ขอซื้อแผ่นไม้จากคนในพื้นที่ เพื่อนำมาทำเป็นป้ายชื่อพันธุ์ไม้ไปติดไว้ตามต้นไม้ในสวนป่าด้วย

"มีผู้ปกครองของนักเรียนมานั่งฟังว่าลูกแต่ละคนทำอะไร ผู้เฒ่าผู้แก่ก็มานั่งดูพวกเรานำเสนองานด้วย รวมถึงวัยรุ่นและเยาวชนในชุมชน หลังจากจบการนำเสนอโครงงาน ครูชัยให้พวกเราทุกคนมานั่งกันเป็นกลุ่มพูดถึงความรู้สึกและข้อผิดพลาดของตัวเองว่าจะแก้ไขอย่างไร ส่วนตัวของหนูในฐานะพิธีกรมีบางตอนพูดผิดบ้าง รู้สึกว่าต้องพูดให้ช้ากว่านี้ แต่ก็รู้สึกดีใจที่ผู้คนให้ความร่วมมือมาร่วมงานกันเยอะมาก”


ความเชื่อ เชื่อม คนกับป่า

เวทีคืนข้อมูลสู่ชุมชนและวงเสวนา เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนอย่างแท้จริง กลุ่มเยาวชนได้คำแนะนำและความคิดเห็นหลากหลายที่นำไปพัฒนาต่อได้

“ คุณครูให้พวกเรากลับมาตั้งประเด็นใหม่ว่าเรื่องไหนสำคัญที่สุด แล้วก็มีประชุมย่อยกันอีกครั้งหนึ่งกับผู้นำชุมชน ไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และสารวัตรกำนัน ให้พวกเขาช่วยกันตีโจทย์ว่าที่ทุกคนต้องการแนวทางการแก้ไขปัญหาคือเรื่องอะไร และเราอยากจัดกิจกรรมรวมคนให้ได้มากกว่านี้”

เป็นที่มาของกิจกรรม “บวชป่า” ที่ดึงผู้นำทางศาสนา ผู้นำระดับจังหวัด ผู้นำชุมชน และคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม พราว กล่าวว่า สวนป่าตำบลนิคมพัฒนา อำเภอมะนัง เป็นป่าแห่งแรกในจัวหวัดสตูลที่ได้รับการบวชป่า นอกจากทำให้สวนป่าเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นแหล่งเรียนรู้แล้ว ความเชื่อที่ผูกกันระหว่างป่ากับคนในชุมชนจะทำให้ป่าได้รับการปกป้อง และปลอดภัยจากการบุกรุกเพื่อใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจในอนาคต

“ในมะนังไม่เคยมีใครทำบวชป่าเลย พวกเราแบ่งหน้าที่กันสืบค้นข้อมูลเรื่องพิธีบวชป่าในอินเทอร์เน็ตจากหลากหลายแหล่งที่มา และไปสืบค้นข้อมูลกับพระอาจารย์ที่วัดนิคมพัฒนาราม วัดประจำชุมชนด้วยว่าแต่ละขั้นตอนทำอย่างไรบ้าง เราคิดว่าการชวชป่าจะทำให้คนรู้สึกว่าพื้นที่ตรงนี้มีความสำคัญมากและหันมาดูแลรักษากันมากขึ้น”

“มีคนเข้าศึกษาและมาร่วมในพิธีวันนั้นเยอะมาก ทั้งคนสำคัญในจังหวัดสตูล รวมถึงนายอำเภอมะนังก็มาด้วย เราจัดให้มีการทำบุญ คนที่มาทำบุญนำปิ่นโตมาให้พระฉันเพล เสร็จก็นั่งทานข้าวในสวนป่า พวกเราได้ทำการผูกผ้าในสวนป่าให้คนเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์นะไม่ควรทำลาย”

พราว กล่าวว่า พวกเขาประทับใจผู้นำและคนในชุมชนที่ให้ความสนใจกับการแก้ไขปัญหาส่วนรวม โดยเฉพาะผู้นำชุมชนที่ได้ออกระเบียบการใช้สวนป่าอย่างเป็นทางการ แสดงให้เห็นว่าผู้นำให้ความสำคัญกับโครงการของเยาวชน พร้อมให้ความร่วมมือและพร้อมแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้ประสบผลสำเร็จ

“ระเบียบนี้ออกมาใหม่เลย ห้ามขายของบริเวณนั้น ห้ามตัดต้นไม้ก่อนได้รับอนุญาต และห้ามฆ่าสัตว์ในพื้นที่ป่า พวกเราได้วางแผนกับผู้นำชุมชนและกำนัน เรื่องปฏิทินแผนงานที่จะดำเนินต่อในสวนป่า เนื่องจากถ้าพวกเราเรียนจบจากโรงเรียนอนุบาลมะนัง เราคงไม่มีเวลาเข้ามาดูแลต่อ เลยส่งมอบงานให้กำนันช่วยดูแล ในปฏิทินแผนงานระบุว่าในแต่ละเดือน ในแต่ละปีเราจะทำกิจกรรมอะไรในสวนป่าบ้าง เพื่อให้คนรู้สึกว่าพื้นป่าตรงนี้มีความสำคัญ”

“กำนันจะเอาแผนที่สวนป่าที่พวกเราวาดขึ้นมา ไปทำแผนที่แสดงจุดน่าสนใจในสวนป่า เพราะว่าในอนาคตข้างหน้าอาจมีคนเข้ามาศึกษาสวนป่าเยอะขึ้น”


การเรียนรู้ความเป็นผู้นำและการรับผิดชอบตัวเอง

ข้อแตกต่างของการเรียนโครงงานฐานวิจัยกับการเรียนรายวิชาปกติ คือ โครงงานฐานวิจัยมีการบูรณาการหลากหลายสาระวิชาเข้าด้วยกัน พราว เน้นย้ำว่า การทำโครงงานครั้งนี้เป็นจุดเชื่อมต่อความสัมพันธ์ทั้งระหว่างทีมงานและผู้คนที่เข้าไปเกี่ยวข้อง รวมถึงบทบาทการเป็นประธานโครงการที่ต้องดูภาพรวมและกำหนดทิศทางให้การดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนทำให้พราวได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง

“การเรียนปกติในห้องมันก็ดีค่ะ แต่ว่าเราไม่ได้ลงสำรวจเจาะลึกข้อมูลที่อยากรู้ มันไม่ได้เปิดโลกกว้าง การเรียนโครงงานฐานวิจัยทำให้เราได้เรียนรู้ ได้รู้จักกับคนในชุมชนมากขึ้น ได้ทำงานกับผู้ใหญ่ซึ่งเป็นกิจกรรมที่หาในชั้นเรียนไม่ได้ ความรู้ในห้องเรียนอาจไม่ได้เป็นประโยชน์ ต่อการนำไปใช้ในชีวิตต่อถ้าไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริง แต่ถ้าได้เรียนรู้และปฏิบัติด้วย เราสามารถใช้เป็นแนวทางในชีวิตได้ เด็กบางคนไม่ได้เรียนจบปริญญา แต่มีแนวทางในการดำเนินชีวิต เพราะเอาแนวทางจากชีวิตจริงนอกห้องเรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ตอนแรกหนูคิดว่าน่าจะยากทำไม่ได้แน่นอน แต่ครูบอกให้ลองทำดูว่าทำได้ไหม พอทำไปเรื่อยๆ รู้สึกว่ามันไม่ได้ยาก แค่เราลงมือทำ”

“จากแง่มุมก่อนทำโครงการรู้สึกว่าเด็กกับผู้ใหญ่มีความคิดที่แตกต่างกัน เด็กกับผู้ใหญ่น่าจะเข้ากันได้ยาก แต่ว่าหลังจากที่ทำโครงการเข้าใจแล้วว่า ช่วงอายุมันไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับการทำงาน เพราะว่าพวกเรากับคนในชุมชนเข้ากันได้ดี”

พราว เล่าถึง บทเรียนความเป็นผู้นำในการทำโครงการครั้งนี้ว่า การเป็นผู้นำไม่ใช่แค่การเป็นผู้สั่งคนอื่น แต่ต้องสั่งตัวเองได้ด้วย การจัดการตัวเองนี่แหละเป็นส่วนที่ยากที่สุด

“ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำเราต้องนึกถึงประโยชน์ของส่วนรวมให้มากที่สุด เพราะคนอื่นเลือกเรามาให้เป็นคนดำเนินงาน เเราไม่ควรเห็นแก่ตัว เราควรยึดความเป็นส่วนรวม ผู้นำถ้ามัวแต่สั่งงาน ไม่ได้เรียนรู้งานไปพร้อมๆ กับคนอื่นหรือไม่ได้ลงมือปฏิบัติ เราอาจเป็นผู้นำที่มีความรู้น้อยกว่าคนที่เขาดำเนินงาน เพราะฉะนั้นในทุกๆ งาน ผู้นำต้องรู้จักทำงานไปพร้อมกับคนในทีม เราจะได้เรียนรู้ มีการพัฒนามากยิ่งขึ้น และสามารถพัฒนากลุ่มของเราได้”

“เป็นประธานโครงการเหนื่อยพอๆ กับงานโรงเรียนเลยค่ะ ต้องทำงานวางแผนและเกี่ยวข้องกับคนในชุมชน ซึ่งมีความคิดที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นเราต้องรู้จักรับมือกับแต่ละคนให้ได้ บางครั้งในแต่ละวันเหนื่อยกับงาน หนูก็พูดคุยกับพ่อกับแม่ แม่บอกว่าให้อดทนเขาเลือกเรามาแล้ว เราต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด หนูคิดว่ามันเหนื่อยแต่มันก็เหนื่อยแค่วันนั้นวันเดียว แล้วอีกวันมันก็หายเหนื่อยไปเอง มันเป็นแค่ความรู้สึกว่าเหนื่อยจัง แต่ว่าร่างกายของหนูยังไหวอยู่ เราต้องกำจัดความรู้สึกตรงนี้ไปให้ได้”

หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนอนุบาลมะนัง พราวเข้าศึกษาต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนพิมานพิทยาสรรค์ โรงเรียนขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ในอำเภอเมือง พราว บอกว่า ทักษะการทำงานที่ได้เรียนรู้จากการทำโครงการสวนป่า สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนได้อย่างดีเยี่ยม ส่วนความกล้าแสดงออก และความมั่นใจในตัวเอง ทำให้พราวได้รับเลือกจากเพื่อนใหม่ให้เป็นประธานชมรมครอบครัวพอเพียงด้านประชาธิปไตย

“ในชั้น ม.4 . ให้นักเรียนทำโครงงาน หนูสามารถนำแนวทางที่เคยทำมาปรับใช้ในการเรียน หนูได้มีประสบการณ์เรื่องการทำเอกสาร รู้แนวทางว่าต้องเก็บข้อมูลอะไรบ้าง ต้องทำรายงานอย่างไร หนูทำงานเอกสารได้คล่องขึ้น ตีความโจทย์ในแต่ละหัวข้อได้เพราะโครงการที่เราทำมา เราทำแต่ละขั้นตอนอย่างเจาะลึก พอไปทำโครงการย่อยๆ เหมือนที่ครูให้ทำเอกสาร จะเข้าใจเลยว่าหัวข้อนี้ ควรเขียนเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร”

จุดเด่นอย่างหนึ่งของพราว คือ ความมุ่งมั่น พราว บอกว่า เธอมีความฝันอยากเป็น “ครู” และอยากเป็นครูในแบบที่ไม่เหมือนคนอื่น

"รู้สึกอยากเป็นครูตั้งแต่ตอนเรียนที่อนุบาลมะนัง เพราะครูที่โรงเรียนเข้าใจนักเรียนมาก อยู่กันแบบครอบครัว มีช่วงหนึ่งหนูมีปัญหาในชีวิต หนูสามารถปรึกษาครูทุกคนได้เลยค่ะ เพราะคุณครูเข้าใจนักเรียน คอยซับพอร์ต แนะนำแนวทางครูรู้ว่าคนนี้มีบุคลิกอย่างไร นิสัยอย่างไร เขาสัมผัสและรู้จักนักเรียนเป็นอย่างดี หนูอยากเป็นครูที่นักเรียนไว้ใจและเราให้คำปรึกษาเขาได้”

ในภาพรวมผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากโครงการสานพลังพัฒนาสวนป่าสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนหมู่ที่ 7 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับชุมชนอย่างชัดเจน ที่สำคัญยังได้บ่มเพาะความรู้สึกหวงแหนทรัพยากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมติดตัวพราวมาด้วย

“หนูเป็นเยาวชนในชุมชนบ้านมะนัง หนูเห็นว่าสวนป่าเป็นประโยชน์และเป็นมรดกของชุมชนมะนัง เราเป็นคนที่นี่ เราต้องเป็นคนอนุรักษ์ผืนป่าไว้ให้เยอะๆ มะนังมีสวนป่าน้อยมาก ตอนนี้ชุมชนได้ผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์กลับมา เพราะเราช่วยกันพัฒนาจึงเปลี่ยนป่าร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ แล้วก็ยังได้ความสามัคคีภายในชุมชน ก่อนทำโครงการหนูไม่ค่อยได้ไปสัมผัสกับคนในชุมชน จึงไม่รู้ว่าผู้ใหญ่มองเด็กๆ อย่างไร แต่ตอนนี้เขาได้เห็นถึงความสามารถแต่ละด้านของเด็กๆ นอกจากเรียนหนังสือแล้วเด็กๆ ก็สามารถช่วยพัฒนาและแก้ไขปัญหาภายในชุมชนได้”

“ป่ามีประโยชน์ต่อทั้งมนุษย์และสัตว์ร่วมโลก หนูรู้สึกว่าป่าทุกแห่ง เราควรอนุรักษ์ไว้ เพราะยังมีป่าอีกหลายแห่งที่รอการฟื้นฟู สัตว์ยังรอคอยที่จะกลับมาในป่า” พราว กล่าวอย่างมุ่งมั่น

///////////////////