กลุ่มบ้านตะเหมก .
งเยาวชน Active Citizen โครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำเครือข่ายเยาวชนเพื่อเรียนรู้ท้องถิ่นจังหวัดตรัง
ประวัติและผลงาน
โครงการ ควนดินดำ ควนศักดิ์สิทธิ์แห่งขุนเขาบ้านตะเหมก อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง
นางสาวอรวรรณ นิตมา (ตะวัน) อายุ 33 ปี
ตำแหน่ง: พี่เลี้ยงเยาวชน

­

­

เจ้าหน้าที่กู้ชีพประจำศูนย์บริการทางการเเพทย์ฉุกเฉิน อบต.ละมอ, กรรมการกองทุนหมู่บ้าน และเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (สสอ.)

ควนดินดำ ควนศักดิ์สิทธิ์แห่งขุนเขาบ้านตะเหมก พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ควนประวัติศาสตร์ มากมายด้วยเรื่องเล่า ตำนาน ความเชื่อของชาวบ้าน เป็นแหล่งดินที่มีการนำไปทำจตุคามและเครื่องรางของขลังเพื่อบูชา เด็กและเยาวชนจึงสนใจอยากสืบค้น และหาข้อมูลควนดินดำอย่างรอบด้าน

โครงการควนดินดำ ควนศักดิ์สิทธิ์แห่งขุนเขาบ้านตะเหมก จึงจัดกิจกรรมพาแกนนำเยาวชน เยาวชนกลุ่มเสี่ยงและครอบครัวกว่า 50 คน เดินป่าสำรวจควนดินดำ โดยประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้เพื่อนำทาง เด็กและเยาวชนได้พบความสมบูรณ์ของป่า เห็นต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมาก เป็นแหล่งต้นน้ำและต้นกำเนิดสายน้ำหลักไหลลงไปสู่หมู่บ้านให้ได้อุปโภค บริโภค จากนั้นไหลเลาะลงสู่ทะเล ในแง่ประวัติศาสตร์ควนดินดำเคยเป็นที่ตั้งของค่ายคอมมิวนิสต์ เขตพื้นที่ต่อสู้ของสามจังหวัดได้แก่ พัทลุง ตรัง สตูล ยังมีร่องรอยของประวัติศาสตร์หลงเหลือโดยการเล่าของผู้สูงอายุในชุมชน การเดินป่าสร้างความประทับใจ ทำให้เด็ก ๆ สนใจอยากรู้และอยากร่วมดูแลผืนป่า เห็นคุณค่าของป่าต้นน้ำที่มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ จึงวางแผนงานด้านอนุรักษ์ และสืบค้นพันธุ์ต้นไม้ ทำป้ายบอกชื่อต้นไม้ ควบคู่กับสอบถามผู้รู้เกี่ยวกับตำนานความเชื่อ

โครงการทำงานบูรณาการโดยประสานความร่วมมือหลายฝ่ายเพื่ออำนวยการการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ได้ค้นหาความหมายของควนดินดำ โดยมีกำนันและผู้นำชุมชน สาธารณสุขอำเภอ นายอำเภอ เตรียมความพร้อมและดูแลเรื่องความปลอดภัย ในช่วงโรคระบาดโควิด 19 และอสม.ประจำหมู่บ้านมาช่วยอำนวยการวัดไข้และแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องก่อนเดินป่า เจ้าหน้าที่ป่าต้นน้ำแม่น้ำตรัง ให้ความรู้เกี่ยวกับป่าต้นน้ำ น้ำ ดิน ทำให้มีความรู้ความเข้าใจในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เจ้าหน้าที่ป่าไม้ นัดเด็ก ๆ ให้ไปศึกษาที่สำนักงาน ให้ความรู้เรื่องการอ่านแผนที่ วิธีกำหนดจุด GPS ชื่อของต้นไม้ เส้นทางการเดินป่า เด็ก ๆ สนุก ตื่นเต้นและได้เรียนรู้ของจริง ผู้สูงอายุผู้เคยร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การอยู่ในป่า ทำให้เด็กและเยาวชนเห็นภาพจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และเมื่อเด็ก ๆ ทำแผนที่เดินป่าก็นึกถึงศิลปินช่างสักในชุมชน (ในมุมมองของคนในชุมชนคนมีรอยสักมาก ๆ จะดูเกเรและน่ากลัว) จึงไปชวนพี่ช่างสักมาสอนเด็ก ๆ วาดภาพ ซึ่งสร้างความภูมิใจให้ทั้งสองฝ่าย เด็ก ๆ มีทักษะการวาดภาพและใช้สีเพิ่มมากขึ้น ในด้านของช่างสักก็ไม่ถูกตีตราและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำประโยชน์เพื่อชุมชน แผนที่ถูกนำไปติดตั้งที่ศาลาของหมู่บ้าน

การทำกิจกรรมร่วมกันทำให้เด็ก ๆ มีพื้นที่สร้างสรรค์ทำงานร่วมกัน ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์จากเดิมส่วนใหญ่จะเล่นเกม ใช้โทรศัพท์ เมื่อมีการทำโครงการผู้ปกครองได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเยาวชน พวกเขารับผิดชอบ มีสำนึกรักบ้านเกิดข้าใจและเห็นคุณค่าของป่าต้นน้ำ มีพื้นที่ในการทำงานร่วมกัน

เรื่องเล่าของความศักดิ์สิทธิ์ของควนดินดำเป็นกุศโลบายของคนสมัยก่อน พวกเขามีความเชื่อว่าถ้าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์จะไม่มีใครเข้าไปตัดต้นไม้ ทำลายป่า ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำที่สมบูรณ์ ความเชื่อและความเคารพยังคงดำรงอยู่คู่วิถีบ้านตะเหมก แต่เพิ่มเติมด้วยความเข้าใจที่ตระหนักเห็นคุณค่า ความอุดมสมบูรณ์ ยิ่งใหญ่ของป่าควนดินดำ การสร้างสำนึกใหม่ ให้คนรุ่นใหม่ได้รักอย่างเข้าใจ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลรักษาให้ทรัพยากรธรรมชาติคงอยู่กับชุมชนต่อไปยาวนาน

­

­

ความโดดเด่น
  • โครงการควนดินดำ ควนศักดิ์สิทธิ์แห่งขุนเขาบ้านตะเหมก สร้างความเข้าใจโดยการประสานงานความร่วมมืออย่างรอบด้าน ทำให้เกิดความคิดลึกซึ้งที่สร้างการตระหนักรู้ สร้างความเป็นหนึ่งเดียวในการอนุรักษ์ หวงแหน อยากดูแลด้วยความเข้าใจว่า คน ป่า ผูกพันกัน
  • มีกิจกรรมสร้างสรรค์ ทำให้เด็ก เยาวชนและครอบครัวมีพื้นที่ร่วมกัน
  • ทำให้คนในชุมชนกลับไปทำความเข้าใจภูมิปัญญาที่อยู่เบื้องหลังความเชื่อเรื่องควนดินดำว่าเป็นการจัดการทางสังคมของบรรพบุรุษ